Thursday, July 30, 2020

SUMIKKO

SUMIKKO GARASHI THE MOVIE: THE UNEXPECTED PICTURE BOOK AND THE SECRET CHILD (2019, Mankyuu, Japan, animation, A+5)

เหมือนเป็นหนังสำหรับเด็กอนุบาล 555 ชอบ "ก้อนเนื้อหมู" ที่ใฝ่ฝันว่าอยากให้มีคนมากินตัวมัน ชอบไอเดียของหนังด้วยที่ผสมนิทานหลายๆเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งโมโมทาโร่, เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ, เงือกน้อย, หนูน้อยหมวกแดง, อาหรับราตรี และลูกเป็ดขี้เหร่ แต่มันเป็นหนังสำหรับเด็กเล็กน่ะ

--------
พูดถึงเพลงเพื่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า ในยุคที่เราเป็นวัยรุ่นนั้น มันต้องเป็นเพลง WIND OF CHANGE (1990) ที่เฉลิมฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต เหมือนกับว่าคนแต่ละยุคมันคงมี "สิ่งที่ต่อต้าน" ที่แตกต่างกันไป ซึ่งยุคของเราตอนนั้นคือโซเวียต

 The future's in the air
I can feel it everywhere
Blowing with the wind of change

Tuesday, July 28, 2020

SUK SUK (2019, Ray Yeung, Hong Kong, A+30)


SUK SUK (2019, Ray Yeung, Hong Kong, A+30)

1.ตอนดูจะนึกว่า ถ้าหากตัวละครใน “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, M.L. Bhandevanop Devakul) ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แล้วพวกเขาจะเป็นอย่างไร จะมีอายุพอๆกับตัวละครใน SUK SUK หรือเปล่า แล้วชีวิตของพวกเขาจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับตัวละครใน SUK SUK แล้วถ้าหากมีการสร้าง “ฉันผู้ชายนะยะ” ภาคสองที่นำเสนอตัวละครชุดเดียวกันในวัยชรา หนังมันจะออกมาเป็นอย่างไร

แต่เราเดาเอาเองว่า  “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” กับ SUK SUK มันคงจะแตกต่างกันเป็นอย่างมากนะ เพราะถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด สังคมไทยน่าจะเปิดกว้างรับกะเทย/เกย์ได้มากกว่าสังคมจีนหรือเปล่า เพราะฉะนั้น “เกย์ไทยที่แต่งงานกับผู้หญิง” อาจจะมีจำนวนน้อยกว่า
”เกย์เชื้อสายจีนที่แต่งงานกับผู้หญิง” หรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจ คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาตอบ

เพราะฉะนั้นตัวละคร “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” ก็คงจะไม่ได้ประสบปัญหาแบบเดียวกับตัวละครใน SUK SUK เพราะความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ เราว่าตัวละคร Dior ใน SUK SUK น่าจะใกล้เคียงกับตัวละครใน “ฉันผู้ชายนะยะ ภาควัยชรา” มากที่สุด เพราะตัวละคร Dior ไม่ต้องแอบ

2.ปัจจัยที่ทำให้นึกถึงประเด็นข้างต้นขึ้นมา ก็คือถึงแม้ว่า SUK SUK จะดูสมจริงสุดๆ และดูเผินๆเหมือนเป็นเรื่องใกล้ต้วเรา ซึ่งเป็นเกย์เอเชียวัย 47 ปี แต่พอดูๆไป เราก็สงสัยว่า ทำไมเหมือนเราแทบไม่ค่อยรู้จักคนแบบใน SUK SUK เลยวะ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนแบบนี้ไม่มีอยู่จริงนะ คนแบบนี้มีอยู่จริง และเยอะมากๆด้วย แต่เหมือนเราไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงเดียวกับเขามั้ง

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เลยนึกถึงช่วงที่ไปเที่ยว DJ STATION และ BABYLON ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งช่วงนั้นก็ได้รู้จักฝรั่งมีอายุคนนึง เป็นทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม มีเมีย มีลูกแล้วอยู่ที่อเมริกา (ลูกชายหล่อล่ำมาก 555) และเขาก็เปิดเผยกับเมียกับลูกตามตรงว่า เขาค้นพบตัวเองว่าเขาชอบผู้ชาย และเมียกับลูกๆเขาก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ย้ายมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพ มีแฟนเป็นหนุ่มไทย ลูกชายเขาก็มาเที่ยวเมืองไทย ควงสาวไทย ทุกคนในครอบครัวเขาก็มีความสุขดี ไม่เห็นใครจะมีปัญหาอะไรกับการที่พ่อตัวเอง come out ว่าเป็นเกย์

เหมือนพอเราอยู่ในแวดวงคนที่เปิดเผยตัวเองแบบนี้ เราก็เลยเหมือนไม่ค่อยเจอคนแบบใน SUK SUK น่ะ พอเราได้มาดูหนังเรื่องนี้ มันก็เลยน่าสนใจมาก และมันทำให้เราตระหนักว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกัน คือปัญหาการปกปิดตัวเองแบบใน SUK SUK มันคงแทบไม่เกิดที่ “เนเธอร์แลนด์”  หรืออะไรทำนองนี้

สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากใน SUK SUK ก็คือการที่หนังทำให้เราได้รู้จักชีวิตของตัวละครแบบ Pak และ Hoi นี่แหละ เพราะจริงๆแล้วในชีวิตเราก็ไม่ได้รู้จักคนแบบนี้มากเท่าไหร่ ซึ่งก็คือ “คนที่มีลูกมีเมียและไม่เปิดเผยตัวเอง” เพราะเกย์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักก็เป็นกลุ่มที่เปิดเผยกับลูกเมียของตัวเองตามตรงว่าตัวเองเป็นเกย์ (ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในสังคมฝรั่ง) หรือเกย์ที่ไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิงอยู่แล้ว

3.ชอบรายละเอียดต่างๆในหนัง อย่างเช่น

3.1 การทะเลาะกันระหว่างลูกชายกับลูกสะใภ้ของ Hoi ในบางฉาก

3.2 ฉากที่เมียของ Pak เหมือนจะจับพิรุธได้ในงานแต่งงานลูกสาว

3.3 ฉาก Hoi เช็ดน้ำลายให้เพื่อน

3.4 ฉากเพื่อนบ้านแอบมองหรือนินทา

3.5 ฉาก Hoi ต่อราคาในตลาดสด

เหมือนพอหนังใส่ใจกับรายละเอียดชีวิตต่างๆเหล่านี้ มันเลยทำให้หนังดูนุ่มนวลและงดงามสุดๆ

4.ชอบที่หนังเหมือนเปิดพื้นที่ให้จินตนาการด้วย อย่างเช่น

4.1 การที่ Pak เล่าเรื่องเพื่อนที่จมน้ำตาย มันทำให้เราแอบจินตนาการว่า เขาคือหนุ่มคนรักของ Pak หรือเปล่า

4.2 ฉากที่ Hoi เหมือนเอาข้าวของและผ้าเช็ดหน้าของผัวเก่าไปทิ้ง คือเหมือนหนังไม่ได้เล่าเรื่องปูมหลังตรงนี้ แต่แค่การได้เห็นผ้าเช็ดหน้ากับภาพถ่ายเก่าๆ มันก็เหมือนทำให้ผู้ชมอย่างเรา “สร้างหนังในจินตนาการขึ้นมาได้อีก 1 เรื่องเต็มๆ” แล้ว

5. อันนี้เป็นหนังเรื่องที่ 4 ของ Ray Yeung ที่เราได้ดู ต่อจาก YELLOW FEVER (1998), CUT SLEEVES BOY (2006) และ FRONT COVER (2015) ซึ่งแน่นอนว่าเราชอบ SUK SUK มากที่สุด เพราะมันดูแตกต่างจากหนังเกย์ทั่วไปมากๆ

คือเราว่าหนังเกย์ทั่วไปส่วนใหญ่มันมี element ของการ “ตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชม” น่ะ ผ่านทางการนำเสนอตัวละครหนุ่มหล่อล่ำหำตึง น่ากิน อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเป็นสิ่งที่เราสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่แน่นอนว่าพอหนังเกย์ทั่วไปมันมี element ตรงจุดนี้เหมือนกันไปหมด หนังแบบ SUK SUK ก็เลยโดดเด้งขึ้นมา

และถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Ray Yeung แล้ว เราก็ชอบที่ SUK SUK มันไม่ได้มี “การสั่งสอนผู้ชมว่าเกย์เอเชียควรปฏิบัติตัวอย่างไร” แบบในหนังเรื่องอื่นๆของ Ray Yeung ด้วย

คือถ้าหากเราจำไม่ผิด ในหนังบางเรื่องของ Ray Yeung โดยเฉพาะใน YELLOW FEVER นั้น พัฒนาการของตัวละครมันจะเหมือนหนังทั่วไปมากๆน่ะ นั่นก็คือเส้นเรื่องมันจะเป็นแบบ “ตัวละครเกย์เอเชียมีปัญหา พยายามตามหาสิ่งที่ใฝ่ฝัน และก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร แก้ไขตัวเองอย่างไร เพื่อจะไปให้ถึงจุดที่ใฝ่ฝัน”

แต่ SUK SUK มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันเหมือนสร้างจากชีวิตคนจริงๆ ที่ไม่มีทางออกง่ายๆให้กับชีวิต มันไม่มี “คำตอบ” ที่สมบูรณ์แบบให้กับปัญหาชีวิต ไม่มี happy ending  

SUK SUK มันเลยเหมือนเป็นการคว้าจับเศษเสี้ยวของชีวิตคนจริงๆมานำเสนออย่างงดงาม แทนที่จะเป็นการบิดผันชีวิตตัวละครให้มีพัฒนาการตามเส้นเรื่องแบบหนังทั่วไป หนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามหาทางออกให้กับตัวละคร พร้อมกับสั่งสอนผู้ชมว่า “เกย์เอเชียควรปฏิบัติตัวอย่างไร” ในตอนจบแบบในหนังเรื่องอื่นๆ

เราก็เลยชอบที่ SUK SUK มันเหมือนกับนำเสนอ “ชีวิตคนจริงๆ” โดยไม่ได้มีความ “พาฝัน” และไม่ได้ต้องการ “สั่งสอนผู้ชมว่าควรทำอย่างไร” นี่แหละ

TRAIN TO BUSAN 2: PENINSULA (2020, Yeon Sang-ho, South Korea, A+25)


HUG TERD TERNG (2020, Theeradech Sapanyoo, A+5)
ฮักเถิดเทิง (ธีรเดช สพันอยู่)

1.ถ้าเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของผู้กำกับคนเดียวกัน เราก็ยังคงชอบ ฮักแพง (2018) มากที่สุดนะ และชอบเรื่องนี้มากเป็นอันดับสอง และชอบ “ออนซอนเด” (2019) น้อยที่สุด

2.ตัวละครของก้อง ห้วยไร่ ทำให้นึกถึงหนังไทยยุค 1980 มากๆ ส่วนตัวละครของเบิ้ล ปทุมราช ทำให้นึกถึงหนังไทยโรแมนติกโง่ๆยุคปัจจุบัน

3.กลุ่มใจกับทรงผมของเบิ้ล ปทุมราช

4. น่าสนใจดีที่หนังเรื่องนี้มีตัวละครเลสเบียนด้วย คือถ้าหากมันเป็น “หนังอินดี้” แล้วมีตัวละครเลสเบียน เราจะไม่ประหลาดใจ แต่พอมันเป็นหนังเพลงลูกทุ่ง เราก็เลยประหลาดใจเล็กน้อย


TRAIN TO BUSAN 2: PENINSULA (2020, Yeon Sang-ho, South Korea, A+25)

1.ว้าย ทำไมฉันดูแล้วอินมาก 55555 จริงๆแล้วหนังมันก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่นะ เหมือนเป็นการยำใหญ่เอาสิ่งต่างๆจากหนังหลายๆเรื่องมารวมกัน แต่พอเหมือนหนังมันค่อนข้างให้น้ำหนักกับ “ตัวละครผู้หญิงบู๊สะบั้น” มากกว่าที่เราคิด เราก็เลยอินกับมันได้ง่ายมั้ง เหมือนกับหนังแบบ TERMINATOR: DARK FATE (2019, Tim Miller) และ CHARLIE’S ANGELS (2019, Elizabeth Banks) ที่หลายคนดูเหมือนไม่ค่อยชอบ แต่เราดูแล้วก็อินมากๆ ชอบสุดๆอยู่ดี 55555

2.ตัวละครเด็กหญิงสองคนในหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงตัวละครที่ชอบสุดๆสองตัว นั่นก็คือ

2.1 ตัวละครเด็กหญิงใน ALIENS (1986, James Cameron) ที่เหมือนเป็นคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ในดาวเอเลียน เพราะเธอเอาตัวรอดเก่งสุดๆ

2.2 ตัวละครเด็กหญิงใน LONESOME DOVE (1989, Simon Wincer, 6hours 24mins) ที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในป่า จนดวงตาของเธอมองเห็นในที่มืดได้ดีกว่าคนทั่วไป เราชอบตัวละครเด็กหญิงแบบนี้อย่างสุดๆ

3.สิ่งที่ชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่พระเอกสุดหล่อ ไม่ได้เสี่ยงตายถวายชีวิตเพื่อ “สาวคนรัก” หรือ “ลูก” แต่เสี่ยงตายถวายชีวิตเพื่อ “น้องเขย” คือแบบว่า มึงแอบหลงรักน้องเขยหรือเปล่าคะ 55555 คือถ้าเอาส่วนนี้ไปขยายต่อให้ดีๆ มันจะกลายเป็นหนังซอมบี้เกย์โรแมนติก homoerotic ได้เลยนะ



Monday, July 27, 2020

ASHMINA

ASHMINA (2018, Dekel Berenson, Nepal, 15min, A+30)

 One of my most favorite films I saw this year นึกว่าเธอมาเพื่อปะทะกับเวฬุรีย์ จาก "เพลิงพ่าย" ชอบสุดๆที่เธอเริ่มจากการเป็น "เด็กหญิงผู้น่าสงสารที่ต้องการกินไอติม" และกลายเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของฆาตกรโรคจิตในตอนจบ

HI, A.I. (2019, Isa Willinger, Germany, documentary, 87min, A+30)

รูปไม่ได้มาจากหนังเรื่องนี้นะ 555

พอดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการสร้างหุ่นยนต์ เราก็เลยมั่นใจว่า ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ต้องมีการผลิต "ผัว robot" ออกมาวางขายอย่างแพร่หลายแน่ๆ และลูกค้าคงกำหนดขยาดความยาวขององคาพยพต่างๆในตัว robot ได้ตามใจชอบ

เพราะฉะนั้นตอนนี้ดิฉันต้องเก็บเงินค่ะ ในอนาคตจะได้มีเงินซื้อ "ผัว robot" เอาแค่ 9 ตัวก็พอแล้ว บอกให้เขาผลิตออกมาตามรูปร่างหน้าตาแบบในรูปนี้ 555

แล้วในอนาคต ถ้าพวกคุณกดสั่งซื้อผัว robot จาก lazada หรือ shopee ได้ตามใจชอบ พวกคุณอยากได้ผัว robot รูปร่างหน้าตาแบบไหนคะ แล้วอยากได้ specifications อะไรบ้าง

MTHUNZI (2019, Tebogo Malebogo, South Africa, 8min, A+25)

MONSIEUR PIGEON (2019, Antonio Prata, Switzerland, documentary, 56min, A+25)

WE HAVE BOOTS (2020, Evans Chan, Hong Kong, documentary, 130min, A+30)

THE YEAR WITHOUT A SUMMER (2020, Elise Rasmussen, Switzerland, 20min, A+30)

1.ชอบการเชื่อมโยงกันระหว่างอินโดนีเซียกับสวิตเซอร์แลนด์มากๆ นึกว่า "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว"  ไม่นึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเมื่อ 200 ปีก่อน จะส่งผลกระทบมาถึงสวิส และส่งผลมาถึงปัจจุบันผ่านทางนิยายเรื่อง FRANKENSTEIN

2.เหมาะฉายควบกับ GOTHIC (1986, Ken Russell) มากๆ เพราะ GOTHIC ก็เล่าถึงเหตุการณ์การปะทะกันของนักเขียนชื่อดังในตอนนั้นเหมือนกัน

3.เสียดายที่หนังพูดอังกฤษ แต่ไม่มีซับอังกฤษ พอเราต้องฟังเอง ก็พบว่าตามทันแค่ราว 20-30 %

HOW DO YOU SPELL CAPITALISM? (2019, Lars Karl Becker, Germany, 18min, A+30)

เหมือนปีนี้เทศกาล Signes de Nuit มีหนังแนวที่เราขอเรียกว่าแนว " Alexander Kluge" หลายเรื่อง นั่นก็คือหนังที่เอาสิ่งต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันมาปะทะกัน และหนังกลุ่มนี้จะ thought provoking มากๆ ในการกระตุ้นให้ผู้ชมพยายามหาทางเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆ นึกว่าแบบทดสอบไอคิว

หนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เหมือนเสียงบรรยายของหนังจะพูดถึงอาณาจักรโรม, เปอร์เชีย แต่ภาพของหนังจะเป็นคลิปจากหนัง Hollywood แนวแอคชั่นที่ใช้ฉากในแกลเลอรี่หรือ museum

FILMORGH or ELEPHANT-BIRD (2018, Masoud Soheili, Afghanistan, 15min, A+25)

1.นึกถึง " 1-2-3 ด่วนมหาภัย" (1977, Narongpoomin, Winai Wisetsiri) มากๆ

2.เหมือนเป็นหนัง comedy ที่ตอนจบเศร้าสะเทือนใจมากๆ ชอบมากที่ผู้ชมที่นั่งแถวหลังก็คุยกันว่ารู้สึกเศร้ามากๆกับตอนจบเหมือนกัน

I HAD TO BURY CUCU (2018, Philippa Ndisi-Herrmann, Kenya, 13min, A+30)

THE MANILA LOVER (2019, Pyykko Johanna, Norway/Philippines, 26min, A+30)

นึกถึง FORCE  MAJEURE (2014, Ruben Ostlund) ที่เล่นกับความไม่มั่นใจของเพศชาย เมื่อพระเอกพบว่าตนเองไม่สามารถรักษาภาพลักษณ์แบบแมนๆเอาไว้ได้ แต่หนังเรื่อง MANILA LOVER นี้เน้นไปที่ภาพลักษณ์ของเชื้อชาติด้วย เพราะพระเอกของหนังเหมือนมองว่าตนเองเป็น "ชายสแกนดิเนเวียน" เพราะฉะนั้นตนเองต้องเป็นฝ่ายที่รวย และมีเงินหาเลี้ยง "สาวเอเชีย"   แต่เขาจะทำอย่างไรเมื่อเขาถังแตก และเจอกับหญิงสาวที่จริงๆแล้วเหมือนหลุดมาจากคนในแวดวง CRAZY RICH ASIANS

ชอบที่หนังลงลึกไปที่จิตวิทยาของผู้ชายกลุ่มนี้ เพราะถ้าหากเราเป็นพระเอก แล้วพบว่าสาวคนรักรวย เราก็คงยิ้ม มีความสุข ไม่มีความทุกข์ กังวลใจใดๆ แต่พระเอกพอพบว่าตนเองไม่สามารถรักษาภาพลักษณ์ได้ เขาก็เลยจิตแตก

MY OWN LANSCAPES (2020, Antoine Chapon, France, A+30)

BURA (2019, Junjung Eden, Indonesia, 12min, A+30)

นึกถึงความเชื่อเรื่อง "ผีปอบ" และความรุนแรงเชิงโครงสร้างในชนบทไทย

ELECTRIC SWAN (2019, Konstantina Kotzamani, France/Greece/ Argentina, 40min, A+30)

magic มาก

Thursday, July 23, 2020

WATCHING THE PAIN OF OTHERS (2019, Chloé Galibert-Laîné, France, documentary, A+30)


WATCHING THE PAIN OF OTHERS (2019, Chloé Galibert-Laîné, France, documentary, A+30)

สุดฤทธิ์ ชอบมากๆ จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะมาก และหนึ่งในประเด็นที่เราสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือ “โรคทางร่างกายที่เกิดจากอาการทางจิต” เพราะเหมือนหนังเรื่องนี้จะแอบตั้งข้อสงสัยว่า การที่ตัวผู้กำกับ “มีอาการแปลกๆทางผิวหนัง” ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุนั้น เป็นเพราะตัวผู้กำกับไปดูคลิปยูทูบของคนที่มีอาการแปลกๆทางผิวหนังหรือเปล่า 55555 เหมือนกับว่าการดูอะไรแบบนี้มันส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ชมโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย

ซึ่งจริงๆเรื่องแบบบนี้ดูเหลวไหล ไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์นะ แต่มันทำให้นึกถึงเรื่องที่เราเคยได้ยินมา 2 เรื่อง ซึ่งก็คือ

1.เหมือนเราเคยอ่านบทความเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่มีเด็กๆตายเพราะอดอยากในแอฟริกาเยอะๆน่ะ น่าจะเป็นช่วงปลายทศวรรษ 1980 แล้วถ้าเราจำไม่ผิด เขาบอกว่า นอกจากจะมีเด็กตายเพราะทุพโภชนาการเยอะมากในค่ายในแอฟริกาในยุคนั้นแล้ว ก็มีคนอื่นๆอีกหลายคนที่อยู่ดีๆก็ตายในค่ายนั้นด้วย ทั้งๆที่ไม่มี “อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย” อะไรเลย เหมือนเขาเรียกว่าคนกลุ่มนี้ตายเพราะ sheer apathy คือคนกลุ่มนี้เห็นคนอื่นๆตายเพราะขาดอาหารกันเยอะมากๆ คนกลุ่มนี้ก็แลยเหมือนไม่มีแรงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป คนกลุ่มนี้ก็เลยตายไปด้วย เพราะถึงแม้ร่างกายของคนกลุ่มนี้จะไม่ขาดสารอาหาร แต่แค่การขาดแรงใจที่จะมีชีวิตอยู่ก็ส่งผลให้ร่างกายตายไปได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิด

2.นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง EKLEIPSIS (1998, Tran T. Kim-Trang) ที่เราชอบสุดๆ โดยหนังสารคดีเรื่องนี้สำรวจหญิงกัมพูชาจำนวนมากในสหรัฐที่ “ตาบอดเพราะอาการทางจิต” หรือ hysterical blindness เพราะหญิงกัมพูชาเหล่านี้มีดวงตาที่สมบูรณ์ดี แต่กลับมองไม่เห็นอะไร ซึ่งหมอก็หาคำอธิบายไม่ได้ เหมือนหญิงกลุ่มนี้ตาบอดเพราะอาการทางจิต

ซึ่งหญิงทุกคนในกลุ่มนี้คือผู้ที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์เขมรแดง ก่อนที่พวกเธอจะอพยพมาอยู่สหรัฐ มันก็เลยเกิดทฤษฎีว่า หรือว่าผู้หญิงกลุ่มนี้เห็นเหตุการณ์เลวร้ายมามาก และอาจจะรู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิตมาได้หรืออะไรทำนองนี้หรือเปล่า ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็เลย “ตาบอดเพราะอาการทางจิต” ขึ้นมา

Tuesday, July 21, 2020

THE LOST PRINCE

รักข้ามคาน (2020, Thammarak Gamutmanote, Saichol Panpa, A-)

1.รู้สึกว่าสิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ คือการที่หนัง treat รถสกูตเตอร์ของ Vespa ว่าเป็นเหมือนกับตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่อง รู้สึกว่าเราไม่ค่อยเจอหนังไทยที่ปฏิบัติกับรถหรือวัตถุว่าเป็นตัวละครสำคัญสุดๆแบบนี้

2.โครงสร้างของหนังก็ประหลาดดี เพราะหนังเล่าเรื่องราวรุ่นพ่อแม่ราว 40% แล้วเล่าเรื่องราวรุ่นลูกราว 60% นึกว่าโครงสร้างแบบ "ดาบมังกรหยก" ที่ปูพื้นตัวละครรุ่นพ่อแม่ไปเกือบครึ่งเรื่อง 555

3.ช่วงครึ่งแรกของหนัง เป็นดราม่าที่อารมณ์โอเวอร์เกินไป แต่เราว่ามันดูสมจริงกว่าครึ่งหลังของหนัง ตัวละครที่หมกมุ่นหลงใหลในรถ scooter อย่างรุนแรง ก็ถือเป็นตัวละครที่เราแทบไม่เคยเจอมาก่อนในหนังไทย คือถ้าผลักตัวละครตัวนี้ให้ไปสุดทางของความหลงใหลใน "รถ" เราอาจจะได้หนังแบบ David Cronenberg 55555 น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้มันไปไม่ถึงจุดนั้น

4.ช่วงครึ่งหลังเป็นหนังแนว romantic comedy ที่เรารู้สึกว่ามันโง่มาก สูตรสำเร็จมากๆ ทุกอย่างดูเป็น function ไปหมด แต่ยังดีที่พระเอกกับพระรองหล่อน่ารักดี ก็เลยถือว่าดูผู้ชายเพลินๆไปแล้วกัน

 THE LOST PRINCE (2020, Michel Hazanavicius, France, A+25)

1.เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของ Hazanavicius ที่เราได้ดู ต่อจาก THE ARTIST (2011, A+30) และ OSS 117: LOST IN RIO (2009, A+15) แล้วเราก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราชอบในหนังของเขาคือไอเดียเก๋ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์อะไรบางอย่างน่ะ คือเหมือนหนังทั้ง 3 เรื่องของเขามีไอเดียที่น่าสนใจ

แต่สิ่งที่หนังของเขาขาดแคลนก็คือการดัดแปลงไอเดียที่น่าสนใจให้กลายเป็นหนังที่สามารถสร้างความประทับใจทางอารมณ์ได้อย่างรุนแรงน่ะ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากหนังเรื่องนี้ เพราะพล็อตของหนังมันสามารถทำเป็นหนัง “ครอบครัวซึ้งๆ” แบบหนังญี่ปุ่นได้สบายเลย แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่สามารถสร้างอารมณ์ซาบซึ้งได้ แต่สามารถชดเชยในส่วนนี้ได้ด้วยไอเดียเก๋ไก๋

2.ชอบไอเดียของการสร้าง “โลกเทพนิยายที่ถูกทอดทิ้ง” นะ เพื่อสะท้อนเทพนิยายหรือนิทานที่เด็กๆทอดทิ้งไปเมื่อเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ โดยนำเอา “โลกของเทพนิยายที่ถูกทอดทิ้ง” นี้มาสะท้อนอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็กๆด้วย เพราะเด็กหลายๆคนจะรักพ่อแม่มากตอนเป็นเด็กเล็ก แต่เด็กๆมักจะเริ่มรู้สึกแปลกแยกจากพ่อแม่เมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เราชอบไอเดียนี้ในหนังเรื่องนี้มากๆ

3.แต่ก็น่าเสียดายที่ไปๆมาๆแล้วหนังเรื่องนี้มันไม่ซึ้งเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญกับการบีบอารมณ์ซึ้งๆทำนองนี้ได้

4.แต่ก็ชอบ “ทัศนคติ” ของหนังเรื่องนี้อย่างมากๆนะ เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ เพราะว่า

4.1 ตอนแรกเรานึกว่ามันเป็นหนัง “สั่งสอนเด็ก” หรือหนังสำหรับเด็ก แต่พอดูไปดูมาแล้วเราพบว่ามันเหมือนเป็นหนัง “สั่งสอนผู้ใหญ่” มากกว่า

4.2 เราชอบหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมากเมื่อนำมันไปเทียบกับหนังแบบ LATE SPRING (1949, Yasujiro Ozu) เพราะตัวละครในหนังสองเรื่องนี้มันเหมือนล้อกันโดยไม่ได้ตั้งใจน่ะ เพราะ LATE SPRING นำเสนอหญิงสาววัย 27 ปีที่เหมือนอยากอยู่กับพ่อ แทนที่จะออกไปแต่งงานมีผัว ส่วน THE LOST PRINCE นำเสนอเด็กสาวที่เพิ่งจบจากโรงเรียนประถม เธอเพิ่งขึ้นชั้น ม.1 และเธอเริ่มต้องการผู้ชาย เธอต้องการหนุ่มๆ และหนังก็พยายามสั่งสอน “พ่อ” ว่า พ่อต้องทำใจยอมรับให้ได้นะว่า พอลูกสาวขึ้นม.1 ลูกสาวก็จะต้องการผู้ชายแล้ว และพ่อต้องให้อิสระทางเพศกับลูกสาวในเรื่องนี้

เราชอบทัศนคติแบบนี้ใน THE LOST PRINCE มากๆ และเราพบว่ามันตลกดีถ้าหากเอามันมาเทียบกับหนังของ Ozu

THE LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME (2020, Nontawat Numbenchapol, video installation, A+30)

1.หนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตหนุ่มชาวไทใหญ่ ทำไม subject ถึงหล่อ น่ารักขนาดนี้คะ กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด ช่วยหนูด้วย ฉันรักเขา กรี๊ดดดดดดดดดด ฉันรักเขา

2.ได้ดูไปแค่ 50  นาที ไม่รู้ความยาวเต็มๆเท่าไหร่ วันหลังอาจจะพยายามไปดูต่อ

MY HERO ACADEMIA: HEROES RISING (2019, Kenji Nagasaki, Japan, animation,  A+30)

 ไม่เคยดูการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อน รู้สึกเหมือนดู X-MEN แบบที่ตัดประเด็นสังคม-การเมืองทิ้งไปให้หมด แล้วเน้นความบู๊เอามันส์อย่างเดียว ซึ่งเราพบว่ามันสนุกสุดๆสำหรับเรา คงเพราะเราชอบหนังที่มีตัวละครอิทธิฤทธิ์สูงๆหลายตัวตบตีกันไปมาอยู่แล้ว


Monday, July 20, 2020

NELSON MANDELA: THE MYTH AND ME (2013, Khalo Matabane, South Africa, documentary, A+30)


NELSON MANDELA: THE MYTH AND ME (2013, Khalo Matabane, South Africa, documentary, A+30)

1.กราบตีน มีสิทธิติด top ten ประจำปี ชอบสุดๆ เหมือนหนังเรื่องนี้สำรวจประเด็นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกได้ในแบบที่ถูกใจเรามากๆ

ในเชิงกว้างก็คือว่า เราชอบที่หนังเรื่องนี้พูดถึงปัญหาการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ แต่หนังไปสัมภาษณ์เหยื่อเผด็จการในชิลีและเยอรมันตะวันออกด้วย เพราะหนังพยายามจะตั้งคำถามว่า การที่ Nelson Mandela ดูเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “การให้อภัย และการไม่แก้แค้น” นั้น มันดูเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่เราจะทำยังไงกับ “เหยื่อที่ไม่สามารถทำใจให้อภัยคนที่เคยทำร้ายพวกเขา คนที่เคยจับพวกเขาไปทรมาน หรือคนที่เคยเข่นฆ่าครอบครัวพวกเขา” ล่ะ

เพราะฉะนั้น ชิลี และเยอรมันตะวันออก ก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะมันมีคนที่เคยเป็นเหยื่อของตำรวจลับ Stasi ในเยอรมันตะวันออก และมันมีคนจำนวนมากที่เคยเป็นเหยื่อของ Augusto Pinochet คนที่เคยตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ รู้สึกยังไงกับคนที่เคยเข่นฆ่าพวกเขา รู้สึกยังไงกับ “ชาวบ้านที่เคยสนับสนุนเผด็จการที่เข่นฆ่าพวกเขา”

พอหนังเรื่องนี้โยงแอฟริกาใต้กับเยอรมันตะวันออกเข้าด้วยกัน เราก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า เราเคยดูหนังเรื่อง FORGIVENESS สองเรือง เรื่องนึงเป็นของแอฟริกาใต้ ส่วนอีกเรื่องนึงเป็นของเยอรมนีที่พูดถึงปัญหาการเมืองในเยอรมันตะวันออก และทั้งสองเรื่องก็ตั้งคำถามคล้ายๆกับหนังเรื่อง NELSON MANDELA: THE MYTH AND ME ด้วย นั่นก็คือการตั้งคำถามต่อการให้อภัยศัตรูทางการเมือง

FORGIVENESS ที่พูดถึงเยอรมันตะวันออกเป็นหนังปี 1994 ที่กำกับโดย Andreas Hontsch เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงสุดๆ

ส่วนอันนี้เป็น FORGIVENESS (2004, Ian Gabriel) ของแอฟริกาใต้

2.ส่วนใน “เชิงลึก” นั้น หนังเรื่องนี้ก็สัมภาษณ์คนหลายคนในแอฟริกาใต้ และทำให้เราได้รับรู้ว่า การต่อสู้กับการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้นั้น มันโหดร้ายมากเหมือนกัน

3.หนังเรื่องนี้สัมภาษณ์ Dalai Lama ด้วย แต่เราว่าส่วนของ Dalai Lama นั้น น่าสนใจน้อยที่สุด เพราะ Dalai Lama ก็พูดสนับสนุน “การให้อภัย” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ดี 55555 คือความคิดแบบนี้นั้น มันไม่ dilemma น่ะ มันก็เลยไม่น่าสนใจสำหรับเรา ทั้งๆที่มันเป็นสิ่งที่เรา “เห็นด้วย”

4.แต่คนที่พูดสนับสนุนการให้อภัย แล้วเรารู้สึกว่าน่าสนใจสุดๆ ก็คือชายชราผิวขาวที่เคยทำงานเป็นผู้พิพากษา แล้วถูกคนทำร้ายจนเขาแขนขาด ชายชราคนนี้ (น่าจะอายุราวๆ 60-70 ปี) พูดถึงช่วงเวลาที่เขาได้เผชิญหน้ากับคนที่ทำร้ายเขาจนเขาแขนขาด และดูเหมือนชายชราคนนี้จะให้อภัยคนร้ายได้

คือเราว่า ถ้าหากคนทั่วไปตามท้องถนน พูดว่า “การให้อภัยเป็นสิ่งที่ดี” เรารู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจน่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากเป็นคนแบบชายชราคนนี้ คนที่เคยถูกทำร้ายจนแขนขาด ต้องพิการไปตลอดทั้งชีวิต ออกมาเล่าเรื่องการให้อภัยคนร้าย เราว่าอะไรแบบนี้นี่แหละที่เราสนใจสุดๆ เพราะมันเป็นการแสดงภาวะทางจิตวิญญาณที่มันมหัศจรรย์มากๆสำหรับเรา

5.หนังเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่สามารถให้อภัยคนร้ายด้วย ทั้งคนชิลี และคนผิวดำในแอฟริกาใต้ที่ยังไม่สามารถทำใจให้อภัยคนผิวขาวที่เคยเข่นฆ่าครอบครัวของพวกเขาได้ เราชอบมากๆที่หนังเปิดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้ และเราก็เข้าใจพวกเขามากๆ เพราะในหลายๆครั้ง “สิ่งที่ดี” กับ “สิ่งที่เราทำได้ในชีวิตจริง” มันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คือเรารู้ว่า “การให้อภัย” เป็นสิ่งที่ดี แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะ “บรรลุถึงภาวะสมบูรณ์แบบทางจิต” แบบนั้นได้

เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เราไม่ควรพูดถึงแต่ hero พูดถึงแต่วีรบุรุษเพียงอย่างเดียว แต่เราควรพูดถึงมนุษย์ปุถุชนด้วย มนุษย์ปุถุชนที่รู้อยู่เต็มอกว่า “การให้อภัยเป็นสิ่งที่ดี” แต่ก็ไม่สามารถทำใจให้ไปถึงจุดนั้นได้

6.สิ่งที่ irony สุดๆคือสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงหนัง Alliance ขณะฉายหนังเรื่องนี้ เพราะขณะที่หนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็นเรื่องการให้อภัยนั้น คนดูในโรงหนังก็ตบตีกันอย่างรุนแรงสุดๆ คิดว่าเป็นการตบกันในโรงหนังที่หนักที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมาในชีวิตนี้เลยมั้ง

ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด คือมีคนดูคนไทยคนนึง ที่นั่งแถวเดียวกับเรา ตะโกนบอกให้ฝรั่ง (ซึ่งเป็นผู้ชายล่ำๆ หุ่นแบบวิน ดีเซล) ที่นั่งอยู่แถวข้างล่างถัดไป 2 แถว ให้ปิดมือถือ เพราะแสงมันแยงตาเขา ตอนที่หนังเพิ่มเริ่มฉาย แต่แทนที่ฝรั่งจะปิดมือถือแต่โดยดี ฝรั่งกลับอ้างว่า เขาไม่ได้ส่งเสียงดังอะไรสักหน่อย คนไทยก็เลยบอกว่า มันเป็นที่แสง ( ไม่ใช่ที่เสียง) แล้วฝรั่งก็ไม่พอใจ มีการด่าๆทอๆกันพักนึง

แล้วพอหนังจบ ฝรั่งคนนั้นก็เข้ามาหาเรื่องคนไทยที่หน้าโรงหนัง มีการด่าทอกันอย่างรุนแรงสุดๆส่วนเราหลบออกไปดูท่าทีอยู่นอกโรงหนัง  เหมือนเจ้าหน้าที่ Alliance จะพยายามมาห้ามทัพ แล้วหลังจากนั้นสองคนนี้ก็แยกย้ายกันไป

 เราแอบกะไว้ในใจว่า ถ้าหากเราเห็นคนไทยถูกทำร้ายร่างกาย เราจะเข้าไปช่วยเขา เพราะในกรณีนี้เราเข้าข้างฝ่ายคนไทยเต็มที่ เพราะเราเองก็เคยทำแบบเขาบ่อยครั้งมากๆ เพราะถ้าหากแสงมือถือจากคนในโรงหนังมาแยงตาเรา เราก็มักจะไปขอให้เขาปิด แล้วทุกคนก็ปิดแต่โดยดี ไม่มีใครมาเถียงข้างๆคูๆแบบนี้ ล่าสุดเราก็เพิ่งเจอแสงมือถือมาแยงตาเราตอนไปดู THE KINGMAKER ในวันที่ 12 ก.ค. เราก็ไปบอกให้เขาปิดมือถือ เขาก็ปิด ปัญหาทุกอย่างก็จบ

ตอนนี้เราก็ได้แต่หวังว่า เราจะไม่เจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้อีก

Sunday, July 19, 2020

DIGIMON

THE BRIDGE CURSE (2020, Lester Hsi, Taiwan, A+15)

J.C. Lin หล่อสุดๆ

DIGIMON ADVENTURE: LAST EVOLUTION KIZUNA (2020, Tomohisa Taguchi, Japan, animation, A+30)

ไม่เคยดู DIGIMON มาก่อนเลย แต่ดูเรื่องนี้แล้วร้องห่มร้องไห้ เหมือนหนังเรื่องนี้มันพูดถึงปมบางอย่างในใจเรา

อยากอุ้มลูกหมีไปดูหนังเรื่องนี้มากๆ 555

ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็สงสัยว่า การที่เราซึ่งมีอายุ 47 ปีแล้วยังเล่นตุ๊กตาหมีอยู่ ถือเป็น "ความสามารถพิเศษ" ที่หลายคนไม่มีหรือเปล่า 555

RIP Haruma Miura ชอบเขามากๆจาก A BANANA? AT THIS TIME OF NIGHT? (2018, Tetsu Maeda) กับ SUNNY: OUR HEARTS BEAT TOGETHER (2018, Hitoshi One)

Thursday, July 16, 2020

BLOOD QUANTUM (2019, Jeff Barnaby, Canada, A+30)


BLOOD QUANTUM (2019, Jeff Barnaby, Canada, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ประเด็นเรื่องอินเดียนแดงน่าสนใจมากๆ อย่างที่หลายคนเขียนถึงไปแล้ว

2.หนังเรื่องนี้เป็นหนังซอมบี้เรื่องแรกที่เราได้ดูหลังจากเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนา เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พอดูหนังเรื่องนี้เสร็จแล้วก็ดันเกิดสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดระลอกสองของไวรัสโคโรนาขึ้นอีก

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า จริงๆแล้วหนังซอมบี้หลายเรื่องเหมือนช่วยให้เราเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับการระบาดรอบสอง 55555 เพราะใน BLOOD QUANTUM และหนังซอมบี้หลายๆเรื่องนั้น ตัวละครจะไปอยู่ใน “สถานที่ที่ดูเหมือนปลอดภัย “ เป็นเวลาระยะนึงในช่วงกลางเรื่อง ก่อนจะพบว่า “สถานที่ที่ดูเหมือนปลอดภัย” นั้นไม่ได้ปลอดภัยจริง และสถานที่นั้นต้องรับมือกับการบุกของซอมบี้ในเวลาต่อมา ตัวอย่างเช่น

2.1 ใน BLOOD QUANTUM ตัวละครก็สร้างเขตปลอดภัยขึ้นมา ก่อนจะพบว่ามันไม่ปลอดภัย

2.2 ใน I AM A HERO (2015, Shinsuke Kato) ตัวละครก็ไปหลบกันอยู่บนดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งนึง อยู่กันอย่างปลอดภัยระยะนึง ก่อนที่จะโดนซอมบี้กระโดดสูงขึ้นมา

2.3 ใน ZOMBIELAND: DOUBLE TAP (2019, Ruben Fleischer) ตัวละครก็เจอกับ BABYLON ซึ่งเป็นแหล่งปลอดภัยจากซอมบี้ ก่อนที่จะโดนฝูงซอมบี้บุก

2.4 ใน LAND OF THE DEAD (2005, George A. Romero) ตัวละครกลุ่มนึงก็อาศัยอยู่ใน “เมืองปลอดภัย” ก่อนจะโดนซอมบี้บุก

2.5 ใน WORLD WAR Z (2013, Marc Forster) ตัวละครในเมืองนึงในอิสราเอลก็อยู่กันอย่างปลอดภัย ก่อนที่จะโดนซอมบี้บุกในเวลาต่อมา

สรุปว่าเหตุการณ์ SECOND WAVE ในโลกแห่งความเป็นจริงช่วงนี้ ทำให้นึกถึง “ช่วงกลางเรื่อง” ของหนังซอมบี้เหล่านี้มากๆ

3.แต่ดู BLOOD QUANTUM แล้วมีข้อสงสัยบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเราดูไม่ทันในบางจุด เราก็เลยขอถามเพื่อนๆที่ดูแล้วว่า

3.1 แม่ของ Lysol เป็นอะไรตาย คือเหมือนตัวละครหลายๆตัวชอบพูดถึงแม่ของ Lysol ในทำนองที่ว่า การตายของแม่เขามัน tragic มากๆ และนั่นก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุส่วนนึงที่ทำให้เขากลายเป็น “เด็กขบถ” แบบนี้ เราก็เลยสงสัยว่าแม่ของเขาเป็นอะไรตาย

3.2 ตัวละคร Shooker (อินเดียนแดงที่มีเมียผิวขาว) หายไปไหนในช่วงท้ายเรื่อง คือถ้าหากเราดูไม่ผิด Shooker เป็นคนที่เอาเรือมารับตัวละครต่างๆในช่วงท้ายเรื่องน่ะ แล้วตัวละครสำคัญ 3 ตัวก็ขึ้นเรือไป ส่วนคุณปู่ตัดสินใจอยู่เฝ้าแผ่นดินเกิด เราก็นึกว่า Shooker ขึ้นเรือไปกับตัวละครตัวอื่นๆด้วย แต่ไปๆมาๆทำไมบนเรือเหลือตัวละครแค่ 3 คน ไม่มี Shooker อยู่ด้วย

SUPERMARKET (1974, Roland Klick, West Germany, A+30)

ชอบที่หนังทำให้เราไม่รู้ว่าจะรู้สึกยังไงกับตัวละครพระเอกดี คือมันไม่ใช่ตัวละครที่ likeable หรือน่าเอาใจช่วยแน่ๆ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวละครที่เหี้ยมากๆ หรือเป็นสัตว์นรกโดยกมลสันดานแบบในหนัง feel bad เราก็เลยรู้สึกว่า Roland Klick เก่งมากในการสร้างตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องสูงมากๆ มากยิ่งกว่าตัวละครพระเอกแบบใน BAD LIEUTENANT: PORT OF CALL – NEW ORLEANS (2009, Werner Herzog) อีก

ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกก้ำกึ่งกับตัวละครพระเอกตลอดเวลา เพราะพระเอกเป็นคนที่ “ไม่เอาถ่าน” หรือ “ไม่รักดี” อย่างรุนแรง เหมือนคนต่างๆพยายามจะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้พระเอก แต่พระเอกก็ไม่เอา และถลำลึกเข้าสู่เส้นทางชีวิตที่ผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หนังก็ไม่ได้มองพระเอกด้วยสายตาเยาะหยันหรือกล่าวโทษ แต่เหมือนหนังพยายามจะโอบรับความบกพร่องของมนุษย์เอาไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งน่าจะคล้ายๆสายตาแบบใน BAD LIEUTENANT: PORT OF CALL – NEW ORLEANS

หนังมีตัวละครเกย์ด้วยนะ เพราะพระเอกพยายามจะหาเลี้ยงตัวเองด้วยการขายตัวอยู่พักนึง

Wednesday, July 15, 2020

BLACKKKLANSMAN (2018, Spike Lee, A+30)


LUDWIG (1964, Roland Klick, West Germany, 15min, A+30)

หนังแนว slice of life ที่งดงาม หนังถ่ายทอดชีวิตของ Ludwig (Otto Sander) หนุ่มคนงานก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายคนปัญญาอ่อน เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทเล็กๆแห่งหนึ่ง หนังเหมือนถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันของเขาในวันนึงตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำมืดดึกดื่น

BLACKKKLANSMAN (2018, Spike Lee, A+30)

1.ดูแล้วนึกถึง SEASON OF THE DEVIL (2018, Lav Diaz, Philippines) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องต่างก็นำเสนอเหตุการณ์ในอดีตเพื่อส่องสะท้อนถึงปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันเหมือนกัน โดย SEASON OF THE DEVIL เล่าเรื่องราวเลวร้ายที่เหมือนเกิดขึ้นในยุค Marcos แต่จริงๆแล้วหนังต้องการสะท้อนความเลวร้ายในยุคของ Duterte ส่วน BLACKKKLANSMAN เหมือนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 แต่จริงๆแล้วหนังคงต้องการจะสะท้อนปัญหาการเหยียดผิวในยุค Donald Trump และหนังที่พูดถึงอดีตเพื่อส่องสะท้อนปัจจุบันเรื่องนี้ ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ “ทำนายอนาคต” ไปด้วย เพราะตอนที่หนังเรื่องนี้เริ่มออกฉายในปี 2018 ปัญหาการเหยียดผิวก็คงจะรุนแรงในระดับนึง แต่มันกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงต่อมาจนมาทะลักจุดแตกเอาในปีนี้ หนังที่สร้างขึ้นในปี 2018 เรื่องนี้ก็เลยเหมือนกลายเป็นหนึ่งในหนังสำคัญเรื่องนึงที่ต้องดูสำหรับปี 2020

2.ชอบการตัดสลับระหว่างการเล่าเรื่องของคนดำกับ KKK มากๆ เพราะในขณะที่สมาชิกกลุ่ม KKK ดูหนังเรื่อง THE BIRTH OF A NATION (1915, D. W. Griffith) กลุ่มคนดำในห้องประชุมอีกแห่งหนึ่งก็รับฟังเรื่องราวของชายหนุ่มผิวดำที่ถูกกลุ่มคนผิวขาวรุมสังหารโหดเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหนังเรื่อง THE BIRTH OF A NATION เรารู้สึกว่าการตัดต่อสองเหตุการณ์นี้เข้าด้วยกันในหนังเรื่องนี้มันทรงพลังมากๆ

3.แต่พอเทียบ SEASON OF THE DEVIL กับ BLACKKKLANSMAN แล้ว เราก็พบว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างนึงที่น่าสนใจดี เพราะ BLACKKKLANSMAN จะมีลักษณะคล้ายกับหนังฮอลลีวู้ดโดยทั่วไปในแง่ที่ว่า เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในหนังมันสอดคล้องกับ “กฎแห่งกรรม” โดยที่ผู้สร้างหนังไม่ได้ตั้งใจ 55555 (เพราะผู้สร้างหนังคงไม่ได้นับถือพุทธ) คือเหมือนกับว่า โลกในหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงโลกของ BLACKKKLANSMAN ด้วยนั้น มันสอดคล้องกับความเชื่อแบบ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” น่ะ

แต่ SEASON OF THE DEVIL และหนังหลายๆเรื่องของ Lav Diaz เหมือนจะสวนทางกับอะไรข้างต้น มันเหมือนกับว่าจักรวาลในหนังของ Lav Diaz ไม่มีพื้นที่ให้กฎแห่งกรรม และไม่มีพื้นที่ให้กับ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

และพอเราได้ดู THE KINGMAKER (2019, Lauren Greenfield) เราก็เหมือนจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมจักรวาลในหนังของ Lav Diaz ถึงออกมาเป็นแบบนั้น

THE KINGMAKER (2019, Lauren Greenfield, Denmark/USA, documentary, A+30)

1.ก่อนหน้านี้เราเคยดู IMELDA (2003, Ramona S. Diaz, documentary) ตอนที่มันมาฉายใน Bangkok International Film Festival ในปี 2005 เราจำได้ว่าหนังเรื่อง IMELDA ทำให้อิเมลดาดูเป็นตัวตลกมากๆ โดยที่ผู้สร้างหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เพราะมันมีฉากนึงที่อิเมลดาวาดรูปแผนภูมิทางความคิดของเธออะไรสักอย่าง แล้วมันตลกมากๆ ผู้ชมหัวเราะกันชิบหายวายป่วงทั้งโรงหนัง นึกว่าอิเมลดาแสดงความวิกลจริตออกมาโดยที่ตัวเธอเองไม่รู้ตัว

ตอนที่เราดู IMELDA เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า อิเมลดาเป็นเหมือนกับคนสติไม่ดีคนนึง และคงไม่น่าจะมีพิษมีภัยอะไรมากนักแล้ว

2.แต่ THE KINGMAKER เปลี่ยนความคิดของเราไปอย่างสิ้นเชิง หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าอิเมลดาคือสัตว์นรกของจริง

3.ไม่นึกมาก่อนว่าสถานการณ์ในฟิลิปปินส์มันจะเลวร้ายขนาดนี้

4.สิ่งที่เสียดายที่สุดก็คือว่า ตระกูล Marcos กับ Duterte มันอยู่ฝ่ายเดียวกัน คือถ้ามันตบกันเอง เราคงจะพอมีความหวังได้บ้าง

คือนึกถึงช่วงสงครามเย็นน่ะ เรารู้สึกว่าสาเหตุสำคัญอันนึงที่อเมริกามันชนะสงครามเย็นได้ มันเป็นเพราะว่าโซเวียตกับจีนมันเป็นศัตรูกัน  คือถ้าโซเวียตกับจีนมันเป็นมิตรกัน อเมริกาก็คงชนะสงครามเย็นไม่ได้ง่ายนัก

แล้วนี่ Duterte กับตระกูล Marcos ผนึกกำลังกันขนาดนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าสถานการณ์ในฟิลิปปินส์มันดูสิ้นหวังมากๆ

Tuesday, July 14, 2020

QUIXOTE (1965, Bruce Baillie, 45min, A+30)


QUIXOTE (1965, Bruce Baillie, 45min, A+30)

ไม่ทราบชีวิตอะไรอีกต่อไป เหมือนเป็นการร้อยเรียงหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกันอย่างงดงาม โดยเราไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง

Monday, July 13, 2020

LAST YEAR AT DACHAU


SERGEI/ SIR GAY (2016, Mark Rappaport, documentary, A+30)

1.เรารู้มานานแล้วว่า Sergei Eisenstein เป็นเกย์ แต่เพิ่งมารู้จากหนังเรื่องนี้แหละว่า ในฉากสำคัญฉากนึงของ THE BATTLESHIP POTEMKIN นั้น นักแสดงชายสองคนที่ต่อสู้กันอย่างยาวนานบนเรือเป็นผัวเก่ากับผัวใหม่ของ Eisenstein 55555

จริงๆแล้วทั้งสองไม่ใช่ผัวเก่ากับผัวใหม่ซะทีเดียว แต่เป็นชายหนุ่มสองคนที่ Eisenstein เลยหลงรัก หนังเรื่อง SERGEI/SIR GAY ก็เลยจินตนาการว่า ในฉากสำคัญของ THE BATTLESHIP POTEMKIN นั้น ผู้ชมอาจจะนึกว่า ชายหนุ่มสองคนนี้ต่อสู้กันเพื่อความยุติธรรมและเพื่อความสุขของประชาชน แต่จริงๆแล้ว Eisenstein อาจจะสร้างฉากนี้ขึ้นมาเพือตอบสนองแฟนตาซีของตัวเองว่า ชายหนุ่มสองคนนี้กำลังต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความรักจากไอเซนสไตน์

2.เพิ่งรู้ว่า Helmut Berger เป็นผัวของ Luchino Visconti ตายแล้ววววว เสียดายที่เราเหมือนไม่เคยดูหนังของ Visconti ที่นำแสดงโดย Helmut Berger มาก่อนเลย

TATI VS. BRESSON: THE GAG (2016, Mark Rappaport, documentary, A+30)

งดงามมาก หนังจับสังเกตการใช้ sound และ image ในหนังหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะในหนังของ Jacques Tati และ  Robert Bresson และข้ามไปวิเคราะห์บางฉากใน M (Fritz Lang), THE SHOP AROUND THE CORNER (1940, Ernst Lubitsch) และ THE BIG COMBO (1955, Joseph H. Lewis) ด้วย

LAST YEAR AT DACHAU (2020, Mark Rappaport, documentary, A+30)

1.เพิ่งรู้ว่า “โหนกแก้ม” ของนักแสดงมันสำคัญขนาดนี้ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ในการสร้างหนังเกี่ยวกับ Holocaust และ concentration camp นั้น ปัญหาสำคัญก็คือว่า คนในค่ายกักกันจริงๆมันผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก มันซูบซีด ซูบเซียวมากๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดๆที่จะหานักแสดง โดยเฉพาะดาราดังๆที่หล่อๆสวยๆ มาทำให้ดูเหมือนนักโทษในค่ายกักกันจริงๆได้

เพราะฉะนั้นทางออกนึงก็คือ ต้องเลือกนักแสดงที่มี “โหนกแก้ม” เด่นชัด เพราะการมีโหนกแก้มเด่นชัดมันช่วยหลอกตาให้ดูเหมือนคนผอมได้ ดังนั้นนี่ก็เลยเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ Charlotte Rampling ได้แสดงใน THE NIGHT PORTER (1974, Liliana Cavani) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Hanna Schygulla ไม่ได้เล่นใน SOPHIE’S CHOICE (1982, Alan J. Pakula) เพราะตอนแรกทางผู้สร้างอยากให้ Schygulla มารับบทนางเอกในหนังเรื่องนี้ แต่ Schygulla หน้าแป้นแล้น กลมมาก บทก็เลยตกเป็นของ Meryl Streep ที่มีความได้เปรียบทางโหนกแก้มแทน

2.เพิ่งรู้ว่าผู้สร้างหนัง ZENTROPA (1991, Lars von Trier) แก้ปัญหาเรื่องความยากลำบากในการหานักแสดงที่เหมือนคนในค่ายกักกัน ด้วยการเอาผู้ป่วยโรคเอดส์มารับบทเป็นคนที้เคยอยู่ในค่ายกักกัน

3.เพิ่งรู้ว่า Delphine Seyrig ตัดสินใจเล่นหนังอาร์ตของผู้กำกับหญิงบางเรื่อง เพราะเธอเป็นดาราดัง และการได้เธอมาเล่น จะช่วยให้ผู้กำกับหญิงเหล่านั้น  (Marguerite Duras, Chantal Akerman, Ulrike Ottinger) ระดมทุนมาสร้างหนังได้ง่ายยิ่งขึ้น

4.ชอบหนังหลายๆเรื่องของ Mark Rappaport อย่างสุดๆตรงที่ว่า มันเต็มไปด้วย imaginary films น่ะ อย่างใน LAST YEAR AT DACHAU นี้ หนังก็พูดถึงความจริงที่ว่า หนังเรื่อง LAST YEAR AT MARIENBAD (Alain Resnais) กับ PATHS OF GLORY (Stanly Kubrick) มันถ่ายที่ปราสาทเดียวกัน เพราะฉะนั้น Mark Rappaport ก็เลยสร้าง imaginary films ขึ้นมา ด้วยการผสม LAST  YEART AT MARIENBAD กับ PATHS OF GLORY เข้าด้วยกัน

5.พอดูหนังหลายๆเรื่องของ Mark Rappaport แล้วเราก็เลยอยากสร้างหนังบ้าง 5555 หนึ่งในหนังที่เราอยากให้มีคนสร้างมากๆก็คือ หนัง imaginary films + found footage ที่ผสมคลิปจากหนังเรื่องต่างๆของ Delphine Seyrig กับ Tilda Swinton เข้าด้วยกัน ทำให้เหมือนกับว่าดาราหญิงทั้งสองคนนี้ปะทะเชือดเฉือนกันในหนังเรื่องเดียวกัน ทั้งๆที่จริงๆแล้วทั้งสองไม่เคยปะทะกันแต่อย่างใด

TO PARSIFAL (1963, Bruce Baillie, 16min, A+30)