BY THE TIME IT GETS DARK (2016, Anocha Suwichakornpong, A+30)
ดาวคะนอง
จริงๆแล้วก็ไม่เข้าใจอะไรหนังเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว
แต่คิดว่ารีบจดบันทึกความรู้สึกเล็กๆน้อยๆของตนเองเก็บไว้ก่อนจะดีกว่า
เพราะเดี๋ยวยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งจำอะไรได้น้อยลง
หรือจำอะไรได้คลาดเคลื่อนมากเพียงนั้น ถ้าหากในอนาคตเราได้ดูหนังเรื่องนี้รอบสอง
อาจจะมาเขียนเพิ่มเติม
1.ดูแล้วชอบมากกว่า MUNDANE HISTORY (2009, Anocha
Suwichakornpong) เพราะเราว่าดาวคะนองมีจุดที่เราชอบเหมือนกับ GHOSTS
(2005, Anocha Suwichakornpong, 35min) ในแง่ที่ว่า ทั้ง GHOSTS
และดาวคะนองมันดูมีความ organic หรือมันดูเหมือนหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็น
“สิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่” น่ะ
อันนี้คือความรู้สึกของเรานะ คือเราก็ชอบ MUNDANE HISTORY
แบบสุดๆ แต่สำหรับเรานั้น MUNDANE HISTORY มันเหมือนกับถูก “ครอบ”
ด้วย message, concepts, ทัศนคติ หรืออะไรทำนองนี้อยู่น่ะ
แล้วพอมันถูกครอบด้วย message “ชีวิต”
ในหนังมันก็เลยเหมือนเติบโตได้ไม่เต็มที่ มันยังมี “ความขาดอากาศหายใจ” ในหนังอยู่
ส่วน GHOSTS กับดาวคะนองนั้น มันเหมือนกับไม่ได้ถูกครอบด้วย message
น่ะ คือแน่นอนว่ามันมี messages ในดาวคะนอง
แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า messages ไม่ได้ไป “ครอบ”
ตัวหนังเอาไว้
หนังมันก็เลยเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่ได้รับอนุญาตให้เติบโตได้เต็มที่
หรือเติบโตได้มากกว่า “หนังทั่วๆไป” มันมีอากาศหายใจในหนัง
คือในความรู้สึกของเรานั้น MUNDANE HISTORY ทำให้เรานึกถึงความสวยงามของ
“ช่อดอกไม้” น่ะ คือมันเป็นช่อดอกไม้ที่ได้รับการ “จัดแต่ง” อย่างสวยงามสุดๆ
แต่มันเป็นความงามที่เกิดจากการจัดแต่งมาเป็นอย่างดี
ด้วยศิลปินนักจัดดอกไม้ที่มีความเชี่ยวชาญสุดๆ ดอกไม้แต่ละดอก
และตำแหน่งของดอกไม้แต่ละดอก มีทั้งความงดงามและความหมาย
แต่ดอกไม้เหล่านั้นตายแล้ว
ส่วนความงดงามของ GHOSTS และดาวคะนองนั้น
มันทำให้เรานึกถึงความงามของต้นไม้ที่เติบโตในสวนน่ะ
มันเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้อย่างเสรีในระดับนึง
มันแตกกิ่งก้านออกไปได้อย่างเป็นอิสระในระดับนึง มันจะแตกกิ่งซ้าย 14 กิ่ง กิ่งขวา
15 กิ่ง มันก็ทำได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับควบคุมให้มันดูสมมาตรอยู่ตลอดเวลา
ความงามของต้นไม้นี้เกิดจากการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยดูแลเป็นอย่างดี
เพื่อให้มันเติบโตอย่างเป็นอิสระของมันเอง แต่ไม่ได้เกิดจากการไป “จัดแต่ง”
กิ่งไม้ทุกกิ่งให้บิดเบือนไปตามรูปทรงที่ design ไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างเข้มงวด
คือแน่นอนว่า “ดาวคะนอง” มันก็ต้องผ่านการ design มาแล้วอย่างรุนแรงจากผู้กำกับน่ะแหละ
เพียงแต่ว่า เมื่อเทียบกับหนังโดยทั่วไปแล้ว เรารู้สึกว่าเวลาเราดูหนังเรื่องนี้
เรารู้สึก “เป็นอิสระ” กว่ามากๆเมื่อเทียบกับหนังโดยทั่วไปน่ะ
ซึ่งมันคล้ายคลึงกับความรู้สึกที่เราได้รับเวลาดูหนังของ Alexander Kluge,
Jacques Rivette และ Miguel Gomes คือเวลาที่เราดูหนังของผู้กำกับสามคนนี้
เราจะรู้สึกเหมือนกับได้ดูความงดงามของต้นไม้ที่ได้รับอนุญาตให้เติบโตอย่างเป็นอิสระเหมือนกัน
โดยเฉพาะหนังของ Alexander Kluge นั้นมันเต็มไปด้วย fragments
ยิบย่อยที่เราแทบหาความเชื่อมโยงกันทางเหตุผลไม่ได้เลยเหมือนกับดาวคะนอง
แต่มันกลับให้ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากๆกับผู้ชมเหมือนกัน
ในขณะที่เวลาเราดูหนังของ Peter Greenaway นั้น มันเหมือนกับได้เห็น
“ช่อดอกไม้” ที่ถูกจัดแต่งมาเป็นอย่างดี มันงดงามสุดๆ
แต่มันเป็นความงดงามจากการจัดแต่ง และมันตายแล้ว
2.ตอนแรกก็สงสัยว่าดาวคะนองมันจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 อย่างไร
แต่ปรากฏว่ามันเหมือนแตะเรื่องนี้ตรงๆเพียงแค่ 10% ของหนังเท่านั้น
ในขณะที่ส่วนที่เหลือของหนังเป็นหน้าที่ของผู้ชมแต่ละคนเองที่จะหาความเชื่อมโยงกัน
มันก็เลยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา เพราะประเด็น 6 ต.ค. 2519 นั้น มันก็ถูกเล่าผ่านทางบทความ,
นิตยสาร, หนังสือ และเว็บไซต์จำนวนมากมาแล้ว
เราไม่จำเป็นต้องเล่าสิ่งที่หาอ่านได้จากหนังสือซ้ำอีก และมันก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางนิทรรศการศิลปะ,
ละครเวที และภาพยนตร์บางเรื่องมาแล้วด้วย อย่างเช่นนิทรรศกาลศิลปะ FLASHBACK ’76: HISTORY & MEMORY OF OCTOBER
6 MASSACRE (2008, Manit Sriwanichpoom, Ing K, Sutee
Kunavichayanont, Vasan Sitthiket)
หรือในส่วนของละครเวทีนั้น ก็มีบางเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
ได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่น TYPHOON THE REMAINS (2013, Teerawat Mulvilai) ที่ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.เพียงแค่เหตุการณ์เดียว
แต่พูดถึงตั้งแต่กบฏร.ศ. 130 เรื่อยมาจนถึง 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519
และหนึ่งในฉากที่เราชอบมากใน TYPHOON THE REMAINS ก็คือฉากที่ตัวละครหลายคนออกมาพูดว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2516
หรือ 6 ต.ค. 2519 พ่อแม่ของใครทำอะไรที่ไหนบ้าง แม่ของบางคนอาจจะอยู่ในอีสาน
ใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์
ในขณะที่พ่อของบางคนอยู่ในกลุ่มกระทิงแดง ที่มีส่วนในการสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์
หรือในส่วนของภาพยนตร์นั้น เราว่าหนังอย่าง DON’T FORGET ME (2003, Manassak
Dokmai) และ OCTOBLUR (2013, Patana Chirawong) ก็เหมือนทำหน้าที่สะท้อนสองด้านของเหตุการณ์ 6 ต.ค.ได้อย่างดีมากๆไปแล้ว
เหมือนกับ THE ACT OF KILLING (2012, Joshua Oppenheimer) และ
THE LOOK OF SILENCE (2014, Joshua Oppenheimer) ที่สะท้อนสองด้านของเหตุการณ์สังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย
คือเวลาเราดู OCTOBLUR เราจะนึกถึง THE ACT OF
KILLING น่ะ เพราะ OCTOBLUR เป็นการสัมภาษณ์จักรา
ยอดมณี ซึ่งเป็นหลานชายของถนอม กิตติขจร คือมันเป็นการให้ปากคำของฝ่ายที่หลายคนมองว่าเป็น
“ผู้กระทำ” ส่วน DON’T FORGET ME นั้นเป็นการสะท้อนภาพเหตุการณ์จากความรู้สึกที่เข้าข้างผู้ถูกกระทำ
ซึ่งเหมือนกับ THE LOOK OF SILENCE ที่มองจากฝั่งผู้ถูกกระทำอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน
มันก็เลยดีที่ดาวคะนองฉีกตัวออกไปอย่างรุนแรงจากการนำเสนออะไรที่เราเคยเห็นๆมาแล้ว
รวมทั้งไม่ต้องเล่าเรื่องของจิระนันท์ พิตรปรีชา ซ้ำอีก เพราะหนังเรื่อง 14 ตุลา
สงครามประชาชน (2001, Bandit Rittakol) ได้เล่าไปแล้ว หนังไปพ้นจากข้อมูล,
เรื่องเล่าชุดเดิมๆที่เราเคยเห็นผ่านตามา และไปพ้นจากการสร้างขั้วตรงข้ามเพียงแค่สองขั้วหลัก
แบบที่หนังทั่วไปมักนิยมใช้
คือหนังทั่วไปมักจะลดความซับซ้อนของความเป็นจริง/สถานการณ์/เหตุการณ์ลง
ด้วยการสร้างขั้วตรงข้าม 2 ขั้วหลักขึ้นมาในหนัง ระหว่าง “ผู้กระทำ” กับ “ผู้ถูกกระทำ”
อย่างเช่น COLONIA (2015, Florian Gallenberger) ที่เล่าเรื่องของการสังหารหมู่ในชิลี
และเราสามารถจัดแบ่งตัวละครออกเป็นสองขั้วหลักได้ง่ายๆอย่างชัดเจน
ในขณะที่หนังอย่าง THE PEARL BUTTON (2015, Patricio Guzmán) พูดถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในทศวรรษ 1970 ในชิลีเหมือนกัน
แต่มันไปไกลกว่านั้น เพราะคนในหนังไม่ได้มีแค่ 2 ขั้ว
เพราะหนังมันครอบคลุมไปถึงการสังหารชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อนด้วย
คือเราก็ชอบ COLONIA มากนะ และการนำเสนอเหตุการณ์แบบสร้างขั้วขัดแย้งสองขั้วก็ไม่ใช่สิ่งผิดอะไร
เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่หนังทั่วไปทำกันน่ะ
เพราะฉะนั้นถ้าหากมีหนังเรื่องไหนไม่ใช้สูตรสำเร็จนี้
และนำเสนอเหตุการณ์ในแบบที่ซับซ้อนมากกว่าขั้วขัดแย้งสองขั้ว อย่างเช่น THE
PEARL BUTTON และดาวคะนอง
เราก็มีแนวโน้มที่จะชอบหนังกลุ่มนี้มากๆน่ะ
โดยในดาวคะนองนั้น เราไม่ได้เห็นเพียงแค่ “ผู้ถูกกระทำ” และ “ผู้กระทำ”
แต่เราได้เห็นคู่ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอื่นๆด้วย ทั้ง ชนชั้นกลาง-ชนชั้นแรงงาน,
แม่ชี-สาวเต้นดิสโก้, นักศึกษาในอดีต-นักศึกษาในปัจจุบัน,
เจ้าของเรื่องเล่า-ผู้นำเรื่องเล่าของคนอื่นมาถ่ายทอด,
ตัวจริง-ตัวแทน-ตัวแทนของตัวแทน-ตัวแทนของตัวแทนของตัวแทน
การที่เราชอบหนังที่ไปพ้นจากการสร้างขั้วขัดแย้งเพียงแค่สองขั้ว
สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์ในไทยในปัจจุบันนี้ด้วยแหละ เพราะถ้าหากจะมีหนังไทยที่พยายามจะสะท้อนปัญหาร้ายแรงในปัจจุบันนี้
ผู้สร้างหนังก็อาจจะต้องตัดสินใจก่อนว่า
จะสร้างหนังโดยพูดถึงเพียงแค่เสื้อเหลือง-เสื้อแดง หรือ สลิ่ม-liberal หรือจะสร้างหนังที่พูดถึงความแตกต่างหลากหลายของแนวคิดในสังคมไทยในปัจจุบันนี้
ซึ่งเราว่าหนังกลุ่มหลังเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่า
3.ชอบการปรากฏตัวของผู้หญิงที่เป็นชนชั้นแรงงานในฉากต่างๆมากๆ
เหมือนหนังเลือกที่จะมองในสิ่งที่ถูกทำให้เบลอในหนังเรื่องอื่นๆ
หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเราเอง เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้น
เราก็เห็นคนกลุ่มนี้เกือบตลอดเวลา แต่มันก็เป็นสิ่งที่เบลอในการรับรู้ของสายตาเราเองเหมือนกัน
ชอบที่หนังใช้นักแสดงคนเดียวเล่นเป็นผู้หญิงชนชั้นแรงงานในทุกๆฉากด้วย
เพราะการใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่นหลายๆบทแบบนี้ มันทำให้เรารู้ตัวตลอดเวลาว่า
เราเห็นเพียงแค่ “ภาพแทน” น่ะ เราเห็นเพียงแค่ “ภาพแทน” ของชนชั้นแรงงาน, สาวเสิร์ฟ, แม่ชี, สก๊อย
และมันไม่ใช่คนกลุ่มนี้จริงๆ มันเป็นเพียงแค่ภาพแทนเท่านั้น
4.ดูรอบแรกแล้วยังงงๆอยู่ แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า บทของโสรยา
นาคะสุวรรณ เป็นเหมือนภาพแทนของตัวอโนชาเอง ส่วนบทของวิศรา วิจิตรวาทการ
เป็นเหมือนภาพแทนของโสรยา และบทของทราย เจริญปุระ
เป็นเหมือนภาพแทนของวิศราอีกทีนึง
ชอบการปรากฏตัวของทราย เจริญปุระ, เพ็ญพักตร์, สายป่าน
ในช่วงครึ่งหลังของหนังมากๆ คือชุดของเพ็ญพักตร์จัดเต็มมาก
มีผ้าพาดคอรุ่ยร่ายสยายเต็มที่ มันเหมือนกับตอกย้ำให้เห็นว่า “ภาพยนตร์”
แตกต่างจากความเป็นจริงมากเพียงใดน่ะ
การซ้อนๆกันหลายชั้นในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงมิวสิควิดีโอ BACHELORETTE – Björk (1997, Michel
Gondry) ด้วยนะ ที่มันเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่ากันไปเรื่อยๆ
และยิ่งเล่าซ้อนกันเป็นชั้นๆมากเท่าใด
เรื่องที่ถูกเล่าก็จะยิ่งถอยห่างจากความเป็นจริงมากเท่านั้น เหมือนกลุ่มตัวละครเพ็ญพักตร์-ทราย-สายป่าน
ในหนังเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะถอยห่างจาก “ตัวจริง” มากกว่ากลุ่มตัวละครตัวอื่นๆ
5.เหมือนหนังมีการตอกย้ำเรื่องความเป็นภาพยนตร์
หรือความไม่จริงของภาพยนตร์อยู่ตลอดเวลา (แบบนี้เขาเรียกว่า Brechtian
หรือเปล่า) อีกฉากนึงที่ติดตามากคือฉากที่โฟกัสไปที่มือของ
Waywiree Ittianunkul ตอนโบกหานักศึกษาหนุ่ม
ฉากนั้นเหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นความโรแมนติกแบบปลอมๆเวลาที่ภาพยนตร์หลายๆเรื่องนำเหตุการณ์จริงมาดัดแปลง
6.รู้สึกเหมือนกับว่า ฉากที่วิศราพูดเรื่องพลังจิต
เป็นฉากที่ใช้แบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรกกับครึ่งหลัง เพราะหลังจากฉากนี้เป็นต้นไป
หนังจะมีความกระจัดกระจายอย่างเต็มที่
7.มี motifs ที่น่าสนใจมากมายในหนังเรื่องนี้
โดยเฉพาะเห็ด-รา และปลานิล
แต่เราคงต้องตามอ่านสิ่งที่ผู้ชมคนอื่นๆเขียนถึงหนังเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจ motifs
เหล่านี้มากขึ้น
8. หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง THE PATRIOTIC WOMAN (1979,
Alexander Kluge) ด้วย เพราะ Gabi Teichert นางเอกของ THE
PATRIOTIC WOMAN เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่ “The more she grows suspicious of the
linear, radically reductionist explanations of history found in schoolbooks,
the more she questions a job that calls on her to teach German history in neat
45-minute segments. When Gabi Teichert shows interest, for instance, in the
hundreds of little everyday stories that have been excluded by the official
historiography, she deals with German history in the spirit of Kluge’s project:
“And what else is the history of a country but the vastest narrative surface of
all? Not one story but many stories.” (ส่วนนี้ copy มาจากหนังสือ FROM
HITLER TO HEIMAT จ้ะ)
คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าอโนชาเป็นเหมือนกับนางเอกของ THE PATRIOTIC WOMAN ที่ไม่ได้พยายามอธิบายประวัติศาสตร์ด้วยการลดรูป,
ลดความซับซ้อน, เล่าเรื่องตามลำดับเวลา แต่ให้ความสำคัญกับ hundreds of
little everyday stories that have been excluded by the official historiography เพื่อสร้าง vastest narrative surface of all น่ะ
9.สรุปว่าในการดูรอบแรกนั้น เราไม่เข้าใจอะไรหนังเรื่องนี้เลย
แต่หนังมันเต็มไปด้วย moments งามๆมากมายสำหรับเรา
และเราชอบความกระจัดกระจายในหนังเรื่องนี้มากๆ เหมือนกับที่เราชอบความกระจัดกระจายใน
DIVINE INTERVENTION (2002, Elia Suleiman), ARABIAN NIGHTS (2015, Miguel
Gomes), INSURGENCY BY A TAPIR (2016, Ratchapoom
Boonbunchachoke, Wachara Kanha, Chaloemkiat Saeyong, Chulayarnnon Siriphol) และหนังหลายๆเรื่องของ Alexander Kluge หนังเรื่องนี้เหมือนกับ
“ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่” สำหรับเรา ส่วนความหมายของฉากต่างๆและความสัมพันธ์ของฉากต่างๆในหนังเรื่องนี้นั้น
เราคงต้องหาอ่านเอาจากสิ่งที่คนอื่นๆเขียนนะจ๊ะ
No comments:
Post a Comment