Tuesday, April 16, 2013

IDENTIFICATION OF A TEDDY BEAR LOVER



อันนี้เป็นความเห็นของเราที่แปะไว้ในวอลล์ของเพื่อนจ้ะ

เราไม่มีความรู้เรื่องหนัง 16 จ้า และไม่รู้ด้วยว่าทำไมพี่มาก พระโขนงถึงประสบความสำเร็จมากอย่างนี้ แต่ไหนๆโดน tag มาแล้วก็เลยขอถือโอกาสนี้เขียนถึงความเห็นส่วนตัวของเราด้วยแล้วกัน

เราดูพี่มาก พระโขนงแล้วชอบมากในระดับ A+15 (แต่น้อยกว่าแม่นาค ของพิมพกา โตวิระ ที่เราชอบในระดับ A+30) เพราะหนังมันตอบสนอง fantasy เรื่องสามีในอุดมคติของเรา สำหรับเราแล้วหนังเรื่องนี้มัน fulfill my romantic fantasy เหมือน “โอม สู้แล้วอย่าห้าม” (1988, O Sing-Pui) หรือมิวสิควิดีโอ NO ORDINARY LOVE ของ Sade ที่เป็นความรักระหว่างกลาสีกับเงือก

มันตอบสนองเราในแง่ที่ว่ามันเป็นความรักระหว่างผู้ชายกับ “สิ่งที่มีความเป็นผู้หญิงแค่ครึ่งเดียว” มันเป็นความรักระหว่างผู้ชายกับสิ่งที่สังคมรอบข้างมองว่า “ผิดธรรมชาติ” มันก็เลยทำให้เรานึกถึงจินตนาการในวัยเด็กของเราที่อยากผ่าตัดแปลงเพศ แต่ก็หวั่นใจว่าถ้าหากสามีมารู้ภายหลังว่าเราแปลงเพศมาแล้วเขาจะว่ายังไง ถ้าหากเขาทำแบบพี่มากในเรื่องนี้ เราก็คงจะดีใจ

เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวแล้ว เราจึงซึ้งมากๆกับช่วงท้ายที่พี่มากรู้ความจริง แต่ก็ไม่ว่าอะไร มันพีคเหมือนกับตอนเด็กๆที่เราดูหนังเรื่อง SPLASH (1984, Ron Howard) ที่มีช่วงนึงที่ Tom Hanks พูดกับ Daryl Hannah ว่า ถึงคุณจะเป็นกะเทยแปลงเพศมา เขาก็ไม่ว่าอะไร เขาก็จะยังรัก Daryl เหมือนเดิม คือความชอบของเราที่มีต่อพี่มาก พระโขนง มันเป็นสาเหตุเดียวกับที่เราพีคสุดๆกับประโยคนั้นในหนังเรื่อง SPLASH ในตอนเด็กนั่นแหละ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามีใครบนโลกนี้ที่พีคกับประโยคนั้นใน SPLASH เหมือนเราหรือเปล่า

หนังเรื่อง “พี่มาก พระโขนง” ในแง่นึงมันก็เลยคล้ายกับหนังในฝันของเรา ซึ่งหนังในฝันของเราก็คือหนังที่หนุ่มหล่อคนนึงค้นพบความจริงว่าจริงๆแล้วภรรยาของเขาเป็น “ตุ๊กตาหมี” ที่แปลงร่างมาเป็นคน แต่ถึงพระเอกรู้ความจริงแล้ว เขาก็ยังคงรักภรรยาที่เป็นตุ๊กตาหมีจำแลงมาต่อไป อะไรทำนองนี้ ฮ่าๆๆ

ส่วนคู่กรรมนั้นเราชอบในระดับ A+/A จ้ะ ด้วยสาเหตุที่คล้ายๆกับ HOLY MOTORS นั่นก็คือเราชอบความแปลกแตกต่าง ความเป็นตัวของตัวเองของมันมากๆ แต่เราไม่มีอารมณ์ร่วมกับมันสักเท่าไหร่ แต่นั่นไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีนะ เราว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่หนังดีๆหลายๆเรื่องไม่มีตัวละครที่เรา identify อะไรด้วยได้ แต่ในแง่นึงเราก็ไม่มีอารมณ์ร่วมกับคู่กรรมเวอร์ชั่นอื่นๆด้วยเช่นกัน ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ถ้าหากเทียบกับผลงานของทมยันตีด้วยกันแล้ว มันต้อง “ล่า” นี่แหละที่ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมด้วย

สรุปว่าเราดูหนังบนพื้นฐานของการ identify ตัวเองกับตัวละครเป็นหลัก เราไม่สามารถ identify ตัวเองกับตัวละครในคู่กรรมเวอร์ชั่นนี้และเวอร์ชั่นอื่นๆได้ เราก็เลยชอบมันแค่ A+/A, เรา identify fantasy ของตัวเองกับพี่มาก พระโขนงได้บางส่วน เราก็เลยชอบมันในระดับ A+15 และเรา identify ตัวเองกับตัวละครหญิงตัวนึงใน BACK TO 1942 (2012, Feng Xiaogang) ได้อย่างเต็มที่ เราก็เลยชอบมันในระดับ A+30 จ้ะ จบ

ส่วนประเด็นเรื่อง aesthetics และ spectatorship ของพี่มาก พระโขนงและคู่กรรมนั้น เราขอเป็นฝ่าย “อ่าน” สิ่งที่คนอื่นๆเขียนแล้วกันนะจ๊ะ




No comments: