Saturday, December 10, 2016

A GAS STATION (2016, Tanwarin Sukkhapisit, A+30)

A GAS STATION (2016, Tanwarin Sukkhapisit, A+30)
ปั๊มน้ำมัน

1.สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังคือเรารู้สึกว่ามันประหลาดและเป็นตัวของตัวเองดี คือเรารู้สึกว่ามันอยู่กึ่งกลางระหว่างหนังรักรันทดแนวสมจริงแบบหนังอย่าง A WINTER’S TALE (1992, Eric Rohmer)  กับหนังแนวเพี้ยนหลุดโลกแบบหนังของ Ulrike Ottinger ยุคทศวรรษ 1970-1980 ที่ตัวละครจะแต่งตัวเพี้ยนๆ ทำอะไรเพี้ยนๆ หลุดโลกมากๆ

คือปกติแล้วหนังที่เราดูมันจะมี “ตำแหน่งแห่งที่” ของมันชัดเจนในกลุ่มภาพยนตร์น่ะ หนังของ Eric Rohmer ก็มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนในฐานะหนังโรแมนติกแบบสมจริงที่ถ่ายทอดส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ ส่วนหนังของ Ulrike Ottinger และ Ratchapoom Boonbunchachoke ก็มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนในฐานะหนัง intellectual ที่นำเสนอประเด็นทางสังคมการเมืองผ่านทางตัวละครที่มีความ weird หรือแม้แต่หนังของ Anocha Suwichakornpong, Apichatpong Weerasethakul, Jakrawal Nilthamrong ก็มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนในฐานะหนังอาร์ต

เราก็เลยชอบ A GAS STATION ตรงที่เราไม่รู้จะจัดมันเข้าอยู่ในหมวดหมู่ไหนดี ทั้งในแวดวงหนังไทยและหนังโลก มันไม่ใช่หนังอาร์ตแบบที่เราคุ้นเคย, มันไม่ใช่หนัง cult + intellectual แบบหนังของ Ratchapoom Boonbunchachoke, Ulrike Ottinger, Khavn de la Cruz, Bruce La Bruce และมันก็ไม่ใช่หนังโรแมนติกสมจริงแบบ Eric Rohmer ด้วย แต่องค์ประกอบแต่ละอย่างใน A GAS STATION มันสามารถเทียบเคียงกันได้กับหนังหลายๆแนว คือเครื่องแต่งกายของตัวละครอาจจะทำให้นึกถึงหนังของ Ulrike Ottinger แต่ตัวละครพระเอกของหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงนางเอกของ A WINTER’S TALE (1992, Eric Rohmer) ที่ไม่ยอมเปิดใจรับรักใหม่เสียที แม้จะมีผู้ชายดีๆผ่านเข้ามาในชีวิต เธอยังคงปักใจรักมั่นแต่กับ “ชายหนุ่มที่หายสาบสูญไปแล้ว” เท่านั้น

ความที่ตัวหนัง A GAS STATION มันเป็นตัวของตัวเองมากๆแบบนี้นี่แหละ ที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราชอบมันในระดับ A+30

2.ดูแล้วนึกถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะชอบอะไรที่ไกลเกินเอื้อมเสมอ หรือมักจะตั้งเป้าหมายไว้กับอะไรอย่างหนึ่งที่ยากจะบรรลุได้ เพื่อที่ตัวเองจะได้มีแรงขับในการดำเนินชีวิตต่อไปเรื่อยๆ

ดูแล้วทำให้สงสัยว่า ถ้าหาก “มั่น” ไม่รัก “นก” มากขนาดนี้ “มัท” กับ “ฝน” จะรัก “มั่น” มากขนาดนี้หรือเปล่า

คือเราสงสัยว่า การที่มัทกับฝน รักมั่นมากขนาดนี้ อาจจะเป็นเพราะทั้งสองต่างรู้ดีว่า มั่นรักนกมากๆก็ได้ คือถ้ามั่นเป็นผู้ชายเจ้าชู้ หันมาเอามัทกับฝนได้อย่างง่ายๆ มัทกับฝนก็อาจจะแค่มี sex กับมั่นจนหนำใจ แล้วก็ทิ้งมั่นไป เพื่อไปหาความรักจากผู้ชายคนอื่นๆต่อไปก็ได้

คือการที่มั่นรักนกมากๆ มันทำให้มั่นดูมีค่า ดูน่ายั่ว ดูน่าหลงใหลน่ะ ในแง่หนึ่งมันทำให้เรานึกถึงกลุ่มคนที่เป็น monk fetish น่ะ คือถ้านาย A เป็นเด็กแว้นหนุ่มหล่อ นิสัยเจ้าชู้ เราจะรู้สึกว่าเราอยากมี sex กับนาย A แค่ครั้งเดียวพอ แต่ถ้าหากนาย A เป็นพระหนุ่มหล่อที่มีจริยาวัตรงดงาม เราจะรู้สึกว่านาย A นี่เป็นรางวัลที่น่าไขว่คว้ามามากๆ นาย A ไม่ใช่ไส้กรอกเซเว่นอีเลฟเว่นที่หาซื้อได้ง่ายๆอีกต่อไป แต่นาย A กลายเป็นไส้กรอกขั้วโลกเหนือที่จะร่วงลงมาจากฟ้าพร้อมแสง aurora borealis เท่านั้น เราจะได้มันก็ต่อเมื่อเราได้ใช้ความพยายามจนถึงที่สุดจริงๆ

เราคิดว่าความรู้สึกอยากได้มั่น อยากยั่วมั่น อยากเอามั่นมาเป็นผัว มันคล้ายๆกับความรู้สึกที่อยากได้ “พระหนุ่มหล่อ” น่ะ เพราะมันไม่ง่ายที่จะยั่วคนประเภทนี้ให้ตบะแตกได้ มันต้องใช้ความพยายามขั้นสูง อุตสาหะวิริยะจริงๆ

เราก็เลยรู้สึกว่า A GAS STATION มันสะท้อนความย้อนแย้งของมนุษย์บางกลุ่มตรงจุดนี้ได้ดี เราอยากได้มั่นมาเป็นผัว เพราะเรารู้ว่ามันยากมากที่จะได้เขามาเป็นผัว เราอยากได้มั่นมาเป็นผัว เพราะเรารู้ว่าเขารักคนอื่น  

คือถ้ามั่นตัดใจจากนก มารับรักจากเราได้อย่างง่ายดาย เราก็จะได้ในสิ่งที่สมปรารถนา แต่คุณค่าของสิ่งที่เราได้มามันก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ มั่นก็จะไม่ใช่ผู้ชายรักเดียวใจเดียว และเขาก็อาจจะหันไปรักผู้หญิงคนใหม่ๆคนอื่นๆถัดจากเราได้อย่างง่ายๆเช่นกัน

คือมันทำให้เรานึกถึงความจริงที่ว่า ของบางสิ่งมันจะมีคุณค่าสูงมากๆ ก็ต่อเมื่อเรายังไขว่คว้ามันมาไม่ได้เท่านั้น พอเราไขว่คว้ามันมาไม่ได้ สิ่งนั้นมันก็จะดูสูงค่ามาก น่าใช้ความพยายามในการไปเอามันมามากๆ แต่พอเราไขว่คว้ามันมาได้แล้ว เรากลับ “ไม่ได้มีความสุข” แบบที่เราคิด และพอเราไขว่คว้ามันมาได้แล้ว เราอาจจะพบว่ามันกลายเป็น “ของไร้ค่า” สำหรับเราในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็ได้

หนังเรื่องนี้ทำให้เราจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหากมั่นตัดใจจากนกได้อย่างง่าย ๆ แล้วมาเลือกฝน ฝนก็อาจจะมีความสุขในช่วงแรก แต่งงานกับมั่นแค่ 2-3 ปี แล้วทั้งสองก็อาจจะพบรักใหม่ หย่ากัน แล้วแยกทางกันไปแต่งงานใหม่ก็ได้ เพราะถ้ามั่นเลิกรักนกได้อย่างง่ายดาย มั่นก็อาจจะเลิกรักฝนได้อย่างง่ายดายเช่นกัน และฝนเองก็อาจจะไม่ได้รัก “ผู้ชายที่ได้มาง่ายๆ”  อย่างหัวปักหัวปำแบบนี้ก็ได้

หรือถ้ามั่นเลือกเจ๊มัท เราก็จินตนาการว่า เจ๊มัทอาจจะทำแบบนางเอกหนังเรื่อง GILLES’ WIFE (2004, Frederic Fonteyne, A+30) ก็ได้ คือถ้าหากมั่นตัดสินใจที่จะมี sex กับเจ๊มัทอีกครั้งหนึ่ง พอร่วมรักกันเสร็จแล้ว เจ๊มัทก็อาจจะฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ เพราะพอเราได้ในสิ่งที่เราดิ้นรนไขว่คว้ามาตลอดชีวิตแล้ว เราก็อาจจะพบว่า ชีวิตเราว่างเปล่า ไม่รู้จะไขว่คว้าอะไรอีกต่อไป ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม เพราะเราได้ในสิ่งสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นแรงขับให้ดิ้นรนไขว่คว้าต่อไปอีก ไม่มีเป้าหมายใดในชีวิตเหลืออีก

แน่นอนว่าตัวละครฝนกับเจ๊มัทอาจจะไม่ทำแบบที่เราจินตนาการก็ได้นะ เราอาจจะไม่เข้าใจตัวละครในหนังเรื่องนี้ดีจริงๆก็ได้ แต่หนังเรื่องนี้มันกระตุ้นให้เราจินตนาการอะไรแบบนี้ต่อไปน่ะ ซึ่งแน่นอนว่าตัวละครฝนกับเจ๊มัทที่อยู่ในหัวของผู้ชมแต่ละคน ก็คงไม่เหมือนกัน และผู้ชมแต่ละคนก็คงจินตนาการให้ฝนกับเจ๊มัททำในสิ่งที่แตกต่างกันไป ถ้าหากมั่นตัดใจจากนก มาเลือกสองคนนี้

3.ตัวละครฝนเป็นตัวละครในแบบที่เราชอบมากๆ คือเป็นผู้หญิงที่แสดงความต้องการทางเพศออกมาอย่างเต็มที่ และ “ยอมรับความจริงของชีวิต” ได้ในระดับนึง คือการที่ฝนรักมั่น แต่ตัดสินใจไปเอากับผู้ชายคนอื่นๆ และแต่งงานกับผู้ชายคนอื่น มันก็เป็นสิ่งเดียวที่เราจะทำเหมือนกัน ถ้าเราตกอยู่ในสถานะเดียวกับฝน คือ “มั่น” เหมือนเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์แบบน่ะ และเราก็ย่อมต้องการผู้ชายที่สมบูรณ์แบบ แต่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า มันยากมากที่เราจะได้ผู้ชายแบบนี้มา เพราะฉะนั้นถ้าหากเราอยากมีความสุขอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราก็ต้องมี sex กับผู้ชายที่ไม่สมบูรณ์แบบ และเอาผู้ชายที่ไม่สมบูรณ์แบบมาเป็นผัวนี่แหละ

4.รู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัวอาจจะเป็นสัญลักษณ์แทนอะไรบางอย่าง และตัวปั๊มน้ำมัน ก็เป็น place หรือ non-place ที่น่าวิเคราะห์มากๆ แต่เราไม่ถนัดเรื่องการตีความและการวิเคราะห์ และคงต้องปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นๆนะจ๊ะ

5.สรุปว่าชอบ “ความเป็นตัวของตัวเอง” ของหนังเรื่องนี้มากๆ  คือเราว่าการสร้าง “หนังอาร์ต” ในเมืองไทยนี่มันยากสุดๆแล้วนะ แต่เราว่าการสร้างหนังแบบ A GAS STATION ที่ไม่ใช่ “หนังอาร์ต หรือหนัง intellectual” และไม่ใช่ “หนัง mass” ด้วยนี่ อาจจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะหนังมันเป็นตัวของตัวเองจริงๆ และปฏิเสธที่จะทำตัวให้เข้ากรอบประเภทหนังที่มีอยู่แล้ว

ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงสิ่งที่คุณสนธยา ทรัพย์เย็นเคยเขียนถึงหนังทดลองในสูจิบัตรของเทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพปี 1999 น่ะ คุณสนธยาเขียนว่า

“ของที่แปลกใหม่ล้ำยุคจริงๆ มักจะถูกปฏิเสธ ต้องผ่านการทดสอบอันเจ็บปวด และเรียกใช้เวลาในการทำให้คุ้นเคยยาวนานเสมอ ก่อนจะกลมกลืนกลายเป็นของปกติ ลองนึกถึงหนังอย่าง PEEPING TOM (1960, Michael Powell) หรือ PINK FLAMINGOS (1972, John Waters) ดูก็ได้ หนังทั้งสองเรื่องที่เคยฉีกรูปแบบใหม่ผ่านการพิสูจน์ของยุคสมัย จากหนังน่ารังเกียจกลายเป็นหนังคลาสสิคไปแล้วในที่สุด การลุยมาก่อนของมันช่วยแบ่งเบาอุปสรคให้หนังเรื่องอื่นๆที่บ้าบิ่นวิ่งตามมาโล่งใจได้บ้าง”


เราว่า A GAS STATION ก็เป็นแบบนั้นสำหรับเรา มันเป็น trailblazer มันไม่ทำตามแบบใคร มันอาจจะถูกปฏิเสธจากผู้ชมในยุคสมัยเดียวกับมัน แต่ในอนาคต มันอาจจะผ่านการพิสูจน์ของยุคสมัย และกลายเป็นหนึ่งในหนังคลาสสิคของไทยก็ได้ และเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “การกล้าลุยมาก่อน” ของหนังเรื่องนี้ จะช่วยกระตุ้นให้มีผู้สร้างหนังไทยสร้างหนังที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เข้าแก๊ปไม่เข้ากรอบ genre หนังใดๆตามมาอีกเยอะๆ

No comments: