Sunday, December 28, 2014

THE CASE AGAINST 8 (2014, Ben Cotner + Ryan White, documentary, A+25)

THE CASE AGAINST 8 (2014, Ben Cotner + Ryan White, documentary, A+25)

1.ชอบที่หนังเรื่องนี้โฟกัสไปที่กระบวนการทางกฎหมายอย่างจริงจังมาก คือเรามักจะชอบหนังที่เล่า “เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นหนัง” ให้เป็นหนังได้น่ะ คือผู้สร้างหนังหลายๆคนอาจจะกลัวว่า เรื่องราวการว่าความในศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์, ศาลฎีกาอะไรประเภทนี้มันซีเรียสเกินไป, มันหนักหัวเกินไป, มันยุ่งยากซับซ้อนเกินไป, เดี๋ยวผู้ชมหลายๆคนอาจจะเบื่อ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชื่นชมผู้สร้างหนังเรื่องนี้ที่ไม่กลัวอะไรประเภทนี้ และนำเสนอขั้นตอน กระบวนการต่างๆทางกฎหมายอย่างจริงจังมาก

 การที่ผู้สร้างหนังกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบนี้ต่อผู้ชม ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่นๆที่เราชอบมากๆด้วยนะ อย่างเช่น

1.1 NOTHING VENTURED (2004, Harun Farocki) ซึ่งเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเรื่องการซื้อหุ้น

1.2 CORN IN PARLIAMENT (2003, Jean-Stéphane Bron, Switzerland) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับกระบวนการในรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ในการพิจารณาร่างกฎหมายเรื่องพืช GMO

1.3 VICTOR SCHOELCHER, L’ABOLITION (1998, Paul Vecchiali) หนังเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายเลิกทาสในรัฐสภาฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19

1.4 LORENZO’S OIL (1992, George Miller) เราชอบที่หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในการคิดค้นวิธีรักษาโรค

2.ดู THE CASE AGAINST 8 แล้วเรามักจะนึกถึงคุณคำ ผกาและสิ่งที่คุณคำ ผกามักจะพูดในรายการ DIVAS’ CAFE ช่วงต้นปีนี้ คือในรายการ DIVAS’ CAFE ช่วงนั้นมักจะมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพในต่างประเทศ แล้วคุณคำ ผกาก็จะพูดเปรียบเทียบกับเมืองไทยในทำนองที่ว่า “ในขณะที่ประเทศ...ไปถึงขั้นนั้นกันแล้ว ประเทศเรายังต้องมารณรงค์ให้คนยอมรับเรื่องหนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียงกันอยู่เลย”

เพราะฉะนั้นการดู THE CASE AGAINST 8 ก็เลยทำให้เราเกิดความเศร้าใจแบบแปลกๆ คือในใจหนึ่ง เราก็ดีใจที่เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพในสหรัฐ และดีใจที่เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ในใจหนึ่ง เราก็เสียใจที่เกิดมาในประเทศไทย แต่ก็นะ คนเราเลือกเกิดไม่ได้นี่นา

3.ดูแล้วชื่นชมกลุ่มคนที่ทำงานต่อต้าน proposition 8 ในเรื่องนี้มากๆ เพราะคนกลุ่มนี้เก่งมากทั้งในด้านการพูดว่าความในศาล, การควบคุมอารมณ์ตนเอง และการรับมือกับกระแสแห่งความเกลียดชังจากคนจำนวนมาก การถูกข่มขู่คุกคามในด้านต่างๆ

คือถ้าหากเราตกเป็นเป้าของความเกลียดชังจากคนจำนวนมากแบบในหนังเรื่องนี้ เราคงสูญเสียการควบคุมตนเองอย่างแน่นอน

ดูแล้วนึกถึงการ debate เรื่องเกย์,เลสเบี้ยนทางโทรทัศน์ของไทยเมื่อราว 15-20 ปีก่อนด้วย คือเราจำได้ว่าในตอนนั้นก็จะมีจิตแพทย์เหี้ยห่าอะไรสักคนมาพูดต่อต้านเกย์,เลสเบี้ยนทางโทรทัศน์ แล้วก็จะมีดาราที่เป็นกะเทย กับตัวแทนจากกลุ่มอัญจารีมาร่วมอภิปรายด้วย แล้วเราก็จะทึ่งกับตัวแทนของกลุ่มอัญจารีมากในแง่ที่ว่า เธอใจเย็นมากๆๆๆๆ เธอสามารถรับมือกับการพูดจาเหี้ยๆและไร้เหตุผลของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดีมาก เธอสามารถเรียบเรียงคำพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และพูดโต้ตอบกลับไปอย่างใจเย็น คือเราจะทึ่งกับคนแบบนี้มากๆน่ะ เพราะถ้าเป็นเราเราคงร้องกรี๊ดแล้วทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้ามในทันที เราคงไม่สามารถควบคุมอารมณ์, สติอะไรได้แบบนี้

เพราะฉะนั้นพอเราได้เห็นกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสิทธิ LGBT ใน THE CASE AGAINST 8 เราก็เลยรู้สึกอยากคารวะคนกลุ่มนี้มากๆ เพราะเขาต่อสู้เพื่อเรา และเขาทำในสิ่งที่เราไม่สามารถทำเองได้อย่างแน่นอน ทั้งการลุกขึ้นสู้, การควบคุมอารมณ์ตนเอง, การทำตัวเป็นคนดีในสายตาสังคมตลอดเวลา เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT และการรับมือกับกระแสแห่งความเกลียดชังที่ถาโถมเข้ามา

4.อย่างไรก็ดี ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ถึงขั้น A+30 (ชอบสุดๆ) นะ แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะว่าผู้กำกับไม่เก่งหรือผู้กำกับทำอะไรผิดนะ มันเป็นเพราะตัวรูปแบบของหนังเรื่องนี้เองแหละ ที่อาจจะส่งผลให้หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เข้าทางรสนิยมเราแบบ 100% คือเราเป็นคนที่เสพติดการได้ดูด้านมืด, ด้านที่อ่อนแอ หรือจุดที่เปราะบางของมนุษย์น่ะ เพราะฉะนั้นพอเราได้เห็นครอบครัวเกย์, เลสเบียนที่ดูสมบูรณ์แบบ เพียบพร้อมมากๆในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยเกิดทั้งความรู้สึกทึ่งมากๆ และอิจฉามากๆในขณะเดียวกัน และเราก็เลยรู้สึกอยากเห็นด้านลบหรือด้านที่เปราะบางของครอบครัวเกย์, เลสเบียนในหนังเรื่องนี้น่ะ

แต่การที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอสิ่งนี้ออกมา ไม่ใช่สิ่งผิดนะ เรายอมรับได้ที่หนังโฟกัสไปที่กระบวนการทางกฎหมาย และนำเสนอภาพลักษณ์ในด้านบวกของครอบครัวเกย์, เลสเบียนเป็นหลัก เพียงแต่ว่าโดยรสนิยมส่วนตัวของเราแล้ว เราอยากเห็นด้านอื่นๆด้วย

คือในแง่นึง ปัญหาที่เรามีกับหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับปัญหาที่เรามีกับ THE TRUTH BE TOLD: THE CASES AGAINST SUPINYA KLANGNARONG (2007, Pimpaka Towira, documentary) น่ะ คือ THE TRUTH BE TOLD ก็เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับบุคคลที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมเหมือนกัน แต่คุณสุภิญญาในหนังเรื่องนี้ เธอควบคุมตัวเองได้ดีมากๆจนเราไม่เห็นด้านที่เปราะบางหรือด้านลบของเธอเลย หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนขาด “รสชาติ” บางอย่างที่เราชอบมากๆไป

แต่เราก็ไม่ได้มองว่าหนังสารคดีสองเรื่องนี้ทำอะไรผิดนะ เพราะเรื่องอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับตัว subject ด้วยแหละ คือถ้า subject ของคุณเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีมากๆ และเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สร้างหนังสารคดีจะสามารถตีแผ่จุดอ่อนของตัว subject ออกมาได้

และเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับรูปแบบของการเป็นหนังสารคดีด้วยแหละ คือถ้ามันเป็นหนัง fiction ผู้เขียนบทก็สามารถอุปโลกน์จุดอ่อน จุดเปราะบางให้กับตัวละครของตัวเองได้อย่างง่ายดาย แต่พอมันเป็นหนังสารคดีปุ๊บ เราก็ไม่สามารถประดิษฐ์ “ข้อเสีย” ที่ไม่มีจริงให้กับตัว subject ของเรา

เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งเราก็เลยรู้สึกว่า ผู้สร้างหนังสารคดีเรื่อง FINDING VIVIAN MAIER (2013, John Maloof + Charlie Siskel, A+30) โชคดีมากๆ เพราะเราว่าเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้คือการพูดถึงด้านลบของวิเวียนน่ะ และการที่หนังสารคดีเรื่องนี้ทำแบบนี้ได้อย่างเต็มที่มันเป็นเพราะว่า วิเวียนตายไปแล้ว และเธอไม่มีสมาชิกครอบครัวที่จะมาฟ้องร้อง

ส่วนหนังสารคดีเรื่องอื่นๆที่นำเสนอด้านลบของตัว subject ก็มีอย่างเช่น

4.1 MR. DEATH: THE RISE AND FALL OF FRED A. LEUCHTER, JR. (1998, Errol Morris) แต่หนังเรื่องนี้สามารถทำอย่างนี้ได้สบาย เพราะตัว subject ของหนังเรื่องนี้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องน่ะ และเราว่า subject ในหนังเรื่องอื่นๆของ Morris ก็คล้ายๆกัน

4.2 GREY GARDENS (1975, Albert Maysles, David Maysles, Ellen Hovde, Muffie Meyer) อันนี้ subject ของเรื่องเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามของครอบครัว LGBT ใน THE CASE AGAINST 8 เลยน่ะ เพราะแม่ลูกในหนังเรื่องนี้ดูรั่วมากๆ และดูเหมือนควบคุมอารมณ์ความรู้สึกอะไรของตัวเองไม่ได้ดีนัก

สรุปว่า เราชอบ THE CASE AGAINST 8 มาก และถึงแม้เราจะไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เราก็เข้าใจดีว่ามันไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้กำกับน่ะ แต่มันเป็นเพราะ “ความเป็นสารคดี” และ “ตัว subject ของเรื่อง” ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้หนังเรื่องนี้ขาดรสชาติอะไรบางอย่างที่เราต้องการ แต่ยังไงเราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆที่โฟกัสไปที่กระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อนทางกฎหมายอย่างจริงจัง เราว่าไอ้จุดโฟกัสนี้แหละ ที่ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับหนังสารคดีเรื่องนี้เมื่อเทียบกับหนังสารคดีเกี่ยวกับสิทธิเกย์เรื่องอื่นๆอย่าง SUDDENLY, LAST WINTER (2008, Gustav Hofer + Luca Ragazzi, Italy), A JIHAD FOR LOVE (2007, Parvez Sharma) และ BE LIKE OTHERS (2008, Tanaz Eshaghian, Iran) ที่เลือกที่จะโฟกัสไปที่จุดอื่นๆแทน



No comments: