MOTEL MIST (2016, Prabda Yoon, A+30)
1.คือเราชอบสุดๆในระดับ A+30 นะ
แต่ถ้าจัดอันดับประจำปีแล้ว หนังเรื่องนี้จะติดประมาณอันดับ 20 ในบรรดาหนังยาวของไทยที่เราได้ดูในปี
2016 จ้ะ เพราะฉะนั้นความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้มันจึงอยู่ในข่าย “ชอบสุดๆ
แต่ก็มีหนังอีกหลายเรื่องที่ชอบมากกว่านี้”
สาเหตุที่ชอบในระดับ A+30 อาจจะเป็นเพราะว่า “มันเป็นหนังไทย”
ด้วยแหละ คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนังฝรั่งเศสหรือหนังอเมริกันอินดี้
เราอาจจะชอบมันแค่ในระดับ A+15 ก็ได้
แต่ความที่มันเป็นหนังไทย เราก็เลยเข้าใจบริบทของมันว่าทำไมมันถึง “ไม่แรง”
เท่าที่ควร หรือไม่สะใจเราเท่าที่ควร
แต่ถ้าหากมันเป็นหนังที่มาจากสังคมที่เสรีมากกว่าเราเยอะ อย่างยุโรป,
อเมริกา หรือญี่ปุ่น เราจะรู้สึกว่าพฤติกรรมของตัวละครในหนังเรื่องนี้มัน “เบา”
มากๆ
อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบ MOTEL MIST ในแง่ความเป็นหนังไทย
ก็คือว่า เราว่ามันเป็นหนังอาร์ตที่ไม่ “นิ่งช้า” น่ะ แต่มันออกไปในแนวหนัง cult
หรือหนังแปลกๆแรงๆ มากกว่า คือปกติคนทำหนังอาร์ตในไทยมักจะทำออกมาในแนว
“นิ่งช้า” ไง ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดอะไร แต่มันก็ควรจะมีคนทำหนังอาร์ตออกมาในแนวอื่นๆบ้าง
อย่างเช่น Ratchapoom Boonbunchachoke ที่ทำหนังอาร์ตออกมาในแนวเล่าเรื่องรวดเร็ว,
จัดจ้าน หรือมีความ cult อยู่ในตัวหนัง เราก็เลยชอบ MOTEL
MIST ในแง่นี้ด้วย
คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า
คนทำหนังอาร์ตในไทยส่วนใหญ่ทำออกมาในแนวช้าๆเนิบๆแบบ Lav Diaz น่ะ
แต่ไม่ค่อยมีคนทำออกมาในแนวคัลท์ๆแบบ Khavn de la Cruz เราก็เลยชอบที่
MOTEL MIST ทำให้เรานึกถึง Khavn de la Cruz มากกว่า Lav Diaz (ถึงแม้โดยรสนิยมส่วนตัวแล้ว
เราชอบ Lav Diaz มากกว่า Khavn de la Cruz ก็ตาม)
สรุปว่า ความเป็นหนังไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ MOTEL MIST เพราะถ้าหาก
MOTEL MIST มันเป็นหนังต่างประเทศ เราจะชอบมันแค่ในระดับ A+15 เท่านั้น เพราะมัน “เบา” เกินไปเมื่อเทียบกับหนังต่างประเทศเรื่องอื่นๆ
และมันก็ไม่ได้ outstanding มากนักเมื่อเทียบกับหนังอาร์ตหลากหลายประเภทจากต่างประเทศเรื่องอื่นๆ
แต่พอมันเทียบกับหนังไทยด้วยกันเองปุ๊บ มันก็ถือได้ว่า “แรง” กว่าหนังไทยทั่วไป
และมันก็ outstanding มากๆเมื่อเทียบกับหนังไทยทั่วไป เพราะเรารู้สึกว่าหนังอาร์ตหรือหนังเทศกาลของไทยไม่ค่อยมีออกมาในแนวนี้
2.เราชอบพาร์ทของวสุพลมากกว่าพาร์ทของอาเสี่ยนะ
เราว่าพาร์ทของวสุพลมันเหวอดี มันดูมีความ abstract, มีพลังทางภาพ,
เปิดให้คนดูตีความได้
คือจริงๆแล้วเนื้อเรื่องในส่วนของวสุพลจะทำให้นึกถึงหนังเรื่อง MAN FACING SOUTHEAST (1986, Eliseo
Subiela, Argentina) ที่ตัวละครหลักของเรื่องอ้างว่าตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาว
และชอบไปยืนที่สนามหญ้าในโรงพยาบาลบ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อรับส่งข้อความจากกาแลกซี่อันไกลโพ้น แต่เราชอบที่ MOTEL MIST ไม่ได้เน้น “การเล่าเรื่อง” มากเท่ากับ MAN FACING SOUTHEAST น่ะ เราว่า MOTEL MIST ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ “บรรยากาศ”
มากทีเดียวในส่วนของวสุพล และก็ทำตรงส่วนของบรรยากาศออกมาได้ดีมาก
แต่ใจจริงของเราแล้ว เราก็รู้สึกว่าพาร์ทนี้มันก็ยังไม่ค่อยเข้าทางเราแบบ
100% เต็มนะ คือเราว่าพาร์ทนี้จริงๆแล้วมันอาจจะถูกออกแบบมาเพื่อ “สื่อสารอะไรบางอย่าง”
หรือ “เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรบางอย่าง” เหมือนอย่างพาร์ทเด็กสาวกับอาเสี่ยน่ะแหละ
และเรารู้สึกว่าการที่มันยังทำหน้าที่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเครื่องมือสื่อสารอะไรทำนองนี้
ทำให้พลังของพาร์ทนี้มันยังไม่เข้าทางเราแบบสุดๆ
คือถ้าหากมันจะเข้าทางเราแบบสุดๆ มันต้องเป็นแบบหนังเรื่อง THE LIMITS OF CONTROL (2009, Jim
Jarmusch) น่ะ คือที่เราเปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้เป็นเพราะว่า
เราว่า “บรรยากาศ” อะไรบางอย่างใน MOTEL MIST มันแสดงให้เห็นว่า
หนังเรื่องนี้สามารถจะพัฒนาไปถึงขั้นหนังอย่าง THE LIMITS OF CONTROL ได้ แต่มันต้องทำให้ทุกอย่างดู abstract มากกว่านี้
มากจนถึงขั้นที่เราไม่รู้อีกต่อไปว่าอะไรเป็นสัญลักษณ์ของอะไร
และสารของเรื่องคืออะไร
สรุปว่า ก็ชอบพาร์ทของวสุพลมากนะ แต่มันก็ยังไม่เข้าทางเราแบบสุดๆอยู่ดี
3.ในส่วนของพาร์ทเด็กสาวกับอาเสี่ยนั้น
เราไม่ขอพูดถึงความหมายของพาร์ทนี้นะ เพราะนักวิจารณ์คนอื่นๆได้เขียนถึงไปหมดแล้ว
โดยเฉพาะงานเขียนของคุณอุทิศ เหมะมูล, ชญานิน เตียงพิทยากร และชาญชนะ หอมทรัพย์
ที่ตีความพาร์ทนี้ได้อย่างดีสุดๆ คือเราดูเองแล้วก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของพาร์ทนี้มากนักหรอก
แต่การอ่านบทวิจารณ์ของคนอื่นๆทำให้เราเข้าใจความหมายของพาร์ทนี้มากขึ้นเยอะ
โดยเฉพาะงานเขียนของคุณชาญชนะที่ดีมากๆที่เปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ “เทพธิดาโรงแรม”
(1974, Chatrichalerm Yukol) เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้
ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างโสเภณีกับตัวละครคนอื่นๆเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพสังคมการเมืองไทยเหมือนๆกัน
คือปกติแล้ว เวลาดูหนังสั้นไทยที่พยายามสะท้อนสภาพสังคมการเมืองไทย
ส่วนใหญ่แล้วมันจะทำออกมาเป็นหนังแนว “การใช้อำนาจเผด็จการของครูต่อนักเรียน” และ “คนในครอบครัวเดียวกันที่ทะเลาะกัน”
น่ะ แต่มันไม่ค่อยมีหนังไทยที่ใช้โสเภณีเป็นสัญลักษณ์ในทำนองนี้เท่าไหร่ MOTEL MIST ก็เลยมีความแตกต่างจากหนังไทยทั่วไปในแง่นี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำหรับเราที่มีต่อพาร์ทนี้
ก็อาจจะคล้ายๆกับปัญหาของเราที่มีต่อพาร์ทของวสุพล คือเราว่าพลังของพาร์ทนี้มันครึ่งๆกลางๆสำหรับเรา
และสาเหตุสำคัญอาจจะเป็นเพราะว่า พาร์ทนี้มันต้องการทำหน้าที่ “เป็นสัญลักษณ์” และต้องการ
“ส่งสาร” อยู่
มันก็เลยไม่สามารถพัฒนาพลังทางเนื้อเรื่องของตัวมันเองให้ไปจนสุดตีนได้
คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้ชอบพาร์ทนี้มากนัก เพราะเรารู้สึกว่า
พลังของมันทำได้แค่ทำให้เรารู้สึก disgusting กับพฤติกรรมของอาเสี่ย
แต่หนังมันไม่ได้ disturbing สำหรับเราน่ะ
และอะไรแบบนี้สำคัญมากๆสำหรับเรา เพราะหนังที่ทำให้เรารู้สึก disgusting เป็นหนังที่เราไม่ได้ประทับใจอะไรมากนัก
แต่ถ้าหากมันสามารถผลักตัวเองไปจนถึงขั้น disturbing ได้
มันก็จะกลายเป็นหนังในดวงใจที่เราลืมไม่ลงไปในทันที
คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า
พฤติกรรมของอาเสี่ยที่ทรมานเด็กสาวในหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกไปถึงหนังอย่าง SALO OR 120 DAYS OF SODOM (1975,
Pier Paolo Pasolini) น่ะ ที่เป็นเรื่องของฟาสต์ซิสต์ที่จับหนุ่มสาวมาทรมาน
ส่วนพฤติกรรมการแก้แค้นของสองสาวใน MOTEL MIST ก็ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง
LA CEREMONIE (1995, Claude Chabrol) และ BAISE-MOI
(2000, Virginie Despentes + Coralie Trinh Thi)
แต่ความแตกต่างสำคัญก็คือว่า SALO, LA CEREMONIE และ BAISE-MOI
นี่แหละ ที่เป็นหนังที่ disturbing สำหรับเรา
มันไม่ใช่แค่ disgusting เท่านั้น มัน disturbing จริงๆ และ LA CEREMONIE มันสร้างความรู้สึก disturbing
ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาภาพอุจาดหวาดเสียวรุนแรงใดๆเลยด้วย
คือเราว่าจริงๆแล้ว เนื้อเรื่องในส่วนของพาร์ทเด็กสาวกับอาเสี่ยนั้น
มันสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้น disturbing ได้น่ะ
แต่ถ้าหากมันทำเช่นนั้น มันก็อาจจะผิดจุดประสงค์หลักของหนังไป เพราะตัวละครในหนังอาจจะไม่สามารถใช้แทนค่าเป็นสัญลักษณ์แทนนู่นนั่นนี่,
สะท้อนสภาพสังคมไทยได้แบบลงล็อคง่ายๆอีกต่อไป
4.สรุปว่า ชอบ MOTEL MIST ในระดับสุดๆน่ะแหละ
แต่มันยังไม่ใช่หนังที่เข้าทางเราซะทีเดียว
เพราะเราว่าสารของหนังหรือความเป็นสัญลักษณ์ของอะไรต่างๆในหนัง
บางทีมันไปสกัดกั้นอะไรต่างๆในหนังไม่ให้กลายเป็นอะไรในแบบที่เราชอบ 555
คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสะท้อนสภาพสังคมการเมืองไทยอะไรแบบนี้
บางทีมันอาจจะพัฒนาเนื้อเรื่องของเด็กสาวกับอาเสี่ย ให้กลายเป็นอะไรที่ disturbing
อย่างรุนแรงมากกว่านี้ก็ได้ หรือมันอาจจะพัฒนาส่วนของวสุพล + บรรยากาศของโรงแรมและสิ่งต่างๆในหนัง
ให้กลายเป็นอะไรที่ abstract มากๆแบบ THE LIMITS OF
CONTROL ก็ได้
เราก็เลยแอบเสียดายเล็กน้อยที่หนังไม่ได้เข้าทางเราซะทีเดียว มันเหมือนกับปราบดา
หยุ่นมีแร่ยูเรเนียมอยู่ในมือ แต่เขาเอามันมาใช้ในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
ถึงแม้ใจเราอยากให้เขาเอามันมาผลิตระเบิดนิวเคลียร์มากกว่า
แต่ในแง่นึงเราก็ไม่ว่าอะไรเขานะ เพราะในขณะที่เรารู้สึกว่า MOTEL MIST ไม่ใช่หนังที่
disturbing สำหรับเราเลย หนังเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะ
disturbing ผู้ชมคนไทยบางคนในระดับที่มากเกินพอดี ไม่งั้นหนังคงไม่ถูกเลื่อนฉายแบบนี้หรอก
555
No comments:
Post a Comment