Sunday, November 05, 2023

NOMAD VS. AFIRE

 

จดบันทึกความรู้สึกฮา ๆ ที่มีต่อ NOMAD (1982, Patrick Tam, Hong Kong, A+30) + AFIRE (2023, Christian Petzold, Germany, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1.เราได้ดู NOMAD ที่ HOUSE ในวันที่ 26 ต.ค. และได้ดู AFIRE ที่ DOC CLUB ในวันที่ 27 ต.ค. แล้วพอเราดูหนังสองเรื่องนี้ต่อกัน มันก็เลยสังเกตเห็นอะไรที่พ้องกันโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันฮาดี ก็เลยขอจดบันทึกไว้ขำ ๆ 5555

 

1.1 หนึ่งในฉากที่เราประทับใจที่สุดในหนังสองเรื่องนี้ คือฉากชายหนุ่มหล่อสองคนจูบกันตอนช่วงต้น-กลางเรื่องอย่างฉับพลัน กะทันหัน 555

 

1.2 หนังทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ “คู่หนุ่มสาว 4 คน ที่อาจแบ่งออกได้เป็นคู่รัก 2 คู่ ทั้ง 4 คนไปเที่ยวพักผ่อนตากอากาศในสถานที่พักที่ดูดี ราวกับเป็นสวรรค์เล็ก ๆ โดยมี “ผู้ใหญ่” 1 คน ติดไปด้วย (ใน NOMAD คือหนุ่มญี่ปุ่น ส่วนใน AFIRE คือบรรณาธิการ) และพวกเขาก็เจอกับภัยร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งส่งผลให้คู่รักคู่หนึ่งเสียชีวิต และคู่รักอีกคู่หนึ่งรอดชีวิต”

 

คือพอพล็อตคร่าว ๆ ตรงส่วนนี้มันตรงกันมาก ๆ เราก็เลยรู้สึกว่ามันฮาดีที่เราได้ดูหนังสองเรื่องนี้ต่อกันพอดี

 

1.3 ผู้ใหญ่ที่ติดไปด้วยมี “ภัยร้าย” ที่ติดมากับตัวเอง แต่ก็มีความแตกต่างกัน โดยในกรณีของ NOMAD คือหนุ่มญี่ปุ่นที่นำภัยจากผู้ก่อการร้ายติดตัวมาด้วย ส่วนใน AFIRE นั้นตัวบรรณาธิการมีโรคมะเร็งติดตัวมา ซึ่งไม่ได้เป็นภัยแก่คนอื่น ๆ

 

1.4 มี “ลูกหมู” ปรากฏในช่วงท้ายเรื่องเหมือนกัน โดยในกรณีของ NOMAD นั้น หนุ่มสาว 4 คนเอาลูกหมูมานอนด้วย ส่วนใน AFIRE นั้น มีลูกหมูป่าติดไฟปรากฏอยู่ในช่วงท้ายเรื่อง

 

1.5 หนังได้เตือนถึง “ภัยร้าย” ไว้ล่วงหน้าแล้ว ก่อนที่จะมาสำแดงเดชช่วงท้ายเรื่อง โดยใน AFIRE นั้น ภัยร้ายในรูปของไฟป่าปรากฏมาตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องแล้ว และถูกพูดถึงเป็นระยะ ๆ มาตลอดทั้งเรื่อง ส่วนใน NOMAD นั้น ภัยร้ายในรูปแบบของผู้ก่อการร้ายเริ่มถูกพูดถึงในช่วงกลางเรื่อง เมื่อมีการ mention ว่า แฟนเก่าของ Kathy เป็นสมาชิก Japanese Red Army ที่ต้องการถอนตัว คือพอมีการ mention อะไรแบบนี้เข้ามาในช่วงกลางเรื่อง เราก็เดาได้ทันทีว่ามันน่าจะเกิดอะไรตามมา (เหมือนกับในหนังทั่วไปเรื่องอื่น ๆ ที่มีการเน้นย้ำถึง “ปืน” หรือ “มีด” หรืออาวุธอะไรที่เก็บไว้ตรงจุดไหนในบ้านในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งพอมีการนำเสนออะไรแบบนี้ในช่วงต้นเรื่อง เราก็จะเดาได้ว่าปืนหรือมีดนั้นอาจจะถูกนำมาใช้ในฉาก climax ในเวลาต่อมา 5555)

 

1.6 ตัวละครในหนังทั้งสองเรื่องเมินเฉยต่อภัยร้ายนั้นในระดับนึง โดยใน AFIRE นั้นเห็นชัดว่าตัวละครไม่ค่อยกลัวไฟป่า โดยเฉพาะพระเอกที่อาจจะหมกมุ่นแต่กับปัญหาเรื่องการทำงานของตัวเอง ส่วนใน NOMAD นั้นจริง ๆ แล้วตัว Kathy (Patricia Ha) กับ Louis (เลสลี่จาง) นั้นน่าจะเข้าใจความน่ากลัวของ Japanese Red Army นะ พวกเขาเลยพยายามปกปิดความลับ แต่ยัย Tomato (Cecilia Yip) นี่แหละ ที่ปากพล่อย ก็เลยพาทุกคนซวยกันไปหมด 555

 

2.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “ภัยร้าย” ในหนังทั้งสองเรื่องนี้จริง ๆ แล้วต้องการจะสื่อถึงอะไร แต่ในส่วนของความรู้สึกส่วนตัวของเรานั้น “ภัยร้าย” ใน AFIRE ทำให้นึกถึงชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่จริง ๆ แล้วมีภัยเหี้ยห่าเกิดขึ้นรอบตัวมากมาย ทั้งภัยสิ่งแวดล้อมโลกร้อน ที่อาจจะทำให้ชีวิตมนุษย์ทั้งโลกชิบหายได้, ภัยการเมือง สงครามระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นไกล ๆ อย่างเช่นสงครามยูเครน, สงครามอิสราเอล แต่ไม่รู้ว่ามันจะลุกลามกลายเป็นสงครามโลกเมื่อไหร่ หรือปัญหาสังคมการเมืองต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชนชั้นล่าง แต่ยังไม่ได้ลุกลามปะทุมาถึงชนชั้นกลาง, etc. คือเหมือนชีวิตมนุษย์แต่ละคนก็หมกมุ่นแต่กับปัญหาชีวิตการทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเอง หรือความรักของตนเอง โดยที่พยายามไม่กังวลมากเกินไปกับภัยเหี้ยห่าต่าง ๆ ที่ปะทุอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา โดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่าภัยต่าง ๆ ที่ปะทุอยู่รอบตัวเรานั้นมันจะลุกลามมาถึงเราหรือไม่และเมื่อไหร่

 

ส่วน NOMAD นั้นเรารู้สึกว่ามันสะท้อนหนุ่มสาวยุคต้นทศวรรษ 1980 ที่ผ่านยุคการเรียกร้องสิทธิสตรี, สิทธิทางเพศอะไรต่าง ๆ มาแล้ว คนหนุ่มสาวยุคนั้นเลย free sex กันได้เต็มที่ โดยที่โรคเอดส์ยังไม่ปรากฏในยุคนั้นด้วย แต่พวกเขาแตกต่างจากคนหนุ่มสาวยุคปลาย 1960-ต้น 1970 ซึ่งเป็นยุคของสงครามเวียดนาม และการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา คือเหมือนคนหนุ่มสาวยุค 1970 นั้นจะสนใจปัญหาการเมืองโลกอย่างจริงจัง จนก่อเกิดเป็นขบวนการ Baader-Meinhof ในเยอรมนี, Red Brigade ใน Italy และ Red Army ในญี่ปุ่น, etc.

 

เราก็เลยรู้สึกว่า NOMAD มันมองหนุ่มสาวยุคต้น 1980 ยุคแห่ง liberalism, consumerism ด้วยสายตาที่น่าสนใจดี คือคนยุคก่อนคงมองว่าเด็กพวกนี้เหลวแหลกมาก โดยเฉพาะการที่หนังเปิดฉากด้วยตัวละครเด็กชายอายุ 13-14 ปีไปทำผู้หญิงท้อง แต่ NOMAD กลับนำเสนอภาพความรักของหนุ่มสาว 2 คู่ด้วยสายตาที่ไม่ตำหนิ เหมือนมองว่าความเงี่ยนของพวกเขาเป็นความสวยงามตามธรรมชาติมนุษย์ เราก็เลยรู้สึกว่า NOMAD มองความเสรีทางเพศของหนุ่มสาวในยุคนั้นด้วยสายตาที่งดงามมาก ในขณะที่ผู้ใหญ่ในยุคนั้นอาจจะมองว่าพวกนี้เหลวแหลกมาก

 

แต่การที่หนุ่มสาวพวกนี้ต้องตายด้วย “ภัยการเมือง” เราก็เลยแอบรู้สึกฮาว่า มันเหมือน NOMAD ต้องการจะสื่อในทางอ้อมหรือเปล่าว่า การที่หนุ่มสาวยุคต้น 1980 มีเสรีทางเพศนั้น เป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว แต่หนุ่มสาวยุค 1980 ช่วยสนใจปัญหาสังคมการเมืองโลกแบบคนยุค 1970 ด้วยก็ดีเหมือนกันนะ 55555 คือจริง ๆ แล้ว NOMAD คงไม่ได้ตั้งใจจะสื่อสารแบบนี้หรอก แต่เราดูแล้วคิดถึงประเด็นนี้ขึ้นมาเอง

 

 

เพราะฉะนั้นในขณะที่ “ภัยร้าย” ใน AFIRE ทำให้เรานึกถึง “ภัยร้ายต่าง ๆ ที่เรามองข้ามไปในขณะที่เราใช้ชีวิตประจำวัน” (อย่างเช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน) “ภัยร้าย” ใน NOMAD ก็ทำให้เรานึกถึง การที่หนุ่มสาวในต้นทศวรรษ 1980 ไม่ได้มีสำนึกทางสังคมการเมืองมากเท่ากับหนุ่มสาวยุค 1970 ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ตั้งใจแบบนั้นหรือเปล่า 555

 

3.จริง ๆ แล้วหนึ่งในฉากที่ติดตาที่สุดใน NOMAD คือการที่ nomad คนไร้บ้าน ปรากฏตัวช่วงสั้น ๆ ตอนต้นเรื่อง ในฉากที่ Kathy ถอดกระโปรงยืนบนหลังคารถ แล้วปรากฏว่ามีคนไร้บ้านคนนึงมองดูอยู่ คือไม่รู้ว่าฉากนี้สื่อถึงอะไร แต่เป็นฉากที่ประทับใจมาก ๆ

 

4.ขี้เกียจเขียนยาว ๆ ก็เลยสรุปว่า ชอบ AFIRE อย่างสุดขีดมาก ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แต่ชอบ NOMAD มากกว่า 55555 เพราะตอนจบของ NOMAD มันตราตรึง ประทับใจ สุดขีดคลั่งมากกว่า

 

คือเหมือนตอนจบของ AFIRE มันก็ดีงามสุด ๆ ซึ้งมาก ๆ นะ และดู “กลมกล่อม ลงตัว” กว่า NOMAD แต่เราว่าชีวิตคนเรา หรืออย่างน้อยก็ชีวิตเรา มันไม่ได้กลมกล่อม ลงตัว แต่มันประสบพบเจอกับ “เหตุร้ายโดยไม่คิดไม่ฝัน” แบบ NOMAD น่ะ แบบว่าเรานึกว่าเราใช้ชีวิตใน “หนังรักโรแมนติก” อยู่ดี ๆ มาเป็นเวลานานหลายวันหลายเดือน แต่อยู่ดี ๆ ก็เกิดเหตุระทึกขวัญสั่นประสาทไม่คาดฝัน ที่ทำให้ชีวิตเราล่มจมได้ชั่วพริบตา อะไรทำนองนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าตอนจบของ NOMAD มันตรงกับชีวิตจริงของเรามากกว่า

 

คือปัญหาที่เรามีกับ “หนังแอคชั่น” “หนังทริลเลอร์” หรือ “หนังสยองขวัญ” โดยทั่วไป ก็คือว่า เอาจริงแล้วเวลาเกิดเหตุร้ายขึ้นกับชีวิตคนบางคน โดยเฉพาะชีวิตของเรา คนคนนั้นเขาไม่ได้รู้สึกตัวมาก่อนหรอกว่า ตัวเองกำลังใช้ชีวิตในแบบที่คล้ายกับอยู่ในหนังทริลเลอร์หรือหนังสยองขวัญหรอก เขาอาจจะคิดว่าตัวเองกำลังหลงรักใครสักคน หมกมุ่นเรื่องความรักของตัวเอง หมกมุ่นกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของตัวเอง ใช้ชีวิตราวกับว่าตัวเองกำลังอยู่ในหนังรักโรแมนติก หรือหนังดราม่าอยู่ เขาอาจจะเดินช้อปปิ้งในห้างอยู่ดี ๆ แล้วก็มีคนมาทำร้ายเขา คือเหมือนกับว่าจริง ๆ แล้วชีวิตเขาเป็นหนังรักโรแมนติกมาเป็นเวลานาน 5 เดือน แล้วก็เกิดเหตุเขย่าขวัญขึ้นกับเขาแค่ 2 นาทีเท่านั้นก่อนที่เขาจะตาย

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า NOMAD มันสอดคล้องกับชีวิตจริงของเรา หรือมุมมองของเราที่มีต่อชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปนี่แหละ ที่เหมือนกับว่า “เราใช้ชีวิตอยู่ในหนังโรแมนติกอยู่ดี ๆ แต่ก็เกิดเหตุเขย่าขวัญขึ้นอย่างฉับพลัน เพียงแค่ไม่กี่นาที แล้วทุกอย่างก็จบสิ้นลง” เราก็เลยชอบโครงสร้างหนังของ NOMAD อย่างสุด ๆ โดยเฉพาะการที่หนังเลือกจบแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่าโครงสร้างหนังแบบนี้นี่แหละที่เอาจริง ๆ แล้วมันตรงกับชีวิตเรา มากยิ่งไปกว่าชีวิตของตัวละครในหนัง horror หรือ thriller เสียอีก

 

 

 

No comments: