อ่านข้อมูลเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับหลุยส์ บุนเยลได้ที่นี่ค่ะ
http://www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=2837
หนังของหลุยส์ บุนเยลที่เคยดู เรียงตามลำดับความชอบส่วนตัว
1.THE DISCREET CHARM OF THE BOURGEOISIE (1972, LUIS BUNUEL) A+
การปะทะกันครั้งประวัติศาสตร์ของสามเจ้าแม่ STEPHANE AUDRAN, DELPHINE SEYRIG และ BULLE OGIER ในหนังที่ล้อเลียนพฤติกรรมของพวกผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน ตัวละครในเรื่องนี้พยายามจะกินอาหาร แต่ก็กินไม่ได้สักที มีฉากฮาๆหลายฉากในเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงฉากที่ตัวละครเข้าไปในร้านอาหาร แต่สั่งอะไรมาดื่มก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างหมดไปแล้ว แม้แต่น้ำเปล่าก็หมด เวลาดิฉันเข้าร้านอาหารทีไรแล้วพบว่าอาหารในเมนูที่ต้องการจะกินหมดไปแล้ว ก็จะนึกถึงฉากนี้ทุกครั้ง ในหนังเรื่อง THE SKYWALK IS GONE (A) ของไฉ่มิ่งเหลียง ก็มีฉากคล้ายๆอย่างนี้ด้วย
อีกฉากที่ชอบมากในเรื่องนี้ก็คือฉากที่ตัวละครเข้าไปในร้านอาหารและกำลังจะกิน แต่พบว่าอาหารอันน่าโอชะที่วางอยู่บนโต๊ะเป็นเพียงของปลอมที่กินไม่ได้ พวกเขาตกใจมาก และพอพวกเขาไปหันไป ก็พบว่าฝาผนังอีกด้านในร้านเป็นม่านที่รูดเปิดออก และพวกเขาก็พบว่าจริงๆแล้วตัวเองกำลังอยู่บนเวทีละครโดยไม่รู้ตัว
ในขณะที่ตัวละครในเรื่องเจอกับเหตุการณ์ซวยๆไปเรื่อยๆ หนังก็จะตัดสลับกับฉากตัวละครกลุ่มนี้เดินอยู่กลางถนน เดินไปเรื่อยๆโดยไม่มีทีท่าว่าจะไปถึงจุดหมายสักที
2.BELLE DE JOUR (1967, LUIS BUNUEL) A+
แคเธอรีน เดอเนิฟนางเอกของเรื่องนี้มีสามีที่หล่อราวเทพบุตร, นิสัยดี แถมยังเป็นหมอ แต่นางเอกก็ตัดสินใจใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการไปทำงานเป็นโสเภณีในเวลากลางวัน โดยมีมิเชล ปิคโคลี รับบทเป็นเพื่อนสามี บทของเขาดูแล้วคล้ายๆกับเป็นปีศาจที่มา tempt นางเอกให้ทำตามธรรมชาติฝ่ายต่ำ
จุดเด่นของหนังคือฉากจินตนาการอันพรึงเพริดของนางเอก, การไม่เฉลยว่าอะไรอยู่ในกล่อง, การปรากฏของน้ำในรูปแบบต่างๆ (บางฉากมาเพียงแค่เสียง) ในลักษณะที่คล้ายกับเครื่องชำระล้างบาป, การต่อสู้กันระหว่างสามีนางเอกกับมิเชล ปิคโคลีโดยมีจิตวิญญาณของนางเอกเป็นเดิมพัน, เรื่องของ guilt, expiation และการสารภาพบาป ฯลฯ
หนังเรื่องนี้เคยเข้ามาฉายตามโรงภาพยนตร์ปกติในประเทศไทยเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว
3.THE PHANTOM OF LIBERTY (1974) A+
หนึ่งในหนังที่ฮาที่สุดในโลกในความเห็นของดิฉัน หนังเล่าเรื่องราวไร้สาระต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ โดยหลายเรื่องดูเหมือนจะมีการใช้หลักเหตุผลในแบบที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อหลายๆอย่างในสังคมที่เชื่อต่อๆกันมาโดยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันสมควรหรือถูกต้องหรือไม่
ฉากที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้รวมถึงฉากที่
1.ตัวละครหลายๆคนถือว่าภาพถ่าย “วิวทิวทัศน์” เป็นสิ่งที่ “หยาบโลน”, “อนาจาร”, “น่ารังเกียจขยะแขยงอย่างสุดๆ”
2.ตัวละครหลายๆคนมองว่าการอุจจาระเป็นพฤติกรรมที่ควรทำอย่างโจ่งแจ้งต่อหน้าธารกำนัลและผู้คนจำนวนมาก แต่การกินอาหารเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ควรทำในที่ลับเท่านั้น ห้ามทำต่อหน้าคนอื่นๆเป็นอันขาด
3.ศาลตัดสินฆาตกรโรคจิตคนหนึ่งว่ามีความผิดจริงในการสังหารคนตายไปหลายๆคน ดังนั้นศาลจึงปล่อยตัวฆาตกรโรคจิตคนนั้นให้เป็นอิสระ
4.เด็กหญิงคนหนึ่งหายตัวไปเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่พ่อแม่และตำรวจก็ยังคงวุ่นวายกับกระบวนการสืบสวนหาตัวเด็กหญิงคนนั้นต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่เด็กหญิงคนนั้นกลับมาตั้งนานแล้ว
5.ฉากล้อเลียนนักบวช และฉากที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมซาดิสม์มาโซคิสม์ ซึ่งรู้สึกว่าฉากสองอย่างนี้จะมีอยู่ในหนังหลายๆเรื่องของบุนเยล
3.UN CHIEN ANDALOU (1928, LUIS BUNUEL + SALVADOR DALI) A+
4.THE MILKY WAY (1969) A
หนังล้อเลียนสงครามศาสนาที่เกิดจากการที่คนเชื่อถือในความเชื่อที่แตกต่างจากกันเพียงนิดเดียว ตัวละครบางตัวจะฆ่ากันตายเพียงเพราะว่าพวกเขามีความเชื่อเรื่องขนมปังกับเหล้าองุ่นไม่เหมือนกัน
ฉากที่ชอบมากในเรื่องนี้รวมถึงฉากที่ตัวละครคนหนึ่งเดินมาเจอคนจนกับคนรวย แล้วเขาก็เลยบริจาคเงินให้คนรวย
5.LAND WITHOUT BREAD (1933) A
หนังสารคดีเกี่ยวกับดินแดนที่ยากจนข้นแค้นที่สุดแห่งหนึ่งในสเปน หมู่บ้านในหนังเรื่องนี้อยู่ในสภาพล้าหลังมาก และโครงสร้างของหนังเรื่องนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะฉากต่างๆในหนังเรื่องนี้มักจะมาในรูปแบบ 3 ขั้นตอน
1.ฉากแต่ละฉากจะเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่ดูน่าสิ้นหวัง
2.ต่อมาเหตุการณ์นั้นจะเริ่มแสดงสัญญาณแห่งความหวังว่าจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี
3.แต่ในที่สุดเหตุการณ์นั้นกลับยิ่งทวีความเลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก
ยกตัวอย่างฉากในหนังเรื่องนี้ (ถ้าจำไม่ผิด)
1.ชาวบ้านถูกงูกัด (สถานการณ์ซวย)
2.ชาวบ้านเอาสมุนไพรมาพอก (เริ่มมีความหวัง)
3.ชาวบ้านตาย เพราะสมุนไพรเป็นพิษ ทั้งๆที่เขาไม่ได้ถูกงูพิษกัด (สถานการณ์ซวยหนักกว่าเดิม)
ตัวอย่างที่สอง
1.ชาวบ้านเดินทางไปค้าขายลำบาก (ความซวย)
2.แต่ชาวบ้านก็สามารถใช้ลาเป็นพาหนะช่วยในการเดินทางออกจากหุบเขากันดาร (มีความหวัง)
3.ปรากฏว่าลาตกเขาตาย (ซวยบรมซวย)
5.THAT OBSCURE OBJECT OF DESIRE (1977, LUIS BUNUEL) A-
6.DIARY OF A CHAMBERMAID (1964, LUIS BUNUEL) A-/B+
JEANNE MOREAU รับบทเป็นสาวใช้ที่ทำเหมือนกับว่าตัวเองเป็นผู้ดี บทของเธอในหนังเรื่องนี้อาจจะมีอิทธิพลต่อบทของ EMMANUELLE BEART ใน 8 WOMEN (FRANCOIS OZON, A)
ดูรายชื่อผลงานของบุนเยลได้ที่
http://www.imdb.com/name/nm0000320/
ศิษย์เอกของหลุยส์ บุนเยลคือ ARTURO RIPSTEIN ซึ่งเป็นผู้กำกับชาวเม็กซิโก
ดิฉันเคยดูหนังของริปสไตน์ไปแค่ 3 เรื่อง รู้สึกว่าหนังของเขามีความเปรี้ยวแร่ดจัดจ้านในแบบที่ดิฉันชอบมาก
http://www.imdb.com/name/nm0728149/
หนังของอาร์ตูโร ริปสไตน์ที่เคยดู
1.EL EVANGELIO DE LAS MARAVILLAS (1998) A+
สร้างจากเรื่องจริง หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิประหลาดแห่งหนึ่งที่หญิงสาวผู้เป็นเจ้าลัทธิไม่ต้องการให้สาวกหญิงในลัทธิทำบาปด้วยการมีเซ็กส์กับผู้ชาย ดังนั้นเธอจึงสั่งให้ผู้ชายทุกคนในลัทธิมีเซ็กส์กับเธอได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เพื่อที่เธอจะได้รับบาปทั้งหมดมาไว้ที่ตัวเธอเอง
2.SUCH IS LIFE (2000) A+
ดัดแปลงจากตำนานนางมีเดียของกรีก
3.THE RUINATION OF MEN (2000) A
หลุยส์ บุนเยล มักร่วมงานกับ JEAN-CLAUDE CARRIERE ในการเขียนบทหนัง ผู้สนใจสามารถอ่านบทความที่เขียนโดย JEAN-CLAUDE CARRIERE ได้ในหนังสือฟิล์มไวรัสเล่ม 2
http://www.imdb.com/name/nm0140643/
CARRIERE เปิดเผยไว้ในบทความนี้ว่าตอนที่ THAT OBSCURE OBJECT OF DESIRE ออกฉายในต่างประเทศ คนดูหลายๆคนที่ไม่รู้เบื้องหลังของหนังเรื่องนี้ดูเสร็จแล้วก็ยังไม่รู้ว่าบทนางเอกของหนังเรื่องนี้ใช้ดาราหญิงสองคนที่ใบหน้าไม่ได้คล้ายกันเลยแม้แต่นิดเดียวมาเล่น สิ่งนี้ทำให้ CARRIERE งุนงงมากว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่คนดูบางกลุ่มไม่ได้สังเกตจุดนี้เลย โดยคนดูบางคนให้ความเห็นว่า “มีบางอย่างที่ประหลาดในตัวนางเอกหนังเรื่องนี้ แต่บอกไม่ถูกว่ามันประหลาดยังไง”
CARRIERE เดาว่าบางทีสื่อภาพยนตร์อาจมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกของผู้ชมบางคน และทำให้ผู้ชมบางคนคิดไปว่าตัวเองเห็นในสิ่งที่ตาตัวเองไม่ได้เห็น เหมือนกับในกรณีที่เกิดกับหนังเรื่อง ROSEMARY’S BABY เพราะในหนังเรื่องนั้นหนังไม่ได้แสดงให้เห็นภาพของเด็กทารก แต่ผู้ชมหลายคนดูเสร็จแล้วบรรยายออกมาเป็นฉากๆว่าเด็กทารกในเรื่องหน้าตาเป็นยังไงบ้าง!!!!
ส่วนบทความเกี่ยวกับตัวหลุยส์ บุนเยลเองอยู่ในหนังสือ “ฟิล์มไวรัสเล่ม 1” ค่ะ
ติดต่อคนทำหนังสือ “ฟิล์มไวรัส” ได้ที่
filmvirus@yahoo.com
Saturday, December 18, 2004
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment