Saturday, December 31, 2022

THE IMAGE BOOK

 THE IMAGE BOOK (2018, Jean-Luc Godard, Switzerland/France, 88min, A+30)


1.ชอบที่ภาพในหนังเรื่องนี้มันเหมือนมีความเปิดกว้างในระดับนึงสำหรับเรา คือพอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็จะนึกถึงพวกหนังทดลองและ video installations หลายชิ้นในยุคปัจจุบันที่ใช้วิธีเรียงร้อยซีนต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน แล้ว "ครอบ" ความหมายของซีนต่าง ๆ ในหนัง/วิดีโอนั้นไว้ด้วยประเด็นทางสังคม/การเมืองหลัก ๆ ของหนังเรื่องนั้น

คือเหมือนวิดีโอหลายชิ้นที่ออกมาในทำนองนี้ ถ้าหากเราไม่เข้าใจประเด็นหลักของมัน เราจะรู้สึกว่า เราไม่ค่อยได้รับความเพลิดเพลินอะไรมากนักจากการดูซีนต่าง ๆ ในวิดีโอนั้นน่ะ เหมือนซีนต่าง ๆ ในวิดีโอนั้นขาดพลังชีวิตบางอย่างในตัวมันเอง เหมือนมันเป็นเซลล์ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานด้วยตัวเอง ถ้ามันหลุดออกมาจากสิ่งมีชีวิตที่ cell นั้นเป็นส่วนประกอบอยู่

แล้วมันก็มีหนังในขั้วตรงข้าม ที่เหมือนแต่ละซีนในหนังมีพลังชีวิตสดใหม่ในตัวของมันเองอย่างเต็มที่ เหมือน message หรือประเด็นหลักของหนังไม่ได้ไป "ครอบ" มัน หรือไปดูดซับพลังของมันออกไปจนหมด แบบหนังของ Peter Tscherkassky, TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner), PHENOMENON (Teeranit Siangsanoh), VIDEO 50 (1978, Robert Wilson), TOUT UNE NUIT (1982, Chantal Akerman, Belgium), THE CANYON (2021, Zachary Epcar), etc. คือเหมือนแต่ละซีนในหนังกลุ่มนี้เป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ถ้ามันรวมพลังกัน ถ้าหากแต่ละซีนมันถูกนำมาเรียงร้อยตัดต่อเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม มันจะก่อให้เกิดพลังในแบบที่สามารถทำให้คนป่วยตายได้ 555

คือเหมือนหนังกลุ่มแรกนี่ส่วนใหญ่เราต้องดูแบบ วิปัสสนากรรมมฐาน ใช้สมองส่วน  intellect คิดวิเคราะห์ในการดู แต่หนังกลุ่มที่สองนี่เราเหมือนดูแบบปล่อยตัวปล่อยใจอย่างเต็มที่  ปล่อยให้อารมณ์มันเพริดไปตามหนัง และให้หนังมันเข้าถึงจิตใต้สำนึกของเรา

แล้วพอเราดู THE IMAGE BOOK เราก็รู้สึกว่า มันเป็นหนังที่อยู่ระหว่าง 2 กลุ่มนี้น่ะ คือเหมือนในหนังของ Godard มันก็มักจะมีประเด็นปรัชญา, การเมือง อะไรต่าง ๆ อยู่แล้วล่ะ ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เราเข้าใจนิดหน่อย (อย่างเช่นประเด็นเรื่องตะวันออกกลาง) และส่วนที่เราไม่เข้าใจ

แต่สิ่งที่เราชอบมาก ๆ ก็คือว่า ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจ เราก็รู้สึกว่า ซีนต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้มันค่อนข้างจะมีพลังในตัวของมันเอง ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจว่าตัวซีนนั้นนั้นมีความหมายอย่างไรในหนังเรื่องนี้น่ะ คือเหมือนประเด็นของหนัง หรือความหมายของซีนนั้นในแบบที่  Godard ตั้งใจ ไม่ได้ไปดูดพลังชีวิตของซีนนั้นจนหมด หรือไม่ได้ไปครอบมันจนขาดอากาศหายใจน่ะ

2.เห็นด้วยกับเพื่อนบางคนมาก ๆ ที่ดูแล้วรู้สึกราวกับว่า แต่ละซีนในหนังเรื่องนี้ คือ "หนึ่งตัวอักษร" ในภาษาใหม่ที่ Godard ประดิษฐ์ขึ้นน่ะ ซึ่งเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจ แต่การสร้างภาษาใหม่ โดยใช้หนึ่งซีนหนัง แทนหนึ่งตัวอักษร เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก ๆ

ดูแล้วก็จะนึกถึงหนังที่เล่นกับการสร้างภาษาหรือความหมายใหม่เหมือนกัน อย่างเช่น ASSOCIATIONS (1975, John Smith, UK) และ SCHIZOPOLIS (1996, Steven Soderbergh) แต่ถึงแม้หนังทั้งสองเรื่องนี้จะเล่นกับการสร้างภาษาใหม่ แต่พอดูไปเรื่อย ๆ เราก็จะเข้าใจภาษาใหม่ในหนังอยู่ดี ซึ่งตรงข้ามกับ THE IMAGE BOOK ที่อาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์แบบนั้น

3. ดูแล้วรู้สึกเหมือนท่องเข้าไปในความฝันในหัวของคนอื่นด้วย ความฝันที่เต็มไปด้วยฉากที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลของเจ้าของความฝันที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและประเด็นอื่น ๆ 555

4.ชอบ "ความเลอะของสี" ในหนังเรื่องนี้มาก ๆ

‐----
ชอบ THE LOST KING มาก ๆ เราว่าเหมาะฉายควบกับหนังไทยเรื่อง GUEST (2022, Panisara Kaewprimpra, Pajaree Saenbua, Paphavee Tingpalpong) เพราะ GUEST มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่พยายามตามหา "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดระยอง" โดยเธอได้รับความช่วยเหลือจากผี คล้าย ๆ กับ THE LOST KING
------
เห็นชื่อผู้กำกับภาพยนตร์บนโปสเตอร์นี้แล้วกรีดร้องสุดเสียง เพราะมีแต่ผู้กำกับที่เราชอบมาก ๆ ทั้งนั้นเลย ทั้ง Jutta Bruckner (THE HUNGER YEARS: IN A LAND OF PLENTY), Michael Verhoeven (THE NASTY GIRL), Istvan Szabo (FATHER), Helke Sander (THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS), Edgar Reitz (ZERO HOUR), Rosa von Praunheim (A VIRUS KNOWS NO MORALS) และ Doris Dörrie (STRAIGHT THROUGH THE HEART)
---
เช้าวันศุกร์ลูกหมีบอกกับแม่หมีว่า "โอก้าซังจะไปเที่ยวงาน NIGHT@MAYA CITY หลังดูหนัง Godard เหรอ โอก้าซังซื้อของมาฝากลูกหมีด้วยนะ"  เราก็เลยซื้อของมาฝากลูกหมีเป็นกล่องเหล็กสำหรับให้ลูกหมีใส่รูปผัว 7 คน แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่า คนทึ่ 1 กับ 6 คือใคร มีใครตอบได้บ้าง ส่วนคนที่ 2 น่าจะเป็นไบรท์ วชิรวิชญ์,คนที่ 3 ไม่แน่ใจว่าเป็น Mashiho จากวง Treasure หรือเปล่า, คนที่ 4 คือ Kim Doyoung จาก NCT, คนที่ 5 คือ Na Jaemin จาก NCT ส่วนคนที่ 7 คือ Xiao Zhan ถ้าเข้าใจไม่ผิด (จริง ๆ คือเราเดินในงานแล้วเห็นร้านนึงมีรูปผู้ชายขาย เราก็เลยซื้อมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร 555)

SANDOW (1896, Wiiliam K.L. Dickson, 1min, A+30)

เพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ทางกล้อง Kinetoscope ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา กรีดร้องสุดเสียง หนังที่มีอายุ 126 ปีเรื่องนี้บันทึกภาพชายหนุ่มรูปร่างล่ำบึ้กใส่กางเกงในตัวเดียวยืนอวดมัดกล้ามของตัวเองไปเรื่อย ๆ ตายแล้วววววววววววววววว สื่อภาพยนตร์มันมีอะไรแบบนี้มานาน 126 ปีแล้วหรือเนี่ยย งดงามที่สุด ถือเป็นหนึ่งในหนังยุคแรก ๆ ที่มีความสำคัญต่อดิฉันมากเท่า ๆ กับ WORKERS LEAVING THE LUMIERE FACTORY (1895, Louis Lumiere), THE ARRIVAL OF A TRAIN (1896, Louis Lumiere, Auguste Lumiere), A TRIP TO THE MOON (1902, Georges Melies), หนังของ Eadweard Muybridge, หนังของ Gabriel Veyre และหนังของสองพี่น้อง Skladanowsky เลยค่ะ 55555 เพราะหนังเรื่องนี้มันเลือกที่จะบันทึกในสิ่งที่ดิฉันเองก็คงเลือกที่จะบันทึกเป็นอย่างแรก ถ้าหากดิฉันมีชีวิตอยู่เมื่อ 126 ปีก่อน

DESK CALENDAR (2022, Weera Rukbankerd, 17min, A+30)

ดีใจที่ตัวละครเก่า ๆ ยังคงโผล่หน้ามากันหลายตัว ทั้ง "โต๊ะปิงปอง" ที่มาแบบ offscreen, กระจกสองบาน, ไข่ไก่, กระทะ, etc. แต่ตัวละครสำคัญในภาคนี้ก็คือปฏิทินตั้งโต๊ะและผนังตู้

ดูแล้วนึกว่าหนักกว่า CALENDAR (1993, Atom Egoyan, Canada/Armenia) 555

---
ดีใจที่ได้ดูหนังไทยที่พูดถึง Godard ก่อนดูหนังของ Godard 5555

ภาพจาก "ภาพยนตร์ศิลปะ": "เนื้อหา" และ "รูปแบบ" (การนำเสนอ) ("ART FILM": "CONTENT" AND "FORM") (2022, Bunnawit Boonsomparn, 54min, documentary, A+30)
---

ชอบ Fedya van Huet มาก ๆ สมัยที่เขาเล่น CHARACTER (1997, Mike van Diem), AMNESIA (2001, Martin Koolhoven) และ THE CAVE (2001, Martin Koolhoven) ดีใจที่เขายังมีบทดีๆ ให้เล่นอยู่จนถึงปัจจุบัน
----
FAIRYTALE (2022, Alexander Sokurov, Russia, A+30)

1.เหมือนเป็นหนังที่พอเรา "จูนติด" กับมันแล้ว เราก็เปี่ยมสุขกับมันอย่างสุด ๆ ไปเลย 55555

2.ช่วงแรก ๆ เราก็จูนไม่ติดกับหนังเรื่องนี้นะ เหมือนเราพยายามดูหนังเรื่องนี้ด้วยการวิเคราะห์คำพูดของตัวละครต่าง ๆ ในหนังน่ะ แล้วเราก็รู้สึกเหมือนเจอกับทางตัน มันไม่นำพาไปสู่อะไร 555

เราก็เลยเปลี่ยนคลื่นในการดูด้วยการหรี่สมองส่วนวิเคราะห์ต่าง ๆ ลงเกือบหมด (หรือดับความเป็น intellectualใด ๆ ในหัวเราลงเกือบหมด) แล้วดูหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกเหมือนไปแหวกว่าย, เกลือกกลั้ว หรือดื่มด่ำกับโลกของหนังแทน แล้วเราก็พบว่าหนังมันสร้างโลกที่เหมาะกับดวงจิตของเรามาก ๆ ซึ่งก็อาจจะไม่เหมาะกับดวงจิตของผู้ชมท่านอื่น ๆ มันเหมือนเป็นสภาพจิตแบบ "นรก" บางอย่างน่ะ แต่แทนที่มันจะรังสรรค์ภาพนรกตามหลักศาสนาแบบ "พระมาลัยคำหลวง" หรือ THE DIVINE COMEDY (1321, Dante Alighieri) มันกลับรังสรรค์ภาพของมิติทางจิตบางอย่างที่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา

คือเหมือนกับว่าตอนแรกเราดูหนังเรื่องนี้โดยใช้สมองส่วนเดียวกับที่ดูหนังของ Jean-Luc Godard น่ะ แล้วก็พบว่ามันไม่ทำให้เรามีความสุขกับการดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยเปลี่ยนไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยการจูนคลื่นในหัวของเราให้คล้าย ๆ กับตอนที่ดู JOURNEY TO THE WEST (2014, Tsai Ming-liang, France/Taiwan) แทน แล้วก็พบว่าเราดื่มด่ำกับหนังอย่างรุนแรงมาก เพียงแต่ว่า JOURNEY TO THE WEST มันจะเป็นดวงจิตแบบสวรรค์ ส่วน  FAIRYTALE มันจะเป็นดวงจิตแบบนรก

หรือจะพูดสั้น ๆ ก็ได้ว่า ตอนแรกเราดู FAIRYTALE ด้วยสมองแบบ "วิปัสสนากรรมฐาน"  แล้วมันไม่เข้ากับหนัง เราก็เลยเปลี่ยนไปดูด้วยดวงจิตแบบ "สมถะกรรมฐาน" แทน แล้วก็พบว่ามันเข้ากับหนังอย่างรุนแรงสุดขีดมาก ๆ 555

เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่มีปัญหากับความยาวของหนังเรื่องนี้

3.หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เราดูแล้วชอบที่มันเหมือนกับสร้างมิติพิศวงที่ unique ดีสำหรับเราน่ะ ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจที่มาที่ไปของมิติพิศวงนี้นะ แต่ดูแล้วเรารู้สึกราวกับว่า ตัวละครในหนังไม่เชิงเป็น "ดวงวิญญาณ" ของ Hitler, Mussolini, Stalin และ Churchill ซะทีเดียว แต่มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งที่บุคคลเหล่านี้เคยคิดและเคยพูด ได้กลายเป็นคลื่นที่ไม่สูญสลายหายไป ยังคงลอยวนเวียนในโลกนี้อยู่ หรือถ้าหากมองในอีกมิตินึงที่ซ้อนทับกับโลกนี้ ความคิดและคำพูดของพวกเขาก็เหมือนก่อตัวขึ้นเป็นรูปกายของพวกเขา และปะทะสังสันทน์กันไปมา เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้มันก็เลยมี Hitler หลายตัว มี Churchill หลายตัว

ซึ่งไอเดียจริง ๆ ของหนังเรื่องนี้มันคงไม่ได้เป็นแบบนี้หรอกนะ เพียงแต่ว่าเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็จินตนาการต่อไปเองว่า อยากให้มีคนสร้างหนังที่นำเสนอมิติแบบที่ว่าน่ะ มิติที่ "ความคิด" และ "คำพูด" ของคน เมื่อผุดเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ได้สูญสลายหายไป แต่ยังคงตกค้างอยู่ในบางมิติในฐานะของคลื่นความคิด, คลื่นเสียง หรือรูปกายบางอย่าง

4.อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ เป็นการส่วนตัว เป็นเพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกไปเองว่า "ดวงจิตแบบนรก" อย่างหนึ่ง คือ "ความอยากมีอำนาจควบคุมฝูงชน" น่ะ โดยเฉพาะ Hitler และ Stalin ที่ดูเหมือนจะมีความสุขเหลือเกินเมื่อเห็นคลื่นมวลมหาประชาชนมาแซ่ซ้องสรรเสริญเทิดทูนบูชาพวกเขา

ซึ่งมันตรงข้ามกับเราที่เป็นโรคเกลียดมนุษย์ เราก็เลยชอบใจที่หนังนำเสนอ "คนที่อยากเป็นที่รักของมวลมหาประชาชน" ในทางลบแบบนี้ 555

ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราว่าสามารถดัดแปลงหนังเรื่องนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวละครให้เป็น Donald Trump, Vladimir Putin และ Xi Jinping ได้สบายเลย

5.อีกปัจจัยนึงที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละ "เทพนิยาย"  ในโลกแห่งความเป็นจริง "เทพนิยาย" ที่โหดร้ายกว่าเทพนิยายกริมม์, นิทานสำหรับเด็ก หรือ HARRY POTTER เพราะเทพนิยายในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มี "เทพ" แต่มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยพ่อมดที่ชั่วร้าย พ่อมดที่สามารถสะกดคนจำนวนมาก สามารถหลอกคนหลายสิบล้านคนให้หลงเชื่อเขา หลงเชื่อว่าเขาเป็นคนดี เป็นคนที่ทำเพื่อประเทศชาติ ไอ้พวกนั้นเป็นศัตรูที่สมควรจะถูกลิดรอนสิทธิ หรืออยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเรา เชื้อชาติเราดีเลิศประเสริฐที่สุด, etc.

ความคิด คำพูด และการกระทำของพ่อมดเหล่านี้ สามารถสะกดคนหลายสิบล้านคนให้หลงเชื่อได้อย่างไร สามารถนำไปสู่ HOLOCAUST และการที่คนอดตายจำนวนมากในยุคสตาลินได้อย่างไร, etc. ทำไมคนหลายสิบล้านคนถึงได้มีทั้งดวงตาและดวงจิตที่มืดบอดได้ถึงขนาดนั้น เรื่องเหล่านี้คงไม่ได้เกิดจากไสยาศาสตร์ แต่มันก็เหมือนกับว่า มนุษย์ในโลกนี้พร้อมจะปล่อยให้ตัวเองถูกครอบงำด้วยอะไรที่แทบจะไร้เหตุผลไม่ต่างจากไสยาศาสตร์

และการใช้อำนาจครอบงำ สะกดฝูงชนจำนวนมากให้หลงเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา ราวกับว่าผู้นำประเทศคนนั้นเป็นพ่อมดผู้วิเศษ ผู้มีอำนาจทำให้ดวงตาประชาชนมืดบอดแบบนี้ ก็คงจะไม่ได้มีแค่ในช่วง WORLD WAR 2 หรือแค่ในยุโรปเท่านั้น เพราะเราก็คิดว่าแม้แต่ผู้นำเขมรแดง หรือ Trump ก็อาจจะเป็นแบบนี้ด้วยเช่นกัน

----

เราชอบ ALI: FEAR EATS THE SOUL มาก ๆ ๆ นะ แต่ขอบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้ว่า ในช่วงราว ๆ ปี 1997 ได้มั้ง ทางสถาบันเกอเธ่ ซอยสาทร 1 เคยประกาศว่าจะจัดฉายหนังเรื่อง ALI: FEAR EATS THE SOUL แต่เหมือนทางเมืองนอกส่งหนังมาผิด (หนังสมัยนั้นฉายด้วยฟิล์ม 16 มม.) กลายเป็นว่าทางเมืองนอกส่งหนังเรื่อง CALM PREVAILS OVER THE COUNTRY (1976, Peter Lilienthal) มาแทน เราก็เลยได้ดูหนังเรื่องนั้นแทน ก็เลยกลายเป็นโชคดีอย่างหาที่สุดมิได้ของเราไป เพราะเราชอบ CALM PREVAILS OVER THE COUNTRY อย่างรุนแรงมาก ๆ (หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเผด็จการในอเมริกาใต้ที่กระทำเลวร้ายกับประชาชนอย่างรุนแรงมาก ๆ ดูแล้วนึกถึงประเทศไทยมาก ๆ) และดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะหาดูยากกว่าหนังของ Fassbinder มาก ๆ

เมื่อไหร่จะมีคนจัดงาน retrospective ของ Peter Lilienthal อีกครั้งนะ เราเข้าใจว่าทางสถาบันเกอเธ่ในกรุงเทพเคยจัดงาน retrospective ของ Peter Lilienthal ไปแล้วเมื่อราว ๆ เกือบ 30 ปีก่อน แต่เราไม่ได้ไปดูในตอนนั้น ฮือ ๆ  ๆ ๆ

1932 (2022, Jakkaphat Rungsang, 3min, A+15)

1.เข้าใจว่าเป็นหนังที่ทำภายใต้โจทย์ 3 นาที หนังมันก็เลยไม่สามารถใส่อะไรเข้าไปได้มากนัก

2.พอดูหนังเรื่อง 1932,  BEFORE DIVORCE และ PIECES OF A WOMAN ของคุณ Jakkaphat เราก็รู้สึกว่าจุดที่เราสนใจในหนัง 3 เรื่องนี้คือการที่ตัวละครในหนังทั้ง 3 เรื่องเหมือนมีความอัดอั้นตันใจ มีความรู้สึกรุนแรงบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตัวละครจะไม่พูดออกมาชัด ๆ ตรง ๆ ทางบทสนทนาว่าอะไรทำให้พวกเขารู้สึกอย่างนั้น ผู้ชมจะต้องประมวลเอาเองผ่านทางสิ่งที่หนังนำเสนอว่าทำไมตัวละครถึงรู้สึกอย่างนั้น อาจจะเรียกได้ว่าหนังทั้ง 3 เรื่องใช้วิธีการแบบ "show, don't tell" ได้อย่างน่าสนใจ

----
เราว่าชื่อของนักแสดงที่เล่นเป็นนางเอก BLUE AGAIN ที่ชื่อ "ตะวัน จริยาพรรุ่ง" เป็นชื่อที่คุ้นสุด ๆ แต่นึกไม่ออกว่าเคยได้ยินจากไหน เพราะเราไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง JAILBREAK (2015) ที่คุณตะวัน จริยาพรรุ่งกำกับ แต่พอดีเมื่อกี้ได้คุยกับ Chayanin Tiangpitayakorn เขาบอกว่าคุณตะวัน จริยาพรรุ่งเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง "เชือกฝัน" (DISAFFILIATE) (2014) มาก่อน เราก็เลยร้องกรี๊ดเลย เพราะเราชอบหนังสยองขวัญเรื่อง "เชือกฝัน" ที่มีคุณ Alwa Ritsila ร่วมแสดง อย่างรุนแรงมาก มิน่าล่ะ เราถึงคุ้นชื่อนางเอก BLUE AGAIN มาก ๆ

LOSER BOY (พวกขี้แพ้) (2022, Thanva Kounlavong, Laos, 14min, A+25)

ตัวละครชายหนุ่ม 2 คนในหนังลาวเรื่องนี้ คุยกันเรื่องการโพสท่าถ่ายรูปแบบหน้าตาย ห้ามยิ้ม แล้วบอกว่ามันเป็น  NAWAPOL STYLE เราก็เลยสงสัยมากว่า พวกเขาหมายถึง Nawapol Thamrongrattanarit หรือเปล่า กรี๊ดดดด

Tuesday, December 27, 2022

18 YEARS – MEMORIES, DREAMS AND VIOLENCE (2022, Prempapat Plittapolkranpim, documentary, 97min, A+25)

 

18 YEARS – MEMORIES, DREAMS AND VIOLENCE (2022, Prempapat Plittapolkranpim, documentary, 97min, A+25)

 

1.เหมือนในแง่การกำกับภาพยนตร์แล้วเราเฉย ๆ นะ 5555 แต่สิ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ ก็คือการที่หนังพาเราไปรับฟังคำให้สัมภาษณ์ของ subjects ต่าง ๆ ในหนังนี่แหละ เพราะเรารู้สึกว่า subjects บางคนในหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก ๆ ทั้งเด็กหนุ่มที่ถูก bully อย่างรุนแรงในโรงเรียน, ชายหนุ่มที่เป็นคนดีของสังคมในพื้นที่นั้น ๆ และหญิงสาว LGBTQ เราว่าเรื่องราวของทั้ง 3 คนนี้น่าสนใจสุด ๆ สำหรับเรา และแค่หนังปล่อยให้พวกเขาพูดไปเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกเหมือนกับว่าเราได้รับข้อมูลที่ต้องการแล้ว แต่เราว่าหนังอาจจะยังขาดฟุตเตจที่น่าสนใจอื่น ๆ นอกเหนือจากฉากการสัมภาษณ์ subjects ต่าง ๆ ในหนังน่ะ

 

2.ประเด็นเรื่องความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำต่อคนในพื้นที่นั้น เป็นประเด็นที่คาดเดาได้อยู่แล้วว่าจะต้องมีในหนังเรื่องนี้ และหนังก็นำเสนอประเด็นนี้ออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจสำหรับเรา โดยเฉพาะเรื่องของผู้ชายในครอบครัวนึงที่ทยอยถูกจับไปซ้อมทรมานทีละคน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมา เพราะพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

 

3.แต่เราชอบที่หนังพูดถึงทั้งประเด็นนี้และประเด็นอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้เน้นแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว คือเหมือนพอหนังไปสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวในพื้นที่นั้น แล้วพวกเขามีปัญหาชีวิตต่าง ๆ กันไป หนังก็ปล่อยให้ subject แต่ละคนพูดถึงปัญหาชีวิตของตัวเองได้มากพอสมควรด้วย

 

4.เรื่องของชายหนุ่มที่เป็นคนดีของสังคมในพื้นที่นั้น ก็น่าสนใจดี เหมือนผู้ชายคนนี้เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมในการทำให้ผู้ชมได้รับรู้ว่า คนในพื้นที่นั้น ๆ มีความเชื่อ, ความคิดอ่าน, ความใฝ่ฝัน หรือมีสไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร และแน่นอนว่าเราก็รู้สึกเศร้าใจมาก ๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวอาจจะมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับ LGBTQ อยู่

5. เรื่องของเด็กหนุ่มที่โดน bully อย่างรุนแรงก็น่าสนใจมาก คือเหมือนปัญหาแบบนี้จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นปัญหาที่เจอได้ในพื้นที่อื่น ๆ ในไทยด้วย เราก็เลยชอบที่หนังนำเสนอเรื่องของเด็กหนุ่มคนนี้อย่างจริงจัง เพราะมันช่วยแสดงให้เห็นแง่มุมอื่น ๆ ของสังคมในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย และแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นั้นไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องความรุนแรงจากรัฐไทยและเรื่องศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

 

6.แต่สิ่งที่สะเทือนใจเรามากที่สุดในหนังก็คือเรื่องราวของหญิงสาวที่เป็น LGBTQ นี่แหละ กราบตีนมาก ๆ เรื่องของเธอมันหนักหนาสาหัสสำหรับเรามาก ๆ คือเราดูหนังเรื่องนี้มานานหลายวันแล้ว แต่เราก็ยังคงรู้สึกรุนแรงทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องราวของเธอ มันเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ต้องการให้แม่มาจุ๊บเธอที่หน้าผากบ้าง แต่สิ่งที่เธอได้รับจากแม่คือมีดอีโต้

 

สิ่งที่สะเทือนใจเราเกี่ยวกับเรื่องของ subject คนนี้รวมถึง

 

6.1 เรื่องที่เธอเห็นว่าแม่ชอบจุ๊บหน้าผากน้องชายตอนที่น้องชายหลับ เธอก็เลยแสร้งทำเป็นว่าตัวเองหลับแล้ว เพราะเธออยากให้แม่มาจุ๊บหน้าผากเธอบ้าง แต่แม่ก็ไม่ทำ

 

6.2 เรื่องที่เธอเป็น LGBTQ แล้วมีปัญหากับญาติ ๆ หรือบางคนในพื้นที่นั้น

 

6.3 เรื่องที่เธอไปอยู่บ้านย่า แล้วกลับบ้านดึก แล้วแม่เลยคว้ามีดอีโต้จะมาทำร้ายเธอ (ถ้าหากเราจำไม่ผิด)

 

6.4 เรื่องที่เธอหนีออกจากบ้านตอนอายุ 15 (ถ้าจำไม่ผิด) คือกราบตีนเธอมาก ๆ และมันทำให้เรา identify ตัวเองกับตัวเธอได้อย่างรุนแรงด้วย เพราะช่วงที่เราอายุประมาณนั้นเราก็คิดอยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ เช่นกัน

 

6.5 เรื่องที่เธอได้รับการยอมรับอย่างดีจากบ้านของแฟนสาว และแฟนสาวอายุแก่กว่าเธอราว 7 ปี คือเหมือนเธอเป็นทั้ง LGBTQ, รักกับคนต่างศาสนา และเธอกับแฟนมีอายุห่างกันมากพอสมควรในสายตาของคนอื่น ๆ ด้วย (แต่ไม่ใช่ในสายตาของเรานะ)  ชอบมาก ๆ ที่เธอบอกว่าพ่อกับแม่ของเธออายุห่างกันมากกว่านี้อีก

 

6.6 เรื่องที่เธอพยายามจะขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ แต่ทำไม่สำเร็จ (ถ้าจำไม่ผิด)

 

6.7 ชอบที่เธอพูดออกมาตรง ๆ เลยว่า เธอไม่ต้องการอาศัยอยู่ใน “บ้านเกิด” อีกต่อไป แต่อยากไปอยู่เชียงใหม่หรืออะไรแบบนั้นมากกว่า

 

6.8 สรุปว่ารู้สึกถูกโฉลกกับเธออย่างมาก ๆ คือถ้าหากมันเป็นหนัง fiction เราก็มักจะรู้สึกคลิกกับตัวละครแบบนี้นี่แหละ ตัวละครที่ไม่ได้ “รักบ้านเกิด” ไม่ได้รู้สึก “ผูกพันกับภูมิลำเนา” ไม่ได้ “รักครอบครัวอย่างรุนแรง” แต่ต้องการจะแสวงหาสถานที่ใดสักแห่งในโลกที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง

FILMS ABOUT FILM WATCHING CULTURE

 

LIST ภาพยนตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์/ละครทีวีที่เราชอบสุด ๆ

 

พอเราได้ดู SCALA แล้วก็เลยคิดว่า ทำลิสท์นี้ขึ้นมาเล่น ๆ ดีกว่า 555 (ได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนากับเพื่อน ๆ cinephiles ด้วย)

 

1.“ART FILM”: “CONTENT” AND “FORM” (“ภาพยนตร์ศิลปะ”: “เนื้อหา” และ “รูปแบบ” (การนำเสนอ)) (2022, Bunnawit Boonsomparn, documentary, 54min)

 

จริง ๆ แล้วเราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ในภาพยนตร์เรื่องนี้นะ ที่บอกว่า “ภาพยนตร์ศิลปะ” ที่ไม่ได้ดูในโรงหนังไม่ถือว่าเป็น “ภาพยนตร์ศิลปะ” อีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นเพียง content เท่านั้น แต่เราว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นการ “ถกเถียงกับตัวเอง” มากกว่าจะเป็นการประกาศว่า “มึงต้องเชื่อในสิ่งที่กูพูด” น่ะ

และพอหนังเรื่องนี้มันเน้นการถกเถียงกับตัวเอง มันก็เลยเหมือนเปิดพื้นที่ให้มีการโต้แย้งกับความเห็นหลัก ๆ ของมันเองไปด้วยในตัว เราก็เลยไม่ได้รู้สึกต่อต้านหนังเรื่องนี้

 

2.HAUNTED HOUSES บ้านผีปอบ (2001, Apichatpong Weerasethakul, 60min)

หนังเรื่องนี้สะท้อนวัฒนธรรมการดูละครน้ำเน่า

http://www.kickthemachine.com/page80/page1/page51/index.html

 

3.THE MASTER (2014, Nawapol Thamrongrattanarit, documentary, 82min)

 

4.OPEN-AIR CINEMA กลางแปลง­_ที่รัก (2008, Panu Saeng-Xuto, documentary, 13min)

 

5.PATTANIRAMA (2016, Suporn Shoosongdej, documentary, 36min)

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10153411037276650&set=a.10153337017891650

 

6.PLEASE CHECK YOUR BELONGING BEFORE LEAVING โปรดตรวจสอบทรัพย์สินของท่านก่อนลุกจากที่นั่ง (2014, Theerapat Wongpaisarnkit, 8min)

 

หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงหนังชั้นสอง ถ้าจำไม่ผิด

 

7.PHANTOM OF ILLUMINATION (2017, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, 69min)

 

8.POISON 5: FILM RUNNER (ยาพิษ 5: FILM RUNNER) (2012, Eakarach Monwat, documentary, 14min)

 

หนังสารคดีเกี่ยวกับคนที่เคยทำอาชีพวิ่งรอกส่งฟิล์มหนังระหว่างโรงหนังต่าง ๆ

 

9.REALM OF PLEASURE อาณาจักรความบันเทิง (2015, Kittipat Knoknark, documentary, 26min)

 

หนังสารคดีเกี่ยวกับร้านวิดีโอที่เปิดมานาน 19 ปี

 

10.SCALA (2022, Ananta Thitanat, documentary, 65min)

 

11.THE SCALA (2015, Aditya Assarat, documentary, 56min)

 

12.SOMWANG 2552 (2009, Thitiwat Samitinan, 20min)

หนังเกี่ยวกับโรงหนังชั้นสอง

 

13.SOMWANG 2553 (2010, Norachai Kajchapanont, documentary, 30min)

หนังสารคดีเกี่ยวกับการถ่ายทำ SOMWANG 2552

 

14.เร่หนัง_หนังเร่ (2008, Panu Saeng-xuto, documentary, 15min)

 

15.โรงหนังชั้นสอง (2005, Norachai Kajchapanont, documentary, 12min)

 

และคิดว่าหนังสารคดีเรื่อง THE PROJECTION (Tanadej Ramsomphob) ที่ยังไม่ได้เข้าฉาย ก็น่าจะเป็นหนังที่บันทึกวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทยในอดีตเอาไว้ด้วยเช่นกัน
https://web.facebook.com/youngturkphatter/posts/pfbid0gs3v4QrcUe7UVXhrjp1bgeueeuu4HpVEFKeYkquBpqvuEZiAK3EEoujoMjpYYidpl?_rdc=1&_rdr

 

แต่ตลกดีที่พอเรานึกถึง “โรงหนังมัลติเพล็กซ์ในยุคปัจจุบัน” เรากลับนึกถึง “หนังสยองขวัญ” เป็นส่วนใหญ่ 5555 ซึ่งรวมถึงหนังเรื่อง

 

16. อำมหิตพิศวาส THE PASSION (2006, Saranyoo Wongkrajang)

 

17. โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต COMING SOON (2008, Sopon Sukdapisit)

 

18. BANGKOK DARK TALES (2019, Alwa Ritsila)

 

ส่วนหนังต่างประเทศที่พูดถึงประเด็นแบบนี้แล้วเราชอบมาก ก็มี

19. CINEMA, MON AMOUR (2015, Alexandru Belc, Romania, documentary)

 

20.A CONCRETE CINEMA (2017, Luz Ruciello, Argentina, documentary, 78min)

 

21.GOODBYE, DRAGON INN (2003, Tsai Ming-liang, Taiwan)

 

22.GULABI TALKIES (2008, Girish Karasavalli, India)

 

23.KINGS OF THE ROAD (1976, Wim Wenders, West Germany)

 

24.NOW SHOWING (2008, Raya Martin, Philippines, 280min)

นางเอกเป็นคนขายดีวีดีเถื่อน

 

25.ONE SECOND (2020, Zhang Yimou, China)

เรื่องของการวิ่งรอกส่งฟิล์มหนัง

 

26.SERBIS (2008, Brillante Mendoza, Philippines)

 

27.TALKING THE PICTURES (2019, Masayuki Suo, Japan)

 

28. TONIGHT, AT THE MOVIES (2018, Hideki Takeuchi, Japan)

 

29.URANYA (2006, Costas Kapakas, Greece)

การเข้ามาครั้งแรกของโทรทัศน์ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง

 

30.WE WAITED UNTIL NIGHTFALL (2019, Wendy Muniz, Guillermo Zouain, Dominican Republic, documentary)

 

เรายังไม่ได้ดู CINEMA PARADISO กับ SHIRIN (2008, Abbas Kiarostami) นะ 555

Monday, December 26, 2022

SCALA (2022, Ananta Thitanat, documentary, 65min, A+30)

 

SCALA (2022, Ananta Thitanat, documentary, 65min, A+30)

 

1.ตอนดูหนังเรื่องนี้จะนึกถึงประโยคที่ว่า “Film is death at work” ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นคนพูดคนแรก และความหมายจริง ๆ ของมันคืออะไร แต่เราเอามาคิดเองเออเองว่า มันหมายความว่า “ภาพยนตร์คือการบันทึกภาพมัจจุราชขณะกำลังทำงานอยู่” เพราะภาพยนตร์เป็น “ภาพเคลื่อนไหว” เพราะฉะนั้นมันจึงบันทึก “ช่วงเวลา” ของสิ่งต่าง ๆ ขณะที่กล้องถ่ายสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ (ยกเว้นภาพยนตร์ animation) และเนื่องจาก “มนุษย์ทุกคนเดินหน้าเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วินาทีที่กำลังผ่านไป” เพราะฉะนั้นการที่กล้องถ่ายหนังบันทึกภาพสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะคนและสัตว์ ขณะที่ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ กำลังผ่านไป กล้องจึงได้บันทึกภาพคนและสัตว์ตัวนั้นขณะกำลังเดินหน้าเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วินาทีที่กำลังผ่านไปด้วย คนคนนั้นแก่ตัวลงเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วินาทีที่กำลังผ่านไปต่อหน้ากล้องถ่ายหนังนั้น และกล้องถ่ายหนังก็ได้บันทึกสิ่งนั้นเอาไว้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์แตกต่างจาก “ภาพถ่าย” และ paintings ด้วย

 

ซึ่งพอเราดู SCALA เราก็เลยรู้สึกว่าบางทีมันก็ไม่ใช่แค่ “การเดินหน้าเข้าใกล้ความตายในแต่ละวินาที” ของคนและสัตว์เท่านั้นที่กล้องถ่ายหนังได้บันทึกเอาไว้ เพราะในบางครั้งกล้องถ่ายหนังบางเรื่องก็อาจจะบันทึกการเดินหน้าเข้าใกล้ความตายของอาคารสถานที่บางแห่งเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีของ “รักแห่งสยาม” (2007, Chookiat Sakveerakul), THE SCALA (2015, Aditya Assarat) และ SCALA ที่ต่างก็ช่วยกันบันทึกการเดินหน้าเข้าใกล้จุดสิ้นสุดในแต่ละวินาทีของโรงภาพยนตร์ Scala เอาไว้ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดย LOVE OF SIAM ได้ช่วยบันทึกภาพโรงภาพยนตร์นี้ไว้ขณะอยู่ในวัยกลางคน, THE SCALA ได้ช่วยบันทึกภาพโรงนี้ไว้ขณะอยู่ในวัยชรา และ SCALA ได้ช่วยบันทึกภาพโรงหนังนี้ไว้หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และศพของโรงภาพยนตร์นี้กำลังเสื่อมสลายลงเรื่อย ๆ ก่อนที่จะสูญสลายหายไปในที่สุด

 

เราก็เลยรู้สึกว่าหนังทั้ง 3 เรื่องนี้มันมีคุณค่ามาก ๆ ในแง่หนึ่ง เพราะมันได้ช่วยกันบันทึกภาพของ “สิ่งที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบันนี้” เหมือนกับหนังเรื่องต่าง ๆ ที่เคยบันทึกภาพ “ดาราภาพยนตร์ในอดีตที่ได้เสียชีวิตไปแล้วในปัจจุบันนี้”

 

กาลเวลาทำลายเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งชีวิตคน, สัตว์ และแม้แต่อาคารสถานที่บางแห่ง แต่ในบางกรณี ภาพยนตร์ก็ได้ช่วยบันทึกภาพคน, สัตว์ หรืออาคารนั้นไว้ในช่วงที่กำลังมีชีวิตอยู่ ภาพยนตร์บางเรื่องก็เลยเหมือนเป็นเครื่องรำลึกความทรงจำ หรือเครื่องปลอบประโลมใจบางอย่าง เพราะเราไม่สามารถปลุกคนที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ เราไม่สามารถทำให้อาคารที่ถูกทุบไปแล้วกลับคืนมาได้ แต่อย่างน้อยภาพยนตร์บางเรื่องก็ได้ช่วยบันทึกภาพสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่มันจะหายไปจากโลกนี้ตลอดกาล

 

2.ชอบท่าทีของหนังเรื่อง SCALA ที่มีต่อ subject ของมันมาก ๆ ในระดับนึง เพราะหนังเรื่องนี้ approach ประเด็นของหนังโดยใส่ความเป็นชีวประวัติส่วนตัวเข้าไป และหนังก็บันทึกภาพบทสนทนากันของพนักงานโรงหนัง, การที่ผู้กำกับคุยกับพนักงานโรงหนัง, บรรยากาศต่าง ๆ ภายในโรง, การรื้อถอนโรง, การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยภายนอกโรง, และเล่าถึงประวัติของโรง, etc. โดยที่เหมือนไม่ได้ชี้นำอารมณ์คนดูใด ๆ เลยน่ะ คือหนังไม่ได้โหมประโคมว่า “อู้ย คนดูต้องเศร้านะ” และไม่ได้มีการตะโกนบอกคนดูใด ๆ เลยว่า “นี่เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรอนุรักษ์ไว้นะ” อะไรทำนองนี้ คือถ้าหากหนังเรื่องนี้จะมีความอาลัยอาวรณ์ มันก็เป็นความอาลัยอาวรณ์ที่ผู้กำกับอาจจะมีต่อสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญต่อตัวเธอเองในอดีต โดยที่หนังไม่ได้พยายามจะเรียกร้องให้ผู้ชมต้องฟูมฟายตามไปด้วยเลย

 

เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ใช้ approach แบบนี้ มันก็เลยเข้ากับเรามาก ๆ ในระดับนึง เพราะโดยส่วนตัวแล้วเราก็มีความทรงจำทั้งที่ดีและไม่ดีต่อโรงหนังนี้และโรงหนังในเครือ APEX น่ะ 555555 (ซึ่งก็เหมือนโรงหนังทุกโรงนั่นแหละ ที่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เหมือนกับมนุษย์แหละมั้งที่มันก็ชั่ว ๆ ดี ๆ เทา ๆ อยู่ในคนคนเดียวกัน) เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ยกย่องเชิดชูโรงหนัง Scala ว่าเป็นอะไรที่ดีเลิศประเสริฐศรี แต่นำเสนอว่ามันเป็นโรงหนังที่มีความผูกพันต่อตัวผู้กำกับเป็นการส่วนตัว หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกหมั่นไส้ 55555

 

3.ชอบการเก็บภาพบรรยากาศต่าง ๆ ในโรงหนังมาก ๆ คือถ้าหากมันผลักไปให้สุดทางกว่านี้ เราก็จะนึกถึงหนังแบบ HOTEL MONTEREY (1973, Chantal Akerman) เลย

 

4.ชอบส่วนที่เป็นชีวิตพนักงานโรงหนังด้วย ประทับใจมาก ๆ ทั้งเรื่องของพนักงานที่เรียนจบป.4 แต่ได้ทำงานที่นี่นานหลายสิบปี และเรื่องของผู้หญิงที่พยายามหาลู่ทางไปทำงาน live ขายของ

 

5.การรื้อถอนชิ้นส่วนต่าง ๆ ในโรงหนังก็น่าประทับใจมาก ๆ ทั้งในแง่ของ

 

5.1 หลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่เรา “เห็น” แต่ไม่เคย “สังเกต” มาก่อน อย่างเช่นของประดับเพดานที่เป็นคล้าย ๆ ดาวเหลือง ๆ ดวงใหญ่ ๆ

 

5.2 ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตลอดเวลา 5555 คือเหมือนหนังได้บันทึกทั้งฉากผ้าม่านหล่น และอะไรต่อมิอะไรที่พร้อมจะหล่นใส่พนักงานขณะรื้อถอน

 

6. ส่วนที่เป็นอัตชีวประวัติของผู้กำกับเองก็รุนแรงมาก ๆ

 

7.การบันทึกภาพแมวก็ดีงามมาก ๆ

 

8.แต่เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราที่ได้จากหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ “สิ่งที่อยู่ในหนัง” น่ะ แต่เป็น “การที่หนังเรื่องนี้กระตุ้นความทรงจำของเราที่มีต่อชีวิตในอดีต” เพราะเราก็ดูหนังในโรงเครือ APEX มาตั้งแต่ปี 1987 ได้มั้ง โดยเริ่มด้วยหนังฮ่องกงเรื่อง “เศรษฐีฉบับตี๋มีไว้ปึ้ก” และหลังจากนั้นเราก็ได้ดูหนังในเครือนี้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นการดูหนังเรื่องนี้ก็เลยกระตุ้นความทรงจำของเราที่มีต่ออดีตของตัวเองอย่างรุนแรงสุด ๆ

 

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในหนังเรื่อง SCALA แต่เป็นการบันทึกความทรงจำของตัวเองว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงอดีตอะไรบ้าง 55555

 

8.1 หนังเรื่องแรก ๆ ที่ได้ดูในโรงเครือ APEX รวมถึง “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) , นางนวล (1987, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) และ “โอม สู้แล้วอย่าห้าม” (1987, O Sing-Pui)

 

8.2 ปกติเราไม่ค่อยได้นั่งล่าง ๆ ชิดขอบจอ เพราะโรงหนังเครือนี้มันมีขนาดใหญ่มาก ถ้านั่งใกล้ ๆ จอ เราต้องแหงนคอดู แต่จำได้ว่ามีครั้งนึงที่คนแน่นโรงมาก และเราก็เลยจำเป็นต้องเลือกที่นั่งข้างล่าง ๆ ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเราไปดูเรื่อง BORN ON THE FOURTH OF JULY (1989, Oliver Stone) ที่โรงสกาลามั้ง แล้วต้องแหงนคอดูแบบตั้งบ่ามาก ๆ เป็นประสบการณ์ที่เข็ดมาก ๆ 555

 

8.3 หนึ่งในประสบการณ์แย่ ๆ ที่ไม่รู้ว่าเกิดจาก “โรงหนัง” หรือเกิดจาก “ตัวฟิล์มที่นำมาฉาย” ก็คือตอนที่ไปดูหนังเรื่อง THE PIANO (1993, Jane Campion) แล้วเรารู้สึกว่าภาพมันมัว ๆ มันไม่สดใสเอาเสียเลย คือดูหนังที่นำมาฉายทางโทรทัศน์แล้วยังได้เห็นภาพสีสดใสเต็มอิ่มกว่าเสียอีก แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า มันเป็นเพราะเครื่องฉายมันเก่า แล้วหลอดไฟมันเลยไม่ค่อยสว่าง หรือเป็นเพราะตัวฟิล์มที่นำมาฉายมันเป็นก็อปปี้ที่ไม่ดี

 

8.4 แต่เหมือนระยะหลัง ๆ ก็เกิดปัญหาแบบนี้อีกนะ คือเหมือนเวลาดูหนังในโรงลิโดหรือสกาลาบางเรื่องแล้วเราจะรู้สึกว่าภาพมันมืดเกินไป และเราก็ไม่ได้รู้สึกอยู่คนเดียว เพราะจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งดู CAROL (2015, Todd Haynes) ทั้งในโรงลิโดและในโรงเครือใหญ่ แล้วเพื่อนบอกว่าความสว่างของภาพมันแตกต่างจากกันอย่างเห็นได้ชัด

 

8.5 อีกหนึ่งความทรงจำแย่ ๆ ก็คือว่า บางทีโรงสกาลาปิดม่านก่อนฉาย end credit จบ หรือบางทีก็ปล่อยให้คนดูรอบต่อไปเดินเข้ามาในโรงเลย ทั้ง ๆ ที่ end credit รอบก่อนหน้านั้นยังฉายไม่จบ

 

8.6 แต่หนึ่งในสิ่งที่ชอบมากที่สุดในโรงเครือ apex ก็คือว่า มันมีรอบ 10.00 น.ในวันเสาร์อาทิตย์ เราก็เลยเป็นแฟนขาประจำของรอบ 10.00 น.ในโรงเครือนี้ เพราะมันช่วยให้เราจัดตารางชีวิตฮิสทีเรียในการดูหนังได้ง่ายขึ้นมาก ๆ

 

8.7 จำได้ว่าในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีโอเปอเรเตอร์ชายของโรงหนังเครือนี้โด่งดังขึ้นมาเพราะอัธยาศัยที่ดีในการรับโทรศัพท์ของเขาด้วย เหมือนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเคยสัมภาษณ์เขาด้วยนะ และนิตยสาร “สารคดี” ก็เคยสัมภาษณ์เขาด้วยเช่นกัน อ่านได้ที่นี่
https://www.sarakadee.com/2018/05/28/operator-lido/

 

8.8 นึกถึงตอนช่วง Bangkok International Film Festival นำหนังบางเรื่องมาฉายที่โรงหนังสยามมาก ๆ ถ้าหากจำไม่ผิด เราได้ดูทั้ง RIGHT NOW (Benoit Jacquot), CLEAN (Olivier Assayas), VERA DRAKE (Mike Leigh) และ FACING WINDOWS (2003, Ferzan Ozpetek, Italy) ที่โรงหนังสยาม

 

9.สรุปว่าในแง่หนึ่งเราก็เศร้าใจกับการสูญสลายหายไปของโรงหนังสกาลา เพราะมันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยอดีตของเราตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา แต่ในแง่หนึ่ง การที่มีหนังเรื่อง SCALA อยู่บนโลกนี้ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า อย่างน้อยโรงหนังสกาลาก็ยังโชคดีกว่าโรงหนังอื่นๆ อีกหลายโรงที่อยู่ในความทรงจำของเรา เพราะอย่างน้อยหนังเรื่องนี้ก็ได้ช่วยบันทึกภาพการเสื่อมสลายของโรงหนังสกาลาเอาไว้ ในขณะที่โรงหนังสามย่าน, รามา, แมคเคนนา, ฮอลลีวู้ด, เอเธนส์ ที่ต่างก็เคยมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา ต่างก็ล้วนสูญสลายหายไป โดยแทบไม่มีหนังเรื่องไหนได้บันทึกไว้ และเราก็ไม่เคยถ่ายภาพโรงหนังเหล่านี้เก็บไว้ด้วย เพราะในยุคนั้น “กล้องถ่ายรูป” ถือเป็นสิ่งที่แพงเกินไปสำหรับคนจน ๆ อย่างเรา เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง SCALA ก็เลยทำให้เราทั้งรู้สึกเศร้าใจ (กับการจากไปของโรงหนัง) และดีใจ (ที่มีคนบันทึกภาพมันเอาไว้) และหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราหวนคิดถึงโรงหนัง STAND ALONE อีกหลายโรงในความทรงจำของเราด้วย

Sunday, December 25, 2022

SAINT OMER (2022, Alice Diop, France, A+30)

 

SAINT OMER (2022, Alice Diop, France, A+30)

 

1.ชอบมากที่หนังเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการพูดถึง Marguetite Duras เพราะเราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีความ Duras มากกว่าหนังอย่าง MEMOIR OF WAR (2017, Emmanuel Finkiel, A+30) ที่เล่าถึงชีวิตของ Duras เองเสียอีก 555

 

คือความ "Durasian" ที่เราคิดเองเออเอง คือการที่หนังบางเรื่องใช้เสียงพูดของตัวละครหรือ text ในการเล่าเรื่อง แล้วกระตุ้นให้ผู้ชมนึกภาพตามเสียงที่เล่าน่ะ ในขณะที่ภาพของหนังอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เล่าอยู่ก็ได้ เหมือนหนังของ Duras ที่ใช้วิธีการแบบนี้รวมถึง INDIA SONG (1975), HER VENETIAN NAME IN DESERTED CALCUTTA (1976), THE TRUCK (1977), THE NEGATIVE HANDS (1978) และ AGATHA AND THE LIMITLESS READINGS (1981) ซึ่งเราชอบวิธีการแบบนี้มาก ๆ เราก็เลยแอบเรียกมันว่า ความ Duras หรือ Durasian 555

 

ซึ่งพอ SAINT OMER เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องผ่านทางการให้ปากคำของตัวละครแต่ละตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต โดยไม่มีการ flashback ใด ๆ ให้ผู้ชมเห็นภาพ แต่ให้ผู้ชมจินตนาการภาพในหัวขึ้นมาเองแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีความ Duras (ตามนิยามของเรา) อยู่เหมือนกัน

 

แต่หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้มีความ Duras มากเท่ากับหนังอย่าง THE SOUND OF DEVOURING DUST (2022, Jessada Chan-yaem) อะไรทำนองนั้นนะ เพราะในหนังของ Duras เรามักจะไม่ได้เห็น "เจ้าของเสียงเล่า" อยู่ในฉาก หรือในบางครั้งเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "เจ้าของเสียงเล่า" เป็นใคร ซึ่งหนังอย่าง THE SOUND OF DEVOURING DUST (นครฝุ่น) ที่ใช้วิธีการแบบนี้ก็เลยจะเข้าข่ายนี้มากกว่าหนังอย่าง SAINT OMER ที่เราเห็นเจ้าของเสียงเล่าขณะเล่าเรื่องโดยตรง

 

2.รู้สึกว่าหนังทำให้ตัวละคร Laurence Coly (Guslagie Malanda) ดู charismatic อย่างรุนแรงที่สุดสำหรับเรา คือผู้ชมหลาย ๆ คนคงไม่ได้รู้สึกเหมือนเรา แต่เรารู้สึกเหมือนได้เห็น "ท่านเจ้าลัทธิ" หรืออะไรทำนองนี้ 555 อาจจะคล้าย ๆ กับที่เรารู้สึกกับตัวละคร Manu ใน BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) และ Geesche Gottfried ใน BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder) ซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงที่เจอเรื่องเลวร้ายบางอย่างในชีวิต และมันมีส่วนเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นฆาตกรใจโหด คือเหมือนตัวละครหญิงแบบนี้เป็นตัวละครหญิงที่เราชอบมาก ๆ น่ะ และเราอยากให้มีคนสร้างหนังที่มีตัวละครหญิงแบบนี้แต่มีสถานะเป็น “เจ้าลัทธิ” ขึ้นมา

 

ซึ่งการที่หนังทำให้ตัวละคร Laurence มีความนิ่งสงบบางอย่าง ยิ่งทำให้เธอดูเหมือนท่านเจ้าลัทธิที่น่าเลื่อมใสศรัทธาสำหรับเรามากยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึง THE PASSION OF JOAN OF ARC (1928, Carl Theodor Dreyer) ด้วยนะ เพราะมันเป็นหนังเกี่ยวกับการไต่สวนผู้หญิงในศาลเหมือนกัน และผู้หญิงทั้งสองดูมีพลังแบบเจ้าลัทธิสำหรับเราเหมือนกัน

 

แล้วพอเรารู้สึกว่า Laurence Coly ดูมีพลังดึงดูดแบบท่านเจ้าลัทธิสำหรับเรา เราก็เลยรู้สึกเหมือนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ตอนดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งอาการนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้นี้มันไม่ได้เกิดจากการลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหนัง แต่มันอาจจะคล้าย ๆ กับอาการของมิตรรักแฟนเพลงเวลาได้เห็นศิลปินที่ตัวเองคลั่งไคล้มาออกรายการทีวีมั้ง 555

 

สรุปว่า "the presence of Laurence Coly" ในหนังเรื่องนี้ มันสามารถสะกดเราได้อย่างรุนแรงจริง ๆ

 

3. หลังจาก Cecile Jobard ให้การในศาลในเชิงที่ว่า Laurence ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันกล้าดียังไงที่คิดจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ Wittgenstein ช่างไม่เจียมกะลาหัวของตัวเองเสียบ้างเลย ใบหน้าของ Laurence ตอนมอง Jobard และใบหน้าของ Rama (Kayije Kagame) ตอนมอง Jobard นี่ถือเป็น the faces of the year ของเราประจำปีนี้เลย

 

4.เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงในฉากที่ Laurence มองมาเห็น Rama ในศาล แล้ว Laurence ก็ยิ้มให้

 

ฉากนั้นทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า รอยยิ้มของ Laurence คือการสื่อสารกับ Rama ว่า "เธอเข้าใจฉันใช่มั้ย เธอเข้าใจความทุกข์ของหญิงแอฟริกันในสังคมนี้ใช่มั้ย เธอก็เคยเจออะไรคล้าย ๆ กับฉันบ้างหรือเปล่า"

 

ซึ่งเรามักจะรู้สึกรุนแรงสุดขีดกับหนังที่นำเสนอตัวละครที่มีความเจ็บปวดรุนแรงอยู่ภายในใจ แล้วมีใครสักคนมาเข้าใจเขา โดยที่คนคนนั้นอาจจะไม่ใช่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหายของคนคนนั้นน่ะ อาจจะเป็นคนแปลกหน้าเสียด้วยซ้ำ ที่เปิดใจยอมรับความทุกข์ในใจของคนอื่น

 

SAINT OMER ก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดขีดเรื่อง THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES (1978, Margarethe von Trotta, West Germany) ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ Ingrid พนักงานธนาคารสาว ธนาคารของเธอโดนปล้น และหนึ่งในผู้ปล้นธนาคารก็คือ หญิงสาวชื่อ Christa ที่หลบหนีการตามล่าของตำรวจไปได้ Ingrid ก็เลยออกตามล่า Christa ด้วยตัวเธอเอง ตามล่าตั้งแต่เยอรมนีตะวันตก ไปจนถึงโปรตุเกส (ถ้าจำไม่ผิด) แต่ในระหว่างที่ Ingrid ออกตามล่า Christa นี้ เธอก็ค่อย ๆ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Christa ไปด้วย และเริ่มเข้าใจเหตุผลในการกระทำของ Christa และกลายมาเป็นความเห็นอกเห็นใจในที่สุด

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง Laurence กับ Rama ใน SAINT OMER ก็เลยทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Ingrid กับ Christa ใน THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES มาก ๆ เพราะ Ingrid กับ Christa ก็ไม่เคยพูดคุยกันเลย ทั้งสองไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เป็นเพื่อนกัน แต่กลับกลายเป็นว่าหญิงสาวที่ไม่เคยพูดคุยกันนี้ กลายเป็นคนที่เข้าใจความทุกข์ยากเจ็บปวดในจิตใจของอีกฝายหนึ่งได้อย่างรุนแรงกว่าคนใกล้ตัวเธอเสียอีก

 

5.รู้สึกว่า SAINT OMER มันมีปฏิสัมพันธ์กับหนังเรื่อง RULE 34 (2022, Júlia Murat, Brazil) ที่ฉายในเทศกาล World Film เหมือนกันโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย 555

 

คือเราว่า SAINT OMER ในแง่นึงมันทำให้นึกถึง LES MISERABLES ที่พูดถึง Jean Valjean ที่ติดคุกนานหลายปีเพราะขโมยขนมปังน่ะ คือเหมือนทั้ง LES MISERABLES และ SAINT OMER ต่างก็ทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ เห็นใจในการกระทำผิดของมนุษย์บางคน ไม่ด่วนตัดสินใครง่าย ๆ และทำให้เรารู้สึกถึงความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งกันระหว่าง “กฎหมาย” กับ “มนุษยธรรม” ในบางกรณี โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เราควรจะเห็นอกเห็นใจหรือลดหย่อนผ่อนโทษให้ผู้ต้องหาในแต่ละกรณีมากน้อยเพียงใด เมื่อเราได้ฟังประวัติของเขา

 

แต่พอเราดู RULE 34 เราก็เลยรู้สึกว่าหนังมันเหมือนสร้างบทสนทนากับ SAINT OMER โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะถ้าหาก SAINT OMER แสดงให้เห็นว่าความเลวร้ายของอาณานิคม, ระบบปิตาธิปไตย, การเหยียดเชื้อชาติ, ความเชื่อเรื่องไสยาศาสตร์, สิ่งต่าง ๆ ที่ Laurence เคยเจอมาในอดีต etc. มีส่วนในคดีนี้ด้วย RULE 34 ก็เหมือนตั้งคำถามโดยไม่ได้ตั้งใจต่อไปว่า ถ้าหากเรามองว่า “อาชญากรหญิง” บางคนมีความน่าเห็นใจ เพราะเธอเคยตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยมาก่อน แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจ “อาชญากรชาย” บางคนในบางคดีด้วยหรือไม่หรือเห็นอกเห็นใจเขามากน้อยในระดับไหน เพราะอาชญากรชายบางคนที่ทุบตีเมียและลูก ๆ อย่างทารุณนั้น ในวัยเด็กเขาก็เคยถูกพ่อของตัวเองทุบตีอย่างทารุณเหมือนกัน อาชญากรชายคนนั้นเป็นผู้กระทำในปัจจุบัน แต่ตัวเขาเองก็เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของระบบปิตาธิปไตยด้วยเช่นกันในอดีต แล้วถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจ Laurence Coly แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจอาชญากรชายมากน้อยแค่ไหน ความเป็นเพศหญิงของ Laurence Coly ควรจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเห็นอกเห็นใจมากน้อยเพียงใด

 

หรือถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจ Laurence Coly แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจอาชญากรชายใจโหดเหี้ยมอย่างในหนังเรื่อง DEAD MAN WALKING (1995, Tim Robbins) มากน้อยแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้วเราไม่ต้องคิดมากก็ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเห็นอกเห็นใจใครมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาหรือคณะลูกขุนในคดีต่าง ๆ อยู่ดี ความเห็นอกเห็นใจของเราไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคำตัดสินโทษของอาชญากรต่าง ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์รอบตัวเรามากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีในตัวมันเองอยู่แล้วก็ได้

 

6.ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง SUCH IS LIFE (2000, Arturo Ripstein, Mexico) ด้วย เพราะ SUCH IS LIFE เป็นการนำเอาตำนานของ Medea มาดัดแปลงเป็นเรื่องราวในยุคปัจจุบัน แล้วทำออกมาได้อย่างดีงามสุด ๆ เหมือนกัน

 

ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงมินิซีรีส์เรื่อง SMALL SACRIFICES (1989, David Greene) ที่นำแสดงโดย Farrah Fawcett ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวมินิซีรีส์น่ะธรรมดา แต่ตัวคดีที่มันเล่าน่าสนใจมาก ๆ เพราะมินิซีรีส์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ Diane Downs ผู้หญิงที่ฆ่าลูกของเธอเองตาย 3 คนขณะที่เธอฟังเพลงของวง Duran Duran เธอถูกตำรวจจับเข้าคุก แต่เธอก็ปีนรั้วคุกที่สูง 18 ฟุตหนีออกมาได้ ก่อนที่จะถูกจับเข้าคุกอีกครั้งหนึ่ง

 

7. อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชอบ SAINT OMER อย่างสุด ๆ เพราะมันทำให้เราจินตนาการต่อไปว่า นี่แหละคือวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ถ้าหากจะดัดแปลงละครโทรทัศน์เรื่อง “มนุษย์” (1993, สุนันทา นาคสมภพ) ออกมาเป็นภาพยนตร์

 

คือ “มนุษย์” เป็นละครทีวีที่ออกอากาศทางช่อง 9 ช่วงบ่ายวันเสาร์-อาทิตย์น่ะ แต่ออกอากาศไม่จบนะ เพราะเหมือนฉายไปถึงแค่กลางเรื่องแล้วอยู่ดี ๆ ละครเรื่องนี้ก็หายสาบสูญไปเลย

 

“มนุษย์” เล่าเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่ง (มณฑาทิพย์ แก้วประเสริฐ) ที่เป็นเมียน้อยของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เหมือนสามีทำไม่ดีกับเธอ เธอก็เลยใช้ปืนกราดยิงสามี, เมียหลวง และลูก ๆ ของเมียหลวงที่เป็นเด็กเล็ก ๆ ตายไป รวมทั้งหมด 4 ศพได้มั้ง

 

แล้วละครโทรทัศน์ของสุนันทา นาคสมภพเรื่องนี้ ไม่ได้เน้นไปยังประเด็นที่ว่า ใครเป็นฆาตกร เพราะทุกคนในเรื่องรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นฆาตกร แต่ตัวทนายความ (ชไมพร จตุรภุช) ของอาชญากรหญิงคนนี้ พยายามสืบประวัติของตัวอาชญากรหญิงคนนี้ว่าเธอเคยเจออะไรมาบ้างในชีวิต ก่อนที่เธอจะกลายเป็นฆาตกรกราดยิงฆ่าเด็ก ๆ และฆ่าคนตายไปหลายศพน่ะ คือเหมือนยังไงศาลก็ต้องตัดสินว่าตัวละครของมณฑาทิพย์ผิดอยู่แล้วล่ะ แต่ชไมพรก็พยายามจะทำความเข้าใจประวัติชีวิตของอาชญากรหญิงคนนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ดี และชไมพรก็เลยต้องมีเรื่องปะทะกันอย่างรุนแรงกับพยานคนสำคัญในคดีนี้ ซึ่งรับบทโดยดวงเดือน จิไธสงค์

 

ตอนที่เราดู SAINT OMER เราก็เลยร้องวี้ดในใจอย่างรุนแรงมาก ว่าอยากให้มีคนเอาละครทีวีเรื่อง “มนุษย์” มาดัดแปลงใหม่แล้วทำให้ได้แบบ SAINT OMER มาก ๆ เพราะพล็อตเรื่องและอะไรต่าง ๆ ของ SAINT OMER กับ “มนุษย์” มันสอดคล้องกันมาก ๆ เลย และเราว่า “มนุษย์” นี่มันยิ่ง controversial กว่า SAINT OMER มาก ๆ นะ เพราะตัวละครอาชญากรหญิงใน “มนุษย์” นี่มันเป็นคนที่กราดยิงคนตายไปหลายศพ รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการดัดแปลง “มนุษย์” ออกมาเป็นแบบ SAINT OMER แล้วหนังเรื่องนี้จะสามารถทำให้คนดูรู้สึกอะไรยังไงกับตัวละครอาชญากรหญิงได้มากน้อยแค่ไหน

 

พอดีเราหารูปจากละครเรื่อง “มนุษย์” ไม่ได้เลย ก็เลยเอารูปของ “สุนันทา นาคสมภพ” จาก “คุณหญิงบ่าวตั้ง” มาใช้ประกอบแทน