Wednesday, December 24, 2014

FILMS SEEN IN "MOVIE SEASON" EVENT

Films seen in “MOVIE SEASON” event by Bangkok University

1.ONE YEAR AT THE END OF FEBRUARY, ONE DAY IN MARCH (2014, Natthavee Hanvilai, A+30)
ปีหนึ่งในปลายกุมภาพันธ์ วันหนึ่งในเดือนมีนาคม

ไม่แน่ใจว่าหนังเกี่ยวกับอะไร หรือต้องการจะสื่ออะไร รู้แต่ว่าดูแล้วชอบสุดๆ รู้สึกอิ่มเอมมากๆ และก็ชอบด้วยที่พอดูจบแล้วพบว่า แต่ละคนอาจจะตีความหนังเรื่องนี้ต่างๆกันไป

สำหรับเราแล้ว หนังเหมือนจะถ่ายทอดห้วงเวลา, ห้วงอารมณ์ หรือห้วงชีวิตของหญิงสาววัย 20 กว่าปีคนหนึ่ง กับเด็กหนุ่มมัธยมปลายคนหนึ่ง แล้วก็จบลงโดยที่ทั้งสองไม่ได้เจอกันแต่อย่างใด คือตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เรามีความสุขกับการจิ้นไปเองน่ะว่า ในอนาคตทั้งสองอาจจะได้มาเจอกันแล้วเป็นแฟนกัน ซึ่งมันจะตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของเรามากๆที่มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวกับชายหนุ่มที่ฝ่ายหญิงแก่กว่าฝ่ายชาย

แต่พอเราดูจบแล้ว เราก็พบว่า คนดูบางคนตีความว่าชายหนุ่มกับหญิงสาวในเรื่องนี้อาจจะเป็นคนๆเดียวกันก็ได้ ซึ่งเราพบว่ามันเป็นการตีความที่น่าสนใจมากๆ

ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะสื่ออะไร เราก็รู้สึกว่าหนังมันถ่ายทอดห้วงขณะของตัวละครออกมาได้อย่างงดงามทางความรู้สึกมากๆสำหรับเรา และฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็คือฉากที่กล้องถ่ายแช่ทางโค้งตรงลานจอดรถแห่งหนึ่ง (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เป็นเวลาระยะหนึ่ง ก่อนที่เราจะเห็นรถของนางเอกแล่นเข้ามาในทางโค้งนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าฉากนี้ต้องการจะสื่ออะไร เรารู้แต่ว่าฉากนี้มันให้ความรู้สึกที่งดงามกับเรามากๆ

หนังเรื่องนี้อาจจะเป็น narrative ก็จริง แต่เรามองว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้มีความสามารถในเชิงกวีสูงมากด้วยนะ เพราะการคว้าจับห้วงขณะต่างๆมาร้อยเรียงกันได้อย่างงดงามแบบนี้ มันเป็นความสามารถเชิงกวีน่ะ

ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังเรื่อง “รักเธอครั้งแรก รักเขาครั้งสุดท้าย” (FIRST LOVE FIRST LAST) (2009, Wachara Kanha) ด้วย เพราะ “รักเธอครั้งแรก รักเขาครั้งสุดท้าย” ก็เป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง กับชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง โดยที่ทั้งสองไม่ได้รู้จักกัน แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แล้วอยู่ดีๆหนังก็จบไปเลย โดยที่ทั้งสองไม่ได้เจอกันแต่อย่างใด แต่ “รักเธอครั้งแรก รักเขาครั้งสุดท้าย” จะไม่ได้กระทบอารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างรุนแรงแบบหนังเรื่องนี้


2.BE-LOVED (2014, Nuttachai Jiraanont, A+25)

อันนี้ก็ชอบมากๆ โดยที่ไม่เข้าใจหนังแต่อย่างใดเหมือนกัน แต่เราดูแล้วจะนึกถึงความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันน่ะ คนที่ต้องทนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน ทั้งที่จริงๆแล้วอยากฆ่ากัน แต่ในบางขณะก็รักกัน

ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะนึกถึง “มนต์รักร้านชำ” (GROCERY, MY LOVE) (2010, Meathus Sirinawin) ในแง่ที่ว่า มนต์รักร้านชำ ก็เป็นหนังเกี่ยวกับปัญหาทางความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวที่นำเสนอออกมาในแบบ surreal และมีการใช้สัญลักษณ์เหมือนกัน โดยที่เราดูแล้วก็อาจจะตีความสัญลักษณ์ไม่ค่อยออกเหมือนกัน แต่ก็ชอบมากๆอยู่ดี

ดู BE-LOVED แล้วนึกถึงเสน่ห์ของหนังแนว magical realism ด้วยนะ เพราะตัวละครประเภทที่ดูเหมือนตายไปแล้ว แต่กลับมาหลอกหลอน และใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์ปกติ ทั้งที่ดูเหมือนตายไปแล้ว อะไรพวกนี้ เราอาจจะพบได้ในหนังแนว magical realism หลายๆเรื่องน่ะ โดยที่ปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติพวกนี้ มันจะไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด คือถ้าหากเป็นหนัง “ลึกลับ” แบบปกติ มันจะมีคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดถึงเกิดเหตุการณ์ผิดธรรมชาติแบบนี้ขึ้น (อย่างเช่นแม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำวิเศษที่ชุบชีวิตคนตายได้) แต่ถ้าหากเป็นหนังแนว magical realism มันจะไม่มีคำอธิบาย

แต่ถ้าพูดกันจริงๆแล้ว BE-LOVED ก็ไม่ใช่หนัง magical realism นะ เพียงแต่เราคิดว่ามันมีเสน่ห์ใกล้เคียงหนังแนวนั้น เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เหตุการณ์ผิดปกติต่างๆในหนัง magical realism มันมักจะไม่ได้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายด้วย มันเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ที่ไม่มีทั้งคำอธิบาย และไม่มีความหมายชัดเจน แต่เราว่าเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆใน BE-LOVED จริงๆแล้วมันอาจจะมีความหมายหรือเป็นสัญลักษณ์แทนอะไรบางอย่าง

ส่วนสาเหตุที่ตอนนี้เราชอบ BE-LOVED แค่ A+25 ยังไม่ถึง A+30 เป็นเพราะว่าเราไม่ได้รู้สึกอินสุดขีดในขณะที่ดูน่ะ (แต่เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปในอนาคต) ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์รักแรง-เกลียดแรงแบบคู่รักในหนังเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า  เราก็เลยอาจจะสนใจคู่พ่อ-ลูกที่โผล่มาในช่วงท้ายมากเป็นพิเศษ เพราะความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูกเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินมากกว่าความสัมพันธ์แบบคู่รัก

ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง WE WON’T GROW OLD TOGETHER (1972, Maurice Pialat) ด้วย เพราะหนังของเปียลาต์เรื่องนี้พูดถึงหญิงชายคู่หนึ่งที่รักกันแล้วก็เลิกกัน แล้วก็คืนดีกัน แล้วก็เลิกกัน แล้วก็คืนดีกัน แล้วก็เลิกกัน สลับไปมาอย่างนี้เป็นสิบรอบได้มั้ง ซึ่งเราก็รู้สึกว่า WE WON’T GROW OLD TOGETHER เป็นหนังที่ดีมากๆ แต่ดูแล้วก็ไม่อินสุดๆเช่นกัน เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์มีผัว แล้วก็หย่ากับผัว สลับกันไปมา แบบในหนังเรื่องนี้

เห็นด้วยกับคุณชาญชนะมากๆที่บอกว่า หนังของคุณ Nuttachai ทำให้นึกถึงแนวทางหนังของ David Cronenberg ที่มีการใช้ความรุนแรงในแบบที่โต้งๆในตอนแรก แต่หนังในยุคต่อๆมาจะมีการใช้ความรุนแรงในแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และลงลึกทางจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจาก David Cronenberg แล้ว หนังของคุณ Nuttachai ทำให้เรานึกถึงหนังของ Kiyoshi Kurosawa ด้วยเหมือนกัน เพราะ Kiyoshi ก็เคยทำหนังฆาตกรโรคจิตแบบ THE GUARD FROM UNDERGROUND (1992) ในยุคแรกๆ ซึ่งเป็นหนังเลือดสาดแบบตรงไปตรงมา แต่พอในยุคต่อๆมา หนังของคิโยชิก็เริ่มพิศวงงงงวยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นปรัชญามากขึ้นเรื่อยๆ

3.UCHUANALAI (2014, Rawikan Makkasem, A+20)
อุชุอนาลัย

หนังเกี่ยวกับครูและนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มีการพร่ำสอนเรื่องคุณธรรมความดีงามต่างๆ และในเวลาต่อมา ตัวละครทั้งครูและนักเรียนต่างก็เผชิญกับ moral dilemma ที่ตัดสินใจได้ยาก

เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆนะ และเราไม่มีปัญหากับฉากที่ครูมาพร่ำสอนเรื่องความดีงามต่างๆเป็นเวลายาวนานน่ะ เพราะเรามองว่า ฉากพร่ำสอนนี้ มันอาจจะไม่ใช่ “สาร” ที่ผู้กำกับต้องการสื่อถึงคนดูโดยตรงน่ะ แต่มันอาจจะเป็นฉากแนว “เย้ยหยัน” มากกว่า เพราะในที่สุดแล้ว พวกคนที่พร่ำสอนเรื่อง “ความดี” เหล่านี้นี่แหละ ที่กลายเป็นคนที่ทำชั่วซะเอง เพราะฉะนั้นเราก็เลยรับฉากพร่ำสอนเหล่านี้ได้ เพราะเรามองว่าผู้กำกับอาจจะไม่ได้ต้องการสอนคนดูผ่านฉากเหล่านี้ แต่ผู้กำกับอาจจะต้องการเย้ยหยัน “คนดี” ผ่านฉากเหล่านี้

4.PANG! (2014, Chanatip Wongpoltree, A+10)
ผ่าง!

หนังเรื่องนี้เป็นหนังผีตลก ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หนัง genre นี้จัดเป็นหนึ่งในหนัง genre ที่ต่ำที่สุดในบรรดาหนังไทย เพราะมีการผลิตหนังไทยแนวนี้ออกมาเยอะมาก และหนังไทยแนวนี้ที่ออกมาแย่ก็มีเยอะมาก

แต่ในทางปฏิบัตินั้น เราว่าหนังเรื่องนี้ทำออกมาใช้ได้ในระดับนึงเลย เพราะมันตลกจริงในหลายๆฉาก และเราว่าแก๊งนักเรียนชาย 3 คนนี่เล่นเข้าขากันได้ดีมากๆ ต่อปากต่อคำกันเองได้ลื่นมากๆ หนังเรื่องนี้ก็เลยบันเทิงจริง ถึงแม้ว่าหนังอาจจะหนักมือไปหน่อยในบางจุด

5.ONCE UPON A TIME IN TUNGYALOUM (2014, Natthapat Kraitruadpol, A+)
กาลครั้งหนึ่ง ณ ทุ่งหญ้าหลุม

หนังไซไฟ/ตลกที่น่าสนใจมาก แต่เราอาจจะไม่ได้อินกับหนังไซไฟมากเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี เราชอบความเป็น “หนังอิงหนัง” ของหนังเรื่องนี้มากๆ เราชอบที่หนังเรื่องนี้อ้างอิงถึง MARS ATTACKS, THE SIGNS

6.SWEET DREAM (2014, Prairung Panngam, A+)

หนังเกี่ยวกับหญิงสาวที่ฝันเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นประจำ เราว่ามันเป็นหนังโรแมนติกที่ดูทื่อๆไปหน่อย

7.DADDY (OR SOMETHING LIKE THAT) (2014, Thanadul Thanaviroj, A-)
คุณพ่อ (ประมาณนั้น)

หนังเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่พบว่าตัวเองเคยทำให้ผู้หญิงท้องตอนม. 5 และตอนนี้ตัวเองก็ต้องมาทำหน้าที่เป็นพ่อคนอย่างกะทันหัน

เราว่าหนังเรื่องนี้ดูแล้วขาดความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ยังไงไม่รู้

8.WHO PLANTED THE LEMONGRASS? HAVEN’T I TOLD YOU THAT YOU CAN’T PLANT IT IF YOU ARE NOT VIRGIN? (2014, Anchisa Promsuwan, A-)
ใครปักตะไคร้...บอกแล้วใช่ไหม ไม่ซิงอย่าปัก


หนังตลกเกี่ยวกับคุณแม่หัวโบราณที่ลูกสาวกำลังจะแต่งงาน เราชอบการปะทะกันระหว่างแนวคิดแบบ liberal กับ conservative ในหนังเรื่องนี้นะ แต่เราว่าฝ่าย conservative มันดูโง่เกินไปน่ะ มันก็เลยทำให้หนังไม่ทรงพลัง คือเราชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่าย liberal นะ แต่เราว่าหนังหลายๆเรื่องมันจะทรงพลังก็ต่อเมื่อ มันสร้างฝ่ายผู้ร้ายที่ฉลาดมากๆหรือเก่งมากๆขึ้นมาน่ะ คือเราว่าคุณแม่ในหนังเรื่องนี้ดูบ้องตื้นเกินไปน่ะ  การปะทะกันทางความคิดในหนังเรื่องนี้มันเลยดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่

No comments: