MOTHER! (2017, Darren Aronofsky, A+30)
SPOILERS ALERT
1.เราไม่รู้หรอกว่าผู้กำกับต้องการจะสื่อถึงอะไรในหนังเรื่องนี้
แต่เราจะจดบันทึกไว้สั้นๆก็แล้วกันว่าตอนดูหนังเรื่องนี้เรานึกถึงอะไรบ้าง โดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นก็ได้
จุดแรกที่เรานึกถึงก็คือตำนานทางศาสนาน่ะ
คือมันมีตัวละครพี่น้องสองคนที่ทำให้นึกถึงตำนาน Cain กับ Abel
แล้วพอแทนค่าสองตัวนี้เป็น Cain กับ Abel
ปุ๊บ เราก็อาจจะแทนค่าตัวละครตัวอื่นๆเป็นตัวละครในตำนานตามไปด้วยได้โดยอัตโนมัติ
พอเราคิดแบบนี้แล้ว เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆน่ะ
มันเหมือนกับว่ามันเป็นการเอาตำนานทางศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องแต่งราวขึ้นมาใหม่
สร้างจักรวาลสมมุติขึ้นมาใหม่ โดยตั้งคำถามว่า ถ้าหากผู้สร้างจักรวาลสมมุตินี้มีภรรยา
ภรรยาเขาจะรู้สึกอย่างไร ภรรยาของเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าหากผู้สร้างจักรวาลสมมุตินี้เอาบุตรของตนเองไปสังเวยแก่ชาวโลก
อะไรทำนองนี้ และหนังยังตั้งคำถามต่อ concept เรื่องความรัก,
ความใจบุญสุนทาน และการให้อภัยด้วย คือเหมือนหลายๆศาสนาสอนเรื่องพวกนี้
แบบว่าเราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องให้อภัย ต้องรักผองเพื่อนมนุษย์
แล้วเราจะเป็นคนดี แต่หนังเรื่องนี้เหมือนทำให้เราตั้งคำถามว่า
แล้วถ้ากูทนไม่ไหวอีกต่อไปที่จะต้องทำตัวเป็นคนดีตามหลักศาสนาล่ะ
การเอาตำนานเก่ามาเป็นแรงบันดาลใจและดัดแปลงใหม่จนแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมากแบบนี้
ทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆอีกสองเรื่องน่ะ ซึ่งก็คือ THE GARDEN (1990, Derek Jarman,
UK) ที่เอาตำนานทางศาสนามาดัดแปลงใหม่ให้กลายเป็นเรื่องของเกย์ไปเลย
และหนังเรื่อง BEGOTTEN (1990, E. Elias Merhige) ที่เป็นการสร้างตำนานการกำเนิดเทพเจ้าในแบบคล้ายๆหนังสยองขวัญ
ซึ่งเราว่า THE GARDEN และ BEGOTTEN นี่พิศวงกว่า
MOTHER! หลายเท่า 555 คือ MOTHER! นี่ยังดูรู้เรื่องกว่าเยอะนะ
คือดูแล้วยังพอรู้ว่าใครทำอะไรที่ไหน หรือเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้น
เพียงแต่อาจจะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง หรือไม่แน่ใจว่ามันจะสื่อถึงอะไรกันแน่
ในขณะที่ THE GARDEN กับ BEGOTTEN นี่อาจจะงงในหลายๆฉากว่า
“มันเกิดอะไรขึ้น” ด้วยซ้ำไป คือไม่ต้องถามแล้วว่าฉากนั้นมันสื่อถึงอะไร
เพราะดูแล้วอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้น 555
โดยในบรรดาหนังสามเรื่องนี้ เราชอบ THE GARDEN มากที่สุด,
ชอบ BEGOTTEN มากเป็นอันดับสอง และชอบ MOTHER! มากเป็นอันดับสาม
เราชอบ “การดัดแปลงให้แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก” แบบนี้นี่แหละ ดูแล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง
DOGMA (1999, Kevin Smith), GENESIS
(1999, Cheik Oumar Sissoko, Mali), THE KINGDOM OF SHADOWS (2016, Daniel
Fawcett, Clara Pais), PORTRAIT OF THE UNIVERSE (2012, Napat Treepalavisetkul) ด้วย เพราะหนังกลุ่มนี้ก็เหมือนได้รับแรงบันดาลใจจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางศาสนาหรือตำนานโบราณเหมือนกัน
แต่หนังพวกนี้ไม่ได้เอาตำนานโบราณมาเล่าตรงๆ เพียงแต่เอาแรงบันดาลใจจากตำนานโบราณมาใช้ในการเสกสรรค์ปั้นแต่งเนื้อเรื่องของตนเองขึ้นมาใหม่ในแบบที่แทบไม่เหลือเค้าเดิมเลย
คืออย่างตอนดู THE KINGDOM OF SHADOWS เราก็จะจับได้ว่า
มันมีฉากที่เป็น Cain กับ Abel และมีฉากที่เป็น
Adam กับ Eve เหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจหนังแค่
10% อยู่ดี 555 แต่ก็ชอบ THE KINGDOM OF SHADOWS อย่างสุดๆนะ เพราะมันให้ความรู้สึกที่พิศวงและงดงามมากๆ
ดู PORTRAIT OF THE UNIVERSE ได้ที่นี่
2.ชอบฉากอลหม่านช่วงองก์สุดท้ายของ MOTHER! มากๆ มันฮามากๆ มันเหมือนเป็นการนำเสนอ “ความเป็นไปของโลกมนุษย์” ในแบบที่ออกมาฮาดีน่ะ
คือจริงๆแล้วเราว่า ความวินาศสันตะโรของฉากนี้ มันสามารถนำเสนอออกมาในโทนที่เคร่งขรึมจริงจัง
และหดหู่สุดๆแบบช่วงองก์สุดท้ายของ WERCKMEISTER HARMONIES (2000, Bela Tarr) ได้นะ แต่ดาร์เรนไม่เลือกโทนแบบนั้น
แต่เลือกนำเสนอออกมาในโทนไม่จริงจังแทน คือโทนอารมณ์ของฉากนี้ใน MOTHER! มันเป็นเซอร์เรียลไปเลยน่ะ
ดูแล้วรู้เลยว่ามันไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป
และเราไม่รู้สึกว่าตัวละครหลักมันเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้วน่ะ คือตัวละครหลักมันไม่ใช่มนุษย์แล้วในช่วงท้ายเรื่อง
ส่วนตัวละครที่เป็นมนุษย์ก็ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามรังเกียจ (เหล่าผู้คนต่างๆที่เข้ามาในบ้าน)
เราเลยรู้สึกว่าช่วงท้ายของหนังมันฮาสุดๆ ในขณะที่ความวินาศสันตะโรในช่วงท้ายของ WERCKMEISTER
HARMONIES มัน
ดูแล้วหดหู่มากๆ เพราะ WERCKMEISTER HARMONIES ทำให้เรารู้สึกว่า
พวกเราเป็น “มนุษย์ตัวน้อยๆที่อาศัยอยู่ในจักรวาลที่ปกครองด้วยเจ้าจักรวาลที่เย็นชาและใจร้าย”
ในขณะที่ MOTHER! ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเราเป็น “มนุษย์ผู้ชั่วร้ายที่อาศัยอยู่ในจักรวาลที่ปกครองด้วยเจ้าจักรวาลที่ใจดีเกินไป”
เพราะฉะนั้นถึงแม้ช่วงท้ายของ MOTHER! จะทำให้เรานึกถึง WERCKMEISTER
HARMONIES ในแง่ความวินาศสันตะโร อารมณ์ของสองฉากนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะอารมณ์ของ MOTHER! มันฮามากสำหรับเรา ส่วนอารมณ์ของ WERCKMEISTER
HARMONIES มันหดหู่มาก และแน่นอนว่าเราชอบ WERCKMEISTER
HARMONIES มากกว่า MOTHER!
3.ตอนดูช่วงแรกๆเรานึกว่า MOTHER! จะพูดถึงปัญหาเรื่องผู้อพยพแบบหนังเรื่อง HOSPITALITE (2010, Koji
Fukada, A+30) นะ แต่ดูไปดูมาแล้วไม่ใช่ 555 และจริงๆแล้วหนังสองเรื่องนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วย
เพราะ HOSPITALITE เหมือนจะทำให้เรารักเพื่อนมนุษย์ แต่ MOTHER!
เหมือนเป็นหนังที่เกลียดชังมนุษย์
4.ชอบอารมณ์เครียดๆของนางเอกด้วย เราว่าความเครียดช่วงแรกๆทำให้นึกถึงหนังอย่าง
REPULSION (1965, Roman Polanski) เลยน่ะ
สรุปว่า ชอบ MOTHER! มากๆในแง่ที่ว่า มันตอกย้ำ “ความเกลียดชังมนุษย์”
ในใจเรา 555, มันทำให้เราตั้งคำถามต่อคำสอนทางศาสนา, มันทำให้เรานึกถึงตำนานการสร้างจักรวาลแบบแปลกๆ,
และมันทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆอีกสามเรื่อง ซึ่งก็คือ THE GARDEN,
BEGOTTEN และ WERCKMEISTER HARMONIES ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วเราจะชอบ
MOTHER! น้อยกว่าหนังสามเรื่องนี้ก็ตาม
No comments:
Post a Comment