DRUNK (2014, Panuwat Inthawat, stage play, A+15)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้
1.ละครเรื่องนี้มีจุดที่ชอบมากๆอยู่หลายจุดนะ
แต่ก็มีจุดที่รู้สึกก้ำกึ่งอยู่หลายจุดเหมือนกัน แต่โดยรวมๆแล้ว
เรารู้สึกว่าละครเรื่องนี้มีความทะเยอทะยานดีน่ะ
จุดแรกที่เราชอบสุดๆเลยในละครเวทีเรื่องนี้ก็คือ “โครงสร้าง”
ของละครที่อาจแบ่งออกได้เป็นเรื่องเล่าที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆอยู่ 4 ชั้นด้วยกัน
ซึ่งประกอบด้วย เรื่องของผู้ชายที่มีเซ็กส์กับน้องสาวมาเฟีย,
เรื่องของเพื่อนเกย์สองคนที่ทะเลาะกันเพราะแย่งหนุ่มหล่อชาวญี่ปุ่น,
เรื่องของนักแสดงละครที่พบว่าละครที่ตัวเองเล่นอาจซ้อนทับกับความเป็นจริง
และเรื่องของผู้ชายที่ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำการุณยฆาตกับฆ่าตัวตายดีหรือไม่
ในการซ้อนทับกันเป็นชั้นๆนี้ เนื้อหาใน “เรื่องที่หนึ่ง”
กลายเป็นเรื่องราวที่ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องที่สองเล่า ให้ตัวละครคนอื่นๆฟัง และ
“เนื้อหาในเรื่องที่สอง” ก็กลายเป็นบทละครที่เขียนไม่จบใน “เรื่องที่สาม” แต่เราจำไม่ได้แล้วว่าเนื้อหาในเรื่องที่สามกับเรื่องที่สี่มันสัมพันธ์กันยังไงบ้าง
เราชอบโครงสร้างของเนื้อเรื่องแบบนี้มากๆเลยนะ เราว่ามันเจ๋งมาก
ดูแล้วนึกถึงหนังบางเรื่องที่ประกอบด้วยเรื่องย่อยๆที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องกันมารวมอยู่ด้วยกันน่ะ
อย่างเช่นเรื่อง 71 FRAGMENTS OF A CHRONOLOGY OF CHANCE (1994, Michael, Haneke,
Austria) กับ LA VIE MODERNE (2000, Laurence Ferreira
Barbosa) ซึ่งการจะทำหนัง/ละครเวทีแบบนี้ให้ดีมันยากมาก
เพราะมันต้องเล่าเรื่องหลายเรื่อง
และมันต้องหาทางร้อยเรียงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกันให้ได้ด้วย และเราว่า DRUNK
ทำในส่วนนี้ได้ดีพอสมควร
2.นอกจากโครงสร้างของละครจะแบ่งออกเป็น 4
เรื่องราวย่อยๆที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างหลวมๆแล้ว สิ่งที่เราชอบมากก็คือว่า 4
เรื่องนี้มันเหมือนเป็น step ที่ยากขึ้นเรื่อยๆน่ะ คือเรามองว่า
2.1 เรื่องราวของชายหนุ่ม (Tap-a-nan Tanadulyawat) ที่มีเซ็กส์กับน้องสาวมาเฟีย
มันเหมือนเป็นหนังตลกชั้นต่ำ อาจจะเทียบได้กับหนังของพจน์ อานนท์
2.2 เรื่องราวของกลุ่มเพื่อนหญิงกับเกย์สองคน (Tap-a-nan กับ Wisarut
Homhuan) ที่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเมื่อมีหนุ่มหล่อชาวญี่ปุ่น
(Tarnthep Bansongkid) เข้ามาร่วมวงด้วย ทำให้นึกถึงหนังเกย์ดรามาดีๆอย่าง
“ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล), NO ORDINARY LOVE (1994,
Doug Witkins) และ TRICK (1999, Jim Fall) หรือละครทีวีชุด
QUEER AS FOLK
2.3 เรื่องของนักแสดงละครที่สับสนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกของละคร
ทำให้นึกถึงหนังดีๆที่มีโครงเรื่องซับซ้อนหน่อย อย่างเช่น SHUTTER ISLAND
(2010, Martin Scorsese), DEATHTRAP (1982, Sidney Lumet), LA PURITAINE (1986,
Jacques Doillon), DIVERTIMENTO (2000, José García Hernández) และ TRANS-EUROP-EXPRESS
(1966, Alain Robbe-Grillet)
2.4 เรื่องของชายหนุ่ม (Wisarut Homhuan) ที่ลังเลว่าจะทำการุณยฆาตกับฆ่าตัวตายดีหรือไม่ เป็นอะไรที่ยากสุดๆสำหรับเรา
และเราแทบไม่เคยดูหนังเรื่องไหนที่นำเสนอประเด็นนี้ในลักษณะแบบนี้มาก่อน
3.เรามองว่า สเต็ปที่มันยากขึ้นเรื่อยๆ 4 สเต็ปนี้ มันอาจจะเทียบได้กับการเล่นยิมนาสติคท่าที่ยากขึ้นเรื่อยๆน่ะ
คือ
3.1 เรื่องน้องสาวมาเฟียนี่ มันง่ายต่อการสร้างความเพลิดเพลินแบบฉาบฉวยให้แก่ผู้ชม
มันอาจจะเทียบได้กับการเล่นม้วนหน้าม้วนหลังน่ะ และ DRUNK ก็ทำได้ดีตรงส่วนนี้
แต่ถึงแม้ DRUNK จะทำได้ดีตรงส่วนนี้
เนื้อหาของส่วนนี้มันก็ไม่น่าสนใจมากนัก
3.2 เรื่องของกลุ่มเพื่อนเกย์ เปรียบได้กับท่ายิมนาสติกที่ยากปานกลาง
และเราว่า DRUNK นำเสนอตรงส่วนนี้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ลงตัวที่สุด
ทั้งการแสดง ทั้งอารมณ์ตลก ทุกอย่างในส่วนนี้ออกมาน่าพอใจมากๆ อย่างไรก็ดี เนื้อหาตรงส่วนนี้มีความน่าสนใจแค่ในระดับปานกลางเท่านั้น
เราถึงได้เปรียบเทียบมันกับหนังเกย์อย่าง TRICK หรือละครทีวีอย่าง
QUEER AS FOLK น่ะ คือมันดีมากแหละ แต่มันไม่ใช่ดีมากแบบหนังรางวัลออสการ์หรือหนังรางวัลเมืองคานส์
3.3 เรื่องของนักแสดงที่สับสนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกในละคร
เราว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้น่าสนใจมากๆ แต่เราไม่ชอบตอนจบของส่วนนี้ แต่เราก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมเราไม่ชอบตอนจบ
เราแค่รู้สึกว่าอารมณ์ของตอนจบมันไม่ใช่ยังไงไม่รู้
เรารู้สึกว่า เนื้อหาตรงส่วนนี้ เปรียบได้กับท่ายิมนาสติกที่ยากมากน่ะ
และ DRUNK
ก็ยังทำท่ายากนี้ได้ไม่สมบูรณ์ คือเราว่าเนื้อหาใน 3.2
เหมือนท่าที่ยากปานกลาง แต่ DRUNK ทำคะแนนได้สิบเต็มในท่านั้น
ส่วนเนื้อหาใน 3.3 เหมือนท่าที่ยากมาก และ DRUNK ก็ทำคะแนนได้แค่ 8/10 ในท่านี้
3.4 เนื้อหาของผู้ชายที่ลังเลเรื่องการุณยฆาตกับฆ่าตัวตาย เราว่าอันนี้เหมือนกับท่ายิมนาสติกที่ยากสุดๆและแทบไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเลย
หรือเคยมีคนทำได้แค่ 15 คนเท่านั้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาหรืออะไรทำนองนี้ 555
คือเราว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้น่าสนใจสุดๆสำหรับเรานะ มันไม่ใช่เรื่องของ
“ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร” อีกแล้วน่ะ
แต่เป็นการเจาะลึกเข้าไปในความคิดความรู้สึกอันสับสนวุ่นวายของมนุษย์
มันเป็นการเจาะลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของมนุษย์น่ะ และมันแสดงให้เห็นว่าผู้สร้าง DRUNK มีความทะเยอทะยานมากๆ
และเป็นความทะเยอทะยานในแบบที่เราชอบด้วย
แต่ถึงแม้เราว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้น่าสนใจมากๆ และเข้าทางเรามากๆ
แต่มันกลับถูกนำเสนอออกมาได้อย่างค่อนข้างน่าเบื่อเล็กน้อยน่ะ
มันเหมือนกับว่าเนื้อหามันใช่ แต่วิธีการนำเสนอมันยังไม่ใช่
หรือยังไม่ลงตัวเท่าใดนัก
ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว เราก็รู้สึกว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้
เหมือนกับการเล่นท่ายิมนาสติกที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนน่ะ และในที่สุด DRUNK ก็ทำท่านี้ไม่สำเร็จ
ได้คะแนนแค่ 5/10 เท่านั้น
แต่เราก็ชอบความตั้งใจและความทะเยอทะยานที่จะนำเสนอเนื้อหาตรงส่วนนี้นะ
และเรามั่นใจว่าถ้าผู้สร้าง DRUNK ได้มีโอกาสลองผิดลองถูกต่อไปเรื่อยๆอีกในอนาคต
ผู้สร้าง DRUNK ก็จะพัฒนาฝีมือจนทำได้สำเร็จในอนาคตเอง
คือในแง่นึงเราสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ผู้สร้าง DRUNK มีความสามารถเต็มที่ที่จะสร้างหนังบันเทิงชั้นดีแบบหนัง
GTH น่ะ เพราะเนื้อหาในส่วนที่สองมันอยู่ใน level แบบนั้น แต่เป็นเรื่องดีที่ผู้สร้าง DRUNK ไม่คิดที่จะหยุดความสามารถของตนเองเอาไว้แค่หนัง
GTH แต่ต้องการจะพัฒนาฝีมือของตนเองให้ถึงระดับหนังรางวัลออสการ์
(เนื้อหาในส่วนที่สาม) และหนังรางวัลเมืองคานส์ด้วย (เนื้อหาในส่วนที่สี่) และถึงแม้ผู้สร้าง DRUNK จะยังทำในส่วนที่
3 และ 4 ได้ไม่สมบูรณ์ แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในทิศทางที่ถูกต้องมากๆ
4.ที่เราบอกว่าส่วนที่ 4 มันยังไม่น่าพอใจ
มันเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของเรานะ คนอื่นๆอาจจะบอกว่ามันดีมากแล้ว สมบูรณ์แล้ว
หรือน่าพอใจแล้วก็ได้ บางทีมันอาจจะเป็นเพียงแค่รสนิยมส่วนตัวของเราที่ทำให้เรามีปัญหากับวิธีการนำเสนอในเรื่องที่
4
คือถ้าให้เราคิดเองว่า เราควรจะนำเสนอเนื้อหาของเรื่องที่สี่ยังไงดี
เราก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่ามันควรจะนำเสนอแบบไหนดี มันถึงจะไม่น่าเบื่อ
แต่ก็มีหนังบางเรื่องที่เราชอบสุดๆที่พูดถึงความลังเลเรื่องการุณยฆาตและการฆ่าตัวตายนะ
เพียงแต่ว่าหนังเหล่านี้มันจะไม่เจาะลึกเข้าไปในความคิดตัวละครแบบโต้งๆน่ะ
คือคนดูจะได้เห็นว่าตัวละครทำอะไร แต่คนดูจะไม่รู้ว่าตัวละครคิดอะไรกันแน่
หนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น
4.1 TO KISS YOU ONE LAST TIME (2010, Olivier Jahan, France, A+30) อันนี้เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับลูกสาวที่ต้องตัดสินใจว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจของแม่ในโรงพยาบาลดีหรือไม่
เธอไม่อยากถอดเครื่องช่วยหายใจ และเธอก็ลังเลสับสนในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เธอก็เลยไปเดินเล่นในเมือง เจอชายผิวดำแปลกหน้า เธอก็เลยมีเซ็กส์กับหนุ่มผิวดำแปลกหน้าอย่างอิ่มเอม
แล้วเธอก็ตัดสินใจได้ในที่สุดว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจ จบ
4.2 A TIME TO LIVE AND A TIME TO DIE (LE FEU FOLLET) (1963, Louis
Malle, 110min, A+30) หนังเรื่องนี้นำเสนอชีวิตช่วง 24
ชั่วโมงสุดท้ายของหนุ่มหล่อคนนึง เขาลังเลว่าจะฆ่าตัวตายดีหรือไม่
เขาก็เลยเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนเก่าทีละคน ทีละคน
โดยหวังว่าเพื่อนเก่าบางคนจะสามารถทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
แต่ก็ไม่มีเพื่อนคนไหนทำให้เขารู้สึกแบบนั้นได้เลย
4.3 THE DEVIL, PROBABLY (1977, Robert
Bresson, A+30) เรื่องของชายหนุ่มวัยประมาณ 20
ปีคนนึงที่เบื่อสังคม และในที่สุดเขาก็ฆ่าตัวตาย
ที่เรายกตัวอย่างหนัง 3 เรื่องนี้มา ก็เผื่อมีใครสงสัยน่ะ ว่าถ้าหากวิธีการนำเสนอของ
DRUNK ในส่วนที่สี่ไม่เข้าทางเรา
แล้ววิธีการนำเสนอแบบไหนที่เข้าทางเรา คือเราว่าหนัง 3
เรื่องนี้ก็นำเสนอประเด็นที่มีความใกล้เคียงกับ DRUNK ในส่วนที่สี่อยู่บ้างเหมือนกัน
แต่หนัง 3 เรื่องนี้มีวิธีการนำเสนอที่เข้าทางเรามากๆ
และเนื่องจากเราสนใจเนื้อหาอะไรแบบนี้อยู่แล้วด้วย เราก็เลยชอบหนัง 3
เรื่องนี้แบบสุดๆไปเลย โดยเฉพาะ THE DEVIL, PROBABLY ที่เป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต
แต่ถ้าหากพูดถึงหนังที่มีตัวละครพูดคุยถกเถียงกันในประเด็นทางศาสนาหรือศีลธรรมได้อย่างน่าสนใจแล้ว
เราชอบเรื่อง MY NIGHT AT MAUD’S (1970, Eric Rohmer) มากๆ
แต่ตัวละครในเรื่องนี้ไม่ได้คุยกันในประเด็นหนักๆอย่างเรื่องการฆ่าตัวตายนะ
เพียงแต่ว่าถ้าหากจะมีใครทำหนังหรือละครที่เน้นตัวละครพูดคุยถกเถียงกันอย่างจริงจัง
เราก็ขอแนะนำให้ดูหนังเรื่อง MY NIGHT AT MAUD’S เป็นตัวอย่าง
เผื่อจะได้ไอเดียว่าควรนำเสนอฉากการพูดคุยกันให้ออกมาในแบบไหนดี
สรุปว่า DRUNK เป็นละครเวทีที่น่าสนใจมากๆสำหรับเรา
เราชอบโครงสร้างของบทละครเรื่องนี้มากๆ และเราว่าละครเรื่องนี้นำเสนอเนื้อหาใน “เรื่องที่สอง”
ออกมาได้สมบูรณ์ที่สุด แต่เราก็ชอบเรื่องที่สามและเรื่องที่สี่ด้วยเหมือนกัน
เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในทิศทางที่ถูกต้อง
No comments:
Post a Comment