คุณมโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ ได้เขียนวิจารณ์หนังเรื่อง HOUSE หรือบ้านผีสิง (2007, มณฑล อารยางกูร) ไว้ในนิตยสาร FLICKS ปีที่ 4 ฉบับที่ 207 (14-20 ก.ย. 2550) ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ที่ผมเห็นว่าดีมากๆ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆคน ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ในที่นี้นะครับ ผมไม่มีเจตนาจะละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ได้โปรดกรุณาแจ้งผมด้วยครับ
THE HOUSE
เฮี้ยน (กว่า)
อาเจ๊คนหนึ่งสงสัยว่าสามี- นายตำรวจของเธอแอบไปมีกิ๊กอยู่นอกบ้าน จึงออกว่าจ้างสายลับให้ออกตามสืบ ถึงได้พบว่ากิ๊กที่ผู้สามีพัวพันอยู่ด้วยนั้นแท้จริงเป็นผู้ชาย ...ว่าแล้วฝ่ายภรรยาก็ออกตามล่าไปจนถึงซากตึกซึ่งเป็นรังรักของทั้งสองสมาชิกพรรคที่มีชื่อคล้ายพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่โดนสั่งยุบไปแล้ว คือพรรค "ชายรักชาย" และตัวซากตึกที่ว่าก็มีอดีตเคยเป็นโรงพยาบาลอันเป็นที่ซึ่งนางพยาบาลสาวสวยผู้หนึ่งถูกทำร้ายโดยศพถูกนำไปถ่วงน้ำจนกลายเป็นข่าวคึกโครมทางหน้าน.ส.พ.เมื่อราวห้าสิบปีล่วงมาแล้ว...
สตรีผู้เป็นศูนย์กลางคนสำคัญของหนังไทยสามเรื่องที่เปิดฉายในช่วงไล่เลี่ยกัน (ตามย่อหน้าเมื่อกี้) หรือภายในตัวโครงเรื่องของ"บ้านผีสิง" เอง – ล้วนขึ้นตรงอยู่กับคนๆเดียว...ทั้งในแง่ของตัวนักแสดง (หญิง-ณัฐชา รุจินานนท์) ที่มีบททั้งใน "เพื่อน กูรักมึงว่ะ" กับ "บ้านผีสิง" เรื่องนี้...หรือแม้แต่ในแง่ของตัวละครที่ถูกอ้างชื่อถึงในเรื่องเดียวกันนี้แท้ๆอย่าง "พยาบาลนวลฉวี"
คาดว่าปัจจัยที่มีส่วนกระทบมิติทางวัฒนธรรมในสังคมไทยจนเกิดเป็นกระแสที่มีต่อตัวหนังน่าจะมีที่มาจากเค้าโครงซึ่งอาศัยข้อมูลจากข่าวสำคัญต่างยุค—ต่างช่วงเวลา ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดได้ก็เฉพาะแต่ในเมืองไทยเพียงแห่งเดียว แม้ในวันข้างหน้าตัวหนังจะมีโอกาสไปได้ไกลกว่าที่เห็นแน่นอน แต่เชื่อว่าจะให้ที่อื่นเขารู้สึกหวือหวาแบบเดียวกับในบ้านเราเองย่อมเป็นไปได้ยาก ก็ตรงการจะให้ประเทศอื่นเขาเข้ามามีส่วนร่วมรู้ร้อนรู้หนาวไปกับข่าวที่ยังอยู่ในความทรงจำแบบเดียวที่บ้านเราเป็นคงยาก เพราะเท่าที่เห็นในเรื่องเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งคนดูข้างนอกที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมคงเห็นเป็นแค่วิธีสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องราวธรรมดา ซึ่งมีคนทำกันเยอะแล้ว
แม้โดยหน้าหนังของตัว "บ้านผีสิง" จะออกมาเป็นแนวผีๆสางๆ ทว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างที่อยู่นอกเหนือความเป็น "หนังผี" ทั่วไป คงเป็นเรื่องของการสร้าง "ประสบการณ์ร่วม" ให้กับคนดู และแม้ว่าตัวหนังจะมีการเปลี่ยนชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เพี้ยนหรือไม่ก็เฉียดไปจากตัวบุคคลจริง (โดยเฉพาะกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่และตกเป็นข่าวในช่วงไม่นานจนเกินไป ยิ่งนามสกุลยิ่งต้องเปลี่ยนไม่ว่าคนที่อยู่ในข่าวจะเร็วหรือนาน) แต่เชื่อว่าคนดูในอัตราร้อยละแปดสิบมีเปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ยอมรับสิ่งที่หนังมอบให้ นั่นคือโอกาสที่จะโต้แย้งหรือเกิดปฏิกิริยาจะสะท้อนกลับกับชื่อที่ถูกอ้างในหนัง...สมมติเวลาหนังพูดชื่อคนอย่าง "หมอวสันต์", "หมอเฉลิม", "พญ.ผุสรัตน์" (ซึ่งเป็นชื่อสมมติของตัวละคร) การโต้ตอบของคนดูจะหันเหไปเป็นอีกอย่าง คือไม่ยอมรับชื่อเหล่านี้ แต่จะเถียงอยู่ในใจไปกับหนังว่าที่ถูกแล้วต้องเป็นชื่อนั้น,ชื่อนี้ตามลำดับ
ฉะนั้น จากที่เห็นในหนังว่าเป็นหมอนู้น,หมอนี้...คนดูจะเลือกยอมรับเฉพาะก้แต่ชื่อจริง ฉะนั้นทุกครั้งที่ได้ยินคนเรียก "หมอวสันต์"...คนดูก็จะโต้กลับไปเป็น "หมอวิสุทธิ์""หมอเสริม" และ "พญ.ผัสสพร"ต่างหาก เป็นการเล่นเกมในเชิง inter-active กับคนดู ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ย่อมไม่เกิดกับหนังผีธรรมดาทั่วไปแน่
ในหนังทั่วๆไปคนดูจะเป็นฝ่ายรองรับ (โดยเฉพาะในแง่พล็อตเรื่อง) ซึ่งในข่ายของ "บ้านผีสิง" กลับเปิดโอกาสให้คนดูได้มีส่วนโต้เถียงในส่วนของเรื่องราว (ในฐานะที่รู้ข้อเท็จจริงกว่า) ครั้นพออยู่ไปสักพักตัวหนังก็จะกลับมาเป็น "นาย" ของคนดูได้อีกตลบไม่โดยทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะการควบคุมเกมบังคับให้เชื่อในสิ่งที่หนังกำลังยื่นเสนอ
แม้มณฑล อารยางค์กูร – ผู้กำกับ เขียนบท กำลังทำเรื่องผี แต่ผลที่ได้กลับเป็นผีที่ไม่งมงาย จะเห็นได้ว่าแง่มุมทางไสยศาสตร์จะถูกนำมาใช้ค่อนข้างน้อย แต่จะหันไปตีรวนในส่วนของเทคโนโลยี (โดยเฉพาะทางการบันทึกภาพ) ว่ามีความน่าเชื่อถือดีพอแล้วหรือ (กล้องวิดีโอที่บันทึกภาพวิญญาณผู้หญิงสวมชุดสีฟ้า), การเห็นภาพ หรือแม้แต่ความรู้สึกที่ตกอยู่ในภวังค์ของสถานที่สองแห่งภายใต้ช่วงเวลาเดียวกัน ตลอดจนการเล่นกับความกำกวมของคนในขณะที่ได้ยิน "คำสั่ง" อย่างตอนที่นางเอก บี – "ชาลินี" (ทราย เจริญปุระ) กำลังหลงอยู่ในเรือนจำ ทว่าหลุดเข้าไปอยู่ในห้วงเหมือนเขาวงกตของบ้านตัวต้นเหตุ เพียงแค่ได้ยินเสียงพัศดีตะโกนเรียก "คุณๆ...คุณนักข่าว" ธรรมดาๆ ก็อาจชวนให้เข้าใจไขว้เขวได้ถึงสองแบบ คือจะฟังให้เหมือนเชิญชวนก็ได้...หรือจะฟังให้รีบออกไปซะให้เร็วๆก็ย่อมได้ (ทั้งๆที่ตามจริงควรจะเป็นอย่างหลัง)
ไม่แปลกถ้าจะมีวิญญาณ (?) เตือนให้ไปเสียพ้นๆ,อย่าเข้ามา...นางเอกบีก็จะเลือกทำในสิ่งที่มันตรงกันข้าม ซึ่งจริงๆแล้วเป็นการเดินเข้าไปติดกับ (ซึ่งเข้าล็อคของพวกผี) เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสกูปสำหรับใช้ออกอากาศได้เพียงครั้งเดียว (ถ้างานสำเร็จลุล่วง) ซึ่งในส่วนของภาพผมชอบมากอยู่ซีนหนึ่งอยู่ตอนต้นๆเรื่อง เป็นช่วงที่บีจอดรถอยู่หน้าบริเวณบ้านซึ่งตั้งกล้องกันตรงข้ามรถนางเอก แต่คนดูยังสามารถเห็นตัวบ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งก็ได้โดยผ่านกระจกข้างรถ แค่นี้ภาพก็ออกมาน่ากลัวพอแล้ว ก็คือคนดูได้เห็นภาพถึงสามภาพซ้อนทับบนพื้นที่เดียวกัน คือมีหน้านางเอก เวลาเดียวกันก็เห็นบ้านเบอร์ 500/7 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามปรากฏอยู่ช่วงล่างๆของภาพ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเงาของใบไม้เล็กๆเต็มไปหมด ก็กำลังบังใบหน้าของบีเขาจนดูเหมือนคนเป็นโรคฝีดาษ และวิธีการคล้ายๆกันนี้ก็มีการนำมาใช้อีกครั้ง "หมอเฉลิม" (คมสัน นันทจิต) ออกฉากที่เป็นกระจกในเรือนจำโดยเจาะรูไว้เป็นช่วงๆ เมื่อมองรวมๆกันแล้วเหมือนมีฟองอากาศลอยฟอดอยู่หน้าหมอเฉลิม ("เสริม") คนนี้
นี่ขนาดตัวนางเอกยังไม่ทันเข้าไปในตัวบ้าน...หนังเขาก็ยังบอกใบ้ให้รู้ล่วงหน้ากันแล้วว่าที่ๆกำลังเห็นอยู่ข้างหน้า กำลังเล่นกับการเหลื่อมซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ซึ่งมีการใส่เข้ามาอย่างแพรวพราวไม่ว่าจะเป็นส่วนของคดีฆาตกรรม (ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำๆกันสามครั้งเท่ากัน) ...และยิ่งนานหนังก็ยิ่งจะชี้นำไปในทิศทางที่ว่า นางเอกก็มีโอกาสที่จะเจริญรอยตามคู่ที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือเป็น "คุณนวลฉวี" คนถัดไป
จริงอยู่แม้บี-ชาลินีได้รับการปลุกเร้า-ปั่นหัวอย่างหนักๆจาก "หมอเฉลิม" ทว่าคนที่มีอิทธิพลเหนือตัวตนของเธอมากกว่ารายอื่นๆน่าจะเป็น "นวลฉวี" อย่างน้อยๆก็ด้วยความทุ่มเทที่หมดไปกับคดีนี้เพียงคดีเดียว...ที่เห็นได้ชัดคือวิธีเรียกชื่อคดีมักตั้งตามชื่อของฝ่ายชาย ในขณะที่ case ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดนำร่องของเรื่องราวในบ้าน ก็คือเรื่องของนวลฉวี กลับเรียกชื่อตามฝ่ายหญิง – ผู้ตาย (แทนที่จะเรียกเป็นคดี "หมออุทิศ" เหมือนอีกสองรายที่เหลือ) ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมจากลูกผู้หญิงด้วยกัน
ถ้าลองย้อนกลับไปดูฉากเริ่มเรื่องจะเห็นได้ว่า แม้ในส่วนของสกูปรายงานชิ้นก่อนหน้าของชาลินีด้วยกันเองแท้ๆ ก็ยังเกี่ยวกับปัญหาโสเภณีซึ่งเป็นเรื่องของการกดขี่ทางเพศ ซึ่งบังเอิญเป็นเรื่องที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้หญิงด้วยกัน โดยเชื่อว่าการได้เห็นคนอื่นเจ็บปวดคือ "หนทางระบายออกของความเด่นที่ฝังแน่นอยู่ภายใน" ซึ่งในตอนหลังชาลินีก็พบว่าแรงกระทำแบบเดียวกันก็คือสิ่งๆเดียวกับที่ภูตผีกระทำต่อมนุษย์
นวลฉวีถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของอาถรรพณ์ที่เกิดขึ้นต่อๆมาในบ้านหลังเดียวกัน (ด้วยเชื่อว่าเธอต้องการระบายออกให้คนอื่นได้รับรู้ความเจ็บปวดร่วมไปกับเธอ) ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้ว "คุณนวล" เองก็ยังมิวายตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะในยามเป็นหรือยามตาย อย่างน้อยก็กับการตกเป็นฝ่ายถูกกล่าวหา เพราะโดยเบื้องหลังกว่าจะตกถึงรุ่น "คุณนวล" เอง หนังเขาก็มีการเฉลยต่อไปว่าบ้านหลังนี้เคยมีประวัติต่อไปอีกยาวนาน (ซึ่งมิใช่มีแค่คดีฆาตกรรมแค่อย่างเดียว...ซึ่งงามมาก) และยากเกินกว่าจะสืบสาวให้ถึงต้นตอ ซึ่งโยงไปได้ถึงความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยและแน่นอนคือ "ความมั่นคง"
คดีนวลฉวีจึงเป็นแค่หางแถว ทว่า impact ที่เกิดจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงพึงรู้สึกและเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงด้วยกัน ที่น่าสงสัยมากคือวิธีตั้งชื่อตัวละคร (ซึ่งไม่เกี่ยวกับข่าวอะไรด้วยซ้ำ) ว่า "ชาลินี" ซึ่งเป็นผู้หญิงทำงานยุคใหม่ทำงานออฟฟิศแต่ทว่าไร้ข้อผูกมัดในส่วนที่เกี่ยวกับ office hour ตามประสาคนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสื่อ
อย่างแรกผมเคยสงสัยว่าชื่อ "ชาลินี" น่าจะกร่อนหรือไม่ก็เป็นรูป feminine ของคำว่า "ชาลี" ซึ่งเป็นชื่อของเพศชายหรือเปล่า? (ขนาดเธอได้รับข่าวว่าแม่สามีจะลงมาเยี่ยมลูกชาย ก็กลัวว่าจะมาเห็นนายภานุ-สามีเป็นฝ่ายต้องทำกับข้าว,งานบ้านแทนแฟนสาวซึ่งเป็นภาระของเพศหญิง) ...ซึ่งข้อสงสัยที่ว่าผิดหมดครับ เพราะพอเอาจริงๆคำว่า "ชาลี" กลับไม่มีในพจนานุกรม (ต่อให้เป็นฉบับราชบัณฑิตฯด้วย)... แต่คำว่า "ชาลินี" กลับมีคำแปลว่า "ตัณหา"
พอถึงช่วงไคลแมกซ์นายภานุก็ทำอาหารเลี้ยงบี-แฟนสาวจริงๆ ซึ่งเป็นมื้อที่ไม่น่าไว้วางใจ...เนื่องจากเธอมีโอกสที่จะเจริญรอยตามรายก่อนหน้าได้สูง ซึ่งมีสาเหตุสืบเนื่องจากความหึงหวง...และตัวต้นเหตุของความหึงก็เกิดจากอาชีพและสิ่งหนึ่งที่มักพ่วงมากับคนทำอาชีพสื่อ...น่าจะเป็นเรื่องของนิสัยสูบบุหรี่
จุดเปลี่ยนอันนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจระหว่างบีกับภานุเริ่มจากพฤติกรรมสูบบุหรี่ของฝ่ายหญิง (นำไปสู่การมีปากเสียงในครั้งแรกๆ ก่อนจะลุกลามใหญ่โต) จนกระทั่งท้ายที่สุดเธอมั่นใจว่าปัญหาทุกอย่างย่อมสิ้นสุดลงได้ด้วยตัวของเธอเอง...ชาลินีตัดสินใจเผาบ้านทั้งหลังนั้นด้วยไฟแช็คหลังเดียวกับที่เธอใช้จุดสูบบุหรี่?
ชาลินีประกาศกร้าวท้าทายทั้งโลกของเพศชาย,ภูตผี (แล้วก็ภูตผีที่มีแต่เพศชาย ตัวดำๆโย่งๆ) ด้วยไฟแช็คแค่ตัวเดียว ภายหลังจากที่เธอมั่นใจว่าเธอสามารถเชิญวิญญาณ"คุณนวลฉวี" มาบันทึกภาพเตรียมสัมภาษณ์ออกทีวี ซึ่งถ้าได้จริงขึ้นมาก็จะกลายเป็นเทปบันลือโลกตรงที่มีการสัมภาษณ์สดตัวต่อตัวกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นครั้งแรก?
ความน่าอัศจรรย์จึงเป็นเรื่องของการที่คนๆหนึ่งจะทุ่มเทกับสิ่งที่ทำจนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชิ้นงาน ซึ่งมีให้เห็นนักต่อนักแล้ว และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกันใน "บ้านผีสิง" จึงมิใช่มีแค่เรื่องของ "life imitates art" ทว่าเป็นเรื่องของ "life" ที่ "imitates events" ซึ่ง imitates events ด้วยกันเองอีกเป็นทอดๆ
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะเห็นชาลินีมีความผูกพันกับหญิงสาวซึ่งเคยมีชีวิตอยู่คนละรุ่น, คนละเวลา แต่ทว่าสามารถพาตัวเองเข้าไปทาบทับเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นหนึ่งเดียว
จะเห็นได้จากชื่อ ซึ่งขออนุญาตสะกดเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการสะกดคำในชื่อของตัวละคร (สมมติ) อย่าง "ชาลินี" ที่เกือบจะถอดรูปมาจากคำว่า "นวลฉวี" จนแทบจะเป็นร่างทรงให้แก่กันและกัน
NUALCHAWEE
CHAL(I)NEE
(ตรงนี้คุณมโนธรรมวาดเป็นแผนภูมิไว้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในชื่อ NUALCHAWEE นั้น มีการใช้ตัวอักษร NLCHAEE เหมือนกับชาลินี)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment