Friday, December 31, 2021

TASTE OF WILD TOMATO (2021, Lau Kek-huat, Taiwan, documentary, A+30)

 

TASTE OF WILD TOMATO (2021, Lau Kek-huat, Taiwan, documentary, A+30)

 

1.ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเหตุการณ์ 228 ในไต้หวันมันจะรุนแรงและหนักหนาสาหัส ทหารเจียงไคเช็คฆ่าประชาชนตายไปเป็นจำนวนมากแบบนี้ คือถึงแม้เราจะเคยดู A CITY OF SADNESS (1989, Hou Hsiao-hsien) กับ SUPER CITIZEN KO (1995, Wan Jen) ที่พูดถึง White Terror มาแล้ว แต่เราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเหตุการณ์ 228 มันจะเป็นการสังหารหมู่ที่เลวร้ายทารุณแบบนี้

 

เหมือนพอดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว เราก็เลยเข้าใจได้เลยว่า ทำไมชาวไต้หวันบางคนถึงเกลียดเจียงไคเช็คอย่างรุนแรงสุด ๆ

 

2.ฉากที่คนด่ากันหน้าอนุสาวรีย์เจียงไคเช็คก็เด็ดดวงมาก ๆ และเราว่ามันสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างได้ดี เพราะเผด็จการหลาย ๆ คนมันไม่ได้มีแต่ด้านเลวอย่างเดียว คือถึงแม้เผด็จการหลาย ๆ คนมันจะฆ่าคนบริสุทธิ์ตายไปเยอะมาก แต่เผด็จการเหล่านี้ก็เหมือนสร้างสิ่งดี ๆ บางอย่างให้กับประเทศของตนเองด้วย เหมือนกับมนุษย์ส่วนใหญ่ที่มีทั้งด้านดีและด้านเลว เพราะฉะนั้นประชาชนบางกลุ่มก็มักจะยกเอา “คุณงามความดี” ของเผด็จการเหล่านี้มาใช้เป็นข้ออ้าง และยังคงเชิดชูบูชาเผด็จการเหล่านี้ต่อไป โดยไม่แยแสสนใจผู้บริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก

 

เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามองเผด็จการเหล่านี้ เราก็เลยเหมือนต้องยอมรับไปโดยปริยายว่า ถึงแม้เราจะเกลียดพวกมันและต่อต้านพวกมัน แต่เราไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใดว่า พวกมันเคยทำสิ่งดี ๆ ไว้บ้างเช่นกัน

 

3.ชอบที่หนังเรื่องนี้พูดถึงตั้งแต่ช่วงญี่ปุ่นยึดครองไต้หวันด้วย ดูแล้วนึกถึง TIME GOES BY (2016, Bontaro Dokuyama, documentary) แต่ถ้าหากเราจำไม่ผิด TIME GOES BY เน้นพูดถึงความทรงจำดี ๆ ที่ชาวไต้หวันมีต่อการปกครองของญี่ปุ่น แต่ TASTE OF WILD TOMATO นี่พูดถึงแง่ลบ โดยเน้นไปที่กลุ่ม “4 พญาเหยี่ยว” หรือกลุ่มเด็กหนุ่มไต้หวัน 4 คนที่พยายามปกป้องนักเรียนชาวไต้หวันคนอื่น ๆ จากการถูกนักเรียนญี่ปุ่นรังแกในโรงเรียนในยุคนั้น

 

4.ชอบการใช้หนังข่าวเก่า ๆ ของญี่ปุ่นมาก ๆ ดูแล้วเห็นชัดเลยว่าญี่ปุ่นยุคนั้นมันเหี้ยจริง ๆ มันมองไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเป็นพื้นที่สำหรับการรุกราน, ยึดครอง และดูดเอาทรัพยากรธรรมชาติกลับไปเพื่อประโยชน์ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุคนั้น

 

5.รักการสัมภาษณ์คนชราทั้งในหนังเรื่องนี้และหนังเรื่องอื่น ๆ ในปีนี้มาก ๆ รู้สึกเลยว่าคนชราในหนังเหล่านี้บรรจุความทรงจำที่มีคุณค่าสุด ๆ เอาไว้ มันคือความทรงจำของประวัติศาสตร์บาดแผลอันเลวร้ายของชีวิต, ของครอบครัว, ของประเทศ และของโลก และเป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้ผ่านทางหนังสือแบบเรียนหรือผ่านทางหนังหลาย ๆ เรื่อง (นอกจากเรื่อง Holocaust)  การได้สัมภาษณ์คนชราเหล่านี้ และได้ช่วยบันทึกความทรงจำของพวกเขาเอาไว้ และได้ส่งต่อความทรงจำเหล่านี้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างสุด ๆ ก่อนที่คนชราเหล่านี้จะค่อย ๆ ทยอยตายจากพวกเราไปพร้อมกับความทรงจำอันมีค่าของพวกเขา

 

6.กราบ Lau Kek-huat มาก ๆ เก่งสุด ๆ ฉันรักเขา หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องที่ 6 ของเขาที่เราได้ดู และเราขอยกให้เขาเป็น Patricio Guzman of Asia ไปเลย

Thursday, December 30, 2021

THE MATRIX RESURRECTIONS (2021, Lana Wachowski, A+30)

 

THE MATRIX RESURRECTIONS (2021, Lana Wachowski, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1.ชอบมาก ๆ 5555 ทั้ง ๆ ที่เราลืม THE MATRIX 3 ภาคแรกไปหมดแล้วนะ คือเราชอบ THE MATRIX 3 ภาคแรกมากพอสมควร แต่ไม่ได้ถึงกับคลั่งไคล้อะไรมันมากนัก

 

สาเหตุสำคัญอันนึงที่เราชอบภาคนี้ เพราะเราว่ามันมีส่วนคล้าย CONTEMPT (1963, Jean-Luc Godard) ด้วยแหละ เพราะมันเป็นหนังที่เหมือนกับว่าผู้กำกับทำขึ้นเพื่อด่าผู้อำนวยการสร้างหนัง 5555 อย่างใน CONTEMPT นั้น เราจะเห็นได้ว่า Godard เลือกใช้ดาราสาวสวยเซ็กซี่อย่าง Brigitte Bardot มาแสดงในหนังเรื่องนี้ แล้วก็สร้างตัวละครผู้อำนวยการสร้างหนัง Jeremy Prokosch (Jack Parlance) ที่มีความสุขเหลือเกินเวลาเห็นดาราสาวสวยเซ็กซี่อยู่ในหนังที่ตัวเองออกเงินสร้าง คือพอดู CONTEMPT แล้วเราก็รู้สึกเหมือนกับว่า Godard เลือก Bardot มาแสดง เพื่อด่าผู้อำนวยการสร้าง CONTEMPT (ในโลกแห่งความเป็นจริง) ว่า “พวกมึงต้องการดาราแบบนี้ใช่ไหมล่ะ ไอ้ผู้อำนวยการสร้างหนังหัวงู ตัณหาจัด” 55555

 

ซึ่งใน THE MATRIX RESURRECTIONS  นี้ การด่าวงการฮอลลีวู้ด (ซึ่งอาจจะรวมไปถึงผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้) ก็ปรากฏให้เห็นชัดผ่านทางบทสนทนาต่าง ๆ ของตัวละครในช่วงต้นเรื่อง

 

2.ชอบ dilemma ระหว่าง Niobe กับ Bugs ด้วย เพราะมันเป็นการเลือกระหว่าง “การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไป โดยที่เราอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว” กับ “การพยายามโค่นล้มระบบ แต่อาจต้องแลกด้วยความสูญเสีย”

 

3.แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบภาคนี้อย่างรุนแรงมาก ซึ่งเราไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่า คือการที่เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันยั่วล้อ “เรื่องเล่า” หรือ “ภาพยนตร์” จำนวนมากที่ดึงดูดเงินจากกระเป๋าผู้ชม ผ่านทางการสร้าง “ตัวละครคู่รักที่อยู่ใกล้กัน แต่ไม่อาจครองรักกันได้”

 

 

คือในหนังเรื่องนี้ มันมีการอธิบายว่า ระบบ Matrix เวอร์ชั่นใหม่ มัน “generate power” จากการให้ตัวละคร Neo กับ Trinity อยู่ใกล้กัน แต่ไม่ใกล้กันจนเกินไปน่ะ คือเหมือนใน Matrix เวอร์ชั่นใหม่นี้ ถ้าหาก Neo กับ Trinity อยู่ไกลกันเกินไป มันจะสร้างพลังงานให้ระบบ Matrix ได้ไม่มากพอ แต่ถ้าหาก Neo กับ Trinity ใกล้กันเกินไปจนครองรักกันได้ ทั้งสองก็จะทำลาย Matrix ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ หนังยังอธิบายอีกด้วยว่า Matrix เวอร์ชั่นใหม่ตั้งอยู่บนความกลัวและความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งก็คือ ความกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และความปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองยังไม่มี

 

 คือมันเหมือนกับว่า ระบบ Matrix เวอร์ชั่นใหม่ มันสามารถสร้างพลังงานได้อย่างรุนแรงมากจาก “การสร้างคู่รักที่อยู่ใกล้กัน แต่ไม่อาจครองรักกันได้” น่ะ ซึ่งมันทำให้เรานึกถึงความจริงที่ว่า “ภาพยนตร์” หรือ “ละครทีวี” หลาย ๆ เรื่อง มันก็ล้วน “generate power” ในการดึงดูดเงินจากกระเป๋าผู้ชม ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้ทั้งนั้น เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า MATRIX RESURRECTIONS มันยั่วล้อทั้งตัวเอง, ผู้อำนวยการสร้างหนัง, ผู้ชมภาพยนตร์ และภาพยนตร์/ละครทีวี/เรื่องเล่าโดยทั่วไปด้วย เพราะระบบ Matrix ในหนังมัน generate power จากการสร้างตัวละคร “คู่รักที่ไม่อาจครองรักกันได้” เหมือนกับที่หนัง/ละครทีวี/เรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่องมัน “กระตุ้นอารมณ์คนดู” ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้, มัน manipulate อารมณ์คนดูด้วยการสร้างอุปสรรคใหญ่โตมากมายมาขัดขวางคู่รักจากการครองรักกัน และยิ่งมันสร้างอุปสรรคได้ใหญ่โต, ทรงพลัง, น่าเชื่อถือมากเท่าใด อารมณ์คนดูก็จะยิ่งพุ่งทะลุทวีมหาศาลมากเพียงนั้น ราวกับว่าอารมณ์คนดูเป็นเหมือน “พลังงานในระบบ Matrix” และแน่นอนว่ายิ่งอารมณ์คนดูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้เพิ่มพูนขึ้นมากเพียงใด หนัง/ละครทีวี/เรื่องเล่าดังกล่าว ก็จะยิ่งกอบโกยทำกำไรได้มากเพียงนั้น

 

ตัวอย่างง่าย ๆ ของเรื่องเล่าทำนองนี้ ก็อย่างเช่น ตัวหนัง THE MATRIX RESURRECTIONS เอง ที่พยายามสร้างอุปสรรคต่าง ๆ มาขัดขวาง Neo กับ Trinity จากการครองรักกัน, เรื่องของเอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่ง หรือหนังที่ฉายในไทยในช่วงนี้ก็ generate power ผ่านทางการสร้างตัวละครแบบนี้กันหลายเรื่อง อย่างเช่น อโยธยามหาละลวย, 4 KINGS อาชีวะยุค 90’s, WEST SIDE STORY, LA BOUM, PORNOGRAPHER THE MOVIE: PLAYBACK, TOKYO REVENGERS, BLUE BAYOU, etc.

 

และที่ในหนังเรื่องนี้พูดว่า Matrix เวอร์ชั่นใหม่มันตั้งอยู่บน “ความกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้ว และความปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองยังไม่มี”  มันก็ทำให้เรานึกถึงระบบการปกครอง, ระบบทุนนิยม และสิ่งต่าง  ๆ ที่จะมา manipulate อารมณ์/ความคิด/ความเชื่อ/การกระทำของเรา นอกเหนือไปจาก “หนังคู่รักเจออุปสรรค” แบบในกลุ่มข้างบนด้วย เพราะเราว่า “โฆษณา” (ที่มักจะกระตุ้นให้เราอยากได้ในสิ่งที่ตนเองยังไม่มี) และ “การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” (โดยเฉพาะของฝ่ายขวา ที่พยายามกระตุ้นให้ประชาชนหวาดกลัวชาวต่างชาติและการเปลี่ยนแปลง)  ก็มักจะ generate power ของตัวเองผ่านทางอะไรแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่ว่าใน THE MATRIX RESURRECTIONS อาจจะไม่ได้นำเสนออะไรแบบนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เน้นไปที่การ generate power ผ่านทางการสร้างตัวละครคู่รักเผชิญอุปสรรคเป็นหลัก

 

4.เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ THE MATRIX RESURRECTIONS อย่างมาก ๆ เพราะเหมือนพอเราดูหนังเรื่องนี้จบ แล้วเรามองย้อนกลับไปยังหนัง/ละครทีวีต่าง ๆ ที่เราเคยดูมาในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็รู้สึกขำขันมากที่พบว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ ตั้งแต่เรื่องของเอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่งที่เราเคยดูตั้งแต่เด็กๆ  มันก็กระตุ้นอารมณ์ของเรา มันก็ generate power ขึ้นมา ผ่านทางการสร้าง Neo และ Trinity หรือพระเอกและนางเอกที่อยู่ใกล้กันแต่ไม่อาจครองรักกันได้ทั้งนั้น ราวกับว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “เรื่องเล่า” กับ “อารมณ์ของเรา” มันก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างระบบ Matrix กับพลังงานที่มันพยายาม generate ขึ้นมา เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากมนุษย์ที่อยู่ในกระเปาะ ถูก “ระบบการปกครอง/ระบบทุนนิยม/เรื่องเล่า” กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง แล้วเราก็จะได้จ่ายเงินให้สิ่งนั้น หรือทำตามที่ระบบนั้นต้องการ เป็นพลังงานที่หล่อเลี้ยง หนัง/ละครทีวี/ระบบการปกครองนั้นต่อไป จนกว่าเราจะรู้เท่าทันอารมณ์ที่มันพยายามกระตุ้นให้เรารู้สึก

 

5. ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจจะเข้าใจ THE MATRIX RESURRECTIONS ผิดไปก็ได้นะ แต่ถึงเราเข้าใจผิดก็ไม่เป็นไร สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือการที่เราได้ข้อคิดอะไรบางอย่างจากหนังเรื่องนี้ โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 5555

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ชอบ BLADE RUNNER 2049 (2017, Denis Villeneuve) อย่างรุนแรงด้วยเหตุผลเดียวกัน นั่นก็คือหนังเรื่องนี้ก็ให้ข้อคิดอะไรบางอย่างแก่เรา โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกัน เพราะก่อนที่เราจะดูหนังเรื่องนั้น เราเคยคิดว่า ความแตกต่างระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์” คืออารมณ์ความรู้สึก เพราะเราคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่หุ่นยนต์ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่ปรากฏว่า หุ่นยนต์ในหนังเรื่องนี้ มันก็มีอารมณ์ความรู้สึกได้เหมือนกัน เพราะอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง “มันถูกโปรแกรมกันได้” โดยเฉพาะผ่านทางการสร้าง false memory

 

เพราะฉะนั้นพอดู BLADE RUNNER 2049 จบลง เราก็เลยคิดว่า เออ ใช่ มันจริงมาก ๆ ที่อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของเรา มันเหมือนถูกตั้งโปรแกรมมา เช่นเราอาจจะตั้งโปรแกรมไว้ในหัวโดยไม่รู้ตัวว่า “ฉันควรจะมีความสุขเมื่อคนอื่นเห็นด้วยกับฉัน ฉันควรจะมีความทุกข์เมื่อคนอื่นเห็นขัดแย้งกับฉัน” อะไรแบบนี้ ซึ่งพอรู้เช่นนี้ แล้ว เราก็สามารถตั้งโปรแกรมใหม่ได้ เป็น “ฉันควรจะมีความสุขเมื่อคนอื่นเห็นด้วยกับฉัน และฉันควรจะมีความสุขเช่นกันเมื่อคนอื่นเห็นขัดแย้งกับฉัน” อะไรทำนองนี้ และพอเราตั้งโปรแกรมใหม่แบบนี้ในหัวของตัวเองแล้ว เราก็เลยมีความสุขมาก ๆ ที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ด่าหนังที่เราชื่นชอบอย่างรุนแรง 55555 เหมือนพอเราเรียนรู้เรื่องการตั้งโปรแกรมความรู้สึกในหัวของตัวเองได้แล้ว เราก็เลยมีความสุขมากขึ้น

 

แต่เราก็ชอบ BLADE RUNNER 2049 มากกว่า THE MATRIX RESURRECTIONS หลายเท่านะ เพราะถึงแม้เราจะได้แง่คิดบางอย่างจากหนังสองเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ BLADE RUNNER 2049 มันงดงามสุด ๆ สำหรับเราน่ะ เหมือนมันมีความจรุงใจบางอย่างสำหรับเราในการดูหนังเรื่องนี้ และงานด้าน visual ของมันก็ถูกใจเรามาก ๆ  ส่วน THE MATRIX RESURRECTIONS นั้น ถ้าหากตัดเรื่องแง่คิดที่เราได้จากหนังออกไปแล้ว มันก็เป็นแค่หนังที่เราดูได้เพลิน ๆ เรื่องนึง และงานด้าน visual ของมันก็ไม่ได้สะเทือนเราแต่อย่างใด

Tuesday, December 28, 2021

THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit, A+30)

 

THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit, A+30)

พญาโศกพิโยคค่ำ

 

(เนื่องจากเราอาจจะจำรายละเอียดอะไรบางอย่างผิดไป หรืออาจจะเข้าใจอะไรผิดไป ถ้าหากเราจำผิดหรือเข้าใจอะไรผิดตรงไหน ก็ comment มาได้เลยตามสบายนะคะ)

 

spoilers alert

--

--

--

--

--

1.ดีใจมาก ๆ ที่ได้ดูหนังแบบนี้ รู้สึกตื่นเต้นดีใจเหมือนตอนได้ดูหนังของ Marguerite Duras, Alain Robbe-Grillet, Werner Schroeter, Philippe Grandrieux ครั้งแรก ๆ ในแง่ที่ว่า หนังของผู้กำกับทั้ง 4 คนนี้เหมือนมีการผลักพลังทางภาพและเสียงไปจนสุดขีดขั้นของมัน หรือมีการทดลองศักยภาพเร้นลับบางอย่างทางภาพ, เสียง, การตัดต่ออย่างรุนแรง แทนที่จะเน้นการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายแบบหนังยาวทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้วหนังของ Taiki เรื่องนี้ก็ไม่ได้เหมือนกับของผู้กำกับทั้ง 4 คนนี้หรอกนะ เพียงแต่เรารู้สึกว่าหนังของ Taiki เรื่องนี้มันเหมือนช่วยขยาย boundary หรือ limit ทางภาพยนตร์ออกไปเหมือนหนังของ 4 คนนี้ และอาจจะมีจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้นึกถึงหนังของทั้ง 4 คนนี้ อย่างเช่น

 

1.1 Marguerite Duras – ความเชื่องช้าอ้อยสร้อย, คฤหาสน์โบราณ

 

1.2 Alain Robbe-Grillet – การเล่าเรื่องแบบ Jigsaw ที่ไม่มีวันประกอบกันขึ้นเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ เพราะมันจะมี jigsaw ชิ้นสำคัญที่หายไป หรือมี jigsaw ที่เกินมา, การตัดต่อที่เน้น motif ซ้ำ ๆ กัน วนกันไปมา หรือมีการใส่ภาพที่ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องแต่อย่างใดแทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะ ๆ

 

1.3 Werner Schroeter – การเล่าประวัติชีวิตตัวละครแบบที่ดูจบแล้วไม่เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในชีวิตตัวละคร รู้แต่ว่าพลังทางภาพและเสียงในหนังมันสุดฤทธิ์สุดเดชมาก

 

1.4 Philppe Grandrieux – พลังทางภาพและเสียงที่หนักสุดขีด เหมือนพลังทางภาพและเสียงในหนังของ Grandrieux หรือในหนังบางเรื่องของ Andrei Tarkovsky มันแตะบางอย่างในระบบประสาทหรือจิตใจของเราในแบบที่ลึกหรือรุนแรงกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ซึ่งหนังของ Taiki เรื่องนี้ก็ทำแบบนี้ได้

 

และหนังของ Taiki เรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงหนังของผู้กำกับคนอื่น ๆ บางคนอีกด้วย อย่างเช่น

 

1.5 INSTITUTE BENJAMENTA, OR THIS DREAM PEOPLE CALL HUMAN LIFE (1995, Brothers Quay) ในแง่ของการสร้างโลกแห่ง “แสงและเงา” ที่สวยงามพิลาศพิไลมาก ๆ

 

1.6 Sharunas Bartas, Fred Kelemen, Bela Tarr ในแง่ของการสร้างโลกแห่งความสิ้นหวังที่ลงลึกถึงระดับจิตวิญญาณได้อย่างทรงพลังสุด ๆ

 

2.ชอบความเป็น jigsaw ของมันอย่างสุดๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่าผู้สร้างหนังจงใจให้คนดูหนังแต่ละคน “เข้าใจผิด” หรือ “ตีความผิดไปจากที่ผู้สร้างหนังตั้งใจไว้ในตอนแรก” หรือเปล่านะ แต่เราเดาเอาเองว่าน่าจะจงใจ

 

คือเราดูหนังเรื่องนี้ด้วยความงุนงงมาก เพราะเราไม่เคยอ่านเรื่องย่อมาก่อน แล้วพอดูจบแล้ว ลอง google หาเรื่องย่อดู ก็พบว่ามันไม่เหมือนกับที่เราจินตนาการไปเองตอนดูหนังเลย 55555

 

ซึ่งตอนที่เราดูหนังนั้น เราแยกไม่ออกระหว่างพลอยกับไพลินด้วยซ้ำ เรานึกว่าเป็นคนคนเดียวกัน เหมือนเราแยกหน้าระหว่างผู้หญิงสองคนนี้ไม่ออก และเราก็ไม่แน่ใจว่า ฉากงานเลี้ยงฉากแรกในหนัง มันเป็นความฝันหรือเป็นความจริง, แล้วถ้าหากมันเป็นความจริง มันเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์ใดในหนัง แล้วฉากในโรงฆ่าสัตว์มันเป็นความฝันหรือความจริง แล้วใครที่ตั้งท้องลูกคนที่สองในตอนท้าย คือไพลินใช่ไหม เธอท้องกับหมอเหรอ หรืออะไร (ถ้าใครคิดเห็นเป็นอย่างไร ก็บอกมาได้นะ)

 

เพราะฉะนั้นพอเรามาอ่านเรื่องย่อหลังดูหนังจบ เราถึงเพิ่งรู้ว่า ฉากงานเลี้ยงในตอนแรกมันคือพลอยตอนโต 55555

 

แต่เราเดาว่าผู้สร้างหนังน่าจะตั้งใจเปิดโอกาสให้คนดูแต่ละคนจินตนาการเรื่องราว หรือประกอบสร้างเรื่องราวของตนเองได้ตามใจชอบน่ะแหละ หรือน่าจะตั้งใจเปิดโอกาสให้คนดูแต่ละคน “ตีความผิดไปจากเรื่องราวที่ผู้สร้างหนังคิดไว้” น่ะแหละ เพราะถ้าหากผู้สร้างหนังเลือกที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อเรื่องตรงกัน ผู้สร้างหนังก็คงไม่ทำหนังออกมาแบบนี้ เพราะว่า

 

2.1 คือถ้าหนังตั้งใจเล่าเรื่องแบบปกติ ก็น่าจะมีการขึ้นเวลากำกับไว้ในหนังเลยว่า เป็นเหตุการณ์ปีอะไร อะไรเกิดก่อนหลังห่างจากกันกี่ปี

 

2.2 ฉากแต่ละฉาก เราว่ามันจงใจให้ดู timeless สำหรับช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา คือเราไม่เห็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่บ่งบอกความทันสมัยของแต่ละยุคอย่างชัดเจน อย่างฉากแรกที่เป็นปี 2549 เรากลับนึกว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในปี 2490 หรือ 2519  ก็ได้ และเราเดาว่าผู้สร้างหนังน่าจะจงใจให้เกิดความกำกวมทางเวลาตรงจุดนี้

 

2.3 เราเดาว่าผู้สร้างหนังน่าจะจงใจให้พลอยกับไพลินดูคล้าย ๆ กันด้วยแหละ และน่าจะจงใจให้เด็กผู้หญิงแต่ละคนดูคล้าย ๆ กันด้วย  คือเราดูแล้วก็แยกไม่ออกว่าเด็กผู้หญิงคนไหนเป็นคนไหน คนไหนคือพลอยตอนเด็ก แล้วคนไหนคือลูกของพลอย

 

3.เราเดาว่า ที่ผู้สร้างหนังตั้งใจทำให้เส้นเวลาในหนังมันพร่าเลือน หรือเปิดโอกาสให้ผู้ชมแต่ละคนเข้าใจผิดกันได้ง่าย ๆ แบบนี้ ในแง่นึงมันอาจจะสะท้อนถึงวงจรอุบาทว์ทางการเมืองในไทยก็ได้ ที่ดูเหมือนว่าประเทศไทยไม่ได้พัฒนาไปไหนเสียทีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มันดูเหมือนไม่มีความเจริญ, ความทันสมัย หรือการพัฒนาอย่างแท้จริงให้เราเห็นในหนังเรื่องนี้ มีแต่ความตกต่ำและทรุดโทรมให้เราเห็น ทั้งฉากงานเลี้ยงตอนต้นเรื่อง, คฤหาสน์ต้องคำสาปของไพลิน หรือโรงฆ่าสัตว์ ฉากเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดก็ได้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และถ้าหากไม่มี “เรื่องย่อ” บอกไว้ ผู้ชมแต่ละคนก็อาจจะสามารถตัดต่อ, เรียงลำดับ, โยกย้าย, สลับตำแหน่งของแต่ละฉากในหนังได้ตามใจชอบใน imaginary timeline ของผู้ชมแต่ละคน เพราะเหมือนแต่ละฉากมันไม่บอกยุคสมัยของตนเองอย่างชัด ๆ อยู่แล้ว

 

คือในแง่นึงเราก็รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนตัวต่อ lego มากกว่าภาพ jigsaw น่ะ เพราะหนัง jigsaw ก็อาจจะเป็นหนังอย่าง PULP FICTION (1994, Quentin Tarantino) ที่ไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลาเป็นเส้นตรง แต่ดูจบแล้วเราสามารถนำแต่ละฉากมาเรียงตามลำดับเวลาได้ใหม่ เหมือนต่อ jigsaw ครบ แล้วได้ภาพที่ลงตัว สมบูรณ์ แต่ละฉาก หรือแต่ละชิ้นส่วนของภาพมีตำแหน่งแห่งที่ที่เฉพาะเจาะจงของมันเองอยู่แล้ว

 

แต่หนัง lego ก็คือหนังแบบของ Alain Robbe-Grillet และหนังเรื่องนี้ที่เหมือนมันเอื้ออำนวยหรือช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมแต่ละคนนำแต่ละฉาก หรือชิ้นส่วนแต่ละชิ้น ไปประกอบกันขึ้นใหม่เป็นอะไรที่ผิดไปจากความตั้งใจเดิมของผู้สร้างหนังได้น่ะ และผู้ชมก็มักจะไม่สามารถใช้ชิ้นส่วนทุกชิ้น (หรือใช้ทุกฉากที่พบเห็นในหนัง) ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วย เหมือนผู้สร้างหนังอาจจะให้ตัวต่อ lego มากล่องนึง โดยถ้าหากผู้ชมใช้ตัวต่อ lego ได้ครบทุกชิ้น ก็อาจจะต่อได้เป็น “อนุสาวรีย์” อะไรทำนองนี้ แต่ผู้ชมบางคนอาจจะเอาตัวต่อ lego เพียงแค่บางชิ้นในกล่องนั้น ไปประกอบกันเป็น “หี” ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเราจะชอบหนังของ Robbe-Grillet/หนังแบบที่เปิดให้ผู้ชมแต่งเรื่องขึ้นเอง หรือหนังแบบ jigsaw ที่ไม่มีวันครบสมบูรณ์แบบนี้มาก ๆ เพราะมันเหมือนมันคิดได้ไม่สิ้นสุดน่ะ

 

คือเราว่าหนังแบบ PULP FICTION, MEMENTO หรือหนังแบบ jigsaw ที่มันลงตัว พอเราต่อได้ภาพที่ครบสมบูรณ์แล้ว มันก็จบนะ เหมือนต่อ jigsaw เสร็จแล้วก็จบ แต่หนังแบบตัวต่อ lego มันเหมือนเราเอามาเล่นใหม่ได้เรื่อย ๆ คิดทบทวนใหม่ได้เรื่อย ๆ คิดประดิษฐ์สร้างอะไรใหม่ขึ้นมาได้เรื่อย ๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้งที่เราหยิบเอาแต่ละชิ้นส่วนขึ้นมาต่อใหม่ ซึ่งเราว่าหนังที่เหมือนทลายเส้นแบ่งทางเวลาบางเรื่อง อย่างเช่น THE DEATH OF MARIA MALIBRAN (1972, Werner Schroeter) และ MIRROR (1974, Andrei Tarkovsky) ก็ให้ความรู้สึกทำนองนี้เหมือนกันนะ คือเหมือนพอแต่ละฉากในหนังมันไม่ได้มีจุดที่แน่นอนตายตัวว่าต้องเกิดก่อนหรือเกิดหลังฉากไหน แต่แต่ละฉากในหนังเป็นเหมือนตัวต่อ lego ที่ผู้ชมแต่ละคนจะหยิบจับวางไปไว้ตรงไหนก็ได้ มันก็เลยเกิดความสนุกแบบไม่รู้จบสำหรับเราในการดูหนังกลุ่มนี้

 

4.ไม่รู้เราคิดไปเองหรือเปล่าว่า หนังเรื่องนี้ชอบโฟกัสไปที่อะไรที่เป็นกลม  ๆ หรือเป็นวงกลม ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าต้องการสื่อถึงวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย หรือการวน loop เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันของเหตุการณ์บางอย่างในการเมืองไทยหรือเปล่า 555

 

5.ย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องวงจรอุบาทว์, ความเสื่อมต่ำลงเรื่อย ๆ ของประเทศไทย, การวน loop ในไทย เราก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงทั้งเรื่อง

 

5.1 การที่ผู้นำหลายคนของไทยต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งปรีดี, จอมพลป., ทักษิณ, สมัคร, ยิ่งลักษณ์

 

5.2 การประท้วงของนักศึกษา ที่เกิดขึ้นในหลายยุคหลายสมัยในไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

5.3 การนองเลือด โดยฉากที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้คือฉากโรงฆ่าสัตว์ ที่เราเห็นการชำแหละสัตว์ และเห็นศพคนหลายคนนอนกองอยู่

 

แว้บแรกที่เราเห็นฉากนี้ เรานึกถึงศพที่แม่น้ำโขง แต่เนื่องจากฉากนี้มันดู timeless มันบอกไม่ได้ว่าเกิดขึ้นในปีใดกันแน่ เราก็เลยนึกถึงทั้งเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553, การสังหารคอมมิวนิสต์, เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519, การยิงเป้าคนเห็นต่างทางการเมืองในยุคสฤษดิ์ และคดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรีในปี 2492 ด้วย คืออันนี้คงเป็นข้อดีอย่างนึงของหนังแบบตัวต่อ lego ที่ฉากที่ไม่ระบุเวลาอย่างแน่นอนแบบนี้กระตุ้นให้เรานึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มากมาย

 

และก็น่าสนใจดีว่า จริง ๆ แล้วสาเหตุนึงของวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย คือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำซากนับตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง แต่นำเสนอ loop อื่น ๆ ในการเมืองไทยแทน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะเราว่าประเด็นเรื่องรัฐประหารนี่มีหนังสั้นไทยพูดถึงมากมายแล้วล่ะ โดยเฉพาะหนังเรื่อง REPEATING DRAMATIC (2008, Arpapun Plungsirisoontorn) ที่พูดถึงวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร

 

6. และในส่วนของ “ความเสื่อมต่ำ” ของประเทศไทยนั้น หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เรานึกถึงจุดนี้ผ่านทางการออกแบบฉากได้อย่างอนาถาอาถรรพณ์มาก ๆ ทั้งฉากงานเลี้ยง, คฤหาสน์ต้องคำสาป และโรงฆ่าสัตว์

 

สิ่งที่หนังเรื่องนี้กระตุ้นให้เรานึกถึงโดยที่ตัวหนังไม่ได้ตั้งใจ ก็คือประเด็นที่ว่า การวน loop ซ้ำซากของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองในไทย มันทำให้ประเทศไทยไม่พัฒนาได้มากอย่างที่ควรจะเป็นแบบนี้นี่แหละ และมันทำให้เรานึกถึงคำพูดที่เราได้ยินตั้งแต่เด็ก ๆ ในทศวรรษ 1980 ว่า “เยอรมนีกับญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนปี 1945 สองประเทศนี้ตกต่ำถึงขีดสุด บ้านเมืองพังยับเยิน ไม่เหลือซาก ในขณะที่ประเทศไทยในปี 1945 อยู่ในสภาพที่ดีกว่าเยอรมนีกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก แล้วพอมาถึงทศวรรษ 1980 สิ ไม่รู้เยอรมนีกับญี่ปุ่นก้าวไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่ไทยยังแทบไม่พัฒนาไปไหนเลย”

 

ซึ่งนั่นเป็นทศวรรษ 1980 นะที่เราได้ยินคำพูดแบบนี้กรอกหูมาตั้งแต่เด็ก  แล้วพอตัดภาพมาถึงปี 2021 นี้ นอกจากไทยจะยังคงล้าหลังกว่าเยอรมนีและญี่ปุ่นแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่ออกจากระบบเผด็จการมาได้ อย่างเช่น “เกาหลีใต้” และ “ไต้หวัน” ก็ดูเหมือนจะล้ำหน้าไปกว่าไทยไปตามๆ กันด้วย

 

7.แล้วการที่หนังเรื่องนี้ใส่ฉากโรงฆ่าสัตว์เข้ามาในช่วงท้ายของเรื่อง เราก็เลยรู้สึกว่า ฉากนี้ในจินตนาการของเรา มันคือ “ไทยในยุคปัจจุบัน” ซึ่งอาจจะตกต่ำไปกว่ายุคของ “คฤหาสน์ต้องคำสาป” ในช่วงกลางของหนังเสียอีก และช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ มันเหมือนใส่ภาพ “การนองเลือด” (หรือเลือดที่ไหลนองมาตามพื้น) เข้ามาในหนังหลายครั้ง ซึ่งเราก็รู้สึกว่า การนองเลือด มันสะท้อนถึงความรู้สึกของเราที่มีต่อยุคปัจจุบันได้ดีเช่นกัน ทั้งการสังหารหมู่คนเสื้อแดง, ศพที่แม่น้ำโขง หรือการที่คนไทยจำนวนมากตายในปีนี้เพราะการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่ดีพอ ซึ่งแน่นอนว่าผู้สร้างหนังคงไม่ได้ตั้งใจจะสะท้อนประเด็นทุกประเด็นที่เราเขียนไว้ในนี้ แต่เราชอบที่ฉากเหล่านี้มันเปิดโอกาสให้เราคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ไปได้เรื่อย ๆ โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ

 

8. ย้อนไปถึงประเด็นเรื่องการวน loop ของการประท้วงของนักศึกษาในไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นนี้ โดยผ่านทาง

 

8.1 การพูดถึงหรือการนำเสนอ “ผู้หญิงผมยาว” ที่ทำให้เรานึกถึงนักศึกษา ในหลาย ๆ ครั้ง อย่างเช่น

 

8.1.1 คุณหมอบอกว่า เขาเจอพี่ชาย (ผัวของไพลิน) ที่กรุงเทพก่อนที่พี่ชายจะหายตัวไปเมื่อ 3 ปีก่อน เขาไปเจอที่โรงงาน พี่ชายอยู่กับศพหญิงเปลือยผมยาวคนนึง แต่ตัวหมอกลับพูดในทำนองที่ทำให้เราเข้าใจว่า เขารู้สึกว่าพี่ชายไม่ได้ทำผิดอะไรร้ายแรง แต่กำลังพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง

 

8.1.2 ปราสาท ซึ่งเป็นผัวของไพลินบอกกับไพลินว่า หลังจากเขาพลัดหลงกับกองกำลังของเขาเมื่อ 3 ปีก่อน เขาก็เจอหญิงผมยาวคนนึงในป่า ไม่รู้ว่าเป็นชาวบ้านหรือนักศึกษาที่ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน เขาสะกดรอยตามหญิงผมยาวคนนั้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันทำให้เขาไกลห่างจากบ้านออกไปเรื่อย ๆ

 

8.1.3 หลังจากพลอยจมน้ำจนโคม่า ชาวบ้านก็ลือกันว่ามีหญิงผมยาวจมน้ำตายเพราะมีพรายน้ำฉุดไปใต้น้ำ หญิงคนนั้นอาจจะมาจากกรุงเทพ อาจจะโดนลักพาตัวมา ไม่มีใครพบศพหญิงคนนั้น แต่เจอเสื้อผ้ากับเส้นผมลอยมา

 

8.1.4 หญิงผมยาว (Waywiree) ที่ผลุบโผล่ไปมาในป่าในช่วงต้นของหนัง (ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์ปี 2006 ตามเรื่องย่อ หรือถ้าไม่ยึดตามเรื่องย่อ มันอาจจะเป็นเหตุการณ์ในเวลาใดก็ได้) เธอเหมือนจะสบตากับเด็กหญิงผมม้าที่นั่งอยู่ในรถบัสของชาวบ้าน และเธอกระโดดตัดหน้ารถของปราสาท แต่แล้วเธอก็หายตัวไป

 

8.2 การซ้อนเหลื่อมกันของเด็กหญิงผมยาวกับผู้หญิงผมยาว อย่างเช่น

 

8.2.1 การจมน้ำของพลอยเกิดขึ้นพร้อมกับที่ชาวบ้านลือเรื่องผู้หญิงจมน้ำในแม่น้ำ

 

8.2.2 ฉากนึงในช่วงท้ายของหนัง ที่เราเห็นเด็กหญิงผมยาวคนนึง (เราไม่แน่ใจว่าคือใคร) อยู่ใน position ที่คล้าย ๆ กับ position ของ Waywiree ในช่วงต้นเรื่อง

 

คืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันทำให้เรานึกถึงการวน loop ของการประท้วงของนักศึกษาในไทยน่ะ โดยเฉพาะในยุค 2516-2519 และในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่านะ 5555

 

9.พูดถึงเรื่องผู้หญิงผมยาวแล้ว เราก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า ศพเปลือยของผู้หญิงผมยาวในช่วงต้นเรื่อง ทำให้เรานึกถึง “งู” ด้วย ซึ่งเป็นงูที่ต่อมาถูกนำมาต้มกิน

 

คือหนังเรืองนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เราคิดไปเองว่า ถ้าหากผู้หญิงผมยาว = งู = สัตว์ร้ายที่กลืนกินกองกำลังทหาร แล้ว เพราะฉะนั้นงูก็อาจจะเท่ากับประชาชนที่ไม่เชื่อฟัง ส่วนหนูอาจจะเท่ากับประชาชนที่เชื่อฟัง แต่จริง ๆ แล้วหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจสื่ออะไรแบบนี้แต่อย่างใด 55555

 

10. สรุปว่าชอบพลังทางภาพ, เสียง, การตัดต่อของหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ และชอบความเป็นตัวต่อ lego ของหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ คือเราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ตั้งใจเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง เราก็อาจจะได้หนังแบบชีวิตครอบครัวในลาตินอเมริกาในยุคเผด็จการ แบบหนังอย่าง THE HOUSE OF THE SPIRITS (1993, Bille August ซึ่งสร้างจากนิยายของ Isabel Allende) และ THE FEAST OF THE GOAT (2005, Luis Llosa, Dominican Republic ซึ่งสร้างจากนิยายของ Mario Vargas Llosa) น่ะ ซึ่งเราว่าหนังสองเรื่องนี้นี่ไม่ได้น่าจดจำมากเท่ากับ THE EDGE OF DAYBREAK แต่อย่างใด และหนังสองเรื่องนี้อาจจะสู้ต้นฉบับที่เป็น “นิยาย” ของตนเองไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะ “นิยาย” ก็เป็นสื่อที่ “เล่าเรื่อง” ได้ดีเช่นกัน และอาจจะทำหน้าที่เล่าเรื่องได้ดีกว่าหนังที่มีความยาวเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมงเสียอีก ในขณะทื่สื่อภาพยนตร์นั้นอาจจะมีจุดเด่นที่การนำเสนอภาพและเสียงที่ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่อง แต่ตัวภาพและเสียงเองนั้นสามารถกระตุ้นอารมณ์, ความรู้สึก, ความคิด, จินตนาการ, จิตใต้สำนึก และจิตวิญญาณของผู้ชมโดยไม่ต้องผูกโยงกับเนื้อเรื่องก็ได้

 

ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนที่เราอยากฉายคู่กับ THE EDGE OF DAYBREAK นอกเหนือไปจากหนังของผู้กำกับต่าง ๆ ที่เราเอ่ยถึงในข้อ 1 ไปแล้ว ก็คงเป็นหนังเรื่อง THE POISON OF DAWN (หรือ IN EVIL HOUR) (2005, Ruy Guerra, Brazil ที่สร้างจากนิยายของ Gabriel Garcia Marquez)  เพราะ THE POISON OF DAWN เล่าเรื่องของตระกูลสำคัญตระกูลนึงที่เผชิญกับความผันผวนของการแย่งชิงอำนาจในเมืองแห่งหนึ่ง แต่ THE POISON OF DAWN ใช้เส้นเวลาในการเล่าเรื่องที่พิศวงพิสดารอย่างสุด ๆ ไม่รู้คิดวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ยังไง คือถ้าจะมีหนังเรื่องไหนเหมาะปะทะกับ THE EDGE OF DAYBREAK ก็อาจจะเป็น THE POISON OF DAWN นี่แหละ

 

11. ต่อไปนี้เป็นบันทึกความทรงจำของเราที่มีต่อ imaginary timeline ของเหตุการณ์ในหนัง ถ้าหากเราจำอะไรผิดไป ก็ comment  มาได้นะคะ

 

11.1 พ่อของปราสาททำให้แม่ของปราสาทตาบอดข้างนึง (ไม่แน่ใจว่าใช้มีดแทงตาตอนเมาหรือเปล่า) ปราสาทเลยไปแจ้งความ ทำให้พ่อติดคุก แต่แม่กลับโกรธเขา และปราสาทก็เลยเหมือนต้องรับหน้าที่ดูแลแม่และน้องชายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และต่อมาปราสาทก็รู้สึกเหมือนเสียใจที่ทำให้พ่อของตนเองต้องติดคุก เขาบอกว่าตัวเองกลายเป็น drifter และไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ ต่อมาเขาทำงานเหมือนเป็นหน่วยสืบราชการลับของไทย (น่าจะเป็นทหาร) และแต่งงานกับไพลิน ทั้งสองมีลูกสาวชื่อพลอย

 

11.2 ไพลินมีแม่ขี้เมาและชอบเล่นการพนัน วันนึงแม่พนันด้วยโฉนดที่ดิน และสูญเสียโฉนดที่ดินไปทั้งหมด ไพลินพยายามปลอบใจแม่ แต่แม่กลับด่าไพลินว่า ไพลินไม่ใช่ลูกของเธอ ไพลินเสียใจไปร้องไห้ท้ายรถบรรทุก ต่อมาตากับยายก็รับไพลินไปอยู่ด้วย

 

ไพลินกับบัว (เราไม่แน่ใจว่าบัวคือใคร สาวใช้คนสนิทเหรอ) ย้ายบ้านไปเรื่อย ๆ จนมาอยู่คฤหาสน์ต้องคำสาป กลางวันไร้ชีวิต กลางคืนมีชีวิต ในบ้านมีชายแก่นั่งรถเข็นคนนึงอยู่ด้วย เราไม่แน่ใจว่าคือใคร คุณตาของไพลินเหรอ ชายแก่คนนี้เหมือนจะมีลูกสมุนผู้ชายที่ยิงปืนที่ริมแม่น้ำ ส่วนคนใช้สำคัญในบ้านมีสองคน ซึ่งก็คือสาวผมม้า และแม่บ้านสูงวัยที่ชอบทำหน้าทำตานึกว่าทมยันตี

 

เหมือนกิจกรรมสำคัญของไพลินคือการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย แต่เธอปล่อยให้บ้านของตัวเองสกปรกมาก

 

11.3 ปราสาทกับน้องชายที่เป็นหมอเจอกันที่กรุงเทพในโรงงาน ปราสาทอยู่กับศพหญิงเปลือยผมยาว ก่อนที่ปราสาทจะหายตัวไปเป็นเวลา 3 ปี

 

11.4 ปราสาทเล่าว่า เขากับกองกำลังของเขาไล่ตามนักศึกษาเข้าไปในป่า แล้วเขาพลัดหลงกับกองกำลังของเขา กองกำลังของเขาถูกสัตว์ร้ายกลืนกินเข้าไป ส่วนเขาสะกดรอยตามหญิงสาวผมยาวคนนึงในป่าไปเรื่อย ๆ และออกห่างจากบ้านไปเรื่อย ๆ หลงทางไปเป็นเวลานาน

 

11.5 พลอยจมน้ำแล้วเป็นโคม่า แล้วชาวบ้านก็ลือกันว่ามีผู้หญิงจมน้ำในแม่น้ำ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มาจากกรุงเทพ

 

11.6 ไม่รู้เกิดเหตุอะไรที่วัด แต่บทสนทนาของตัวละครบอกว่า “นับตั้งแต่เกิดเรื่อง” พระก็อยู่ที่วัดนั้นไม่ได้นาน พระใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ที่วัดนั้น แป๊บเดียวก็ต้องย้ายออกไป ชายแก่นั่งรถเข็นก็เลยไม่ได้ตักบาตร

 

11.7 ในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากปราสาทหายตัวไป งูเห่า ซึ่งเป็นคนละตัวกับที่โรงเพาะเห็ด แอบเลื้อยเข้ามาในบ้าน โดยที่เจ้ามอมไม่เห่าเตือน มันเลื้อยเข้ามาอยู่ใต้เตียงของพลอย พอคนใช้มาเห็นก็เลยฆ่างูเห่าทิ้ง แต่หลังจากนั้นไพลินก็ไม่ได้ยินเสียงหนูในบ้าน ซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้เธออุ่นใจ

 

11.8 ในอีกไม่กี่วันต่อมาหลังจากเหตุการณ์งูเห่า หมอที่เป็นน้องชายของปราสาทมาตรวจอาการพลอยที่คฤหาสน์ เขาชวนไพลินออกไปคุยนอกบ้าน และเหมือนเขาจะไปยืนใกล้ ๆ ศพหนูที่ถูกผ่าท้องที่ริมรั้ว เขาบอกว่ามีข่าวลือว่าปราสาทอาจจะไปสืบราชการลับที่สาลวินหรือที่ลาว และอาจจะแปรพักตร์ไปอยู่กับลาวแล้วก็ได้

 

11.9 เหมือนจะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคา น่าสนใจดีว่าหนังที่เป็น allegory ทางการเมืองเรื่องอื่น ๆ บางเรื่องก็เน้นเหตุการณ์สุริยุปราคาเช่นกัน อย่างเช่น A SHORT FILM ABOUT THE INDIO NACIONAL (2005, Raya Martin, Philippines) และ VENGEANCE IS MINE, ALL OTHERS PAY CASH (2021, Edwin, Indonesia)  ถ้าจำไม่ผิด

 

11.10 หมอกับไพลินร่วมรักกัน เหมือนเราเห็นรอยสักหรือรอยอะไรสักอย่างที่ผิวหนังของใครสักคนในระหว่างการร่วมรัก ในขณะที่สาวผมม้าแอบฟังเสียงของทั้งสอง และสาวผมม้าก็ทำหน้าทำตานึกว่าเกิดเหตุอะไรสักอย่าง พอไพลินตื่นขึ้นมา ก็เจอแม่บ้านที่ปรากฏมาแค่เงา แม่บ้านบอกว่า “หมอกลับไปแล้ว แล้วอีกไม่นานสามีของคุณก็จะกลับมา”

 

11.11 เจ้ามอมลุกออกจากเตียงของไพลิน วิ่งลงไปข้างล่าง เหมือนมันรับรู้ถึงการมาของใครสักคน

 

11.12 ไพลินตื่นขึ้นมา พบว่าปราสาทกลับมาแล้ว เขาบอกว่าเขาอาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เขาชูเครื่องประดับหรืออะไรสักอย่างที่มีรูปร่างคล้ายโคมระย้าให้ดูด้วย เขาบอกว่าเขาเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และนี่คือการกลับมาครั้งสุดท้ายของเขา

 

หลังจากนั้นหนังก็มีการใส่ฉาก montage ที่หนักมากเข้ามา ซึ่งรวมถึงฉากที่พลอยเดินลงแม่น้ำ

 

11.13 สาวผมม้าตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าบ้านสกปรกเหี้ย ๆ เราเห็นรถเข็นอยู่ในบ้าน แต่ไม่มีคนอยู่ในรถเข็น พลอยฟื้นจากโคม่าแล้วไปแอบอยู่ใต้เตียง ก่อนจะโผเข้ากอดสาวผมม้า

 

11.14 เหตุการณ์ในอีกราว 30 ปีต่อมา พลอยกับลูกสาวไปเจอสามีที่ safe house สามีเพิ่งได้รับบาดเจ็บ ทั้งสองกินข้าวด้วยกันพร้อมกับหมอแก่และกลุ่มคนของสามี พลอยบอกสามีว่าเธอฆ่าพ่อของตัวเอง สามีทำหน้าเข้าใจ, สงสาร และเห็นใจพลอย มีหญิงชรามาเผาเสื้อผ้า เหมือนมีกลุ่มคนอุ้มศพใครสักคนขึ้นท้ายรถยนต์ด้วย (ถ้าเราดูไม่ผิด) ต่อมาสามีของพลอยขึ้นรถไปกับคนสนิท พลอยกลับไปพร้อมกับกลุ่มคนของสามี

 

11.15 Waywiree วิ่งไปวิ่งมาในป่า

 

11.16 ชาวบ้านนั่งกันมาในรถบัสคันนึง เหมือนมีคนนึงเลี้ยงกระรอกไว้ที่ไหล่ พวกเขาดื่มเหล้าขวดเดียวกัน คนที่นั่งท้ายรถถือปืนยาวกระบอกนึง ต่อมารถบัสเสียกลางทาง เด็กหญิงผมม้าบนรถมองออกจากหน้าต่างรถ ไม่แน่ใจว่าเธอเห็น Waywiree หรือเปล่า รถของสามีของพลอยแล่นผ่านรถบัสคันนี้ไป Waywiree กระโดดตัดหน้ารถของสามีของพลอย แล้วเธอก็หายตัวไป

 

11.17 โรงฆ่าสัตว์ มีเด็กหญิงผมยาวคนนึงอยู่ในนี้ด้วย มีการชำแหละสัตว์ มีศพคนตายมากมาย มีเลือดไหลนองพื้นอย่างรุนแรงและมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

11.18 หญิงสาวคนนึงที่เราไม่รู้ว่าเป็นใครเหมือนตื่นจากฝัน เธอกำลังเฝ้าไข้ชายชราคนนึงในโรงพยาบาล เขาน่าจะเป็นญาติของเธอ เธอโชว์เครื่องประดับเดียวกับที่ปราสาทเคยมีให้ชายชราดู แล้วเธอก็ฆ่าชายชรา แล้วก็มีแสงเงาเลื่อนไหลไปมาที่ตัวเธอ

 

11.19 หญิงสาวคนนึงท้องแก่นอนอยู่บนเตียง เด็กหญิงผมยาวนั่งอยู่บนเตียงกับเธอ เหมือนเด็กหญิงผมยาวดีใจที่ตัวเองจะมีน้อง แล้วเด็กหญิงผมยาวก็หันมาสบตาคนดู เราไม่แน่ใจว่าผู้หญิงกับเด็กคือไพลินกับพลอยหรือเปล่า

 

สรุปว่า ถ้าเราจำอะไรผิดไป หรือเข้าใจอะไรผิดไป ก็ comment มาได้นะคะ เพราะเราก็ดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องเหมือนกันค่ะ 55555 แต่เราพยายามจะบันทึกความทรงจำที่มีต่อหนังเรื่องนี้เอาไว้ค่ะ