Saturday, September 04, 2004

Notes on Claude Chabrol

http://www.thaitle.com/friday/webboard/02472.html

LE BOUCHER (A) ดูนานแล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว ถ้าจำไม่ผิด พระเอกนางเอกรักกัน พระเอกเป็นโรคจิต แต่ก็พยายามสู้กับแรงขับด้านมืดในใจตัวเอง แต่ก็สู้ไม่ได้ ส่วนนางเอกก็รักพระเอก และถึงแม้เธอจะรู้ว่าเขาเป็นฆาตกร เธอก็ยังรักเขาอยู่โดยไม่สามารถบังคับใจตัวเองได้เช่นกัน

LE BOUCHER อาจจะมีความเป็นหนังทริลเลอร์อยู่ในตัว โดยเฉพาะฉากหยดเลือดตรงปากถ้ำเป็นฉากที่สวยสยองติดตามากๆ แต่จริงๆแล้วหนังของ CLAUDE CHABROL ส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังทริลเลอร์ที่ “ต้องการทำให้คนดูส่วนใหญ่รู้สึกตื่นเต้น” หนังของเขาเป็นหนังดรามา/จิตวิทยา/วิเคราะห์เสียดสีมนุษย์ในด้านมืดที่เพียงแค่หยิบยืมเอาองค์ประกอบของหนังทริลเลอร์มาใช้บางส่วนเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ดิฉันหลงรัก LE BOUCHER อย่างมากๆ ก็คือ “ความรัก” ของตัวละครในเรื่องนี้ มีหนังเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตกี่เรื่องกันที่นำเสนอความรักของฆาตกรโรคจิตได้อย่างซาบซึ้งน่าสงสารและน่าเห็นอกเห็นใจเท่าเรื่องนี้ (ดิฉันคิดว่าพระเอกนางเอกใน LE BOUCHER รู้ผิดชอบชั่วดีมากกว่าพระเอกนางเอกใน NATURAL BORN KILLERS) หนังเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตส่วนใหญ่มักเน้นความน่าตื่นเต้นและฉากลุ้นระทึกโดยเฉพาะหนังฮอลลีวู้ด แต่หนังเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตจริงๆแล้วยังมีอีกหลากหลายเฉดสีให้เลือก ตัวอย่างเช่น BAISE-MOI และ FUNNY GAME

เคยได้ยินนักวิจารณ์บางคนพูดถึงหนังบางเรื่องของชาโบรลว่าเป็นหนังแนว anti-thriller ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคำว่า ANTI-THRILLER แปลว่าอะไร แต่เท่าที่สังเกตมา หนังของชาโบรลมักมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นในเรื่อง แต่ประเด็นที่ว่า “ใครเป็นฆาตกร” ไม่ใช่ประเด็นที่มีความสลักสำคัญเลยแม้แต่นิดเดียวในหนังเรื่องนั้น เพื่อนของดิฉันบางคนเกลียดหนังบางเรื่องของชาโบรลมากๆ เพราะบางทีชาโบรลเฉลยว่า “ใครเป็นฆาตกร” โดยใช้วิธีการที่ดูเหมือนโง่มากๆ ไม่มีการเร้าอารมณ์อะไรทั้งสิ้นตรงจุดนั้น บทจะเฉลย ก็เฉลยขึ้นมาดื้อๆ โต้งๆ ตรงไปตรงมา อยู่ดีๆก็เฉลยขึ้นมาเฉยๆซะอย่างนั้นแหละ ขัดกับหลักเหตุผลกฎเกณฑ์ของหนังทริลเลอร์อย่างสิ้นเชิง หนังของชาโบรลอาจจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่ได้รับจากอัลเฟรด ฮิทช์ค็อก แต่หนังของชาโบรล “ลงลึกในจิตใจและจิตวิญญาณของตัวละคร” มากกว่าจะให้ความสนใจกับ “ความน่าตื่นเต้นของพล็อตเรื่อง”


2.หนังของเขาบางเรื่องถ่ายทอด “ความเป็นมนุษย์” ที่อยู่ในตัวฆาตกร ความเป็นมนุษย์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความมีมนุษยธรรม แต่หมายถึงความรักโลภโกรธหลง, แง่มุมเล็กๆน้อยๆที่พบได้ในชีวิตมนุษย์ทั่วๆไป ซึ่งมีปรากฏอยู่ในตัวฆาตกร และแสดงให้เห็นว่าฆาตกรในหนังของเขามีจุดที่น่าสงสารเห็นใจยังไงบ้าง

3.ชนชั้นกลางมักถูกเสียดสีในหนังของเขา

4.หนังของเขามักยึดกฎ “ใครเลว คนนั้นรอด” เพราะตัวละครที่มีความดีงามอยู่ในตัวมากที่สุดจะถูกฆ่าตายเป็นรายแรกๆ ตัวละครที่มีทั้งดีและเลวจะถูกฆ่าตายตอนกลางเรื่อง ตัวละครที่เลวมากหรือแร่ดมากๆจะเป็นผู้ชนะในตอนจบ คนที่ชอบหนังประเภท “ธรรมะชนะอธรรม” ห้ามดูหนังของเขาเป็นอันขาด

5.หนังหลายเรื่องของเขามีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ผัวเมียละเหี่ยใจ” หรือสามีภรรยาที่คบชู้

6.หนังของเขาอาจจะจัดอยู่ในกลุ่ม FEEL-BAD MOVIES และเหมาะกับคนที่ชอบหนังของไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ แต่ไม่เหมาะกับคนที่ชอบหนังส่วนใหญ่ของสตีเวน สปีลเบิร์ก หนังของเขาสอนให้รู้ว่า “อย่าไว้ใจมนุษย์” เพราะมนุษย์มีด้านมืดที่น่ากลัวซ่อนอยู่ในตัวอย่างยากที่จะหาคำอธิบายได้ และเด็กๆก็มักถูกฆ่าตายในหนังของเขา

7.หนังของเขา “ช้า” กว่าหนังฮอลลีวู้ด และเน้นการ “พัฒนาทางอารมณ์” อย่างช้าๆ หรือการเก็บกดทางอารมณ์ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับเปลวไฟที่ค่อยๆทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ (slow-burning) เพื่อระเบิดอารมณ์ออกมาในช่วงท้ายเรื่อง

8.หนังของเขาไม่ได้แยกตัวละครเป็นฝ่ายถูกฝ่ายผิด พระเอก/ผู้ร้าย แต่ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังของเขาจะมีความผิดบาปต่างๆกันไป

เคยดูหนังสั้นของนิสิตจุฬาเรื่องนึงเมื่อหลายปีก่อน ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันมีอะไรคล้องจองกับหนังของชาโบรลเหมือนกัน เพราะหนังเรื่องนั้นเล่าเรื่องของผู้หญิงที่วางแผนจะฆ่าสามี แต่แทนที่หนังจะเน้นไปยังจุดที่ว่าเธอจะฆ่าสามีสำเร็จหรือไม่ การฆ่าจะลุ้นระทึกเพียงใด ใครจะอยู่หรือใครจะตาย ใครจะเป็นฝ่ายชนะในตอนจบ หนังกลับไม่ได้เน้นที่จุดนั้นเลย หนังกลับให้น้ำหนักอย่างมากๆกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครขณะวางแผนจะฆ่ามากกว่า และตัวละครในหนังสั้นเรื่องนั้น ก็ทำเหมือนกับว่าการวางแผนฆ่าสามีในครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องลุ้นระทึกน่าตื่นเต้นแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆทำอย่างมีสติ

หนังของ CLAUDE CHABROL ที่เคยดู เรียงตามลำดับความชอบ

1.LA CEREMONIE (1995) A+ (อยู่ในกลุ่ม slow burning)

สร้างจากนิยายของ “รูธ เรนเดล” ซึ่งเป็นนักประพันธ์หญิงที่แต่งนิยายเกี่ยวกับคนโรคจิตได้ดีมาก

2.LES BONNES FEMMES (1960) A+

3.COP AU VIN (1985) A+

4.THE COLOR OF LIES (1999) A+ (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”)
มีเด็กถูกฆ่าตายตอนต้นของหนังเรื่องนี้ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ต้องการจะให้คนดูลุ้นว่าใครคือฆาตกร แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบทางจิตใจต่อตัวละครบางตัวอย่างไรบ้าง

5.THE FLOWER OF EVIL (2003) A+ (อยู่ในกลุ่ม slow burning)

6.UNE PARTIR DE PLAISIR (1975) A+/A (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”) (อยู่ในกลุ่ม slow burning)

7.STORY OF WOMEN (1988) A+/A
สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงที่รับจ้างทำแท้งในฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นผู้หญิงคนสุดท้ายของฝรั่งเศสที่ถูกประหารด้วยกิโยติน หนังแสดง “ความเป็นมนุษย์” ของผู้หญิงคนนี้ได้อย่างน่าประทับใจมากๆ

8.LES BICHES (1968) A (อยู่ในกลุ่ม slow burning)

9.LE BOUCHER (1970) A

10.THE CRY OF THE OWL (1987) A
ในขณะที่พฤติกรรมถ้ำมองในหนังอย่าง PSYCHO, LADY BEWARE และหนังอีกหลายเรื่องถูกนำมาใช้รองรับเหตุการณ์ฆาตกรรมลุ้นระทึกระหว่างฆาตกรนักถ้ำมองกับเหยื่อสาวผู้บริสุทธิ์ THE CRY OF THE OWL ซึ่งสร้างจากนิยายของแพทริเซีย ไฮสมิธ (THE TALENTED MR. RIPLEY, STRANGER ON A TRAIN) กลับนำพฤติกรรมนี้มาใช้ได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้ “เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์” เพราะ THE CRY OF THE OWL มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มที่ไปถ้ำมองหญิงสาวคนหนึ่ง แต่หญิงสาวคนนี้กลับเป็นฝ่ายที่หันมาตามตื๊อนักถ้ำมองซะเอง

บทสนทนาน่าสนใจใน THE CRY OF THE OWL
หญิงสาว—“คุณเคยบอกว่าฉันเป็นนางในฝันของคุณไม่ใช่หรือ”
ชายหนุ่ม—“นางในฝันก็สมควรจะอยู่แต่ในความฝันเท่านั้น ไม่สมควรจะมาอยู่ในชีวิตจริง”

11.L’ENFER (1994) A (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”)

12.LA FEMME INFIDELE (1969) A (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”) (อยู่ในกลุ่ม slow burning)

13.LE BEAU SERGE (1958) A-

14.THE BEAST MUST DIE (1969) A-

15.LES COUSINS (1959) A-

16.MADAME BOVARY (1991) A- (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”)

17.THE BLOOD OF OTHERS (1984) A-
นำแสดงโดยโจดี้ ฟอสเตอร์

18.WEDDING IN BLOOD (1973) B+ (อยู่ในกลุ่ม “ผัวเมียละเหี่ยใจ”)

19.CLUB EXTINCTION (1991) B+
หนังไซไฟเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อคารวะ “ฟริทซ์ ลัง” และหนังชุด DR.MABUSE ของลัง

20.A DOUBLE TOUR (1959) B+

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาโบรลได้ที่นี่
http://www.filmref.com/directors/dirpages/chabrol.html
http://www.imagesjournal.com/issue09/features/chabrol/article.htm
http://www.sensesofcinema.com/contents/directors/02/chabrol.html

No comments: