Wednesday, December 31, 2014

WE WISH (2014, Surawee Woraphot, A+30)

WE WISH (วันที่ไม่มีเรา) (2014, Surawee Woraphot, A+30)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--

ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้

1.ตายแล้ววววว ฟินมาก ตอบสนอง romantic fantasy ของเราได้ดีในระดับนึงเลยล่ะ ดูแล้วเกิดอารมณ์เคลิ้มใคร่อย่างรุนแรง 555 ซึ่งการที่หนังมันตอบสนองความต้องการทางเพศของเราได้ดีถึงขนาดนี้ มันเป็นเพราะปัจจัยสำคัญสองอย่าง ซึ่งได้แก่

1.1 การ casting คือเราว่าพระเอกเรื่องนี้น่ารักมากๆๆๆๆๆ คือตัวจริงเขาจะดูหล่อหรือดูน่ารักหรือเปล่า อันนี้เราไม่รู้นะ แต่เราว่าในหนังเรื่องนี้เขาดูเป๊ะ เหมาะสมกับบทมากๆน่ะ คือเขาเป็นผู้ชายที่ไม่ได้หล่อเกินไป ไม่ได้หล่อแบบนายแบบที่จับต้องไม่ได้ หรือดูไกลเกินเอื้อม แต่เขาดูหล่อแบบน่ารักๆ เป็นหนุ่มออฟฟิศที่สามารถพบได้ในชีวิตจริง มีความติดดินนิดนึง คือการ cast คนนี้มาเล่นในบทนี้นี่มันใช่มากๆจ้ะ

และเราว่าการ cast คนที่มาเล่นบทคู่หมั้นนางเอก ก็เป๊ะมากๆด้วย คือบทแบบนี้ต้องการผู้ชายที่ ดูหล่อ ดูดี ดูสุภาพ แต่ดูเหมือนจะนำไปสู่ชีวิตที่ peaceful ราบเรียบ น่าเบื่อน่ะ และเราว่าตัวคู่หมั้นนางเอกในหนังเรื่องนี้นี่ใช่เลย คือดูดีแต่เหมือนจะมีความน่าเบื่อบางอย่าง

1.2 หนังเรื่องนี้ใช้กล้องแทนสายตาตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์ในหลายประเด็น แต่ประเด็นแรกก็คือว่า มันเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปแทนตัวเองเป็นนางเอกอย่างเต็มที่ในหลายๆฉาก และในช่วงกลางของเรื่องนี้ มันจะมีบางฉากที่กล้องแทนสายตาของนางเอกขณะมองพระเอก ขณะพระเอกยิ้มหวาน พูดคุยด้วย และมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ฟินมากกกกค่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า พระเอกกำลังยิ้มหวาน พูดคุยกับเราเอง

คือถ้าหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ objective หรือไม่ได้แทนสายตาตัวละคร เราก็จะไม่รู้สึกมากเท่านี้ไง แต่พอหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแทนสายตานางเอกในหลายๆฉาก เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า พระเอกกำลังมองเรา กำลังยิ้มให้เรา กำลังคุยกับเรา อารมณ์ร่วมระหว่างเรากับตัวนางเอกมันจึงอยู่ในระดับที่สูงกว่าหนังเรื่องอื่นๆ

คือถ้าหนังเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาว แล้วมีฉากพระเอกกับนางเอกร่วมรักกัน แล้วหนังถ่ายฉากนี้โดยใช้กล้องแทนสายตานางเอกขณะมองพระเอกถอดเสื้อผ้าและร่วมรักกับเธอนะ รับรองว่า ผู้ชมเพศเดียวกับเราหลายๆคนฟินน้ำแตกคาโรงแน่ๆค่ะ

2.เราว่ากลวิธีของหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก ที่หนังใช้กล้องแทนสายตาตัวละคร 3 คนประมาณ 90% ของเรื่อง ยกเว้นฉากฝันที่กล้องถ่ายตัวละครออกมาในแบบ objective และหนังเรื่องนี้ก็ใช้ voiceover ถ่ายทอดความคิดของตัวละครเกือบตลอดทั้งเรื่องด้วย

เราว่าการใช้กล้องแทนสายตาตัวละครในหนังเรื่องนี้มีประสิทธิภาพมากนะ เพราะอย่างที่เราเขียนไปในข้อ 1.2 นั่นแหละ คือมันทำให้เรารู้สึกอินกับนางเอกมากกว่าหนังปกติ และมันทำให้อารมณ์โรแมนติกของเราพลุ่งพล่านมาก

คือเราเคยดูหนังที่ใช้กล้องแบบ subjective แบบนี้เหมือนกัน อย่างเช่นเรื่อง THE BANNED WOMAN (1997, Philippe Harel) กับ LE DOSSIER 51 (1978, Michel Deville, A+30) แต่มันไม่ได้ส่งผลกระทบกับเราในแบบเดียวกับ WE WISH น่ะ เพราะ THE BANNED WOMAN เป็นหนังที่ใช้กล้องแทนสายตาพระเอก ขณะมองแฟนสาววัย 22 ปีของเขาตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเราที่เป็นเกย์มองนางเอกในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา นอกจากมองว่าเธอเล่นเก่งดี แต่ไม่ได้เกิดอารมณ์โรแมนติกอะไร หรือเวลาเรามองเธอเปลือย เราก็ไม่เกิดอารมณ์อะไร (แต่มีนักวิจารณ์ชายบางคนบอกเราว่า เขาเกิดอารมณ์เวลาที่เขามองนางเอกใน THE BANNED WOMAN)

ส่วน LE DOSSIER 51 เป็นหนังเกี่ยวกับองค์กรลับที่ส่งสายลับมากมายไปสืบข้อมูลของนักการทูตคนนึง โดยกล้องจะแทนสายตาของสายลับหลายคนนี้ คือหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดีสุดๆ แต่การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากกับหนังเรื่อง WE WISH

เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่าการใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่อง WE WISH เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเรา เพราะเราแทบไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นๆที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้แล้วส่งผลกระทบแบบเคลิ้มใคร่ต่อเราแบบนี้มาก่อน

3.การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้เราอินมากเป็นพิเศษแล้ว มันยังก่อให้เกิดฉากที่เราชอบสุดๆฉากนึงด้วย นั่นก็คือฉากตัวละครคุยโทรศัพท์กันโดยที่เรามองไม่เห็นหน้าตัวละครเลย เห็นแต่กำแพงห้องเท่านั้น

คือเราว่าฉากนี้นี่มันกลายเป็นฉากคลาสสิคในใจเราไปแล้วน่ะ เพราะเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน และเราว่าฉากนี้มันทำให้เราประทับใจเหมือนกับการได้ดูหนังทดลองดีๆเรื่องนึงด้วย คือสาเหตุนึงที่เราชอบดูหนังทดลองเป็นเพราะว่า ในหลายๆครั้งหนังทดลองนำเสนอไอเดียอะไรแปลกๆใหม่ๆที่เราๆไม่เคยเจอมาก่อนไง ในขณะที่หนัง narrative โดยทั่วไปจะขาดไอเดียที่แปลกๆใหม่ๆ

แต่ WE WISH ซึ่งเป็นหนัง narrative กลับสามารถนำเสนออะไรแปลกใหม่ต่อเราได้ในแบบเดียวกับหนังทดลองด้วย เราก็เลยประทับใจ WE WISH ตรงจุดนี้มากๆ

คือเราว่าถ้าหากเป็นผู้กำกับที่ไม่แน่จริง เขาคงเลือกนำเสนอฉากนี้ด้วยการให้ตัวละครคุยโทรศัพท์ขณะนั่งอยู่หน้ากระจก หรือยืนอยู่หน้ากระจกน่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้กล้องจะแทนสายตาตัวละคร กล้องก็จะถ่ายให้เราเห็นเงาตัวละครในกระจกอยู่ดี ซึ่งมันจะส่งผลให้ฉากนี้ออกมาเหมือนหนังธรรมดา ที่เราได้เห็นใบหน้าของตัวละครขณะคุยโทรศัพท์กัน

แต่เราว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้แน่มาก ที่ใช้กล้องแทนสายตาตัวละครขณะมองกำแพงห้องของตัวเองขณะคุยโทรศัพท์ คือคนเรามันทำอย่างนี้กันจริงๆไง เวลาที่เราคุยโทรศัพท์ เราก็มองอะไรไปเรื่อยๆรอบตัวอย่างไม่มีจุดหมาย และถ้าเราอยู่ในห้อง สายตาของเราก็จะกวัดแกว่งไปมาตามจุดต่างๆในห้องแบบนี้นี่แหละ เราก็เลยว่าฉากนี้มันจริงมาก มันแน่มาก มันน่าสนใจมากๆ

ความน่าสนใจของฉากนี้ทำให้เรานึกถึงหนังทดลองบางเรื่องด้วยนะ อย่างเช่นเรื่อง

3.1 “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2013, Teeranit Siangsanoh)  ในแง่ที่ว่าหนังเรื่องนี้ก็ถ่ายฉากคนคุยกันออกมาได้พิสดารไม่ซ้ำแบบใครเหมือนกัน โดยในมหัศจรรย์แห่งรักนั้น หนังจะถ่ายแบบโคลสอัพเข้าไปในรูขุมขนตัวละคร จนเราเห็นตัวละครกลายเป็นพิกเซลแตกๆ คุยกัน

3.2 RUHR (2009, James Benning, 120min, A+30) หนังความยาวสองชั่วโมงเรื่องนี้มีแค่ 6 เทค และเป็นกล้องตั้งนิ่งๆตามจุดต่างๆ และบางฉากมันเหมือนกับเป็นการแทนสายตาของคนขณะที่นั่งรออะไรบางอย่างน่ะ อย่างเช่นฉากนึงเป็นกล้องตั้งนิ่งๆจับภาพกิ่งไม้ในป่าขณะที่มีเครื่องบินแล่นผ่านเหนือป่านั้นเป็นระยะๆ โดยกล้องตั้งนิ่งๆแบบนี้เป็นเวลาประมาณ 10 นาทีโดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย มีแค่เครื่องบิน 2-3 ลำแล่นผ่าน และกิ่งไม้ที่สั่นไหวเป็นระยะๆเท่านั้น และผู้ชมบางคนมองว่าฉากนี้เหมือนกล้องแทนสายตาคนที่นั่งมองไปอย่างไร้เป้าหมายขณะรออะไรบางอย่าง (แต่ฉากสำคัญจริงๆใน RUHR คือฉากที่กล้องจับภาพปล่องไฟแบบเทคเดียวเป็นเวลาประมาณ 60 นาที โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยในฉากนั้น นอกจากการที่ปล่องไฟแห่งนั้นพ่นควันออกมาทุกๆ 10 นาที)

คือคุณค่าอย่างนึงของหนังเรื่อง RUHR ในสายตาของเรา คือการทำให้เราตระหนักถึงภาพบางภาพที่เราเคยมองแต่เราไม่เคยรับรู้ว่าเราเคยมองมันน่ะ อย่างเช่นเวลาที่เรารอใครสักคนและฟังเพลงในหูฟังไปด้วย เราอาจจะไม่ได้รับรู้เลยว่า เรากำลังมองอะไรอยู่บ้างในช่วงเวลานั้น สายตาเรามองสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้รับการจดบันทึกเข้าสู่หัวสมองของเรา และหนังเรื่องRUHR ก็ได้ทำให้เราได้รับรู้ในสิ่งที่เราอาจจะเคยมองเห็น แต่ตัวเราเองไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเราได้เคยมองเห็น

และเราว่าฉากนี้ใน WE WISH มันทำให้เรานึกถึงอะไรแบบเดียวกันน่ะ ภาพกำแพงบ้านพวกนี้ มันเป็นสิ่งที่เราเคยมองมาก่อนขณะที่เราคุยโทรศัพท์ แต่เราไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าเราเคยมองมัน

4.การใช้ voiceover ความคิดของตัวละครในหนังเรื่องนี้ ก็ใช้ได้นะ คือการใช้ voiceover แบบนี้ ถ้าหากทำไม่ดี มันจะน่าเบื่อได้ เพราะปกติแล้ว voiceover มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในหนัง narrative ทั่วไปไง มันเหมือนเป็นส่วนเกินของหนังทั่วไป เพราะในหนังทั่วไป ผู้ชมไม่จำเป็นต้องรู้ความคิดของตัวละครก็ได้

ส่วน voiceover ที่มักจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ voiceover ในหนังที่มีความเป็นหนังทดลองอยู่ด้วยน่ะ อย่างเช่น INDIA SONG (1974, Marguerite Duras, A+30) กับหนังบางเรื่องของ Terrence Malick เพราะภาพกับเสียงในหนังประเภทนี้ มันจะไม่สอดคล้องกันแบบ 100% แต่มันจะมีความสัมพันธ์กันแบบเชิงกวีมากกว่า เราอาจจะเห็นภาพของเหตุการณ์อย่างนึง แต่เราจะได้ยินเสียง voiceover พร่ำพรรณนาถึงอารมณ์ความรู้สึกข้างในตัวละคร แทนที่จะเป็นการบรรยายเหตุการณ์ในภาพนั้นอย่างตรงไปตรงมา การใช้ voiceover แบบนี้จึงไม่กลายเป็นส่วนเกินของหนัง แต่กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนั้นมีพลังแบบกวี

เราว่า voiceover ใน WE WISH ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกเลยว่า มันเป็นส่วนเกินของหนังเหมือนกัน คือมันอาจจะไม่ได้มีพลังเชิงกวีแบบหนังทดลอง แต่มันก็อาจจะมีอะไรใกล้เคียงกัน เพราะในบางฉากเราไม่เห็นหน้าตัวละครเลย ได้ยินแต่เสียง voiceover บรรยายความคิดของพวกเขาขณะมองตึกรามบ้านช่องหรือผนังห้อง ซึ่งจริงๆแล้วเราว่าคนที่จะทำแบบนี้ออกมาให้ดูดี ราบรื่นได้ ต้องมีความสามารถสูงประมาณนึง และเราก็ว่าผู้กำกับ WE WISH ทำได้สำเร็จตรงจุดนี้ เขาสามารถทำให้ voiceover ไม่กลายเป็นส่วนที่ล้นเกินของภาพ และสามารถทำให้ voiceover กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการเล่าเรื่องได้

5.แต่การใช้ text ในหนังเรื่องนี้ เราเฉยๆนะ เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือเปล่า แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่สมควรถูกตัดออก

6.ย้อนกลับมาที่ voiceover อีกที คือทุกอย่างมันก็มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเองแหละ คือการใช้ voiceover อาจจะทำให้เราเข้าใจความคิดตัวละครมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ปิดกั้นเราจากการได้จินตนาการความคิดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครด้วยตัวเราเองด้วย

คือเราจะบอกว่า ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้ร้องไห้น่ะ (แต่นั่นอาจจะเป็นจุดประสงค์ของผู้กำกับก็ได้นะ เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจบีบคั้นให้ผู้ชมร้องไห้อยู่แล้วก็ได้) และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้ร้องไห้ในฉากจบ เพราะเราว่าเสียง voiceover ของนางเอกในฉากจบ มันดูเนือยทางอารมณ์อย่างมากๆ มันดูไม่ได้เจ็บปวดอย่างรุนแรงปิ้มว่าจะขาดใจกับการจากไปของพระเอกน่ะ (ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดแต่อย่างใดนะ เพราะคนจริงๆอาจจะคิดในหัวแบบนี้ก็ได้ แบบว่า เขาจากไปแล้วเหรอ ฉันเสียใจนะ จบ)

คือเราคิดว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนตอนจบหน่อยนึง มันอาจจะทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงมากๆได้ เพราะตอนจบแบบเดิมที่ให้ผู้ชมได้ยินเสียง voiceover ในหัวนางเอกนั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า นางเอกไม่ได้เสียใจมากเท่ากับที่เราอยากให้นางเอกเสียใจน่ะ

ส่วนตอนจบแบบที่อาจทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงนั้น กล้องจะแทนสายตาของคู่หมั้นนางเอกขณะรออยู่ในคอนโด เขาเห็นนางเอกกลับเข้ามาในคอนโด เขาพูดทักทายนางเอก นางเอกทำสีหน้าแบบแปลกๆเหมือนจะร้องไห้ แต่ก็ฝืนยิ้มให้เขา เขาถามนางเอกว่า มีอะไรหรือเปล่า นางเอกตอบว่า “ไม่มีอะไร เราสบายดี” แล้วเธอก็ฝืนยิ้มให้เขา ผู้ชมจะเห็นได้จากใบหน้าของนางเอกว่า เธออยากจะร้องไห้ แต่เธอก็พยายามอย่างสุดความสามารถในขณะนั้น ที่จะไม่ร้องไห้ออกมา แล้วก็ยิ้มออกมาให้คู่หมั้นของตัวเอง ขณะพูดย้ำอีกครั้งว่า “เราสบายดี ทุกอย่างปกติ”

คือถ้าจบแบบนี้ เราอาจจะร้องไห้น่ะ เพราะในตอนจบแบบนี้ เราจะไม่รู้ว่านางเอกคิดอะไร รู้สึกอะไร รู้สึกเสียใจเล็กน้อยหรือเสียใจมากแค่ไหนกับการจากไปของพระเอก คือถ้าจบแบบนี้ คนดูจะสามารถจินตนาการได้อย่างเต็มที่ว่า นางเอกอาจจะรู้สึกเสียใจอย่างรุนแรงสุดๆก็ได้ และพอคนดูอย่างเราได้ใช้จินตนาการของตนเองอย่างเต็มที่ในฉากนี้ เราก็จะจินตนาการไปเลยว่า นางเอกเสียใจอย่างรุนแรงแน่ๆ แล้วเราก็จะร้องไห้ออกมา

ส่วน reference ใบหน้าของนางเอกในฉากจบในจินตนาการของเรานั้น ให้ดูใบหน้าของ Liza Minnelli ในมิวสิควิดีโอ SO SORRY I SAID จ้ะ คือใบหน้าของ Liza ในช่วงท้ายของมิวสิควิดีโอนี้แหละ คือใบหน้าของคนที่อยากจะร้องไห้ แต่ฝืนยิ้มออกมา ซึ่งเป็นแบบที่เราอยากให้เกิดขึ้นในฉากจบในจินตนาการของเรา

คือจริงๆแล้วเราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะทำให้เราร้องห่มร้องไห้ได้อย่างรุนแรงไม่แพ้ THE BRIDGES OF MADISON COUNTY (1995, Clint Eastwood, A+30) เลยแหละ ถ้าหากมันถูกขยายเป็นหนังยาว แล้วทุกอย่างถูกปรับให้มันลงตัวกว่านี้ มีการใส่รายละเอียดในชีวิตของพระเอกกับนางเอกมากกว่านี้ตอนเป็นหนังยาว คือที่เราเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ THE BRIDGES OF MADISON COUNTY เพราะมันเป็นหนังของผู้หญิงที่ต้องเลือกระหว่างผัวใหม่กับผัวเก่าเหมือนกันน่ะ และฉากที่นางเอกใน THE BRIDGES ต้องตัดสินใจเลือกนี่ เราดูแล้วร้องไห้อย่างรุนแรงมากๆ


สรุปว่า WE WISH เป็นหนังที่เราชอบมาก พระเอกน่ารักมากๆๆๆ การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในฉากโทรศัพท์ หนังประสบความสำเร็จในการสร้างอารมณ์โรแมนติกให้กับเรามากพอสมควร และเราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ปรับตอนจบนิดหน่อย เราก็อาจจะร้องไห้ให้กับหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงจ้ะ

7.ตายแล้ว เพิ่งนึกออกอีกประเด็น ตอนนี้ขอขยับเกรดหนังเรื่องนี้เป็น A+30 เพราะตอนนี้เราชอบสุดๆไปแล้ว คือเราว่าการที่หนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ subjective ตลอด ยกเว้นแค่ในฉากความฝันหรือฉากจินตนาการของพระเอก (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) นั้น มันทำให้เราคิดถึงอะไรที่น่าสนใจมากๆขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือความจริงของมนุษย์ที่ว่า ไม่ว่าเราจะรักใครมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่มีทางที่จะมองโลกด้วยดวงตาของเขา หรือได้ยินเสียงในหัวของเขาได้ การเกิด “we” ที่มองโลกด้วยดวงตาของทั้งสองคนพร้อมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับที่ฉากจินตนาการนั้นจบลงด้วยประโยคที่ว่า “เรา ไม่มีจริง”

คือหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ subjective เกือบตลอดทั้งเรื่อง และมีการใช้ voiceover ความคิดตัวละครตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งจริงๆแล้วมันแสดงภาวะของมนุษย์ได้ดีมากน่ะ เพราะมนุษย์ทุกคนต่างก็ต้องมองโลกด้วยดวงตาของตัวเองตลอด มองแบบ subjective ตลอด และมนุษย์ทุกคนก็ต้องได้ยินแต่เพียงเสียงความคิดในหัวของตัวเองอยู่แล้ว

แต่ภาวะดังกล่าวหายไปจากหนังเรื่องนี้ในฉากจินตนาการ เพราะกล้องในฉากนั้นกลายสภาพจาก subjective เป็น objective แทน เราได้เห็นพระเอกนางเอกในเฟรมเดียวกัน แทนที่จะเห็นคนละช็อตกันแบบที่ผ่านมาในหนังตลอดทั้งเรื่อง และฉากนี้เรายังไม่ได้ยิน voiceover ของตัวละครด้วย เราได้เห็นแต่ text ความคิดของ “เรา” มันเหมือนกับว่ากระแสสำนึกในหัวของตัวละครสองคนได้หลอมรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นกระแสสำนึกของคนเพียงคนเดียวไปแล้ว แต่ฉากนั้นก็จบลงด้วยประโยคที่ว่า “เรา ไม่มีจริง”

คือนอกจากฉากนี้จะสื่ออารมณ์แบบรักร้าวโรแมนติกได้ดีแล้ว คือประโยคที่ว่า “เรา ไม่มีจริง” ในที่นี้นอกจากจะสื่อถึงการที่พระเอกกับนางเอกไม่ได้ครองรักด้วยกันในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “เรา ไม่มีจริง” ในที่นี้ ยังสื่อถึงสภาวะของมนุษย์ในความเป็นจริงได้ดีด้วยน่ะ เพราะมนุษย์ไม่สามารถเข้าสู่ภาวะมองแบบ objective ได้แบบที่กล้องทำในฉากนี้น่ะ สภาวะ “เรา” ที่สามารถมองเห็นได้ทั้งตัวเราเองกับอีกคนนึงได้พร้อมๆกัน โดยไม่ต้องมองผ่านเครื่องช่วยอย่างเช่นกระจกหรือกล้องเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำได้น่ะ และสภาวะ “เรา” ที่สามารถหลอมรวมความคิดในหัวของตัวเองเข้ากับความคิดในหัวของอีกคนนึงได้อย่างสมบูรณ์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงด้วย


คือถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีอะไรลักลั่น ขาดๆเกินๆ หรือไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่เราชอบแนวคิดเรื่อง “เรา ไม่มีจริง” ในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆน่ะ เราก็เลยชอบมันในระดับ A+30 ไปแล้ว 555 คือการใช้ subjective camera และ voiceover ในหนังเรื่องนี้มันได้กระตุ้นความคิดเราไปแล้วอย่างมากๆน่ะ มันได้ทำให้เราตระหนักว่า ในความเป็นจริงนั้น มนุษย์แต่ละคนมันอยู่ในสภาพที่เหมือนตัวละครในหนังเรื่องนี้นี่แหละ นั่นก็คือมองโลกแบบ subjective และได้ยินแต่เพียงเสียงความคิดในหัวของตัวเอง แต่ภาวะของการมองแบบ objective มันจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในความฝันหรือในโลกจินตนาการเท่านั้น อย่างเช่น “โลกของภาพยนตร์” คือฉากความฝันในหนังเรื่องนี้มันดูเป็นฉากที่เป็น ภาพย้นตร์ ภาพยนตร์น่ะ ทั้งลักษณะการตัดต่อและการโพสท่าในฉากนั้น มันเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า เวลาเราดูภาพยนตร์ทั่วๆไปที่กล้องเป็น objective camera นั้น มันไม่สอดคล้องกับภาวะของมนุษย์ที่แท้จริงหรอก เพราะมนุษย์ที่แท้จริงมันถูกขังอยู่ในดวงตาของตัวเองและในหัวสมองของตัวเองแบบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้นั่นแหละ

PARENTHOOD (2014, Monsicha Wongsoontorn, A+15)


PARENTHOOD ผู้ปกครอง (2014, Monsicha Wongsoontorn, A+15)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

เราดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

1.ดูแล้วชอบมากพอสมควรเลยนะ เพราะทัศนคติทางการเมืองอาจจะสอดคล้องกับเรา และคิดว่ามันเป็นหนังที่ทำออกมาใช้ได้ในระดับนึง

2.เราชอบหนังที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงขณะต่างๆน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ คือหนังประเภทที่สะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงขณะที่มีการสร้างหนัง อย่างเช่นหนังเรื่องนี้นี่ มันจะกลายเป็นหนังที่ “ล้าสมัย” ในปีต่อๆไปได้ง่ายมากเลยนะ เพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในไทยช่วงนี้มันไม่นิ่งน่ะ มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกปี มันมีเหตุการณ์เหี้ยห่า มีเหตุการณ์สำคัญใหม่ๆเกิดขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นหนังที่เลือกที่จะสะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบันขณะ จึงเป็นหนังที่ผู้สร้างเลือกแล้วว่า สิ่งที่ตัวเองต้องการอาจจะไม่ใช่การทำตัวเป็นหนังคลาสสิค ดูได้ทุกปีไม่มีเบื่อ แต่สิ่งที่ตัวเองต้องการคือการสะท้อนปัญหาในปัจจุบัน และเรามองว่าในอนาคต หนังเหล่านี้จะมีคุณค่ามากๆในสายตาของเรา เพราะถึงแม้เนื้อหาของมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ “ล้าสมัย” หากมองในแง่มุมนึง แต่ถ้าหากมองในอีกแง่มุมนึง หนังเหล่านี้ได้ช่วยทำหน้าที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีนั้นๆ และเราชอบหนังที่ทำหน้าที่เป็น “บทบันทึกทางประวัติศาสตร์” แบบนี้มากๆ เราว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนความรู้สึกของเราที่มีต่อการเมืองไทยในปี 2014 ได้ดีพอสมควร

(โดยส่วนตัวแล้ว นี่ก็เลยเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เราชอบหนังของ Jean-Luc Godard มากๆน่ะ โดยเฉพาะมากกว่าหนังของ François Truffaut เพราะถึงแม้หนังของ Truffaut จะดูคลาสสิคกว่า แต่ถ้าหากเราดูหนังของ Truffaut เราจะแทบไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกในช่วงที่มีการสร้างหนังเรื่องนั้น แต่ถ้าหากเราดูหนังของ Godard เราจะรู้เลยว่า อ๋อ ปีที่สร้างหนังเรื่อง A มันมีสงครามแอลจีเรีย, ปีที่สร้างหนังเรื่อง B มันมีปัญหาโซเวียตตบกับจีน, ปีที่สร้างหนังเรื่อง C มันมีปัญหาปาเลสไตน์, etc.)

3.การเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์และการสะท้อนแนวคิดทางการเมืองในปี 2014 คือสิ่งที่หนังสั้นเรื่องนี้และหนังสั้นไทยอีกหลายๆเรื่องได้ทำไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังยาวของไทยไม่ได้ทำ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าทำไม่ได้)

คือหนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงสิ่งที่คุณ Pink Cherry Babe เขียนไว้ในบทความ “ภาพยนตร์ขนาดสั้นกับระบบนิเวศไทยปี 2557” ในนิตยสาร BIOSCOPE เล่มเดือนธ.ค. 2014 น่ะ โดยคุณ Pink Cherry Babe เขียนว่า

“น่าเสียดายว่าโดยทั่วไปแล้วในไทยนั้น หนังยาวจะมีความเร็วในการบันทึกภาพคล้ายกล้องภาพนิ่งในศตวรรษที่ 19 ที่จำเป็นต้องรอแสงนานกว่าภาพที่ถ่ายไว้จะปรากฏให้เห็น เราไม่รู้ว่าอีกกี่ปีหนังยาวจะจับบันทึกอาการของสังคมไทยในตอนนี้ให้ปรากฏขึ้นได้ แต่ในบรรดาหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่สร้างขึ้นในปีนี้ เราอาจเรียกได้ว่าหนังสั้นกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นกล้องดิจิตอลที่ถ่ายและประมวลผลอัดรูปออกมาได้ในเวลาฉับพลัน เป็นกระดาษลิตมัสที่ทำปฏิกิริยากับความเป็นกรดเป็นด่างของบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็ว มวลอารมณ์ทางสังคมการเมืองที่ลอยอวลในบรรยากาศกลั่นตัวกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นเฉดสีที่น่าสนใจในพื้นที่ของหนังสั้น”

4.แล้วหนังสั้นเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงอะไรในปี 2014 มันทำให้เรานึกถึงระบอบเผด็จการผู้ให้ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ (แม่ในเรื่องนี้ให้มะละกอแก่คนท้องเสีย), ผู้ที่ชอบพูดจาขอความเห็นใจกึ่งลำเลิกบุญคุณ, ผู้ที่ชอบอ้างว่าตัวเองทำไปเพราะความรัก ความหวังดี ความห่วงใย, ผู้ที่ชอบแอบสอดส่องในเรื่องส่วนตัว (เราเข้าใจว่าแม่แอบไปค้นห้องลูกจนเจอรูปผู้ชาย), ผู้ที่ชอบปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก, ผู้ที่ปฏิบัติต่อประชาชนเหมือนทหารใต้บังคับบัญชา (แม่ที่ปฏิบัติต่อลูกเหมือนลูกน้อง) และผู้ที่ไม่รับฟังความเห็นของเรา ไม่เปิดโอกาสให้เราเลือก ไม่ได้แคร์ความสุขและความต้องการของเราจริงๆ สิ่งที่เขาต้องการคือการบังคับให้เราทำตามคำสั่งของเขาเท่านั้น

5.เราว่าหนังสั้นเรื่องนี้ทำออกมาได้เนียนในระดับนึงนะ คือมันมีทั้งส่วนที่เป็น layer หนังปัญหาครอบครัวธรรมดา กับ layer หนังการเมือง และมันมีสิ่งที่ใช้สื่อตรงๆอยู่แค่สองอย่างเองมั้ง คือ “ผ้าสีเขียว” กับเพลงตอนท้าย

ตอนที่ดูตอนแรก เราก็ไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังการเมือง แต่เรามาเริ่มสะดุดตอนที่แม่ห้ามลูกอ่านข่าวทางมือถือน่ะ เพราะถ้ามันเป็นหนังปัญหาครอบครัวปกติ แม่ก็คงจะให้เหตุผลเพียงแค่ว่า “เดี๋ยวกินข้าวเสร็จแล้ว ค่อยอ่านข่าวจากมือถือสิจ๊ะ” แต่แม่ในเรื่องนี้ดูเหมือนจะต้องการห้ามลูกอ่านข่าวจากมือถือทั้งในเวลากินข้าวและในเวลาอื่นๆด้วย แม่ในเรื่องนี้ก็เลยดูมีความผิดปกติมากๆ จุดนี้ของหนังก็เลยทำให้จับได้ว่า หนังน่าจะมีอีก layer นึง

6.เราชอบที่หนังเรื่องนี้สะท้อนลักษณะของเผด็จการในบ้านเราได้เยอะดีน่ะ และมันทำให้เรานึกถึงหนังสั้นไทยอีกเรื่องที่ชอบสุดๆนั่นก็คือเรื่อง THIS HOUSE HAVE GHOST (2011, Eakarach Monwat, A+30) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้มันเป็นการสะท้อนปัญหาการเมืองไทยในปีนั้นๆได้เยอะมาก โดยใช้วิธีการเชิงสัญลักษณ์เหมือนๆกัน โดย THIS HOUSE HAVE GHOST จะเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ไปเช่าบ้านพัก แล้วเจอผีหลอก แต่เจ้าของบ้านพักและผู้เช่าคนอื่นๆจะยืนยันนั่งยันตลอดเวลาว่า “ที่นี่ไม่มีคนตาย” ถึงแม้นางเอกจะยืนยันว่า “ที่นี่มีคนตาย” และหนังเรื่องนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย แต่โดยรวมๆแล้ว THIS HOUSE HAVE GHOST เป็นหนังที่สะท้อนอะไรหลายๆอย่างในการเมืองไทยในปี 2010 ได้ครบถ้วนมาก

แต่สาเหตุที่เราชอบ THIS HOUSE HAVE GHOST ในระดับ A+30 แต่ชอบเรื่องนี้ในระดับแค่ A+15 นั้น มันเป็นเพราะว่า เราว่าปัญหาหลักของ “ผู้ปกครอง” คือการที่มีหนังไทยหลายเรื่องสะท้อนปัญหาการเมืองไทยผ่านทางการเปรียบเปรยในรูปแบบความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกน่ะ และในหลายๆเรื่องจะต้องมีฉากกินข้าวด้วย หนังเรื่อง “ผู้ปกครอง” ก็เลยมีความน่าเบื่อนิดนึงในด้าน form หรือ genre ที่อาจจะดูซ้ำซากกับหนังไทยอีกหลายๆเรื่อง แต่ THIS HOUSE HAVE GHOST มันเป็นหนังผีตลกน่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วมันจะถูกจัดลำดับชั้นว่าเป็นอะไรที่ “ต่ำ” กว่าหนังการเมืองมากๆ เพราะฉะนั้นการที่ THIS HOUSE HAVE GHOST เลือกใช้ genre หนังผีตลกมาสื่อเนื้อหาทางการเมือง มันจึงเกิดความแปลกใหม่และความน่าสนใจขึ้นมา

7.แต่ถึงแม้ form หรือ genre ของ “ผู้ปกครอง” อาจจะดูน่าเบื่อ เราก็สนับสนุนให้มีการสร้างหนังแนวนี้ออกมาอีกเยอะๆนะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการผลิต “หนังสั้นไทยแนวการเมืองที่นำเสนอผ่านทางปัญหาในครอบครัว” ออกมาเยอะแล้ว หนังกลุ่มนี้มันก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่ต่างกันมากๆในแต่ละเรื่องน่ะ โดยความแตกต่างกันในแต่ละเรื่องนั้นเกิดจาก

7.1 ทัศนคติทางการเมืองของผู้กำกับแต่ละคน
7.2 ความสามารถที่แตกต่างกันของผู้กำกับแต่ละคน และความถนัดเฉพาะด้านที่แตกต่างกันของผู้กำกับแต่ละคน
7.3 “เวลา” ที่มีการสร้างหนังเรื่องนั้นๆ เพราะอย่างที่เราเขียนไปแล้วในข้างต้น ฉากกินข้าวของหนังสั้นไทยกลุ่มนี้ในปี 2008, 2009, 2010, ... จนถึงปัจจุบัน มันอาจจะดูคล้ายกันในเรื่องของ form แต่เนื่องจากสถานการณ์ในไทยมันมีความเปลี่ยนแปลงทุกปี เพราะฉะนั้นฉากกินข้าวของหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้จึงสะท้อนเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นหนังเรื่อง “GOOD NIGHT ไม่ได้แปลว่าราตรีสวัสดิ์” (2014, Chantana Tiprachart) ที่ฉากกินข้าวของสมาชิกครอบครัวในหนังเรื่องนี้ สะท้อนปรากฏการณ์ม็อบนกหวีดได้เป็นอย่างดี แต่ฉากกินข้าวใน “ผู้ปกครอง” ไม่ได้สะท้อนปรากฏการณ์ม็อบนกหวีดอีกต่อไป แต่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากม็อบนกหวีด

8.นอกจากการสะท้อนปัญหาการเมืองแล้ว จุดอื่นๆที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือ

8.1 ฉากที่นางเอกนั่งใช้ส้อมขูดจาน และเขี่ยมะละกอเล่นน่ะ เราว่าฉากนี้ดูมีเสน่ห์มากๆ เพราะมันอาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวในหนังที่ตัวละครไม่ได้สื่อความคิดของตัวเองออกมาทางคำพูด แต่สื่ออารมณ์ออกมาผ่านทางอากัปกิริยา และเราว่ามันสร้างความตึงเครียดได้ดี เพราะในฉากนี้เราไม่รู้ว่านางเอกรู้สึกอะไรข้างในรุนแรงขนาดไหน

คือถ้าตัวละครสื่อทุกอย่างออกมาทางคำพูดหมดเลย มันจะไม่มีเสน่ห์น่ะ แต่ฉากนี้มันทำให้เราเหมือนได้เข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละคร ได้จินตนาการถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ฉากนี้มันก็เลยทำให้หนังดูลึกขึ้น เพราะหนังมันไม่ได้มีแค่คำพูดกับการกระทำของตัวละคร แต่มันมีอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกข้างในตัวละครด้วย

8.2 เราว่าช่วงจบทำได้ดีประมาณนึง ตรงที่ใส่ soundtrack หลอนๆมาตอนท้าย แล้วก็ตัดจบปึ้งไปเลย เราว่าการตัดจบแบบนี้มีประสิทธิภาพประมาณนึง

9.เอาล่ะ ต่อไปนี้จะไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวกับหนังเรื่อง “ผู้ปกครอง” โดยตรง แต่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังสั้นไทยเรื่องอื่นๆนะ 555 เพราะจริงๆแล้วเราไม่ใช่นักวิจารณ์หนังมืออาชีพน่ะ เราเป็นแค่คนชอบดูหนัง เราก็เลยชอบเปรียบเทียบหนังเรื่องนู้นกับหนังเรื่องนี้ มากกว่าที่จะมาเขียนชี้ชัดว่า หนังแต่ละเรื่องควรปรับปรุงตรงจุดไหนบ้าง

ประการแรกเราขออธิบายว่า ถึงแม้เราจะมองว่า form หรือ genre ของผู้ปกครองดูน่าเบื่อ แต่เราก็เข้าใจว่ามันมีเหตุผลนะที่มันมีการผลิตหนังไทยแนวนี้ออกมาเยอะน่ะ คือหนังสั้นการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันมีหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นการเมืองออกมาในรูปของ “ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก” หรือไม่ก็ “ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน” น่ะ และเพราะอะไรมันถึงเป็นแบบนี้เหรอ เหตุผลประการแรกก็คือว่า คุณทำหนังการเมืองไทยแบบตรงไปตรงมาไม่ค่อยจะได้ เพราะคุณอาจจะติดคุกหรือถูกล่าแม่มดได้

เหตุผลประการที่สองก็คือว่า ความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก และครู-นักเรียนนี้มันสะท้อนเรื่องเผด็จการได้ดียังไงล่ะ คือถ้ามันเป็นหนังการเมืองที่สะท้อนปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจะไม่นำเสนอออกมาในรูปของ “พ่อแม่ลูก” หรือ “ครู-นักเรียน” เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่ดูไม่เข้ากับประเด็นที่ต้องการจะสื่อ แต่พอมันเป็นหนังการเมืองที่สะท้อนปัญหาเรื่องเผด็จการ มันก็เลยมักจะใช้ความสัมพันธ์แนว “พ่อแม่ลูก” หรือ “ครู-นักเรียน” มาสะท้อน เพราะพ่อแม่หลายคนมักจะปฏิบัติต่อลูกแบบเผด็จการ และครูหลายคนก็ปฏิบัติต่อนักเรียนแบบเผด็จการ

คือเราจะเห็นได้ว่า เวลาเราดูหนังการเมืองของประเทศอื่นๆ เราจะไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้หรอก นอกจากหนังการเมืองอย่าง TWO & TWO (2011, Babak Anvari) เพราะประเทศในตะวันออกกลาง ก็มีปัญหาเรื่องการครอบงำทางความคิดเหมือนกัน

แล้วหนังไทยที่สะท้อนประเด็นการเมืองผ่านทางความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว มีเรื่องอะไรบ้าง คำตอบก็คือมีเยอะมาก แต่เราจำได้เฉพาะแต่เรื่องที่เราชอบมากๆน่ะ อย่างเช่นเรื่อง

9.1 GOOD NIGHT ไม่ได้แปลว่าราตรีสวัสดิ์ (2014, Chantana Tiprachart)

9.2 INTRODUCING POST THAILAND (คนไทยสมัยรัชกาลที่ 9) (2014, Nuttawat Attasawat + Woraphat Attasawat)

9.3 IT’S HARD TO SAY HOW I LOVE YOU, CAPTAIN HOOK (2009, Napat Treepalawisetkun)

9.4 MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong)

9.5 MY LOVE TV (ทีวีที่รัก) (2011, Duangporn Pakavirojkul)

9.6 THAI FAMILY (อนาคตของชาติ) (2009, Yingsiwat Yamolyong)

9.7 2 BROTHERS (2013, Worrawut Lakchai)

และก็มีหนังอีกสองเรื่องที่เราชอบสุดๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มข้างต้นได้หรือเปล่า ซึ่งก็คือเรื่อง

9.8 THE YOUTH (2014, Ukrit Sa-nguanhai + Chayajee Krittayapongsakorn)
อันนี้ไม่รู้ว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้หรือเปล่านะ เพราะในหนังเรื่องนี้เราเห็นเด็กอยู่ในสระ กับผู้ใหญ่ยืนอยู่ริมสระ แต่เราไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในเรื่องนี้เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกับเด็ก หรือว่าเป็นครูสอนว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นหนังการเมืองที่ใช้เด็กเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชนเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าคู่ตรงข้ามของเด็กคือ “พ่อแม่” หรือว่า “ครู”

9.9 FAVORITE MEAL OF NONG-NAM เมนูโปรดของน้องน้ำ (2014, Piyamon Khasom)
เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้หรือเปล่านะ เพราะมันไม่มีสัญลักษณ์อะไรเชื่อมโยงกับการเมืองเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราว่าหนังเรื่องนี้มันสอดคล้องกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเผด็จการได้ดีมากๆ โดยหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของชายหนุ่มหล่อคนนึงที่ตั้งใจทำอาหารอย่างสุดฝีมือให้ภรรยาของเขาทาน แต่ภรรยาของเขากลับเหมือนไม่เต็มใจทาน และดูเหมือนบนตัวเธอจะมีร่องรอยของการถูกซ้อมด้วย

สรุปว่า “ผู้ปกครอง” เป็นหนังที่เราชอบมากพอสมควร แต่ถ้าหากผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ต้องการจะทำหนังการเมืองต่อไป เราก็ขอแนะนำให้หาทางฉีกรูปแบบออกไปเป็นหนังแนวอื่นๆบ้าง เพื่อจะได้สร้างความโดดเด่นให้หนังของตัวเองได้มากยิ่งขึ้นจ้ะ แต่ยังไงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือรักษาความปลอดภัยของตัวเองให้ดีด้วยนะจ๊ะ กูเผ่นก่อนล่ะ จบ


FAVORITE QUOTE FROM FILMSICK

Favorite quote from Wiwat Filmsick Lertwiwatwongsa:

.เวลาเล่าถึงหนังแบบนี้คนชอบถามว่าดูไปทำไม ดูแล้วได้อะไร นั่งดูคนนั่งกระเช้าสองชั่วโมงไม่เบื่อเหรอ ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะมันไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่ภายใต้ภาพเรียบเฉย บทสนทนาที่เราจะไม่รู้หรอกว่าพูดเรื่องอะไรกันอยู่นี่แหละที่เป็นช่วงเวลาทีภาพยนตร์ทรงพลังที่สุด สื่อสารกับเรามากที่สุด และเปิดโอกาสให้เราคิดเรื่อยเปื่อยได้มากที่สุด คนดูหนังชอบคิดว่าการคิดเรื่อยเปื่อยตอนดูหนังเป็นเรื่องไม่ดี ราวกับวาหนังที่ดีต้องบีบให้ผู้ชมคิดตามผู้กำกับไปตลอด หากมันเปิดกว้างมันก็ต้องมีกุญแจให้ตีความถอดรหัส และมันควรลงล๊อคกันทั้งหมด สำหรับเราการที่ผู้ชมต้องดูหนังที่ตีความได้แบบเดียว ก็ควรไปอ่านคู่มือเครื่องใช่้ไฟฟ้า(แต่ก็โอเคอาจไม่สนุกเท่าหนัง) และถ้าอยากได้การถอดรหัสลงล๊อคก็ควรไปเล่นรูบิค เพราะในทางหนึ่งการดูหนังคือการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆจากภายในตัวเราเองโดยมีหนังเป็นเครื่องมือ นี่ก็ไม่ใช่ว่าหนังแบบนี้จะดีกว่าหนังอีกแบบหนึ่งหนังแต่ละแบบมีวิธีเข้าหาแตกต่างกัน และถ้าตั้งargument ว่าหนังไม่ดีเพราะไม่มีอะไรให้ตามก็ตีกลับด้วยargument แบบนี้แหละ แต่แน่นอนจริงๆแล้วหนังแต่ละเรื่องไม่ได้ดีหรือแย่ไปกว่ากัน


Sunday, December 28, 2014

DRAW SOMETHING (2014, Rafa Spp, A+)


DRAW SOMETHING (2014, Rafa Spp, A+)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ในแง่บทและการเล่าเรื่อง เราว่ามันโอเคในระดับนึงนะ คือเราเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้คงทำขึ้นภายใต้โจทย์ “หนังเงียบ” น่ะ และมันก็เล่าเรื่องของมันได้ดีและตลอดรอดฝั่งโดยไม่ต้องใช้บทสนทนาเลย

เราชอบเนื้อเรื่องแนว “แดนสนธยา” อยู่แล้วด้วย เราก็เลยชอบเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ในระดับนึง เพราะมันทำให้นึกถึงรายการทีวี TWILIGHT ZONE ที่เราชอบสุดๆที่เคยดูตอนเด็กๆ แต่ข้อจำกัดของหนังเรื่องนี้ก็ขึ้นว่า มันสั้นเกินไปน่ะ เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ก็เลยไม่สามารถทำให้มันสนุกตื่นเต้นได้แบบสุดขีด เพราะแป๊บเดียวหนังก็จบแล้ว คือถ้าหากหนังมันสามารถยาวกว่านี้ได้ และไม่ต้องอยู่ภายใต้โจทย์หนังเงียบ หนังเรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นหนังที่สนุกมากกว่านี้ได้

2.แต่ถึงแม้เราจะรู้สึกโอเคกับบทและการเล่าเรื่องของหนัง แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ยังขาด “เสน่ห์” อยู่มากๆนะ คือถ้าหากมันเป็นหนังส่งอาจารย์เพื่อตอบโจทย์ของการเล่าเรื่องโดยไม่ใช้บทสนทนา มันก็เป็นหนังที่โอเคเลยแหละ แต่ถ้าหากมันจะต้องส่งประกวดในเวทีในวงกว้างในหัวข้อ TWILIGHT ZONE หรืออะไรทำนองนี้ เราว่ามันก็ต้องปรับปรุงเรื่อง “การสร้างบรรยากาศ” น่ะ คือเราว่าบรรยากาศของหนังเรื่องนี้เหมือนหนัง realistic น่ะ บรรยากาศมันดูแห้งผากมาก บรรยากาศมันเหมาะกับการเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตภารโรงหรืออะไรทำนองนี้ แทนที่จะเป็นหนังแนวมิติลี้ลับแบบ TWILIGHT ZONE

แต่เราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคนะ เราก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการปรับปรุงบรรยากาศในหนังเรื่องนี้ควรจะทำยังไงบ้าง มันอาจจะต้องรวมถึงการถ่ายภาพ, การจัดแสง, art direction, set decoration, การแสดง และงานต่างๆในส่วน post production

สรุปว่า เราว่าหนังเรื่องนี้ เนื้อเรื่องโอเค การเล่าเรื่องโอเค แต่ขาด “บรรยากาศ” ที่มีเสน่ห์น่ะ

3.ถ้าหากต้องเลือกฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังอีกเรื่องหนึ่ง เราคงเลือกฉายควบกับเรื่อง A TYPEWRITER MAN (2014, ลัญฉกร จาริกพัฒน์, 33min, A+20) เพราะหนังเรื่องนี้เป็นแนว twilight zone เหมือนกัน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้รับมรดกเป็นเครื่องพิมพ์ดีดโบราณ และพอเขาพิมพ์ข้อความอะไรลงไป มันก็จะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

ที่เราชอบ A TYPEWRITER MAN มาก มันเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้ไม่ต้องอยู่ภายใต้โจทย์หนังเงียบด้วยแหละ มันก็เลยเล่าเรื่องได้สบายขึ้น และพอหนังมันยาวถึง 33 นาที มันก็เลยเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆได้เต็มที่ และมันก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังที่เล่นกับความสนุกแบบ TWILIGHT ZONE ด้วย เพราะเราว่าหนังเรื่องนี้มันสามารถใช้เป็นภาพเปรียบเปรยเกี่ยวกับ “ผู้เขียนบทที่เขียนบทขึ้นมาเพื่อตอบสนอง need ต่างๆของตัวเอง” ได้ด้วย หนังเรื่องนี้ก็เลยมีอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ คือนอกจากจะมีทั้งมิติของตัวเนื้อเรื่องตรงๆ หนังเรื่องนี้ยังมีมิติเชิงสัญลักษณ์ด้วย

ถ้าหากใครสนใจหนังทีวีชุด TWILIGHT ZONE (1985-1986) ก็สามารถดูได้จากยูทูบนะ อันนี้เป็นตอน THE LIBRARY (1986, John Hancock, A+30)



THE CASE AGAINST 8 (2014, Ben Cotner + Ryan White, documentary, A+25)

THE CASE AGAINST 8 (2014, Ben Cotner + Ryan White, documentary, A+25)

1.ชอบที่หนังเรื่องนี้โฟกัสไปที่กระบวนการทางกฎหมายอย่างจริงจังมาก คือเรามักจะชอบหนังที่เล่า “เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นหนัง” ให้เป็นหนังได้น่ะ คือผู้สร้างหนังหลายๆคนอาจจะกลัวว่า เรื่องราวการว่าความในศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์, ศาลฎีกาอะไรประเภทนี้มันซีเรียสเกินไป, มันหนักหัวเกินไป, มันยุ่งยากซับซ้อนเกินไป, เดี๋ยวผู้ชมหลายๆคนอาจจะเบื่อ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชื่นชมผู้สร้างหนังเรื่องนี้ที่ไม่กลัวอะไรประเภทนี้ และนำเสนอขั้นตอน กระบวนการต่างๆทางกฎหมายอย่างจริงจังมาก

 การที่ผู้สร้างหนังกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบนี้ต่อผู้ชม ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่นๆที่เราชอบมากๆด้วยนะ อย่างเช่น

1.1 NOTHING VENTURED (2004, Harun Farocki) ซึ่งเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเรื่องการซื้อหุ้น

1.2 CORN IN PARLIAMENT (2003, Jean-Stéphane Bron, Switzerland) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับกระบวนการในรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ในการพิจารณาร่างกฎหมายเรื่องพืช GMO

1.3 VICTOR SCHOELCHER, L’ABOLITION (1998, Paul Vecchiali) หนังเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายเลิกทาสในรัฐสภาฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19

1.4 LORENZO’S OIL (1992, George Miller) เราชอบที่หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในการคิดค้นวิธีรักษาโรค

2.ดู THE CASE AGAINST 8 แล้วเรามักจะนึกถึงคุณคำ ผกาและสิ่งที่คุณคำ ผกามักจะพูดในรายการ DIVAS’ CAFE ช่วงต้นปีนี้ คือในรายการ DIVAS’ CAFE ช่วงนั้นมักจะมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพในต่างประเทศ แล้วคุณคำ ผกาก็จะพูดเปรียบเทียบกับเมืองไทยในทำนองที่ว่า “ในขณะที่ประเทศ...ไปถึงขั้นนั้นกันแล้ว ประเทศเรายังต้องมารณรงค์ให้คนยอมรับเรื่องหนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียงกันอยู่เลย”

เพราะฉะนั้นการดู THE CASE AGAINST 8 ก็เลยทำให้เราเกิดความเศร้าใจแบบแปลกๆ คือในใจหนึ่ง เราก็ดีใจที่เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพในสหรัฐ และดีใจที่เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ในใจหนึ่ง เราก็เสียใจที่เกิดมาในประเทศไทย แต่ก็นะ คนเราเลือกเกิดไม่ได้นี่นา

3.ดูแล้วชื่นชมกลุ่มคนที่ทำงานต่อต้าน proposition 8 ในเรื่องนี้มากๆ เพราะคนกลุ่มนี้เก่งมากทั้งในด้านการพูดว่าความในศาล, การควบคุมอารมณ์ตนเอง และการรับมือกับกระแสแห่งความเกลียดชังจากคนจำนวนมาก การถูกข่มขู่คุกคามในด้านต่างๆ

คือถ้าหากเราตกเป็นเป้าของความเกลียดชังจากคนจำนวนมากแบบในหนังเรื่องนี้ เราคงสูญเสียการควบคุมตนเองอย่างแน่นอน

ดูแล้วนึกถึงการ debate เรื่องเกย์,เลสเบี้ยนทางโทรทัศน์ของไทยเมื่อราว 15-20 ปีก่อนด้วย คือเราจำได้ว่าในตอนนั้นก็จะมีจิตแพทย์เหี้ยห่าอะไรสักคนมาพูดต่อต้านเกย์,เลสเบี้ยนทางโทรทัศน์ แล้วก็จะมีดาราที่เป็นกะเทย กับตัวแทนจากกลุ่มอัญจารีมาร่วมอภิปรายด้วย แล้วเราก็จะทึ่งกับตัวแทนของกลุ่มอัญจารีมากในแง่ที่ว่า เธอใจเย็นมากๆๆๆๆ เธอสามารถรับมือกับการพูดจาเหี้ยๆและไร้เหตุผลของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดีมาก เธอสามารถเรียบเรียงคำพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และพูดโต้ตอบกลับไปอย่างใจเย็น คือเราจะทึ่งกับคนแบบนี้มากๆน่ะ เพราะถ้าเป็นเราเราคงร้องกรี๊ดแล้วทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้ามในทันที เราคงไม่สามารถควบคุมอารมณ์, สติอะไรได้แบบนี้

เพราะฉะนั้นพอเราได้เห็นกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสิทธิ LGBT ใน THE CASE AGAINST 8 เราก็เลยรู้สึกอยากคารวะคนกลุ่มนี้มากๆ เพราะเขาต่อสู้เพื่อเรา และเขาทำในสิ่งที่เราไม่สามารถทำเองได้อย่างแน่นอน ทั้งการลุกขึ้นสู้, การควบคุมอารมณ์ตนเอง, การทำตัวเป็นคนดีในสายตาสังคมตลอดเวลา เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT และการรับมือกับกระแสแห่งความเกลียดชังที่ถาโถมเข้ามา

4.อย่างไรก็ดี ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ถึงขั้น A+30 (ชอบสุดๆ) นะ แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะว่าผู้กำกับไม่เก่งหรือผู้กำกับทำอะไรผิดนะ มันเป็นเพราะตัวรูปแบบของหนังเรื่องนี้เองแหละ ที่อาจจะส่งผลให้หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เข้าทางรสนิยมเราแบบ 100% คือเราเป็นคนที่เสพติดการได้ดูด้านมืด, ด้านที่อ่อนแอ หรือจุดที่เปราะบางของมนุษย์น่ะ เพราะฉะนั้นพอเราได้เห็นครอบครัวเกย์, เลสเบียนที่ดูสมบูรณ์แบบ เพียบพร้อมมากๆในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยเกิดทั้งความรู้สึกทึ่งมากๆ และอิจฉามากๆในขณะเดียวกัน และเราก็เลยรู้สึกอยากเห็นด้านลบหรือด้านที่เปราะบางของครอบครัวเกย์, เลสเบียนในหนังเรื่องนี้น่ะ

แต่การที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอสิ่งนี้ออกมา ไม่ใช่สิ่งผิดนะ เรายอมรับได้ที่หนังโฟกัสไปที่กระบวนการทางกฎหมาย และนำเสนอภาพลักษณ์ในด้านบวกของครอบครัวเกย์, เลสเบียนเป็นหลัก เพียงแต่ว่าโดยรสนิยมส่วนตัวของเราแล้ว เราอยากเห็นด้านอื่นๆด้วย

คือในแง่นึง ปัญหาที่เรามีกับหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับปัญหาที่เรามีกับ THE TRUTH BE TOLD: THE CASES AGAINST SUPINYA KLANGNARONG (2007, Pimpaka Towira, documentary) น่ะ คือ THE TRUTH BE TOLD ก็เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับบุคคลที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมเหมือนกัน แต่คุณสุภิญญาในหนังเรื่องนี้ เธอควบคุมตัวเองได้ดีมากๆจนเราไม่เห็นด้านที่เปราะบางหรือด้านลบของเธอเลย หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนขาด “รสชาติ” บางอย่างที่เราชอบมากๆไป

แต่เราก็ไม่ได้มองว่าหนังสารคดีสองเรื่องนี้ทำอะไรผิดนะ เพราะเรื่องอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับตัว subject ด้วยแหละ คือถ้า subject ของคุณเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีมากๆ และเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สร้างหนังสารคดีจะสามารถตีแผ่จุดอ่อนของตัว subject ออกมาได้

และเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับรูปแบบของการเป็นหนังสารคดีด้วยแหละ คือถ้ามันเป็นหนัง fiction ผู้เขียนบทก็สามารถอุปโลกน์จุดอ่อน จุดเปราะบางให้กับตัวละครของตัวเองได้อย่างง่ายดาย แต่พอมันเป็นหนังสารคดีปุ๊บ เราก็ไม่สามารถประดิษฐ์ “ข้อเสีย” ที่ไม่มีจริงให้กับตัว subject ของเรา

เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งเราก็เลยรู้สึกว่า ผู้สร้างหนังสารคดีเรื่อง FINDING VIVIAN MAIER (2013, John Maloof + Charlie Siskel, A+30) โชคดีมากๆ เพราะเราว่าเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้คือการพูดถึงด้านลบของวิเวียนน่ะ และการที่หนังสารคดีเรื่องนี้ทำแบบนี้ได้อย่างเต็มที่มันเป็นเพราะว่า วิเวียนตายไปแล้ว และเธอไม่มีสมาชิกครอบครัวที่จะมาฟ้องร้อง

ส่วนหนังสารคดีเรื่องอื่นๆที่นำเสนอด้านลบของตัว subject ก็มีอย่างเช่น

4.1 MR. DEATH: THE RISE AND FALL OF FRED A. LEUCHTER, JR. (1998, Errol Morris) แต่หนังเรื่องนี้สามารถทำอย่างนี้ได้สบาย เพราะตัว subject ของหนังเรื่องนี้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องน่ะ และเราว่า subject ในหนังเรื่องอื่นๆของ Morris ก็คล้ายๆกัน

4.2 GREY GARDENS (1975, Albert Maysles, David Maysles, Ellen Hovde, Muffie Meyer) อันนี้ subject ของเรื่องเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามของครอบครัว LGBT ใน THE CASE AGAINST 8 เลยน่ะ เพราะแม่ลูกในหนังเรื่องนี้ดูรั่วมากๆ และดูเหมือนควบคุมอารมณ์ความรู้สึกอะไรของตัวเองไม่ได้ดีนัก

สรุปว่า เราชอบ THE CASE AGAINST 8 มาก และถึงแม้เราจะไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เราก็เข้าใจดีว่ามันไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้กำกับน่ะ แต่มันเป็นเพราะ “ความเป็นสารคดี” และ “ตัว subject ของเรื่อง” ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้หนังเรื่องนี้ขาดรสชาติอะไรบางอย่างที่เราต้องการ แต่ยังไงเราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆที่โฟกัสไปที่กระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อนทางกฎหมายอย่างจริงจัง เราว่าไอ้จุดโฟกัสนี้แหละ ที่ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับหนังสารคดีเรื่องนี้เมื่อเทียบกับหนังสารคดีเกี่ยวกับสิทธิเกย์เรื่องอื่นๆอย่าง SUDDENLY, LAST WINTER (2008, Gustav Hofer + Luca Ragazzi, Italy), A JIHAD FOR LOVE (2007, Parvez Sharma) และ BE LIKE OTHERS (2008, Tanaz Eshaghian, Iran) ที่เลือกที่จะโฟกัสไปที่จุดอื่นๆแทน