Wednesday, September 09, 2009

MUST-SEE FILM IN SEP -- DOUBLE TAKE (Johan Grimonprez)

DOUBLE TAKE (2009, Johan Grimonprez) will be shown in the Bangkok International Film Festival during 24-30 September, 2009.
http://www.bangkokfilm.org/index.php?name=programs&file=readprograms&id=15

Mark Peranson wrote about this film here:
http://www.cinema-scope.com/cs38/int_peranson_grimonprez.html

สาเหตุหลักที่ทำให้อยากดูหนังเรื่องนี้เป็นเพราะว่าเคยดูหนังเรื่อง DIAL H-I-S-T-O-R-Y (1998) ของผู้กำกับคนนี้มาแล้ว และรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาก และถ้าเข้าใจไม่ผิด หนังเรื่อง DOUBLE TAKE นี้ก็จะมีลักษณะสำคัญบางอย่างเหมือนกับ DIAL H-I-S-T-O-R-Y นั่นก็คือการนำเอา found footage หรือส่วนเสี้ยวของภาพเคลื่อนไหวเก่าๆจากหลายแหล่งที่มามาตัดต่อเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ๆหรือความหมายใหม่ๆที่พิศวงพิสดาร โดยในส่วนของ DOUBLE TAKE นั้นจะไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนที่เป็น found footage เท่านั้น แต่มีส่วนที่ Grimonprez ถ่ายทำขึ้นใหม่เองด้วย ซึ่งก็คือส่วนที่แอลเฟรด ฮิทช์ค็อกสองคนมาปะทะกัน

เราอ่านเรื่องย่อของ DOUBLE TAKE แล้วเราไม่เข้าใจ แต่นั่นก็ทำให้เราอยากดูหนังเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้ยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้ ถ้าหากให้เราเดาๆเอาจากที่ได้อ่านมา เราก็คิดว่า DOUBLE TAKE อาจจะพูดถึงสิ่งต่างๆที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งรวมถึงสิ่งต่อไปนี้

1.การพูดถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่พูดถึงประเด็นนี้ผ่านทางการย้อนดูประวัติศาสตร์ของสงครามเย็น โดยเฉพาะการก่อตัวของสงครามเย็นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 โดยจุดที่น่าสนใจมากของสงครามทั้งสองครั้งนี้ก็คือการใช้ประโยชน์จากความกลัวของประชาชน นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังมีการตัดสลับข้ามเวลากันไปมาอย่างรุนแรงมาก ซึ่งอาจจะเป็นการตอกย้ำประเด็นที่ว่า "ประวัติศาสตร์มักจะย้อนรอยตัวเอง"

2.DOUBLE TAKE อาจจะพูดถึงบทบาทของสื่อในสงครามด้วย อย่างเช่นบทบาทของสื่อโทรทัศน์ในช่วงสงครามเย็นและสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือการที่สื่อที่ได้รับความนิยมสูงอย่างเช่นภาพยนตร์อาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างของสังคมในแต่ละยุค อย่างเช่นในยุคของฮิทช์ค็อกก็อาจจะสะท้อนความหวาดกลัวสงครามเย็น และในยุคทศวรรษ 1990 ก็อาจจะสะท้อนความหวาดกลัว "สิ่งอื่น" ที่ยังไม่ปรากฏชัดเจน เพราะในทศวรรษ 1990 เป็นยุคที่สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายยังไม่เริ่มต้นขึ้น

3.DOUBLE TAKE อาจจะพูดถึงเรื่องการแข่งขันกันระหว่างสื่อด้วย โดยเฉพาะการที่สื่อโทรทัศน์เข้ามาแทนที่สื่อภาพยนตร์ในทศวรรษ 1950 และการที่สื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน โดย Grimonprez ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อโทรทัศน์ในทศวรรษ 1950 อาจจะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆหลายอย่าง อย่างเช่น "การเล่าเรื่องโดยคำนึงถึงความจริงที่ว่าจะต้องมีโฆษณาเข้ามาคั่นเป็นระยะๆ" หรือ "การเล่าเรื่องโดยคำนึงถึงความจริงที่ว่าผู้ชมอาจจะทำกับข้าวไปด้วยหรือกินข้าวกับครอบครัวไปด้วยในระหว่างที่ดูทีวี" นอกจากนี้ Grimonprez ยังตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์หลายเรื่องเริ่มไม่ใส่คำว่า The End เข้าไปในตอนจบตั้งแต่ในยุคนั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นผลมาจากการที่ภาพยนตร์เริ่มได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์ในยุคนั้น เพราะภาพในโทรทัศน์เป็นภาพที่ไม่มีจุดจบหรือจุดสิ้นสุด

4.DOUBLE TAKE พูดถึงหนังเรื่อง THE BIRDS (1963, Alfred Hitchcock) ด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ได้รับการตีความมากมาย โดยได้รับการตีความว่าอาจหมายถึงการที่สื่อโทรทัศน์รุกล้ำเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนของประชาชนในยุคนั้น หรือบางคนก็ตีความว่าหนังเรื่องนี้อาจหมายถึงความสัมพันธ์แบบเก็บกดระหว่างแม่กับลูกชาย

5.ความเฮี้ยนอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือการให้ตัวละครฮิทช์ค็อกสองคนมาปะทะกันในกองถ่ายหนังเรื่อง THE BIRDS โดยนักวิจารณ์บอกว่าส่วนนี้ของ DOUBLE TAKE เป็นสิ่งที่ "Borgesian" หรือ "คล้ายบทประพันธ์ของบอร์เกส" มากๆ

6.หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่จัดประเภทไม่ได้ เพราะมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องจริง,เรื่องแต่ง และเรียงความผสมกันอยู่อย่างอลหม่านไปหมด เราเดาว่าความเฮี้ยนตรงจุดนี้อาจจะอยู่ในระดับเท่ากับหรือมากกว่า MY WINNIPEG (Guy Maddin) ในปีที่แล้ว โดยความเหลื่อมล้ำกันระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งใน DOUBLE TAKE ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง "ความไม่จริง" ของเหตุผลที่นำมาใช้ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และเป็นการตั้งคำถามต่อ "ความจริง" ของรายงานข่าวสงครามทางโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันด้วย

7.หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเล่นกับคำว่า double ในหลายๆแง่ ทั้งการมีฮิทช์ค็อกสองคน, การซ้ำของประวัติศาสตร์, การนำฉากเก่ามาเล่นใหม่อีกครั้ง แต่ในบริบทที่ต่างออกไป, การที่ "ภาษา" พยายามจะลอกเลียนหรือทำซ้ำ "ความเป็นจริง", การที่โทรทัศน์ทำซ้ำความเป็นจริง

8.หนังเรื่องนี้นำเสนอเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องการส่งยานสปุตนิกของสหภาพโซเวียตขึ้นสู่อวกาศในปี 1957 ซึ่งสร้างความหวาดผวาให้กับชาวสหรัฐในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และเหตุการณ์ Kitchen Debate หรือการสนทนากันครั้งสำคัญระหว่างนิกิตา ครุชเชฟ นายกรัฐมนตรีโซเวียต กับริชาร์ด นิกสัน รองประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ห้องครัวในบ้านตัวอย่างหลังหนึ่งในกรุงมอสโคว์ในปี 1959 โดยทั้งสองคนนี้ต่างก็กล่าวถึงข้อดีของระบบเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ซี่งได้แก่ระบบคอมมิวนิสต์ของโซเวียตกับทุนนิยมของสหรัฐ และการสนทนานี้ได้รับการแพร่ภาพทางโทรทัศน์

9.หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมต้องตั้งคำถามหรือตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอเกือบตลอดเวลา และนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทำในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน เพราะเราทุกคนควรตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อข่าวทางโทรทัศน์และข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์

10.นักวิจารณ์บอกว่าหนังเรื่องนี้มีลักษณะเชิงกวีด้วย

เรายังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เราแค่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้หรอกว่าประเด็นต่างๆที่เราเขียนมาข้างต้นมันมีอยู่ในหนังจริงหรือเปล่า ถ้าหากประเด็นบางประเด็นที่เราระบุมาข้างต้นไม่ได้มีอยู่ในหนัง เราก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้ได้ที่

Excerpts from DOUBLE TAKE:
But it is 1962
http://www.youtube.com/watch?v=uuDG39Cl7Mc

The humiliation of old age
http://www.youtube.com/watch?v=fCWzQSQwNxk

I didn't get that
http://www.youtube.com/watch?v=Bs4wkbIviqY

If you meet your double, you should kill him
http://www.youtube.com/watch?v=pCKyyb_3VX0

The Nixon-Khrushchev summit meet
http://www.youtube.com/watch?v=NwdNjDSw02A

20th Century's most extraordinary diplomatic maneuver
http://www.youtube.com/watch?v=_iWHDjJ613k

We have scripted this moment together
http://www.youtube.com/watch?v=8b7Jf1G-ejI

No comments: