Saturday, October 08, 2016

MAD TIGER (2015, Michael Haertlein, Jonathan Yi, documentary, A+)

MAD TIGER (2015, Michael Haertlein, Jonathan Yi, documentary, A+)

ได้ดูหนังเรื่องนี้ที่ Bangkok Screening Room
http://bkksr.com/

1.เป็นหนังเกี่ยวกับ subculture ที่เราแทบไม่เคยมีความรู้มาก่อน นั่นก็คือวงดนตรีประหลาดๆของชาวญี่ปุ่นที่หากินในสหรัฐ เป็นวงดนตรีพังค์ที่เน้นการแสดงบ้าๆบอๆมากกว่าการสร้างความไพเราะทางเสียงดนตรี ซึ่งเราว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจมากๆ คือพอพูดถึงวงดนตรีแบบวงดนตรีในหนังของ John Carney เราจะให้ความสำคัญกับความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นลำดับแรก แต่จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ เราสามารถสร้างวงดนตรีที่ขายการแสดงมากกว่าการขายเสียงดนตรีก็ได้

จุดนี้ทำให้นึกถึง Nina Hagen ด้วย คือจริงๆแล้วเพลงของ Nina Hagen ก็เพราะมากสำหรับเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดที่ทำให้เราสนใจเธอเป็นลำดับแรกคือบุคลิกของเธอ คือมันก็แล้วแต่ตัวศิลปินแหละ บางคนอาจจะเน้นขายเสียงร้องที่ไพเราะ, บางคนอาจจะเน้นขายเมโลดี้ที่พลิ้วไหว, บางคนอาจจะเน้นขายเนื้อร้อง, บางคนอาจจะเน้นขายเสียงเครื่องดนตรีแปลกๆ เพราะฉะนั้นถ้าหากศิลปินบางคนจะเน้นขายบุคลิกแปลกๆหรือการแสดงบ้าๆบอๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

2.ในขณะที่เราชอบหนังเรื่องนี้มากถึงระดับ A+ เพราะมันให้ข้อมูลเกี่ยวกับ subculture ที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราก็ไม่ได้ชอบมันมากสุดๆ เพราะเราไม่อินกับหนังหรือบุคคลในหนังมากเท่าไหร่ คือมันเป็น subculture ที่ดูไปแล้วเราก็พบว่า เราคงไม่สนใจจะไป experience มันในชีวิตจริงแต่อย่างใดน่ะ คือแค่รับรู้ว่ามี subculture นี้อยู่ก็พอแล้วสำหรับเรา เราไม่ได้สนใจอะไรวงดนตรีประเภทนี้ นักดนตรีในหนังก็ดูไปแล้วคงไม่ใช่คนที่มี wavelength ตรงกับเราเท่าใดนัก แต่เราไม่ได้ดูถูกวงดนตรีประเภทนี้นะ คือเราเป็นแค่พวกชอบบอยแบนด์หล่อๆ ชอบดนตรีแดนซ์โง่ๆ มันเป็นเรื่องของรสนิยมน่ะ วงดนตรีประเภทนี้แค่ไม่ใช่ทางเราเท่านั้นเอง

3.หนึ่งในฉากที่ชอบที่สุดคือฉากที่ Yellow ไม่พอใจที่เห็นอดีตสมาชิกวงมาดูการแสดงของพวกเขา คือเราว่าฉากนี้มันแสดงให้เห็นจุดอ่อนในใจมนุษย์ได้ดีน่ะ มันเหมือนกับว่า Yellow ยอมรับไม่ได้ที่ Red ออกจากวงไปแล้ว แล้วยังดูเหมือนมีความสุขดีอยู่ และสามารถมาดูการแสดงของวงเก่าได้โดยไม่ติดใจอะไร หรือไม่ต้องรู้สึกแข่งขันอะไร การที่ Red ดูเหมือนหลุดพ้นจากบ่วงอัตตาโง่ๆไปได้แล้ว คงทำให้ Yellow ไม่พอใจในจุดนี้ ในขณะที่ Yellow ยังคงยึดติดกับอะไรบางอย่างอยู่ เขาก็เลยเป็นทุกข์ที่เห็นคนอื่นมีความสุขจากการไม่ยึดติดในสิ่งที่เขายึดติด (อันนี้คือสิ่งที่เราเดาเอาเองนะ)

ฉากนี้ทำให้นึกถึงหนึ่งในฉากที่ชอบที่สุดในหนังสารคดีเรื่อง HANG THE DJ (1998, Marco La Villa + Mauro La Villa, Canada) ด้วย นั่นก็คือฉากที่ Junior Vasquez ไม่พอใจอย่างรุนแรงที่ Danny Tenaglia มาเที่ยวคลับของเขา และมาฟังเขาเปิดเพลง (ถ้าจำไม่ผิด) คือเราดูแล้วก็งงว่าทำไม Junior Vasquez ต้องโมโหขนาดนั้น มันเหมือนกับว่า Junior Vasquez ไปอุปโลกน์เอาเองว่า Danny Tenaglia เป็นคู่แข่ง และไม่มีสิทธิมาเที่ยวคลับนี้ ในขณะที่ Danny Tenaglia มองว่าตัวเองก็เป็นคนคนหนึ่งที่มีสิทธิเที่ยวเล่นได้ตามใจชอบ ไม่เห็นต้องมองคนอื่นๆว่าเป็นคู่แข่งหรือศัตรูโดยไม่จำเป็น 

4.อีกฉากที่ชอบสุดๆใน MAD TIGER คือฉากที่ Yellow กลับมาเป็นคนปกติและนั่งทบทวนชีวิตตัวเองตามท้องถนนหรืออะไรทำนองนี้ในช่วงท้ายเรื่อง คือเราจะจูนติดกับ moments อะไรแบบนี้ได้ง่ายมากน่ะ ในขณะที่ moments อีก 95% ในหนังเรื่องนี้เป็น moments ที่เราจูนไม่ค่อยติด

5.สาเหตุสำคัญที่เราไม่ได้อินกับหนังเรื่องนี้มากนักอาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่ค่อยอินกับสารคดีวงดนตรีหรือศิลปินดนตรีด้วยแหละ หนังสารคดีกลุ่มนี้ที่เราชอบมากที่สุดคงจะเป็นเรื่อง NICO ICON (1995, Susanne Ofteringer, Germany) เพราะชีวิตของนิโกมันน่าสนใจสุดๆ, เพลงของเธอก็ไพเราะมากสำหรับเรา และหนังสามารถถ่ายทอด moments งามๆออกมาได้ ซึ่งรวมถึง moments ที่ไม่ได้ ให้ข้อมูลแก่ผู้ชม แต่เป็น moments ที่มีเสน่ห์หรือความงามในตัวของมันเอง

No comments: