Saturday, January 27, 2024

FILMS OF HATRED

 

พอเห็นชื่อคุณ Panitarn Boontarig ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าจำไม่ผิด ครั้งสุดท้ายที่เราได้ดูภาพยนตร์ที่กำกับโดยคุณ Panitarn Boontarig คือในปี 2010 โดยในตอนนั้นเราได้ดูภาพยนตร์ 3 เรื่องที่กำกับโดยคุณ Panitarn ซึ่งได้แก่เรื่อง GOOD MAN อยู่ในใจ, EMOTION CHANGE เพราะอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย และ LOVE HIDDEN รักนี้ที่ซ่อนไว้

++++

ฉันรักเขา Karan Singh Grover from FIGHTER (2024, Siddharth Anand, India, 160min, A+25)

 

ภาพยนตร์แห่งความเกลียดชัง, ภาพยนตร์ในฐานะ “อาวุธสงคราม” และ “โรงภาพยนตร์” ในฐานะ “สมรภูมิรบ”

 

FIGHTER (2024, Siddharth Anand, India, 160min, A+25)

+ BAZMANDE (THE SURVIVOR) (1995, Seifollah Dad, Iran, A+30)

+ THE BLOOD OF SUPAN เลือดสุพรรณ (1979, Cherd Songsri, A+30)

 

1.จริง ๆ แล้วเราชอบ “ฝีมือการกำกับ” ของ Siddharth Anand ใน FIGHTER ในระดับ A+30 เลยนะ รู้สึกว่าเขาทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาดู “มี taste” มากกว่าหนังบู๊แอคชั่นตลาดแตกของอินเดียโดยทั่วไป แต่เราไม่สามารถทำใจให้ A+30 กับ FIGHTER ได้ เพราะเหมือนหนังมันถูกห่มคลุมไปด้วย “ความเกลียดชัง PAKISTAN” อย่างรุนแรงสุดขั้วมาก ๆ

 

2.ซึ่งจะว่าเราลำเอียงก็ใช่น่ะแหละ คือเราแทบไม่เคยรู้เรื่องราวความเลวร้ายที่ปากีสถานทำกับอินเดียในโลกแห่งความเป็นจริงมากนัก เรามักจะได้ดูแต่หนังแอคชั่นอินเดียที่อุดมไปด้วยความเกลียดชังปากีสถาน เพราะฉะนั้นพอ “สิ่งที่เรารับรู้ในโลกแห่งความเป็นจริง” กับ “ความเกลียดชังในหนัง” มันไม่สมดุลกัน เราก็เลยเหมือนรู้สึกว่าความเกลียดชังปากีสถานในหนังอินเดียเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงในหนังเรื่อง FIGHTER มันดูมากเกินไปสำหรับเรา

 

3.ในขณะเดียวกัน เราก็เพิ่งดูหนังอิหร่านเรื่อง BAZMANDE (THE SURVIVOR) ที่เต็มไปด้วย “ความเกลียดชัง ISRAEL” อย่างรุนแรงสุดขั้วมาก ๆ ซึ่งเอาจริงแล้วเราก็ไม่ได้ประทับใจฝีมือการกำกับของ Seifollah Dad ในระดับ A+30 นะ แต่ตัว “เนื้อเรื่อง” มันเข้าทางเราอย่างสุด ๆ โดยเฉพาะการที่นางเอกเป็น “หญิงชรา” ที่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ตัดสินใจได้ยากตลอดทั้งเรื่อง

 

ซึ่งถึงแม้ BAZMANDE จะเต็มไปด้วย “ความเกลียดชัง ISRAEL อย่างรุนแรงสุดขั้ว” แต่เรากลับรู้สึกว่าเรายอมรับมันได้มากกว่า FIGHTER และหนังแอคชั่นอินเดียที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง PAKISTAN ซึ่งนั่นก็คงเป็นเพราะความลำเอียงของเราเอง ซึ่งความลำเอียงของเราก็เป็นเพราะเราได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเลวร้ายต่าง ๆ ที่อิสราเอลทำกับชาวปาเลสไตน์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นพอเรารู้สึกว่า “ความเกลียดชังในหนัง” กับ “ข้อมูลข่าวสารในโลกแห่งความเป็นจริง” มันไม่ได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากนัก เราก็เลยเหมือนทำใจยอมร้บ “ความเกลียดชัง ISRAEL” ที่ถูกบรรจุไว้อย่างล้นปรี่ในหนังเรื่อง BAZMANDE ได้ในระดับนึง

 

4. ส่วน “เลือดสุพรรณ” นั้น เราไม่ถือว่าเป็น “ภาพยนตร์แห่งความเกลียดชัง” แต่อย่างใด แต่พอดีเราได้ดูหนังเรื่องนี้ในช่วงนี้พอดี และรู้สึกว่ามันเหมาะเทียบเคียงกับ “ภาพยนตร์แห่งความเกลียดชัง” อีกสองเรื่อง

 

คือจริง ๆ แล้วในองก์สุดท้ายของ “เลือดสุพรรณ” นั้น ตัวละครเหมือนจะเกลียดชังกองทัพพม่าอย่างรุนแรงมาก ๆ แต่เรารู้สึกว่า หนังมันไม่ได้ปลุกเร้าให้เรารู้สึกเกลียดชังพม่าในปัจจุบันน่ะ มันแตกต่างอย่างมาก ๆ จาก BAZMANDE และ FIGHTER ที่ดูเหมือนจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก “ความเกลียดชังต่อคนชาติศัตรูในยุคปัจจุบัน”

 

ซึ่งสาเหตุที่ “เลือดสุพรรณ” พ้นผิดจากจุดด่างพร้อยนี้ในสายตาของเรา เป็นเพราะว่าช่วงสององก์แรกของหนัง มันพยายามอย่างยิ่งที่จะให้คนดูไม่มองคนพม่าแบบเหมารวมน่ะ เหมือนหนังพยายามนำเสนอตัวละครทหารพม่าที่ดูเป็นมนุษย์มนามากกว่าในหนังไทยแนวรักชาติโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยไม่รู้สึกว่า หนังมันพยายามปลุกเร้าให้เราเกลียดชังคนพม่า (ซึ่งจะแตกต่างจาก BAZMANDE และ FIGHTER มาก ๆ) และพอเราดูจบแล้ว เราก็รู้สึกว่า จุดประสงค์หลักของหนังจริง ๆ แล้วคงไม่ใช่ต้องการด่าพม่า แต่หนังคงต้องการ “ปลุกเร้าความรักชาติ ความสามัคคีของคนในชาติ ในยุคสงครามเย็น” มากกว่า คือถึงแม้หนังมันจะไม่ได้พูดถึงคอมมิวนิสต์เลย แต่พอเราคิดถึงยุคสมัยของหนัง และคิดถึงสุนทรพจน์ของตัวละครบางตัวในหนัง เราก็เดาเอาว่า บางทีจุดประสงค์หลักของหนังน่าจะเป็นการปลุกเร้าคนดูชาวไทยให้สามัคคีกันต้านภัยคอมมิวนิสต์หรือเปล่า

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็มีปัญหากับ “ความรักชาติอย่างล้นปรี่” ในองก์สุดท้ายของ “เลือดสุพรรณ” นะ แต่พอคิดถึงยุคสมัยที่หนังเรื่องนี้สร้างออกมาแล้ว เราก็พอทำใจยอมรับมันได้ในระดับนึง

 

แต่ยอมรับว่า พอเราดูหนังเหล่านี้แล้ว เราก็รู้สึกว่า “โรงภาพยนตร์” จริง ๆ แล้วมันก็ถือเป็น “สมรภูมิรบ” ในบางครั้งนะ เพราะเรารู้สึกว่าหนังอย่าง “สิงห์สำออย” (1977, Dokdin Gunyamal) มันก็เหมือนเป็น “อาวุธสงคราม” ที่ใช้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น หนังอย่าง BAZMANDE มันก็คือ “อาวุธสงคราม” ที่ใช้ต่อสู้กับอิสราเอล หนังอย่าง AMERICAN SNIPER (2014, Clint Eastwood) ก็เหมือนเป็นอาวุธสงครามของฝ่ายขวาในสหรัฐ  และหนังอย่าง FIGHTER ก็เหมือนเป็นอาวุธสงครามที่ใช้สู้กับปากีสถาน

 

ซึ่งโดยปกติแล้ว หนังที่เรารู้สีกว่ามันเป็น “อาวุธสงคราม” เหล่านี้ มันก็ไม่จำเป็นว่าจะต้อง “อุดมไปด้วยความเกลียดชังศัตรูอย่างล้นปรี่” นะ เพราะ “หนังที่อุดมไปด้วยความรักความเมตตา” อย่างเช่น ORDINARY HERO (2022, Tony Chan, China, A+15) นั้น เราก็รู้สึกว่า มันก็เหมือนเป็น “อาวุธสงคราม” ที่ใช้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนซินเกียงด้วยเหมือนกัน 55555 แต่พอหนังมันไม่ได้เน้นกระตุ้นความเกลียดชังในผู้ชม เราก็เลยไม่ได้รู้สึกต่อต้านมันมากนัก แต่รู้สึกฮากับความ propaganda ของมันมากกว่า

 

ก็เลยรู้สึกว่า สถานะของภาพยนตร์ในฐานะ political propaganda หรือ “อาวุธสงคราม” นี้ มันน่าสนใจดี และเราจะเห็นมันชัดมาก ๆ ใน “หนังแอคชั่นของอินเดีย” ในยุคปัจจุบัน ส่วนในอดีตนั้น เราก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเริ่มมาตั้งแต่ THE BIRTH OF A NATION (1915, D.W. Griffith) เลยหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจ เพราะเรายังไม่ได้ดู THE BIRTH OF A NATION 55555 และแม้แต่ TRIUMPH OF THE WILL (1935, Leni Riefenstahl) เราก็ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน

No comments: