Thursday, October 14, 2021

FAR AWAY, SO CLOSE! (1993, Wim Wenders, Germany, 144min, second viewing, A+30)

 

FAR AWAY, SO CLOSE! (1993, Wim Wenders, Germany, 144min, second viewing, A+30)

 

SPOILERS ALERT

 

1.เคยดูหนังเรื่องนี้กับ WINGS OF DESIRE (1987) ทางวิดีโอเมื่อราว 25 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นเรายังแทบไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์หรืออะไร 555 จำได้ว่าชอบ WINGS OF DESIRE ในระดับปานกลาง แต่เป็นหนังที่เราดูรู้เรื่อง และก็ไม่ได้รู้สึกอยากดูซ้ำสองอีก (เราชอบ UNTIL THE END OF THE WORLD มากที่สุดในบรรดาหนังของ Wim Wenders ที่เราเคยดูมาแค่ 22 เรื่อง) ส่วน FAR AWAY, SO CLOSE! นั้นดูไม่รู้เรื่องเลย ทั้ง ๆ ที่เราได้อ่านบทความขนาดยาวเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ในนิตยสาร “ฟิล์มวิว” มาแล้วในตอนนั้น บทความนั้นถึงกับบอกชัด ๆ ว่า Emit Flesti คือ Time Itself นะ แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจหนังแต่อย่างใด 5555

 

เราก็เลยตัดสินใจดูหนังเรื่องนี้ซ้ำเป็นรอบสองในโรงภาพยนตร์ เพราะรอบแรกเราดูไม่รู้เรื่อง เราก็เลยอยากดูซ้ำ ซึ่งมันก็คือสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เราดู THE AMERICAN FRIEND (1977, Wim Wenders) ซ้ำรอบสองตอนมันมาฉายที่ Bangkok Screening Room นั่นแหละ เพราะตอนที่เราดู THE AMERICAN FRIEND รอบแรกทางวิดีโอ เราก็ดูไม่รู้เรื่องเลยเหมือนกัน 55555

 

2.พอดูรอบสองแล้วก็พอจะ “ตามเรื่องทัน” นะ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอะไรทั้งหมด และอย่าถามเราว่าแต่ละจุดในหนังมันมีความหมายอะไรยังไง เพราะเราก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

 

3.เราว่าจริงๆ แล้วหนังมันควรยาว 3 ชั่วโมงหรือเปล่า เพราะช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายนี่เหมือนมันมี ellipsis เยอะมาก นึกว่า ellipsis หนักพอ ๆ กับหนังของ Robert Bresson คือเราว่าช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายนี่มันไม่ได้เล่าเรื่องแบบ  1 2 3 4 5 แล้วล่ะ แต่เหมือนเล่าเรื่องแบบ 3 5 7 9 ไปเลย จนเรางง

 

4.เราว่าช่วงราว ๆ หนึ่งชั่วโมงแรกที่ Cassiel ยังเป็นเทวดาอยู่นั้น เป็นช่วงที่น่ารื่นรมย์มาก ๆ เลยนะ ชอบการเคลื่อนกล้อง, การตัดต่ออะไรช่วงนั้นมาก ๆ ด้วย เหมือนการเคลื่อนกล้องและการเปลี่ยนฉากในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกมันคงพยายามสะท้อนมุมมองของเทวดา

 

5.สงสัยว่าชื่อตัวละคร Antoine Becker (Tony Baker) นี่น่าจะมาจาก Jacques Becker หรือเปล่า เพราะ Becker เป็นผู้กำกับหนังอาชญากรรมชื่อดังของฝรั่งเศส

 

6.ต่อไปนี้เป็นการคิดเรื่อยเปื่อยถึงสิ่งที่ Wenders ไม่ได้ตั้งใจ แต่หนังทำให้เราคิดต่อไปเอง 555555

 

เห็นใน Wikipedia บอกว่า การที่ตัวละคร Cassiel เข้าสู่โลกอาชญากรรมนั้น มาจากไอเดียของ Otto Sander เอง แต่พอเรามาดูหนังเรื่องนี้ในตอนนี้ เราก็รู้สึกเหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้เป็นการทำนายโดยไม่ได้ตั้งใจถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  55555

 

สิ่งแรกที่เราคิดว่า Wenders อาจจะไม่ได้ตั้งใจ ก็คือการที่ Cassiel ตั้งชื่อให้ตนเองตอนเป็นมนุษย์ว่า Karl Engel ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะแค่ล้อกับคำว่า Angel แต่มันกลับทำให้เรานึกถึง Karl Marx + Friedrich Engels สองหนุ่มคอมมิวนิสต์จาก THE YOUNG KARL MARX (2017, Raoul Peck) 55555

 

แล้วพอเรามองว่าชื่อ Karl Engel มันทำให้นึกถึง Karl Marx + Friedrich Engels เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่าชะตากรรมของ Karl Engel มันพ้องกับชะตากรรมของเยอรมันตะวันออก, ยุโรปตะวันออก และอดีตสหภาพโซเวียตในบางแง่มุมโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจด้วย เพราะหนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่ Karl Engel ต้องเผชิญ ก็คือการติดเหล้าและความยากจนจนกลายเป็นขอทาน

 

คือจุดนี้ทำให้เรานึกถึงหนังสารคดีเยอรมันเรื่อง WITTSTOCK, WITTSTOCK (1997, Volker Koepp) ที่ตามถ่ายชีวิตผู้หญิงสามคนในเยอรมันตะวันออกมานานราว ๆ 30 ปี คือชีวิตคนในเยอรมันตะวันออกนั้น ชีวิตก็คงไม่มีอิสระเท่าไหร่ ต้องทำงานในโรงงานไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีงานให้ทำและมีเงินให้ใช้อย่างพอเพียงตามอัตภาพ

 

แต่พอเยอรมันตะวันออกล่มสลายในปี 1990 เราก็นึกว่าชาวเยอรมันตะวันออกจะแฮปปี้สุดขีด ชีวิตมีอิสระ เสรีภาพแล้ว ปรากฏว่ามันมีปัญหาใหม่ตามมา เพราะถึงแม้โลกทุนนิยมจะให้อิสระและเสรีภาพแก่ประชาชน แต่มันก็ตามมาด้วยการตกงานของประชาชนจำนวนมากในประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะโรงงานต่าง ๆ ที่เคยเป็นของรัฐบาลเยอรมันตะวันออกก็ล่มสลายไปด้วย โรงงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เหล่านี้มันไม่สามารถแข่งขันในโลกทุนนิยมได้ผู้หญิงที่เป็น subjects ของหนังสารคดีเรื่อง WITTSTOCK, WITTSTOCK ก็เลยตกงานไปตาม ๆ กัน พวกเธอต้องลงคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนจบแล้วก็หางานทำไม่ได้อีก ก็เลยทำอะไรไม่ได้นอกจากลงคอร์สเรียนอบรมทักษะวิชาชีพต่างๆ ไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ จนกว่าจะหางานทำได้ จนคนนึงได้งานเป็นแม่บ้านในโรงแรม แต่เธอก็ไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ จนเธอถึงกับพูดออกมาว่า เธออยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกคอมมิวนิสต์แบบเดิมดีกว่า

 

เพราะฉะนั้นพอเราเห็นชะตากรรมของ Karl Engel ที่ทำตัวเป็นโจรกระจอก, ขี้เมา, นอนข้างถนน, ขอทาน เราก็เลยแอบนึกถึงหนังเรื่อง WITTSTOCK, WITTSTOCK และก็เลยนึกไปถึงชะตากรรมของชาวเยอรมันตะวันออกบางส่วนในทศวรรษ 1990 และน่าจะรวมถึงชะตากรรมของคนในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตในยุคนั้นด้วย ที่คงมีปัญหาในการรับมือกับโลกทุนนิยมอย่างมาก ๆ ในช่วงแรก และคงต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเป็นอย่างมากด้วย

 

7.แล้วหลังจาก Karl Engel กลายเป็นขอทาน เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก Lou Reed ให้พัฒนาตัวเอง เขาเริ่มด้วยการเป็นลูกกระจ๊อกให้ Tony Baker ชาวเยอรมันที่เคยอพยพไปอยู่อเมริกา

 

คือเราว่าตัว Tony Baker นี่ก็ทำให้นึกถึงโลกทุนนิยมมาก ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เพราะตัวละครตัวนี้มีความเป็นอเมริกันอยู่ในตัว และการที่ตัวละครตัวนี้พยายามจะ reunite กับน้องสาวในเยอรมันตะวันออก (ที่ Karl Engel พยายามจะปกป้อง) ก็ทำให้ตัวละครตัวนี้ดูเหมือนเป็น “เยอรมันตะวันตก” ด้วย

 

เพราะฉะนั้นตัวละคร Tony Baker ก็เลยทำให้เรานึกถึงทั้งอเมริกา, เยอรมันตะวันตก และ “ความเลวร้ายของโลกทุนนิยม” ที่จะเข้ามา corrupt เยอรมันตะวันออกและยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของโซเวียต โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 555555

 

8.แล้วสิ่งที่ Tony Baker ทำคืออะไร ค้าวิดีโอโป๊และอาวุธ sex and violence ซึ่งเป็นสิ่งที่ Karl Engel ยอมรับไม่ได้ (Karl Marx + Friedrich Engels ก็อาจจะยอมรับไม่ได้ 55555) และ sex and violence นี่แหละที่มันเหมือนเป็นการทำนายถึงชะตากรรมของยุโรปตะวันออกในทศวรรษ 1990 จริง ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับยุโรปตะวันออกในทศวรรษ 1990-2000 ก็คือ

 

8.1 โสเภณีจำนวนมาก เหมือนโสเภณียุโรปตะวันออกขึ้นชื่อมาก ๆ ในยุคนั้น หญิงสาวจำนวนมากจากอดีตโลกคอมมิวนิสต์เหมือนจะหางานทำไม่ได้ ก็เลยต้องมาขายตัวแทน เราจำได้ว่า มีข่าวเรื่อง “โสเภณีรัสเซีย” เข้ามาขายตัวในภาคอีสานของไทยในยุคนั้นด้วย ส่วนหนังเกี่ยวกับโสเภณียุโรปตะวันออกก็มีมากมายหลายเรื่อง อย่างเช่น REMOTE SENSING (2001, Ursula Biemann, Switzerland, documentary), LILJA 4-EVER (2002, Lukas Moodysson), IMPORT EXPORT (2007, Ulrich Seidl, Austria), THE PARADISE SUITE (2015, Joost van Ginkel)

 

8.2 มาเฟียรัสเซียที่สร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก อย่างเช่นในหนังเรื่อง EASTERN PROMISES (2007, David Cronenberg)

 

9.เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงชะตากรรมของยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของโซเวียตมาก ๆ โดยที่ผู้สร้างหนังคงไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำไป ทั้งเรื่องของความยากจน, ความพยายามจะอยู่รอดในโลกทุนนิยม, sex และ violence  โดยที่ตัวละคร Karl Engel เองก็พยายามต่อต้าน sex and violence แต่ในที่สุดเขาเองก็เป็นฝ่ายที่ต้องตายไป อาจจะคล้าย ๆ กับจิตวิญญาณของ Karl Marx + Friedrich Engels ที่อาจจะล่มสลายไปพร้อม ๆ กับสหภาพโซเวียต ท่ามกลางกระแสธารของ “กาลเวลา”

 

ฉากล่องเรือในตอนจบ ก็เลยทำให้เรารู้สึกถึง “ความไม่รู้อนาคตของเยอรมันตะวันออก + เยอรมันหลังรวมประเทศ” ในตอนนั้น (ปี 1993) รู้แต่ว่า Karl Engel ตายไปแล้ว แต่ถ้าหากมนุษย์เราพยายามรับฟังจิตสำนึกที่ดีในตัวเอง (เสียงกระซิบจากเทวดา) บางทีมนุษย์ก็อาจจะพอมีทางรอดอยู่บ้าง

 

ย้ำว่าสิ่งที่เราเขียนนี้คือสิ่งที่ผู้สร้างหนังไม่ได้ตั้งใจใส่เข้ามาในหนังนะ แต่เป็นสิ่งที่เราคิดเรื่อยเปื่อยไปเองหลังจากดูหนัง 555555

No comments: