Tuesday, July 17, 2018

ROKE GAO JAI


โรคกาวใจ (2018, Thakoon Leesumpun, 90min, A+25)    

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.พอดูแล้วก็พบว่า ส่วนที่ชอบสุดๆและส่วนที่ไม่ตรงกับรสนิยมของเราในหนังเรื่องนี้เหมือนกับใน WETLAND, DRYLAND (2018, Thakoon Leesumpun) เลย 555 นั่นก็คือส่วนที่เราชอบสุดๆในหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์น่ะ เพราะเราทึ่งกับไอเดียของผู้กำกับมากๆที่แทนที่จะนำเสนอประเด็นบางอย่างอย่างตรงไปตรงมา เขากลับนำประเด็นนั้นมาพลิกแพลงเป็นเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างใน WETLAND, DRYLAND เขาก็สร้างมิติพิสดารทางจิตวิญญาณขึ้นมา เพื่อนำมารองรับตัวละครที่ฆ่าตัวตาย ส่วนในโรคกาวใจนั้น เขาก็สร้างโรคประหลาดในช่วงที่ดาวหางปรากฏตัว เพื่อนำมาเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์แบบรัก-เกลียดระหว่างแม่-ลูกชาย

แต่หนังทั้งสองเรื่องนี้ก็มีจุดสำคัญที่ไม่เข้ากับรสนิยมเราเป็นการส่วนตัว นั่นก็คือการที่ ตัวละครเลือกที่จะอยู่แทนที่จะ เลือกที่จะตายน่ะ คือถ้าหาก โรคกาวใจตัดช่วง 15-20 นาทีสุดท้ายทิ้งไป และจบลงในฉากที่ตัวละครเข้าไปอยู่ในรถยนต์ด้วยกันทั้งสองคน คือถ้าหนังจบลงที่ฉากนั้นน่ะนะ หนังจะตรงกับรสนิยมของเราอย่างแน่นอน 555

2.เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ได้ชอบโรคกาวใจแบบสุดๆ ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีงามหรือข้อบกพร่องใดๆของหนังเลยนะ เพราะมันเป็นเรื่องของรสนิยมของเราน่ะ และเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตของเราด้วย ที่ทำให้เราไม่อินกับหนังครอบครัวแบบนี้

เราว่าปัญหาที่เรามีกับหนังเรื่องนี้มีบางส่วนคล้ายๆกับปัญหาที่เรามีกับหนังของม.กรุงเทพเรื่อง THE MOREเดิร์น MOM (2018, Alisa Pien) ด้วยแหละ คือเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของหนังทั้งสองเรื่องนี้น่ะ เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้มีลักษณะ crowd pleasing สูงมาก คือมีการสร้างความสนุกสนาน บันเทิง ย่อยง่าย เหมือนต้องการสร้างความพึงพอใจบางอย่างให้ผู้ชมตลอดเวลา แต่เราจะรู้สึกว่า เราไม่ fit in กับหนังแบบนี้น่ะ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหนังทั้งสองเรื่องนี้เลยนะ คือเรามองว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้ดีมาก และประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายของผู้สร้างมากๆ เพราะผู้สร้างหนังทั้งสองเรื่องนี้น่าจะต้องการสร้างหนังที่ตอบสนอง mass audience หรือสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมในวงกว้างน่ะ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะในการสร้างหนังที่สามารถสร้างความบันเทิงได้จริงๆตลอดทั้งเรื่อง และเราก็มองว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ทำในสิ่งที่ยากมากตรงนี้ได้สำเร็จ นั่นก็คือ หนังทั้งสองเรื่องนี้สร้างความบันเทิงและความประทับใจให้กับผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่องจริงๆ แต่ในการที่หนังทั้งสองเรื่องนี้เลือกที่จะเอาใจ mass audience นั้น มันก็จะมีผู้ชมบางคน อย่างเช่นเรา ที่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ fit in กับหนังหรือกลุ่มผู้ชมเป้าหมายหลักของหนัง หรือตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์หรือทัศนคติเรื่องครอบครัวแบบเดียวกับ mass audience

3.ย้อนกลับมายังไอเดียสร้างสรรค์ของหนังที่เราชอบมาก คือเราว่ามันเก๋มากที่เอาไอเดียเรื่องดาวหางและโรคประหลาดมาใส่ในหนังน่ะ คือตอนแรกที่เราเห็นดาวหาง เราก็นึกถึงหนังอย่าง MELANCHOLIA (2011, Lars von Trier) และพอเกิดโรคประหลาดในหนัง เราก็นึกถึงหนังอย่าง AUGUST IN THE WATER (1995, Sogo Ishii) ที่ผู้คนอยู่ดีๆก็ค่อยๆทยอยกลายเป็นโรค “ตัวแข็งเป็นหิน” อย่างไม่มีสาเหตุ แต่พอดู โรคกาวใจ ไปเรื่อยๆ เราก็พบว่ามันไม่ได้ใกล้เคียงกับ MELANCHOLIA หรือ AUGUST IN THE WATER เลย หนังเรื่องนี้มันเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ มันเหมือนหยิบจับเอาอะไรประหลาดพิสดารจากหนัง genre อื่นมาใส่ในหนังดราม่าความสัมพันธ์ครอบครัว เราก็เลยชอบความพิสดารแปลกใหม่ตรงนี้ของหนังอย่างมากๆ

4.ชอบตัวละครพิมอย่างสุดๆ ชอบความแรงของเธอ ชอบที่เธอมีความมั่นใจ ไม่หงอ ไม่อ่อนแบบนางเอกหนังไทยเรื่องอื่นๆ ตัวละครคุณแม่ก็มีเสน่ห์ดี คือแน่นอนว่าเราเกลียดคนแบบนี้ (คุณแม่ที่ดูเป็นเผด็จการ) ตั้งแต่เริ่มเรื่อง แต่หนังและนักแสดงก็เก่ง ที่สามารถทำให้ตัวละครคุณแม่ที่ดูเป็นตัวร้ายในสายตาของเราในช่วงต้นเรื่อง ค่อยๆกลายเป็นตัวละครที่กลม และมีเสน่ห์เฉพาะตัวขึ้นมาได้ ส่วนตัวพระเอกนั้นน่ารักมาก 555

5.ไอเดียเรื่องการเลียนแบบสิ่งที่เห็นในจอทีวีก็เก๋มาก

6.ระดับความชอบของเราจะขึ้นๆลงๆตลอดทั้งเรื่อง คือความชอบของเราพุ่งขึ้นถึงขีดสุดในฉากที่ตัวละครทั้งสองเข้าไปในรถยนต์ แต่หลังจากนั้นระดับความชอบของเราก็ค่อยๆลดลง และดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อมันมีอะไรคล้ายๆหนังเรื่อง THE LETTER โผล่เข้ามาในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ คือเราเกลียดหนังเรื่อง THE LETTER (1997, Lee Jung-gook) และ THE LETTER (2004, Pa-oon Chantarasiri) อย่างรุนแรงน่ะ คือเกลียดทั้งเวอร์ชั่นไทยและเกาหลีเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดีกับช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้

แต่ระดับความชอบของเราก็ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะในฉากจบนั้น เราคิดว่า มันคล้ายๆกับว่าเรื่องทั้งหมดคือจินตนาการของพระเอกขณะใส่ถุงเท้าน่ะ คือขณะพระเอกใส่ถุงเท้า พระเอกอาจจะจินตนาการว่า ถ้าหากตัวเองป่วยหนักขึ้นมา แม่จะลำบากเหนื่อยยากเพราะเราขนาดไหน หรือตอนที่เราเป็นเด็กทารกนั้น แม่เราต้องลำบากเหนื่อยยากเพียงใดในการเลี้ยงดูเราจนกว่าเราจะทำอะไรต่างๆด้วยตัวเองเป็น พอพระเอกจินตนาการเช่นนี้ขณะใส่ถุงเท้าเสร็จ พระเอกก็เลยตัดสินใจเลิกทะเลาะกับแม่

คือพอเรามองฉากจบแบบนี้ มันก็เลยเหมือนกับว่า ความดราม่าฟูมฟายน้ำตาเช็ดหัวเข่าอะไรมากมายที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องซีเรียสจริงจัง เป็นเพียงแค่จินตนาการของพระเอกน่ะ คล้ายๆกับหนังอย่าง THE MODIFICATION (1970, Michel Worms) ที่ตัวละครจินตนาการถึงทางเลือกต่างๆในชีวิต เราก็เลยเหมือนยอมรับได้กับความฟูมฟายที่ผ่านมาของหนัง และทำให้ระดับความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง

7.แต่ก็ยอมรับนะว่า เราไม่ “เศร้า” ไปกับโรคกาวใจเลย ซึ่งก็คงเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของเรา และเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีผู้ชมจำนวนมากที่ร้องไห้ไปกับหนังเรื่องนี้

แต่ก็ประหลาดดีที่เราอินกับ อานัติ (2018, บุญนรงค์ มาฟู) นะ ทั้งๆที่เนื้อหาของอานัติกับโรคกาวใจมันมีอะไรบางอย่างใกล้เคียงกัน มันเหมือนกับว่า ตอนที่ตัวละครร้องไห้ใน โรคกาวใจ เรารู้สึกเฉยๆน่ะ แต่พอตัวละครร้องไห้หรือเศร้าใจใน อานัติ เรากลับรู้สึกโศกเศร้าไปพร้อมๆกับตัวละครในอานัติด้วย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะ wavelength หรือจังหวะอะไรบางอย่างของอานัติมันสอดคล้องกับเรามากกว่ามั้ง

8.รู้สึกว่า “โรคกาวใจ” เหมาะลงโรงฉายมากๆ เพราะมันสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมทั่วไปได้ดีมาก แต่มันอาจจะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงประกอบ แต่ไม่ติดลิขสิทธิ์ละครทีวี เพราะละครทีวีในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แต่งขึ้นมาใหม่หมดเลย 555


9.ขอให้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษได้นะ ตอนนี้เราคิดออกแค่ชื่อ THE TIE THAT BINDS

สรุปว่าเราคิดว่า โรคกาวใจเป็นหนังที่ดีมาก บันเทิงมาก เหมาะกับผู้ชมส่วนใหญ่ แต่อาจจะไม่เข้าทางเราซะทีเดียวจ้ะ
 

No comments: