Friday, October 02, 2020

CRAZY FLIGHT

 

CRAZY FLIGHT บินแหลก (1995, Piak Poster, A+30)

 

1. จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ลงตัวเมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Piak Poster นะ แต่ก็ถือเป็นหนังที่ชอบมาก เพราะเหมือนไม่มีหนังไทยเรื่องอื่นๆที่พูดถึงประเด็นเดียวกัน (ชีวิตการทำงานของ steward และ air hostess) , แทบไม่มีหนังไทยเรืองอื่นๆที่พูดถึงชีวิตการทำงานไม่ว่าจะในอาชีพใดๆ (ที่เรานึกออกก็มี “ยอดมนุษย์เงินเดือน” กับ APP WAR ที่เอาจริงกับชีวิตการทำงานของตัวละคร) และแทบไม่มีหนังไทยเรื่องอื่นๆที่ออกมาในแนว Robert Altman แบบนี้

 

เพราะฉะนั้นถึงแม้หนังเรื่องนี้จะดูไม่ค่อยลงตัว เราก็ชอบหนังเรื่องนี้มาก เพราะมันดู unique มากๆเมื่อเทียบกับหนังไทยเรื่องอื่นๆ และอย่างน้อยมันก็ทำให้เราพูดได้ว่า ไทยก็มีหนังเมนสตรีมแนว Robert Altman เหมือนกันนะ

 

เอาเข้าจริงแล้ว เราว่าหนังแนว Robert Altman ทำยากมากด้วยแหละ คำว่าหนังแนว Altman ที่เราพูดถึงนี้คือหนังที่เต็มไปด้วยตัวละครหลายๆตัวน่ะ โดยที่ตัวประกอบจะแทบมีบทบาทเท่าๆกับพระเอกหรือนางเอก และพอหนังมันให้ความสำคัญกับตัวละครเยอะมากๆ เนื้อเรื่องในหนังมันก็เลยอาจจะไม่ค่อยเป็นเส้นตรงมากนัก แต่อาจจะเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยของตัวละครแต่ละตัวที่ประกอบอาชีพในวงการเดียวกัน และพอเนื้อเรื่องมันไม่ค่อยเป็นเส้นตรง มันก็เลยยากที่จะคุมอารมณ์ของแต่ละฉากให้ร้อยเรียงกันอย่างต่อเนื่อง และเป็นเรื่องยากมากที่จะบิ๊วอารมณ์ในหนังให้พุ่งขึ้นเรื่อยๆได้

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการทดลองทำหนังแนว Altman ในไทย และพอมันเป็นการทดลองครั้งแรกๆ มันก็เลยยังออกมาไม่ค่อยลงตัวนัก และยิ่งพอคนไทยแทบไม่ได้ทำหนังแนวนี้ มันก็เลยยากที่จะพัฒนาหนังแนวนี้ในไทยให้ออกมาลงตัวได้

 

2.สจ็วตหลายคนในหนังหล่อน่ารักดี แต่เราแทบไม่รู้จักชื่อเลยว่าใครเล่นเป็นสจ็วตหนุ่มหล่อเหล่านี้บ้าง นอกจากศรัณยู

 

3.ชอบบทของรัชนก พูนผลินมากๆ คลาสสิคมากๆ ชอบที่เธอพยายามอวดรวยตลอดเวลา ทั้งๆที่เธอไม่ได้รวยจริง

 

4.ฉากที่ชอบมากคือฉากที่ผู้โดยสารฝรั่งคนนึงสอบถามรายละเอียดของเหล้าทุกยี่ห้อบนรถเข็นเป็นเวลายาวนาน และพอได้ข้อมูลเสร็จแล้ว เธอก็สั่งน้ำเปล่า คือฉากนี้นึกว่าสามารถใส่เข้าไปใน THE DISCREET CHARM OF THE BOURGEOISIE (1972, Luis Buñuel) ได้

 

5.พอดูปีที่หนังฉาย ก็ตกใจ เพราะเรารู้สึกตอนที่ดูว่ามันเป็นหนังปี 1985 ไม่ใช่ปี 1995 เหมือนโทนอารมณ์ต่างๆในหนังมันเป็นของทศวรรษ 1980 มากๆ

 

DOG DAY AFTERNOON (1975, Sidney Lumet, A+30)

 

1.เหมือนในทศวรรษ 1970 มีหนัง gay classic สองเรื่องที่เราอยากดูแต่ไม่ได้ดูเสียที ซึ่งก็คือ DOG DAY AFTERNOON กับ SUNDAY BLOODY SUNDAY (1971, John Schlesinger) และในที่สุดเราก็ได้ดู DOG DAY AFTERNOON แล้ว ซึ่งก็คลาสสิคสมคำร่ำลือจริงๆ ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะมีใครเอา SUNDAY BLOODY SUNDAY เข้ามาฉายด้วย 555

 

2.หนังสนุกมาก เดือดมาก และมันดูแตกต่างจากหนังเกย์ทั่วไปด้วย และถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะผ่านมานาน 40 กว่าปีแล้ว ตัวละครเกย์ในหนังเรื่องนี้ก็ดู unique มากๆอยู่ดี

 

3.กลัวตัวละคร Sal ที่แสดงโดย John Cazale มากๆ เขาดูเหมือนเป็นคนบ้าที่อาจจะคลั่งกราดยิงคนได้ทุกเมื่อ

 

4.เหมือนตัวประกอบแต่ละตัวในหนังเรื่องนี้โผล่มาแค่ซีนสองซีน แต่แสดงแบบสุดตีนทุกตัว ทั้งตัวกะเทย (Chris Sarandon), เมีย (Susan Peretz) และแม่ของพระเอก (Judith Malina)

 

ROM (2019, Tran Thanh Huy, Vietnam, A+25)

 

นึกถึงหนังสลัมฟิลิปปินส์มากๆ โดยเฉพาะหนังอย่าง CLASH (2009, Pepe Diokno) ที่เน้นการถ่ายภาพอย่างลื่นไหลปรู๊ดปร๊าดไปตามตรอกซอกซอยในสลัมเหมือนกัน

 

ดูแล้วก็สงสัยว่า เวียดนามเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เหรอ ทำไมปัญหาความยากจนมันไม่ได้แตกต่างไปจากประเทศประชาธิปไตย/ทุนนิยมแบบฟิลิปปินส์เลย 555

 

อีกสิ่งนึงที่สงสัยก็คือว่า เหมือนเราจะชินตากับภาพ “สลัมในกรุงเทพ” จากสื่อต่างๆในทศวรรษ 1980 น่ะ แต่พอเข้าทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เราก็ไม่ค่อยเห็นภาพสลัมในกรุงเทพจากสื่อต่างๆบ่อยครั้งมากนัก นอกจากในหนังสารคคดีไทยบางเรื่องในทศวรรษ 2010 เราก็เลยสนใจอยากรู้ว่า

 

1.ภาพในสื่อกับความเป็นจริงมันสอดคล้องกันใช่มั้ย การที่เราไม่ค่อยเห็น ภาพสลัมในกรุงเทพตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มันเป็นเพราะว่าปัญหาสลัมมันลดลงจริงๆเมื่อเทียบกับในทศวรรษ 1980 หรือเปล่า หรือเป็นเพียงเพราะว่าผู้ชมในทศวรรษ 1990 ไม่ได้ชื่นชอบการชม “ตัวละครในสลัม” เหมือนกับในทศวรรษ 1980

 

2.ถ้าหากภาพในสื่อมันสอดคล้องกับความเป็นจริง ทำไมปัญหาสลัมในกรุงเทพถึงลดลงเมื่อเทียบกับในทศวรรษ 1980 แต่ทำไมปัญหานี้ถึงยังดูรุนแรงมากๆในฟิลิปปินส์และในเวียดนาม ไทยมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ปัญหานี้ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต หรือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ

No comments: