Monday, January 31, 2022

WHY SOME HORROR FILMS AFFECT ME A LOT

 

ชอบที่เพื่อนคนนึงใน Facebook เขียนมาก ๆ ที่เขาเขียนในทำนองที่ว่า หนังแนว Agatha Christie, Sherlock Holmes, Conan เป็นหนังที่มีการฆาตกรรม แต่ดูแล้วไม่รู้สึกกลัว ซึ่งจะแตกต่างจากหนังฆาตกรโรคจิตอย่าง THE TEXAS CHAINSAW MASSACRE, HALLOWEEN, THE HILLS HAVE EYES, FRIDAY THE 13TH, TOOLBOX MURDERS (2004, Tobe Hooper) WOLF CREEK (2005, Greg McLean), VACANCY (2007, Nimrod Antal), etc. ที่ดูแล้วจะรู้สึกกลัว เพราะพอเพื่อนคนนี้เขียนแบบนี้ เราก็เลยได้ทฤษฎีขึ้นมาว่า ทำไมเราถึง อินกับ FEBRUARY (2015, Oz Perkins) และ KRISTY (2014, Olly Blackburn) อย่างรุนแรงมาก ๆ ซึ่งนั่นก็คงเป็นเพราะเรามีพื้นฐานจิตใจดีงามนั่นเอง 55555 ล้อเล่นค่ะ

 

คือเราชอบหนังทั้งสองกลุ่มมาก ๆ นะ (หนังสืบสวนสอบสวนฆาตกรรม และหนังฆาตกรโรคจิต) และเราก็รู้สึกเหมือนกันว่า เวลาที่เราดูหนังกลุ่ม Conan และ Agatha Christie เราดูแล้วเราไม่รู้สึกกลัวน่ะ ในขณะที่เวลาที่เราดูหนังอย่าง SCREAM เรารู้สึกกลัวมาก ๆ โดยเฉพาะภาคแรก ซึ่งความรู้สึกกลัวนี้มันมีสาเหตุมาจากความรู้สึกที่ว่า ตัวเราสามารถตกเป็นเหยื่อได้น่ะ

 

คือเรารู้สึกว่าในหนังกลุ่มปริศนาฆาตกรรมนั้น เหยื่อส่วนใหญ่มักจะเป็น คนรวยหรือ คนที่เคยทำผิดในอดีตน่ะ เขาก็เลยถูกฆ่าเพื่อล้างแค้น หรือเพื่อผลประโยชน์ที่ฆาตกรหวังจะได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่า เหยื่อในหนังกลุ่ม Agatha Christie นั้น ห่างไกลจากตัวเราในชีวิตจริงเราก็เลยไม่ค่อยรู้สึกกลัวเวลาดูหนังแบบนี้ เพราะกูจนค่ะ 55555

 

ส่วนเหยื่อในหนังกลุ่มฆาตกรโรคจิตนั้น มีสิทธิจะเป็นเราได้อย่างมาก ๆ อย่างไรก็ดี เราแทบไม่เคยเดินทางไปต่างจังหวัดเลย เพราะฉะนั้นในแง่นึง หนังแบบ THE TEXAS CHAINSAW MASSACRE, FRIDAY THE 13TH, THE HILLS HAVE EYES, VACANCY ก็เลยไม่ทำให้เราเชื่อมโยงกับตัวเองมากนัก แต่ TOOLBOX MURDERS กับ DOOR LOCK ที่ใช้ฉากเป็นอพาร์ตเมนท์ในเมืองใหญ่ และ SCREAM ที่ใช้ฉากการฆาตกรรมเป็นบ้านเรือนหรือสถานที่ชุมนุมชน ก็เลยทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวได้มากกว่า เพราะสถานที่ในชีวิตประจำวันของเรามันมีความใกล้เคียงกับสถานที่ใน SCREAM, TOOLBOX MURDERS, DOOR LOCK, THESIS (1996, Alejandro Amenabar, Spain) มากกว่าสถานที่ต่าง ๆ ในหนังกลุ่มเดินทางไปต่างจังหวัด

 

และเราก็เลยคิดว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราอินกับ KRISTY และ FEBRUARY อย่างรุนแรง อาจจะเป็นเพราะว่าหนังสองเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของฆาตกรโรคจิตในหนังได้อย่างมาก ๆ น่ะ เพราะฆาตกรในหนังสองเรื่องนี้เน้นเล่นงาน คนที่มีจิตใจดีงาม” 55555

 

คือใน KRISTY นั้น นางเอกช่วยเหลือหญิงสาวคนนึงในร้านขายของน่ะ แต่หญิงสาวคนนั้นกับแก๊งของเธอเป็นกลุ่มฆาตกรโรคจิตที่เกลียดคนดี เพราะฉะนั้นพอหญิงสาวคนนี้เห็นว่านางเอกทำตัวเป็นคนดี หญิงสาวคนนี้ก็เลยพาพรรคพวกของเธอออกไล่ล่าฆ่านางเอก

 

ส่วนใน FEBRUARY นั้น นางเอกของเรื่องซึ่งเป็นฆาตกรโรคจิตก็ฆ่าคนต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เธอ เพราะเธอเป็นโรคจิต

 

ตอนที่เราดูหนังสองเรื่องนี้ เราก็เลยอินมาก ๆ หวาดกลัวอย่างรุนแรง และแน่นอนว่าหวาดกลัวกว่าหนังฆาตกรโรคจิตหลาย ๆ เรื่องที่ชอบเลือกเหยื่อเป็น หญิงสาวสวยเพราะกูไม่ใช่หญิงสาวสวยแบบที่มักตกเป็นเหยื่อในหนังน่ะค่ะ แต่เรารู้สึกว่า เราเชื่อว่าถ้าหากเราทำดีกับคนอื่น ๆ เราก็น่าจะได้รับผลดีตอบกลับมา

 

คือพอเรามีความเชื่อแบบนี้ในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าเราควรทำดีกับคนอื่น ๆ ไว้ก่อน แล้วเรามาดูหนังสองเรื่องนี้ มันก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุส่วนนึงที่ทำให้เราอินกับหนังสองเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาก ๆ เพราะมันเหมือนกับว่า เราสามารถตกเป็นเหยื่อของฆาตกรในหนังสองเรื่องนี้ได้ มากกว่าฆาตกรในหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เลือกฆ่า คนรวย”, “คนที่เคยทำผิดในอดีต”, “คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดหรือ หญิงสาวสวย

 

และการมองว่าตัวเองสามารถตกเป็นเหยื่อได้นี้ ก็คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกอินของเราที่มีต่อหนังผีเรื่องต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะต่อหนังอย่าง DEMONIC (2021, Neill Blomkamp) และ THE CONJURING: THE DEVIL MADE ME DO IT (2021, Michael Chaves) อะไรแบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากหนังสยองขวัญที่เราชอบสุด ๆ บางเรื่อง แต่เป็นการชอบสุดๆ แบบ ไม่ได้รู้สึกกลัวอย่างเช่น MALIGNANT, THE POWER (2021, Corinna Faith) และ AMULET (2020, Romola Garai) น่ะ

 

คือเรามองว่า ฆาตกรใน MALIGNANT มันเน้นเลือกฆ่าคนที่มันมีความแค้นเป็นหลักน่ะ มันไม่ได้เน้นเลือกฆ่าคนทั่วไปตามท้องถนน ส่วนผี/ปีศาจใน THE POWER กับ AMULET ก็เหมือนเลือกทำร้าย ผู้ชายที่เคยทำเลว ๆ กับผู้หญิงเป็นหลักน่ะ เราก็เลยไม่ได้มองว่าตัวเองจะต้องตกเป็นเหยื่อของฆาตกรหรือผีในหนังกลุ่มนี้ 55555 แต่ก็ชอบหนัง 3 เรื่องนี้อย่างสุด ๆ นะ แต่เป็นความชอบที่ไม่ได้สัมพันธ์กับ ความกลัว

 

แต่เหมือนพอเราเชื่อเรื่องแม่มด, ปีศาจ และสนใจในเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ที่เปิดขายตามเพจหรือกรุ๊ปแม่มด เราก็เลยรู้สึกว่าอะไร ๆ แบบที่ตัวละครเจอใน THE CONJURING 3 และ DEMONIC มันไม่ไกลจากตัวเราน่ะ เหมือนมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ถ้าหากเราเลือกซื้อของแล้วได้ของที่มีอะไรบางอย่างติดมาด้วย หรือถ้าหากมีใครมาหลอกเราว่า ท่องคาถานี้แล้วจะมีผัวแต่จริง ๆแล้วมันเป็นคาถาปลุกปีศาจอะไรสักตัวขึ้นมา อะไรทำนองนี้ 55555 คือเหมือนเรารู้สึกว่าเราอาจตกเป็นเหยื่อของแม่มดหรือปีศาจแบบในหนังสองเรื่องนี้ได้น่ะ แต่เราไม่ได้มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของ ผีที่ต้องการล้างแค้นผู้ชายที่ทำตัวเลว ๆแบบในหนังสยองขวัญหลาย ๆ เรื่อง

 

และปัจจัยแบบนี้ก็เลยมีผลอย่างมาก ๆ ต่อ ความอินและ ความรู้สึกกลัวที่เรามีต่อหนังสยองขวัญหลาย ๆ เรื่องค่ะ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ย่อมแตกต่างกันไปอย่างมาก ๆ สำหรับผู้ชมแต่ละคน

---------------

ชอบประเด็นที่อุ้ยเขียนอย่างสุด ๆ ทำให้นึกถึง BRAVE FATHER ONLINE: OUR STORY OF FINAL FANTASY XIV (2019, Teruo Noguchi) ที่นำเสนอวิดีโอเกมว่าเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความรักความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว แทนที่จะนำเสนอวิดีโอเกมว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ลูก ๆ แปลกแยกจากพ่อแม่ ซึ่งจะแตกต่างจากหนังฝรั่งอย่าง GAMER (2009, Mark Neveldine + Brian Taylor) และ EXISTENZ (1999, David Cronenberg) ที่อาจจะเป็นการทำนายล่วงหน้าถึงโลก จักรวาลนฤมิตในทางลบ (ถ้าจำไม่ผิด)

 

พอเราดู BELLE แล้ว เราก็หวังว่า ถ้าหากมีการสร้างโลกจักรวาลนฤมิตแบบในหนังเรื่องนี้ขึ้นมาจริง ๆ ดิฉันก็ขอใช้ชีวิตเป็น "กะหรี่" ในจักรวาลนฤมิตค่ะ 55555

 

No comments: