Saturday, December 06, 2014

IT SHALL PASS (2014, Wannasak Sirilar, stage play, A+15)


IT SHALL PASS (2014, Wannasak Sirilar, stage play, A+15)
(เราดูรอบที่ Ben Busarakamwong เป็นดารารับเชิญ)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--

สิ่งที่เราชอบมากๆในละครเรื่องนี้ก็คือวิธีการนำเสนอน่ะ ไม่ใช่เนื้อหาของเรื่อง คือเราว่าเนื้อหาของละครเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่หรือน่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการนำเสนอ

ก่อนที่ละครเรื่องนี้จะเริ่มแสดง ผู้ชมที่มานั่งรอจะได้ฟังเสียงเพลงแบบ chill out ราว 2-3 เพลง โดยในรอบที่เราไปดูนั้น เราได้นั่งฟังเพลง ROLLING IN THE DEEP ของ Adele แต่เป็นเวอร์ชั่นที่นำมาร้องใหม่ในแบบ chill out และก็ได้ฟังเพลงอื่นๆด้วย ซึ่งตอนที่เรานั่งฟังเพลงเหล่านี้ เราก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เราคิดเพียงแค่ว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้ฟังเพลงแบบนี้เยอะมาก นั่นก็คือการนำเพลงป็อปอย่างเช่นเพลงของเลดี้ กาก้ามาทำใหม่ในแบบ chill out

แต่พอเราดูละครเรื่องนี้จบ เราก็ไม่แน่ใจว่า การเปิดเพลงก่อนละครจะเริ่มนั้นเป็นความตั้งใจของผู้กำกับหรือเปล่า เพราะเรามองว่าละครเรื่องนี้ทำในสิ่งที่คล้ายๆกับเพลง chill out เหล่านี้ เพราะละครเรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่อาจจะพบเห็นได้ในละครดราม่าหรือเมโลดราม่าหลายๆเรื่อง แต่นำมาเล่าใหม่ด้วยท่วงทำนอง, บรรยากาศ และอารมณ์แบบ chill out ประมาณ 3/4 ของเรื่อง

เรามองว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่น่าทึ่งมากสำหรับเรานะ เพราะเราแทบไม่เคยเห็นละครเวทีหรือหนังเรื่องไหนใช้วิธีการแบบนี้มาก่อน ทั้งๆที่วงการเพลงใช้วิธีการนี้กันมานานหลายปีจนกลายเป็นของดาษดื่นไปแล้ว

คือเรามองว่าเนื้อหาในละครเรื่องนี้นั้น โดยตัวมันเองแล้ว ไม่มีอะไรใหม่หรือน่าสนใจมากนักน่ะ เนื้อหาที่เป็นเรื่องของลูกที่ถอดเครื่องช่วยหายใจแม่ ก็ทำให้นึกถึงละครเวทีเรื่อง DRUNK ที่เพิ่งจัดแสดงไปก่อนหน้านี้ แต่ DRUNK นำเสนอเนื้อหาดังกล่าวด้วยโทนที่ซีเรียสจริงจังเคร่งขรึมและเคร่งเครียดมากๆ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับกะเทยที่ถูกผู้ชายหลอกเอาเงินไป ก็เป็นเนื้อหาที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วเป็นร้อยครั้ง ซึ่งรวมถึงในละครเวทีเรื่อง THE 4 SISTERS+1 (2014, Bhanbhassa Dhubthien) ด้วย แต่ THE 4 SISTERS+1 จะนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวในแบบที่ชวนสงสารตัวละครมากกว่านี้ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างกะเทยนักขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กับหนุ่มนักซ่อมรถนั้น จริงๆแล้วเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจมาก แต่ก็อาจจะทำให้นึกถึงเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวังเหมือนอย่างในละครเวทีเรื่อง TARO THE LITTLE POODLE (Sangsan Santimaneerat) ได้เช่นกัน โดยจุดที่แตกต่างกันก็คือว่า IT SHALL PASS เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์นี้ในแบบสบายๆปนตลก แต่ TARO THE LITTLE POODLE จะเล่าเรื่องราวนี้ในแบบที่ดูจริงจังกว่า โรแมนติกกว่า น่าลุ้นน่าเอาใจช่วยมากกว่า

เพราะฉะนั้นในขณะที่เราดู IT SHALL PASS เราจะรู้สึกว่า “เรื่องที่เล่า” มันไม่น่าสนใจมากนัก แต่เรากลับรู้สึกเพลิดเพลินมากๆในขณะที่ได้ดู แล้วความเพลิดเพลินนั้นมันมาจากไหน มันไม่ได้มาจากเรื่องที่เล่า แต่มันมาจากวิธีการเล่า เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างจากละครเวที/หนังที่นำเสนอเนื้อหาแบบเดียวกัน ก็คือโทนอารมณ์ที่ออกมาชิลๆสบายๆ ในช่วง 75% แรกของเรื่อง ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า ปกติแล้วเนื้อหาชีวิตกะเทยแบบที่อยู่ใน IT SHALL PASS นั้น มันมักจะถูกนำเสนอในแบบเพลงของวิทนีย์ ฮุสตันหรือ Wendy Moten น่ะ มันมักจะถูกนำเสนอในแบบแผดอารมณ์อย่างเต็มที่ รันทดเต็มที่ เศร้าสุดๆ เป็นดราม่าเข้มข้นหรือเป็นเมโลดราม่าเต็มที่ แต่สิ่งที่วรรณศักดิ์ทำเหมือนกับการเอาเพลงแผดเสียงของวิทนีย์ ฮุสตันมาขับร้องใหม่ให้กลายเป็นเพลง chill out สบายๆ มันก็เลยเกิดความแปลกใหม่ ความเพลิดเพลินขึ้นมา

แต่เราก็ชอบช่วง 25% สุดท้ายของเรื่องเหมือนกันนะ คือในช่วงท้ายเรื่อง อารมณ์แบบ chill out จะหายไป กลายเป็นอารมณ์ดราม่าเข้มข้น รักทรมาน พิศาล อัครเศรณีขึ้นมาแทน แต่เรามองว่ามันเป็นการเปลี่ยน mode จาก chill out เป็นดราม่าได้อย่างสมเหตุสมผลและถูกต้องมากๆ

คือจุดเปลี่ยนของเรื่อง มันอยู่ในฉากที่วรรณศักดิ์เหมือนจะพยายามทำตัวชิลล์ ปลอบใจตัวเองไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่เคยทำมาตลอดทั้งชีวิต แต่ในที่สุดเขาก็ดูเหมือนจะควบคุมอารมณ์ไม่ไหวอีกต่อไป หลอกตัวเองไม่ไหวอีกต่อไป เขาก็เลยเขวี้ยงแก้วน้ำ แล้วอารมณ์ก็ระเบิดออกมา

เรามองว่าจุดเปลี่ยนนี้มันเป็น “มนุษย์” มากๆน่ะ เพราะเราว่าคนเราทำตัวชิลล์ๆไปเรื่อยๆไม่ได้หรอก การพยายามทำตัวชิลล์ๆไปเรื่อยๆ ไม่ซีเรียสกับปัญหา ในบางครั้งมันไม่ได้ทำให้แผลหาย แต่มันอาจจะทำให้แผลในใจมันกลายเป็นแผลเน่าซะมากกว่า บางครั้งการระบายอารมณ์ออกมาตรงๆเลย มันอาจจะเหมือนกับการราดทิงเจอร์ลงไปบนแผล มันอาจจะเจ็บ แต่มันหายเร็ว เรามองว่ามันดีกว่าการพยายามกลบเกลื่อนความเจ็บปวดเอาไว้ แล้วหลอกตัวเองว่า เดี๋ยวแผลมันก็จะหายไปเองตามกาลเวลา เพราะถ้าคุณหลอกตัวเองแบบนั้น พอเวลาผ่านไป คุณก็จะพบว่าแผลมันกินลึกไปถึงกระดูกคุณแล้ว (จริงๆแล้วละครเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการบอกคนดูแบบนี้หรอก อันนี้เราแค่ลากละครเรื่องนี้มารองรับความเชื่อของเรา)

สรุปว่าเราชอบละครเรื่องนี้มากๆ ไม่ใช่ที่เนื้อหาของละคร แต่เป็นที่วิธีการนำเสนอของละคร เรามองว่ามันเหมือนการเอาเนื้อหาที่อาจจะดู cliche มาทำใหม่ให้กลายเป็นดนตรี chill out ในช่วงแรกๆของเรื่อง ก่อนที่จะเปลี่ยนโหมดอารมณ์อย่างรุนแรงในช่วงท้าย ซึ่งการเปลี่ยนโหมดอารมณ์นี้มันเข้ากับความเชื่อบางอย่างของเรา




No comments: