Thursday, January 05, 2023

MADAME X – AN ABSOLUTE RULER

MADAME X – AN ABSOLUTE RULER (1977, Ulrike Ottinger, West Germany, second viewing, A+30)

 

อันนี้ไม่ได้เป็นการตีความว่าหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไร แต่เป็นการบันทึกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งใดบ้างโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจจ้ะ

 

SERIOUS SPOILERS ALERT

 

1.เปิดปี 2023 ด้วยหนังเรื่องนี้ ดีใจสุด ๆ ที่ทาง dafilms.com นำหนังเรื่องนี้มาฉายแบบมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ หลังจากที่เราเคยดูแบบไม่มีซับไตเติลไปแล้วที่โรงหนังใน Central World ในปี 2005 ซึ่งพอไม่มีซับไตเติล เราก็ดูไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็ชอบหนังอย่างสุด ๆ อยู่ดี เพราะมันบ้าบอคอแตกมาก ๆ

 

2.พอเราได้ดูแบบมีซับไตเติลแล้วก็ร้องวี้ด แล้วก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันล้ำยุคล้ำสมัย หรือมาก่อนกาล หรือเปรี้ยวเยี่ยวราดคลาสสิคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาก ๆ เพราะเราเดาว่า หนังเรื่องนี้มันน่าจะเป็นการ “วิพากษ์วิจารณ์กระแส FEMINISM ในทศวรรษ 1970” น่ะ แต่ไป ๆ มา ๆ ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้กลับสอดคล้องกับกระแส “เฟมทวิต” และแม้แต่ WOKE ในยุคปัจจุบันโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างรุนแรงมาก

 

คือเราก็ไม่รู้ว่าจุดประสงค์จริง ๆ ของหนังเรื่องนี้คืออะไรนะ เราอาจจะเข้าใจผิดหรือตีความมากเกินไปก็ได้ แต่ยังไง ๆ เราก็ไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะหนังเรื่องนี้มันน่าจะอิงกับบริบทเฉพาะตัวของสังคมเยอรมัน, ยุโรป และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในกระแส FEMINISM ยุคนั้นที่เราไม่มีความรู้ เราก็เลยไม่สามารถเข้าใจหรือตีความอะไรหนังเรื่องนี้ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว

 

แต่เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เพราะมันเหมือนตั้งคำถามที่ยังคงมีความสำคัญมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า “ในการโค่นล้มระบอบที่เลวร้ายหรือผู้นำเผด็จการนั้น เรากำลังจะปูทางไปสู่ระบอบใหม่ที่ก็มีความเลวร้ายในแบบของมันเอง หรือผู้นำเผด็จการคนใหม่ที่ก็มีความเลวร้ายในแบบของมันเองหรือไม่” หรือ “ในการปฏิเสธค่านิยมหรือระบอบศีลธรรมชุดหนึ่งนั้น เรากำลังสร้างค่านิยมแบบใหม่หรือระบอบศีลธรรมชุดใหม่ที่ก็มีความเหี้ย ๆ ห่า ๆ ในแบบของตัวเองขึ้นมาแทนหรือเปล่า”

 

คือเราและคนส่วนใหญ่ที่เรารู้จักก็คงเห็นตรงกันแหละว่า ระบอบ patriarchy มีความเลวร้าย, ระบอบเผด็จการมีความเลวร้าย, ระบบศีลธรรมของคนรุ่นก่อนมีปัญหาอย่างรุนแรง ซึ่งเราว่าหนังหลาย ๆ เรื่องที่ทำออกมาในยุคปัจจุบันก็ยังคงพูดถึงประเด็นเหล่านี้

 

แต่เหมือน MADAME X – AN ABSOLUTE RULER ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 1977 กลับก้าวล้ำหน้าไปอีกหนึ่งสเต็ปด้วยการแสดงให้เห็นว่า การล้มล้าง patriarchy (ซึ่งเราคิดโยงไปถึงระบอบเผด็จการ, ระบบศีลธรรมแบบดั้งเดิม, ระบบทุนนิยม, ค่านิยมของชนชั้นกลาง) นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่มันก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน เพราะมันก็อาจจะเปิดโอกาสให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมาได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ควรโค่นล้มระบอบเก่า แต่มันหมายความว่าในการโค่นล้มระบอบเก่า, ค่านิยมเก่านั้น มันก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังด้วย มันเต็มไปด้วยหลุมพราง, กับดัก และอันตราย ทั้งจากพวกนักปฏิวัติด้วยกันเอง และจากตัวตนของเราเองที่อาจจะลุแก่โทสะหรืออำนาจหรือจิตฝ่ายต่ำใด ๆ ก็ตามในใจเราเอง

 

ซึ่งเราว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ มันจริงมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อาจจะถูกโค่นล้มไป แต่มันก็ตามมาด้วย Robespierre, Reign of Terror และ Napoleon ส่วนในรัสเซียนั้น พอพระเจ้าซาร์ถูกโค่นล้มไป มันก็ตามมาด้วยเลนิน ซึ่งยังไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอถึงยุคสตาลินเท่านั้นแหละ

 

ซึ่งเราว่าหนังเรื่อง MADAME X – AN ABSOLUTE RULER มันจริงมาก ๆ ในแง่นี้ เพราะมาดามเอ็กซ์เหมือนมาช่วยปลดแอกผู้หญิงหลายคน แต่ไป ๆ มา ๆ มาดามเอ็กซ์กลับกลายเป็นเผด็จการเสียเอง หนังเรื่องนี้เลยเหมือนทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส, ปฏิวัติรัสเซีย เรื่อยมาจนถึงยุคเฟมทวิตและ WOKE ในปัจจุบันโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ

 

3.ชอบเนื้อเรื่องของ MADAME X มาก ๆ ถ้าให้เล่าแบบย่อที่สุดก็คือว่า มาดามเอ็กซ์เป็นโจรสลัดที่ส่งสารถึงผู้หญิงทั่วโลกให้ทิ้งชีวิตที่ “ปลอดภัยแต่น่าเบื่อ” และออกมาผจญภัยล่องเรือโจรสลัดกับเธอ โดยผู้ที่มาล่องเรือกับเธอจะได้ gold, love, and adventure

 

ซึ่งผู้ที่ตอบรับสารของมาดามเอ็กซ์ก็มี

 

3.1 สาวนักป่าไม้ ที่เดินเท้า+จูงหมามาขึ้นเรือของมาดาม

 

3.2 สาวศิลปิน/นักวิชาการ ที่เหมือนเบื่อวงการศิลปะ/วิชาการ เธอเดินทางมาขึ้นเรือด้วยการเล่นสเก็ต

 

3.3 สาวแม่บ้านอเมริกัน ที่ตอนแรกเป็นแม่บ้านเรียบร้อยเหมือนแม่บ้านในยุค 1950 แต่ตอนหลังก็กลายเป็นฮิปปี้ ลองมั่วเซ็กส์ เสพยา เธอเดินทางมาขึ้นเรือด้วยการขี่จักรยาน

 

3.4 สาวจิตแพทย์ เธอเดินทางมาขึ้นเรือด้วยการนั่งบนรถที่ใช้คนลาก

 

3.5 สาวนักบินในออสเตรเลีย เธอใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ เธอขับเครื่องบินมาขึ้นเรือมาดาม

 

3.6 สาวนางแบบ เธอนั่งรถหรูมาขึ้นเรือมาดาม

 

3.7 สาวชาวเกาะ เธอพายเรือเล็กมาขึ้นเรือมาดาม

 

แต่พอพวกเธอมาขึ้นเรือ และใช้ชีวิตอยู่บนเรือกับมาดามเอ็กซ์และสมุนของมาดาม (ซึ่งทำหน้าทำตาคล้ายบียอร์ค) พวกเธอก็พบว่ามาดามเอ็กซ์เคร่งเครียดมาก จนพวกเธอเกร็งกันไปหมด แต่พอมาดามเอ็กซ์ได้สาวชาวเกาะเป็นแฟน มาดามเอ็กซ์ก็ค่อยอารมณ์ดีขึ้นมาหน่อย

 

4.ต่อมาพวกเธอพบ “กะเทยล่องแพ” คนหนึ่งอยู่กลางทะเล พวกเธอก็เลยช่วยเอาไว้ และรับขึ้นมาอยู่บนเรือด้วย ซี่งตรงนี้มันทำให้เรานึกถึงกระแส FEMINISM ในยุคนั้น ซี่งในกระแสนี้น่าจะมีทั้ง “ผู้หญิงที่เป็น straight และผู้หญิงที่เป็น queer” และคนที่สนับสนุนกระแสนี้น่าจะมีจำนวนมากในระดับหนึ่ง และในยุคนั้นมันก็มีกระแสเรียกร้องสิทธิเกย์ด้วย ซึ่งคนที่เป็นเกย์น่าจะมีจำนวนน้อยกว่าคนที่เป็น feminists อยู่แล้ว แต่ทั้งกระแส feminism และกระแสเรียกร้องสิทธิเกย์ มันเดินหน้าควบคู่ไปด้วยกันได้ มันเหมือนเป็นพันธมิตรกันได้ เพียงแต่ว่าจำนวน queer มันอาจจะน้อยกว่าจำนวน “ผู้หญิง” อยู่บ้าง

 

นอกจากนี้ เราว่ากระแสเรียกร้องสิทธิ queer อาจจะยังเป็นอะไรที่ “ใหม่” อยู่ด้วยในทศวรรษ 1970 ในขณะที่กระแสเรียกร้องสิทธิสตรีนี่น่าจะมีมานานเป็น 100 ปีแล้ว

 

5.หลังจากนั้นพวกเธอก็พบเรือของ “คนรวย” พวกเธอก็เลยทำดีกับกลุ่มคนรวยบนเรือหรู ก่อนจะปล้นเรือและฆ่าคนบนเรือตายจนหมด ยกเว้นกะลาสีหนุ่มหล่อคนหนึ่งที่พลัดตกน้ำไป และต่อมากะลาสีคนนั้นก็ได้รับการช่วยชีวิตไว้โดยกะเทยบนเรือของมาดามเอ็กซ์ นอกจากนี้ ในระหว่างเหตุการณ์ปล้นฆ่าบนเรือคนรวยนี้ สาวศิลปินในกลุ่มของมาดามเอ็กซ์ก็ได้เสียชีวิตไปด้วย

 

ต่อมามาดามเอ็กซ์ก็ค้นพบว่า กะเทยได้แอบซ่อนกะลาสีหนุ่มเอาไว้พลอดรักบนเรือของเธอ มาดามเอ็กซ์ก็เลยจับเอากะลาสีหนุ่มไปใส่แพที่ผูกโยงไว้กับเรือของมาดาม ส่วนตัวกะเทยกับ “สาวแม่บ้าน” นั้นก็ want อยากมีเซ็กส์กับกะลาสีหนุ่มมาก ๆ โดยตัวกะเทยกับสาวแม่บ้านนั้นทะเลาะแย่งผัวกันอย่างรุนแรงจนเกิดเหตุที่ทำให้ทั้งสาวแม่บ้านและกะลาสีหนุ่มตกน้ำตายไป

 

ซี่งเนื้อหาตรงส่วนนี้ของหนังมันทำให้เรานึกถึงอะไรต่าง ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือเรานึกถึงเรื่องที่ว่า มันเหมือนกระแสความเคลื่อนไหวของคนในยุคนั้นที่อาจจะเป็นทั้ง feminist และ Marxist ในคนคนเดียวกัน หรือในขบวนการเดียวกันน่ะ คือนอกจากจะต่อต้าน patriarchy แล้ว พวกเธอยังต่อต้านค่านิยมชนชั้นกลางและระบอบทุนนิยมด้วย แต่กระแสต่อต้านในยุคนั้นมันรุนแรงถึงขั้นมีการก่อการร้าย เกิดแก๊ง Baader/Meinhof, เกิดกลุ่ม Red Brigade และมีการจับตัวประกัน ก่อเหตุรุนแรงต่าง ๆ มากมาย

 

แต่ถ้าหากมันมีการต่อต้านชนชั้นกลาง/คนรวยอย่างรุนแรงมากเกินไป หนึ่งในกลุ่มที่จะได้รับความเสียหายก็คือ “ศิลปินที่ยังชีพด้วยการขายผลงานให้ชนชั้นกลาง/คนรวย” นี่แหละ เพราะฉะนั้น “สาวศิลปิน” ก็เลยตายก่อนเพื่อน 5555

 

และในกระแส feminism นั้น จุดที่อาจสร้างความขัดแย้งระหว่างคนในกลุ่มนี้ ก็คือสมาชิกบางคนที่ยัง “บ้าผู้ชาย” อยู่ 5555 คือบางคนอาจจะเรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิ queer ก็จริง แต่คนคนนั้นก็ยังอยากมี sex กับผู้ชายเป็นประจำอยู่ดี คือคนกลุ่มนี้อาจจะต้องการ “เท่าเทียม” กับผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้ “เกลียดชัง” ผู้ชายแต่อย่างใด ซึ่งเราว่าความขัดแย้งระหว่าง “มาดามเอ็กซ์” กับ “กะเทยและสาวแม่บ้าน” ที่ยังอยากมีเซ็กส์กับผู้ชายอยู่ มันทำให้เรานึกถึงความขัดแย้งกันระหว่าง activist หัวรุนแรง กับ activist ที่หัวไม่รุนแรง, ความเห็นที่อาจจะไม่ตรงกันระหว่างผู้หญิงบางคนกับกลุ่มเฟมทวิตในบางกรณี และทำให้เรานึกถึงความขัดแย้งกันระหว่าง feminists กับ gays ในบางกรณีด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทวิตเตอร์

 

6.หลังจากนั้นสาวนางแบบก็พยายามทำลายรูปปั้นแม่ย่านางเรือที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมาดามเอ็กซ์ แต่เธอก็ถูกแม่ย่านางเรือฆ่าตาย สาวนักบินแสดงความไม่พอใจในเรื่องนี้ต่อมาดามเอ็กซ์ เธอก็เลยถูกฆ่าตาย ส่วนลูกสมุนของมาดามเอ็กซ์ก็ฆ่าตัวตาย และสาวเจ้าหน้าที่ดูแลป่าก็เผอิญไปเห็นมาดามเอ็กซ์แก้ผ้าอาบน้ำ เธอก็เลยถูกฆ่าตาย

 

สาวจิตแพทย์ที่เฝ้าดูเหตุการณ์ต่าง ๆ บนเรือได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแบบที่เหมือนจะเป็นธีมของหนังเรื่องนี้ และเราว่าข้อสรุปของสาวจิตแพทย์สามารถนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายนอกหนังได้ง่าย ๆ เลย โดยข้อสรุปของสาวจิตแพทย์บวกกับการตีความของเราออกมาในทำนองที่ว่า “ผู้หญิงเหล่านี้หลบหนี oppression จากโลกกว้าง แต่ก็มาตกอยู่ภายใต้ oppression จากมาดามเอ็กซ์ในโลกแคบ ๆ นี้แทน ซึ่งเป็นโลกที่แทบไม่เปิดกว้างรับบุคคลภายนอก และการที่ต้องอยู่กันเองเป็นกลุ่มแคบ ๆ แบบนี้ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้นำกลุ่มทำตัวเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น แสดงอีโก้ออกมามากยิ่งขึ้น พวกเขาทะเลาะกันเองอย่างรุนแรงด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง คือเหมือนเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถถูกขยายใหญ่ให้กลายเป็นการทะเลาะกันจนฆ่ากันตายได้ (หรือทำให้บางคนถูกขับไล่ออกจาก movement นั้น หรือตัดสินใจถอนตัวออกจาก movement นั้นไปได้)”

 

7.ในที่สุดคนบนเรือก็เหลือเพียงแค่มาดามเอ็กซ์, สาวชาวเกาะ และกะเทย ส่วนสาวจิตแพทย์พยายามหลบหนีออกจากเรือ แต่เธอก็ถูกฆ่าตายพร้อมกับนักบวชชายคนหนึ่งที่พยายามจะช่วยเหลือเธอ

 

อย่างไรก็ดี เรือของมาดามเอ็กซ์ได้มาแล่นเทียบท่าที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง และก็มีผู้หญิงกลุ่มใหม่ (ที่ใช้นักแสดงชุดเดิมกับตัวละครต่าง ๆ ที่ตายไปแล้ว) มาขึ้นเรือลำนี้ ซึ่งรวมถึงนักปักษีวิทยา, สาวร้านขายของ, สาวสเก็ต, สาวภารโรง, เลสเบี้ยนทอมดี้นักขี่มอเตอร์ไซค์, etc. โดยมีสาวชนชั้นกลางคนหนึ่ง (ที่น่าจะใช้นักแสดงคนเดียวกับสาวพิการเจ้าของเรือยอชท์) มายืนแสดงความยินดีที่ท่าเรือแต่ไม่ได้ขึ้นเรือไปด้วย

 

8.มีหลาย ๆ ฉากในหนังเรื่องนี้ที่เราไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไรนะ ซึ่งถ้าหากเราตีความ เราคงตีความมันผิดอย่างแน่นอน แต่เราขอบันทึกไว้แล้วกันว่า ฉากเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงอะไรบ้าง ถึงแม้มันจะไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของฉากเหล่านี้ก็ตาม

 

8.1 จริง ๆ แล้วมีตัวละครบางตัวเหมือนต่อสู้กับมาดามเอ็กซ์แล้วก็ถูกฆ่าตายในระหว่างทางนะ แต่ในฉากต่อ ๆ มาตัวละครเหล่านี้ก็เหมือนมีชีวิตอยู่ตามเดิม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร แต่มันทำให้เรานึกถึงความเคลื่อนไหวใน movement ต่าง ๆ ที่สมาชิกบางคนใน movement อาจจะไม่พอใจการกระทำบางอย่างของผู้นำกลุ่ม ก็เลยลุกขึ้นปะทะกันอย่างรุนแรงกับผู้นำ movement ในบางครั้ง ก่อนที่จะพ่ายแพ้ไป แต่สมาชิกคนนั้นก็ยังไม่ได้ถูกขับไล่หรือยังไม่ได้ถอนตัวออกจาก movement นั้น

 

8.2 ฉากที่สาวเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกฆ่าตาย ทำให้เรานึกถึงเรื่องที่ว่า ใน movement ที่มีผู้นำหัวรุนแรงแบบ Madame X นั้น บางทีมันอาจจะมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่เคร่งครัดเกินไปก็ได้ กฎเกณฑ์ที่ว่าห้ามพูดแบบนี้, ห้ามแสดงความเห็นแบบนี้, ห้ามทำอะไรแบบนี้ เพราะมันจะทำให้ผู้นำกลุ่มไม่สบอารมณ์ สมาชิกบางคนก็เลยอาจจะละเมิดกฎนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็เลยถูกขับออกไปในที่สุด

 

8.3 ถึงแม้สมาชิกรุ่นเก่าของมาดามเอ็กซ์จะถูกฆ่าตายเกือบหมด มาดามเอ็กซ์ก็ยังคงหาสมาชิกรุ่นใหม่ ๆ ได้ต่อไป อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหมายถึงอะไร คือถ้าหากตีความตามตัวอักษร เราก็อาจจะตีความว่า movement ต่าง ๆ ที่สมาชิกรุ่นเก่าหลายคนถอนตัวออกไปแล้ว บางทีมันก็อาจจะดำเนินต่อไปได้ด้วยการดึงดูดสมาชิกใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้ฤทธิ์พิษสงของตัวหัวหน้า movement มั้ง

 

แต่ถ้าหากไม่ได้ตีความตามตัวหนัง เราก็นึกถึงความจริงที่ว่า กระแส Feminist และกระแส gay right มันก็ดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาน่ะ โดยกระแส Feminist + gay right ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจจะมีทั้งสมาชิกรุ่นเก่าที่อยู่มานาน สมาชิกรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ และสมาชิกรุ่นใหม่ อยู่ร่วมกันไป

 

8.4 การที่สาวชนชั้นกลางมาแสดงความยินดีที่ท่าเรือ แต่ไม่ได้ขึ้นเรือไปด้วย อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันสื่อถึงอะไร

 

แต่ถ้าหากถามว่าฉากนี้มันทำให้นึกถึงอะไรโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ เราก็นึกถึงความจริงที่ว่า “ขบวนการปฏิวัติ ปลดแอกต่าง ๆ ในอดีต” ที่ดูเหมือนเป็นการต่อต้านค่านิยมชนชั้นกลาง ในเวลาต่อมามันก็จะค่อย ๆ แทรกซึมกลายเป็นค่านิยมของชนชั้นกลาง และกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของระบบทุนนิยมในที่สุด หรือกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำกำไรได้ ขายได้ กลายเป็นสินค้า popular ในยุคต่อมาในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หนังเรียกร้องสิทธิคนดำ, หนังเรียกร้องสิทธิสตรี และ “ซีรีส์วาย” ที่ทำเงินได้ดีในยุคนี้

 

9.ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมี “เนื้อเรื่อง” แต่คุณค่าที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้อาจจะอยู่นอกเนื้อเรื่องด้วยนะ เพราะเราชอบทั้ง

 

9.1 การแต่งหน้า, การออกแบบทรงผม และการออกแบบเครื่องแต่งกาย ที่ถือเป็น one of my most favorites of all time ไปเลย

 

9.2 ดนตรีประกอบ ที่หนักมาก ๆ

 

9.3 การตัดต่อและการนำเสนอฉากต่าง ๆ ที่ “กวนส้นตีน” ใส่การเล่าเรื่อง คือการตัดต่อและการนำเสนอฉากต่าง ๆ หลาย ๆ ฉากมันไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบ linear น่ะ บางฉากดูเหมือนงง ๆ ไม่มีคำอธิบาย บางฉากเป็นการ flash forward โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งทำให้นึกถึง EDEN AND AFTER (1970, Alain Robbe-Grillet) ที่มีการ flash forward โดยไม่มีสาเหตุเหมือนกัน

 

คือเราว่าหนังเรื่องนี้มันปลดแอกทั้งในส่วนของตัวเนื้อเรื่องเอง และปลดแอกในส่วนของ “วิธีการเล่าเรื่อง” หรือ “ภาษาทางภาพยนตร์” ด้วย

 

10.สรุปว่า พอได้ดู MADAME X – AN ABSOLUTE RULER ในรอบสองในปี 2023 เราก็หวีดสุดขีดไปเลย รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันอมตะนิรันดร์กาลมาก ๆ ล้ำยุคล้ำสมัย มาก่อนกาล stand the test of time มาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อนำมันมาเทียบเคียงกับโลกทวิตเตอร์ในยุคปัจจุบันนี้

 

คือถึงแม้ตัวละคร Madame X และคนต่าง ๆ บนเรือของเธอจะเป็นตัวละครในหนังปี 1977 แต่พอเราดูตัวละครเหล่านี้ เราก็นึกถึง “activist หัวรุนแรง”, “ผู้นำขบวนการปลดแอก ผู้นำ movement ต่าง ๆ ที่เราเห็นด้วยกับจุดประสงค์ของ movement นั้น แต่ผู้นำคนนั้นกลับทำตัวเป็นเผด็จการเสียเอง” , นึกถึง “ดราม่าต่าง ๆ ในฝ่ายซ้าย”, นึกถึง “การทะเลาะกันด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง แต่คนเอามาทะเลาะกันแบบจะฆ่ากันตาย”, นึกถึง “การห้ามพูดคำนั้นคำนี้ หรือการห้ามแสดงความเห็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ไปกำหนดว่า คำคำนั้นเป็นคำไม่ดีไปแล้ว หรือการแสดงความเห็นแบบนั้นเป็นสิ่งชั่วช้าไปแล้ว” , etc. คือดู MADAME X แล้วนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้มาก ๆ โดยเฉพาะความพยายามจะโค่นล้มค่านิยมเก่า ๆ ในบางกรณี แต่ความพยายามจะโค่นล้มดังกล่าวกลับกลายเป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก

 

และถึงแม้เราจะสนับสนุนให้มีการสร้างหนังที่เรียกร้องสิทธิสตรี, สิทธิเกย์ และประชาธิปไตยต่อไป เราก็สนับสนุนหนังแบบ MADAME X อย่างมากที่สุดด้วย เพราะเราว่าหนังแบบ MADAME X มันก้าวล้ำหน้าไปอีกหนึ่งขั้น เพราะมันแสดงให้เห็นถึง pitfalls ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในความพยายามจะต่อสู้, ปฏิวัติ, ล้มล้าง, ปลดแอกระบอบเก่า ๆ ทั้งในการเรียกร้องสิทธิสตรี, การเรียกร้องสิทธิเกย์, การเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการต่อต้านทุนนิยม และ pitfalls เหล่านี้ก็ไม่ได้มาจาก “ศัตรูของกลุ่มนั้น” แต่มาจากตัวหัวหน้ากลุ่มปลดแอก, จากสมาชิกขบวนการปลดแอกด้วยกันเอง และแม้แต่จากตัวเราเอง

 


No comments: