อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอสุได้ที่
http://www.filmlinc.com/fcm/9-10-2003/ozu2.htm
ยังไม่ได้ดู EARLY SUMMER กับ FLOATING WEEDS เลยค่ะ ตอนนี้ได้ดูหนังของโอสุไปแค่ 4 เรื่องเอง ซึ่งถ้าจัดตามความชอบของตัวเองจะได้ดังนี้
1.EARLY SPRING (1956) A+
2.LATE AUTUMN (1960) A-
3.AN AUTUMN AFTERNOON (1962) A-
4.I WAS BORN, BUT (1932) B+
ดิฉันมักจะจำชื่อ 2 เรื่องแรกไม่ได้เสมอ ไม่แน่ใจว่าตัวเองดูหนังเรื่อง EARLY SPRING, LATE SPRING, EARLYSUMMER หรือ LATE AUTUMN กันแน่ ต้องคอยกลับไปเช็คที่ตัวเองจดไว้ทุกครั้งว่าตัวเองดูหนังเรื่องอะไรของโอสุมา
ที่ชอบ EARLY SPRING มากที่สุดสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นเรื่องของหนุ่มสาว ก็เลยรู้สึกมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายหน่อย ในขณะที่ LATE AUTUMN กับ AN AUTUMN AFTERNOON เป็นเรื่องของคนแก่ และ I WAS BORN, BUT… เป็นเรื่องของเด็ก
รู้สึกทึ่งกับฝีมือการกำกับของ OZU มากค่ะ ฝีมือแกแน่มาก จังหวะอารมณ์ของหนังดีมากจริงๆ และก็ดีใจมากที่คุณเจ้าชายน้อยชอบแก ดิฉันรู้สึกเสียดายมากๆเลยที่พลาดเทศกาลหนัง “เวนเดอร์ส-โอสุ” ที่เคยมาจัดในกรุงเทพประมาณปี 1994 ตอนนั้นมีหนังหายากของโอสุเข้ามาฉายเป็นสิบเรื่อง แต่ตอนนั้นดิฉันยังไม่ได้เป็นนักดูดูหนังฟรีตามสถาบัน เห็นโปสเตอร์เทศกาลนี้ปิดไว้ตามจุดต่างๆ ก็ไม่เคยคิดที่จะไปดู ปรากฏว่าตอนนี้ปี 2004 เข้าไปแล้ว หนังในเทศกาลนั้นก็ไม่เห็นจะเวียนมาฉายอีกเลย เสียดายจริงๆ
ส่วนดิฉันเป็นแฟนของ NAGISA OSHIMA ค่ะ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่าหนังของเขามักนำเสนออารมณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของดิฉัน ดิฉันก็เลยมีอารมณ์ร่วมกับหนังของเขามากกว่าของผู้กำกับคนอื่นๆ แต่ในส่วนของโอสุนั้น ถึงดิฉันจะชอบฝีมือของแกมาก แต่ประเด็นในหนังของแกโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นประเด็นที่ห่างไกลจากชีวิตจริงของดิฉันอย่างมากๆ ดิฉันก็เลยไม่ได้เป็นแฟนของแก แหะ แหะ แหะ
แถมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโอสุให้อ่านเล่นๆ
1.ไม่รู้ว่าคุณเจ้าชายน้อยเคยดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง ABNORMAL FAMILY (1983, MASAYUKI SUO, A+) หรือเปล่า ถ้าเข้าใจไม่ผิด หนังฮาบ้ากามเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนหนังของโอสุกับโอชิม่าค่ะ เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัว แต่อบอุ่นแบบทุกคนมั่วเซ็กส์กัน
http://www.imdb.com/title/tt0085671/
2.อยากดู CAF E LUMIERE ของโหวเสี่ยวเซี่ยนมากเลยค่ะ เพราะหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อคารวะโอสุโดยเฉพาะ อ่านคำวิจารณ์หนังเรื่องนี้ได้ที่
http://www.slantmagazine.com/film/film_review.asp?ID=1295
ตอนนี้ดิฉันได้ดูหนังของโหวเสี่ยวเซี่ยนไปแค่ 2 เรื่อง ซึ่งก็คือ MILLENNIUM MAMBO (A+) กับ CITY OF SADNESS (1989, A-) ชอบแกมากๆเลย ได้ยินมาว่าโหวเสี่ยวเซี่ยนเป็นคนที่ชื่นชอบโอสุอย่างมากๆ ด้วย
ที่ดิฉันให้ CITY OF SADNESS ได้แค่ A- ไม่ใช่เป็นเพราะหนังไม่ดีนะค่ะ แต่เป็นเพราะว่าดิฉันดูหนังเรื่องนี้ไปแค่รอบเดียว แล้วดูไม่รู้เรื่อง ถ้าหากได้ดูรอบสอง ก็คงชอบเพิ่มมากขึ้นเยอะ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไต้หวันน่ะค่ะ ดิฉันเคยค้นดูในอินเทอร์เน็ต เจอคนนึงเขียนวิจารณ์วิเคราะห์หนังเรื่องนี้ออกมาได้ประมาณ 70 หน้าด้วยกัน เพราะหนังมีประเด็นทางประวัติศาสตร์แฝงไว้เยอะ ก็เลยมีเรื่องให้โยงใยพูดถึงได้เยอะมาก
3.ถ้าชอบโอสุก็ต้องห้ามพลาดหนังเรื่องนี้นะค่ะ TOKYO-GA (1985, WIM WENDERS) เข้าใจว่าร้านแว่นน่าจะมีขายแล้ว เป็นหนังที่เวนเดอร์สทำขึ้นเพื่ออุทิศให้โอสุเหมือนกัน แต่ดิฉันยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้เลย
http://www.imdb.com/title/tt0090182/
4.ในหนังเยอรมันเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN (1977, PETER HANDKE, A+++++++) มีฉากที่นางเอก (แสดงโดย EDITH CLEVER) นอนหลับอยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่ฉายหนังของโอสุ และหนังที่ฉายอยู่นั้นเป็นฉากที่สมาชิกหญิงคนหนึ่งในครอบครัวญี่ปุ่นต้องกล้ำกลืนความทุกข์อะไรบางอย่างเอาไว้เพื่อเห็นแก่ความสุขของครอบครัว นักวิจารณ์ตีความว่าฉากนี้สื่อความหมายใน THE LEFT-HANDED WOMAN ได้ดีมาก การที่ EDITH CLEVER หลับอยู่หน้าจอทีวีที่ฉายหนังของโอสุ เพราะสถานะของเธอในตอนนั้นตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสถานะของนางเอกในหนังของโอสุ เพราะนางเอกเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN เป็นผู้หญิงที่ขอแยกทางจากสามีโดยไม่มีสาเหตุใดๆทั้งสิ้น และเธอก็ค่อยๆเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับชีวิตอิสระของตัวเอง เธอไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานแบบผู้หญิงในหนังของโอสุอีกต่อไป
5.นักวิจารณ์ยังตีความอีกด้วยว่ากลวิธีการถ่ายทำบางฉากใน THE LEFT-HANDED WOMAN คล้ายคลึงกับกลวิธีการถ่ายทำในหนังของ OZU อย่างมาก แต่ดิฉันอ่านที่นักวิจารณ์เขียนแล้วไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเขาใช้ศัพท์ทางเทคนิค และดิฉันก็ดูหนังของโอสุมาน้อย ถึงแม้จะดู THE LEFT-HANDED WOMAN มาแล้ว แต่อ่านบทวิจารณ์แล้วก็ยังไม่เข้าใจว่ามันเหมือนกับหนังของโอสุตรงไหนกันแน่
แต่พอได้อ่านบทวิจารณ์ FLOATING WEEDS ของคุณเจ้าชายน้อย ก็เดาได้ว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะคล้ายกันก็คือย่อหน้านี้ของคุณเจ้าชายน้อยค่ะ
“หมู่บ้านชาวประมงในเรื่องก็ทำหน้าที่เป็นตัวเอกตัวหนึ่ง หนังถ่ายภาพงดงาม ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ประจกสีน้ำเงินขาวแดง ของบาร์แห่งเดียวในเมือง ภาพเนินเขาเขียวชอุ่ม ประภาคารสีขาวตัดท้องฟ้าสีฟ้า เรือประมงสีสันจัดจ้าน และสายลมแกว่งไกว เป็นภาพที่ถูกซ้อนเข้ามาในเรื่องอยู่เนืองๆ ไม่ได้มีความหายสัญลักษณ์ใดๆ หากขับเน้นถึงความเป็นกวีของหนังเอง “
พออ่านประโยคนี้ แล้วก็นึกถึงภาพในหนังเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN ขึ้นมาทันที เพราะฉากนึงที่ติดตาอย่างไม่มีวันลืมในหนังเรื่องนี้ก็คือฉากรถไฟแล่นผ่านสถานที่ต่างๆในเมือง และพอรถไฟแล่นผ่าน ก็จะทำให้เกิด “แรงลม” และทำให้ “แอ่งน้ำเล็กๆ” ที่อยู่ใกล้ๆทางรถไฟ เกิด “ระลอกกระเพื่อม”ขึ้นมา ฉากนี้ในหนังดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์ใดๆทั้งสิ้นกับตัวเนื้อเรื่อง แต่เป็นฉากที่นักวิจารณ์บางคนให้ความสำคัญกับมันอย่างมาก และ “ภาพแอ่งน้ำเล็กๆเกิดการกระเพื่อมไหวเพราะแรงลมจากรถไฟที่แล่นผ่าน” ก็เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกงดงามอย่างสุดๆจริงๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฉากนี้ได้รับอิทธิพลจากหนังของโอสุหรือเปล่า ดิฉันคงต้องดูหนังของโอสุมากกว่านี้ถึงจะตอบได้
PETER HANDKE ผู้กำกับหนังเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN เคยเขียนบทหนังเรื่อง THE GOALIE’S ANXIETY AT THE PENALTY KICK (A) ให้กับวิม เวนเดอร์สค่ะ ส่วนวิดีโอหนังเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN มีให้ยืมดูที่สถาบันเกอเธ่ ซ.สาทร 1
6.เพิ่งดูหนังเรื่อง THE RAINBOW SEEKER (1996, YOJI YAMADA, A-) และหนังเรื่องนี้ก็นำฉากจาก TOKYO STORY ของ OZU มาใส่ไว้ในหนังด้วย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าหนังของ YOJI YAMADA กับหนังของ YASUJIRO OZU มีอารมณ์เล็กๆบางอย่างเชื่อมถึงกันได้ แต่สิ่งที่ประหลาดใจมากๆใน THE RAINBOW SEEKER และทำให้ความรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างรุนแรง ก็คือการที่พระเอกของ THE RAINBOW SEEKER ชื่นชอบหนังเรื่อง SUCH A LONG ABSENCE (1960, HENRI COLPI, A+) อย่างมากๆ
ดิฉันเคยดู SUCH A LONG ABSENCEมานานประมาณ 8 ปีแล้ว และก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้อีกในชีวิตนี้ รู้สึกปลงไปแล้วว่าบางทีชีวิตนี้อาจจะไม่มีวันได้ดูหนังเรื่องนี้อีก ดังนั้นพอได้มาเห็นฉากบางฉากจากหนังเรื่องนี้มาปรากฏอยู่ใน THE RAINBOW SEEKER ก็เลยรู้สึกประหลาดใจและดีใจเป็นล้นพ้น
อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่อง THE RAINBOW SEEKER ได้ที่
http://pears.lib.ohio-state.edu/Markus/Review/Films96/Niji.html
7.นักวิจารณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่หนังของโอสุค่อนข้างมองสถาบันครอบครัวญี่ปุ่นอย่างเป็นกลาง และแสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของครอบครัวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ผู้กำกับอีกคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกับโอสุกลับสร้างหนังที่ตั้งคำถามต่อครอบครัวแบบญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจมาก และผู้กำกับคนนั้นก็คือ MIKIO NARUSE
MIKIO NARUSE เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์หญิงอย่างมากๆ ซึ่งรวมถึง SUSAN SONTAG หนังของเขามักมีตัวละครหญิงที่แข็งแกร่ง แต่เนื่องจากนักวิจารณ์ชายไม่ค่อยชอบหนังของเขา และเนื่องจากหนังของเขาไม่มี”ลายเซ็นทางกล้อง” (ยืมคำมาจากหนังสือบุ๊คไวรัสเล่ม 1 ของคุณสนธยา ทรัพย์เย็น) แต่เป็นหนังที่เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีประสบการณ์ชีวิตมาแล้วจริงๆ ดังนั้นชื่อของเขาจึงมักอยู่ล่างๆ YASUJIRO OZU, AKIRA KUROSAWA และ KENJI MIZOGUCHI อยู่เสมอ ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย
8.ผู้กำกับญี่ปุ่นยุคเดียวกับโอสุที่น่าสนใจมีอีกหลายคนมาก ผู้กำกับคนหนึ่งที่ดิฉันยังไม่เคยดูหนังของเขาเลยก็คือ KEISUKE KINOSHITA เห็นข้อมูลบอกว่าเขาถนัดในการทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงที่ทุกข์ทรมานเหมือนกัน
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ KEISUKE KINOSHITA ได้ที่
http://www.filmref.com/directors/dirpages/kinoshita.html
http://www.midnighteye.com/reviews/carmen.shtml
http://www.sensesofcinema.com/contents/cteq/04/33/twenty_four_eyes.html
9.นางเอกขาประจำของโอสุคือ SETSUKO HARA โดยโอสุเคยกล่าวถึงลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของดาราหญิงคนนี้ว่า “ดาราหญิงทุกคนมีความสามารถมากพอที่จะเล่นบทโสเภณีได้ แต่มีดาราหญิงเพียงไม่กี่คนที่สามารถแสดงบทคุณหนูลูกผู้ดีให้ออกมาดูน่าเชื่อถือได้ และเซ็ทสึโกะ ฮาระก็เป็นหนึ่งในนั้น” (ดิฉันจำคำพูดไม่ได้แน่นอนค่ะ ถ้าจำผิดต้องขออภัยด้วย) และหนังของโอสุก็มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของคนที่เป็นผู้ดีจริงๆ
Friday, December 17, 2004
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment