Wednesday, December 21, 2022

BLUE AGAIN (2022, Thapanee Loosuwan, 190min, A+30)

 

BLUE AGAIN (2022, Thapanee Loosuwan, 190min, A+30)

 

1.ชอบอย่างสุดขีดมาก ๆ เพราะเป็นหนังที่เข้าทางเราเกือบหมดทุกอย่าง เหมือนหนึ่งในสิ่งแรกที่ตัดสินได้เลยว่าหนังเข้าทางเรา คือการสร้างตัวละครนางเอกที่ไม่ใช่ “สาวสวยน่ารักที่มีหนุ่ม ๆ มาตามจีบ” และไม่ใช่ “ผู้หญิงที่อ่อนแอ” แต่เป็นผู้หญิงที่มี “ความแข็ง” บางอย่างอยู่ในตัว

 

2.อีกอย่างที่ตัดสินได้เลยว่าหนังเรื่องไหนมันเข้าทางเรา คือดูว่า “ตัวละครประกอบ” ในหนังเรื่องนั้นมัน exist เพียงเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวละครประกอบ เหมือนพวกเขามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อช่วยขับเน้นแง่มุมบางอย่างของตัวละครเอกหรือไม่ หรือพวกเขามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำหน้าที่บางอย่างตามสูตรสำเร็จของหนัง genre นั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะชอบหนังที่ treat ตัวละครประกอบเป็นมนุษย์จริง ๆ มากกว่าตัวละครประกอบที่ดำรงอยู่เพียงเพื่อช่วยเสริมตัวเอก หรือเพียงเพื่อช่วยทำตามสูตรสำเร็จของ genre

 

ซึ่งเราว่าหนังเรื่องนี้มันเข้าทางเราสุด ๆ ในด้านนี้ คือเหมือนตัวละครประกอบเกือบทุกตัวดูเป็นมนุษย์จริง ๆ สำหรับเรา คือนอกจาก “เอ” กับ “แพร” ที่เป็นตัวละครเอกจะดูเป็นมนุษย์จริง ๆ มาก ๆ แล้ว เราก็ชอบวิธีการที่หนังสร้างตัวละครอื่น ๆ หรือปฏิบัติต่อตัวละครอื่น ๆ มาก ๆ ด้วย ทั้ง

 

2.1 กวาง ที่ตอนแรกดูเป็นเพียงแค่ “นางอิจฉา สวย ๆ รวย ๆ เฟค ๆ” แต่จริง ๆ แล้วเธอเรียนเก่งมาก และหนังไม่ได้พยายามจะบิดให้เธอมี function เป็นนางอิจฉาเหมือนในหนังทั่ว ๆ ไป แต่เหมือนหนังนำเสนอตัวละครนี้เพราะว่า “เรามักจะพบคนแบบนี้ได้ในคณะต่าง ๆ” อะไรแบบนี้มากกว่า

 

2.2 ริชชี่ ที่ตอนแรกก็ดูเหมือนจะเป็นแค่นางอิจฉาเหมือนกวาง แต่ไป ๆ มา ๆ แล้วตัวละครนี้ลึกกว่าที่คาดมาก ๆ และไปๆ มา ๆ ดูเหมือนว่า “นางเอก” จะเป็นฝ่ายทำร้าย “ริชชี่” (ผ่านทางการบอกให้ใส่กำไลนิกเกิล) มากกว่า “นางอิจฉา” จะเป็นฝ่ายทำร้าย “นางเอก”

 

2.3 พี่หยก ที่ตอนแรกก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ “นางพญาประจำคณะ” แต่จริง ๆ แล้วตัวละครนี้มีปมเรื่องการเมือง และเธอเป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์การสังหารหมู่เสื้อแดงที่ราชประสงค์ (ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด)

 

2.4 Gun ที่ดูเป็นตัวละครที่ “นิสัยดี” ที่สุดแล้วในหนังเรื่องนี้สำหรับเรา 5555 แต่เราชอบที่หนังไม่ได้ปั้นให้เขาดูเป็นพระเอก, พระรอง หรือมีหน้าที่เป็นเพียงแค่ “เพื่อนนางเอก” เหมือนในหนังทั่ว ๆ ไป แต่เขาดูเป็นมนุษย์จริง ๆ คนนึง คนที่ให้ความสำคัญกับ passion ของตัวเองเป็นหลัก และไม่อยากสุงสิงกับใครโดยไม่จำเป็น

 

2.5 แม่ของนางเอก ที่เหมือนมีปัญหาในใจของตัวเองตลอดเวลา คือเหมือนเธอไม่ได้มาด่าทอหรือขัดขวางนางเอก แต่การที่เธออยากหาผัวฝรั่ง และไม่ได้คิดจะจริงจังกับธุรกิจการทำคราม ก็ส่งผลให้เธอเหมือนเป็นอุปสรรคขัดขวาง ambition ของนางเอกโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

2.6 ย่าของสุเมธ ที่เราไม่แน่ใจว่าตกลงเธอนับถือศาสนาอะไรกันแน่ หรือเธอมีความเชื่อทางศาสนาอะไรกันแน่ ความฝันของเธอคืออะไร

 

2.7 สุเมธ ซึ่งเราว่าบทบาทของตัวละครตัวนี้มัน dilemma ดี คือถึงแม้ว่าเขาอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พระเอก” ของหนัง และเขาก็มีสถานะเป็น “คนที่เข้ากับครอบครัวไม่ได้ในเรื่องความเชื่อทางศาสนา” ซึ่งสอดคล้องกับนางเอกที่เป็น “คนที่เข้ากับเพื่อน ๆ ในคณะไม่ได้” แต่ปัญหาชีวิตของเขามันก็ดูไม่ได้เกี่ยวข้องมากนักกับชีวิตของนางเอก ซึ่งมันอาจจะทำให้หนังเรื่องนี้ดูสูญเสียเอกภาพ แต่ในอีกแง่หนึ่งเราว่า “มันจริงดี” เพราะชีวิตมนุษย์จริง ๆ มันก็เป็นแบบนี้แหละ เพื่อนสนิทที่สุดของเราก็อาจจะมีปัญหาชีวิตเหี้ยห่าอะไรของเขาเองที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาชีวิตของเราเลยก็ได้ เหมือนอย่างเราที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง คิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่ทุกวัน แต่หนึ่งในเพื่อนสนิทของเราอาจจะมีปัญหาจิตสื่อวิญญาณ โดนผีหลอกเกือบทุกวัน อะไรทำนองนี้ คือถ้าหากจะมีหนังเรื่องไหนนำเสนอชีวิตของเรากับชีวิตเพื่อนสนิทของเรา มันก็จะอาจจะกลายเป็นส่วนผสมที่ไม่ลงตัวระหว่างหนัง feel bad กับหนัง horror และอาจจะกลายออกมาเป็นหนังตลกในที่สุด 5555

 

แต่ในแง่หนึ่งเราก็สงสัยว่า บางทีหนังอาจจะพยายามสะท้อนลักษณะเฉพาะของความเป็นสกลนครหรือลักษณะเฉพาะของพื้นที่นั้นผ่านทางตัวละครเอกับสุเมธก็ได้นะ หนังเรื่องนี้ก็เลยมีทั้งการทำคราม, การหาผัวฝรั่ง และการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวคริสต์กับชาวพุทธ

 

การที่หนังเลือกที่จะนำเสนอปัญหาชีวิตของตัวละคร 2 ตัวซึ่งเป็นปัญหาชีวิตที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยนี้ ในแง่หนึ่งก็ทำให้นึกถึง SUBMERGENCE (2017, Wim Wenders) ด้วยนะ เพราะ SUBMERGENCE ก็เล่า “ชีวิตการทำงาน” ของพระเอกกับนางเอกที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย 55555

 

แต่ก็ยอมรับนะว่า ในส่วนของ “สุเมธ” นั้น หนังปฏิบัติต่อตัวละครตัวนี้เหมือนมนุษย์จริง ๆ ก็จริง แต่หนังไม่ได้ทำให้เรา “อิน” ไปกับตัวละครตัวนี้ได้เท่านางเอกน่ะ คนดูก็เลยรู้สึกไม่เต็มอิ่มหรือไม่ได้อารมณ์ความรู้สึกมากนักในการตามดูตัวละครตัวนี้

 

แต่เราก็ชอบตัวละครตัวนี้อยู่ดีนะ เพราะเราชอบตัวละครที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในอะไรบางอย่างแบบเลือกเชื่อเองน่ะ และเหมือนเราไม่ค่อยได้เห็นตัวละครแบบนี้ในหนังเรื่องอื่น ๆ มาก่อนมั้ง ซึ่งก็คือตัวละครชายหนุ่มชาวไทยที่มีพ่อแม่เป็นคริสต์แต่เลือกที่จะไปบวชพระ เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครสุเมธมันมีความ unique บางอย่างดี

 

3.ในส่วนของตัวละครเอ ซึ่งเป็นนางเอกนั้น เราชอบการสร้างตัวละครแบบนี้อย่างรุนแรงสุดขีด ถือเป็นหนึ่งในตัวละครนางเอกขวัญใจเราเลย เพราะเราชอบตัวละครนางเอกที่ “ไม่ใช่คนดี” ตามแบบฉบับนางเอกทั่วไปน่ะ

 

เราว่านิสัยของเอน่าสนใจสุด ๆ สำหรับเรา เราว่าเธอดู “เทา ๆ” และเป็นมนุษย์จริง ๆ ดีมาก ๆ สิ่งที่เราชอบในตัวเธอก็มีทั้ง

 

3.1 ส่วนดีของเธอ ซึ่งก็คือความแข็ง ไม่อยากเข้ารับน้อง ไม่เฟค ตั้งใจทำงานอย่างจริง ๆ จัง ๆ

 

3.2 ส่วนไม่ดีของเธอ ซึ่งก็คือความเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ๆ 55555 ซึ่งส่วนนี้ทำให้เธอแตกต่างจาก GUN คือเราว่า GUN ก็เป็นคนแข็ง ๆ ไม่เฟคเหมือนเธอ และ “ไม่แคร์คนอื่น ๆ” แต่ GUN เหมือนไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรให้ใครเลยน่ะ เขาก็ทำงานอะไรของเขาไป ในขณะที่ความไม่แคร์คนอื่น ๆ ของเอมันดันครอบคลุมไปถึง “ความไม่แคร์ว่าตัวเองอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ๆ” ไปด้วย

 

ฉากที่เราว่าสะท้อนมนุษย์แบบเอได้ดีมาก ๆ ก็มีเช่น

 

3.2.1 ฉากที่เพื่อนผู้ชายมาเตือนเธอว่า ไม่ควรเอาของส่วนรวมไปใช้เป็นของส่วนตัว แต่เธอด่าผู้ชายคนนั้นลับหลังว่าเป็น “เผด็จการ”

 

เราว่าฉากนี้มัน dilemma ดีด้วยแหละ โดยตัวเราเองนั้นมองว่าการที่เอเอาของส่วนรวมมาใช้ทำงานส่วนตัวในกรณีนั้นมันก็อาจจะไม่ผิดก็ได้ ถ้าหากมันไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นๆ แต่ถ้าหากมันทำให้เพื่อนที่ถือกุญแจห้องต้องคอยอยู่เย็นตามไปด้วย มันก็อาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ๆ หรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจในรายละเอียดของสถานการณ์ในฉากนี้เหมือนกัน

 

3.2.2 ฉากที่เธอให้ริชชีใส่กำไลนิกเกิล ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าริชชีแพ้โลหะนี้ และพอเพื่อนมีอาการแพ้รุนแรง เธอก็ยังพยายามจะให้เพื่อนทำงานต่อไปอีก แทนที่จะให้ความสำคัญกับความทุกข์ทรมานของเพื่อนเป็นลำดับแรก

 

3.2.3 ฉากที่เธอดึงดันจะเป็นตัว finale ให้ได้ ทั้ง ๆ ที่เธออาจจะทำงานไม่ทัน

 

เราว่าฉากนี้ก็ dilemma ดี คือตอนแรกเราก็รู้สึกว่าเธอเห็นแก่ตัวมาก ๆ แต่พอหนังให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่า แพรก็ทำงานไม่ทันเหมือนกัน แต่คนอื่น ๆ ไม่เห็นว่าอะไร มันก็เลยทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วตกลงฝ่ายไหนเหี้ยกว่ากัน 55555

 

3.2.4 ฉากที่เธอพยายามจะให้สุเมธไปเที่ยวกับเธอให้ได้ ซึ่งจริง ๆ ฉากนี้เธอก็ไม่ได้ทำอะไรผิดหรอก เพราะสุเมธก็เต็มใจไปเอง แต่เราคงรำคาญคนประเภทนี้ถ้าหากเจอในชีวิตจริง 55555

 

3.3 ถึงแม้ว่าเอจะมีนิสัยไม่ดี หรือมีนิสัยที่เราไม่ชอบ แต่เราว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือว่า นอกจากมันจะสะท้อนว่าเธอเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองแล้ว มันยังสะท้อนอีกด้วยว่า แรงผลักดันของเธอมาจากความจน หรือความรู้สึกว่าตัวเองจน และความต้องการจะ “SURVIVE” ด้วย ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วตัวละครอื่น ๆ มันก็พยายามจะมีชีวิตรอดในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน

 

คือเราว่าทั้งการที่เอใช้จักรเย็บผ้าที่คณะมาใช้ทำงานส่วนตัวของตัวเอง, การที่เธอพยายามจะให้ริชชีใส่เครื่องประดับนิกเกิลเพื่อถ่ายแบบโฆษณาสินค้าให้เธอ และการที่เธอดึงดันจะเป็นตัว finale ให้ได้ ต่างก็ล้วนมีแรงผลักดันมาจากการที่เธอต้องการจะหาเงิน, สร้างแบรนด์ของตัวเอง, ประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้น่ะ และการที่เธอพยายามอย่างเหลือเกินที่จะประสบความสำเร็จให้ได้ มันเป็นเพราะเธอจนหรือมองว่าตัวเองจน และหนทางที่จะหลีกหนีจากความจนให้ได้ก็คือการประสบความสำเร็จทางการทำงานแบบนี้น่ะ คือเหมือนเธออาจจะทำอะไรที่เห็นแก่ตัว แต่ตัวเธอเองก็อาจจะมองว่า ความจนมันบังคับให้เธอต้องเห็นแก่ตัวก็ได้ ซึ่งตัวละครแบบเอนี้มันก็จะสอดคล้องกับ quote สำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง PARASITE (2019, Bong Joon Ho) ที่ว่า “They are nice because they are rich.” “ที่พวกเขาทำตัวนิสัยดีได้ เพราะพวกเขารวย” ในขณะที่เอนั้น เธออาจจะมองว่าตัวเองไม่สามารถ afford ที่จะทำตัว nice ก็ได้ เพราะเธอจน และปากท้องของเธอต้องมาก่อนสิ่งอื่น

 

เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะมองว่าเอนิสัยไม่ดี แต่เราก็มองว่า ในแง่หนึ่งมันก็เป็นความพยายามของเอที่จะ survive ให้ได้น่ะ และเราว่าตัวละครแพรและแม่ของเอก็พยายามที่จะ survive ให้ได้ในแนวทางของตัวเองเช่นกัน โดยแพรนั้นพยายามจะ survive ด้วยการทำตัวหัวอ่อน ยิ้มแย้มเข้ากับทุกคน แต่เมื่อแพรต้องเลือกข้าง เธอก็ต้องเลือกฝ่ายที่จะช่วยให้เธอ survive ในอนาคตข้างหน้าได้ด้วย ส่วนแม่ของเอนั้น ก็พยายามจะ survive ด้วยการหาผัวฝรั่ง ถึงแม้ว่าการทำเช่นนั้นจะสร้างความไม่พอใจให้กับเอก็ตาม คือยังไงความอยู่รอดของชีวิตตัวเองย่อมสำคัญกว่าการเอาอกเอาใจลูก

 

4.ตัวละครแพรเราก็ชอบมาก ๆ สิ่งที่ชอบเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้มีทั้ง

 

4.1 การเรียนรู้ความผิดพลาดจากบทเรียนในอดีต เพราะเธอเคยเป็นคน “ไม่มีเพื่อน” มาก่อน เธอก็เลยพยายามจะเข้าร่วมกิจกรรมให้ได้มากที่สุดในเวลาต่อมา

 

4.2 ฉากที่เธอค่อย ๆ ยกมือเพื่อแสดงตัวว่าเป็นเพื่อนเอ

 

4.3 ฉากที่ริชชีชวนเอขึ้นรถ แต่แพรวิ่งถลาขึ้นรถริชชีไปก่อน

 

4.4 อันนี้เราจำไม่ได้แน่นอนนะ แต่เหมือนแพรเคยพูดในทำนองที่ว่า คนในครอบครัวของเธอไม่สนใจที่จะจำวันเกิดเธอ เพราะฉะนั้นฉากที่เพื่อนๆ ในคณะแอบจัดงานวันเกิดให้แพร แต่เอจำวันเกิดแพรไม่ได้ มันก็เลยเป็นฉากที่สะเทือนอารมณ์มาก ๆ (ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด)

 

4.5 ฉากที่แพรไม่ยอมช่วยเอเรื่องสายเสียบ

 

4.6 ฉากถ่ายรูป ซึ่งเป็นฉากที่ติดตามาก ๆ

 

5.สรุปว่าชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดขีด ตัวละครเกือบทุกตัวดูเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในใจเราเป็นเวลานานมาก ๆ หลังจากหนังจบไป คือเหมือนเราดูหนังเรื่องนี้จบไปนานแล้ว แต่เนื่องจากหนังทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครเหล่านี้มันเป็นมนุษย์จริง ๆ เราก็เลยรู้สึกราวกับว่าตัวละครเหล่านี้มันยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ นอกตัวหนังน่ะ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยหลอนเรามาก ๆ เพราะในหัวเราเหมือนจะหยุดคิดไม่ได้ว่า ตอนนี้สุเมธ, กัน, เอ, แพร, ริชชี, กวาง, พี่หยก, แม่ของเอ, etc. ทำอะไรอยู่นะ ใครกลายเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังไปแล้วบ้าง ใครได้ผัวเป็นชีคสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปแล้ว ใครจะเชิดหน้าใส่ใครตอนเดินสวนกันโดยบังเอิญ อะไรแบบนี้ คือทั้งหนังและตัวละครในหนังเรื่องนี้มันเข้ามาใช้ชีวิตต่อในหัวของเราจริง ๆ

No comments: