Tuesday, February 18, 2014

BECAUSE OF ETERNAL LOVE (2014, Pisal Pattanapeeradech, stage play, A+10)

BECAUSE OF ETERNAL LOVE (2014, Pisal Pattanapeeradech, stage play, A+10)
เพราะรัก ชั่วฟ้าดินสลาย (2014, พิศาล พัฒนพีระเดช, A+10)
 
SPOILERS ALERT
งานเขียนนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ คนที่ยังไม่ได้ดูละครเวทีเรื่องนี้ ยังไม่ควรอ่านครับ
 
ดูละครเวทีเรื่องนี้แล้วนึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ละครเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นเรื่องของการซ้อมละคร กับส่วนที่เป็นเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” โดยเราจะชอบส่วนที่เป็นการซ้อมละครมากๆ ในขณะที่ส่วนที่เป็นเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” เราจะเบื่อๆหน่อย เพราะเราเคยดูหนังเรื่องชั่วฟ้าดินสลายมาแล้วทั้งเวอร์ชั่นของมารุตในปี 1955 และเวอร์ชั่นของหม่อมน้อย พอเรารู้เนื้อเรื่องในส่วนนี้มาดีแล้ว เราก็เลยค่อนข้างเบื่อกับการดูเนื้อเรื่องเดิมๆตรงส่วนนี้อีก
 
ในแง่นึงเราก็เลยชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้เอาชั่วฟ้าดินสลายมาทำตรงๆ แต่มีเรื่องของกลุ่มนักศึกษาเข้ามาด้วย เพราะเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาเป็นส่วนที่เราว่ามันสนุกดีและเราก็ชอบส่วนนี้มาก
 
2.ในส่วนของเรื่องราวของนักศึกษานั้น เราชอบเรื่องราวของนพคุณ (ธามม์ ฌาธาม) มากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะที่ดูตุ้งติ้งของตัวละครตัวนี้ทำให้เรา identify ด้วยได้ในระดับหนึ่ง สิ่งที่เราชอบในตัวละครตัวนี้ก็มีเช่น
 
2.1 แว่บแรกที่ตัวละครตัวนี้โผล่ออกมา เรานึกว่าตัวละครตัวนี้เป็นเพียงแค่กะเทยแร่ดๆ ส่วนตัวละครฝุ่นดิน (เมธาวี วิริยา) ก็เป็นเพียงนักศึกษาสาวโง่ๆ แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินไป เราก็พบว่านพคุณเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการทำงานมาก และฝุ่นดินก็เป็นนักแสดงที่มีฝีมือมาก เราก็เลยชอบที่ first impression ในทางลบของเราที่มีต่อตัวละครสองตัวนี้ มันถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไป
 
2.2 ละครเวทีเรื่องนี้นำเสนอความสัมพันธ์ของนพคุณที่มีต่อตัวละครทุกตัวได้อย่างน่าสนใจ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนรัก (ธีรภัทร โลหนันทน์), ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฝุ่นดินที่เป็นเพื่อน, ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับชายที่เขาแอบชอบ (นรินทร์ธัช จันทรา), ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอาจารย์/คนเขียนบท (พิศาล พัฒนพีระเดช) และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ stage hand โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างนพคุณกับตัวละครเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างที่เนื้อเรื่องดำเนินไป
 
2.3 ในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนพคุณกับ stage hand เราจะชอบมากในระดับหนึ่ง เพราะความสัมพันธ์ตรงจุดนี้มันดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เราก็เลยชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับจุดเล็กๆน้อยๆตรงนี้ด้วย เราจะสังเกตได้ว่านพคุณไม่ได้ช่วยเหลือ stage hand ทำงานในตอนต้นเรื่อง แต่พอในช่วงท้ายเรื่อง เขาก็ช่วยเหลือ stage hand ทำงานด้วยความเต็มใจ เราชอบการนำเสนอพัฒนาการเล็กๆน้อยๆแบบนี้ของตัวละคร
 
ความสัมพันธ์ระหว่างนพคุณกับ stage hand ทำให้เรานึกถึงประเด็นหนึ่งที่เราชอบมากในละครเวทีเรื่องนี้ นั่นก็คือ “หน้าที่” ของคนทำงานแต่ละคน เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าละครเวทีเรื่องนี้ต้องการบอกอะไรคนดูตรงจุดนี้ แต่เราว่ามันน่าสนใจดีที่มันมี conflicts หลายอย่างเกี่ยวกับหน้าที่ในละครเวทีเรื่องนี้ โดยเฉพาะการที่นพคุณมีหน้าที่เป็นผู้กำกับ แต่ดูเหมือนจะไม่อยากทำหน้าที่นี้กับชายคนรักของตัวเอง และพยายามผลักภาระให้ครูโชทำหน้าที่นี้แทน แต่ในขณะเดียวกัน นพคุณก็ไม่ยอมช่วย stage hand ทำงานในช่วงต้นเรื่อง เพราะอาจจะมองว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเขา ตัวละครนพคุณก็เลยน่าสนใจดีในแง่ที่ว่า ในช่วงต้นเรื่อง เขาไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ยอมช่วยคนอื่นถ้าหากมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา
 
2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างนพคุณกับวายเป็นอะไรที่เจ็บปวดมากๆสำหรับเรา จนเราไม่แน่ใจว่า เราอาจจะชอบละครเวทีเรื่องนี้มากขึ้นหรือเปล่า ถ้าหากมันจบลงตรงจุดที่นพคุณรู้ความจริงว่าวายมีเซ็กส์กับฝุ่นดิน
 
ในละครเวทีเรื่องนี้ ฉากที่ peak ที่สุดสำหรับเรา หรือฉากที่เราลุ้นมากที่สุด คือฉากที่วายกับฝุ่นดินซ้อมบทด้วยกัน แล้วมีเซ็กส์กัน เราว่ามันคือฉาก climax ของเราในละครเวทีเรื่องนี้ แล้วพอนพคุณรู้ความจริงในเรื่องนี้ เราก็เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนพคุณมากๆในฉากนั้น ว่าจะรู้สึกเจ็บปวดแค่ไหน แล้วฉากนั้นก็จบลงด้วยการที่นพคุณดูเหมือนจะพยายามทำใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น แล้วลุกขึ้นยืนเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป/ทำละครต่อไป
 
ตอนที่เราดูฉากนี้ เราพบว่าเรารู้สึกสองจิตสองใจอย่างมากๆ เพราะในใจหนึ่งเราก็ภาวนาว่า “อย่าเพิ่งจบนะ อย่าเพิ่งจบนะ ฉันยังอยากรู้ว่าตัวละครจะมีชีวิตอย่างไรต่อไป” แต่ในอีกใจหนึ่ง เราก็รู้ดีว่า ถ้าหากละครมันจบลงตรงฉากนี้เลย เราจะชอบละครเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเราเป็นคนที่ชอบอารมณ์เจ็บปวด/โกรธแค้น/ทุกข์ทรมานในหนังและละครเวทีน่ะ มันเป็นรสนิยมส่วนตัวของเรา เรามักจะอินกับอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าหากละครมันจบลงตรงฉากนี้เลย เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าละครเรื่องนี้เอามีดมาแทงเราที่หัวใจ แล้วก็จบไปเลย แล้วเราก็จะเดินออกจากโรงละครไปพร้อมกับมีมีดปักคาใจเราอยู่ แล้วเราก็จะฝังใจกับละครเรื่องนี้ไปอีกนาน
 
แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้จบลงที่จุดนั้น เพราะจริงๆแล้วดูเหมือนว่าละครมันยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อที่คนดูจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครในช่วงท้าย ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจธีมหรือประเด็นของละครเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่คิดว่ามันผิดแต่อย่างใดที่ละครเรื่องนี้ไม่ได้จบลงตรงจุดที่เราชอบ แต่ในแง่ของ “อารมณ์ส่วนตัว” แล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งที่ช่วงท้ายของละครเรื่องนี้ทำกับเรา มันเหมือนการดึงมีดออกจากหัวใจแล้วก็เยียวยารักษา ทำแผลให้เราเรียบร้อย ก่อนที่จะปล่อยคนดูออกจากโรงละครน่ะ ซึ่งการทำแบบนี้มันไม่ผิดหรอกนะ แต่โดยรสนิยมส่วนตัวแล้ว เราอาจจะอินกับหนัง/ละครเวทีที่เอามีดปักหัวใจเรา แล้วก็จบไปเลยมากกว่า
 
ตัวอย่างของหนังที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ ก็คือเรื่อง JERICHOW (2008, Christian Petzold, A+30) สาเหตุที่เราเอาหนังเรื่องนี้มาเทียบกับละครเวทีเรื่องนี้ เพราะเราว่า JERICHOW กับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” มันเทียบเคียงกันได้น่ะ เพราะ JERICHOW มันเล่าเรื่องของชายแก่ที่มีเงิน, เมียสาวเซ็กซี่ และหนุ่มหล่อล่ำที่เป็นลูกน้องของชายแก่ แต่เป็นชู้กับเมียสาวเซ็กซี่ของชายแก่ แต่ JERICHOW ไม่ได้จบลงในแบบเดียวกับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” เพราะ JERICHOW จบลงในแบบที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงมากๆ และทำให้เราเดินออกจากโรงหนังพร้อมกับความรู้สึกที่ว่ามีมีดปักคาหัวใจของเราอยู่
 
สรุปว่าเราชอบ “เพราะรัก ชั่วฟ้าดินสลาย” มากพอสมควร เราก็เลยให้เกรด A+10 กับละครเรื่องนี้ (แปลว่าชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ) แต่เราไม่ได้ชอบละครเวทีเรื่องนี้ถึงขั้นชอบสุดๆ (ซึ่งเราใช้สัญลักษณ์เป็น A+30) สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้จบลงตรงจุดที่เราชอบเป็นการส่วนตัว และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่า เรามักจะเอา “ชั่วฟ้าดินสลาย” ไปเปรียบเทียบกับ JERICHOW ในใจเราน่ะ และเราก็ชอบ JERICHOW มากกว่า เพราะฉะนั้นพอมันมีตัวเปรียบเทียบที่เราชอบมากกว่า ความชอบของเราที่มีต่อชั่วฟ้าดินสลายก็เลยเหมือนลดลงไปหน่อยนึง
 
2.5 ความสัมพันธ์ของนพคุณที่มีต่อฝุ่นดิน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่ชอบละครเรื่องนี้ถึงขั้น A+30 เพราะเราดันเอาตัวเองไป identify กับนพคุณน่ะ แต่ในฉากจบ เรากลับพบว่านพคุณทำในสิ่งที่ไม่เหมือนเรา เพราะเราว่านพคุณให้อภัยฝุ่นดินง่ายดายเกินไป คือถ้าหากเราเป็นนพคุณ เราก็คงคบกับฝุ่นดินเป็น “เพื่อน” ได้ต่อไปนะ แต่ไม่ใช่ในฐานะ “เพื่อนสนิท” แบบเดิมอย่างแน่นอน เพราะยังไงเราก็คงระแวงอีนี่ไปจนตลอดชีวิตแน่ๆ ว่ามันจะแย่งผัวกูอีกหรือเปล่า 55555
 
สรุปว่า เราอาจจะชอบละครเรื่องนี้มากขึ้น ถ้าหากตอนจบมันแสดงให้เห็นว่านพคุณยังคงให้อภัยฝุ่นดินไม่ได้อย่างสนิทใจน่ะ
 
แต่เราก็ชอบสิ่งที่ละครเรื่องนี้พยายามจะบอกคนดูผ่านทางความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นดินกับนพคุณนะ เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าละครเรื่องนี้ต้องการจะบอกอะไร แต่เราชอบที่ละครเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึง “ความผูกพันในฐานะคนรัก” เพียงอย่างเดียว แต่พูดถึง “ความผูกพันในฐานะเพื่อน” และพยายามจะโยงมันเข้ากับโซ่ตรวนในชั่วฟ้าดินสลายด้วย เราว่าจุดนี้มันเป็นการเอาชั่วฟ้าดินสลายมา adapt หรือมากระตุ้นความคิดคนดูได้อย่างน่าสนใจมาก คือมันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง (โดยที่เราไม่แน่ใจว่าละครเรื่องนี้ตั้งใจตั้งคำถามเหล่านี้หรือเปล่า) ว่า ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนในบางที มันเหมือนเป็นโซ่ตรวนด้วยหรือเปล่า ในบางครั้งเราไปตั้งค่าเอาเองหรือเปล่า ว่าเพื่อนเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และพอเพื่อนเราไม่เป็นแบบที่เราตั้งค่าไว้ เราก็ผิดหวังทุรนทุราย โมโหโกรธา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ความทุกข์อาจจะไม่ได้เกิดจากการที่เพื่อนเราไม่เป็นแบบที่เราตั้งค่าเอาไว้ แต่เกิดจากการที่เราตั้งค่าขึ้นมาเอง ว่าเพื่อนต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้
 
สรุปว่าเราไม่รู้ว่าละครเรื่องนี้ต้องการบอกอะไรตรงจุดนี้ แต่ละครเรื่องนี้ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาเองว่า บางทีเราก็เอาโซ่ตรวนไปผูกติดกับเพื่อนของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และเราจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าหากเราไม่คาดหวังให้เพื่อนเราเป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น
 
3.ในส่วนของ subplot บางอัน เราก็ไม่เข้าใจหรือตามไม่ทัน ซึ่งได้แก่ส่วนที่เป็นปัญหาระหว่างครูโชกับวาย คือเราไม่เข้าใจว่าครูโชมีปัญหาอะไรกับวาย จริงๆแล้วละครเรื่องนี้มีการพูดไขปัญหาตรงจุดนี้ในช่วงท้าย ผ่านทางบทพูดของวาย แต่เราฟังไม่ทันน่ะ เราก็เลยไม่เข้าใจ subplot ตรงนี้ แต่เราไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอะไร
 
4.น่าสนใจดีที่ละครเรื่องนี้โยงเรื่องธาตุต่างๆเข้ามาด้วย ทั้งดิน (ฝุ่นดิน), ไฟ (ครูโช), ลม (วาย), ทอง (นพคุณ), ไม้ และถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ตัวละครอั้มน่าจะเป็นน้ำมั้ง
 
แต่ปัจจัยนี้ไม่ได้ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้มากขึ้นหรือน้อยลงนะ เพราะเราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องธาตุพวกนี้อยู่ดี 55555 แต่การใส่ธาตุพวกนี้เข้ามามันเหมาะสำหรับให้คนดูบางคนเอาไปคิดตีความต่อ ถ้าหากอยากจะคิดต่อ
 
5.อีกฉากนึงที่ชอบเล็กน้อยคือฉากที่ให้อั้มลองพูดบทในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบ THE CRUCIBLE, FAREWELL MY CONCUBINE, DEATH OF A SALESMAN, etc (ถ้าจำไม่ผิด) เราชอบอะไรที่เป็น self-reflexive แบบนี้น่ะ
 
6.เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าละครเวทีเรื่องนี้ มอง “พะโป้” อย่างไร เราไม่แน่ใจว่าละครเวทีเรื่องนี้มองพะโป้ในแง่บวกหน่อยๆหรือเปล่า มันก็เลยอาจจะทำให้เราไม่ได้อินกับละครเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเราจะเกลียดคนแบบพะโป้น่ะ
 
 
สรุปว่าเราชอบ “เพราะรัก ชั่วฟ้าดินสลาย” มากพอสมควร และชอบมากกว่าหนังเรื่องชั่วฟ้าดินสลายของหม่อมน้อย แต่เราอาจจะไม่ได้ชอบละครเวทีเรื่องนี้อย่างสุดๆในระดับ A+30 เพราะรสนิยมส่วนตัวบางอย่างของเรา และเพราะมันมีตัวเปรียบเทียบที่เราชอบมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังบางเรื่อง อย่างเช่น
 
1.VENUS IN FUR (2013, Roman Polanski)
2.THE PEACH-BLOSSOM LAND (1992, Stan Lai)
3.NUAN (Tossapol Boonsinsukh)
 
สาเหตุที่ “เพราะรัก ชั่วฟ้าดินสลาย” ทำให้เรานึกถึงหนัง 3 เรื่องนี้ เพราะหนัง 3 เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของ “การซ้อมละครเวที” เหมือนกันน่ะ แต่หนัง 3 เรื่องนี้มันมีอะไรที่เฮี้ยนมากๆและถูกจริตของเรามากๆ โดย VENUS IN FUR อาจจะไม่เฮี้ยนเท่าไหร่ แต่มันเข้มข้นมากๆ ส่วน THE PEACH-BLOSSOM LAND นั้น มันเฮี้ยนในแง่ที่ว่า มันเป็นเรื่องของคณะละครเวทีสองคณะ ที่ต้องซ้อมเวทีในที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน แล้วอยู่ดีๆละครเวทีสองเรื่องก็เลย intersect กันขึ้นมาในระหว่างซ้อม!?!?!? โดยตัวละครจากละครเวทีเรื่องนึง เข้าไปวิจารณ์ตัวละครในละครเวทีอีกเรื่องนึง เราก็เลยชอบอะไรที่มันพิสดารแบบนี้มากๆ ส่วน NUAN นั้น เป็นเรื่องของหนุ่มสาวสองคนที่ซ้อม “ละครเพลง” เรื่องนวลฉวี เราก็เลยกรี๊ดมากๆ เพราะเราไม่นึกว่าเรื่องราวแบบนวลฉวีจะนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีที่ร้องเพลงลั้ลลาฮาเฮได้ด้วย แล้วหนังก็มีฉากที่หนุ่มสาวสองคนนี้นอนคุยกันเรื่องกลุ่มดาวลูกไก่อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันเป็น moment ที่เราชอบมากๆ เพราะมันดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับนวลฉวีเลย 55555
 
อย่างไรก็ดี การที่ “เพราะรัก ชั่วฟ้าดินสลาย” ไม่เฮี้ยนแบบหนัง 3 เรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งผิดแต่อย่างใดนะ เราว่าละครเวทีเรื่องนี้ก็ทำได้ดีในแบบของตัวเองแล้ว เราเพียงแต่จะอธิบายว่ารสนิยมส่วนตัวของเราชอบอะไรแบบไหนเท่านั้นจ้ะ
 
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับละครเวทีเรื่องนี้ แต่เราอยากบันทึกไว้ ก็คือว่าละครเวทีเรื่องนี้และหนังเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย มันทำให้เรานึกถึงประเด็นเรื่องการคบชู้ของเมียคนรวยน่ะ เราว่ามันมีหนังหลายเรื่องที่พูดถึงประเด็นนี้ และเราอยากให้มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์นำหนังเหล่านี้มาศึกษาเปรียบเทียบกัน โดยหนังกลุ่มนี้มีเช่น
 
1.ชั่วฟ้าดินสลาย (1955, มารุต, A+30)
2.THE ADULTRESS (1953, Marcel Carné, A+30)
3.JERICHOW (2008, Christian Petzold, A+30)
4.LADY SHATTERLEY’S LOVER (1955, Marc Allégret, A+30)
5.THE LOVERS (1958, Louis Malle, A+30)
6.THE POSTMAN ALWAYS RINGS TWICE (1946, Tay Garnett, A+)
 

No comments: