Tuesday, April 05, 2016

THE MEMORY OF JUSTICE (1976, Marcel Ophuls, documentary, 278min, A+30)

THE MEMORY OF JUSTICE (1976, Marcel Ophuls, documentary, 278min, A+30)

1.กราบตีนแนวคิดของผู้กำกับหนังเรื่องนี้มากๆ คือช่วงครึ่งแรกของหนังเรื่องนี้มันก็ดีมากๆแล้วในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาการไต่สวนนาซี แต่ช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้มันไปไกลมากๆ เพราะมันตั้งคำถามว่า หลักการที่ใช้ในการไต่สวนนาซีในปี 1945 มันควรจะถูกนำมาใช้หรือไม่อย่างไรในกรณีของสงครามสหรัฐ-เวียดนาม และสงครามฝรั่งเศส-แอลจีเรีย และถ้าหากเราตัดสินว่านาซีทำผิดในการไต่สวนที่นูเรมเบิร์กในปี 1945 แต่ไม่ตัดสินว่าสหรัฐทำผิดในสงครามเวียดนาม และฝรั่งเศสทำผิดในสงครามแอลจีเรีย นั่นก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนคำกล่าวของนาซีบางคนที่ว่า พวกเขากล้าตัดสินความผิดพวกเราได้ เพราะว่าเราเป็นฝ่ายแพ้สงครามในขณะที่ผู้กระทำผิดบางรายยังไม่ถูกตัดสินความผิด เพราะพวกเขายังคงดำรงสถานะเป็นผู้ชนะอยู่ ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศสและสหรัฐที่ก็กระทำผิดแบบเดียวกับนาซีในเวลาต่อมา แต่กลับไม่โดนเอาผิดบ้าง

คือช่วงครึ่งแรกของหนังที่มันพูดถึงนาซีมันก็ดีมากๆอยู่แล้ว แต่พอครึ่งหลังของหนังที่มัน focus ไปที่ MY LAI MASSACRE ในเวียดนาม และสงครามแอลจีเรียเพื่อเป็นการยอกย้อนและตลบกลับสิ่งต่างๆที่นาซีและสัมพันธมิตรเคยพูดไว้ในช่วงครึ่งแรก มันทำให้หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าที่คิดไว้มากๆ

อีกประเด็นที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือเรื่อง การรับผิดส่วนบุคคลต่อการกระทำของประเทศชาติด้วย เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนจะตั้งคำถามด้วยว่า คนแต่ละคนต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดต่อเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ โดยนาซีบางคนก็อ้างว่า ฉันเพียงแค่ทำตามคำสั่งและบางคนก็กล่าวว่า ถ้าฉันไม่ทำตามคำสั่ง ฉันก็ต้องตายแต่ก็มีบางคนที่ฆ่าตัวตาย แทนที่จะยอมทำตามคำสั่ง

และถ้าหาก การขัดขืนคำสั่งของนาซีเป็นสิ่งที่สมควรทำในสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วหนุ่มฉกรรจ์ชาวอเมริกันที่ขัดขืนคำสั่งของประเทศชาติที่สั่งให้ตนเองไปรบในสงครามเวียดนามล่ะ พวกเขาควรได้รับการมองอย่างไร

2.ชื่อหนังเรื่องนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นชื่อหนังที่ ธรรมดามากๆก่อนดูหนัง แต่พอดูหนังจบแล้วเรากลับรู้สึกว่ามันเป็นชื่อหนังที่ยอกแสยงใจมากๆ เพราะคำว่า MEMORY OF JUSTICE นี้มันให้ความรู้สึกราวกับว่า justice มันเป็นอดีตที่เกิดขึ้นในปี 1945 แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 หรือในสงครามเวียดนาม เราก็เลยมี ความทรงจำถึงความยุติธรรมเพราะความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่พบได้ในทศวรรษ 1970 ในช่วงที่มีการทำหนังเรื่องนี้

3.มี moments ที่เราชอบสุดๆประมาณ 100 moments ในหนังเรื่องนี้ เพราะมันสัมภาษณ์คนที่น่าสนใจเยอะมากๆๆ เราขอจดแค่ moments ที่ชอบสุดๆเพียงแค่ไม่กี่ moments จากทั้งหมด 100 moments ก็แล้วกันนะ

3.1 การเล่าว่าพวกชาตินิยมในเยอรมนีหลายคนเคยสนับสนุนนาซีในตอนแรก เพราะนึกว่านาซีจะนำพาชาติเยอรมนีไปสู่ความรุ่งเรือง แต่ต่อมาพวกเขากลับพบว่านาซีนำพาเยอรมนีไปสู่ความชิบหาย คือส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า มี nationalists ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนาซี แต่ถูกนาซีหลอกใช้ (เราเข้าใจว่าการที่ nationalists เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ กับ liberals อย่างรุนแรงในยุคนั้นคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาถูกนาซีหลอกใช้)

3.2 เรื่องของผู้พิพากษา/ทหารชาวเยอรมันคนนึงซึ่งเป็น nationalist แต่พอถึงช่วง WWII เขาก็ถูกนาซีบังคับให้ตัดสินโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์หลายคน และมีครั้งนึงที่เขาต้องตัดสินโทษประหารชีวิตพระคาทอลิก 4 รูปหรืออะไรทำนองนี้ ผู้พิพากษาคนนี้ก็เลยฆ่าตัวตายไปเลย ดีกว่าที่จะทำตามคำสั่งของนาซีต่อไป

3.3 เรื่องของผู้ชายที่เคยไปรบในสงครามเวียดนาม แต่ตัดสินใจหนีทัพในที่สุดเพราะทนไม่ไหวอีกต่อไป เสียดายที่เราฟังเขาพูดไม่ค่อยออก แต่เนื้อหาในส่วนนี้คล้ายกับหนังสารคดีเรื่อง REDEMPTION (2009, Sabrina Wulff) ที่เกี่ยวกับทหารอเมริกันที่หนีทัพในสงครามอิรัก โดยคนพวกนี้ต้องลี้ภัยไปอยู่แคนาดาเพื่อจะได้ไม่ติดคุกทหาร

3.4 เรื่องของหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งที่ไปรบในเวียดนาม และพบเห็นว่าเพื่อนๆทหารของเขาไล่ฆ่าชาวเวียดนามผู้บริสุทธิ์อย่างสนุกสนาน และพอเขาร้องเรียนเรื่องนี้ ทางกองทัพก็พยายามจะปิดปากเขา โดยเขาเล่าอีกด้วยว่า เขาเคยจะเปิดเพลงของ Joan Baez ฟังในร้านแห่งหนึ่งหรืออะไรทำนองนี้ แต่มีคนในร้านด่าเขาว่า “Joan Baez เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นถ้ามึงจะเปิดเพลงนี้ มึงก็ต้องออกจากร้านไป

3.5 เรื่องของหญิงอเมริกันจัญไรคนหนึ่งที่เชิดชูผัวทหารของเธออย่างรุนแรงมาก โดยผัวของเธอตายในสงครามเวียดนาม เพราะฉะนั้นเธอก็เลยจงเกลียดจงชังพวกที่หนีทัพและหนีการเกณฑ์ทหาร หรือพวกที่ต่อต้านสงครามเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยหนังตัดสลับคำสาปแช่งของเธอที่มีต่อคนที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม กับบทสัมภาษณ์ของอดีตทหารในข้อ 3.3 และ 3.4 และเรื่องราวของพ่อแม่ที่สูญเสียลูกชายหนุ่มหล่อในสงครามเวียดนาม แต่พ่อแม่คู่นี้มีจุดยืนตรงข้ามกับหญิงสาวคนนี้ เพราะการสูญเสียลูกชายทำให้ทั้งสองต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างรุนแรง

3.6 เรื่องของพ่อแม่ที่สูญเสียลูกชายในสงครามเวียดนาม ลูกชายของพวกเขาหล่อมาก หน้าตานึกว่า Tommy Page โดยลูกชายของพวกเขาเขียนจดหมายมาหาพวกเขาเป็นระยะๆ ก่อนเสียชีวิต โดยเล่าว่าเขาได้อยู่หน่วยเดียวกับทหารอเมริกันหลายคนที่มาจากชนบท และทหารพวกนี้ทำในสิ่งที่เลวร้ายมากในเวลากลางคืน และถ้าหากเราฟังไม่ผิด ทหารกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับ MY LAI MASSACRE ด้วย

3.7 เรื่องของหนุ่มฝรั่งเศสคนนึงที่เคยไปรบในสงครามแอลจีเรีย และพบว่าผู้บัญชาการสั่งให้ทหารยิงอะไรอย่างหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ ตอนแรกทหารก็ไม่ยอมยิง จนกว่าจะแน่ใจก่อนว่ามันเป็นอะไร แต่ผู้บัญชาการก็สั่งให้ยิง และก็ปรากฏว่าสิ่งที่ถูกยิงตายคือ เด็กหญิงตัวเล็กๆคนนึงทหารคนนั้นก็เลยกลายเป็นบ้าไปเลย แต่ผู้บัญชาการทหารกลับไม่รู้สึกรู้สา และยังคงเดินหน้าสั่งฆ่าคนบริสุทธิ์ในแอลจีเรียต่อไป (ส่วนนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง MURIEL OR THE TIME OF RETURN (1963, Alain Resnais))

3.8 หนุ่มฝรั่งเศสคนนี้ยังเล่าต่อไปว่า เขาพบว่าผู้บัญชาการทหารของเขา จับผู้บริสุทธิ์ชาวแอลจีเรียไปฆ่าทิ้งเรื่อยๆ ด้วยการถีบให้ตกจากเฮลิคอปเตอร์ จนในที่สุดหนุ่มฝรั่งเศสคนนี้ก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป เขาต้องการจะช่วยหนุ่มชาวแอลจีเรียคนหนึ่งที่ชื่อ Mohammed ให้หนีรอดจากคุกให้ได้ ก่อนที่จะถูกนำไปฆ่าด้วยการถีบตกจากเฮลิคอปเตอร์ แต่ Mohammed ได้รับบาดเจ็บที่เท้า และหนีคนเดียวไม่รอดแน่ๆ หนุ่มฝรั่งเศสคนนี้ก็เลยตัดสินใจพา Mohammed หนีไปด้วยกัน และเดินทางฝ่าทะเลทรายเพื่อไปเข้าร่วมกับฝ่ายเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรีย

แต่พอหนุ่มฝรั่งเศสคนนี้ไปอยู่กับฝ่ายแอลจีเรีย เขาก็พบว่าฝ่ายแอลจีเรียก็ฆ่าคนที่น่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนๆกัน คือแค่สงสัยใคร ก็เชือดคอคนนั้นตายเลย โดยไม่มีการไต่สวนหาความจริงใดๆทั้งสิ้น หนุ่มฝรั่งเศสคนนั้นก็เลยเหมือนอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้

เราชอบเรื่องราวในส่วนนี้มากๆ ดูแล้วนึกถึงหนังเรื่อง LE PETIT SOLDAT (1963, Jean-Luc Godard) และ FIRE AND ICE (1962, Alain Cavalier) ที่พูดถึงความเลวร้ายของฝ่ายขวาฝรั่งเศสในยุคนั้น

3.9 เรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นชาวยิวในเมืองนีซของฝรั่งเศสในช่วง WWII เธอกับสามีและครอบครัวซ่อนตัวอยู่ใน cupboard ที่มีประตูกลในช่วงนั้น แต่มีวันหนึ่งเกสตาโปก็บุกมา และทุบตีครอบครัวชาวยิวในตึกนั้นอย่างรุนแรง สามีของเธอก็เลยทนไม่ไหว และออกจาก cupboard ไป เขาก็เลยถูกนาซีจับตัวไปและตายในค่ายกักกัน โดยเกสตาโปมาเปิด cupboard ดูด้วย แต่ไม่ทันได้สำรวจอย่างละเอียด เธอกับสมาชิกครอบครัวที่เหลือก็เลยรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้

3.10 ผู้หญิงในข้อ 3.9 มีบุตรชายชื่อ Serge Klarsfeld ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับ Beate หญิงสาวชาวเยอรมันที่มีพ่อเป็นทหารที่เคยรบใน WWII ดังนั้นการแต่งงานของทั้งสองก็เลยทำให้นึกถึง ROMEO + JULIET เพราะฝ่ายชายเป็นชาวยิวที่พ่อถูกนาซีฆ่าตายใน WWII แต่ฝ่ายหญิงเป็นสาวเยอรมันที่มีพ่อเป็นทหารใน WWII

3.11 Beate Klarsfeld เป็นหญิงสาวที่มีอิทธิฤทธิ์สูงมาก เพราะเธอแต่งงานกับผัวชาวยิว ซึ่งทำให้เธอเกือบต้องตัดขาดจากพ่อแม่ของเธอเอง (หนังมักจะตัดสลับบทสัมภาษณ์ของเธอ กับบทสัมภาษณ์แม่ชาวเยอรมันของเธอ) นอกจากนี้ เธอยังเคยตบหน้านายกรัฐมนตรี Kurt Georg Kiesinger ของเยอรมนี และทำงานเป็น activist ในการตามล่านาซีด้วย

3.12 การที่หนังแสดงให้เห็นว่า จริงๆแล้วนาซีหลายๆคนไม่ได้หนีไปอเมริกาใต้แบบที่เชื่อๆกัน แต่นาซีหลายๆคนก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมันตะวันตกในช่วงหลัง WWII นี่แหละ และมักจะอาศัยอยู่ใกล้ๆกันในหมู่บ้านเดียวกันเพื่อคอยช่วยเหลือกัน โดยพอผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไปตามหาอดีตนาซีในหมู่บ้านที่สงบร่มรื่นมากๆแห่งหนึ่งในเยอรมนี เขาก็พบว่าบางคนในหมู่บ้านพยายามขับไล่เขาอย่างรุนแรง ในขณะที่บางคนในหมู่บ้านให้สัมภาษณ์ต่อหน้ากล้องอย่างภาคภูมิใจว่าตนเองเคยเป็นนาซี และไม่มีความสำนึกเสียใจในการกระทำของตนเองแต่อย่างใด

เนื้อหาในส่วนนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง THE NASTY GIRL (1990, Michael Verhoeven) ที่สร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับหมู่บ้านสงบสุขแห่งหนึ่งในเยอรมนีที่พยายามปกปิดไม่ให้เด็กๆรุ่นใหม่ในหมู่บ้านรู้ว่า จริงๆแล้วชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้เคยสนับสนุนนาซีมาก่อน ดังนั้นพอนางเอกจะทำรายงานเกี่ยวกับประวัติหมู่บ้านแห่งนี้ และขุดคุ้ยจนเจอความจริงเข้า นางเอกก็เลยถูกชาวบ้านในหมู่บ้านต่อต้านอย่างรุนแรง

3.13 เรื่องของการทดลองทางการแพทย์ของนาซีที่โหดร้ายมากๆ โดยนาซีจะจับคนในค่ายกักกันมาฉีดเชื้อโรค หรือทำเหี้ยห่าอะไรต่างๆในฐานะหนูทดลองทางการแพทย์

จุดที่พีคมากๆคือการที่นาซีคนหนึ่งพยายามแก้ต่างว่า สหรัฐก็ทำการทดลองแบบเดียวกันกับนักโทษในคุก ซึ่งทางผู้กำกับก็พยายามตอบโต้ว่า สิ่งที่ต่างกันมากๆก็คือว่า มันเป็นการทดลองที่นักโทษสมัครใจ แต่สิ่งที่นาซีทำในค่ายกักกันไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของหนูทดลอง

3.14 คำให้สัมภาษณ์ของแพทย์คนหนึ่งที่ว่า เขาไม่กล้าไปให้การที่นูเรมเบิร์ก เพราะวงการแพทย์เยอรมนีเต็มไปด้วยเผด็จการนาซีทั้งนั้น แพทย์เยอรมนีส่วนใหญ่เข้าข้างเผด็จการนาซี เพราะฉะนั้นถ้าหากเขาไป พูดความจริงที่นูเรมเบิร์ก เขาก็จะต้องถูกขับไล่จากวงการแพทย์เยอรมนีแน่ๆ

3.15 เรื่องของ Herta Oberheuser แพทย์หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งที่เคยฆ่าคนตายจำนวนมากในค่ายกักกัน โดยพอเธอต้องขึ้นให้การในศาล เธอก็อ้างว่า เธอทำการุณยฆาต คนพวกนั้นเจ็บปวดใกล้ตายอยู่แล้ว เธอก็เลยฉีด petrol เพื่อช่วยฆ่าคนพวกนั้นให้ตาย

3.16 เรื่องของการฆ่าเด็กในค่ายกักกัน โดยเด็กบางคนถูกฆ่าตายด้วยการถูกจับโยนเข้าเตาเผาทั้งเป็น เพราะวันนั้น แก๊สหมดก็เลยไม่มีการสังหารหมู่ด้วยการจับเข้าห้องรมแก๊ส

3.17 เรื่องของสาว resistance fighter ชาวฝรั่งเศสใน WWII เธอเคยถูกจับเข้าค่ายกักกัน 1 ปีแต่รอดชีวิตมาได้ แต่เธอก็เห็นคนจำนวนมากในค่ายกักกันถูกฆ่าตายไปเรื่อยๆ ซึ่งมันทำให้เธอเกิด survivor guilt และบางทีก็จะงงๆว่า ที่ตัวเองยังรอดชีวิตอยู่ตอนนี้ มันเป็นความจริงหรือเปล่า

(จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังแอนิเมชั่นเรื่อง I WAS A CHILD OF HOLOCAUST SURVIVORS (2010, Ann Marie Fleming) และหนังบางเรื่องของ Chantal Akerman อย่างเช่น DOWN THERE (2006) ที่พูดถึงปมทางจิตของผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน)

อดีต resistance fighter รายนี้เล่าว่าเธอสะใจมากๆที่ได้ไปให้การที่นูเรมเบิร์ก และเห็นพวกนายพลนาซีเหล่านั้นอยู่ในคอกจำเลย และพอเธอให้การเสร็จ และต้องเดินผ่านคอกจำเลย เธอก็เลยจ้องหน้านายพลนาซีเหล่านั้น และพบว่าใบหน้าของพวกเขาดูเหมือน มนุษย์ปกติมากๆ

เธอยังเล่าอีกด้วยว่า การที่นาซีเหล่านี้ดูภายนอกเหมือนมนุษย์ปกติธรรมดา มันทำให้เธอนึกถึงทหารเยอรมันคนหนึ่งที่เธอเจอในค่ายกักกัน โดยทหารเยอรมันคนนี้พยายามเอาอาหารมาให้เด็กชายชาวยิปซีคนหนึ่งทุกวัน (ถ้าจำไม่ผิด) ทหารเยอรมันคนนี้ดูเหมือนจะรักใคร่เอ็นดูเด็กชายคนนี้มากๆ ทั้งๆที่ทหารเยอรมันคนนี้เพิ่งมีส่วนในการฆ่าสมาชิกครอบครัวทุกคนของเด็กชายคนนี้

ตัว female resistance fighter นี่ทำให้นึกถึงตัวละครหญิงในหนังหลายเรื่องมากๆ ทั้งในหนังเรื่อง THE ARMY OF SHADOWS (1969, Jean-Pierre Melville), ONE AGAINST THE WIND (1991, Larry Elikann) และในละครทีวีเรื่อง UN VILLAGE FRANÇAIS (2009-2015)

3.18 การนำเสนอนาซีหลายเฉด ตั้งแต่ Hermann Göring ซึ่งเป็นนาซีที่ดูชั่วร้ายที่สุดในเรื่อง, ผู้บัญชาการทหารเรือนาซีที่พยายามแก้ต่างให้ตัวเอง ไปจนถึง Albert Speer ที่พยายามจะนำเสนอภาพตนเองในฐานะ นาซีผู้กลับใจ

3.19 เรื่องของ Fritz Kortner นักแสดงชาวเยอรมนี กับ Max Ophuls และ Curt Goetz ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมนีที่ไปอยู่ฮอลลีวู้ดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยถึงแม้พวกเขาจะเกลียดนาซีมากๆ แต่พวกเขาก็ต่อต้านการทิ้งระเบิดใส่พลเรือนชาวเยอรมนี ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาแปลกแยกจากสังคมชาวยิว-เยอรมันในสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น เพราะคนกลุ่มนี้จะแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งทุกครั้งที่ได้ยินข่าวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่เยอรมนี

โดยบางคนในหนังได้ตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า ทำไมฝ่ายสัมพันธมิตรถึงทิ้งระเบิดใส่บ้านคน แต่ไม่ไปทิ้งระเบิดใส่ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งๆที่โรงงานอุตสาหกรรมมันเป็นตัวจักรหล่อเลี้ยงสงครามมากกว่า เพราะในเยอรมนีปี 1945 นั้น เราจะพบอาคารที่อยู่อาศัยพังพินาศเป็นหน้ากลอง แต่โรงงานอุตสาหกรรมเปิดทำงานเป็นปกติ ราวกับว่าฝ่ายสัมพันธมิตรเล็งเห็นผลประโยชน์ทางการเงินจากการปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป

3.20 เรื่องของยุวชนนาซีที่นั่งรถไปตามท้องถนน และตะโกนว่า ยิวต้องตาย ยิวต้องตาย" ในขณะที่ประชาชนข้างถนนส่งเสียงสนับสนุน และเมื่อพวกยุวชนนาซีไปทำร้ายธุรกิจของชาวยิว ก็มีคนไปแจ้งตำรวจ แต่ตำรวจไม่ทำอะไร

3.21 ตอนที่เมียของ Marcel Ophuls ขอให้ผัวทำหนังที่พูดถึงประเด็นอื่นๆบ้าง อย่างเช่นทำหนังเพลง/หนังรักบ้างก็ได้ แทนที่จะทำหนังที่พูดถึงแต่ประเด็นโหดร้ายอย่างนี้ แต่ดูเหมือนเมียของ Marcel Ophuls จะทำไม่สำเร็จ เพราะหลังจาก THE MEMORY OF JUSTICE ผัวของเธอก็กำกับหนังเรื่อง HOTEL TERMINUS (1988, 267min) ที่กลับไปพูดถึงเรื่อง Holocaust เหมือนเดิม

3.22 การถกเถียงของนักศึกษาเยอรมันต่อประเด็นที่ dilemma ดี นั่นก็คือประเด็นที่ว่าคนเยอรมันยุคใหม่ยังต้องเสียภาษีเพื่อจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามต่อไปหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนาซี แล้วทำไมพวกเขายังต้องเสียภาษีในส่วนนี้

3.23 ฉากสัมภาษณ์หญิงชายเปลือยกายหลายคนขณะใช้ซาวน่าร่วมกัน นึกไม่ถึงว่าการสัมภาษณ์ประเด็นเรื่อง Holocaust สามารถทำในฉากแบบนี้ได้ด้วย

3.24 ฉากที่นักแสดงละครเวทีชาวเยอรมันคนหนึ่งยอมรับว่า ตนเองเคยเข้าร่วมในการเดินขบวนของนาซี แต่เขางงว่าทำไมคนอื่นๆไม่ยอมรับกันว่าตัวเองเคย หลงผิดทั้งๆที่มีคนหลายร้อยหลายพันคนเคยร่วมเดินขบวนสนับสนุนนาซีกับเขา

3.25 ฉากที่คนหนึ่งพูดว่า มันยากมากที่จะจำแนกชาวเยอรมันในช่วงหลัง WWII ว่าใครเป็นยังไง และเราจะควรปฏิบัติต่อแต่ละคนยังไง เพราะมันมีทั้ง active nazi, passive nazi, active resistance, passive resistance อะไรทำนองนี้ แต่คนทั้ง 4 กลุ่มนี้อาจจะต่างก็เคยเข้าร่วมในการเดินขบวนนาซีมาแล้วทั้งนั้น ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป บางคนก็อาจจะร่วมเดินขบวนไปเพียงเพื่อตัวเองจะได้ไม่โดนจับ หรือไม่โดนเพ่งเล็งก็เป็นได้

3.26 ฉากทดสอบนักเล่นออร์แกนหรือเครื่องดนตรีอะไรสักอย่างข้างถนน คือใครจะเป็นวณิพก เล่นดนตรีเพื่อขอเศษเงินข้างถนน พวกเขาต้องผ่านการทดสอบจากตำรวจ เพื่อขอใบอนุญาตจากตำรวจก่อน

3.27 ตอนที่ผู้หญิงเยอรมันคนหนึ่งพูดโพล่งขึ้นมาว่า เธอเคยถูกทหารรัสเซียข่มขืนตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วคนทำหนังเรื่องนี้ก็หยุดชะงัก เหมือนกับตกใจมาก ไม่รู้จะถามอะไรต่อดี จนผู้หญิงคนนี้ต้องพูดว่า แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายมากนักคนทำหนังสารคดีก็เลยชวนเธอคุยต่อได้

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง RED STAR OVER GERMANY (2001, Jan Lorenzen) ด้วย ถ้าเราจำไม่ผิด มีผู้หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในหนังสารคดีเรื่องนั้นว่า เธอเคยถูกทหารรัสเซีย 4 คนข่มขืน และมีหนึ่งในสี่คนนี้ที่ขอเธอแต่งงานหลังจากข่มขืนเธอเสร็จ แต่เธอไม่ตอบตกลง และหลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้ชายคนไหนมาขอเธอแต่งงานอีกเลย

สำหรับคนที่สนใจประเด็นเรื่องนี้ ขอแนะนำให้ดูหนังสารคดีเรื่อง LIBERATORS TAKE LIBERTIES (1991, Helke Sander, 192min) ที่จะฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค. เวลา 12.30 น.นะ

อันนี้เป็นเรื่องย่อของ LIBERTAORS TAKE LIBERTIES
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153551708573576&set=t.1333811571&type=3&theater
หนังสารคดีเชิงงานวิจัยสุดสะเทือนที่จะมาถ่ายทอดปากคำของเหยื่อสตรีชาวเยอรมันผู้ถูกกองกำลัง Red Army รุมข่มขืนกระทำชำเราในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยผู้กำกับ Helke Sander ได้รวบรวมสรรพข้อมูล ทั้งจากเอกสารทางการแพทย์ สถิติการเข้ารับการรักษา และการสัมภาษณ์เหยื่อโดยตรง เพื่อประมวลทั้งปริมาณและความหนักหน่วงของการถูกล่วงละเมิดว่ามันเคยรุนแรงเพียงใด หนังเรื่องนี้จะแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนแรกจะเกี่ยวข้องกับเหยื่อของการถูกข่มขืน และการรื้อฟื้นความทรงจำของอดีตกองกำลัง Red Army ที่รู้เห็นเหตุการณ์ ในขณะที่ตอนที่สองจะเกี่ยวข้องกับทายาทจากอาชญากรรมสงครามในครั้งนั้น

4.ดูแล้วก็รู้สึกว่า Marcel Ophuls นี่เป็นผู้กำกับที่น่าสนใจมากๆ ถ้าหากเทียบกับผู้กำกับหนังสารคดี/essay การเมืองด้วยกันแล้ว เราว่าหนังของเขาดูเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่าง หนังสารคดีตรงไปตรงมาของ Errol Morris + Michael Moore แต่ดูง่ายกว่าหนัง essay ของผู้กำกับอีกหลายคนในยุโรป
เราอาจจัดแบ่งผู้กำกับหนังสารคดี/essay การเมืองได้ดังนี้

4.1 หนังสารคดีตรงไปตรงมาของ Errol Morris, Michael Moore, Abhichon Rattanabhayon

4.2 หนังสารคดีที่มีโครงสร้างซับซ้อน แต่ดูแล้วทำความเข้าใจได้ไม่ยากของ Marcel Ophuls

4.3 หนังสารคดี/essay การเมืองที่เริ่มมีความเป็นกวี หรือเริ่มมีความเฮี้ยน อย่างเช่นหนังของ Harun Farocki, Patricio Guzman, Alain Resnais (NIGHT AND FOG), Chris Marker, Chulayarnnon Siriphol, Ratchapoom Boonbunchachoke

4.4 หนัง essay การเมืองที่ดูแล้วเข้าใจยากหน่อย แต่การเข้าใจเนื้อหาเพียงแค่ 10% ของหนังเหล่านี้ก็ให้ประโยชน์กับชีวิตมากกว่าการดูหนังทั่วๆไปราว 100 เรื่องรวมกัน โดยหนังกลุ่มนี้ก็คือหนังของ Jean-Luc Godard, Alexander Kluge, Hans-Jürgen Syberberg


5.ดู THE MEMORY OF JUSTICE ที่แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศส พลิกบทบาทของตนเองจากการเป็น ผู้ผดุงความยุติธรรมใน WWII มาเป็นผู้ร้ายในเวลาต่อมาแล้ว ก็ทำให้นึกถึงคนบางคนในไทย ที่เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใน 14 ต.ค. 2516 หรือพฤษภาทมิฬปี 1992 แต่กลายมาเป็น นักต่อต้านประชาธิปไตยในปัจจุบัน

No comments: