Sunday, October 30, 2016

A TALK ON RETIRED SOLDIERS (2016, Chulayarnnon Siriphol, documentary, A+30)

A TALK ON RETIRED SOLDIERS (2016, Chulayarnnon Siriphol, documentary, A+30) + A TALK ON RETIRED CIVILIANS (2016, Abhichon Ratanabhayon, documentary, A)

--เพิ่งรู้ว่าตัวพลเอกใน A TALK ON RETIRED SOLDIERS เป็นลูกชายของคุณป้าเจ้าของร้านหนังสือใน 87 (2016, Abhichon Rattanabhayon + Watcharee Rattanakree, video installation, A+25) ที่ฉายที่ TCDC ไปในช่วงกลางปี

--จุฬญาณนนท์เป็นอัจฉริยะจริงๆ


Tuesday, October 25, 2016

IMPRISONED (2016, Karan Wongprakarnsanti, A+15)

จองจำ (2016, Karan Wongprakarnsanti, A+15)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.เป็นหนังที่เราคิดว่าใช้ได้ แต่ไม่ได้มีอะไรในหนังที่โดนใจเราอย่างรุนแรงนะ เราก็เลยชอบแค่ในระดับ A+15 เท่านั้น

2.ชอบที่หนังมันคุมโทนอารมณ์จริงจังได้ตลอดเรื่องน่ะ เพราะถ้ามันคุมโทนอารมณ์จริงจังไม่ได้นี่ มันจะกลายเป็นหนังที่ “ตลกโดยไม่ได้ตั้งใจ” ได้ง่ายมากๆนะ เพราะตัวละครคุณป้าในหนังเรื่องนี้นี่ ดูเผินๆแล้วเป็นตัวละครที่ cliche หรือ stereotype มากๆ คือเป็นป้าที่ทำกิริยาเนิบๆกว่าคนปกติ, ดูมีความผิดปกติบางอย่าง, พูดจาส่อพิรุธ, ทำอาการเหมือนอยู่ในหนังผีตลอดเวลา 555 คืออากัปกิริยาของป้าคนนี้นี่ มันเป็น stereotype ของหนังผีมากๆน่ะ เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณป้านี่เล่นได้ไม่ดี หรือหนังคุมโทนอารมณ์ได้ไม่ดี เราต้องหัวเราะท้องคัดท้องแข็งกับคุณป้าคนนี้แน่ๆ

คือตัวละครคุณป้าคนนี้นี่มันมีส่วนผสมของ “สูตรสำเร็จของหนังผี” อยู่ในตัวน่ะ แต่โชคดีที่หนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบอื่นๆที่พอใช้ได้ โดยเฉพาะโทนอารมณ์จริงจัง องค์ประกอบอื่นๆของหนังเรื่องนี้ก็เลยช่วยให้เราไม่ขำไปกับ “สูตรสำเร็จของหนังผี” ที่อยู่ในตัวละครคุณป้าคนนี้หรือที่อยู่ในองค์ประกอบอื่นๆในหนัง

3.สิ่งที่เราชอบก็คือความจริงจังทางอารมณ์น่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นในหนังผีทั่วๆไป ทั้งของไทยและของต่างประเทศ เราเข้าใจว่าโจทย์ของหนังคือ horror drama และเราว่าหนังเรื่องนี้ทำในส่วนของ drama ได้ดี มันก็เลยช่วยให้หนังเรื่องนี้แตกต่างอย่างมากจากหนัง horror ทั่วๆไป หนังให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจตัวละคร, ความจริงจังทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร, ประเด็นเรื่องการอาลัยอาวรณ์กับการสูญเสียคนที่รัก, ทางเลือกในการรับมือกับการสูญเสียคนที่รัก, การ “ตัดใจไม่ลง” ทั้งการตัดใจจากคนที่รัก และการตัดใจจากสถานที่ และการตัดใจไม่ลงนี้ก็กลายเป็นบ่วงหรือโซ่ตรวนที่คุมขังเราไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว

4.ในส่วนของ horror นั้น เราว่าหนังเรื่องนี้แทบไม่น่ากลัวเลยนะ 555 แต่ก็มีความน่ากลัวอยู่บ้างในบางฉาก อย่างเช่น

4.1 ฉากที่พระเอกมองไปในสวน แล้วคนดูก็พยายามเพ่งตามว่ามันมีอะไรในสวน
4.2 ฉากแรกที่คนดูเห็นกฤษฎ์ เราว่าการตัดต่อเพื่อสร้างความตกใจในฉากนี้ทำได้ดี
4.3 ฉากเห็นผีที่ประตูบ้านในตอนท้าย

5.ถ้าจะถามว่าควรปรับปรุงตรงไหนอะไรยังไง เราก็ไม่ค่อยแน่ใจนะว่าควรแนะนำอะไรดี 555 แต่เราว่าพระเอกยังเล่นติดๆขัดๆอยู่บ้างนะ และเราว่าหนังมันไม่ค่อยมีอะไรมากนักสำหรับเราน่ะ เหมือนประเด็นในหนังมันก็ไม่ได้โดนใจเรามากเป็นพิเศษ, การนำเสนอประเด็นก็ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร แต่ค่อนข้างตรงไปตรงมา และอารมณ์ horror ในหนังก็ไม่ค่อยมี แต่ข้อดีของหนังก็คือความ drama จริงจังของมันนั่นแหละ

ถ้าหากถามว่า ควรจะพัฒนาอารมณ์ horror ในหนังยังไง เราว่าหนังอย่าง 10 AUDIENCES (2016, Jakkrapan Sriwichai) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีนะ เพราะมันไปได้เกือบสุดในด้านอารมณ์ horror  หรือถ้าหากถามว่าจะพัฒนาอารมณ์ thriller เข้มข้นตึงเครียดได้ยังไง เราว่าหนังอย่าง AIM (2016, Aroonakorn Pick) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเช่นกัน 555

ส่วนตัวอย่างหนัง horror drama ที่ไปได้สุดตีนจริงๆนั้น หนังอย่าง UNDER THE SHADOW (2016, Babak Anvari), THE BABADOOK (2014, Jennifer Kent) และ DARK WATER (2005, Walter Salles) ก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ดี

คือเราว่าที่ “จองจำ” ขาดอารมณ์ horror ไป เป็นเพราะหนังมันไม่ได้สร้างสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า “พระเอกตกอยู่ในอันตราย” ด้วยแหละ คือพระเอกไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายอะไรเลยในหนังเรื่องนี้ หนังก็เลยแทบไม่มีอารมณ์ horror เลย

ส่วนอารมณ์ drama ในหนังที่เราว่าไปไม่สุดนั้น เป็นเพราะเราไม่ได้สัมผัสถึงความผูกพันของคุณป้ากับสามี และพระเอกกับแม่ (ที่ตายไปแล้ว) ในระดับที่รุนแรงมากนักน่ะ คือหนังบอกให้เรารู้ว่าตัวละครเหล่านี้มีความผูกพันอย่างรุนแรง แต่มันแค่บอกให้เรา “รู้” แต่หนังยังไม่สามารถทำให้เรา “สัมผัส” ได้จริงๆถึงความผูกพันเหล่านั้นอย่างรุนแรงตามไปด้วย เราก็เลยว่าอารมณ์ drama ในหนังมันยังไปไม่สุดซะทีเดียว

แต่เราพอใจกับการที่หนังสื่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีป้ากับบ้านมากที่สุดนะ คือการถ่ายให้เห็นสามีป้านั่งลูบธรณีประตู และตัดสินใจไม่จากบ้านไปในตอนท้ายของหนัง มันทำให้เรา “สัมผัส” ได้ถึงความผูกพันตามไปด้วยน่ะ จริงๆแล้วก็เราก็อธิบายไม่ค่อยถูกเหมือนกัน คือการเห็นคุณป้าดองศพผัว มันทำให้เรา “รู้” ถึงความผูกพัน แต่การเห็นผัวคุณป้าลูบธรณีประตู มันทำให้เรา “สัมผัส” ได้ถึงความผูกพันน่ะ


สรุปว่าที่หนังทำออกมาได้แบบนี้ เราก็ชอบมากแล้วนะ คือถ้าพยายามจะ horror มากกว่านี้ แต่คนทำไม่ชำนาญจริง มันก็อาจจะกลายเป็นเพียงหนัง horror สูตรสำเร็จเรื่องนึงก็ได้ หรือถ้าพยายามจะ drama มากกว่านี้ แต่ใช้วิธีการที่ผิดพลาด อย่างเช่น การ flashback นู่นนั่นนี่ มันก็อาจจะทำให้หนังออกมาเละตุ้มเป๊ะก็ได้ สรุปว่าที่เป็นอยู่นี้ เราก็ชอบมากในระดับนึงแล้วจ้ะ

Thursday, October 20, 2016

ANTI ILLUSIONISM

ถ้าหนังกึ่งละครเวทีที่มัน anti-illusionism เราจะชอบ

1.หนังของ Miklos Jancso
2.หนังของ Hans-Jurgen Syberberg
3.THE FALSE SERVANT (2000, Benoit Jacquot) จากบทละครของ Marivaux
4.THE SCREEN ILLUSION (2010, Mathieu Amalric) จากบทละครของ Pierre Corneille
5.PARTAGE DE MIDI (2011, Claude Mourieras) จากบทละครของ Paul Claudel

6.BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder)
7.LA PURITAINE (1986, Jacques Doillon)
8.THE PEACH BLOSSOM LAND (1992, Stan Lai, Taiwan)


จริงๆแล้วสองเรื่องหลังไม่ได้ anti-illusionism แต่มันมีการเบลอชีวิตจริงกับละครเวทีเข้าด้วยกันได้อย่างแปลกๆ

Sunday, October 16, 2016

FAVORITE THAI QUEER SHORT FILMS ONLINE

หนังสั้น queer ของไทยที่เราชอบมากและมีให้ดู online

1.ENDING STRAIGHT WORLD (2013, ธนเสฎฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก)

2.ผลิรัก ไม่รู้โรย (2011, ณภัทร ใจเที่ยงธรรม)

3.WHERE IS TOMORROW? (2015, Parnupong Chaiyo)

4.BERMUDA (2016, ภาวิณี ศตวรรษสกุล, 39min)

5.ห้วงวิปลาส IN THE BOX OF FISH (เกียรติศักดิ์ กิ่งแก้ว)

6.สุดทางรัก (2012, สิทธิพงษ์ วงศ์อาจ)

7.มะลิซ้อนออกดอกเป็นมะละกอ (2015,ไกรลาศ พลดงนอก)

Wednesday, October 12, 2016

L’AVOCAT (2010, Cédric Anger, France, A+25)

L’AVOCAT (2010, Cédric Anger, France, A+25)

1.เป็นหนังเรื่องที่สองของ Cédric Anger ที่เราได้ดู อีกเรื่องนึงคือ NEXT TIME I’LL AIM FOR THE HEART (2014) ทั้งสองเรื่องมีจุดเหมือนกันคือ การที่ตัวละครพระเอกเป็น anti-hero หรือเป็นคนเลว โดยใน NEXT TIME I’LL AIM FOR THE HEART นั้น พระเอกเป็นฆาตกรโรคจิตที่มีตัวตนจริง และเป็นตัวละครที่ “ดำสนิท” ไม่มีสีขาวปน ส่วนใน L’AVOCAT นั้น ตัวละครพระเอกเป็นสีเทา เป็นทนายความที่รับว่าความให้กับมาเฟียในธุรกิจกำจัดขยะ ซึ่งเป็นมาเฟียที่ชั่วร้ายมาก ฆ่าคนบริสุทธิ์ตายไปแล้วหลายคน แต่ทนายความคนนี้ก็ยังว่าความให้มาเฟีย จนกระทั่งกลับใจในภายหลัง

2.เราว่า Cédric Anger มีฝีมือพอตัวเลย แต่เราชอบหนังของเขาในระดับ A+25 ทั้งสองเรื่องเลยนะ ไม่ได้ชอบในระดับ A+30 มันเหมือนกับว่าหนังทั้งสองเรื่องของเขามันเล่าเรื่องได้ดีมากๆ นำเสนอตัวละครได้ดีมากๆ และสร้างสถานการณ์น่าตื่นเต้นได้ดีในระดับนึงด้วย แต่หนังทั้งสองเรื่องมันเหมือนขาดมิติทางจิตวิญญาณอีกขั้นนึง หรือขาดความเข้มข้นทางอารมณ์ความรู้สึกอีก step นึง มันถึงจะไปถึงขั้น A+30 ได้น่ะ

คือถ้าเทียบกับผู้กำกับอย่าง Cédric Kahn ที่ทำหนังเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตที่มีตัวตนจริงอย่าง ROBERTO SUCCO (2001) แล้ว เราว่า Kahn ลงลึกทางจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่า Cédric Anger นะ เราก็เลยชอบหนังของ Cédric Kahn มากกว่า Cédric Anger

3.ประเด็นใน L’AVOCAT มันดีมากๆเลยนะ มันตีแผ่ความเลวร้ายของธุรกิจกำจัดขยะได้ดีในระดับนึง ซึ่งเราว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ แต่มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่เล่นประเด็นนี้

หนังเรื่องอื่นๆที่พูดถึงประเด็นนี้ก็มีเช่น

3.1 บ่อเป็นหยัง (2013, Teerawat Rujenatham + Athapol Tarnrat, documentary, A+30)


3.2 ชุมชน คน ขยะ (2014, Thitipat Rotchanakorn + Pawee Melanon, documentary)

REPORTERS: SEASON 2 (2009, Gilles Bannier, France, TV series, 10epsiodes, A+30)

REPORTERS: SEASON 2 (2009, Gilles Bannier, France, TV series, 10epsiodes, A+30)

เป็นละครทีวีที่สนุกมากๆ เสียดายที่เราไม่ได้ดูซีซั่นแรก และเราได้ดูแบบไม่ปะติดปะต่อกัน คือเราได้ดูตอนที่ 3-10 เมื่อหลายปีก่อน แล้วเพิ่งมาได้ดูตอนที่ 1-2 ในอีกหลายปีต่อมา

สรุปว่าลืมรายละเอียดไปหมดแล้ว แต่ถือว่าเป็นละครทีวีที่วางพล็อตเรื่องได้เข้มข้นมากๆ เหมือนทีมเขียนบทรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่อง “วงการข่าวหนังสือพิมพ์”, “ข่าวทีวี”, “ข่าวออนไลน์”, “การเมืองในฝรั่งเศส”, “การเมืองระหว่างประเทศ”  และนำเอาประเด็นหนักๆหลายประเด็นมายัดใส่ในละครได้ดีมาก ตัวละครสำคัญก็มีหลายตัว และแต่ละตัวก็ห้ำหั่นกันจริงๆ และมีปัญหาชีวิตที่หนักจริงๆ

ในแง่ความเป็นศิลปะ ละครทีวีเรื่องนี้อาจไม่เด่นชัดนัก แต่ในแง่ “ความเข้มข้น” และ “ความหนักแน่นของประเด็นต่างๆ” นี่ เราว่าละครทีวีเรื่องนี้ทำได้ดีมาก


นักแสดงทุกคนเล่นได้ดีมาก เราชอบมากเป็นพิเศษที่เห็น Marianne Denicourt มาเล่นละครทีวีเรื่องนี้ด้วย เราเคยชอบเธอมากๆจากหนังหลายเรื่องในทศวรรษ 1990 แต่น่าเสียดายที่พอเข้าสู่ทศวรรษ 2000 งานเธอก็น้อยลงอย่างฮวบฮาบ

EIKA KATAPPA (1969, Werner Schroeter, West Germany, A+30)

EIKA KATAPPA (1969, Werner Schroeter, West Germany, A+30)

เป็นหนังที่ชอบสุดๆ และเตรียมชิงอันดับหนึ่งประจำปีนี้ แต่ไม่รู้จะเขียนอะไรดี ซึ่งสิ่งนี้เหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆของ Werner Schroeter คือเขามักจะทำหนังที่ hyperbolic paraboloid มากๆ ดูฟุ้งฝันมากๆ และเราก็ enjoy กับมันมากๆ แต่ไม่รู้ว่าจะคว้าจับอะไรในหนังมาเขียนถึงดี มันเหมือนกับว่าผู้กำกับส่วนใหญ่ทำหนังที่เป็น “ของแข็ง”, ผู้กำกับอย่าง Apichatpong Weerasethakul ทำหนังที่เป็น “ของเหลว” ส่วนผู้กำกับอย่าง Werner Schroeter ทำหนังที่เป็น “อากาศ” น่ะ มันยากที่จะคว้าจับความงดงามในหนังของเขามาบรรยายถึงได้

เราเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นการดัดแปลงมาจากโอเปร่าหลายเรื่อง ซึ่งเราก็ไม่มีความรู้เรื่องโอเปร่าเลย เราก็เลยดูอย่างงงๆไปเกือบตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นช่วงที่เป็นตำนาน The Valkyrie ของ Richard Wagner เพราะช่วงนี้เราพอรู้เนื้อเรื่องมาบ้างแล้วจากการดูหนังเรื่อง DIE NIBELUNGEN (1924, Fritz Lang) ที่เล่าถึงตำนานเดียวกัน

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มีพูดถึงตำนาน Saint Sebastien ด้วยนะ แต่ตอนดูเราไม่รู้เลยว่ามันพูดถึง Saint Sebastien อยู่ ถึงแม้เราจะเคยดูหนังเรื่อง SEBASTIANE (1976, Derek Jarman) มาแล้วก็ตาม

ถึงเราจะแทบไม่เข้าใจเนื้อเรื่องในหนังเรื่องนี้เลย เราก็ชอบ “ลีลาท่าทาง” ของนักแสดงมากๆ มันเหมือนเป็นหนังที่เชิดชูความงดงามของ “การโพสท่า” “อากัปกิริยา” , “การทำหน้าทำตา” ของนักแสดงจริงๆ คือในหนังเรื่องอื่นๆนั้น “การโพสท่า” จะถูกลดทอนความสำคัญลงไป เพื่อให้มันด้อยกว่า “การเล่าเรื่อง” ที่มักจะอาศัยการแสดงแบบสมจริงเป็นหลัก แต่ในหนังเรื่องนี้นั้น การเล่าเรื่องถูกลดทอนความสำคัญลงไป และ “การโพสท่า” ถูกขับเน้นให้เด่นเป็นสง่าขึ้นมา และมันก็ทำออกมาได้สาแก่ใจเราจริงๆ

การใช้สีในหนังเรื่องนี้ก็งดงามมากๆ ซึ่งมันเป็นอย่างนี้กับหนังทุกเรื่องของ Werner Schroeter อยู่แล้ว


ฉากการวิ่งลงบันไดนี่ก็ถือเป็นฉากคลาสสิคได้เลย

Tuesday, October 11, 2016

BLUE HOUSE (2016, Kridpuj Dhansandors, A+15)

BLUE HOUSE (2016, Kridpuj Dhansandors, A+15)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ขอพูดถึงหนังเรื่องนี้ในแง่ลบก่อนแล้วกัน หรือในแง่ที่ว่า เพราะเหตุใดเราถึงไม่ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 555

คือดูแล้วก็นึกถึงหนังของ Teeranit Siangsanoh, Wachara Kanha และหนังยุคแรกๆของ Theeraphat Ngathong กับ Supakit Seksuwan นะ คือที่นึกถึงหนังของผู้กำกับ 4 คนนี้เป็นเพราะว่า ผู้กำกับ 4 คนนี้ก็ทำ “หนังทดลองที่ใช้ home video เป็นองค์ประกอบ” เหมือนกัน มันมีทั้งความเป็นหนังทดลองและความเป็น home video ผสมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ดูในหนังทดลองของต่างชาติ คือจริงๆแล้วต่างชาติอาจจะมีทำหนังแบบนี้หลายเรื่องก็ได้นะ แต่หนังแบบนี้มันไม่ค่อยได้รับการฉายในไทยน่ะ เท่าที่เรานึกออกก็มีแค่ AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, Jonas Mekas, 288min) กับ IMMANENCE DECONSTRUCTION OF US (2011, Rouzbeh Rashidi, Ireland, 70min) ที่เป็นการเอา home video มาร้อยเรียงเป็นหนังทดลองเหมือนกัน

คือพอเอา BLUE HOUSE ไปเทียบกับหนังกลุ่มเดียวกันนี้แล้ว เราจะรู้สึกว่า BLUE HOUSE มันถ่ายได้ไม่ทรงพลังและตัดต่อร้อยเรียงได้ไม่ทรงพลังเท่าน่ะ คือเราว่า Teeranit กับ Wachara ถ่ายได้ทรงพลัง ถึงแม้มันจะเป็นการบันทึกภาพกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และทั้งสองก็สามารถนำมาตัดต่อร้อยเรียงกันได้ในแบบที่ทรงพลังมากๆในบางเรื่อง อย่างเช่นใน PHENOMENON (2012, Teeranit Siangsanoh) หรือ บรรยากาศยามเช้าที่บ้านตอน 6 โมง (Wachara Kanha)

คือเราว่า Teeranit กับ Wachara มี “ตา” และมี sense แบบนักทำหนังน่ะ เขาถึงถ่ายภาพออกมาได้ทรงพลังสำหรับเรา และมีความเป็นกวีอยู่ในตัวสูงมากๆด้วย เขาถึงสามารถร้อยเรียงซีนต่างๆออกมาแล้วให้ความรู้สึกที่งดงามมากๆได้ (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องนะ หนังบางเรื่องของสองคนนี้ก็อาจจะไม่ทรงพลังมากนัก หรืออาจจะน่าเบื่อในบางเรื่อง)

เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้ชอบ BLUE HOUSE ถึงขั้น A+30 น่ะ เพราะเราว่ามันถ่ายไม่สวย 555, ถ่ายไม่ทรงพลัง, การตัดต่อก็ไม่ได้อารมณ์เชิงกวีอย่างรุนแรงแบบหนังทดลองที่เราคุ้นเคยหรือชื่นชอบ แต่ถ้าหากมองว่านี่เป็นหนังเรื่องแรกๆของมือสมัครเล่น มันก็เป็นหนังที่น่าพอใจ และหวังว่าผู้กำกับจะพัฒนา sense ของการถ่ายภาพและการตัดต่อให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกในหนังเรื่องต่อๆไป

2.เอาล่ะ คราวนี้มาพูดถึงจุดที่ชอบบ้าง คือเราชอบที่มันประหลาดดี เป็นตัวของตัวเองดี และกล้ามากที่ทำหนังแบบนี้ออกมา คือเหมือนเป็นการทำหนังที่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ โดยไม่พยายามจะเอาใจผู้ชมในวงกว้าง หรือพยายามจะสร้างหนังเพื่อให้อยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่งที่สังคมยอมรับ

มันมีความสนุกของคนทำอยู่ด้วย คือมันเหมือนมีความสนุกในการทดลองกับองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์น่ะ นั่นคือภาพ, เสียง, การตัดต่อ โดยมีการตัดต่อภาพที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันมาไว้ติดกัน, มีการเล่นกับเทคนิคต่างๆทางภาพ, มีการใส่เสียงที่ไม่เกี่ยวกับภาพ คือดูแล้วมันเหมือนการทดลองเล่นแร่แปรธาตุทางภาพยนตร์ ลองผสมโน่นกับนี่มาไว้ด้วยกัน ลองผสมสาร A กับ สาร B เข้าด้วยกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันไม่เกิดเป็นทองหรือเพชร แต่มันเป็นสารเคมีประหลาดๆอะไรสักอย่าง แต่แน่นอนว่าถ้าหากผู้กำกับทดลองทำอะไรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เขาอาจจะเริ่มค้นพบ “จังหวะ” หรือ “วิธีการถ่าย” ที่เหมาะกับตัวเองจริงๆในอนาคตก็ได้

และถึงแม้เราจะรู้สึกว่าเขาถ่ายไม่สวย แต่เราก็ชอบการใช้ home video มาทำหนังทดลองนะ เพราะเรารู้สึกว่าภาพ home video มัน “มีชีวิต” ดีน่ะ มันเป็นการบันทึกชีวิตจริงที่ไม่ได้ถูกจำกัดความหมายก่อนการถ่าย คือบางครั้งถ้าหากเราคิดประดิษฐ์ฉากสวยๆขึ้นมาสักฉากหนึ่ง เราก็อาจจะถ่ายได้ฉากที่สวยมากๆและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายที่เราซ่อนแฝงไว้ในฉากนั้นก็จริง แต่มันเหมือนฉากนั้นมันตายแล้ว หรือมันมีขีดจำกัดน่ะ เพราะทุกอย่างในฉากนั้นถูกกำหนดความหมายและความงามเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทุกอย่างในฉากนั้นอยู่ภายใต้เหตุผลของผู้สร้างฉากและเจตนาของผู้สร้างฉากแล้ว แต่ภาพแบบ home video มันเป็นการบันทึกชีวิตจริงที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาล่วงหน้าน่ะ มันอาจจะไม่ได้งดงามเท่าฉากที่ประดิษฐ์ขึ้นมา และไม่ได้ซ่อนแฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง แต่ในความ meaningless ของมัน มันมีความ limitless อยู่ด้วย เพราะมันไม่ได้ถูกครอบไว้ด้วยเจตนาของผู้สร้างฉาก สิ่งที่เกิดขึ้นใน home video เกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง และไม่ได้ถูกครอบงำด้วยเจตนาของผู้สร้างฉาก ถึงแม้ว่ามันจะยังคงถูกครอบงำด้วยเจตนาของผู้ถ่ายและผู้ตัดต่ออยู่ก็ตาม


สรุปว่า ชอบ BLUE HOUSE มากในระดับนึง เพราะมันเป็นแนวทางหนังที่เราชอบ เราชอบหนังทดลองกึ่ง home video แบบนี้ แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ยังถ่ายภาพได้ไม่ทรงพลังเท่าไหร่ และยังตัดต่อได้ไม่ทรงพลังเท่าไหร่จ้ะ ส่วนเรื่องความหมายของปลาหรือแมลงหรือแสงไฟหรืออะไรต่างๆในหนังนั้น เราไม่ขอตีความนะ เพราะเราไม่ถนัดเรื่องการตีความสัญลักษณ์อะไรพวกนี้ 

Monday, October 10, 2016

GOD OF SABRE (1979, Hong Kong, TV series, about 360 min, A+30)

GOD OF SABRE (1979, Hong Kong, TV series, about 360 min, A+30)
ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์

งดงามมาก เกือบเทียบชั้นได้กับละครทีวีเรื่อง “จอมดาบหิมะแดง” (THE BLACK SABRE) (1989) เลย ในแง่ละครทีวีกำลังภายในที่ให้อารมณ์ประณีตงดงามมากๆ แต่เราว่า “จอมดาบหิมะแดง” กำกับออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะมากกว่า ส่วนฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์นั้น อาจจะไม่ได้มีชั้นเชิงทางศิลปะมากนัก แต่มันก็ดูละเมียดกว่าละครทีวีกำลังภายในทั่วไป

คือละครทีวีกำลังภายในทั่วไป มันจะเน้นพล็อตเรื่อง เน้นฉากต่อสู้กันน่ะ แต่ละครทีวีเรื่องนี้ เราว่าจุดที่ทำให้มันแตกต่างจากละครทีวีแนวเดียวกันก็คือว่า มันดูจะให้ความสำคัญกับอารมณ์รัก, อารมณ์โหยไห้อาลัยระหว่างตัวละครต่างๆมากพอสมควร คือคนที่กะดูฉากบู๊อย่างเดียวคงไม่สบอารมณ์กับละครทีวีเรื่องนี้ หรือถ้าหากตัวเราเองได้ดูละครทีวีเรื่องนี้ตอนเด็กๆ เราก็อาจจะมองว่ามันไม่ค่อยสนุกก็ได้ แต่พอเรามาดูตอนโตแล้ว เราก็เลยพบว่าการที่ละครเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับอารมณ์อื่นๆ นอกเหนือจากความแค้นและการต่อสู้ห้ำหั่นกันเพียงอย่างเดียว มันดูเป็นสิ่งที่น่าสนใจดี

ฉากต่อสู้ที่มีอยู่เพียงประปรายในเรื่องนี้ ก็ดูน่าสนใจดีนะ คือเราจะพบว่าพระเอกและนางเอกใช้ดาบวงพระจันทร์เพียงแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้นเอง และการใช้แต่ละครั้งก็ดูตัดต่อรวดเร็วมาก แต่เราว่าการถ่ายทำฉากเหล่านี้มันออกมาดูดีน่ะ ทั้งการถ่ายแสงสะท้อนอย่างรุนแรงจากดาบวงพระจันทร์ และการตัดต่อที่รวดเร็วแต่ลงตัว มันทำให้นึกถึงฉากการต่อสู้ใน THE ASSASSIN (2015, Hou Hsiao-hsien)  ที่มาน้อยครั้ง และไม่หวือหวา แต่มันมีพลังเฉียบขาดมากๆ ในความเรียบง่ายไม่หวือหวานั้น

ใน ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ มีตัวละครที่สืบทอดวิชาทายาทมีดบินมาจากลี้คิมฮวงด้วย เพราะฉะนั้นมันก็เลยน่าสนใจดี ที่ตัวละครในนิยายของโกวเล้งมันมีการ cross จักรวาลกัน  คือการที่ตัวละครในฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ สืบทอดวิชามาจากลี้คิมฮวงนี่ มันก็หมายความว่า เนื้อหาในฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ มันเกิดขึ้นต่อจาก ฤทธิ์มีดสั้น และ จอมดาบหิมะแดง

และเมื่อกี้พอค้นใน wikipedia ก็พบว่า ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งใน “ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์” มันเป็นตัวละครเดียวกับใน “ซาเสียวเอี้ย” ด้วย โดยเนื้อหาในซาเสียวเอี้ยเกิดก่อนฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์

ประเด็นเรื่องพรรคมารในละครเรื่องนี้ก็น่าสนใจดี มันเหมือนกับใน “ดาบมังกรหยก” น่ะ ที่พรรคมารนั้น จริงๆแล้วอาจจะเป็นคนดีกว่าพวกพรรคเทพ พรรคคุณธรรมก็ได้ แต่ที่พวกเขาได้ชื่อว่าพรรคมาร เป็นเพียงเพราะว่า พรรคที่อ้างตัวว่าเป็น “คนดี” กลัวว่าพวกเขาจะมาแย่งอำนาจ ก็เลยพยายามสร้างภาพให้พวกเขาว่าเป็น “พรรคมาร”

ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ ติดอันดับประจำปีของเราอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากปีนี้เราแทบไม่ได้ดูละครทีวีเลย เพราะฉะนั้นเราคงเอาฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ไปรวมในอันดับหนังที่ชอบที่สุดในปีนี้แทน

อันนี้เป็นเพลงไตเติลของฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ เป็นหนึ่งในเพลงที่เราชอบที่สุดในชีวิต คือเป็นเพลงที่เราได้ยินมาตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ จนตอนนี้ผ่านมา 30 กว่าปีแล้ว เพลงมันยังติดหูอยู่เลย

THE GIRL ON THE TRAIN (2016, Tate Taylor, A+30)

THE GIRL ON THE TRAIN (2016, Tate Taylor, A+30)

ชอบในระดับ A+30 แต่อาจจะไม่ติดอันดับประจำปี คือสาเหตุที่เราชอบมากเป็นเพราะว่าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาก่อนเลย คือตอนที่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้ เรานึกว่ามันจะเป็นหนังแบบ who done it หรือแบบอกาธา คริสตี้น่ะ เรานึกว่ามันจะเป็นแบบนิยายเรื่อง 4.50 FROM PADDINGTON ของอกาธา คริสตี้ที่พูดถึงผู้โดยสารรถไฟที่เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม โดยนิยายเรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง CRIME IS OUR BUSINESS (2008, Pascal Thomas) มาแล้ว

แต่พอดูไปได้สักพัก เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้มันเข้าทางเรามากๆ เพราะมันเต็มไปด้วยตัวละครหญิงที่มีบุคลิกแบบที่เราชอบ และมันไม่ใช่หนังแบบ ใครฆ่าที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ใครคือฆาตกร”, ให้ความสำคัญกับการหักมุมแบบคาดไม่ถึง และให้ความสำคัญกับการหลอกล่อคนดูให้เข้าใจไปผิดทาง แต่มันเป็นหนังแบบ Claude Chabrol/Ruth Rendell/Georges Simenon ด้วย โดยหนังแบบ Chabrol/Rendell/Simenon มันจะไม่ใช่หนังลึกลับ/ระทึกขวัญที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ใครคือฆาตกรแต่มันเป็น หนังชีวิตที่มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นในเรื่องโดยเหตุการณ์ฆาตกรรมในหนังอาจจะเป็นปริศนาลึกลับ แต่ประเด็นที่ว่าใครเป็นฆาตกรแทบไม่มีความสำคัญเลย สิ่งที่สำคัญคือการเจาะลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละครต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น โดยตัวอย่างหนังที่ดีมากๆในหนังกลุ่มนี้ก็มีเช่น THE BLUE ROOM (2014, Mathieu Amalric) ที่สร้างจากนิยายของ Georges Simenon, ALIAS BETTY (2001, Claude Miller) ที่สร้างจากนิยายของ Ruth Rendell และ THE COLOR OF LIES (1999, Claude Chabrol) ที่พูดถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมเด็กหญิงในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่หนังแทบไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใดกับประเด็นที่ว่าใครเป็นฆาตกร

แน่นอนว่าพอ Claude Chabrol ตายไปในปี 2010 เราก็โหยหาหนังกลุ่มนี้อย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นพอได้ดู THE GIRL ON THE TRAIN เราก็เลยมีความสุขอย่างสุดๆ เพราะหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับสภาพจิตตัวละครมากทีเดียว และไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการสร้างสถานการณ์ตื่นเต้นลุ้นระทึกในช่วงท้ายของหนัง

แต่ THE GIRL ON THE TRAIN ก็คงไม่ติดอันดับประจำปีของเรานะ เพราะจริงๆแล้วหนังมันก็เหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่าง Agatha Christie กับ Claude Chabrol น่ะ คือมันยังให้ความสำคัญกับการหักมุมและการหลอกล่อคนดูน่ะแหละ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของหนัง ถึงแม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้มากเท่าหนังสูตรสำเร็จเรื่องอื่นๆ คือพอดูช่วงครึ่งหลังของหนัง มันจะมีบางจุดที่ทำให้เราสงสัยว่า รายละเอียดบางอย่างในชีวิตตัวละครมันไม่ได้ถูกใส่เข้ามาเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณตัวละคร แต่ใส่เข้ามาเพื่อผลในการหักมุมมากกว่า ซึ่งเราไม่ชอบอะไรแบบนี้ 

คือถ้าหนังมันไปถึงขั้น Georges Simenon/Ruth Rendell/Claude Chabrol จริงๆ เราก็คงชอบมันถึงขั้นติดอันดับประจำปี แต่สิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ก็คือมันเข้าใกล้ Chabrol ได้มากกว่าหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่นๆ แต่ยังไปไม่ถึงขั้นนั้นซะทีเดียว

ดูแล้วนึกถึง IN THE CUT (2006, Jane Campion) ด้วย ในแง่การเป็น หนังชีวิตที่มีปริศนาฆาตกรรมอยู่ในหนังเหมือนกัน และเน้นสภาพจิตของตัวละครนางเอกอย่างรุนแรงเหมือนกัน

เห็นหลายคนเทียบหนังเรื่องนี้กับ GONE GIRL (2014, David Fincher) ซึ่งเราก็ชอบหนังเรื่องนี้กับ GONE GIRL ในระดับเท่าๆกันนะ เพราะมันมีข้อดีคนละอย่าง คือจริงๆแล้ว THE GIRL ON THE TRAIN เข้าทางเรามากกว่าในแง่ แนวทางหนัง เพราะ THE GIRL ON THE TRAIN มันให้ความสำคัญกับสภาพจิตตัวละครหญิงอย่างรุนแรง และเราชอบหนังแบบนี้มากกว่าหนังหักมุม, หลอกล่อคนดูอย่างชาญฉลาดแบบ GONE GIRL แต่ GONE GIRL เหมือนมีการกำกับที่เฉียบคมกว่าน่ะ มันก็เลยสร้างความรู้สึกประทับใจได้ในแง่ฝีมือการกำกับ ในขณะที่ THE GIRL ON THE TRAIN มันประทับใจเราในแง่แนวทางหนัง เพราะมันเล่าเรื่องในแบบที่เราโหยหามานานมากแล้วหลังจาClaude Chabrol ตายไป

Ukrit Sa-nguanhai’s partial filmography

มีเพื่อนคนนึงได้ดูวิดีโอ LEVITATING EXHIBITION (2016, Ukrit Sa-nguanhai) ที่ชั้น 9 BACC แล้วเกิดอาการกรี๊ดแตก เราก็เลยถือโอกาสนี้รวบรวมรายชื่อหนังของ Ukrit ไว้ที่นี้แล้วกัน เพราะเราเองก็ชอบหนังของเขาอย่างสุดๆ

Ukrit Sa-nguanhai’s partial filmography

1.MICROWAVE MAN (2010, 23min)

2.THE POB’S HOUSE (2010, 15min)
บ้านผีปอบ

3.GHOSTS IN THE CLASSROOM (2011)

4.CELESTIAL SPACE (2012, 28min)
พิมานอากาศ

5.NEW PROJECT 1 (2013)
ฉายในงาน DAMAGED UTOPIA ที่ Reading Room

6.MELANCHOLY OF A VIDEO (2013)

7.THE YOUTH (2014, co-directed with Chayajee Krittaapongsakorn)

8.KINGDOM FUNGI (2014, 18min)

9.LEVITATING EXHIBITION (2016, 23min)


เรายังไม่ได้ดู MICROWAVE MAN กับ KINGDOM FUNGI นะ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเคยกำกับหนังเรื่องอื่นๆอีกบ้างไหม หรือสามารถหาหนังของเขาดูได้ทางไหนบ้าง นอกจากสองเรื่องที่มีลิงค์ไว้แล้ว

Sunday, October 09, 2016

Sorry for Poll 84: FILMS ABOUT POLITICIANS

Sorry for Poll 84: FILMS ABOUT POLITICIANS

I made Poll 84: FILMS ABOUT POLITICIANS in June 2010, but I got busy after that with the Marathon Film Festival, so I just left the poll there without counting the votes, and the record for the votes was deleted by the blog company at the end of the year 2010, and I don’t remember which films have how many votes.


I have left the poll there at the right hand side of the blog for the past six years, and now I have time to delete it. I’m a total failure at managing my own time.

BY THE TIME IT GETS DARK (2016, Anocha Suwichakornpong, A+30)

BY THE TIME IT GETS DARK (2016, Anocha Suwichakornpong, A+30)
ดาวคะนอง

จริงๆแล้วก็ไม่เข้าใจอะไรหนังเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว แต่คิดว่ารีบจดบันทึกความรู้สึกเล็กๆน้อยๆของตนเองเก็บไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะเดี๋ยวยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งจำอะไรได้น้อยลง หรือจำอะไรได้คลาดเคลื่อนมากเพียงนั้น ถ้าหากในอนาคตเราได้ดูหนังเรื่องนี้รอบสอง อาจจะมาเขียนเพิ่มเติม

1.ดูแล้วชอบมากกว่า MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong) เพราะเราว่าดาวคะนองมีจุดที่เราชอบเหมือนกับ GHOSTS (2005, Anocha Suwichakornpong, 35min) ในแง่ที่ว่า ทั้ง GHOSTS และดาวคะนองมันดูมีความ organic หรือมันดูเหมือนหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่” น่ะ

อันนี้คือความรู้สึกของเรานะ คือเราก็ชอบ MUNDANE HISTORY แบบสุดๆ แต่สำหรับเรานั้น MUNDANE HISTORY มันเหมือนกับถูก “ครอบ” ด้วย message, concepts, ทัศนคติ หรืออะไรทำนองนี้อยู่น่ะ แล้วพอมันถูกครอบด้วย message “ชีวิต” ในหนังมันก็เลยเหมือนเติบโตได้ไม่เต็มที่ มันยังมี “ความขาดอากาศหายใจ” ในหนังอยู่

ส่วน GHOSTS กับดาวคะนองนั้น มันเหมือนกับไม่ได้ถูกครอบด้วย message น่ะ คือแน่นอนว่ามันมี messages ในดาวคะนอง แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า messages ไม่ได้ไป “ครอบ” ตัวหนังเอาไว้ หนังมันก็เลยเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่ได้รับอนุญาตให้เติบโตได้เต็มที่ หรือเติบโตได้มากกว่า “หนังทั่วๆไป” มันมีอากาศหายใจในหนัง

คือในความรู้สึกของเรานั้น MUNDANE HISTORY ทำให้เรานึกถึงความสวยงามของ “ช่อดอกไม้” น่ะ คือมันเป็นช่อดอกไม้ที่ได้รับการ “จัดแต่ง” อย่างสวยงามสุดๆ แต่มันเป็นความงามที่เกิดจากการจัดแต่งมาเป็นอย่างดี ด้วยศิลปินนักจัดดอกไม้ที่มีความเชี่ยวชาญสุดๆ ดอกไม้แต่ละดอก และตำแหน่งของดอกไม้แต่ละดอก มีทั้งความงดงามและความหมาย แต่ดอกไม้เหล่านั้นตายแล้ว

ส่วนความงดงามของ GHOSTS และดาวคะนองนั้น มันทำให้เรานึกถึงความงามของต้นไม้ที่เติบโตในสวนน่ะ มันเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้อย่างเสรีในระดับนึง มันแตกกิ่งก้านออกไปได้อย่างเป็นอิสระในระดับนึง มันจะแตกกิ่งซ้าย 14 กิ่ง กิ่งขวา 15 กิ่ง มันก็ทำได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับควบคุมให้มันดูสมมาตรอยู่ตลอดเวลา ความงามของต้นไม้นี้เกิดจากการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้มันเติบโตอย่างเป็นอิสระของมันเอง แต่ไม่ได้เกิดจากการไป “จัดแต่ง” กิ่งไม้ทุกกิ่งให้บิดเบือนไปตามรูปทรงที่ design ไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างเข้มงวด

คือแน่นอนว่า “ดาวคะนอง” มันก็ต้องผ่านการ design มาแล้วอย่างรุนแรงจากผู้กำกับน่ะแหละ เพียงแต่ว่า เมื่อเทียบกับหนังโดยทั่วไปแล้ว เรารู้สึกว่าเวลาเราดูหนังเรื่องนี้ เรารู้สึก “เป็นอิสระ” กว่ามากๆเมื่อเทียบกับหนังโดยทั่วไปน่ะ ซึ่งมันคล้ายคลึงกับความรู้สึกที่เราได้รับเวลาดูหนังของ Alexander Kluge, Jacques Rivette และ Miguel Gomes คือเวลาที่เราดูหนังของผู้กำกับสามคนนี้ เราจะรู้สึกเหมือนกับได้ดูความงดงามของต้นไม้ที่ได้รับอนุญาตให้เติบโตอย่างเป็นอิสระเหมือนกัน โดยเฉพาะหนังของ Alexander Kluge นั้นมันเต็มไปด้วย fragments ยิบย่อยที่เราแทบหาความเชื่อมโยงกันทางเหตุผลไม่ได้เลยเหมือนกับดาวคะนอง แต่มันกลับให้ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากๆกับผู้ชมเหมือนกัน ในขณะที่เวลาเราดูหนังของ Peter Greenaway นั้น มันเหมือนกับได้เห็น “ช่อดอกไม้” ที่ถูกจัดแต่งมาเป็นอย่างดี มันงดงามสุดๆ แต่มันเป็นความงดงามจากการจัดแต่ง และมันตายแล้ว

2.ตอนแรกก็สงสัยว่าดาวคะนองมันจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 อย่างไร แต่ปรากฏว่ามันเหมือนแตะเรื่องนี้ตรงๆเพียงแค่ 10% ของหนังเท่านั้น ในขณะที่ส่วนที่เหลือของหนังเป็นหน้าที่ของผู้ชมแต่ละคนเองที่จะหาความเชื่อมโยงกัน

มันก็เลยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา เพราะประเด็น 6 ต.ค. 2519 นั้น มันก็ถูกเล่าผ่านทางบทความ, นิตยสาร, หนังสือ และเว็บไซต์จำนวนมากมาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเล่าสิ่งที่หาอ่านได้จากหนังสือซ้ำอีก และมันก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางนิทรรศการศิลปะ, ละครเวที และภาพยนตร์บางเรื่องมาแล้วด้วย อย่างเช่นนิทรรศกาลศิลปะ  FLASHBACK ’76: HISTORY & MEMORY OF OCTOBER 6 MASSACRE (2008, Manit Sriwanichpoom, Ing K, Sutee Kunavichayanont, Vasan Sitthiket)

หรือในส่วนของละครเวทีนั้น ก็มีบางเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่น TYPHOON THE REMAINS (2013, Teerawat Mulvilai) ที่ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.เพียงแค่เหตุการณ์เดียว แต่พูดถึงตั้งแต่กบฏร.ศ. 130 เรื่อยมาจนถึง 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 และหนึ่งในฉากที่เราชอบมากใน TYPHOON THE REMAINS ก็คือฉากที่ตัวละครหลายคนออกมาพูดว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2516 หรือ 6 ต.ค. 2519 พ่อแม่ของใครทำอะไรที่ไหนบ้าง แม่ของบางคนอาจจะอยู่ในอีสาน ใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ ในขณะที่พ่อของบางคนอยู่ในกลุ่มกระทิงแดง ที่มีส่วนในการสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์

หรือในส่วนของภาพยนตร์นั้น เราว่าหนังอย่าง DON’T FORGET ME (2003, Manassak Dokmai) และ OCTOBLUR (2013, Patana Chirawong) ก็เหมือนทำหน้าที่สะท้อนสองด้านของเหตุการณ์ 6 ต.ค.ได้อย่างดีมากๆไปแล้ว เหมือนกับ THE ACT OF KILLING (2012, Joshua Oppenheimer) และ THE LOOK OF SILENCE (2014, Joshua Oppenheimer) ที่สะท้อนสองด้านของเหตุการณ์สังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย คือเวลาเราดู OCTOBLUR เราจะนึกถึง THE ACT OF KILLING น่ะ เพราะ OCTOBLUR เป็นการสัมภาษณ์จักรา ยอดมณี ซึ่งเป็นหลานชายของถนอม กิตติขจร คือมันเป็นการให้ปากคำของฝ่ายที่หลายคนมองว่าเป็น “ผู้กระทำ” ส่วน DON’T FORGET ME นั้นเป็นการสะท้อนภาพเหตุการณ์จากความรู้สึกที่เข้าข้างผู้ถูกกระทำ ซึ่งเหมือนกับ THE LOOK OF SILENCE ที่มองจากฝั่งผู้ถูกกระทำอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน

มันก็เลยดีที่ดาวคะนองฉีกตัวออกไปอย่างรุนแรงจากการนำเสนออะไรที่เราเคยเห็นๆมาแล้ว รวมทั้งไม่ต้องเล่าเรื่องของจิระนันท์ พิตรปรีชา ซ้ำอีก เพราะหนังเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน (2001, Bandit Rittakol) ได้เล่าไปแล้ว หนังไปพ้นจากข้อมูล, เรื่องเล่าชุดเดิมๆที่เราเคยเห็นผ่านตามา และไปพ้นจากการสร้างขั้วตรงข้ามเพียงแค่สองขั้วหลัก แบบที่หนังทั่วไปมักนิยมใช้ คือหนังทั่วไปมักจะลดความซับซ้อนของความเป็นจริง/สถานการณ์/เหตุการณ์ลง ด้วยการสร้างขั้วตรงข้าม 2 ขั้วหลักขึ้นมาในหนัง ระหว่าง “ผู้กระทำ” กับ “ผู้ถูกกระทำ” อย่างเช่น COLONIA (2015, Florian Gallenberger) ที่เล่าเรื่องของการสังหารหมู่ในชิลี และเราสามารถจัดแบ่งตัวละครออกเป็นสองขั้วหลักได้ง่ายๆอย่างชัดเจน ในขณะที่หนังอย่าง THE PEARL BUTTON (2015, Patricio Guzmán) พูดถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในทศวรรษ 1970 ในชิลีเหมือนกัน แต่มันไปไกลกว่านั้น เพราะคนในหนังไม่ได้มีแค่ 2 ขั้ว เพราะหนังมันครอบคลุมไปถึงการสังหารชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อนด้วย

คือเราก็ชอบ COLONIA มากนะ และการนำเสนอเหตุการณ์แบบสร้างขั้วขัดแย้งสองขั้วก็ไม่ใช่สิ่งผิดอะไร เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่หนังทั่วไปทำกันน่ะ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีหนังเรื่องไหนไม่ใช้สูตรสำเร็จนี้ และนำเสนอเหตุการณ์ในแบบที่ซับซ้อนมากกว่าขั้วขัดแย้งสองขั้ว อย่างเช่น THE PEARL BUTTON และดาวคะนอง เราก็มีแนวโน้มที่จะชอบหนังกลุ่มนี้มากๆน่ะ

โดยในดาวคะนองนั้น เราไม่ได้เห็นเพียงแค่ “ผู้ถูกกระทำ” และ “ผู้กระทำ” แต่เราได้เห็นคู่ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอื่นๆด้วย ทั้ง ชนชั้นกลาง-ชนชั้นแรงงาน, แม่ชี-สาวเต้นดิสโก้, นักศึกษาในอดีต-นักศึกษาในปัจจุบัน, เจ้าของเรื่องเล่า-ผู้นำเรื่องเล่าของคนอื่นมาถ่ายทอด, ตัวจริง-ตัวแทน-ตัวแทนของตัวแทน-ตัวแทนของตัวแทนของตัวแทน

การที่เราชอบหนังที่ไปพ้นจากการสร้างขั้วขัดแย้งเพียงแค่สองขั้ว สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์ในไทยในปัจจุบันนี้ด้วยแหละ เพราะถ้าหากจะมีหนังไทยที่พยายามจะสะท้อนปัญหาร้ายแรงในปัจจุบันนี้ ผู้สร้างหนังก็อาจจะต้องตัดสินใจก่อนว่า จะสร้างหนังโดยพูดถึงเพียงแค่เสื้อเหลือง-เสื้อแดง หรือ สลิ่ม-liberal หรือจะสร้างหนังที่พูดถึงความแตกต่างหลากหลายของแนวคิดในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งเราว่าหนังกลุ่มหลังเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่า

3.ชอบการปรากฏตัวของผู้หญิงที่เป็นชนชั้นแรงงานในฉากต่างๆมากๆ เหมือนหนังเลือกที่จะมองในสิ่งที่ถูกทำให้เบลอในหนังเรื่องอื่นๆ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเราเอง เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้น เราก็เห็นคนกลุ่มนี้เกือบตลอดเวลา แต่มันก็เป็นสิ่งที่เบลอในการรับรู้ของสายตาเราเองเหมือนกัน

ชอบที่หนังใช้นักแสดงคนเดียวเล่นเป็นผู้หญิงชนชั้นแรงงานในทุกๆฉากด้วย เพราะการใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่นหลายๆบทแบบนี้ มันทำให้เรารู้ตัวตลอดเวลาว่า เราเห็นเพียงแค่ “ภาพแทน” น่ะ เราเห็นเพียงแค่ “ภาพแทน” ของชนชั้นแรงงาน, สาวเสิร์ฟ, แม่ชี, สก๊อย และมันไม่ใช่คนกลุ่มนี้จริงๆ มันเป็นเพียงแค่ภาพแทนเท่านั้น

4.ดูรอบแรกแล้วยังงงๆอยู่ แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า บทของโสรยา นาคะสุวรรณ เป็นเหมือนภาพแทนของตัวอโนชาเอง ส่วนบทของวิศรา วิจิตรวาทการ เป็นเหมือนภาพแทนของโสรยา และบทของทราย เจริญปุระ เป็นเหมือนภาพแทนของวิศราอีกทีนึง

ชอบการปรากฏตัวของทราย เจริญปุระ, เพ็ญพักตร์, สายป่าน ในช่วงครึ่งหลังของหนังมากๆ คือชุดของเพ็ญพักตร์จัดเต็มมาก มีผ้าพาดคอรุ่ยร่ายสยายเต็มที่ มันเหมือนกับตอกย้ำให้เห็นว่า “ภาพยนตร์” แตกต่างจากความเป็นจริงมากเพียงใดน่ะ

การซ้อนๆกันหลายชั้นในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงมิวสิควิดีโอ BACHELORETTE – Björk (1997, Michel Gondry) ด้วยนะ ที่มันเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่ากันไปเรื่อยๆ และยิ่งเล่าซ้อนกันเป็นชั้นๆมากเท่าใด เรื่องที่ถูกเล่าก็จะยิ่งถอยห่างจากความเป็นจริงมากเท่านั้น เหมือนกลุ่มตัวละครเพ็ญพักตร์-ทราย-สายป่าน ในหนังเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะถอยห่างจาก “ตัวจริง” มากกว่ากลุ่มตัวละครตัวอื่นๆ

5.เหมือนหนังมีการตอกย้ำเรื่องความเป็นภาพยนตร์ หรือความไม่จริงของภาพยนตร์อยู่ตลอดเวลา (แบบนี้เขาเรียกว่า Brechtian หรือเปล่า) อีกฉากนึงที่ติดตามากคือฉากที่โฟกัสไปที่มือของ Waywiree Ittianunkul ตอนโบกหานักศึกษาหนุ่ม ฉากนั้นเหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นความโรแมนติกแบบปลอมๆเวลาที่ภาพยนตร์หลายๆเรื่องนำเหตุการณ์จริงมาดัดแปลง

6.รู้สึกเหมือนกับว่า ฉากที่วิศราพูดเรื่องพลังจิต เป็นฉากที่ใช้แบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรกกับครึ่งหลัง เพราะหลังจากฉากนี้เป็นต้นไป หนังจะมีความกระจัดกระจายอย่างเต็มที่

7.มี motifs ที่น่าสนใจมากมายในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเห็ด-รา และปลานิล แต่เราคงต้องตามอ่านสิ่งที่ผู้ชมคนอื่นๆเขียนถึงหนังเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจ motifs เหล่านี้มากขึ้น

8. หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง THE PATRIOTIC WOMAN (1979, Alexander Kluge) ด้วย เพราะ Gabi Teichert นางเอกของ THE PATRIOTIC WOMAN เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่ “The more she grows suspicious of the linear, radically reductionist explanations of history found in schoolbooks, the more she questions a job that calls on her to teach German history in neat 45-minute segments. When Gabi Teichert shows interest, for instance, in the hundreds of little everyday stories that have been excluded by the official historiography, she deals with German history in the spirit of Kluge’s project: “And what else is the history of a country but the vastest narrative surface of all? Not one story but many stories.” (ส่วนนี้ copy มาจากหนังสือ FROM HITLER TO HEIMAT จ้ะ)

คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าอโนชาเป็นเหมือนกับนางเอกของ THE PATRIOTIC WOMAN ที่ไม่ได้พยายามอธิบายประวัติศาสตร์ด้วยการลดรูป, ลดความซับซ้อน, เล่าเรื่องตามลำดับเวลา แต่ให้ความสำคัญกับ hundreds of little everyday stories that have been excluded by the official historiography เพื่อสร้าง vastest narrative surface of all น่ะ


9.สรุปว่าในการดูรอบแรกนั้น เราไม่เข้าใจอะไรหนังเรื่องนี้เลย แต่หนังมันเต็มไปด้วย moments งามๆมากมายสำหรับเรา และเราชอบความกระจัดกระจายในหนังเรื่องนี้มากๆ เหมือนกับที่เราชอบความกระจัดกระจายใน DIVINE INTERVENTION (2002, Elia Suleiman), ARABIAN NIGHTS (2015, Miguel Gomes), INSURGENCY BY A TAPIR (2016, Ratchapoom Boonbunchachoke, Wachara Kanha, Chaloemkiat Saeyong, Chulayarnnon Siriphol) และหนังหลายๆเรื่องของ Alexander Kluge หนังเรื่องนี้เหมือนกับ “ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่” สำหรับเรา ส่วนความหมายของฉากต่างๆและความสัมพันธ์ของฉากต่างๆในหนังเรื่องนี้นั้น เราคงต้องหาอ่านเอาจากสิ่งที่คนอื่นๆเขียนนะจ๊ะ