Sunday, October 03, 2021

THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA (2008, Haneda Sumiko, Japan, documentary, 120min, A+30)

 

THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA (2008, Haneda Sumiko, Japan, documentary, 120min, A+30)

 

1.หนักที่สุด ไม่ทราบชีวิตอะไรอีกต่อไป กราบขอบพระคุณผู้ที่นำหนังเรื่องนี้มาฉายออนไลน์ให้คนทั่วโลกได้ดูกันฟรี ๆ ในวันที่ 1-2 ต.ค. คือพอเราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันเดียวกับที่ได้ดู A QUIET PLACE PART II (2020, John Krasinski, A+30) แล้วมันทำให้ A QUIET PLACE กลายเป็น “อะไรเบา ๆ” ไปเลยน่ะ คือจริง ๆ แล้วเราก็ชอบ A QUIET PLACE ทั้งสองภาคอย่างมาก ๆ นะ แต่พอมาได้ดูสารคดีเรื่องนี้แล้วมันทำให้ A QUIET PLACE เป็นเหมือนเรื่องแต่งแนว Steven Spielberg ที่สนุกตื่นเต้นและช่วยชุบชูจิตใจ ให้ความหวังแก่ผู้ชมน่ะ เพราะใน “ความเป็นจริง” นั้น แม่หลายคนเคยฆ่าลูกตัวเล็ก ๆ ของตัวเองตายในสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะลูก ๆ ของพวกเธอร้องเสียงดังในระหว่างการเดินทางหลบหนีจากศัตรู แม่ ๆ เหล่านี้ก็เลยจำใจต้องฆ่าลูกของตัวเองที่เป็นเด็กเล็ก ๆ เพราะไม่งั้นลูกคนอื่น ๆ ที่เป็นเด็กโต (และไม่ร้องเสียงดัง) และคนอื่น ๆ ที่ร่วมหลบหนีไปด้วย ก็จะถูกฆ่าตายกันหมด คือเหมือนถ้าแม่ ๆ ไม่ฆ่าลูกเล็ก ๆ ของตัวเอง ทุกคนที่ร่วมหลบหนีไปด้วยกันก็จะถูกฆ่าตายหมดน่ะ รวมทั้งลูกเล็ก ๆ ด้วย แต่ถ้าแม่ ๆ ยอมฆ่าลูกเล็ก ๆ ของตัวเอง คนอื่น ๆ ก็จะมีโอกาสมีชีวิตรอดได้ และในที่สุดพวกเขาก็มีชีวิตรอด และมาให้สัมภาษณ์ในหนังสารคดีเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในแมนจูเรียในสงครามโลกครั้งที่สอง

 

2.คือดูหนังสารคดีเรื่องนี้แล้วแทบร้องไห้  เพราะเราอดที่จะจินตนาการไปด้วยไม่ได้ว่า แม่ ๆ เหล่านี้ต้องรู้สึก “หัวใจสลาย” ขนาดไหนที่จำเป็นต้องฆ่าลูกเล็ก ๆ ของตัวเอง ลองนึกถึงเด็กตัวน้อย ๆ ที่คุณอุ้มไว้ในอ้อมแขนของตัวเองดูสิ เด็กตัวน้อย ๆ ไร้เดียงสาที่ยิ้มอย่างอ่อนโยนให้คุณ คุณรักเขามาก ๆ แต่คุณก็จำเป็นต้องฆ่าเขา มันหนักมาก ๆ แม่ ๆ เหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรกันนะ แล้วแม่ ๆ เหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความรู้สึกอย่างไรหลังจากนั้น คือพอเราพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของแม่ ๆ ที่ถูกพูดถึงในหนังสารคดีเรื่องนี้ เราก็รู้สึกว่ามันหนักที่สุด หนักจนไม่รู้จะบรรยายเป็นคำพูดออกมาได้อย่างไร

 

จุดนี้ของหนังทำให้นึกถึงหนังเรื่อง SOPHIE’S CHOICE (1982, Alan J. Pakula) ด้วย

 

3.หนังสารคดีเรื่องนี้สัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นหลายคนที่เคยไปอยู่ในแมนจูเรียช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และรอดชีวิตออกมาได้ (มีคนญี่ปุ่นตายในแมนจูเรียประมาณ 80,000 คน) และหนังก็ย้ำตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องว่า จุดยืนของหนังเรื่องนี้คือการประณาม รัฐบาลญี่ปุ่นและลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่นในอดีต คือถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเน้นถ่ายทอดความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวญี่ปุ่นในแมนจูเรียเป็นหลัก แต่หนังก็บอกว่าคนผิดคือรัฐบาลญี่ปุ่นและ Japan Militarism และหนังบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเคยทำเลวกับคนจีนเอาไว้อย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นจุดยืนของหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชื่นชมมาก ๆ

 

4.หนังเล่าให้ฟังว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ คงเพราะยุคนั้นยังไม่มีถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดน้อยมาก แล้วพอในยุคนั้นประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ มันก็เลยเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร คนในชนบทอดอยากยากแค้นกันอย่างรุนแรงสุด ๆ (นึกถึง “สงครามชีวิตโอชิน”)  รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลยกระตุ้นให้ชาวบ้านจน ๆ ในชนบทอพยพไปอยู่แมนจูเรียกัน ประชากรในญี่ปุ่นจะได้ไม่ล้นเกาะ แล้วตัวรัฐบาลแมนจูเรียเองก็ต้องการประชากรญี่ปุ่นมาอยู่กันเยอะ ๆ ด้วย เพื่อเอาไว้ต้านโซเวียต

 

5.แล้วสิ่งที่เหี้ยมาก ๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำก็คือว่า รัฐบาลยังคงชักชวนคนญี่ปุ่นให้อพยพไปอยู่แมนจูเรียจนถึงกลางปี 1945 เลยน่ะ คือก่อนที่สหรัฐจะทิ้งระเบิดปรมาณูในเดือนส.ค.ปี 1945 แค่ไม่กี่เดือน คนที่อพยพไปในช่วงนั้นก็เลยรู้สึกว่าถูกหักหลังมาก ๆ แล้วพอพวกเขาอพยพไปถึงแมนจูเรียปุ๊บ ยังไม่ทันได้ unpack ข้าวของเลย โซเวียตก็บุกแมนจูเรียทันที พวกเขาก็เลยต้องอพยพหนีตายกันในทันที

 

6. ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนก็โชคร้ายมาก ๆ เพราะพ่อของเธอเพิ่งถูกเกณฑ์ทหารก่อนสงครามเลิกแค่ 1 เดือน คือพอพ่อถูกเกณฑ์ทหารปุ๊บ ทั้งครอบครัวก็เลยอพยพไปอยู่แมนจูเรียตามพ่อ แล้วพออพยพไปได้แค่เดือนเดียว โซเวียตก็บุกแมนจูเรีย พ่อของเธอก็หายสาบสูญไปเลย แม่ของเธอก็เลยต้องหอบลูก ๆ หลายคนอพยพหนีตาย แล้วเธอก็สูญเสียน้องสาวขณะอพยพข้ามแม่น้ำในแมนจูเรียด้วย เพราะยุคนั้นยังไม่ค่อยมีสะพาน ผู้หนีตายก็เลยต้องข้ามแม่น้ำกันเอาเอง แล้วกระแสน้ำมันแรง น้องสาวของเธอก็เลยหลุดลอยไปกับกระแสน้ำ

 

แล้วหลังจากนั้นอีกหลายสิบปีต่อมา พอเธอได้อพยพจากจีนกลับมาอยู่ญี่ปุ่นแล้ว เธอก็เลยตามสืบหาพ่อของเธอที่หายสาบสูญไป แล้วก็ได้รู้ว่าพ่อของเธอถูกทหารโซเวียตจับไป แล้วไปเสียชีวิตที่ไซบีเรีย

 

คือครอบครัวของเธอซวยมาก ๆ เพราะสงครามมันกำลังจะเลิกในอีก 1 เดือนต่อมาแล้วแท้ ๆ แต่พ่อของเธอดันถูกเกณฑ์ทหารก่อนสงครามเลิกแค่ 1 เดือน ทุกคนในครอบครัวก็เลยชิบหายกันไปหมด

 

7.อีกสิ่งที่เหี้ยมาก ๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่น/แมนจูเรียทำ ก็คือไปเอาที่ดินของชาวจีนมาให้ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นในทศวรรษ 1930-1940 เพราะฉะนั้นชาวบ้านชาวจีนในแมนจูเรียก็เลยเกลียดชังผู้อพยพชาวญี่ปุ่นกันมาก ๆ เพราะพวกเขาเหมือนถูกยึดที่ดินทำกินไป เพราะฉะนั้นพอโซเวียตบุกแมนจูเรียในปี 1945 ชาวบ้านชาวจีนก็เลยเหมือนไม่ได้ช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นมากนัก

 

แต่ต่อมาชาวจีนหลายคนก็ให้ความช่วยเหลือนะ เพราะผู้อพยพหลายคนทิ้งลูกเล็ก ๆ เอาไว้ในระหว่างการหลบหนีน่ะ ชาวบ้านชาวจีนก็เลยรับเด็กชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม แล้วพอเด็กพวกนี้โตขึ้น เด็กพวกนี้ก็ได้อพยพไปอยู่ญี่ปุ่น และกลายมาเป็น subjects ของหนังสารคดีเรื่องนี้

 

8.หนังเรื่องนี้ยาว 2 ชั่วโมง แล้วเรื่องที่ให้สัมภาษณ์มันหนักสุด ๆ กันทั้งนั้น เราก็เลยขอโน้ตเรื่องที่สะเทือนใจเราเอาไว้แค่บางเรื่องแล้วกันนะ เรื่องที่หนักที่สุดสำหรับเราก็คือเรื่องแม่ ๆ ที่จำเป็นต้องฆ่าลูกเล็ก ๆ ของตัวเองนี่แหละ ตัวผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงเล่าว่า พอโซเวียตบุก เธอกับครอบครัวและชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ก็เลยต้องอพยพหนีตายกัน เธอแบกเด็ก 2 ขวบมาด้วยคนนึง เป็นลูกของเพื่อนบ้าน แต่ในระหว่างการเดินทางขึ้นเขา เด็กคนนี้กับเด็กอีก 2 คนร้องเสียงดังเพราะความหิว แม่ของเด็กก็เลยตัดสินใจฆ่าลูก ๆ ของตัวเองตาย เพื่อที่คนอื่น ๆ จะได้รอดชีวิตได้

 

แล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการฆ่าเด็กเล็ก ๆ มันเกิดขึ้นต่อมาเรื่อย ๆ ในระหว่างการเดินทางหลบหนี มีแม่บางคนจำใจต้องโยนลูกเล็ก ๆ ของตัวเองลงบ่อน้ำ (แต่เหมือนเด็กรอดชีวิต ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ก็ไม่แน่ใจว่ารอดชีวิตได้อย่างไร) แล้วผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงก็เล่าว่า แม่ของเธอตัดสินใจฆ่าน้องสาววัย 5ขวบของเธอด้วย เพราะน้องสาววัย 5 ขวบของเธอร้องว่าอยากกิน sweet potatoes แม่ของเธอก็เลยให้คนเอาลูกของตัวเองไปฆ่า

 

เธอเล่าอีกด้วยว่า พี่ ๆ ของเธอไม่เคยให้อภัยแม่ของเธออีกเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา

 

9.พ่อ ๆ หลายคนก็ฆ่าลูกของตัวเองในเหตุการณ์นี้ด้วยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่พ่อ ๆ ไม่ได้ฆ่าลูกเพราะความจำเป็นในการปกป้องชีวิตของคนอื่น ๆ ในระหว่างการเดินทางน่ะ แต่พวกเขาฆ่าลูก ๆ เพราะเห็นว่าศัตรูกำลังจะบุกมาถึงตัว และพวกเขาคงเห็นว่าการฆ่าเมียและลูก ๆ ของตัวเองและฆ่าตัวตายตาม อาจจะเป็นเกียรติกว่าการถูกศัตรูจับตัวไปมั้ง เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

 

ผู้ชายคนนึงเล่าว่า ในระหว่างการเดินทางอพยพหนีตายนั้น พอมีแววว่าศัตรูกำลังจะบุกมาถึง พ่อ ๆ หลายคนในขบวนผู้อพยพก็ตัดสินใจฆ่าเมียกับลูก ๆ ของตัวเองตายหมดเลยน่ะ ซึ่งรวมถึงเพื่อน ๆ ของผู้ให้สัมภาษณ์ด้วย (เขามีอายุราว 10 ปีมั้งตอนเกิดเหตุการณ์นั้น) แต่ผู้ให้สัมภาษณ์รอดตายมาได้ เพราะพ่อของเขาตายไปแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เขาก็เลยรอดชีวิต ไม่ถูกพ่อของตัวเองฆ่าตาย แต่เพื่อน ๆ ของเขาถูกพ่อ ๆ ของตัวเองฆ่าตายกันไปหลายคน

 

แต่สิ่งที่หนักที่สุดก็คือว่า พอพ่อ ๆ จำนวนมากฆ่าเมียกับลูก ๆ ของตัวเองตายกันไปหมดแล้ว แล้วกำลังจะฆ่าตัวตายตามครอบครัวตัวเองไป ปรากฏว่าดันเจอ “ทางหนี” พอดี พวกเขาก็เลยหนีมาได้ รวมถึงผู้ให้สัมภาษณ์ที่มีอายุราว 10 ขวบด้วย

 

คือหนักที่สุด นึกว่า THE MIST (2007, Frank Darabont) คือก่อนหน้านี้เรานึกว่า THE MIST เป็น “เรื่องแต่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง” แต่พอเราได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ เราก็เลยพบว่าเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นใน THE MIST นี่ มันเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว และเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากมายเลยด้วย ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเพียงคนเดียว

 

10. มีชาวญี่ปุ่น 500 คนทีฆ่าตัวตายหมู่ด้วย เพราะกลัวว่าจะถูกทหารโซเวียตจับไป จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง LEVEL FIVE (1997, Chris Marker) มาก ๆ เพราะ LEVEL FIVE เล่าถึงเรื่องจริงในโอกินาวาที่นางพยาบาลชาวญี่ป่นจำนวนหลายร้อยคน (ถ้าจำไม่ผิด) ถูกทหารญี่ปุ่นใช้ไฟเผาทั้งเป็น เพราะพวกทหารญี่ปุ่นเห็นว่าการที่นางพยาบาลถูกฆ่าตายแบบนี้มีเกียรติกว่าการถูกทหารสหรัฐจับตัวไป

 

เหมือนมีอนุสรณ์สถานเล็ก ๆ อยู่ตรงจุดที่ชาวญี่ปุ่น 500 คนฆ่าตัวตายหมู่ในแมนจูเรียนะ ส่วนจุดที่นางพยาบาลชาวญี่ปุ่นหลายร้อยคนถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าตายนี่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ในโอกินาวามั้ง

 

11. แม่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ฆ่าลูกของตัวเองที่ร้องเสียงดัง แต่แม่เหล่านี้ก็ใช้วิธีทิ้งลูกของตัวเองไว้ข้างทางแทนในระหว่างการหลบหนี ซึ่งรวมถึงลูก ๆ ที่เป็นเด็กทารกด้วย และผู้ให้สัมภาษณ์บางคนก็ยังคงฝังใจกับเหตุการณ์นี้ เพราะเธอไม่รู้ว่า เด็กทารกเหล่านี้จะถูกหมาป่าจับไปกินหรือไม่ หรือว่าอาจจะรอดชีวิต ถ้าหากมีชาวบ้านชาวจีนมาพบเห็น แล้วเก็บไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม

 

คนแก่ก็ถูกทิ้งไว้ข้างทางเหมือนกัน คือครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่อพยพหนีตายกันนี่ ก็พยายามเอาคนแก่ ๆ อพยพไปด้วยน่ะแหละ แต่คนแก่บางคนเห็นว่าตัวเองไม่มีแรงแล้ว แล้วจะถ่วงขบวน ทำให้การหลบหนีชักช้า หรืออะไรทำนองนี้ คนแก่เหล่านี้ก็เลยตัดสินใจไม่ไปต่อเอง ถึงแม้ครอบครัวจะต้องการให้พวกเขาหลบหนีไปด้วยก็ตาม

 

12.เด็กญี่ปุ่นบางคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างทางแล้วมีชาวจีนเก็บไปเลี้ยงก็มีชีวิตที่เลวร้าย เพราะเธอได้พ่อบุญธรรมชาวจีนที่เลวมาก คือตอนแรกเธอมีแม่บุญธรรมอยู่ด้วย แต่แม่บุญธรรมอยู่กับเธอได้แค่ปีเดียวแล้วก็ตาย เธอก็เลยต้องอยู่กับพ่อบุญธรรมที่ treat เธออย่างเลวร้ายสุด ๆ ซึ่งตอนเด็กเธอไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่พอเธอโตขึ้น พ่อบุญธรรมก็บอกความจริงกับเธอว่าเธอเป็นเด็กญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ข้างทางแล้วเขาเก็บมาเลี้ยง โดยตอนแรกนั้นเธอมีห่อผ้าติดมาด้วย ซึ่งมันใช้บ่งบอก identity ของเธอได้ว่าเธอเป็นลูกที่แท้จริงของใคร แต่เขาทิ้งห่อผ้านั้นไปแล้ว

 

เธอก็เลยร้องวี้ดหนักมาก เพราะถ้าไม่มีห่อผ้าอันนั้น เธอก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นเด็กญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ข้างทางหลายคนในแมนจูเรียในปี 1945 พอโตขึ้นจนมาถึงทศวรรษ 1970 พวกเขาก็ได้อพยพไปอยู่ญี่ปุ่นกัน แต่เธออพยพไปไม่ได้ เพราะเธอไม่มีหลักฐาน เธอก็เลย “พลิกฟื้นผืนนาผืนไร่ทั้งผืน” คือพลิกแผ่นดินทั้งท้องนาท้องไร่ของเธอเพื่อหาห่อผ้านั้น แต่ก็หาไม่เจอ เธอก็เลยต้องอยู่ประเทศจีนไปจนตลอดชีวิต หนักที่สุด

 

13.แต่เด็กญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ข้างทางบางคนก็ได้พ่อบุญธรรมชาวจีนที่ดีมาก subject คนนึงพอได้อพยพกลับมาอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ก็เลยส่งเงินไปให้พ่อบุญธรรมที่จีนเป็นประจำ และติดต่อกันเป็นประจำจนถึงปัจจุบัน

 

14.ผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงเล่าว่า แม่ของเขาอพยพหนีตายมากับลูก ๆ 4 คน แล้วหาอาหารกินไม่ได้ แม่กลัวว่าลูก ๆ 4 คนจะอดตาย แม่ก็เลยตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายชาวจีนคนนึงเพื่อจะได้ช่วยชีวิตลูก ๆ ทั้ง 4 แต่เราเข้าใจว่าผู้ชายชาวจีนคนนี้คงเป็นพ่อบุญธรรมที่ดีมากน่ะแหละ เพราะในหนังสารคดีเรื่องนี้ตัวผู้ให้สัมภาษณ์เดินทางกลับไปจีนเพื่อไปเคารพหลุมศพพ่อบุญธรรมด้วย

 

15.อีกหนึ่งความเหี้ยของทหารญี่ปุ่นก็คือว่า ตอนที่คนญี่ปุ่นอพยพหนีตายกันนั้น ทางเจ้าหน้าที่การรถไฟได้เตรียมรถไฟไว้ช่วยผู้อพยพในการเดินทางหลบหนีนะ แต่ทหารญี่ปุ่นมายึดรถไฟพวกนี้ไปหมดเลย เพื่อใช้รถไฟพวกนี้ในการอพยพครอบครัวของตัวเองและสัมภาระมากมายของนายทหารชั้นสูงเท่านั้น ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ก็เลยไม่ได้ขึ้นรถไฟ เพราะถูกทหารญี่ปุ่นยึดเอาไปใช้เองจนหมด

 

16.แล้ววิบากกรรมมันไม่ได้จบแค่ตอนโซเวียตบุกแมนจูเรียนะ เพราะมันมีวิบากกรรมตอนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ด้วย คือในตอนนั้นมีหญิงญี่ปุ่นคนนึง เธอก็เป็นเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างทางในแมนจูเรียในปี 1945 เหมือนกัน เธอก็เลยเติบโตมาในจีน แล้วพอถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 เธอเกิดไปพบกองซากศพกระดูกคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ภูเขาแห่งนึงในแมนจูเรียมั้ง ซึ่งคงเป็นกลุ่มคนที่ถูกฆ่าตายตั้งแต่ปี 1945 เธอก็เลยขอทางการจีนจัดตั้งอนุสรณ์สถานไว้ที่ตรงจุดนั้น

 

แต่พวก Red Guard หาว่าเธอเป็นสปายของญี่ปุ่น และการก่อตั้งอนุสรณ์สถานให้คนญี่ปุ่นถือเป็นการทรยศชาติ พวก Red Guard เลยจับตัวเธอไป แล้วตัดสินประหารชีวิตเธอ (เหมือนผู้พิพากษาก็อยู่ภายใต้การควบคุมของ Red Guard) แต่เนื่องจากเธอเป็นคนญี่ปุ่น การจะประหารชีวิตเธอได้นั้นต้องขออนุญาตจากโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนก่อน แต่พอโจว เอินไหลทราบเรื่องนี้ เขาก็บอกว่าเธอไม่มีความผิด การตั้งอนุสรณ์สถานนั้นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เธอก็เลยรอดชีวิตมาได้จนถึงปัจจุบัน (เธออพยพมาอยู่ญี่ปุ่นแล้ว)

 

17.ยังมีเรื่องราวของผู้ให้สัมภาษณ์อีกเยอะมาก แต่เราขอโน้ตไว้แค่นี้พอ สรุปว่าเป็นหนึ่งในหนังสารคดีที่หนักที่สุดที่ดูมาในชีวิต ไม่ทราบชีวิตของจริง ดูแล้วนึกถึงหนังเรื่อง THE LAST RECIPE (2017, Yojiro Takita) ที่พูดถึงแมนจูเรียในทศวรรษ 1930 และนึกถึงหนังเรื่อง SONG OF THE EXILE (1990, Ann Hui) ที่พูดถึงสาวญี่ปุ่นที่แต่งงานกับคนจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

No comments: