YOUNG ONES (2014, Jake Paltrow, A+30)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้
1.ชอบสุดๆ โดยเฉพาะการถ่ายภาพ
เรารู้สึกว่าการถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้มันเข้าทางเรามากๆ มันทรงพลังสำหรับเรามากๆ
มันทำให้เรานึกไปถึงอารมณ์ตื่นตะลึงตอนที่เราได้ดู DAYS OF HEAVEN (1978, Terrence
Malick) ด้วย เพราะหนังเรื่องนั้นก็มีการถ่าย landscape ท้องทุ่งที่ทรงพลังมากๆสำหรับเราเหมือนกัน
ฉากที่ติดตาตรึงใจเราที่สุดคือฉากที่ Jerome (Kodi Smit-Mcphee) ยืนบังดวงตะวันตรงปากหลุมใน chapter 3 เราชอบการออกแบบช็อตให้
Jerome ยืนบังดวงตะวันมากๆ
มันส่งผลกระทบบางอย่างต่อจิตใจเราอย่างรุนแรงมาก
เราชอบการซูมเข้าและซูมออกในหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้ด้วย
เราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
แต่การซูมเข้าและซูมออกในหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้มันส่งผลกระทบต่อจิตใจเรามากๆ ในขณะที่การซูมเข้าและซูมออกในหนังส่วนใหญ่ไม่มีผลอะไรต่อจิตใจเรา
ฉากซูมออกฉากนึงที่เราชอบสุดๆคือฉากงานศพ
ที่กล้องซูมออกมาแล้วพบว่าเป็นคุณแม่ดูวิดีโองานศพอยู่
ฉากเปิดตัวคุณแม่กับฉากเปิดตัวแอนนา
(ตอนที่กล้องโฟกัสให้เราเห็นหูของเธอ) ก็ถ่ายมาได้อย่างทรงพลังมากๆสำหรับเรา
คือเราชอบโครงสร้างของหนังเรื่องนี้มากนะ แต่โครงสร้างของหนังเรื่องนี้มันก็คล้ายกับ
THE PLACE BEYOND THE PINES (2012,
Derek Cianfrance, A+15) ในแง่นึงน่ะ
เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราชอบ YOUNG ONES ในระดับ A+30 แต่เราชอบ THE PLACE BEYOND THE
PINES ในระดับ A+15 มันเป็นเพราะว่า visual
sense ของ YOUNG ONES นี่แหละ คือ visual
sense ของ YOUNG ONES มันเข้าทางเรามากๆ
มันส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างรุนแรงมาก ในขณะที่การถ่ายภาพใน
THE PLACE BEYOND THE PINES ทำให้เราชอบพอสมควร
แต่ไม่ได้ชอบแบบสุดขีดคลั่งเหมือนอย่าง YOUNG ONES
แต่พอเราไปดูเครดิตของ Giles Nuttgens ซึ่งเป็นตากล้องของ
YOUNG ONES เราก็พบว่าเขาเคยถ่ายภาพให้หนังหลายเรื่องที่เราเฉยๆนะ
อย่างเช่น SWIMFAN (2002, John Polson) และ IF ONLY
(2004, Gil Junger) เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าความดีความชอบในการถ่ายภาพของ
YOUNG ONES คงไม่ได้เกิดจากฝีมือของ Giles Nuttgens เพียงอย่างเดียว แต่คงเกิดจากวิสัยทัศน์ของ Jake Paltrow ซึ่งเป็นผู้กำกับด้วย
2.เราชอบความเป็นไซไฟ+คาวบอย+เมโลดราม่าในหนังเรื่องนี้น่ะ
เราว่ามันเป็นส่วนผสมที่แปลกดี
เพราะเราไม่ค่อยเห็นสามอย่างนี้มารวมอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน
คือเราคิดว่า
2.1 ถ้าหากมันเป็นแค่ไซไฟ มันก็อาจจะเป็นอย่าง AUTOMATA (2014, Gabe Ibáñez, A+20)
2.2 ถ้าหากมันเป็นแค่โลกอนาคต+คาวบอย
มันก็อาจจะเป็นอย่าง THE ROVER (2014, David Michôd, A+30)
2.3
แต่เรารู้สึกว่ามันมีส่วนผสมของเมโลดราม่าเข้ามาด้วย และเป็นเมโลดราม่าแบบหนังยุคโบราณๆ
เราก็เลยชอบมาก เพราะเราคิดว่าไอ้ความเป็นเมโลดราม่านี่แหละ
ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังไซไฟเรื่องอื่นๆ และมันทำให้เรานึกถึงมินิซีรีส์ยุคเก่าที่เราได้ดู
โดยเฉพาะ EAST OF EDEN (1981, Harvey Hart) ที่สร้างจากนิยายของ
John Steinbeck และเป็นเมโลดราม่าที่เน้นความขัดแย้งระหว่างผู้ชายในครอบครัวเดียวกันเหมือนกัน
3.ที่เราเปรียบเทียบโครงสร้างหนังเรื่องนี้กับ THE PLACE BEYOND THE PINES เป็นเพราะว่า เรามองว่า THE PLACE BEYOND THE PINES ก็แบ่งเป็นสามส่วนเหมือนกัน
และในแต่ละส่วน จะเปลี่ยนตัว male protagonist ในรูปแบบเดียวกัน
นั่นก็คือ
3.1 chapter one จะเล่าเรื่องของตัวเอกชายตัวหนึ่ง
3.2 chapter two จะเล่าเรื่องของฆาตกรที่ฆ่าตัวเอกชายตัวแรก
3.3 chapter three จะเล่าเรื่องการล้างแค้นของลูกชายของตัวเอกชายตัวแรก
และโดยส่วนตัวแล้ว เราชอบโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเปลี่ยนตัว protagonists ไปเรื่อยๆแบบนี้มากๆ
เพราะปัญหาที่เรามีกับหนังส่วนใหญ่ก็คือว่า พอเรารู้ว่าใครคือ “protagonist”
ของหนังเรื่องนั้นแล้ว เราก็จะรู้ได้ในทันทีว่า
ตัวละครตัวนี้ต้องไม่ตายง่ายๆอย่างแน่นอน
และน่าจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้จนถึงช่วงท้ายเรื่อง และพอเรารู้เช่นนี้แล้ว ความสนุกของเราในการดูหนังเรื่องนั้นมันก็ลดลงไปเยอะน่ะ
แต่ในหนังอย่าง PSYCHO และ THE PLACE
BEYOND THE PINES ที่ตัว protagonist จะถูกฆ่าตายอย่างฉับพลันตอนกลางเรื่องหรือ
1/3 แรกของเรื่อง มันเป็นหนังที่ตอบโจทย์ของเรามากๆ เพราะเรามองว่าชีวิตมนุษย์จริงๆมันก็แบบนี้แหละ
เราไม่สามารถมั่นใจได้หรอกว่า “เราจะอยู่จนถึงตอนจบ” ชีวิตมนุษย์เรามันเต็มไปด้วย “ความเป็นไปได้ในการถูกฆ่าตายตั้งแต่ต้นเรื่องหรือกลางเรื่อง”
น่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังที่เป็นแบบนี้ หนังที่ให้ตัว protagonist ถูกฆ่าตายอย่างฉับพลันตั้งแต่กลางเรื่อง แล้วก็ให้ protagonist ตัวอื่นมาสานต่อเนื้อเรื่องต่อไป
คือจริงๆแล้วเราเคยใฝ่ฝันอยากให้มีการสร้างหนังในจินตนาการในแบบคล้ายๆกันนี้นะ
คือเราอยากให้มีหนัง thriller หรือ horror
ที่นางเอกเป็นนักสืบสาวที่สืบคดีลึกลับคดีนึงน่ะ แต่พอเนื้อเรื่องผ่านไปได้ 1/3 นางเอกคนแรกก็ถูกฆ่าตาย
นางเอกคนที่สองก็เลยมาสืบคดีต่อ แล้วก็ถูกฆ่าตายอีก
ก็เลยต้องมีนางเอกคนที่สามมาสืบคดีต่อ คือเรามองว่าหนังแบบนี้นี่แหละที่มันจะสอดคล้องกับวิธีการมองโลกของเรา
โลกที่ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง และไม่มีใครหรอกที่จะพูดได้อย่างมั่นใจว่า “ฉันคือนางเอกที่จะอยู่จนถึงฉากจบ”
สรุปว่าการเปลี่ยนตัว protagonist ในแต่ละ chapter
ของ YOUNG ONES เป็นสิ่งที่เข้าทางเรามากๆจ้ะ
4.ตัวละครแอนนามีส่วนสำคัญที่ทำให้เรา “ไม่มีปัญหา”
กับหนังเรื่องนี้นะ คือในช่วงแรกเราจะมีปัญหากับหนังเรื่องนี้ในแง่ที่ว่า
ตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้ดูง่อยเปลี้ยมาก ทั้งตัวคุณแม่, ตัวแมรี่ (Elle Fanning) และ Sooz
(Alex McGregor) คือเราจะไม่ค่อยชอบตัวละครหญิงที่ดูอ่อนแอแบบนี้น่ะ
ในขณะที่โลกของหนังเรื่องนี้ ดูเป็นโลกของผู้ชายมากๆ
แต่พอมีตัวละครแอนนาโผล่เข้ามา เราก็เลยค่อยรู้สึกโอเคกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงในหนังเรื่องนี้
5.(เพิ่มเติม) ว้ายลืมส่วนสำคัญ เราชอบการใช้ operational image แบบในหนังของ
Harun Farocki ในหนังเรื่องนี้ด้วย ส่วนนิยามของ operational
image สามารถอ่านได้ที่นี่จ้ะ
หรือหากกล่าวโดยย่นย่อก็คือว่า operational images คือภาพจากดวงตาของเครื่องจักรกลน่ะ
อย่างเช่นภาพจากกล้องวงจรปิด, ภาพจากกล้องตรงหัวขีปนาวุธ, ภาพจากจอเรดาร์,
ภาพที่ถ่ายโดยเครื่องจักรในโรงงาน, ภาพที่ถ่ายโดยหุ่นยนต์ทำความสะอาดสำนักงาน
ภาพที่ไม่ได้ถ่ายโดยมนุษย์ มันมีภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่มากมายบนโลกนี้ที่ถูกบันทึกไว้
และภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้มักจะไม่ถูกดูโดยมนุษย์ แต่มนุษย์มักจะนำภาพเหล่านี้มาดูก็ต่อเมื่อ
“เกิดการฆาตกรรม” ขึ้น อย่างเช่นในหนังเรื่อง PRISON PICTURES ของ Harun Farocki
เพราะฉะนั้น YOUNG ONES ก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังของ Harun
Farocki ในแง่นี้
No comments:
Post a Comment