Saturday, January 29, 2022

ANATOMY OF TIME (2021, Jakrawal Nilthamrong, A+30)

 

ANATOMY OF TIME (2021, Jakrawal Nilthamrong, A+30)

เวลา

 

ดูหนังเรื่องนี้ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค. แต่เพิ่งมีเวลาเขียน ถ้าหากเราจำอะไรผิดไปก็บอกมาได้นะ

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1.รู้สึกว่าเป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดของคุณ Jakrawal เท่าที่เคยดูมา 55555 แต่ก็ดูด้วยความงุนงง ไม่เข้าใจอยู่บ้างนะ แต่คิดว่ามันเป็นหนังที่มีเรื่องเล่าให้จับต้องได้มากที่สุดเรื่องนึงของคุณจักรวาลแล้วล่ะ และถึงแม้ว่าเราจะไม่แน่ใจว่าฉากไหนในเรื่องเป็นความจริงหรือความฝันหรือจินตนาการกันแน่ เราก็สามารถแต่งเรื่องต่อเติมหรือเอาฉากต่าง ๆ ในหนังมาจินตนาการให้สนุกสนานในหัวของตัวเองต่อได้โดยง่าย คือเหมือนแต่ละฉากในหนังนำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนน่ะ เหมือนแต่ละฉากในหนังเป็น “ของแข็ง” หรือเป็นก้อนอะไรสักอย่าง และเราสามารถเอาก้อนเหล่านี้มาประกอบกันเป็นสิ่งต่าง ๆ ตามใจเราได้โดยง่าย (เหมือนที่เราเขียนถึงหนังแบบตัวต่อ LEGO ตอนที่เราเขียนถึง THE EDGE OF DAYBREAK)  ในขณะที่หนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาล เรารู้สึกว่ามันมี “ความฟุ้ง” กว่านี้ คือเหมือนหนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาลสำหรับเราให้ความรู้สึกคล้ายกับมันมีความเป็น “ก๊าซ” มากกว่าจะเป็น “ของแข็ง” น่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดูหนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาล เราจะรู้สึกว่าเรากำลัง deal กับก๊าซ และเราจะใช้ระบบประสาทอีกแบบนึงในการ enjoy หนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาล แต่กับหนังเรื่องนี้เราเหมือนใช้ระบบประสาทในการ deal กับของแข็งในการดื่มด่ำกับหนังเรื่องนี้ 55555

 

2.ไม่รู้ว่าทางผู้สร้างหนังตั้งใจหรือเปล่า แต่จุดนึงที่หนังเรื่องนี้กับ THE EDGE OF DAYBREAK ทำให้เรามีความสุข ก็คือเหมือนหนังทั้งสองเรื่องมันเป็น wish fulfillment ในการทำให้เราได้เห็นเผด็จการมีความทุกข์ แต่หนังทั้งสองก็รู้ตัวดีว่ามันเป็นแค่ wish เท่านั้น มันไม่ใช่ความจริง

 

คือใน THE EDGE OF DAYBREAK นั้น ฉากที่หญิงสาวฆ่าชายแก่ตายในโรงพยาบาล มันให้ความรู้สึกคล้าย ๆ กับการตอบโต้กับเผด็จการน่ะ ถึงแม้เราจะไม่แน่ใจ 100% เต็มว่า หญิงสาวคนนั้นคือใคร, ชายแก่คนนั้นคือใคร และการฆาตกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร อย่างไรก็ดี การที่ THE EDGE OF DAYBREAK ทำให้เราไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ไหนจริงหรือไม่จริง เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์ไหน ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่กันแน่ หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนไม่ได้บอกอย่างชัดเจนแต่อย่างใดว่า เผด็จการจะต้องถูกลงโทษ คือเหมือนเราดูฉากนี้แล้วเราจินตนาการไปเองว่า มันคือเผด็จการที่ถูกลงโทษ 55555

 

ส่วนใน ANATOMY OF TIME นั้น ตัวละครเสธฯเป็นเหมือนตัวแทนหนึ่งของเผด็จการในหนังเรื่องนี้ และเราก็เหมือนได้เห็นเขาถูกลงโทษในยามแก่ชรา ทั้งการกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง, ฉี่ราด, ถูกเจ้าของร้านขับไล่ในข้อหาเป็นขี้ข้าเผด็จการ (ถ้าจำไม่ผิด) , ถูกตำรวจดุ, etc. ซึ่งการได้เห็นตัวละครคนเลวเจออะไรแบบนี้ มันก็สะใจดีในแง่นึง

 

อย่างไรก็ดี ถ้าหากหนังเรื่องนี้บอกเพียงแค่ว่า “โอ๊ย คนเลว ๆ เผด็จการเลว ๆ สักวันมันก็ต้องถูกกฎแห่งกรรมลงโทษแบบในหนังเรื่องนี้เองน่ะแหละ” เราก็คงไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้มากนัก 55555 เพราะในความเป็นจริงนั้น เราก็มองเห็นอยู่แล้วว่า มีคนเลว  ๆ หลายคนเสวยสุขอยู่เป็นเวลานานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (อย่างเช่นในพม่า) ไม่เห็นกฎแห่งกรรมจะเล่นงานพวกมันสักที

 

เราก็เลยชอบตอนจบของหนังเรื่องนี้อย่างมาก ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่าตอนจบของหนังเรื่องนี้หมายความว่าอะไร แต่ในเมื่อผู้สร้างหนังไม่ได้บอกความหมายของมันอย่างตรง ๆ เราก็เลยถือวิสาสะทำในสิ่งที่เราชอบทำอย่างสุดๆ นั่นก็คือเอาตอนจบของหนังและฉากอื่น ๆ ในหนัง มาจินตนาการต่อเอาเองตามใจชอบ

 

คือในจินตนาการของเรานั้น ตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ฉากส่วนใหญ่ในหนังอาจจะเป็นความฝันของเสธฯในวัยชราขณะนอนป่วยอยู่บนเตียงก็ได้น่ะ และในความเป็นจริงนั้น ภรรยาของเขาอาจจะกลายเป็นฝ่ายที่ตายก่อนเขาก็ได้ ส่วนเขาอยู่ดี ๆ ก็หายดี และลุกขึ้นมาใช้ชีวิตเลว ๆ ของตัวเองต่อไปก็ได้

 

เพราะฉะนั้นการที่เราได้เห็นเสธฯในวัยชรา เผชิญความเหี้ยห่าต่าง ๆ นานามาก่อนหน้านี้นั้น (ซึ่งรวมถึงฉากที่อาจจะเป็นงานศพของเขา) มันอาจจะเป็นได้ทั้งเรื่องจริง หรืออาจจะเป็นความฝันของเขาที่ก่อตัวมาจากความรู้สึกผิดและความหวาดกลัวในใจเขาก็ได้

 

และในแง่ความรู้สึกของคนดูอย่างเรานั้น เนื้อหาในส่วนที่เป็น “เผด็จการถูกลงโทษในวัยชรา”  มันก็เลยเหมือนกับเป็นการขอจินตนาการอะไรสะใจ ๆ สักหน่อย เพื่อหลบลี้จากความเป็นจริงอันโหดร้ายที่เผด็จการยังคงลอยนวลอยู่ แต่หลังจากเราได้ดูอะไรสะใจ ๆ ในหนังไประยะหนึ่งแล้ว หนังก็จบด้วยการบอกเราว่า มันเป็นแค่จินตนาการสะใจ ๆ นะ มันไม่ใช่ความจริงนะ เพราะในความเป็นจริงนั้น เผด็จการอาจจะยังคงลุกขึ้นเดินปร๋อกันต่อไป

 

เพราะฉะนั้นในจินตนาการของเรา เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็น “an old man’s dream” เหมือนที่เสื้อยืดของนางพยาบาลบอกไว้ และมันก็ทำหน้าที่เป็น “a movie viewer’s wish fulfillment” ไปด้วยในขณะเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ฉากจบของหนังเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึง BELLE DE JOUR (1967, Luis Bunuel) โดยไม่ได้ตั้งใจด้วย เพราะในฉากจบของ BELLE DE JOUR ผัวของนางเอกที่เป็นอัมพาต อยู่ดี ๆ ก็ลุกขึ้นเดินได้อย่างปาฏิหาริย์โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ อีกต่อไป มันเป็นฉากที่บอกไม่ได้ว่าฝันหรือจริง เหมือนกับฉากอีกหลาย ๆ ฉากใน BELLE DE JOUR ซึ่งก็คล้ายกับฉากจบของ ANATOMY OF TIME และอีกหลาย ๆ ฉากในหนังเรื่องนี้ที่บอกไม่ได้ว่าฝันหรือจริงเช่นกัน

 

3.ส่วนฉากก่อนจบที่เป็น sex on the beach ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก PERSONA (1966, Ingmar Bergman) นั้น มันก็เป็นตัวอย่างนึงของความพิศวงของหนังเรื่องนี้ในแบบที่เราชอบมาก เพราะเราไม่รู้ว่า

 

3.1 มันเกิดขึ้นจริง หรือเป็นจินตนาการ หรือเป็นความฝัน

 

3.2 ถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง มันคือครั้งแรกที่นางเอกได้เจอกับตัวละครที่แสดงโดยเผ่าภูมิหรือเปล่า

 

3.3 ถ้าหากมันเป็นจินตนาการหรือความฝัน มันเป็นความฝันของใคร ของนางเอกหรือของเสธฯ

 

ส่วนในจินตนาการของเรานั้น เราจินตนาการว่ามันอาจจะเป็นฝันร้ายอันนึงของเสธฯในวัยชราก็ได้ 5555 คือที่เสธฯฝันร้ายแบบนี้ เพราะเขานอนป่วยเป็นผัก, มี sex ไม่ได้แล้ว และเขามีปมที่นางเอกเคยชอบเผ่าภูมิ และมีปมที่นางเอกเหมือนจะเคยบอกว่าอยากไปเที่ยวทะเลมากกว่าภูเขา ปมในใจเขาก็เลยแสดงตัวออกมาเป็นฉาก sex on the beach ของนางเอกในวัยสาวกับคนรักเก่าแบบนี้ ซึ่งถือเป็นฝันร้ายสำหรับเขา 55555

 

4.แน่นอนว่าคนดูคนอื่น ๆ คงตีความหรือมีความเห็นต่อฉาก sex on the beach ในแบบที่แตกต่างจากเราอย่างแน่นอน ซึ่งเรามองว่านั่นคือสิ่งที่เราชอบมาก ๆ ในหนังเรื่องนี้ ที่มันเปิดโอกาสให้ผู้ชมมองแต่ละฉากในแบบที่แตกต่างกันไปได้

 

ในส่วนของเรานั้น เรามองว่าหลาย ๆ ฉากในหนังมันอาจจะเป็นได้ทั้งความจริงและความฝันนะ และบางฉากอาจจะเป็นความฝันของแหม่มหรืออาจจะเป็นความฝันของเสธฯก็ได้ เพราะหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากที่ “แหม่มหลับอยู่” (เพื่อนของเราตั้งข้อสังเกตไว้)  ส่วนเสธฯ ในวัยชรานั้นนอนเกือบตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหนังก็เลยเหมือนบอกกลาย ๆ อยู่แล้วว่า หลาย ๆ ฉากมันอาจจะเป็นได้ทั้งความจริงและความฝัน

 

5.ในแง่นึง หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง ASHES OF TIME (1994, Wong Kar-wai) โดยไม่ได้ตั้งใจ ในแง่ที่ว่า ASHES OF TIME มันได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง “มังกรหยก” ของกิมย้ง ที่เนื้อหาทั้งหมดของมันเหมาะจะนำมาสร้างเป็นละครทีวี 60 ชั่วโมงจบ แต่ Wong Kar-wai เหมือนเลือกหยิบจับเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของตัวละครในมังกรหยก และนำมันมาสร้างเป็นหนังที่มีความยาวแค่ 100 นาที

 

คือเรารู้สึกว่า ชีวิตของตัวละครใน ANATOMY OF TIME มันขยายไปเป็นละครทีวี 15 ตอนจบได้สบาย ๆ มากเลยน่ะ แต่เหมือนหนังเรื่องนี้เอาชีวิตของตัวละครในละครทีวี 15 ตอนจบ หรือชีวิตของตัวละครในนิยายขนาดยาว มากลั่นกรองให้เหลือเพียงแค่หนัง 2 ชั่วโมงจบเท่านั้น เพื่อขับเน้นเฉพาะประเด็นหรือสัมผัสทางอารมณ์บางอย่างที่ผู้กำกับต้องการ

 

คือถ้าหากหนังเรื่องนี้จะขยายเป็นละครทีวี มันขยายได้สบายมาก โดยทำเพียงแค่เล่าเรื่องของตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่ม

 

5.1 เด็กทารกที่เสธฯตั้งใจจะฆ่าตาย แต่เพื่อนเสธฯช่วยชีวิตเด็กคนนั้นไว้ เด็กทารกคนนั้นเติบโตขึ้นมา และกลายเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวในเรื่อง

 

5.2 หญิงสาวชาวเขาที่เป็นคนรักของเสธฯ

 

5.3 ลูกชายของเสธฯที่เกิดกับหญิงชาวเขา ที่ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด เขาโตขึ้นมาแล้วทำงานเป็นยาม (เหมือนเราเห็นคำว่า security guard อยู่บนเสื้อของเขาตอนที่เขาบุกเข้ามาเอากล่องในบ้าน แต่เราไม่แน่ใจ)

 

5.4 ลูกน้องคนสนิทของเสธฯ

 

5.5 นางพยาบาล ที่เราชอบสุด ๆ คือเราจินตนาการต่อเอาเองว่า จริง ๆ แล้วนางพยาบาลคนนี้เป็นกะหรี่ในบาร์ของเผ่าภูมิ (ตอนโต) แล้วเผ่าภูมิเลยส่งกะหรี่คนนี้มาทำงานเป็นสายลับในฐานะพยาบาลในบ้านของเสธฯ 555555

 

5.6 พี่สาวของเสธฯ คือเธอดูเป็นตัวละครที่มีออร่าบางอย่างที่น่าสนใจอย่างสุด ๆ ทั้ง ๆ ที่เธอเหมือนไม่ได้ทำอะไรมากมาย

 

6. นอกจากหนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยตัวละครประกอบที่กระตุ้นให้เราจินตนาการชีวิตต่อเอาเองแล้ว หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยความพิศวงอันอื่น ๆ ที่เราชอบมาก อย่างเช่น

 

6.1 ฉากนางเอกร้องเพลง เราสงสัยว่ามันคือฉากแรกที่นางเอกได้เจอกับเสธฯ หรือเปล่า

 

6.2 เราอยากรู้มากว่ากล่องที่เสธฯเอาไปจากหญิงชาวเขาบรรจุอะไรไว้ข้างใน ทำไมลูกชายต้องตามมาทวงคืนหลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี แต่ถึงหนังไม่บอกว่าข้างในกล่องมีอะไร เราก็ไม่มีปัญหาอะไรกับจุดนี้ คือถ้าหนังบอกตามตรงว่าข้างในกล่องมีอะไร เราก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ ก็ได้ แต่พอหนังมันไม่บอก มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่น่าจดจำสำหรับเรา 55555

 

จริง ๆ แล้วประเด็นเรื่อง “ข้างในกล่องมีอะไร” ทำให้เรานึกถึงบทความของ Jean-Claude Carriere ในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2” ด้วยนะ เพราะ Carriere บอกว่า ในหนังเรื่อง BELLE DE JOUR (1967, Luis Bunuel) ที่เขาเขียนบทนั้น มันมีกล่องอยู่อันนึงในหนัง ที่ลูกค้าชาวเกาหลีเอาเข้ามาในซ่องของนางเอก แล้วคนดูก็ไม่รู้เลยว่าข้างในกล่องมีอะไร ซึ่งแม้แต่ตัว Carriere ซึ่งเป็นคนเขียนบทหนังเรื่องนี้เองก็ไม่รู้ แล้วเขาก็บอกว่าหลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉาย เขาก็ถูกคนดูถามไม่ต่ำกว่า 1 พันครั้งว่าอะไรอยู่ในกล่องนั้น ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร 55555 และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มาก ๆ

 

ในบทความนั้นในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2” Carriere เขียนไว้อีกด้วยว่า “สิ่งที่คลุมเครือดีกว่าสิ่งที่แจ้งชัด ถึงแม้สิ่งที่แจ้งชัดจะพิสดารขนาดไหนก็ตาม บุนเยลฝันที่จะใส่ข้อมูลผิด ๆ บางอย่างเข้าไปในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา ราวกับว่าเขาจงใจจะหักล้างหรือบิดเบือนภูมิศาสตร์หรือประวัติศาสตร์สักชั่วระยะหนึ่ง “true reality” สร้างความอึดอัดให้กับเขาเหมือนเสื้อรัดรูปสตรีที่แน่นเกินไป”

 

และเราก็เห็นด้วยกับ Carriere และบุนเยลมาก ๆ ในจุดนี้ แต่เราไม่ได้เห็นด้วยในแง่ที่ว่า ความคลุมเครือดีกว่าความแจ้งชัดนะ แต่เราเห็นด้วยในแง่ที่ว่า true reality มันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับหนังทุกเรื่อง และเราก็ชอบสุด ๆ ทั้งหนังที่ไม่แคร์ความสมจริง/หนังที่ไร้ขอบเขตทางจินตนาการ และหนังที่พยายามจะสมจริง คือไม่ว่าจะเป็นความคลุมเครือหรือความแจ้งชัด เราก็ enjoy กับมันได้อย่างสุด ๆ ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นสำหรับผู้กำกับบางคน อย่างเช่น Bunuel, David Lynch, Andrei Tarkovsky,Taiki Sakpisit และ Jakrawal Nilthamrong ถ้าหากเขามีความสุขและความถนัดในการสร้างความคลุมเครือ เราก็สามารถ enjoy กับหนังของเขาได้อย่างสุด ๆ เช่นกัน เหมือนความคลุมเครือในหนังของผู้กำกับบางคนมันมีมนตร์เสน่ห์, มันฝังใจ, มันอาจจะกระตุ้นความคิดของเราได้อย่างมาก ๆ หรือเป็นเวลานาน หรือมันอาจจะกระตุ้นจินตนาการบางอย่างของเรา และทำให้เรามีความสุขสุด ๆ กับจินตนาการนั้น ๆ น่ะ แต่ถ้าหากเป็น “หนังสารคดีวิทยาศาสตร์” อะไรแบบนี้ เราก็ enjoy ความแจ้งชัดหรือการอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจได้โดยง่ายในหนังกลุ่มนี้ได้เหมือนกัน 55555

 

7.ชอบการถ่าย “ตลาด” ในหนังเรื่องนี้มาก ๆ เราว่ามันถ่ายตลาดแล้วได้บรรยากาศอะไรบางอย่างที่เราชอบมาก ๆ

 

8.ชอบการ “ข้ามเวลา” ผ่านการเติบโตของลูกหมามาก ๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเราเข้าใจผิดหรือเปล่านะ คือเหมือนตอนกลางเรื่อง มันมีฉากหมาคลอดลูก แต่อีกแป๊บนึง เราก็เห็นหมาโต ๆ ฝูงนึงในบ้านนางเอก เราก็เลยเข้าใจว่า หมาโต ๆ ฝูงนั้นคือลูกหมาที่โตขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นเนื้อหาของหนังในสองช่วงนี้อาจจะห่างกันอยู่หลายปีหรือเปล่า หรือเราเข้าใจผิดไปเอง 55555

 

9.เราว่าชีวิตของตัวเสธฯ น่าสนใจมาก ๆ ด้วย เพราะมันสามารถสะท้อนประวัติการเมืองไทยในบางส่วนได้ดี เพราะถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด

 

9.1 เขาน่าจะเป็นพรรคพวกของสฤษดิ์ ที่ไม่ถูกกับถนอม เพราะในหนังมีฉากเขื่อนภูมิพล เพราะฉะนั้นช่วงเวลาในหนังช่วงนั้นน่าจะเป็นยุคปี 2506 ซึ่งเป็นยุคที่มีการสร้างเขื่อนดังกล่าว และพอสฤษดิ์ตาย ก็เลยเกิดการแย่งชิงอำนาจกันขึ้น

 

คือเราก็ไม่รู้เรื่องความขัดแย้งระหว่างสฤษดิ์กับถนอมมากนักนะ แต่เราเคยอ่านนิยายเรื่อง “เมียน้อย” ของทมยันตี ที่เล่าเรื่องเมียน้อยของสฤษดิ์ที่ตอนหลังเจอกับการคุกคามอย่างรุนแรงจากลูกน้องของถนอม (ถ้าหากเราจำไม่ผิด) เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าเนื้อหาใน ANATOMY OF TIME กับเนื้อหาในนิยายเรื่อง “เมียน้อย” ของทมยันตี น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

 

9.2 ต่อมาเสธฯน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มกบฏยังเติร์กในปี 2524 เพราะเราเดาว่าพยาบาลคงเอาชื่อของเสธฯ ไปกูเกิล แล้วก็เลยได้ดูคลิปกบฏยังเติร์ก

 

ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด หลาย ๆ คนในกบฏยังเติร์ก ก็เคยมีประวัติปราบคอมมิวนิสต์มาก่อนเหมือนกับตัวเสธฯ เหมือนกัน

 

เราชอบสุด ๆ ที่มีการพูดถึงกบฏยังเติร์กในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเราก็เกิดทันเหตุการณ์นี้ 55555 แต่เราไม่เคยเห็นเรื่องนี้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์มาก่อน เพราะเราเดาว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีอิทธิพลที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยแหละ มันก็เลยทำเป็นหนังไม่ได้ เหมือนนอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว ก็มีเพียงแค่ละครเวทีเรื่อง FUGITIVES (2014, Ninart Boonpothong) ที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ที่เราเคยดูมา

 

9.3 เสธฯ คงทำอะไรบางอย่างโด่งดังมากพอสมควรในยุคหลังด้วยแหละ ไม่งั้นเขาคงไม่โดนชาวบ้านขับไล่ในข้อหาเป็นขี้ข้าเผด็จการ

 

10.ชอบคุณเทวีรัตน์ ลีลานุช ในหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ ชอบมาก ๆ ที่หนังบางเรื่องทำให้นักแสดงหญิงรุ่นเก่าบางคนได้สำแดงฝีมือออกมาอย่างเต็มที่จนเราจดจำได้ คือการได้ดูคุณเทวีรัตน์ในหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงตอนที่ได้เห็นคุณอมรา อัศวนนท์ใน “คน ผี ปีศาจ” (2003, Chookiat Sakveerakul) และตอนที่เราได้เห็นคุณวาสนา ชลากร ใน “แปดวัน แปลกคน” (2008, ฉัตรชัย ยอดเศรณี) คือเหมือนเราอาจจะเคยเห็นนักแสดงเหล่านี้แบบผ่าน ๆ ตามาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่นักแสดงเหล่านี้ไม่เคยสะดุดตาเราอย่างจัง ๆ จนกระทั่งพวกเธอได้รับบทที่ทำให้พวกเธอได้ฉายแสง shine bright like a diamond ออกมาแบบในหนัง 3 เรื่องนี้

 

11.ดูแล้วนึกถึงหนังเก่า ๆ ของคุณจักรวาลด้วยนะ อย่างเช่นฉากที่พ่อนางเอกพูดถึงการเข้าถ้ำและเปรียบเปรยกับการค้นพบสัจธรรมของศาสนาต่าง ๆ เพราะถ้าหากเราจำไม่ผิด หนังของคุณจักรวาลหลายเรื่องก็มักจะมีอะไรเกี่ยวกับศาสนาแบบนี้เหมือนกัน อย่างเช่น PATTERNS OF TRANSCENDENCE (2006, 49min) และ MAN AND GRAVITY (2009)

 

ส่วนฉากนางเอกตอนแก่เปลือยกาย ก็ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาลที่มีเรือนร่างของหญิงชราเหมือนกัน อย่างเช่น IMMORTAL WOMAN (2010) ซึ่งเรายังไม่ได้ดู และ VANISHING POINT (2015) ที่มีตัวละคร immortal woman ที่คลอดลูกไม่หยุด

 

12.ส่วนฉากที่เราชอบที่สุดใน ANATOMY OF TIME ก็คือฉากที่แหม่มนั่งตรัสรู้ใต้ต้นไม้ริมลำธารนี่แหละ 55555 คือผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เราจินตนาการว่าฉากนั้นเหมือนเธอได้ตรัสรู้ถึงความจริงบางอย่างของชีวิต นึกว่าตรัสรู้หลักอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท อะไรทำนองนี้

 

คือก่อนหน้านั้นเมื่อหลายสิบปีก่อน เธอเคยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดต้นไม้ต้นนั้นถึงมาขึ้นที่หน้าผาได้น่ะ และพอเวลาผ่านมาหลายสิบปี เธอก็มานั่งริมลำธาร แล้วก็เหมือนตรัสรู้ว่า อ๋อ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ง่าย ๆ นี่เอง ก็แค่นกไปกินผลไม้ แล้วนกก็บินไป แล้วนกก็ขี้เอาเมล็ดหล่นออกมาที่หน้าผา แล้วเมล็ดนั้นก็เติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ใหญ่ในอีกหลายสิบปีต่อมา มันเป็นความเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของโลกแบบนี้นี่เอง 55555

 

13.สรุปว่า ชอบ ANATOMY OF TIME อย่างสุดๆ แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาลแล้ว เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้น้อยกว่า IN TRANSIT (2013) , PATTERNS OF TRANSCENDENCE และ VANISHING POINT นะ เพราะเราว่า IN TRANSIT มันสวยสุด ๆ มันงดงามสุด ๆ ส่วน PATTERNS OF TRANSCENDENCE มันก็มีมนตร์เสน่ห์ลึกลับน่าหลงใหลอย่างสุด ๆ สำหรับเรา ส่วน VANISHING POINT มันมีความพิศวงที่เราอธิบายไม่ได้ เราก็เลยชอบหนัง 3 เรื่องนี้มากกว่า ANATOMY OF TIME ในตอนนี้

 

แต่ก็ชอบ ANATOMY OF TIME มากกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ของคุณจักรวาลด้วยเช่นกัน อย่างเช่น DRIPPING (2004), A VOYAGE OF FORETELLER (2007),  MAN WITH A MOVIE CAMERA (2007), ORCHESTRA (2008), MAN ON THE MOON (2008), MAN AND GRAVITY, UNREAL FOREST (2010), HANGMAN (2012), OPENING CLIP FOR 21ST THAI SHORT FILM FESTIVAL (2017), INVALID THRONE (2018), KAMJORN SANKWAN (2018),  CODE UNKNOWN (2019)

 

สรุปว่าชอบหนังทุกเรื่องของคุณจักรวาลมาก ๆ น่ะแหละ แต่อันดับหนึ่งในใจเราตอนนี้ยังคงเป็น IN TRANSIT จ้ะ

 

 

No comments: