SOMBOON (2014, Krisda Tipchaimeta, documentary, A+30)
ตายแล้ว ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง
1.ชอบที่หนังมันเน้น “ชีวิตประจำวัน” น่ะ
คือหนังมันจะตัดสลับระหว่างฉากสมบูรณ์เล่าเรื่องราวในอดีตของตัวเอง
กับชีวิตประจำวันของสมบูรณ์ แล้วเราก็เป็นคนที่ชอบหนังที่พูดถึง “ชีวิตประจำวัน”
และ “ชีวิตคนธรรมดา” อยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้มันก็เลยเข้าข่ายหนังที่เราชอบมากๆ
คือในแง่นึงสมบูรณ์ก็เป็น “คนธรรมดา” คนนึง และ หนังก็เน้นไปที่ “ชีวิตประจำวัน”
ของเขา
2.คือแค่กล้องของหนังคอยเฝ้าสังเกตชีวิตประจำวันของสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ
เราก็สะเทือนใจอย่างรุนแรงมากพอแล้ว เราชอบที่กล้องของหนังอยู่เฉยๆ แล้วก็ปล่อยให้เราดูสมบูรณ์อาบน้ำให้ภรรยา
ล้างก้นให้ภรรยา หรือล้างไตให้ภรรยา โดยที่หนังไม่ต้องบอกเราว่า
นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากนะ นี่คือสิ่งที่ซึ้งมากนะ หรือนี่คือความรักที่น่าเทิดทูนบูชามากนะ
คือหนังเรื่องนี้ทำเหมือนกับว่า สมบูรณ์กับภรรยาเป็นแค่คนธรรมดาสองคนบนโลกนี้ที่ต้องทนทุกข์กับการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้
แค่นี้หนังก็สะเทือนใจเราสุดๆแล้ว
3.ชอบที่หนังไม่มีเพลงประกอบเลยเกือบทั้งเรื่อง (ยกเว้นในช่วงท้าย)
คือจริงๆแล้วเราว่าเพลงประกอบช่วงท้ายเรื่องจะตัดทิ้งไปด้วยก็ได้นะ เอาแค่มีใน end credit ก็พอแล้ว
คือมีสองฉากที่เราร้องไห้อย่างรุนแรงในหนังเรื่องนี้ และเราว่า “เสียงประกอบ”
ในสองฉากนี้อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สองฉากนี้มีผลกระทบทางอารมณ์กับเราอย่างรุนแรงน่ะ
และเสียงประกอบในสองฉากนี้ไม่ใช่ “ดนตรีประกอบ” ที่ใส่เข้ามา
ฉากแรกที่เราร้องไห้คือฉากที่สมบูรณ์ล้างไตให้ภรรยาน่ะ
มันจะมีช็อตนึงที่กล้องถ่ายเมียดนอนอยู่บนเตียง เราเห็นแค่หัวของเมียด แล้วเราก็ได้ยินเสียงแมลงหรือเสียงสัตว์อะไรต่างๆนานาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
คือเสียงแมลงเสียงสัตว์พวกนี้มันส่งผลกระทบทางอารมณ์อะไรบางอย่างกับเราอย่างรุนแรงน่ะ
คือมันเหมือนกับว่า โลกก็หมุนต่อไปเรื่อยๆ ธรรมชาติก็สุขสงบของมันไปเรื่อยๆ
สัตว์โลกก็อยู่ของมันไปเรื่อยๆ ในขณะที่เมียดทนทุกข์ทรมานอย่างมากๆ คือการที่เราเห็นเมียดทนทุกข์ทรมาน
“ท่ามกลางเสียงธรรมชาติ” ในฉากนี้ มันสร้างความสะเทือนใจเราในแง่ที่ว่า
จริงๆแล้วไอ้ความเจ็บป่วยทุกข์ทรมานทางกายเหล่านี้ มันก็อาจจะถือได้ว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งน่ะ
มันเหมือนกับว่า “สิ่งพิเศษ” (ความทุกข์ทรมานทางกายของเมียด) มันถูกทำให้กลายเป็น “หนึ่งในสิ่งธรรมดา”
(นี่แหละคือธรรมชาติของโลก นี่แหละคือชีวิต ชีวิตเกิดมาก็ต้องเจ็บ ต้องป่วย)
ไอ้ความย้อนแย้งเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเราอย่างมากๆ
ส่วนฉากที่สองที่เราร้องไห้อย่างรุนแรง
คือฉากที่เสียงทั้งหมดถูกทำให้เงียบไป ซึ่ง “ความเงียบ” ในฉากนี้
มันส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อเราในแบบที่คล้ายๆกับ “ฉากฟรีซภาพ” ใน A BRIEF HISTORY OF MEMORY (2010,
Chulayarnnon Siriphol, A+30) คือเราว่าในสองฉากนี้ผู้กำกับเลือก choice
ในการจัดการกับภาพและเสียงได้ถูกต้องมากๆ การที่ผู้กำกับ SOMBOON
ตัดสินใจทำให้ฉากนั้นเงียบ ทำให้เราร้องไห้
และการที่จุฬญาณนนท์ตัดสินใจฟรีซภาพในหนังของเขาในฉากนั้น ก็ทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงเช่นกัน
4.ดูแล้วนึกถึงหนังสารคดีเรื่อง THE ORPHANS OF NKANDLA (2004,
Brian Woods, South Africa, A+30) เพราะหนังเรื่องนี้ก็เป็นการตามติดชีวิตผู้ป่วยที่สร้างความสะเทือนใจเราอย่างสุดๆเหมือนกัน
แต่ THE ORPHANS OF NKANDLA จะเน้นถ่ายทอดชีวิตผู้ป่วยจำนวนหลายคนมาก
เพราะหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านนึงในแอฟริกาใต้ที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์หลายคน
และสิ่งที่สะเทือนใจเรามากๆก็คือในตอนต้นของสารคดีเรื่องนี้ เราได้รู้จักกับ subjects
หลายคนมากจนเราจำไม่หวาดไม่ไหวว่าใครเป็นใคร
แต่หลังจากนั้นคนในสารคดีเรื่องนี้ก็ทยอยตายลงทีละคน ทีละคน
จนพอเข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง ก็เหลือ subjects ที่รอดชีวิตอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
No comments:
Post a Comment