Sunday, December 08, 2013

MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2013, Nawapol Thamrongrattanarit, A+30)

 
MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2013, Nawapol Thamrongrattanarit, A+30)
(รูปภาพที่เห็นอยู่นี้ไม่ได้มาจากหนัง)
 
SPOILERS ALERT
 
 
 
 
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้สุดๆเป็นเพราะว่ามันไม่เหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมาก่อนเลย ซึ่งคงเป็นเพราะ form ของมันที่ประหลาดมากๆ ซึ่ง form ของหนังคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากทวิตเตอร์ด้วย
 
2.เราไม่เคยเล่นทวิตเตอร์มาก่อน ไม่รู้ด้วยว่ามันเล่นกันยังไง เราเดาว่ามันคงเป็นเหมือนกับ Facebook status ที่มันสั้นๆใช่ไหม
 
ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความรู้เรื่องทวิตเตอร์เลย แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราคิดไปถึงสิ่งต่างๆใน social media ยุคปัจจุบัน คือเราไม่รู้ว่าผู้กำกับตั้งใจอะไรยังไงมากน้อยแค่ไหน แต่ form ของหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงการที่เราได้รู้จักคนบางคนในยุคปัจจุบันผ่านทาง social media ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากการได้รู้จักคนในอดีตหรือคนในยุคก่อนทศวรรษ 2000 อย่างเช่น
 
2.1 social media ทำให้เราได้รู้จักคนบางคนที่เราไม่เคยพบเห็นเขาในชีวิตจริงมาก่อน มันทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวชีวิตของเขา แต่การรู้จักเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คมันแตกต่างจากการอ่านไดอารี่, จดหมายหรืออัตชีวประวัติของเขาอย่างมากๆ คือเรารู้สึกว่าหนังเรื่องอื่นๆมันเล่าเรื่องเหมือนไดอารี่, จดหมาย หรือหนังสือชีวประวัติของคนคนนั้นน่ะ นั่นก็คือเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง ติดตามเรื่องราวได้ง่าย หรือเน้นไปที่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่งในชีวิตของนางเอกในหนังหนึ่งเรื่อง อย่างเช่นปัญหาในการหาผัวไม่ได้ (หรือปัญหารัก), ปัญหาเรื่องเพื่อน, ปัญหาชีวิตครอบครัว และนำไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในตอนจบ
 
แต่การรู้จักคนบางคนผ่านทาง social media เพียงอย่างเดียว มันแตกต่างออกไป เราจะได้รู้จักคนๆนั้นผ่านทางประโยคสั้นๆ ที่อาจจะพูดถึงเรื่องอะไรก็ได้ อาจจะพูดถึงปัญหาสำคัญในชีวิตของเขาก็ได้ หรืออาจจะพูดถึงปัญหาเล็กๆน้อยๆก็ได้ หรืออาจจะพูดถึงอะไรต่างๆที่ไม่มีความสำคัญมากนักในชีวิตของเขาก็ได้ social media มันอาจจะทำให้เราได้รู้จัก “แง่มุมธรรมดา” ใน “ชีวิตธรรมดา” ของ “คนธรรมดา” มากยิ่งขึ้น มันเหมือนกับการได้เห็น fragments เล็กๆน้อยๆในชีวิตคนธรรมดาคนหนึ่ง fragments ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และไม่สามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นภาพสมบูรณ์ได้
 
เราก็เลยชอบ form ของหนังเรื่องนี้มาก ตรงที่มันทำให้เราได้เห็น fragments เล็กๆน้อยๆในชีวิตของนางเอกไปเรื่อยๆ เราจะได้รู้ว่าเขามีเพื่อนสนิทเป็นใคร, ปัญหาใหญ่ในชีวิตของเขาในแต่ละเดือนคือเรื่องอะไร, เขาหมกมุ่นกับเรื่องอะไร (magic hour), เขามีภาระหนักคืออะไร (ทำหนังสือรุ่น) ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่คนหลายๆคนสื่อสารออกมาผ่านทาง social media
 
2.2 อีกสิ่งที่ชอบสุดๆก็คือ การสร้าง “โลกที่ไม่เหมือนจริง” ในหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือการรู้จักคนผ่านทาง social media จริงๆ
 
ในขณะที่หนังทั่วๆไปมักจะนำเสนอชีวิตนางเอกในแบบ realistic (อย่างเช่น BUSU, LOVELY RITA) และเหมือนกับจะบอกผู้ชมว่า “ฉันกำลังเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับตัวละครตัวนี้ให้พวกเธอได้รับรู้นะ” หนังเรื่องนี้กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง โดยแสดงออกผ่านทางองค์ประกอบต่างๆ อย่างเช่นเครื่องแต่งกาย, ฉาก, โลเกชั่น, เหตุการณ์ที่ไม่สมจริง แต่ในขณะเดียวกัน โลกในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่โลกแฟนตาซีโดยสมบูรณ์ มันเป็นโลกกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซีคล้ายๆหนังบางเรื่องของทศพล บุญสินสุข (มีหมาป่าอยู่ที่ชั้นหนังสือ, UNDER THE BLANKET, แสนนาน) แต่มีระดับความเป็นแฟนตาซีน้อยกว่าหนังของทศพล
 
ลักษณะกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซีนี้มันทำให้เรานึกถึงการรู้จักคนผ่านทาง social media น่ะ เพราะเวลาที่เราอ่าน facebook status ของคนบางคน เราไม่รู้หรอกว่า
 
2.2.1 เขาพูดจริงทั้งหมดหรือไม่
2.2.2 เขาพูดทั้งเรื่องจริงและเรื่องล้อเล่นใช่ไหม คือเขาพูดถึงเรื่องที่ไม่จริงด้วย แต่ไม่ได้ตั้งใจจะหลอกลวงใคร เพราะเขาแค่เขียนฮาๆเท่านั้น และคนอ่านก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริง
2.2.3 เขาอาจจะขยายเรื่องบางอย่างให้มันใหญ่เกินจริง เพื่อความฮา (อย่างเช่นการไปผจญภัยในป่าของแมรี่)
2.2.4 เขาพูดถึงทั้งเรื่องจริงและความฝันของเขา
2.2.5 เขาพูดทั้งเรื่องจริงและเรื่องโกหก
2.2.6 เขาโกหกเป็นหลัก
 
สิ่งต่างๆที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เรานึกถึงการได้รู้จักคนผ่านทาง social media น่ะ social media อาจจะทำให้เราได้รู้จักคนบางคน แต่นอกจากเราจะได้รับรู้เพียงแค่ fragments เล็กๆน้อยๆในชีวิตของคนๆนั้นแล้ว fragments เหล่านั้นยังมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริงด้วย
 
2.3 ข้อนี้เกี่ยวข้องกับ 2.2.4 นั่นก็คือ social media ทำให้เรารู้จักทั้งความจริงและความฝันของคนๆนั้นน่ะ และรู้จักทั้ง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนๆนั้น” และ “อารมณ์ความรู้สึกในใจของคนๆนั้นด้วย” และเราก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนจุดนี้ออกมาได้ดี คือมันสะท้อนทั้งโลกภายในและโลกภายนอกของตัวละครน่ะ
 
เราคิดว่าหนังเรื่องอื่นๆมันอาจจะสะท้อนโลกภายนอกของตัวละครเป็นหลัก หรือทำให้เราแยกระหว่างความจริงกับความฝันของตัวละครได้อย่างง่ายดาย คือในหนังเรื่องอื่นๆ เราจะมองจาก “เหตุการณ์ข้างนอกตัวละคร เพื่อจินตนาการถึงความคิดความรู้สึกข้างในตัวละคร” น่ะ อย่างเช่น ถ้าหากเราเห็นฉากเพื่อนนางเอกยิงแก๊สน้ำตาใส่นางเอก เราก็จะจินตนาการว่านางเอกรู้สึกเจ็บตามากน้อยแค่ไหน หรือถ้าหากเราเห็นนางเอกถือปืนยิงขึ้นฟ้าไปตามท้องถนน เราก็จะจินตนาการว่านางเอกรู้สึกอะไรยังไงถึงทำแบบนั้น
 
แต่ในหนังเรื่องนี้ มันมีหลายๆฉากที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังมองจาก “โลกข้างในจิตใจนางเอก เพื่อจินตนาการว่าจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับนางเอกในโลกแห่งความเป็นจริงน่ะ” อย่างเช่นในฉากที่เพื่อนนางเอกยิงแก๊สน้ำตาใส่นางเอก เรารู้ว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นจริงแน่นอน ฉากนี้มันเกิดขึ้นในหัวของนางเอกเท่านั้น เพราะฉะนั้นอะไรกันล่ะที่เกิดขึ้นจริง ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรงหรือเปล่า หรือฉากที่นางเอกถือปืนยิงขึ้นฟ้าไปตามท้องถนน เราก็รู้ว่านางเอกไม่ได้ทำอย่างนั้นจริงๆแน่นอน แล้วจริงๆแล้วนางเอกทำอะไรบ้างในโลกแห่งความเป็นจริง เธอแสดงออกแบบไหนในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อสะท้อนความรู้สึกรุนแรงข้างในออกมา
 
สรุปว่าหนังเรื่องนี้มันทำให้เรามองกลับทิศทางกับหนังหลายๆเรื่องน่ะ คือหนังเรื่องอื่นๆมันทำให้เรา “มองจากข้างนอก เพื่อจินตนาการถึงข้างใน” แต่หนังเรื่องนี้มันทำให้เรา “มองจากโลกข้างในใจ เพื่อจินตนาการถึงเหตุการณ์ภายนอก”
 
จุดนึงที่ทำให้เราจินตนาการแบบนี้มากๆก็คือฉากที่เอ็ม (วสุพล เกรียงประภากิจ) อยู่ดีๆก็แนะนำตัวกับแมรี่ก่อน และบอกว่าเขายังไม่มีแฟน
 
คือฉากนี้มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริงแน่นอน เพราะคนปกติคงไม่มีใครพูดแบบนั้น แต่ฉากนี้มันสะท้อนความฝันของนางเอกออกมาได้ดี นางเอกคงอยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น คงอยากให้เรื่องมันออกมาง่ายๆแบบนี้
 
เพราะฉะนั้นฉากนี้มันก็เลยทำให้เราจินตนาการว่า จริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ นางเอกอาจจะเป็นฝ่ายชวนเขาคุยก่อนก็ได้ และอาจจะคุยกันนานถึง 15 นาทีก็ได้กว่าจะล้วงข้อมูลมาได้ว่าเขายังไม่มีแฟน
 
ลักษณะอะไรแบบนี้มันทำให้เรานึกถึงการสื่อสารผ่าน social media  เพราะหลายๆครั้งมันไม่ได้สะท้อนความจริงตามความเป็นจริง แต่มันสะท้อนถึงโลกที่อยู่ภายในใจของผู้เขียน facebook status นั้น และผู้อ่าน status ก็ต้องจินตนาการเอาเองว่าจริงๆแล้วข้อความนี้มันสะท้อนอะไรในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างเช่นเพื่อนเราอาจจะเขียน status ว่า “He ฉันก็มีหัวใจ” ซึ่งคนที่อ่านก็จะรู้ได้ในทันทีว่า หัวใจของเขาไม่ได้อยู่ที่ he อย่างแน่นอน ประโยคที่เขาเขียนเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในใจเขา แต่คนอ่าน status ต้องจินตนาการเอาเองว่า เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเขาถึงดลบันดาลใจให้เขาเขียน status นี้ออกมา คือแทนที่เราจะได้อ่าน “เหตุการณ์” ที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ เรากลับได้อ่านตัวความรู้สึกนั้น แต่กลับไม่ได้รับรู้ตัวเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกนั้น
 
2.4 ชอบป้ายประกาศสถานที่และปกหนังสือต่างๆในหนังเรื่องนี้ เพราะนอกจากมันจะทำให้เรานึกถึง “ความไม่จริง” ของการสื่อสารผ่าน social media แล้ว มันยังทำให้เรานึกถึงลักษณะอีกอย่างของ social media ด้วย นั่นก็คือ “ความไม่สมบูรณ์” ของ social media ประเภทต่างๆ อย่างเช่น
 
2.4.1 ถ้าหากเราอ่านแต่ทวิตเตอร์หรือ facebook status ของบางคน เราก็จะไม่เห็น “ภาพ” ของคนๆนั้นหรือสิ่งต่างๆที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ เราจะไม่เห็น “รายละเอียด” ของสิ่งต่างๆที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ อย่างเช่น ถ้าหากเขาเขียนแค่ว่าเขาไปโรงเรียน เราก็อาจจะไม่รู้ว่าเขาไปโรงเรียนอะไร ป้ายโรงเรียนใช้ font ตัวอักษรประเภทไหน สภาพโรงเรียนเป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าหากเขาเขียนแค่ว่าเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับความชื้นสัมพัทธ์ เราก็จะไม่เห็นภาพปกหนังสือของเขา ไม่รู้ว่าใครเขียนหนังสือเล่มที่เขาอ่านอยู่ เราจะไม่เห็น “โลกที่สมบูรณ์” ของคนเขียน status นั้น เราจะจินตนาการได้เพียงแค่ “ภาพสเก็ตช์คร่าวๆของโลกของเขา” เท่านั้น
 
2.4.2 ถ้าหากเป็น social media ประเภทอื่นๆ ความไม่สมบูรณ์ก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นถ้าหากเป็น instagram เราก็อาจจะ “เห็นภาพ” ของเขาและสิ่งต่างๆที่แวดล้อมตัวเขาอย่างชัดเจน แต่จะไม่รู้เรื่องราวละเอียดๆเกี่ยวกับตัวเขา
 
2.5 ช่วงครึ่งหลังของเรื่องอาจจะไม่สนุกเท่าช่วงครึ่งแรก เพราะนางเอกดูเหมือนจะเพ้อไปเรื่อยๆในบางครั้ง แต่เราชอบจุดนี้มากในแง่ที่ว่า มันทำให้เรานึกถึงการได้รู้จักคนผ่านทาง facebook หรือ social media นั่นแหละ เพราะคนแต่ละคนที่เป็นเจ้าของ facebook หรือทวิตเตอร์นั้นล้วนมีทั้งแง่มุมที่ตรงกับความสนใจของเราและไม่ตรงกับความสนใจของเรา ถ้าหากช่วงไหนเขา post เรื่องที่เราสนใจ เราก็สนุกไปกับเขา ถ้าหากช่วงไหนเขาหมกมุ่นกับเรื่องที่เราไม่สนใจ หรือคร่ำครวญพร่ำเพ้อไปกับเรื่องที่เราไม่สนใจ เราก็จะรู้สึกว่าเขาน่าเบื่อ
 
หนังเรื่องนี้ก็เลยแตกต่างจากหนังทั่วไปในแง่ที่ว่า มันไม่ได้คัดเอามาแต่แง่มุมที่น่าสนใจ สนุก ตื่นเต้นของตัวละครเท่านั้น แต่มันเหมือนกับการที่เราได้รู้จักคนผ่านทาง social media จริงๆ มันมีทั้งเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน, เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่มีที่มาที่ไป (การถูกผู้ชายบ้าเข้ามาตีหัวในโรงเรียน) และเรื่องที่เจ้าของ facebook หรือ twitter นั้นหมกมุ่น แต่อาจจะไม่มีความสำคัญหรือไม่น่าสนใจในสายตาของคนอื่นๆ คนอื่นๆอาจจะมองเจ้าของเฟซบุ๊คนั้นว่า “อีนี่เพ้อเรื่องนี้อยู่ได้ ไม่หยุดเสียที” ในขณะที่เจ้าของเฟซบุ๊คอาจจะมองว่า “นี่มันเป็นเรื่องที่ฉันทำใจไม่ได้จริงๆ ฉันไม่รู้จะทำใจยังไง สิ่งที่ฉันทำได้มีเพียงแค่ระบายมันออกมาทางเฟซบุ๊คเรื่อยๆ แต่ฉันไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงจะดับความรู้สึกนี้ได้”
 
3.ชอบลักษณะความเป็นเผด็จการของโรงเรียนในหนังมาก มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ประสบพบเจอในชีวิตจริง ตอนที่นางเอกพูด “MARY IS HAPPY” ในหนังเรื่องนี้ มันจึงเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก
 
4.ชอบความหมกมุ่นกับ magic hour ของนางเอกด้วย มันทำให้เรานึกถึงเรื่องบางเรื่องในชีวิตเราเอง โดยที่ผู้กำกับไม่ได้ตั้งใจ นั่นก็คือเรามองว่า ในบางครั้งนางเอกควรจะต้องเลือกบางสิ่งแล้วทำมันให้สำเร็จน่ะ นางเอกไม่สามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ทั้งหมดทุกสิ่งหรอก นางเอกไม่สามารถที่จะทำได้ทั้งทำหนังสือรุ่นให้เสร็จโดยถ่ายภาพเพื่อนร่วมรุ่นทุกคนในช่วง magic hour และปลีกเวลาไปหาเอ็มได้ ถ้านางเอกต้องการจะได้ทั้งสามอย่าง นางเอกก็จะไม่ได้อะไรเลย ถ้านางเอกต้องการไปหาเอ็ม นางเอกก็จะถ่ายภาพช่วง magic hour ไม่ได้ และในความเห็นของเรา เราว่าถ้าหากนางเอกอยากถ่ายภาพช่วง magic hour นางเอกก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เพื่อนคนอื่นๆมา fit in กับสิ่งที่นางเอกหมกมุ่น นางเอกควรจะถ่ายภาพเหี้ยห่าอะไรก็ได้ในช่วง magic hour ส่วนภาพในหนังสือรุ่นก็เป็นภาพถ่ายเพื่อนตอนไหนก็ได้ที่เพื่อนๆสะดวก การที่นางเอกพยายามจะเกณฑ์ให้เพื่อนๆมาถ่ายรูปตอน magic hour ในบางแง่มุมมันก็ไม่ต่างไปจากการที่ครูในโรงเรียนบังคับให้นักเรียนมาถ่ายภาพหมู่ตอนที่ผอ.โรงเรียนอยู่ด้วย มันเป็นการพยายาม “กะเกณฑ์คนอื่นๆให้มา fit in กับสิ่งที่ตัวเองต้องการ” น่ะ และเราก็ชอบมากที่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การที่นางเอกพยายามจะกะเกณฑ์อะไรแบบนี้กับคนอื่นๆ มันนำไปสู่ความล้มเหลวและความผิดหวัง
 
5. หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นๆนึงในชีวิตเราเอง ซึ่งผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจ นั่นก็คือประเด็นที่ว่าเราเพิ่งเริ่มเล่น facebook ตอนปี 2008 น่ะ ดังนั้นนอกจากประโยค “Mary is happy” ในหนังเรื่องนี้ จะทำให้เรานึกถึงลักษณะของสังคมเผด็จการที่ปฏิเสธความเป็นจริงแล้ว ในอีกแง่นึง มันก็ทำให้เรานึกถึงตัวเราเองเวลาสื่อสารกับคนอื่นๆผ่านเฟซบุ๊คด้วย นั่นก็คือเรามักจะนำเสนอแต่ “ความสุขในปัจจุบัน” ของเราเท่านั้น อย่างเช่น การเขียนถึงหนังที่เราชอบเป็นหลักลงเฟซบุ๊คและ blog ของเรา ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราจริงๆ
 
แต่ในความเป็นจริงนั้น เราคิดว่าตัวตนของเรา มันไม่ได้มีเพียงแค่ความสุขในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันรวมถึง “บาดแผลในอดีตที่เจ็บปวด” และ “ความเกลียดชังที่มีต่อคนบางคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน” ด้วย แต่เราไม่สามารถแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาทาง social media ของเราได้ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไป ทั้งๆที่จริงๆแล้ว เราคิดว่า “บาดแผลในอดีตที่เจ็บปวด” นี่แหละ มันคือแก่นแท้ของตัวตนที่แท้จริงของเรา “ความสุขจากการดูหนังในปัจจุบัน” ที่เรามักแสดงออกผ่านทางเฟซบุ๊คน่ะ มันไม่ใช่แก่นแท้ทั้งหมดของเราหรอก และเราก็เชื่อว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่เป็นแบบนี้ เราเชื่อว่ามีหลายๆคนที่ทำคล้ายๆกันกับเรา นั่นก็คือแสดง “เปลือกแห่งความสุข” ของตนเองออกมาทาง social media แต่ไม่ได้แสดง “บาดแผลในอดีตที่เจ็บปวด” ออกมา ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะเป็นแก่นแท้ในตัวตนของคนคนนั้นก็ตาม
 
หนังเรื่อง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ทำให้เรานึกถึงจุดนี้ในตัวเราได้ในระดับนึง โดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เพราะในหนังเรื่องนี้ เราแทบไม่รู้ประวัติของแมรี่เลย เราไม่รู้ว่าชีวิตเธอในอดีตก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าเธอเคยมีปัญหาอะไรมาก่อนหรือไม่ ไม่รู้ว่าเธอมีปัญหาร้ายแรงอะไรที่ไม่สามารถแสดงออกผ่านทาง social media ได้หรือไม่ เรารู้จักเธอเพียงแค่สิ่งที่เธอสามารถแสดงออกผ่านทาง social media เท่านั้น
 
หนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เรานึกถึงขีดจำกัดของ social media ในจุดนี้ เพราะเมื่อเราทำความรู้จักใครสักคนผ่านทางการติดตาม social media ของเขา เราอาจจะได้เห็นกริยา “is happy” ของเขาบ่อยๆ เมื่อเขาได้กินอาหารอร่อย, ได้เจอเพื่อน, ได้อ่านหนังสือที่ชอบ, ได้ดูหนังที่ชอบ แต่เราจะไม่ค่อยได้เห็นด้านอื่นๆของเขา เพราะถ้าหากเขามีอดีตที่เจ็บปวด เขาอาจจะแสดงมันออกมาผ่านทาง social media ไม่ได้ หรือถ้าหากเขาวางแผนจะฆ่าตัวตายหรือจะฆ่าศัตรูของเขา เขาก็ย่อมแสดงมันออกมาผ่านทาง social media ไม่ได้เช่นกัน เพราะการแสดงสิ่งนั้นออกมาย่อมเป็นการขัดขวางไม่ให้เขาบรรลุเป้าหมาย
 
6.จุดนึงที่เราชอบหนังเรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นการบันทึกยุคสมัยได้ดีน่ะ มันเป็นการบันทึกว่าคนในยุคนี้กลุ่มหนึ่งเล่น twitter และคนในยุคนี้รู้จักกันผ่านทาง social media ซึ่งมีลักษณะต่างๆตามที่เราได้ระบุมาข้างต้น
 
เรามักจะชอบหนังที่บันทึกเทคโนโลยีการสื่อสารของยุคสมัยนะ อย่างเช่น
 
6.1 HARU (1996, Yoshimitsu Morita) ที่บันทึกโลกอินเทอร์เน็ตยุคเริ่มต้น
6.2 THE NET (1995, Irvin Winkler) ที่บันทึกโลกอินเทอร์เน็ต
6.3 THE LOVE MACHINE (1999, Gordon Eriksen) ที่บันทึกโลกอินเทอร์เน็ต
6.4 BANGKOK TANKS (2007, Nawapol Thamrongrattanarit, 6min) ที่เกี่ยวกับการแชท
6.5 STATUS (2013, Chantana Tiprachart) ที่เกี่ยวกับเฟซบุ๊ค
6.6อวสานโลกสวย (2013, Pun Homchuen + Onusa Donsawai) ที่เกี่ยวกับเน็ตไอดอล
 
เราว่าหนังกลุ่มนี้มันบันทึกความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดี และ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ก็เป็นหนึ่งในหนังกลุ่มนี้ด้วย
 
7.พอดู MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY กับ EVIDENCE (2013, Olatunde Osunsanmi, A+25) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบหาฆาตกรผ่านทางคลิปวิดีโอหลายๆคลิปแล้ว เราก็จินตนาการขึ้นมาว่า อยากให้มีคนเอา LE DOSSIER 51 (1978, Michel Deville) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดในชีวิตมารีเมคใหม่
 
LE DOSSIER 51 เป็นหนังเกี่ยวกับองค์กรลับที่พยายามสืบค้นประวัติของคนๆนึง โดยผ่านทางข้อมูลที่ได้มาด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเช่นการสอบถามจากเพื่อนของคนๆนั้นหรือคนรักเก่าของคนๆนั้น โดยตลอดทั้งเรื่องนี้เราจะไม่ได้เห็นตัวองค์การลับและไม่เห็นตัวเป้าหมายขององค์การลับเลย แต่เราจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลเป้าหมายนี้ทีละน้อยโดยผ่านทางคำบอกเล่าของคนต่างๆ
 
ถ้าหากมีการนำ LE DOSSIER 51 มารีเมคใหม่ในยุคปัจจุบัน มันคงน่าสนใจดี โดยอาจจะนำมาดัดแปลงเป็นเรื่องของตำรวจที่พยายามสืบหาฆาตกรผ่านทาง Facebook, twitter, socialcam, instagram ก็ได้ เพราะข้อมูลที่ปรากฏผ่านทาง social media เหล่านี้ มันมีทั้งความจริงและความลวงปะปนกันอยู่อย่างน่าสนใจมาก การนำข้อมูลจาก social media มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันและคัดกรองเอาความเท็จออกไป มันคงเป็นภารกิจที่น่าสนใจดี
 
สรุปว่าชอบ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY อย่างสุดๆจ้ะ เพราะหนังเรื่องนี้มันแปลกใหม่มากสำหรับเรา และมันทำให้เรานึกถึงลักษณะอะไรหลายๆอย่างของการสื่อสารผ่าน social media ในยุคปัจจุบัน ทั้งการแสดงให้เห็น fragments ในชีวิตที่ไม่ปะติดต่อกัน, แง่มุมธรรมดาของชีวิต, ความปนเปกันระหว่างความจริงกับความลวง, ความปนเปกันทั้งเหตุการณ์ข้างนอกและข้างในใจของคน, การได้เห็นเพียงแค่ภาพ sketch ในชีวิตของคนๆนั้น, การพร่ำเพ้อของคนๆนั้น และสิ่งที่คนๆนั้นไม่สามารถแสดงออกได้ทาง social media
 

1 comment:

celinejulie said...

เพิ่มเติม

2.6 อีกจุดหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงลักษณะการสื่อสารผ่าน social media ก็คือว่า การที่โลกในหนังมีลักษณะกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซีนั้น นอกจากมันอาจจะสะท้อน “โลกที่อยู่ในใจนางเอก” แล้ว มันอาจจะสะท้อน “โลกที่อยู่ในใจคนอ่านทวิตเตอร์”ด้วยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น บ้านนางเอกคงไม่เต็มไปด้วยม้วนวิดีโอแบบที่เห็นในหนัง แต่ถ้าหากคนที่อายุ 40 ปีอย่างเรา ได้อ่าน facebook status ของใครก็ตามที่เราไม่รู้จักดี เวลาเราจินตนาการถึงบ้านของเขา เราอาจจะจินตนาการว่าบ้านของเขามีม้วนวิดีโออยู่ด้วยก็ได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วบ้านของเขาไม่มีม้วนวิดีโอก็ตาม

หรืออย่างฉากที่นางเอกไปซื้อถ้วยชามสังคโลก แล้วเราเห็นถ้วยชามสังคโลกจำนวนมากอยู่ในห้องของนางเอก มันทำให้เรานึกถึงว่า ถ้าหากมีใครก็ตามเขียน facebook status ว่า “วันนี้ฉันไปซื้อถ้วยชามสังคโลกมาเป็นจำนวนมาก” คนที่อ่าน status นี้บางคน อาจจะจินตนาการเป็นภาพถ้วยชาม 50 อันอยู่ในหัวของเขา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเขียน status อาจจะซื้อมาแค่ 5 อันเท่านั้น