Wednesday, December 31, 2014

PARENTHOOD (2014, Monsicha Wongsoontorn, A+15)


PARENTHOOD ผู้ปกครอง (2014, Monsicha Wongsoontorn, A+15)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

เราดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

1.ดูแล้วชอบมากพอสมควรเลยนะ เพราะทัศนคติทางการเมืองอาจจะสอดคล้องกับเรา และคิดว่ามันเป็นหนังที่ทำออกมาใช้ได้ในระดับนึง

2.เราชอบหนังที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงขณะต่างๆน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ คือหนังประเภทที่สะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงขณะที่มีการสร้างหนัง อย่างเช่นหนังเรื่องนี้นี่ มันจะกลายเป็นหนังที่ “ล้าสมัย” ในปีต่อๆไปได้ง่ายมากเลยนะ เพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในไทยช่วงนี้มันไม่นิ่งน่ะ มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกปี มันมีเหตุการณ์เหี้ยห่า มีเหตุการณ์สำคัญใหม่ๆเกิดขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นหนังที่เลือกที่จะสะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบันขณะ จึงเป็นหนังที่ผู้สร้างเลือกแล้วว่า สิ่งที่ตัวเองต้องการอาจจะไม่ใช่การทำตัวเป็นหนังคลาสสิค ดูได้ทุกปีไม่มีเบื่อ แต่สิ่งที่ตัวเองต้องการคือการสะท้อนปัญหาในปัจจุบัน และเรามองว่าในอนาคต หนังเหล่านี้จะมีคุณค่ามากๆในสายตาของเรา เพราะถึงแม้เนื้อหาของมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ “ล้าสมัย” หากมองในแง่มุมนึง แต่ถ้าหากมองในอีกแง่มุมนึง หนังเหล่านี้ได้ช่วยทำหน้าที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีนั้นๆ และเราชอบหนังที่ทำหน้าที่เป็น “บทบันทึกทางประวัติศาสตร์” แบบนี้มากๆ เราว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนความรู้สึกของเราที่มีต่อการเมืองไทยในปี 2014 ได้ดีพอสมควร

(โดยส่วนตัวแล้ว นี่ก็เลยเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เราชอบหนังของ Jean-Luc Godard มากๆน่ะ โดยเฉพาะมากกว่าหนังของ François Truffaut เพราะถึงแม้หนังของ Truffaut จะดูคลาสสิคกว่า แต่ถ้าหากเราดูหนังของ Truffaut เราจะแทบไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกในช่วงที่มีการสร้างหนังเรื่องนั้น แต่ถ้าหากเราดูหนังของ Godard เราจะรู้เลยว่า อ๋อ ปีที่สร้างหนังเรื่อง A มันมีสงครามแอลจีเรีย, ปีที่สร้างหนังเรื่อง B มันมีปัญหาโซเวียตตบกับจีน, ปีที่สร้างหนังเรื่อง C มันมีปัญหาปาเลสไตน์, etc.)

3.การเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์และการสะท้อนแนวคิดทางการเมืองในปี 2014 คือสิ่งที่หนังสั้นเรื่องนี้และหนังสั้นไทยอีกหลายๆเรื่องได้ทำไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังยาวของไทยไม่ได้ทำ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าทำไม่ได้)

คือหนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงสิ่งที่คุณ Pink Cherry Babe เขียนไว้ในบทความ “ภาพยนตร์ขนาดสั้นกับระบบนิเวศไทยปี 2557” ในนิตยสาร BIOSCOPE เล่มเดือนธ.ค. 2014 น่ะ โดยคุณ Pink Cherry Babe เขียนว่า

“น่าเสียดายว่าโดยทั่วไปแล้วในไทยนั้น หนังยาวจะมีความเร็วในการบันทึกภาพคล้ายกล้องภาพนิ่งในศตวรรษที่ 19 ที่จำเป็นต้องรอแสงนานกว่าภาพที่ถ่ายไว้จะปรากฏให้เห็น เราไม่รู้ว่าอีกกี่ปีหนังยาวจะจับบันทึกอาการของสังคมไทยในตอนนี้ให้ปรากฏขึ้นได้ แต่ในบรรดาหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่สร้างขึ้นในปีนี้ เราอาจเรียกได้ว่าหนังสั้นกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นกล้องดิจิตอลที่ถ่ายและประมวลผลอัดรูปออกมาได้ในเวลาฉับพลัน เป็นกระดาษลิตมัสที่ทำปฏิกิริยากับความเป็นกรดเป็นด่างของบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็ว มวลอารมณ์ทางสังคมการเมืองที่ลอยอวลในบรรยากาศกลั่นตัวกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นเฉดสีที่น่าสนใจในพื้นที่ของหนังสั้น”

4.แล้วหนังสั้นเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงอะไรในปี 2014 มันทำให้เรานึกถึงระบอบเผด็จการผู้ให้ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ (แม่ในเรื่องนี้ให้มะละกอแก่คนท้องเสีย), ผู้ที่ชอบพูดจาขอความเห็นใจกึ่งลำเลิกบุญคุณ, ผู้ที่ชอบอ้างว่าตัวเองทำไปเพราะความรัก ความหวังดี ความห่วงใย, ผู้ที่ชอบแอบสอดส่องในเรื่องส่วนตัว (เราเข้าใจว่าแม่แอบไปค้นห้องลูกจนเจอรูปผู้ชาย), ผู้ที่ชอบปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก, ผู้ที่ปฏิบัติต่อประชาชนเหมือนทหารใต้บังคับบัญชา (แม่ที่ปฏิบัติต่อลูกเหมือนลูกน้อง) และผู้ที่ไม่รับฟังความเห็นของเรา ไม่เปิดโอกาสให้เราเลือก ไม่ได้แคร์ความสุขและความต้องการของเราจริงๆ สิ่งที่เขาต้องการคือการบังคับให้เราทำตามคำสั่งของเขาเท่านั้น

5.เราว่าหนังสั้นเรื่องนี้ทำออกมาได้เนียนในระดับนึงนะ คือมันมีทั้งส่วนที่เป็น layer หนังปัญหาครอบครัวธรรมดา กับ layer หนังการเมือง และมันมีสิ่งที่ใช้สื่อตรงๆอยู่แค่สองอย่างเองมั้ง คือ “ผ้าสีเขียว” กับเพลงตอนท้าย

ตอนที่ดูตอนแรก เราก็ไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังการเมือง แต่เรามาเริ่มสะดุดตอนที่แม่ห้ามลูกอ่านข่าวทางมือถือน่ะ เพราะถ้ามันเป็นหนังปัญหาครอบครัวปกติ แม่ก็คงจะให้เหตุผลเพียงแค่ว่า “เดี๋ยวกินข้าวเสร็จแล้ว ค่อยอ่านข่าวจากมือถือสิจ๊ะ” แต่แม่ในเรื่องนี้ดูเหมือนจะต้องการห้ามลูกอ่านข่าวจากมือถือทั้งในเวลากินข้าวและในเวลาอื่นๆด้วย แม่ในเรื่องนี้ก็เลยดูมีความผิดปกติมากๆ จุดนี้ของหนังก็เลยทำให้จับได้ว่า หนังน่าจะมีอีก layer นึง

6.เราชอบที่หนังเรื่องนี้สะท้อนลักษณะของเผด็จการในบ้านเราได้เยอะดีน่ะ และมันทำให้เรานึกถึงหนังสั้นไทยอีกเรื่องที่ชอบสุดๆนั่นก็คือเรื่อง THIS HOUSE HAVE GHOST (2011, Eakarach Monwat, A+30) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้มันเป็นการสะท้อนปัญหาการเมืองไทยในปีนั้นๆได้เยอะมาก โดยใช้วิธีการเชิงสัญลักษณ์เหมือนๆกัน โดย THIS HOUSE HAVE GHOST จะเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ไปเช่าบ้านพัก แล้วเจอผีหลอก แต่เจ้าของบ้านพักและผู้เช่าคนอื่นๆจะยืนยันนั่งยันตลอดเวลาว่า “ที่นี่ไม่มีคนตาย” ถึงแม้นางเอกจะยืนยันว่า “ที่นี่มีคนตาย” และหนังเรื่องนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย แต่โดยรวมๆแล้ว THIS HOUSE HAVE GHOST เป็นหนังที่สะท้อนอะไรหลายๆอย่างในการเมืองไทยในปี 2010 ได้ครบถ้วนมาก

แต่สาเหตุที่เราชอบ THIS HOUSE HAVE GHOST ในระดับ A+30 แต่ชอบเรื่องนี้ในระดับแค่ A+15 นั้น มันเป็นเพราะว่า เราว่าปัญหาหลักของ “ผู้ปกครอง” คือการที่มีหนังไทยหลายเรื่องสะท้อนปัญหาการเมืองไทยผ่านทางการเปรียบเปรยในรูปแบบความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกน่ะ และในหลายๆเรื่องจะต้องมีฉากกินข้าวด้วย หนังเรื่อง “ผู้ปกครอง” ก็เลยมีความน่าเบื่อนิดนึงในด้าน form หรือ genre ที่อาจจะดูซ้ำซากกับหนังไทยอีกหลายๆเรื่อง แต่ THIS HOUSE HAVE GHOST มันเป็นหนังผีตลกน่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วมันจะถูกจัดลำดับชั้นว่าเป็นอะไรที่ “ต่ำ” กว่าหนังการเมืองมากๆ เพราะฉะนั้นการที่ THIS HOUSE HAVE GHOST เลือกใช้ genre หนังผีตลกมาสื่อเนื้อหาทางการเมือง มันจึงเกิดความแปลกใหม่และความน่าสนใจขึ้นมา

7.แต่ถึงแม้ form หรือ genre ของ “ผู้ปกครอง” อาจจะดูน่าเบื่อ เราก็สนับสนุนให้มีการสร้างหนังแนวนี้ออกมาอีกเยอะๆนะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการผลิต “หนังสั้นไทยแนวการเมืองที่นำเสนอผ่านทางปัญหาในครอบครัว” ออกมาเยอะแล้ว หนังกลุ่มนี้มันก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่ต่างกันมากๆในแต่ละเรื่องน่ะ โดยความแตกต่างกันในแต่ละเรื่องนั้นเกิดจาก

7.1 ทัศนคติทางการเมืองของผู้กำกับแต่ละคน
7.2 ความสามารถที่แตกต่างกันของผู้กำกับแต่ละคน และความถนัดเฉพาะด้านที่แตกต่างกันของผู้กำกับแต่ละคน
7.3 “เวลา” ที่มีการสร้างหนังเรื่องนั้นๆ เพราะอย่างที่เราเขียนไปแล้วในข้างต้น ฉากกินข้าวของหนังสั้นไทยกลุ่มนี้ในปี 2008, 2009, 2010, ... จนถึงปัจจุบัน มันอาจจะดูคล้ายกันในเรื่องของ form แต่เนื่องจากสถานการณ์ในไทยมันมีความเปลี่ยนแปลงทุกปี เพราะฉะนั้นฉากกินข้าวของหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้จึงสะท้อนเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นหนังเรื่อง “GOOD NIGHT ไม่ได้แปลว่าราตรีสวัสดิ์” (2014, Chantana Tiprachart) ที่ฉากกินข้าวของสมาชิกครอบครัวในหนังเรื่องนี้ สะท้อนปรากฏการณ์ม็อบนกหวีดได้เป็นอย่างดี แต่ฉากกินข้าวใน “ผู้ปกครอง” ไม่ได้สะท้อนปรากฏการณ์ม็อบนกหวีดอีกต่อไป แต่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากม็อบนกหวีด

8.นอกจากการสะท้อนปัญหาการเมืองแล้ว จุดอื่นๆที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือ

8.1 ฉากที่นางเอกนั่งใช้ส้อมขูดจาน และเขี่ยมะละกอเล่นน่ะ เราว่าฉากนี้ดูมีเสน่ห์มากๆ เพราะมันอาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวในหนังที่ตัวละครไม่ได้สื่อความคิดของตัวเองออกมาทางคำพูด แต่สื่ออารมณ์ออกมาผ่านทางอากัปกิริยา และเราว่ามันสร้างความตึงเครียดได้ดี เพราะในฉากนี้เราไม่รู้ว่านางเอกรู้สึกอะไรข้างในรุนแรงขนาดไหน

คือถ้าตัวละครสื่อทุกอย่างออกมาทางคำพูดหมดเลย มันจะไม่มีเสน่ห์น่ะ แต่ฉากนี้มันทำให้เราเหมือนได้เข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละคร ได้จินตนาการถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ฉากนี้มันก็เลยทำให้หนังดูลึกขึ้น เพราะหนังมันไม่ได้มีแค่คำพูดกับการกระทำของตัวละคร แต่มันมีอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกข้างในตัวละครด้วย

8.2 เราว่าช่วงจบทำได้ดีประมาณนึง ตรงที่ใส่ soundtrack หลอนๆมาตอนท้าย แล้วก็ตัดจบปึ้งไปเลย เราว่าการตัดจบแบบนี้มีประสิทธิภาพประมาณนึง

9.เอาล่ะ ต่อไปนี้จะไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวกับหนังเรื่อง “ผู้ปกครอง” โดยตรง แต่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังสั้นไทยเรื่องอื่นๆนะ 555 เพราะจริงๆแล้วเราไม่ใช่นักวิจารณ์หนังมืออาชีพน่ะ เราเป็นแค่คนชอบดูหนัง เราก็เลยชอบเปรียบเทียบหนังเรื่องนู้นกับหนังเรื่องนี้ มากกว่าที่จะมาเขียนชี้ชัดว่า หนังแต่ละเรื่องควรปรับปรุงตรงจุดไหนบ้าง

ประการแรกเราขออธิบายว่า ถึงแม้เราจะมองว่า form หรือ genre ของผู้ปกครองดูน่าเบื่อ แต่เราก็เข้าใจว่ามันมีเหตุผลนะที่มันมีการผลิตหนังไทยแนวนี้ออกมาเยอะน่ะ คือหนังสั้นการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันมีหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นการเมืองออกมาในรูปของ “ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก” หรือไม่ก็ “ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน” น่ะ และเพราะอะไรมันถึงเป็นแบบนี้เหรอ เหตุผลประการแรกก็คือว่า คุณทำหนังการเมืองไทยแบบตรงไปตรงมาไม่ค่อยจะได้ เพราะคุณอาจจะติดคุกหรือถูกล่าแม่มดได้

เหตุผลประการที่สองก็คือว่า ความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก และครู-นักเรียนนี้มันสะท้อนเรื่องเผด็จการได้ดียังไงล่ะ คือถ้ามันเป็นหนังการเมืองที่สะท้อนปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจะไม่นำเสนอออกมาในรูปของ “พ่อแม่ลูก” หรือ “ครู-นักเรียน” เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่ดูไม่เข้ากับประเด็นที่ต้องการจะสื่อ แต่พอมันเป็นหนังการเมืองที่สะท้อนปัญหาเรื่องเผด็จการ มันก็เลยมักจะใช้ความสัมพันธ์แนว “พ่อแม่ลูก” หรือ “ครู-นักเรียน” มาสะท้อน เพราะพ่อแม่หลายคนมักจะปฏิบัติต่อลูกแบบเผด็จการ และครูหลายคนก็ปฏิบัติต่อนักเรียนแบบเผด็จการ

คือเราจะเห็นได้ว่า เวลาเราดูหนังการเมืองของประเทศอื่นๆ เราจะไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้หรอก นอกจากหนังการเมืองอย่าง TWO & TWO (2011, Babak Anvari) เพราะประเทศในตะวันออกกลาง ก็มีปัญหาเรื่องการครอบงำทางความคิดเหมือนกัน

แล้วหนังไทยที่สะท้อนประเด็นการเมืองผ่านทางความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว มีเรื่องอะไรบ้าง คำตอบก็คือมีเยอะมาก แต่เราจำได้เฉพาะแต่เรื่องที่เราชอบมากๆน่ะ อย่างเช่นเรื่อง

9.1 GOOD NIGHT ไม่ได้แปลว่าราตรีสวัสดิ์ (2014, Chantana Tiprachart)

9.2 INTRODUCING POST THAILAND (คนไทยสมัยรัชกาลที่ 9) (2014, Nuttawat Attasawat + Woraphat Attasawat)

9.3 IT’S HARD TO SAY HOW I LOVE YOU, CAPTAIN HOOK (2009, Napat Treepalawisetkun)

9.4 MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong)

9.5 MY LOVE TV (ทีวีที่รัก) (2011, Duangporn Pakavirojkul)

9.6 THAI FAMILY (อนาคตของชาติ) (2009, Yingsiwat Yamolyong)

9.7 2 BROTHERS (2013, Worrawut Lakchai)

และก็มีหนังอีกสองเรื่องที่เราชอบสุดๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มข้างต้นได้หรือเปล่า ซึ่งก็คือเรื่อง

9.8 THE YOUTH (2014, Ukrit Sa-nguanhai + Chayajee Krittayapongsakorn)
อันนี้ไม่รู้ว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้หรือเปล่านะ เพราะในหนังเรื่องนี้เราเห็นเด็กอยู่ในสระ กับผู้ใหญ่ยืนอยู่ริมสระ แต่เราไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในเรื่องนี้เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกับเด็ก หรือว่าเป็นครูสอนว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นหนังการเมืองที่ใช้เด็กเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชนเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าคู่ตรงข้ามของเด็กคือ “พ่อแม่” หรือว่า “ครู”

9.9 FAVORITE MEAL OF NONG-NAM เมนูโปรดของน้องน้ำ (2014, Piyamon Khasom)
เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้หรือเปล่านะ เพราะมันไม่มีสัญลักษณ์อะไรเชื่อมโยงกับการเมืองเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราว่าหนังเรื่องนี้มันสอดคล้องกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเผด็จการได้ดีมากๆ โดยหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของชายหนุ่มหล่อคนนึงที่ตั้งใจทำอาหารอย่างสุดฝีมือให้ภรรยาของเขาทาน แต่ภรรยาของเขากลับเหมือนไม่เต็มใจทาน และดูเหมือนบนตัวเธอจะมีร่องรอยของการถูกซ้อมด้วย

สรุปว่า “ผู้ปกครอง” เป็นหนังที่เราชอบมากพอสมควร แต่ถ้าหากผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ต้องการจะทำหนังการเมืองต่อไป เราก็ขอแนะนำให้หาทางฉีกรูปแบบออกไปเป็นหนังแนวอื่นๆบ้าง เพื่อจะได้สร้างความโดดเด่นให้หนังของตัวเองได้มากยิ่งขึ้นจ้ะ แต่ยังไงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือรักษาความปลอดภัยของตัวเองให้ดีด้วยนะจ๊ะ กูเผ่นก่อนล่ะ จบ


No comments: