DRAMATISTS MUST DIE (2013, Rattapong Pinyosopon, stage play, A+/A)
นักการละครต้องตาย (รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ)
SPOILERS ALERT
ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.เราชอบประเด็นเรื่องระบอบเผด็จการกับการที่ตัวพระเอกไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้เพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพนะ
แต่ถึงแม้เราจะชอบประเด็นเหล่านี้ เรากลับไม่อินกับมันมากเท่าที่ควร เรารู้สึกว่าละครเรื่องนี้มันขาด
magic บางอย่างน่ะ
ไม่รู้ว่าเกิดจากสถานที่แสดงไม่เอื้ออำนวย
หรือเป็นเพราะเรานั่งใกล้นักแสดงมากเกินไปหรือเปล่า
เราได้ที่นั่งแถวหน้าสุดในรอบแรกของละครเรื่องนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าการที่เรานั่งใกล้นักแสดงมากเกินไปมันมีส่วนในการทำลาย
magic ของละครหรือเปล่า
ในแง่นึงความรู้สึกของเราที่มีต่อละครเรื่องนี้
มันเป็นขั้วตรงข้ามกับความรู้สึกของเราที่มีต่อละครเรื่อง “M. ANTOINE ทำอย่างไรให้โง่”
(2013, Ben Busarakamwong) นะ
เพราะในเรื่องนั้นเราไม่รู้สึกอินกับเนื้อหาในละครเลย ทั้งปัญหาชีวิตของ M.
Antoine และปัญหาในการแสดงละครเวที แต่เรากลับชอบ “M. ANTOINE
ทำอย่างไรให้โง่” มากๆ เพราะเราว่ามันมีเสน่ห์ทางการแสดงอย่างมากๆ
แต่ “นักการละครต้องตาย” มันไม่มีเสน่ห์แบบนั้น
2.แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การที่เรารู้สึกว่า “นักการละครต้องตาย”
มันขาดเสน่ห์หรือ magic แบบละครเวที
มันเป็นสิ่งที่ผู้กำกับจงใจอยู่แล้วหรือเปล่า
เพราะละครเรื่องนี้อาจจะต้องการพูดถึงความขัดแย้งระหว่างโลกแห่งความจริงที่แข็งกระด้างและเย็นชา
กับโลกแห่งความฝันที่อยู่ในหัวของพระเอก เพราะฉะนั้นการที่ละครเรื่องนี้มันดูค่อนข้างแข็งกระด้าง
และขาดมนตร์มายาแบบละครเวทีเรื่องอื่นๆ
มันอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้กำกับจงใจอยู่แล้วก็ได้
จุดนึงที่ทำให้เราสงสัยว่าผู้กำกับอาจจะต้องการให้ละครออกมาดูขาด magic อยู่แล้ว
ก็คือช่วงต้นของเรื่องนี้ที่ผู้กำกับใช้วิธีการที่ย้ำเตือนคนดูว่า
พวกเขากำลังดูละครอยู่ คือผู้กำกับอาจจะจงใจทำลาย magic ของละครอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง
3.แต่ถึงแม้โดยรวมๆแล้วเราจะรู้สึกว่าละครเรื่องนี้ขาด magic แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดของละครเรื่องนี้นะ
เราว่าการแสดงของคุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัยในเรื่องนี้ มันยังมี magic ของละครเวทีอย่างเต็มที่อยู่ มันดูมีทักษะแพรวพราวมากๆ แต่เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนอื่นๆเล่นได้ไม่ดีเท่าคุณศรชัยนะ
เราแค่ต้องการจะบอกว่าเราชอบการแสดงของคุณศรชัยในเรื่องนี้มาก แต่มันขึ้นอยู่กับบทที่เขาได้รับด้วยแหละ
บทของเขามันเป็นบทของตัวละครที่อยู่ในโลกจินตนาการของพระเอก อยู่ใน “ละครซ้อนละคร”
มันก็เลยอาจจะเอื้อให้เล่นแสดงออกอะไรได้มากกว่า ในขณะที่ตัวละครที่แสดงโดยคุณอรดา
ลีลานุชเป็นตัวละครที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
การแสดงมันก็เลยต้องออกมาในอีกแบบนึง
4.ประเด็นเรื่อง “เกาหลีเหนือ+เผด็จการ” ดูน่าสนใจดี
แต่ไม่กระทบเรามากเท่า KIM JONG-IL IS DEAD (2013, Rattapong Pinyosopon, A+15) เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าประเด็นเรื่องเผด็จการใน “นักการละครต้องตาย”
มันมีอะไรใหม่ๆหรือน่าสนใจเพิ่มเข้ามาจาก KIM JONG-IL IS DEAD หรือเปล่า เราว่ามันน่าสนใจดีที่ละครสองเรื่องนี้นำเสนอเรื่องเผด็จการออกมาในโทนต่างกัน
โดย KIM JONG-IL IS DEAD ออกมาในแนวซีเรียสจริงจัง ส่วน “นักการละครต้องตาย”
ออกมาในแนวตลกขบขันเสียดสี แต่เรารู้สึกว่าประเด็นนี้ใน “นักการละครต้องตาย”
มันไม่ได้ทำให้เราคิดอะไรเพิ่มมากขึ้นไปจาก KIM JONG-IL IS DEAD มากนัก เราก็เลยไม่ได้ประทับใจกับจุดนี้ของละครมากนัก ทั้งๆที่โดยปกติแล้วเราจะชอบประเด็นเรื่องเผด็จการและเสรีภาพในการแสดงออกมากๆ
5.ส่วนประเด็นเรื่องที่พระเอกต้องละทิ้งความฝันในการทำละครจรรโลงสังคมเพราะความจำเป็นในการหาเงินมาเลี้ยงชีพ
เป็นประเด็นที่เราน่าจะรู้สึกร่วมกับมันอย่างรุนแรง
แต่ไปๆมาๆแล้วเรากลับไม่อินกับประเด็นนี้มากเท่าที่ควร
ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจหรือเปล่า
เราไม่แน่ใจว่าผู้กำกับต้องการให้คนดู sympathize กับพระเอก หรือ sympathize
กับตัวละครของอรดา หรือทั้ง sympathize+เวทนา+รำคาญพระเอกไปด้วยในขณะเดียวกัน
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบที่ละครไม่ได้นำเสนอตัวละครพี่สาวออกมาในแบบ “ผู้ร้าย”
อย่างเต็มตัว
แต่ทำให้เราเข้าใจตัวละครตัวนี้และค่อนข้างเห็นด้วยกับการกระทำของตัวละครตัวนี้มากๆ
แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นใจพระเอกไปด้วยในขณะเดียวกัน
6.ถ้าเอาเฉพาะเส้นเรื่องหลักของละครเรื่องนี้ มันก็เป็นเส้นเรื่องในแบบที่เราชอบนะ
เพราะละครเรื่องนี้ไม่ได้จบลงด้วยการบอกว่า “จงสู้ต่อไปเพื่อความฝันของตัวคุณเอง
สักวันความฝันของคุณจะกลายเป็นจริง” แต่จบลงด้วยการบอกว่า “ชีวิตคนเรามันไม่มีทางสมหวังได้ทุกอย่างหรอก
เราต้องยอมรับความจริงข้อนี้ของชีวิต เราฝันได้
แต่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่ามันอาจจะเป็นได้เพียงความฝันเท่านั้น”
7.ชอบการ blend กันของโลกแห่งความจริงกับความฝันด้วย
โดยเฉพาะการที่ตัวละครพี่สาวเข้ามาในความฝัน มันทำให้เราคิดต่อไปได้ว่า
จริงๆแล้วตัวละครพี่สาวอาจจะไม่มีจริงก็ได้ บางทีตัวละครพี่สาวอาจจะเป็นตัวแทนของ “เหตุผล”
ที่อยู่ในใจพระเอก
8.ปกติแล้วเรามักจะอินกับประเด็นเรื่อง “ตัวละครมีความฝัน
แต่ไม่สามารถทำตามความฝันได้ เพราะความจำเป็นในการหาเงินมาเลี้ยงชีพ”
เพราะมันตรงกับชีวิตเราและเพื่อนๆเรา
เราเองก็อยากมีเวลาเขียนถึงหนังหลายๆเรื่องที่เราชอบสุดๆ
แต่เรากลับแทบไม่มีเวลาเขียนถึงหนังที่เราชอบสุดๆเลย
เพราะเราต้องเอาเวลาไปทำงานหาเงิน+ดูแลสุขภาพ เพื่อนๆเราก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
บางคนอยากทำหนัง แต่ก็ต้องทำงานธนาคารแทน บางคนอยากเขียนหนังสือ แต่ก็ต้องทำงานเป็นเภสัช
บางคนอยากเป็นดีไซเนอร์ แต่ก็ต้องทำงานเป็นครูสอนฟิสิกส์
เรามักจะอินกับหนังที่พูดถึงตัวละครที่ประสบปัญหาทางการเงินด้วย
อย่างเช่น ILO ILO (2013, Anthony Chen) และ “ยอดมนุษย์เงินเดือน”
(2012, วิรัตน์ เฮงคงดี) แต่ DRAMATISTS MUST DIE ทำให้เราอินกับจุดนี้ในระดับหนึ่ง
แต่ไม่ได้อินมากนัก
เราก็เลยสงสัยว่า ทั้งๆที่ตัวพระเอกมันมีชีวิตที่เอื้อให้เราอินกับมันมากๆ
แต่ทำไมเราถึงไม่อินกับมันมากนัก
ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร
บางทีสาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าผู้กำกับละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมสงสารตัวละครตัวนี้มากนักก็ได้
หรือสาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าตัวพระเอกมันฟูมฟายกับเรื่องนี้มากเกินไป เพราะเรามองว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนจนๆอย่างเราต้องเจอกันเป็น
“ปรกติธรรมดา” อยู่แล้ว คนอย่างเราแทบไม่มีทางที่จะได้ประกอบอาชีพดังใจฝันอยู่แล้ว
มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนอย่างเราต้องทนลำบากทำงานหามรุ่งหามค่ำ
ต้องทนทำงานที่ตัวเองไม่ enjoy อยู่แล้ว เรื่องนี้มันเป็นเรื่องน่าเศร้า
แต่ในแง่นึงมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับชีวิตเราและเพื่อนๆเราที่เลือกเกิดไม่ได้
แต่ตัวละครพระเอกกลับทำเหมือนกับว่าเรื่องนี้มันรุนแรงมากๆหรือมันสำคัญมากๆที่เขาไม่สามารถทำละครในแบบที่เขาต้องการ
เราก็เลยรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับจุดนี้นิดหน่อย
คือถ้าหากพระเอกไม่สามารถทำละครแบบที่เขาต้องการ เพราะกฎหมายประเทศนี้มันอยุติธรรม
และพระเอกรู้สึกเจ็บปวดมากๆกับจุดนี้ เราจะรู้สึกว่าจุดนี้มันโอเค เพราะเราก็รู้สึกรุนแรงมากๆกับเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน
แต่ถ้าหากพระเอกไม่สามารถทำละครแบบที่ตัวเองต้องการ
เพราะเขาต้องเอาเวลาไปทำงานหาเงิน เรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาน่ะ
เราและเพื่อนๆเราต่างก็เจอปัญหาแบบนี้กันทั้งนั้น
สรุปว่าเราชอบ “ประเด็น” นี้มากๆ เพราะมันตรงกับชีวิตเราและเพื่อนๆเรา
แต่ “โทนอารมณ์” ในการนำเสนอประเด็นนี้มันฟูมฟายมากเกินไปน่ะ เราก็เลยไม่ได้อินกับละครเรื่องนี้มากเท่าที่ควร
9.แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การที่เราไม่ชอบความฟูมฟายของตัวพระเอกในตอนท้ายของเรื่องนี้
มันเป็นเพราะว่าโดยปกติแล้วเราชอบการแสดงออกแบบนิ่งเงียบใน “ภาพยนตร์”
มากกว่าการแสดงออกแบบที่ต้องเปล่งพลังไปให้ถึงคนดูแถวหลังสุดใน “ละครเวที”
หรือเปล่า บางทีการที่เราชอบละครเรื่องนี้แค่ในระดับ A+/A (แปลว่า “เกือบจะชอบมาก”)
อาจจะเป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวของเราที่ชอบภาพยนตร์ มากกว่าละครเวทีก็ได้
ถ้าหากเราไม่ชอบความฟูมฟายของพระเอกในตอนท้ายของ DRAMATISTS MUST DIE แล้วการแสดงออกแบบไหนที่เราชอบ การแสดงแบบที่เราชอบมันคือการแสดงแบบในภาพยนตร์ที่
Ray Carney เขียนถึงในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2” เราขอ quote
คำพูดของ Ray Carney มาไว้ในที่นี้ด้วยแล้วกัน
เพื่อแสดงให้เห็นว่ารสนิยมส่วนตัวของเราชอบแบบไหนจ้ะ
“แสดงออกมากไม่ใช่เรื่องดี มันง่ายที่จะ “ก่อเรื่อง”
ด้วยการทำท่าโกรธโวยวาย แต่การหงุดหงิดระบายอารมณ์เป็นเรื่องสำหรับสถานเลี้ยงเด็ก
ถ้าฉากสำคัญในหนังของคุณเป็นฉากที่มีตัวแสดงตะโกน ทำท่าทำทาง ร้องไห้
นั่นอาจหมายความว่ามีบางอย่างผิดปกติในตัวคุณเกี่ยวกับการทำความเข้าใจชีวิต
ดังที่ Carl Theodor Dreyer เคยกล่าวไว้
ฉากสะเทือนใจของชีวิตมักจะเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ สงบงันที่มุมห้องใดมุมห้องหนึ่ง เวลาที่คุณได้ข่าวร้าย
ปกติคุณจะพูดไม่ออก อาจจะอีกหลายวันกว่าที่คุณจะคุยถึงมันได้
ฉากยิ่งใหญ่คือฉากที่ตัวละครไม่ร้องไห้ แต่คนที่ร้องไห้กลับเป็นคนดู
ซึ่งมักจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่อตัวละครปฏิเสธไม่ยอมร้องไห้เอง เพราะตัวละคร
Joan of Arc ในหนังของ
Dreyer ไม่ยอมร้องไห้ นั่นกลับเป็นเหตุให้เราร้องไห้เอง”
ในแง่นึงเราก็ชอบการแสดงแบบโอเวอร์มากๆ ปล่อยพลังเต็มที่แบบใน “M. ANTOINE ทำอย่างไรให้โง่”
กับการแสดงของคุณศรชัยในเรื่องนี้นะ แต่มันไม่ใช่การแสดงแบบที่ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งเห็นใจตัวละครน่ะ
เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีปัญหากับฉากจบของ DRAMATISTS MUST DIE เพราะเราว่าในฉากนั้นมันดูเหมือนน่าจะทำให้เรารู้สึกเห็นใจตัวละครได้
แต่มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครมันฟูมฟายมากเกินไปแทน
คือถ้าหากละครเรื่องนี้ทำเป็นหนัง แล้วตัวพระเอกใช้การแสดงแบบนิ่งเงียบ
ยอมรับว่าชีวิตคนเรามันเต็มไปด้วยความผิดหวัง และการต้อง compromise กับอะไรหลายๆอย่างในชีวิต มันก็อาจจะทำให้เรารู้สึกอินกับตัวพระเอกจ้ะ
แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพอมันเป็นละครเวที ไม่ใช่ภาพยนตร์
แล้วการแสดงออกแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับตัวพระเอกในเรื่องนี้
No comments:
Post a Comment