Sunday, December 31, 2023

CRAYON SHINCHAN

 

รายงานผลประกอบการประจำวัน Saturday, December 30, 2023

 

1.SILENT NIGHT (2023, John Woo, A+)

 

ดูที่ SF CENTRAL WORLD รอบ 12.20

 

ชอบความพยายามจะ no dialogue ของมัน และชอบที่มันทำให้นึกถึงคดีต่าง ๆ ในไทย อย่างเช่นคดีของครูเจี๊ยบ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ แต่นอกเหนือจากนั้นมันดูน่าเบื่อไปหน่อย เหมือนดูเรื่องราวของ “มธุสร” ที่ตัดเอา “หัวจิตหัวใจ” ออกไป

 

2.TAYLOR SWIFT: THE ERAS TOUR (2023, Sam Wrench, documentary, concert film, 169min, A+30)

 

ดูที่ SF CENTRAL WORLD รอบ 15.00

 

ถือเป็น “ประสบการณ์แปลกใหม่” ของเราจริง ๆ เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของเรามั้งที่เราดูหนังแล้วมีคนดูหลายคนลุกขึ้นมาเต้นหน้าฮ้าน (หน้าจอภาพยนตร์) ในโรง เหมือนเราดูหนังบอลลีวู้ดที่เมเจอร์ เอกมัยมาแล้ว 10 ปีก็ยังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ 5555

 

ในรอบที่เราดู คนที่นำทีมเต้นจะเป็นชายหนุ่มชาวไทยคนนึง อายุน่าจะราว 20 ปีมั้ง แต่โรงมันมืด เราเลยไม่เห็นหน้า ไม่แน่ใจเรื่องอายุของเขา โดยเขามีเพื่อนสนิท 2 คนที่น่าจะเป็นเด็ก ๆ อายุ 10-15 ปีมาเต้นด้วยเกือบตลอด แล้วทั้ง 3 ก็จะพยายามชวนผู้ชมคนอื่น ๆ ให้ลุกขึ้นมาเต้นหน้าฮ้านขณะที่ฉายหนังด้วย ซึ่งในช่วงนึงก็มีสองสาวเอเชียไปร่วมเต้นหน้าฮ้านกับพวกเขาด้วย

 

อีกช่วงนึงที่น่าจดจำมาก คือตอนที่ Taylor Swift ร้องเพลงจากอัลบั้ม EVERMORE แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีผู้ชมที่เป็นเด็กชายเด็กหญิง อายุน่าจะราว ๆ 10 ปีจำนวนราว 6 คน มารำวงกันอยู่หน้าจอภาพยนตร์ (จับมือกันเป็นวงกลมแล้วเต้นไปเต้นมา)

 

คิดว่ากลุ่มที่นำทีมเต้นหน้าฮ้านในรอบของเราคงดูหนังเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ เพราะพวกเขารู้คิวเพลง รู้บทพูดของ Taylor Swift ทุกคำ แล้วพวกเขาก็บ่นหลังหนังจบว่า รอบนี้ไม่ค่อยมีคนดูออกมาร่วมเฮฮาหมู่เฮากับพวกเขาด้วย

 

ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการดูหนังอยู่ที่บ้านจริง ๆ เพราะถ้าดูหากเราดูหนังเรื่องนี้อยู่ที่บ้านก็จะไม่ได้เห็นกลุ่มผู้ชมออกไปเต้นหน้าฮ้านเกือบตลอดทั้งเรื่องแบบนี้ด้วย 555

 

3.NEW DIMENSION! CRAYON SHINCHAN THE MOVIE: BATTLE OF SUPERNATURAL POWERS (2023, Hitoshi One, Japan, animation, A+30)

 

ดูที่ SF CENTRAL WORLD รอบ 19.20

 

เหมือนจริง ๆ แล้วทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรใหม่นะ เป็น “สูตรสำเร็จ” ไม่ต่างจาก SILENT NIGHT แต่ในความเป็นสูตรสำเร็จ ในความเป็นพล็อตเก่า ๆ เอามาทำใหม่ของมัน มันกลับดูมีหัวจิตหัวใจ และทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งมาก ๆ กับมันได้ กราบจริง ๆ

 

Edit เพิ่ม: มาเดิน Central World วันนี้แล้วคุ้มมาก ๆ เพราะเราเดาว่าวันนี้น่าจะมีการจัดงาน White Party ของชาวเกย์ที่โรงแรม Centara Grand เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยมีเกย์หนุ่มหล่อล่ำบึ้กพ่อหมีชาวเอเชียมาเดินกันขวักไขว่มาก ๆ ดีต่อใจจริง ๆ ค่ะ

Friday, December 29, 2023

SOLIDS BY THE SEASHORE

 

SOLIDS BY THE SEASHORE (2023, Patiparn Boontarig, A+30)

ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง

 

Spoilers alert

--

--

--

--

--

1.เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันที่ 14 ธ.ค. แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย และตอนนี้ก็ลืมรายละเอียดในหนังไปบ้างแล้ว 555 แต่เหมือนเพื่อน ๆ หลายคนเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในแบบที่ตรงใจเราไปแล้ว โดยเฉพาะความดีงามในด้านต่างๆ  ของหนัง เราก็เลยเน้นแชร์ของที่เพื่อน ๆ เขียนเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรซ้ำซ้อนกับที่คนอื่น ๆ เขียนแล้วอีก 55555

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะเน้นเขียนถึงสิ่งที่อาจจะไม่ตรงกับคนอื่น ๆ ก็แล้วกัน หรือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้โดยตรง อย่างเช่นหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงอะไรโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจบ้าง หรือหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกไปถึงหนังเรื่องไหน ๆ อีกบ้าง

 

2.เหมือนเราสนใจตัวละคร “ฝน” มากกว่า “ชาตี” เสียอีก เพราะตัวละคร “ฝน” ดูเหมือนจะมีประวัติอะไรต่าง ๆ มาก่อนเจอ “ชาตี” และมี “ปมในใจ” บางอย่างที่ไม่พูดออกมาตรง ๆ เราไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ระหว่างฝนกับศิลปินใหญ่ (ไม่แน่ใจว่าชื่อ “ชาติ” หรือเปล่า) ที่เธอเคยร่วมงานด้วย ทั้งสองแยกทางกันเพราะอะไร ทำไมเข้ากันไม่ได้ และฝนต้องการอะไรบ้างในตอนนี้ เธอต้องการสานต่องานของชาติให้สำเร็จ หรือว่าเธอต้องการเป็นอิสระ สร้างงานที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของชาติ หรือสร้างงานที่ดีกว่างานของชาติ หรืออะไร เหมือนเราไม่แน่ใจในจุดนี้ เหมือนหนังเก็บความลับบางอย่างเกี่ยวกับ “ประวัติของฝน” และ “สิ่งที่อยู่ในใจฝน” เอาไว้ มันก็เลยทำให้ตัวละครฝนดูมีความลึกลับสำหรับเรา ถึงแม้จะเป็นตัวละครที่มีแนวคิดเสรีนิยมเหมือนเราและอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับเรา

 

ส่วนตัวละครชาตีนั้น ถึงแม้จะอยู่ต่างวัฒนธรรมกับเรา แต่เหมือนเราไม่ได้สงสัยประวัติความเป็นมาของเธอ เราก็เลยไม่ได้รู้สึกติดใจกับตัวละครตัวนี้มากนักน่ะ เหมือนเราลุ้นแค่ว่า เธอจะตัดสินใจอย่างไรกับชีวิตเท่านั้นเอง แต่คุณ Ilada Pitsuwan ที่เล่นเป็นชาตีนั้น แสดงได้ดีมาก ๆ เราก็เลยชอบการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบ “น้อยแต่มาก” ของชาตี คือถึงแม้ว่าประวัติของตัวละครตัวนี้จะไม่ได้ลึกลับ แต่การได้ดูอารมณ์ความรู้สึกชีวิตจิตใจของตัวละครตัวนี้ในปัจจุบันไปเรื่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่เพลิดเพลินมาก ๆ แล้ว

 

3.สงสัยมากๆ ว่า หนึ่งในตัวละครที่เล่นเป็นเพื่อนของ “ชาตี” คือคนเดียวกับที่แสดงในหนังเรื่อง BANGKOK TRADITION สันดานกรุง (2021, ฐานุยา ทัศนานุกูลกิจ) หรือเปล่า เพราะเราว่าคนนี้เล่นได้ดีมาก ๆ อยากให้มีหนังสักเรื่องที่เธอได้นำแสดงเป็นนางเอกมาก ๆ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นนักแสดงคนเดียวกันหรือเปล่า เพราะเราไม่สามารถ search หาชื่อนักแสดงใน BANGKOK TRADITION ได้เลย ก็เลยไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นนักแสดงคนเดียวกันหรือไม่

 

4.ชอบ “ผลงานศิลปะ” ที่ปรากฏในนิทรรศการในหนังเรื่องนี้มาก ๆ ตอนที่ดูหนังอยู่ก็รู้สึกทึ่งมาก ๆ ว่า “โห ทำไมงานศิลปะในหนังเรื่องนี้มันน่าสนใจจัง มันคิดออกมาดีมาก ๆ เลยนะเนี่ย” แต่พอดู ending credit ถึงได้รู้ว่า มันเป็นผลงานศิลปะจริง ๆ ของศิลปินหลากหลายคน ที่บางคนก็เป็นเพื่อนใน facebook ของเรานี่เอง 555 มิน่า งานศิลปะในหนังเรื่องนี้มันถึงดู “มีอะไร” มาก ๆ

 

คือถ้าหากเป็นในหนังเรื่องอื่น ๆ เขาก็อาจจะคิดงานศิลปะขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นเพียงแค่ prop ที่นำมาใช้ถม ๆ ฉากให้เต็มในภาพยนตร์ แล้วตัวงานศิลปะในหนังแบบนั้นก็คงไม่ดู “ทรงพลัง” แบบในหนังเรื่องนี้

 

5.จริง ๆ แล้วเรื่องประเด็นเลสเบียนกับมุสลิมนั้น ก็เป็นประเด็นที่เราเคยดูในหนังสั้นไทยมาแล้วอย่างน้อย 4 เรื่องนะ ซึ่งได้แก่เรื่อง ระหว่างความรู้สึก (2013, Onticha Laehsalee, A+25), ONE MORE TIME (2018, เจ๊ะฟาเดีย เจ๊ะอาแว Cherfadia Chearwae, สุทธิกานต์ พูลทวี Sutthikan Puntawee, สกาวรัตน์ วีรวุฒิไกร Sakaowrat Weerawutikrai, A+30), NIKAH (2021, Supichaya Sriboon, 23min, A+30) และ SILK (2023, กัลปพฤกษ์ ติยะจามร, 21.39 min, A+30)

ตามที่เราเคยทำลิสท์ไว้นี้

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10232683945024385&set=a.10201990635270824

 

แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดู “โดดเด่น”, “แตกต่าง” หรือ “น่าจดจำ” สำหรับเรา เมื่อเทียบกับหนังไทยในกลุ่มข้างต้น ก็เป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้ไปพูดถึงประเด็นเรื่อง “เขื่อนหินกั้นคลื่น” ด้วย และเพราะว่าหนังเรื่องนี้มีงาน visual ที่น่าจดจำมาก ๆ ด้วย โดยฉากที่ติดตาตรึงใจเรามาก ๆ ในหนังเรื่องนี้ก็มีอย่างเช่นฉาก

 

5.1 ฉากซูมเม็ดทราย ที่ถือเป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดในปีนี้

 

5.2 ฉากฟองน้ำผุดพราย ที่ทรงพลังมาก ๆ แต่ก็เห็นด้วยกับบางคนที่ว่า มันเหมือนเป็น “ท่าบังคับ” สำหรับ “หนังอาร์ต” หรือ “หนังเทศกาล” ที่มักจะมีฉากจำแบบนี้

 

5.3 ฉาก “ฝนห่าไฟ”

 

5.4 ฉากจบ ที่ถือเป็น one of my most favorite endings of Thai films of all time เลย คือฉากจบนี่ไม่ได้น่าสนใจแค่ในด้าน visual เท่านั้น แต่มันยังน่าจดจำทั้งในด้าน concept และความ “ก้ำกึ่ง” ของมันด้วย คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า หนังมันมอบตอนจบ 2 ทางให้แก่ผู้ชมน่ะ ใครอยากให้ชาตีเลือกเส้นทางไหนในชีวิต ก็เลือกได้เลย ราวกับว่าฉากนี้มันคือ multiverse คือเส้นทางที่ผู้ชมแต่ละคนสามารถเลือกให้ชาตีได้ 555

 

6.ชอบประเด็นเรื่อง “ความชาชิน” ด้วย (ตอนที่ตัวละครพูดถึงหาดทรายที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว) มันคือธรรมชาติของมนุษย์จริง ๆ นั่นแหละ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เพราะมนุษย์จำเป็นต้องปรับตัว และเมื่อมนุษย์ต้องไปอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม กฎระเบียบที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา เราก็มีทางเลือกว่าจะลุกขึ้นต่อต้านกฎนั้น หรือพยายามปรับตัวที่จะอยู่ภายใต้กฎนั้น และอยู่ไปเรื่อย ๆ หาความสุขจากสิ่งอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขภายใต้กฎระเบียบอันอยุติธรรมให้ได้ ซึ่งการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุขและชาชินกับกฎอันอยุติธรรมนี้ มันก็อาจจะมีข้อเสียตรงที่มันไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม ไม่เกิด revolution แต่มันก็มีข้อดีตรงที่อย่างน้อยเราก็ยังไม่ต้องฆ่าตัวตาย และยังมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขต่อไปได้

 

7.เพิ่งรู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า skimboarding จากหนังเรื่องนี้ 555 รู้สึกว่า skimboarding เป็นสิ่งที่เข้ากับหนังเรื่องนี้ในแง่หนึ่ง เพราะมันเป็นอะไรที่เล็ก ๆ เบา ๆ กว่า surfing คือเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เลือกที่จะทำตัวเป็น “คลื่นระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง” (หรือจงใจสร้างพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง) แทนที่จะทำตัวเป็นคลื่นสึนามิ ดังนั้น skimboarding ที่เป็นอะไรเล็ก ๆ เบา ๆ กว่า surfing ก็เลยเข้ากับหนังเรื่องนี้ หรือเข้ากับตัวละครนำหญิงทั้งสองคนของหนังเรื่องนี้

 

8.แต่เราก็ยอมรับว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เข้ากับ “ธาตุ” ของเรามากนักนะ เพราะถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 หรือชอบสุด ๆ แต่เรารู้ว่าเพื่อนๆ หลาย ๆ คนชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าเราน่ะ 5555 ส่วนเรานั้นชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่ไม่มากเท่ากับที่เพื่อน ๆ เราชอบ

 

คือเรารู้ตัวว่าเรามีธาตุของ “โทสะ” อยู่ในตัวรุนแรงมาก ๆ น่ะ เพราะฉะนั้นหนังที่ตรงกับธาตุของเราจริง ๆ หรือหนังที่ทำให้เรารู้สึก identify ตัวเองกับตัวละคร หรือหนังที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงกับมันได้จริง ๆ ก็เลยมักจะเป็นหนังที่ตัวละครนำหญิงทำอะไรรุนแรงกว่านี้น่ะ อย่างเช่น BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) และ BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder, West Germany) ซึ่งต่างก็ถือเป็น one of my most favorite films of all time

 

และเมื่อพิจารณาจากเส้นทางชีวิตที่เราเลือกเดินในอดีตแล้ว เราก็พบว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้อาจจะดูไม่เข้ากับสิ่งที่เราเคยทำในอดีตด้วย หรือเราไม่สามารถใช้ตัวละครนำในหนังเรื่องนี้เป็นช่องทางในการ release ความรู้สึกที่เราเคยประสบพบมาในอดีตได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหนังแต่อย่างใด เพราะหนังแต่ละเรื่องไม่จำเป็นจะต้องทำหน้าที่นั้นให้เรา 555

 

เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้เลือกออกมาในทาง “นุ่มนวล” อ่อนโยน ไม่รุนแรง ก็เลยเหมือนเป็นสิ่งที่ถูกใจหลาย ๆ คน และเป็นสิ่งที่สร้างความ “โดดเด่น” ให้หนังเรื่องนี้ในสายตาของเรา แต่มันไม่เข้ากับธาตุของเราและชีวิตในอดีตของเรา สรุปได้ว่า “ความนุ่มนวล” ของหนังเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกก้ำกึ่ง เพราะเราทั้งชอบและไม่ชอบมันในบางแง่มุม 555

 

9.หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นนึงโดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจด้วย นั่นก็คือ “พลังของการกัดเซาะทีละน้อย” คือถ้าหากเราไม่สามารถสร้าง revolution ได้ เพราะเราเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เป็นเพียงสามัญชนที่มีความอ่อนแอและเปราะบางในตัวเอง บางทีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ (นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างชาชินภายใต้กฎอันอยุติธรรมแล้ว) ก็คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านทางการกัดเซาะทีละน้อย อย่างเช่นผ่านทางการสร้างงานศิลปะหรือการสร้างภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงอะไรบางอย่าง

 

คือตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึงสิ่งที่ Wiwat Lertwiwatwongsa (Filmsick) เคยพูดไว้หลังจากพวกเราดูหนังเรื่อง DZI CROQUETTES (2009, Raphael Alvarez, Tatiana Issa, Brazil, documentary) น่ะ คือ DZI CROQUETTES เป็นหนังสารคดีที่เล่าถึงกลุ่มกะเทยในบราซิลในทศวรรษ 1970 ที่สร้างคณะละครขึ้นมาเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการบราซิลในยุคนั้น สิ่งที่ Wiwat ตั้งข้อสังเกตก็คือว่า กะเทยกลุ่มนี้ไม่ได้จับอาวุธถือปืนตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ แต่ใช้ “ความบันเทิง”, “อารมณ์ขัน” และ “ความสามารถทางการแสดง” ของตัวเองเป็นอาวุธ เป็นพลังในการค่อย ๆ กัดเซาะ บ่อนทำลาย และเปลี่ยนแปลงความเชื่อของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการ มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินสร้างความเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนแบบคลื่นสึนามิ แต่สิ่งที่กะเทยกลุ่มนี้ในบราซิลทำ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “คลื่นระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง” ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่อย ๆ กัดเซาะ บ่อนทำลายอำนาจเผด็จการไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย ๆ และเป็นสิ่งที่จะเห็นผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อต้องอดทนทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

 

คือพอหนังเรื่องนี้พูดถึง “เขื่อนหินกั้นคลื่น”, ความล้มเหลวของเขื่อนหินกั้นคลื่น, พลังของคลื่นระดับเล็กน้อยถึงปานกลางในการกัดเซาะหาดทรายทีละน้อย ๆ และเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเขื่อนหินและหาดทรายได้ในระยะยาวแล้ว เราก็เลยนึกถึงประเด็นข้างต้นขึ้นมาโดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจน่ะ และในแง่นึงเราก็เลยชื่นชมหนังเรื่องนี้อย่างมาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ก็อาจจะเลือกทำตัวเป็นคลื่นระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง ในการค่อย ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างละมุนละม่อม อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างใจเย็น เช่นกัน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้เรานึกถึงก็คือว่า ตัวอย่างหนึ่งของ “พลังของการกัดเซาะ สร้างความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย” ที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย ก็อาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมเกย์หรือเปล่า 555 คือเราเกิดในปี 1973 และเติบโตเป็นวัยรุ่นในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นยุคที่หาหนังเกย์ดูได้ยากมาก ๆ ๆ ๆ ๆ คือในทศวรรษนั้นเราแทบหาหนังเกย์ดูไม่ได้เลย คือตลอดทั้งทศวรรษ 1980 เราอาจจะได้ดูหนังเกย์ไปไม่ถึง 10 เรื่องด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรล่ะ หนังเกย์กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักไปแล้ว กลายเป็นอะไรที่เฟ้อไปแล้ว และเราว่าการที่หนังเกย์เปลี่ยนจากการเป็นของที่เคยหายากสุดขีดในไทยในทศวรรษ 1980 มาเป็นของที่เฟ้อจนล้นตลาดในปัจจุบันนี้ บางทีมันก็อาจจะเป็นผลลัพธ์อันหนึ่งของพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย แบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน และมันก็เป็นสิ่งที่เห็นผลได้ชัดเจนมาก ๆ เมื่อเวลาผ่านมานาน 40 ปีแบบนี้

 

แน่นอนว่า “ความเปลี่ยนแปลง” แบบนี้ เป็นสิ่งที่เห็นผลได้ในทางการเมืองเช่นกัน เพราะกระแสความเห็นทางการเมืองของคนหลายคนในสังคมไทย ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งโดยผ่านทางการลุกขึ้นสู้โดยตรง และโดยผ่านทางการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น และค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงความเห็นของคนอื่น ๆ ในสังคมไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ตรงจุดนี้มาก ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้ เพราะหนังเรื่องนี้มันเข้ากับตัวเราเองในแง่ที่ว่า ในบางประเด็นนั้น เราก็อาจจะไม่ใช่นักปฏิวัติ ไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นสู้โดยตรง เราก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกที่จะอยู่อย่างชาชินและหาทางมีความสุขไปเรื่อย ๆ แต่เราก็จะพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในแนวทางที่เราต้องการโดยผ่านทางการกัดเซาะทีละน้อยเช่นกัน หรือผ่านทางการแสดงความเห็นในแบบของเราไปเรื่อย ๆ และหวังว่ามันจะช่วยเปลี่ยนความคิดของคนอื่น ๆ ได้บ้างโดยที่คนคนนั้นไม่ทันรู้ตัว 55555

 

10.หมดประเด็นที่จะพูดถึงหนังเรื่องนี้แล้ว ต่อไปนี้ก็จะเป็นการลิสท์ว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องไหน ๆ อีกบ้าง โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจ

 

หนังกลุ่มแรกที่เรานึกถึงหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็คือ “หนังเลสเบียน ที่ตัวละครนำหญิงสองคนมีความแตกต่างกันในทางความคิดหรือ lifestyle โดยที่คนนึงจะออกแนว progressive และอีกคนจะออกแนว conservative

 

คือเราพบว่ามีหนังเลสเบียนหลายเรื่องที่ออกมาในทำนองนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร ในขณะที่เราไม่ค่อยพบแบบนี้ในหนังเกย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหนังเกย์ไม่ค่อยมีตัวละคร “พระเอกที่เป็น conservative เคร่งศาสนา” มั้ง แต่หนังเลสเบียนหลายเรื่องมักจะมีหนึ่งในตัวละครนำหญิงเป็น “ผู้หญิงเรียบร้อย แนวแม่บ้าน ที่ยังยึดถือในเรื่องค่านิยมเก่า ๆ อยู่” อย่างเช่น ชาตีในหนังเรื่องนี้ ส่วนตัวละครนำหญิงอีกคนที่เป็นคนหัวก้าวหน้าก็จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้แก่ตัวละคร “แนวแม่บ้าน” นี้ ซึ่งก็เหมือนกับบทบาทของ “ฝน” ในหนังเรื่องนี้

 

หนังเลสเบียนที่สร้าง characters ตัวละครนำหญิงสองตัวออกมาในทำนองนี้ ก็มีเช่น

 

10.1 FRIED GREEN TOMATOES (1991, Jon Avnet)

10.2 SALMONBERRIES (1991, Percy Adlon)

10.3 BOYS ON THE SIDE (1995, Herbert Ross)

10.4 WHEN NIGHT IS FALLING (1995, Patricia Rozema, Canada)

10.5 SUMMERTIME (2015, Catherine Corsini, France)

10.6 DISOBEDIENCE (2017, Sebastián Lelio)

10.7 SIGNATURE MOVE (2017, Jennifer Reeder)

10.8 CLOUD CUCKOO COUNTRY (2021, Aim-ei Polpitak, 48min)

10.9 INTERVENTION (2023, Kamonkarn Samutratanakul, 30min)

 

11. เนื่องจากหนึ่งในฉากสำคัญของหนังเรื่องนี้คือฉากตัวละครว่ายน้ำในท้องทะเล หนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังเลสเบียนเรื่องอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ “การว่ายน้ำ” เหมือนกัน เราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมหนังเลสเบียนถึงผูกพันกับการว่ายน้ำ 55555

 

หนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น

 

11.1 SWIMMING (2000, Robert J. Siegel)

11.2 GIRLS CAN’T SWIM (2000, Anne-Sophie Birot, France)

11.3 WATER LILIES (2007, Céline Sciamma, France)

11.4 วันนั้นของเดือน (MENSTRUAL SYNCHRONY) (2014, Jirassaya Wongsutin)

 

ถ้าหากใครคิดถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เข้าเกณฑ์ในข้อ 10 (หนังเลสเบียนที่นางเอกคนนึง progressive ส่วนอีกคน conservative) และข้อ 11 (หนังเลสเบียนที่ให้ความสำคัญกับการว่ายน้ำ) ก็มาใส่รายชื่อไว้ใน comment ได้นะ เหมือนมีหนังเรื่องอื่น ๆ อีกในกลุ่มนี้ แต่เรายังนึกชื่อไม่ออกในตอนนี้

 

12. สรุปว่าตอนนี้เราได้ดูหนังของคุณ Patiparn Boontarig ไปแล้ว 12 เรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง

 

12.1 GAME ADDICTION ติดเกม (2008, 11min, A)

เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันที่ 19 ก.ค. 2009 หรือเมื่อ 14 ปีมาแล้ว กรี๊ดดดดดดดดด นี่เราดูหนังของเขามานาน 14 ปีแล้วหรือเนี่ย  5555555

 

12.2 ROASTED PORK หมูปิ้ง (2010, 7min, A)

เราเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไว้ที่

https://celinejulie.blogspot.com/2010/11/torture-room-2010-patitparn-boontarig.html

 

12.3 TORTURE ROOM ห้องทรมาน (2010, A+30)

เราเคย comment ถึงหนังเรื่องนี้ไว้ด้วย อยู่ในนาทีที่ 3.00-4.15 ในคลิปนี้
https://www.youtube.com/watch?v=E1ckI2YhKZc

 

12.4 MEXICAN GRAND PRIX (MEMORIES OF THE BLUE MOUNTAIN) – Mogwai (2011, music video)

 

12.5 GOD STAR, THE GUARDIAN OF THE STAR (2011, 10min, A+15)

จำอะไรไม่ได้แล้ว แต่อ่านจากเรื่องย่อแล้วเป็นหนังเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และความคดโกง

 

12.6 VACCINE วัคซีน (2012, documentary, 10min, C- )

ถ้าจำไม่ผิด เราคงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีแนวคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกับเรา เราก็เลยไม่ชอบ 55555

 

12.7 KAI MOOK ไข่มุก (2012, 12min, A+20)

เรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่มีแม่ป่วยเป็นโรคเอดส์ เธอเลยกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ

 

12.8 MERMAID’S TEAR น้ำตานางเงือก (2012, Patiparn Boontarig, documentary, 16min, A+)

หนังสารคดีที่พูดถึงการสร้างเขื่อนกันคลื่น และน่าจะเป็นหนึ่งในต้นแบบของหนังเรื่อง SOLIDS BY THE SEASHORE

 

12.9 HEART OF SWORD (2016, 8 min, A+10)

เรื่องราวของหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่อยากจะเป็นซามูไร แต่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง

 

12.10 THE BLUE CROW (2019, 16min, A+30)

หนัง surreal ที่มีตัวละครเป็นสาวมุสลิมกับสาวพม่าด้วยมั้ง ถ้าจำไม่ผิด

 

12.11 MULTIVERSE OF MEKONG แม่โขง-นฤมิต (2023, documentary, A+30)

 

และก็รวมถึง SOLIDS BY THE SEASHORE ด้วย ซึ่งเราก็ชอบ SOLIDS BY THE SEASHORE มากที่สุดในบรรดาหนัง 12 เรื่องที่ได้ดูมานะ และก็ดีใจมาก ๆ ที่คุณ Patiparn อยู่ในวงการมาได้นาน 14 ปีแล้ว โดยไม่หายสาบสูญไป และสามารถทำหนังยาวออกมาได้สำเร็จ เพราะวงการนี้เต็มไปด้วยคนทำหนังสั้นดี ๆ มากมายที่หลังจากนั้นก็หายสาบสูญไปเลย

SUPPOSED

 

ทำอันดับหนังบ้าบอเล่น ๆ แก้เครียด

 

เรียงตามลำดับความชอบ

 

1.MONSTER (2003, Patty Jenkins)

 

2.สัตว์ประหลาด (2004, Apichatpong Weerasethakul)

 

3.MONSTER (2023, Hirokazu Kore-eda, Japan)

 

4.MONSTERS (2010, Gareth Edwards)

 

5.MONSTERS, INC. (2001, Pete Docter, David Silverman, Lee Unkrich, animation)

 

สาเหตุที่ทำอันดับนี้ขึ้นมา เพราะอยู่ดี ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถึงแม้เราจะชอบ MONSTER ของ Kore-eda มาก ๆ แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้น้อยกว่าหนังของ Patty Jenkins และ Apichatpong 55555 ไม่รู้มีใครชอบเหมือนเราบ้าง

 

3 อันดับแรกนี่เป็นหนัง queer หมดเลย

 ----

ภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธ.ค. 1932  ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแรก ๆ ที่สามัญชนของไทยได้ชื่นชมกับ “ความเสมอภาค” อย่างไรก็ดี งานฉลองรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปเมื่อมีการรัฐประหารในปี 1947 (พ.ศ.2490)

 

เกิดกบฏบวรเดชในปี 1933 แต่มีประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านกบฏบวรเดชนี้

 

ภาพความเสียหายที่สถานีรถไฟหลักสี่ หลังจากกบฏบวรเดชถอนกำลัง

 

ภาพงานศพของทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชในปี 1933 โดยทางรัฐบาลได้จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติที่สนามหลวงในฐานะวีรบุรุษของชาติ โดยมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมงานศพด้วย โดยงานนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนที่ “สนามหลวง”

 

From the exhibition MUSEUM 2032 by Charinthorn Rachuratchata at VS Gallery

 

ข้างล่างนี้เป็นข้อมูลจาก “ประชาไท”
ความสำคัญของหนังสือเรื่อง”กบฏบวรเดช”ของ ณัฐพล ใจจริง ได้เล่าเรื่องด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ โดยการแสดงการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล มีการตั้งพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏ และมีการบริจาคเงิน อาหาร และวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลในการรักษาระบอบใหม่ โรงพิมพ์หลายแห่งก็ช่วยพิมพ์คำแถลงฝ่ายรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า 

https://prachatai.com/journal/2016/11/68800

 -----------

Edit เพิ่ม: เพิ่งเห็นว่าคุณนขสิทธิ์กำกับภาพยนตร์เรื่อง “เวลาที่คิดถึง” (2023, 10min, A+15) ด้วย ซึ่งอันนี้ไม่ใช่หนังบู๊ แต่เป็นหนังเกี่ยวกับหญิงสาวเพื่อนสนิท 2 คน

 -------------

พอเราได้ดูหนังสั้น 9 เรื่องจากโครงการ FILMLAB ที่ Peru ที่มี Apichatpong Weerasethakul เป็น mentor เราก็เลยย้อนนึกไปถึงโครงการหนังสั้น 52 เรื่องที่ Cuba ที่มี Abbas Kiarostami เป็น mentor ในปี 2016 เราไม่รู้ว่ามันคือต้นแบบของโครงการ FILMLAB หรือเปล่า แต่ที่นึกถึงโครงการเก่านี้ขึ้นมา เพราะเราจำได้ว่ามีคุณ Komtouch Napattaloong เป็นผู้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เขาทำหนังสั้นเรื่อง EL CIELO ในโครงการนี้ และหนังเรื่องนี้ก็เคยเข้ามาฉายที่ Bangkok Screening Room ในช่วงปลายปี 2016 ด้วย โดยฉายควบกับ CASABLANCA (1942, Michael Curtiz, A+30) แต่เสียดายที่ตอนนั้นสภาพร่างกายเราไม่พร้อม เราก็เลยหลับไปตอนที่ดูหนังเรื่อง EL CIELO

 

จำได้ว่าเราได้ดูหนังสั้นของคุณ Komtouch อีกเรื่องในปี 2016 ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือเรื่อง “ไกลโพ้น” MOTHERLAND (2015, A+15)

https://filmmakermagazine.com/97552-learning-by-making-with-abbas-kiarostami/

 -------------

หนึ่งในหนังที่ตั้งชื่อไทยได้น่าจดจำที่สุดตลอดกาล "สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา" เราได้ดูหนังเรื่องนี้ตอนมันมาเข้าฉายในไทยที่โรงภาพยนตร์ใน "ฮอลลีวู้ดสตรีท" (ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย) ส่วน LITTLE TOYS (1933, Sun Yu) เราก็ชอบมาก ๆ และเราก็เคยดูหนังที่นำแสดงโดย Ruan Lingyu อีกเรื่อง ซึ่งก็คือ THE GODDESS (1934, Wu Yonggang, China, A+30) ที่เคยมาฉายที่ห้องสมุดมหาลัยธรรมศาสตร์ในโปรแกรมที่จัดโดยอ.ทรงยศ แววหงษ์

 

มีเพื่อนถามว่า หนังเรื่อง “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” CENTER STAGE (1991, Stanley Kwan, Hong Kong, A+30) เข้าฉายในไทยเมื่อไหร่ เพราะหนังเรื่องนี้เคยได้รับการจัดจำหน่ายในไทย และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใน “ฮอลลีวู้ด สตรีท” (ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย) ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ เพราะในช่วงปี 1993 นั้น เราไม่ได้จด “วันที่” ที่ดูหนังไว้ด้วย จดไว้แต่รายชื่อหนังที่เราได้ดู

 

ในสมุดบันทึกของเราเขียนไว้แค่ว่า เราได้ดู “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” ในปี 1993 หลังจากเราได้ดูหนังเรื่อง MAD DOG AND GLORY (1993, John McNaughton) และก่อนที่เราจะได้ดูหนังเรื่อง INNOCENT BLOOD (1992, John Landis) และ “มือปืน 2 สาละวิน” (1993, Chatrichalerm Yukol) ซึ่ง มือปืน 2 สาละวิน เข้าฉายในไทยในวันที่ 22 พ.ค. 1993 เราก็เลยเดาว่า อาจจะมีความเป็นไปได้สูงที่ “สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา” อาจจะเข้าฉายในไทยในช่วงต้นเดือนพ.ค.ก็ได้มั้ง

 -----------

THE STORE (1983, Frederick Wiseman, documentary, 118min, A+30)

 

1.ดูแล้วอยากให้มีคนทำหนังสารคดีเกี่ยวกับ “ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง” มาก ๆ เพราะมันเป็นห้างสรรพสินค้าแถวกรุงเทพที่เราชอบบรรยากาศมากที่สุด มันมีความ “ตลาดแตก” มีความมีชีวิตชีวามากที่สุด อยากให้มีคนเก็บภาพบรรยากาศของห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรงเอาไว้

 

2. ดูหนังเรื่องนี้แล้ว nostalgic มาก ๆ เพราะมันเป็นหนังที่เก็บภาพแฟชั่นและบรรยากาศห้างร้านในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เอาไว้

 

แต่เราก็ไม่ได้รู้สึก nostalgic มากเสียทีเดียวนะ เพราะห้างสรรพสินค้าในหนังเรื่องนี้คือห้าง Neiman Marcus ซึ่งเป็นห้างหรูน่ะ น่าจะเทียบกับได้ห้าง “ชาญอิสสระ” หรือ “เพนินซูล่า พลาซ่า” ของไทยในยุคนั้นเหรอ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเราแทบไม่เคยเดินห้างหรู 5555 ยุค 1980 เราก็เน้นเดินห้าง “บางลำพูสรรพสินค้า”, “ตั้งฮั่วเส็ง” กับ “มาบุญครอง” เป็นหลัก

 

เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้ถึงแม้มันจะนำเสนอ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ที่เราผูกพัน แต่พอมันนำเสนอ “ห้างหรู” หลาย ๆ อย่างในหนังก็เลยไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชินโดยตรงน่ะ โดยเฉพาะบรรดาลูกค้าที่มาซื้อเสื้อโค้ทราคาราว ๆ 4 แสนบาท (เพิ่งรู้ว่าราคาเสื้อโค้ท 10 ตัวนี่น่าจะซื้อบ้านได้หลังนึงเลย) หรือลูกค้าที่มาซื้อเพชร

 

3.แต่ก็ชอบการได้สังเกตเหล่าลูกค้าคนรวยเหล่านี้นะ และชอบที่หนังแสดงให้เห็นวิธีการทำงานของพนักงานห้างด้วย ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเลย เพราะเหมือนพนักงานถูกกดดันให้โทรศัพท์ไปหาลูกค้าด้วย, ต้องมาโฆษณาสินค้าให้ลูกค้าที่กำลังนั่งกินอยู่ในร้านอาหาร และพนักงานแต่ละคนก็ต้องมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสินค้าที่ตัวเองขาย

 

4.ชอบที่หนังสะท้อนภาพคนผิวสีในยุคนั้นด้วย เหมือนลูกค้าของห้างนี้มีคนดำไม่มากนัก แต่คนดำส่วนใหญ่จะแต่งตัวดีเวลามาเดินห้าง ในขณะที่คนขาวอาจจะมีแต่งตัวสบาย ๆ มาเดินห้างบ้าง และมีกลุ่มหญิงสาวเชื้อสาย Hispanic โผล่มาหน่อยนึง เหมือนพวกเธอมาแอบ ๆ ดูงานฉลองในห้างแล้วก็เดินจากไป

 

ส่วนกลุ่มคนเอเชียก็ปรากฏมาในฉากนึง ซึ่งน่าจะเป็นแผนกตัดเย็บในห้างนี้ เป็นแผนกที่มีหญิงเอเชียวัยกลางคนทำงานตัดเย็บกันอยู่เยอะมาก

 

5.ประวัติของ Stanley Marcus เจ้าของห้างนี้ ก็น่าสนใจสุด ๆ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงเขาจะเป็นคนรวย เป็นเจ้าของห้างหรู เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ consumerism แต่เขาก็สนับสนุน free speech อย่างรุนแรง และเคยตบกับฝ่ายขวาจัดอย่างรุนแรงมาแล้วในยุคที่อเมริกาหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างหนักในสมัยทศวรรษ 1950 ถึงแม้การตบกับฝ่ายขวาจัดจะทำให้เขาต้องสูญเสียลูกค้าก็ตาม

https://www.dmagazine.com/publications/d-magazine/1995/april/the-soul-of-stanley-marcus/

 

6.ตอนแรกนึกว่าเราจะชอบหนังเรื่องนี้น้อยสุดของ Wiseman เพราะเป็นหนังที่เราดูทางจอเล็กผ่านเว็บไซท์ของ lecinemaclub.com แต่พอมันเป็นหนังที่พูดถึง “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นสิ่งคุ้นชินในชีวิตประจำวันของเรา, เป็นหนังที่สะท้อนภาพ consumerism และสะท้อนความดิ้นรนเพื่อหาเงิน เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ

 

สรุปว่าตอนนี้เราได้ดูหนังของ Frederick Wiseman ไปแล้ว 5 เรื่อง ซึ่งได้แก่

 

6.1 THE STORE

 

6.2 LA DANSE (2009) ดูที่สมาคมฝรั่งเศสในกรุงเทพ

 

6.3 AT BERKELEY (2013) ดูใน “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา”

 

6.4 NATIONAL GALLERY (2014) ดูใน “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา”

 

6.5 EX-LIBRIS (2017) ดูที่ BACC

 

ซึ่งเราชอบ LA DANSE น้อยสุดใน 5 เรื่องนี้ เพราะ “วงการโอเปร่า” และ “วงการบัลเล่ต์” นี่ห่างเหินจากชีวิตประจำวันของเราจริง ๆ 5555 แต่อีก 4 เรื่องที่เหลือนี่ตัดสินไม่ได้จริง ๆ ว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุด

 

7.ขำซับไตเติลของหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นซับไตเติลอัตโนมัติที่แกะจากเสียงคนพูด มันก็เลยแปลคำว่า “กะรัต” เป็น carrot 55555

 ----------

เพิ่มเติมรายชื่อหนังที่มีอะไรใกล้เคียงกัน แล้วออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

67. A MONSTER CALLS (2016, J. A. Bayona)

+ I KILL GIANTS (2017, Anders Walter)

 ------------

SUPPOSED สมมติ (2023, Thanakorn Pongsuwan, A+30)

 

Spoilers alert

--

--

--

--

--

1.เราได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย ตอนนี้ก็ลืมรายละเอียดในหนังไปเยอะแล้ว 555 แต่ก็ขอจดบันทึกไว้หน่อยแล้วกัน

 

จุดแรกที่แอบฮากับหนัง ก็คือ “ทรงผมยาวสยาย” ของ Pat Chayanit Chansangavej ในหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้นึกถึงทรงผมของ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ใน FAKE โกหกทั้งเพ (2003, Thanakorn Pongsuwan) มาก ๆ และเหมือนหนังเรื่องนี้มันรักทรงผมของแพทมาก  ๆ เหมือนหนังมันรักความยาวสยายของมัน จนเราแอบสงสัยว่า นี่มันคือสเปคของผู้กำกับใช่ไหม เขาชอบผู้หญิงที่ไว้ผมทรงแบบนี้ใช่ไหม

 

2.เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ มาก ๆ ที่บอกว่า มันเหมือนเป็น update version ของ FAKE โกหกทั้งเพ โดย SUPPOSED หันมาสะท้อนความสัมพันธ์ของคนในยุคปัจจุบัน ที่อาจจะรู้จักกันผ่านทาง social media และหนังก็เล่าเรื่องผ่านทางมุมมองผู้ชาย และทำให้ตัวละครนางเอกเป็น unattainable object of desire เหมือนกัน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบสุด ๆ ในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ก็คือการคว้าจับบรรยากาศของบางสถานที่ในกรุงเทพเอาไว้ได้อย่างดีงามมาก ๆ ซึ่งใน FAKE ก็คือสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ส่วนในหนังเรื่องนี้ คือสะพานลอยตรง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”

 

ซึ่งเราชอบมาก ๆ ที่หนังเลือกใช้จุดนี้ เพราะเราไม่เคยมองว่า สถานที่ตรงนี้มันมีความโรแมนติกเลยน่ะ คือสะพานลอยตรงอนุสาวรีย์ชัยมันเป็นสิ่งที่เรามองว่า เต็มไปด้วยความพลุกพล่าน อะไรก็ไม่รู้ เต็มไปหมด และตรงอนุสาวรีย์ชัยก็เหมือนเป็นแหล่งอาชญากรรมด้วย เพราะเราชอบได้ยินคนเล่าว่า มีกะเทยร่างยักษ์ชอบมาไถตังค์คนตรงอนุสาวรีย์ชัย

 

เราก็เลย surprise มาก ๆ ที่ SUPPOSED เลือกให้พระเอกชอบไปยืนมองหาคนตรงจุดนี้ เพราะมันเป็นจุดที่เราไม่นึกว่าจะเป็นจุดสำคัญในหนัง romantic แต่จริง ๆ แล้วมันก็เป็นจุดที่เราเคยเดินผ่านบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งในแต่ละปี เราก็เลยชอบที่หนังมันบันทึกภาพบรรยากาศตรงจุดนี้เอาไว้ด้วย

 

3.เราว่าหนังมันจริงใจกับตัวละครดีด้วย คือเหมือนมันสร้างตัวพระเอกนางเอกขึ้นมา โดยที่ทั้งสองตัวต่างก็มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง มี limit ในชีวิตของตัวเอง มีทั้งส่วนที่เข้ากันได้ และเข้ากันไม่ได้กับอีกฝ่ายหนึ่ง มีทั้งจุดที่เติมเต็มให้กันได้ และมีทั้งจุดที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และหนังก็ไม่พยายามฝืนตัวละครพระเอกนางเอกมากเกินไป เพื่อทำให้ทั้งสอง live happily ever after

 

เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้ตัวละครพระเอกนางเอกในหนังเรื่องนี้ จะไม่ใช่คนที่เรา identify ด้วยได้ หรือเป็นคนที่ห่างไกลจากเราในชีวิตจริงอยู่บ้าง แต่ตัวละครทั้งสองมันก็สะท้อนความจริงบางอย่างของมนุษย์ออกมาได้ดี และพอหนังมันไม่ฝืนตัวละครในความเห็นของเรา (เรารู้สึกว่า ถ้าหากเราเป็นนางเอก เราก็คงทิ้งพระเอกไปเช่นกัน แบบกูรำคาญคนที่ล้ำเส้นแบบนี้) เราก็เลยชอบหนังมาก ๆ

 

ชอบความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคนนี้ด้วย เหมือนพระเอกเป็นตัวแทนผู้ชายรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่ยังไม่เสรีนิยมอย่างเต็มที่ ส่วนนางเอกเหมือนเป็นตัวแทนหญิงสาวรุ่นใหม่ที่เปิดเสรีทางเพศแล้ว และเราก็ชอบที่นางเอกไม่ได้รักพระเอกมากจนถึงขั้นที่จะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเขา แต่นางเอกตัดสินใจแบบเดียวกับเรา นั่นก็คือทิ้งมึงไปเลย

 

4.ดูแล้วทำให้นึกถึงทั้งหนังของ Wong Kar-wai และ Philippe Garrel นะ ที่นึกถึงหนังของ Wong Kar-wai ก็เพราะว่า มันเป็นหนังโรแมนติกที่เก็บเกี่ยว “บรรยากาศ” เอาไว้ได้มากพอสมควร ถึงแม้ไม่มากเท่าหนังของหว่อง และสิ่งที่ทำให้นึกถึงหนังของ Philippe Garrel ก็คือว่า เราว่าหนังเรื่องนี้มัน “สะท้อนความเจ็บปวดรวดร้าวของความสัมพันธ์รัก” จนทำให้เรารู้สึกกับมันอย่างรุนแรงมาก ๆ ได้น่ะ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า กับผู้ชายที่อายุมากกว่า” โดยที่ตัวละครฝ่ายชายมักจะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมาย แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีความ spiritual หรือความมหัศจรรย์มากเท่ากับหนังของ Garrel แต่ก็ถือได้ว่าทำให้เรานึกถึงหนังของ Garrel ได้มากกว่าหนังไทยโดยทั่วไป (หนังไทยที่ทำให้เรานึกถึงหนังของ Philippe Garrel มากที่สุด ก็คือ TIME ACTUALLY PASSES SLOWER IN DREAM (2016, Alwa Ritsila, Lucy Day, Watcharapong Narongphine))

 

5.พอดูหนังเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับ SOLIDS BY THE SEASHORE (2023, Patiparn Boontarig, A+30) แล้ว เราก็พบว่า เราชอบ SOLIDS BY THE SEASHORE มากกว่าหนังเรื่องนี้ แต่เรารู้สึกว่า ตัวละคร “พระเอกนางเอก” ของหนังเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกเจ็บปวดของมนุษย์มากกว่าใน SOLIDS BY THE SEASHORE

 

คือถึงแม้ว่าตัวละครพระเอกนางเอกใน SUPPOSED จะสะท้อนความขัดแย้งทางความเชื่อและสไตล์การใช้ชีวิตระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่เหมือนหนังไม่ได้ treat พระเอกนางเอกเป็นสัญลักษณ์ของคนแต่ละรุ่นน่ะ เหมือน “ความเชื่อของคนแต่ละรุ่น” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตัวของพระเอกนางเอก และตัวละครทั้งสองต่างก็มีลักษณะนิสัยอื่น ๆ ในชีวิตที่อาจจะไม่ได้เป็นภาพแทนหรือสัญลักษณ์ของอะไร เราก็เลยรู้สึกว่าเราสัมผัสได้ถึง “ความเป็นมนุษย์” ในตัวละครพระเอกนางเอกของหนังเรื่องนี้ มากกว่าตัวละครนางเอกทั้งสองใน SOLIDS BY THE SEASHORE ที่ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นเครื่องมือเพื่อถูกใช้นำเสนอ “ประเด็น” อะไรบางอย่าง เราก็เลยรู้สึกห่าง ๆ จากตัวละครนางเอกใน SOLIDS BY THE SEASHORE ในระดับนึง ในขณะที่ฉากตัวละครพระเอกนางเอกใน SUPPOSED ทะเลาะกันนี่ เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดของตัวละครไปด้วยมาก ๆ

 

และพอเราดู SUPPOSED ในเวลาไล่เลี่ยกับ FALLEN LEAVES (2023, Aki Kaurismaki, Finland, A+30) แล้ว เราก็พบว่า หนังสองเรื่องนี้เหมือนเติมเต็มให้กันได้ดี เพราะ FALLEN LEAVES เล่าเรื่องราวของชนชั้นล่าง ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายนอกเหนือจากความรัก ส่วน SUPPOSED เล่าเรื่องของชนชั้นกลาง ที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากินแต่อย่างใด มีปัญหาอยู่แค่เรื่องความรัก

 

แต่ SUPPOSED ไม่มี wish fulfillment เพราะตัวละครพระเอก “ไม่ยอมพัฒนาตัวเองเพื่อนางเอก” เขาไม่ได้ทำให้ตัวเองดีขึ้น เขาก็เลยเสียนางเอกไป และนางเอกก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพระเอกเช่นกัน  ส่วน FALLEN LEAVES นั้น เราว่ามันมี wish fulfillment เพราะพระเอกยอมพัฒนาตัวเองเพื่อนางเอกหรือเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็เลยเลิกเหล้าได้สำเร็จ

 

เราก็เลยรู้สึกว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้มัน “พาฝัน” สำหรับเราในคนละแบบ โดย SUPPOSED นั้น ชวน “พาฝัน” ในแง่การให้เราดูชีวิตหนุ่มสาวหน้าตาดี หาคู่นอนได้อย่างง่ายดาย และไม่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน แต่ไม่ได้ “พาฝัน” เราในแง่การฝืนตัวละครให้มารักกันในตอนจบ ส่วน FALLEN LEAVES นั้น หนัง “พาฝัน” สำหรับเราในแง่ที่ว่า เราจะหาผู้ชายแบบพระเอกได้ง่ายไหมในชีวิตจริง คนที่จะยอมเลิกเหล้าเพื่อความรักแท้ที่มีต่อเรา เราเจอก็แต่ผู้ชายที่จะมานอนกับเราเพื่อหาเงินไปกินเหล้าเสียล่ะมากกว่า

 

6.หนังของคุณ Thanakorn ที่เราเคยดู เรียงตามลำดับความชอบ

 

6.1 FIREBALL (2009)

 

6.2 FAKE (2003)

 
6.3 SUPPOSED สมมติ (2023)

6.4 DEMON WARRIORS โอปปาติก เกิดอมตะ (2007)

 

6.5 เอ็กซ์แมน: แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2004)

 

ส่วน SINGLE LADY (2015) นั้น เหมือนเรายังไม่เคยดู