This is my comment in Prap Boonpan and Chai Chaiyachit’s blog:
http://agonisticfilm.exteen.com/20071011/entry
--เข้ามาลงชื่อว่าได้อ่านบทความของคุณปราปต์และคุณชายแล้วค่ะ เขียนได้จุใจมากๆเลยค่ะ สมกับที่รอคอยมานาน
--ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณปราปต์และคุณชายในนิตยสาร BIOSCOPE แล้วด้วย ดีใจมากๆค่ะที่หนังของคุณทั้งสองคนจะได้ฉายอีกครั้ง แต่คราวนี้ดิฉันคงไม่ได้ไปดูอีกรอบเพราะคงจะติดพันอยู่กับ WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK แหะๆๆ
--ที่คุณปราปต์เคยเขียนว่าจะรวบรวมหนังสั้นเก่าๆของตัวเองมารวมไว้ในดีวีดีนั้น ไม่ทราบว่างานคืบหน้าไปถึงไหนแล้วคะ ดิฉันขอเชียร์ให้คุณปราปต์รวบรวมหนังทุกเรื่องของตัวเองเท่าที่พอจะรวบรวมได้มาไว้ในดีวีดีแผ่นเดียวกันค่ะ และถ้าหากทำซับไตเติลภาษาอังกฤษไว้ในหนังด้วยได้ก็จะดีมาก แต่ถ้าหากทำซับไตเติลจริง งานนี้คงหนักหน่อย เพราะหนังของคุณปราปต์เป็นหนังที่พูดเยอะมาก ฮ่าๆๆ ถ้าหากทำดีวีดีเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมหาทางเผยแพร่ดีวีดีของตัวเองด้วยนะคะ ถ้าหากสามารถเอาไปฝากวางขายที่จตุจักรได้ก็จะดีค่ะ ดิฉันจะได้ไปกว้านซื้อมาหลายๆแผ่นเพื่อแจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้เพื่อนๆหลายคนที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่ไปโหวตรับรัฐธรรมนูญได้ดูกัน เวลาดิฉันอยู่กับเพื่อนๆเหล่านี้ ดิฉันก็ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่าไหร่ค่ะ เพราะดิฉันกลัวว่าจะทะเลาะกันรุนแรง แต่ถ้าหากดิฉันสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองในทางอ้อมโดยผ่านทางหนังของคุณปราปต์ได้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน
--สำหรับประเด็นเรื่องการแสดงที่สมจริงหรือไม่สมจริงในหนังของคุณปราปต์นั้น โดยส่วนตัวแล้วมันไม่เป็นปัญหาสำหรับดิฉันเลยค่ะ ดิฉันคิดว่าหนังเรื่องนี้มันออกจะ “เหนือจริง” สำหรับดิฉันด้วยซ้ำไป เพราะดิฉันแทบไม่เคยเจอสถานการณ์ที่มีการด่าทอกันอย่างไม่ไว้หน้าแบบนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นขณะที่ดิฉันดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันจึงไม่ได้นำการแสดงในหนังไปเทียบกับการแสดงออกของคนต่างๆที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของดิฉันอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์ในหนังเรื่องนี้มันก็ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของดิฉันมากพอสมควร เพราะในชีวิตประจำวันของดิฉันนั้น ส่วนใหญ่จะมีแต่การ “แอบด่าทอคนอื่นๆในใจ” มากกว่าการด่ากันออกมาตรงๆแบบในหนังเรื่องนี้
อันนี้ขอแสดงความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมเล็กน้อย คือดิฉันคิดว่าการแสดงในหนังเรื่องใดๆก็ตาม ไม่จำเป็นจะต้องมีความสมจริงแต่อย่างใด จะสมจริงก็ได้ หรือไม่สมจริงก็ได้ ถ้าหากทำออกมาได้ดี มันก็ออกมาดูดีมีสไตล์ทั้งสองทาง หนึ่งในการแสดงที่ประทับใจดิฉันมากที่สุดในชีวิตคือการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง L’ARGENT (1983, Robert Bresson, A++++++++++) เพราะการแสดงในหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกว่ามันแข็งกระโด๊กที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยดูมา มันให้ความรู้สึกที่บอกไม่ถูก จะว่ามันไม่สมจริงก็พูดได้ไม่เต็มปาก จะว่ามันโอเวอร์แอ็คติ้งก็ไม่ใช่อย่างแน่นอน แต่มันให้ความรู้สึกที่แข็งกระโด๊กมากๆ แต่มันกลับส่งผลดีต่อตัวหนัง เพราะมันทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นออกมาจากหนังหลายพันเรื่องที่ดิฉันเคยดูมาในชีวิต และมันก็ดูเหมือนสอดรับเป็นอย่างดีกับตัวหนังซึ่งมองมนุษย์ในแง่ลบสุดๆ จนมนุษย์ในหนังไม่จำเป็นต้องแสดงความเป็นมนุษย์ออกมาในแบบภาพยนตร์ทั่วไป
--ดิฉันคิดว่ายิ่งหนังของคุณปราปต์แตกต่างจากหนังสั้นของคนอื่นๆมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อตัวดิฉันค่ะ เพราะดิฉันชอบหนังที่แตกต่างแบบนี้นี่แหละ
--ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชอบ LETTER FROM THE SILENCE มากขึ้นไปอีกหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็คือการได้อ่านบทความของ REGIS DEBRAY ใน NEW LEFT REVIEW ที่มีช่วงหนึ่งพูดถึง “พลังของงานเขียน” (อยู่ในหัวข้อ POWERS OF THE INVISIBLE)
อ่านบทความนี้ได้ที่
http://www.newleftreview.org/?page=article&view=2676
ดิฉันรู้จักงานเขียนชิ้นนี้จาก BLOG ของ ZACH CAMPBELL ซึ่งอยู่ที่
http://elusivelucidity.blogspot.com/2007/08/powers-of-invisible.html
ถ้าเข้าใจไม่ผิด บทความนี้มันค่อนไปในทางเชิดชูงานเขียนมากกว่าภาพยนตร์นะ มันเหมือนกับจะบอกว่างานเขียนสามารถกระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาปฏิวัติได้ แต่ภาพยนตร์ทำแบบนั้นไม่ได้ อย่างไรก็ดี หนังเรื่อง LETTER FROM THE SILENCE ดูเหมือนจะทำให้การตัดสินว่าความเห็นของ REGIS DEBRAY ถูกหรือผิด เป็นสิ่งที่ยากมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะดิฉันคิดว่าในแง่หนึ่ง LETTER FROM THE SILENCE เป็นการเชิดชูพลังแห่งการปฏิวัติที่อยู่ในงานเขียน (ซึ่งเหมือนกับเป็นการเห็นด้วยกับความเห็นของ DEBRAY) แต่ในอีกแง่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อความทุกข์ที่ชาวบ่อนอก-หินกรูดและคุณนวมทองได้รับ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงน่าจะมีพลังแห่งการปฏิวัติอยู่ด้วยเช่นกัน (ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากความเห็นของ DEBRAY)
วันนี้ดิฉันขอเขียนแค่นี้ก่อนนะคะเพราะดึกแล้ว ขอลงท้ายว่า ดิฉันคิดถึงหนังเรื่อง “ความลักลั่นในงานรื่นเริง” เกือบทุกวันเลยค่ะตั้งแต่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันมักจะมี “ข่าว” อะไรบางอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังเรื่องนี้อยู่เสมอ อย่างล่าสุดก็ข่าวสถานการณ์ในพม่าที่ทำให้นึกถึงบทสนทนาเรื่องยาดานาในหนังเรื่องนี้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment