Tuesday, April 10, 2012

W (THESIS VERSION) (2012, Chonlasit Upanigkit, 162 min, A+++++++++++++++)

ตอนนี้ได้ดู W แค่รอบเดียว ชอบในระดับ A+15 ค่ะ ดูแล้วเพลิดเพลินมากๆ แต่สาเหตุที่ไม่ได้ชอบถึงขั้น A+30 เท่ากับหนังอย่าง "อย่างน้อย/อย่างกลาง/อย่างมาก" ก็เป็นเพียงเพราะว่ามันไม่มีอะไรสะเทือนใจเราเป็นการส่วนตัวจนถึงขั้นดูแล้วร้องห่มร้องไห้น่ะ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็เลยมั่นใจว่า W ต้องติดอยู่ใน 10 อันดับหนังไทยขนาดยาว (ยาวเกิน 30 นาที) ที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้แน่ๆ แต่อาจจะไม่ถึงขั้นอันดับ 1 ประจำปีจ้ะ แต่เราคิดว่าผู้กำกับก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้หนังมันออกมาในแนวสะเทือนใจ หรือดูแล้วร้องห่มร้องไห้อยู่แล้ว

ถ้าจะทำ W ให้ยาว 9 ชั่วโมง เราก็รับได้นะ เพราะเราดูแล้วมีความสุขมากๆ และคิดว่ามันให้อารมณ์เพลินแบบหนังของ Lav Diaz น่ะ คือเราดูชีวิตของตัวละครไปเรื่อยๆ และเพลินไปกับมัน

สิ่งหนึ่งที่ชอบมากใน W โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังนักศึกษาเรื่องอื่นๆ ก็คือเราดูแล้วไม่รู้ว่าประเด็นหลักมันคืออะไร นอกจากการนำเสนอหลายๆแง่มุมในชีวิตตัวละคร คือหนังสั้นนักศึกษาเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีประเด็นหลักประเด็นเดียว ประเภท "ลูกควรใส่ใจพ่อแม่" "พ่อแม่ไม่ควรเคร่งครัดกับลูกมากเกินไป" "ครอบครัวเป็นสิ่งมีค่า" "อย่าทำตัวจิ๋มบานใจแตก" หรืออะไรทำนองนี้ และพอมันนำเสนอประเด็นนี้เสร็จ หนังก็จบ แต่ W มันเหมือนไม่ได้สั่งสอนอะไรผู้ชมน่ะ มันนำเสนอชีวิตนักศึกษาธรรมดาๆ ที่อาจจะมีปัญหาชีวิตคล้ายๆนักศึกษาในหนังสั้นเรื่องอื่นๆ แต่เนื่องจากชีวิตมันมีหลายแง่มุมและหลายปัญหา W ก็เลยทำในสิ่งที่หนังสั้นนักศึกษาเรื่องอื่นๆทำไม่ได้ และเท่าที่เราดู มันก็ไม่ได้สั่งสอนผู้ชมเหมือนหนังสั้นนักศึกษาเรื่องอื่นๆด้วย

สรุปว่าสิ่งที่เราชอบสุดๆใน W ก็อาจจะเป็น

1.การนำเสนอหลายๆแง่มุมในชีวิตตัวละคร ทั้งปัญหาเรื่องการเรียน, ความรัก และอะไรต่างๆในชีวิตที่อาจจะไม่ใช่ "ปัญหา" แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

2.การไม่มีท่าทีสั่งสอนผู้ชม

3.จังหวะเนิบช้าของหนัง ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจาก "ละครทีวี" คือ "ละครทีวี" ก็สามารถนำเสนอหลายแง่มุมในชีวิตตัวละครได้เหมือนกัน แต่ละครทีวีมันจะพยายามเร้าความสนใจผู้ชมตลอดเวลา ในขณะที่หนังขนาดยาวอย่างหนังของ Lav Diaz หรือ Jacques Rivette มันจะทอดเวลาในบางฉากให้ยาวมากๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ "ใช้เวลา" ใกล้เคียงกับที่ตัวละครใช้เวลาในฉากนั้นๆ ส่วน W ก็เหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างสองขั้วนี้ คือมันไม่เน้นความตื่นเต้นทุกๆ 5 นาที แต่มันก็ไม่ได้ใช้เวลาในแต่ละฉากยาวมากนัก (ถ้าเทียบกับ Lav Diaz)

4.รู้สึกว่าหนังมีความเป็นตัวของตัวเองดี ช่วงแรกๆของหนังจะนึกถึงหนังอย่าง FLOODING IN THE TIME OF DROUGHT (2009, Sherman Ong, 184 min) และ NOW SHOWING (2008, Raya Martin, 280 min) เพราะเป็นหนังยาวๆของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน และไม่ใช่หนังประเภท "ทุ่มทุนสร้าง โปรดักชั่นเลิศหรูอลังการ" หรืออะไรทำนองนี้ แต่พอดูๆไป ก็รู้สึกว่า W มันมีความเป็นตัวของตัวเองดี เพราะมันไม่ได้มีคอนเซปท์อาร์ทๆหรือความเป็น intellectual มากเท่ากับที่หนังอาร์ทยาวๆเรื่องอื่นๆเป็นกันน่ะ W มันดูเป็นการนำเสนอชีวิตนักศึกษาอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา และทำให้เรารู้สึกว่าเราแทบไม่เคยเห็นหนังแนวนี้มาก่อน มันไม่ใช่หนังชีวิตนักศึกษาลำเค็ญ และมันก็ไม่ได้โฟกัสไปที่ปัญหาครอบครัวมากเกินไป และมันก็ไม่ได้โฟกัสไปที่ปัญหาความรักมากเกินไปด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันมีความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆตรงจุดนี้

ส่วนจุดที่เราไม่แน่ใจว่าชอบหรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี คือการเล่าเรื่องผ่านเสียงคุยของตัวละคร แต่ไม่เห็นตัวละครในฉากนั้นน่ะ อันนี้ไม่รู้ว่าเกิดจากปัญหาในการถ่ายทำหรือเปล่า

ฉากที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงกัน แต่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ปกติ และอาจพบเห็นได้ในหนังเรื่องอื่นๆ คือฉากที่เราได้ยินเสียงนางเอกคุยกับแม่ทางโทรศัพท์หรือจดหมายหรืออะไรทำนองนี้ แต่เราไม่เห็นนางเอกในฉากนั้น เห็นแต่สิ่งของในห้องนางเอกแทน อันนี้เป็นฉากที่เรารู้สึกว่าค่อนข้างแปลกจากหนังเมนสตรีม แต่อาจพบได้ในหนังนอกกระแสหลายๆเรื่อง

แต่ฉากที่มีเสียงนางเอกคุยกับเพื่อนในสระว่ายน้ำ และฉากถีบเรือในสวนสัตว์หรืออะไรทำนองนี้ ที่เราแทบไม่เห็นตัวคนเลย ได้ยินแต่เสียงคุยเป็นเวลานานมากๆ อันนี้เรารู้สึกว่ามันแปลกประหลาดมาก และมันกลายเป็นจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้ unique ขึ้นมาโดยอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งนั่นอาจจะถือเป็นข้อดีของฉากเหล่านี้

อันนี้คือความรู้สึกของเราที่มีต่อ "ฉากสระว่ายน้ำที่แทบไม่เห็นตัวคน" ใน W

1.มันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ซ้ำแบบใคร

2.มันเล่าเรื่องได้โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว เพราะเราฟังแค่เสียงสนทนาก็เข้าใจได้หมดแล้ว ไม่ต้องใช้ภาพ

3.เราถามตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าหากเราเป็นผู้กำกับ เราจะทำแบบเดียวกันนี้หรือไม่ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ฉากสระว่ายน้ำเหล่านี้ ทำให้เรากลับไปจินตนาการเล่นๆว่า ถ้าหากเราเป็นผู้กำกับ เราจะนำเสนอยังไง และเราก็คิดได้ดังนี้

3.1 เรารู้สึกว่าภาพสระว่ายน้ำที่ไม่มีคน มันเป็นภาพที่น่าเบื่อเล็กน้อย เพราะฉะนั้นเราอาจจะใส่ภาพนักศึกษาหนุ่มๆเล่นกีฬาต่างๆเข้ามาแทน อย่างเช่นนักศึกษาหนุ่มๆเตะฟุตบอล, เล่นตะกร้อ, เล่นบาส, ว่ายน้ำ แล้วก็ให้ผู้ชมฟังเสียงนางเอกคุยกับเพื่อนๆไป ฮ่าๆๆ

3.2 เราอาจจะให้นักแสดงที่เล่นเป็นนางเอกสองคน ถ่ายอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากถ่ายในชีวิตประจำวัน หรืออยากบันทึกเก็บไว้ หรือเอาฟุตเตจอะไรก็ได้ที่เป็นชีวิตประจำวันของนักศึกษาหญิงจริงๆ มาใส่เข้าไปในฉากที่เป็นเสียงนางเอกคุยกับเพื่อนที่สระว่ายน้ำ คือเรารู้สึกว่าภาพกับเสียงมันไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันก็ได้น่ะ แต่มันอาจจะยากเล็กน้อยในการเรียงร้อยฟุตเตจเหล่านี้ให้ออกมาดูดี มันต้องอาศัยทักษะความเป็นกวีสูงเหมือนกัน ถ้าจะเล่นกับภาพและเสียงที่ไม่สัมพันธ์กันแบบนี้

3.3 แต่ถ้าทำแบบสองข้อข้างต้น ภาพมันอาจจะแย่งความสำคัญไปจากเสียงคุยของนางเอกกับเพื่อน เพราะฉะนั้นการใส่ภาพสระว่ายน้ำที่อาจจะดูน่าเบื่อเล็กน้อยอย่างที่เราเห็นอยู่นี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะมันไม่แย่งความสำคัญไปจากเสียง และมันก็อาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในตัวเองหรืออะไรก็ได้ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้จงใจใช้สัญลักษณ์อะไรหรือเปล่า อย่างเช่น การที่เราไม่เห็นนางเอกว่ายน้ำเลย มีความหมายอะไรหรือเปล่า การที่พระเอกเดินทางไปคนเดียวจนถึงชายทะเล มีความหมายอะไรหรือเปล่า

อีกจุดนึงที่เราไม่แน่ใจว่าเราชอบหรือเปล่า คือการที่เราไม่ค่อยเห็นฉากโคลสอัพนักแสดงเค้นอารมณ์ออกมาน่ะ คือปกติเวลาเราดูหนังที่เน้นความสมจริงของชีวิตหนุ่มสาวธรรมดาที่มีเรื่องโรแมนติกเข้ามาบ้างหรืออะไรทำนองนี้ เรามักจะนึกถึงหนังของ Eric Rohmer นะ แต่หนังของ Rohmer นักแสดงมันจะเก่งจริง และเราอาจจะได้เห็นนักแสดงโชว์ฝีมือออกมาบ้าง แต่ W อาจจะจงใจให้นักแสดงเก็บอารมณ์พอสมควร ซึ่งถ้าหากหนังจงใจเน้นความ "เก็บอารมณ์" ของตัวละคร เราก็เข้าใจนะ แต่การที่เราไม่ได้เห็น "ใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของนักแสดง" มันก็เลยทำให้เราไม่สะเทือนใจไปกับหนังน่ะ แต่อย่างที่บอกแหละ เราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจสร้างอารมณ์สะเทือนใจอยู่แล้ว

คือดู W แล้วก็นึกถึงสิ่งที่อุ้ย Ratchapoom เคย comment เกี่ยวกับหนังเรื่อง DISTANCE ของชลสิทธิ์นะ จำได้ว่า Ratchapoom แสดงความเห็นในทำนองที่ว่า ถ้าหากหนังเรื่อง DISTANCE มันลงลึกเชิงอารมณ์ได้สุดขีดกว่านี้ มันจะไปถึงขั้น Philippe Garrel หรืออะไรได้เลยน่ะ พอเราดู W เราก็เลยนึกถึงอะไรคล้ายๆอย่างนี้เหมือนกัน คือเราเองก็ชอบ W อย่างสุดๆอยู่แล้วล่ะ และเราว่ามันนำเสนอ "ชีวิต" ของตัวละครได้ดีมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ถึงขั้นอันดับหนึ่งประจำปี เพราะเราชอบหนังประเภทที่ดูแล้วสะเทือนใจเป็นการส่วนตัวน่ะ ซึ่งบางครั้งหนังในกลุ่มนี้มันอาจจะไม่ได้นำเสนอแค่ชีวิต แต่นำเสนอ "จิตวิญญาณ" ของตัวละคร, ใช้นักแสดงที่เก่งมากๆ และอาจจะมีที่มาจาก "ประสบการณ์ชีวิตที่เจ็บปวดมากๆ" ของตัวผู้กำกับเองจ้ะ

ถ้าหากเราต้องฉายหนังเรื่อง W ควบกับหนังเรื่องไหน เราก็คงเลือกฉายควบกับ THE FOUR ADVENTURES OF RAINETTE AND MIRABELLE (1987, Eric Rohmer) จ้ะ เพราะเป็นหนังที่ชอบสุดๆเหมือนกัน โดยหนังของ Rohmer เรื่องนี้ นำเสนอมิตรภาพของสาววัยรุ่นสองคนและเรื่องราวเล็กๆน้อยๆในชีวิตของสองสาว อย่างเช่น การถกเถียงกันว่าควรให้เงินขอทานดีหรือไม่ หรือการพยายามตื่นนอนตอนตี 4 หรืออะไรทำนองนี้ เพื่อฟัง "ความเงียบสงัด" ตอนตี 4
http://seul-le-cinema.blogspot.com/2010/01/4-adventures-of-reinette-and-mirabelle.html






No comments: