ONLY WE
KNOW (2014, Surawee Woraphot, A+10)
นกกระจอกไร้เสียง
(สุระวี วรพจน์)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
spoilers
alert (ห้ามอ่าน
ถ้ายังไม่ได้ดู)
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.ชอบการไม่คลี่คลายของหนังเป็นอย่างมาก
คือตอนแรกเรานึกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังแนว who done it หรือหนังแนวปริศนาฆาตกรรมน่ะ
ซึ่งถ้าหากหนังออกมาเป็นแนวนั้น ช่วงท้ายเรื่องตำรวจจะต้องเจอเงื่อนงำอะไรบางอย่าง
และไขปริศนาได้ทั้งหมด
แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่ได้เป็นหนังแนว
who done it เหมือนที่เราเดาไว้ เพราะตอนจบของหนังเรื่องนี้ไม่ได้บอกเราทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
คือตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำให้เราได้ข้อสันนิษฐานอะไรบางอย่าง แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่เราไม่แน่ใจ
เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า บางทีหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า
“เกิดอะไรขึ้น ใครทำร้ายใครเพราะอะไร” แต่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า “อย่าเชื่อคำพูดใครง่ายๆ”มากกว่า
เพราะคำพูดของหลายๆคน ไม่ได้ทำให้เรารู้ความจริงทั้งหมดเสมอไป
คนที่รู้จริงอาจจะพูดโกหกก็ได้ ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด ถึงเขาพูดสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความจริง
เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และแต่ละคนก็พูดออกมาด้วยอคติส่วนตัวกันทั้งนั้น
เราก็เลยชอบมากที่หนังเลือกที่จะเล่นประเด็นที่ว่า
“อย่าด่วนสรุปอะไรง่ายๆ” หรือ “บางทีก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ความจริงทั้งหมด”
แทนที่จะทำตัวเป็นหนัง who done it ธรรมดาๆ เพราะประเด็นที่หนังพูดถึงนี้
มันเป็นประเด็นที่เราชอบมากเป็นการส่วนตัว และเราคิดว่ามันเป็นประเด็นที่สำคัญมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เพราะเหตุการณ์เสียชีวิตของใครบางคนเมื่อหลายสิบปีก่อน
จนป่านนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
เหตุการณ์วางเพลิงเมื่อไม่กี่ปีก่อน
จนป่านนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบว่าใครทำอะไรที่ไหนตอนกี่โมงในเหตุการณ์นั้น
สรุปว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังการเมืองแต่อย่างใด
แต่ประเด็นที่หนังเรื่องนี้พูดถึง
ทำให้เรานึกถึงการโต้เถียงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในระยะนี้โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ
เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราควรทำในช่วงนี้คือการอย่าเชื่อคำพูดใครง่ายๆและอย่าด่วนสรุปอะไรง่ายๆ
ซึ่งเราคิดว่านั่นอาจจะเป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการบอกคนดูเหมือนกัน
2.หนังเรื่องนี้ใช้วิธีการที่น่าสนใจหลายอย่าง
ในการสร้างความงุนงงหรือความไม่แน่ใจให้แก่คนดู อย่างเช่น
2.1
การไม่เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
2.2
การตัดต่ออย่างรวดเร็วมากในฉากแฟลชแบ็ค จนคนดูดูไม่ทัน
2.3
ในส่วนของภาพที่เราดูทันนั้น เราก็ไม่แน่ใจอยู่ดีว่าภาพที่เราเห็นเป็น
2.3.1
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
2.3.2
เหตุการณ์ที่ตัวละครเล่า ซึ่งบางครั้งตัวละครอาจจะพูดโกหก
แต่หนังก็จำลองเหตุการณ์ที่ตัวละครโกหกออกมาเป็นภาพให้เราเห็น
2.3.3
จินตนาการของตัวละครตำรวจ ซึ่งสิ่งที่ตำรวจจินตนาการ
อาจจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ได้
เราไม่แน่ใจว่าภาพที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้
ผู้สร้างจงใจให้เป็น “ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” ทั้งหมดหรือเปล่า
ความไม่แน่ใจนี้ก็เลยทำให้เราไม่กล้าสรุปอะไรมากนัก
2.4 มีบางช่วงที่เราแยกไม่ออกว่าใครเป็นคนเล่าเหตุการณ์นั้น
ต้องดูสองรอบถึงจะแยกออก โดยแยกจาก “เสียง” ของตัวละคร
และในตอนแรกเราก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้ชายที่มาให้การคือกลอง
เรานึกว่าคนที่มาให้การเป็นเพื่อนชายคนนึงในมหาลัย และเรานึกว่าหนุ่มหล่ออีกคนนึงที่มาปรากฏตัวแว้บเดียวในเรื่องคือกลอง
แต่พอเครดิตท้ายเรื่องขึ้นมา เราถึงเดาว่าคนที่มาให้การต่อตำรวจคงเป็นกลอง ส่วนผู้ชายที่มาปรากฏตัวแว้บเดียวในเรื่องคงเป็นตัวละครลึกลับ
555
3.ถ้าให้เราเดาว่าเกิดอะไรขึ้น
เราก็เดาว่าอิงอาจจะชอบใบเตย แต่ใบเตยคงไม่เล่นด้วย
และพออิงเห็นว่ามีหนุ่มหล่อคนใหม่เข้ามาในชีวิตของใบเตย ก็เลยเกิดการหึงหวงขึ้น
และนำไปสู่การเสียชีวิตของใบเตย อย่างไรก็ดี เราไม่แน่ใจว่า
3.1
ข้อสันนิษฐานของเราถูกต้องหรือไม่
3.2
การเสียชีวิตของใบเตย เป็นการฆาตกรรมที่วางแผนไว้ล่วงหน้า,
เป็นการทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเป็นอุบัติเหตุ คือถึงแม้อิงอาจจะพูดโกหกกับตำรวจ
แต่เธอก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจทำร้ายใบเตยก็ได้
4.ชอบโครงสร้างของหนังเรื่องนี้มาก
เราว่าโครงสร้างของหนังเรื่องนี้เหมือนการต่อ jigsaw โดยที่ช่วงครึ่งแรกของเรื่อง หนังจะให้ชิ้นส่วน jigsaw กับเรา และพอผ่านฉากอิงดูอัลบัมรูปไป
หนังก็เข้าสู่ครึ่งหลัง และปล่อยให้ตำรวจกับคนดูช่วยกันต่อชิ้นส่วน jigsaw ต่างๆที่ได้รับมาในช่วงครึ่งแรก อย่างไรก็ดี
สิ่งที่เด็ดสุดในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า หนังให้ jigsaw มาไม่ครบ เพราะฉะนั้นถึงเราจะปะติดปะต่อเนื้อเรื่องอย่างสุดความสามารถอย่างไร
ภาพที่ได้ก็ออกมาไม่สมบูรณ์อยู่ดี
หนังเลือกที่จะเก็บงำข้อมูลบางอย่างเอาไว้โดยไม่บอกกับคนดู
ภาพที่เราได้ในท้ายที่สุดจึงเป็นภาพที่แหว่งวิ่น ชิ้นส่วนสำคัญบางอันหายไป
และคนดูต้องใช้จินตนาการของตนเองในการเติมภาพให้เต็ม และคนดูก็ต้องยอมรับความจริงในขณะเดียวกันว่า
ยังไงๆเสียภาพนี้ก็ไม่สมบูรณ์ เราไม่มีทางเห็นภาพที่สมบูรณ์ได้
สิ่งที่เติมภาพนี้ให้เต็มเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง
และมันอาจจะเป็นข้อสันนิษฐานที่ผิดก็ได้
โครงสร้างของหนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังสองเรื่องที่เราชอบสุดๆ
ซึ่งได้แก่
4.1 LAST YEAR AT MARIENBAD (1961, Alain
Resnais, A+30)
หนังเรื่องนี้ก็เป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบเช่นกัน
และมีการตัดสลับเวลาอย่างรุนแรงเหมือนกัน ตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้รอบแรก
เรารู้สึกว่าหนังมันพิศวงมากๆ แต่ตอนหลังเราได้ยินคนตั้งทฤษฎีว่า
จริงๆแล้วตัวละครพระเอกของหนังเรื่องนี้เคยข่มขืนตัวละครนางเอกของหนังเรื่องนี้มาก่อน
แต่หนังตัด “เหตุการณ์สำคัญ” นั้นออกไป หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนภาพ jigsaw ที่ส่วนที่สำคัญที่สุดหายไป
พอเราลองดูหนังเรื่องนี้อีกรอบตามข้อสันนิษฐานที่มีคนตั้งเอาไว้
หลายๆอย่างในหนังก็ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น
4.2 LE DOSSIER 51 (1978, Michel Deville, 108min,
A+30)
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องขององค์การลับองค์การนึงที่พยายามสืบข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศนึง
แต่ตลอดเวลา 108 นาทีของหนังเรื่องนี้ เราจะแทบไม่ได้เห็นตัวเจ้าหน้าที่ทูตคนนั้น
และแทบไม่เห็นหน้าค่าตาของสมาชิกองค์การลับเลย แต่เราจะเห็นเพียงแค่คนบางคนที่เจ้าหน้าที่ทูตคนนั้นเคยรู้จัก
สาเหตุที่ ONLY WE KNOW ทำให้เรานึกถึง LE DOSSIER 51 เป็นเพราะว่า LE DOSSIER 51 เล่าเรื่องเป็น fragments ของเหตุการณ์เหมือนกัน
และให้ข้อมูลแก่ผู้ชมผ่านทางตัวละครที่มีมุมมองแตกต่างกันไปเหมือนกัน เวลาที่เราดู
LE DOSSIER 51 เราต้องค่อยๆปะติดปะต่อข้อมูลต่างๆที่เราได้รับมาเข้าด้วยกันด้วยตัวเอง
ซึ่งคล้ายๆกับการปะติดปะต่อเหตุการณ์จากคำให้การของตัวละครใน ONLY WE KNOW แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า ONLY WE KNOW เป็นหนังสั้น และเล่าเพียง fragments ของเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์เดียว ส่วน LE DOSSIER 51 เป็นการให้ fragments ต่างๆในชีวิตผู้ชายคนนึงทั้งชีวิต
บทสรุปของ ONLY WE KNOW กับ LE DOSSIER 51 ก็มีจุดที่นำมาเปรียบเทียบกันได้ด้วย เพราะในขณะที่ ONLY WE KNOW ทำให้เรารู้สึกว่า “ถึงแม้เราจะได้ฟังคำให้การของคนมากมาย
เราก็ไม่มีทางรู้ความจริงทั้งหมดได้” LE DOSSIER 51 ก็ทำให้เรารู้สึกว่า “ถึงแม้เราจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของคนคนนึงมากเพียงใด
เราก็ไม่มีทางเข้าใจเขาทั้งหมดได้ เพราะจิตใจมนุษย์มันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น”
ที่เราเขียนเปรียบเทียบ
ONLY WE KNOW กับ LE DOSSIER 51 มากเป็นพิเศษ ก็เป็นเพราะอีกสาเหตุนึงด้วย
นั่นก็คือบางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงไม่ได้ชอบ ONLY WE KNOW ในระดับ A+30 แต่ชอบในระดับ A+10 เท่านั้น ซึ่งเราคิดว่าสาเหตุส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่า ONLY WE KNOW มันเป็นหนังสั้นน่ะ
มันก็เลยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกรุนแรงกับหนังหรือตัวละครในหนังได้มากนัก
ถึงแม้เราจะชอบไอเดียบางอย่างของหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงก็ตาม แต่ถ้าหากใครที่อยากเอาหนังอย่าง
ONLY WE KNOW มาพัฒนาเป็นหนังยาว เราก็อยากให้เขาทำออกมาในแบบ LE DOSSIER 51 จ้ะ (เน้นไปที่การให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับตัวละคร
และสรุปว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถทำให้เราเข้าใจตัวละครได้อย่างแท้จริงเสมอไป)
และไม่ควรจะเอามาพัฒนาออกมาในแบบ RASHOMON (เน้นไปที่การเล่นกับมุมมองที่แตกต่างกันไปของตัวละครแต่ละตัว) เพราะมันมีหนังหลายเรื่องแล้วที่ออกมาในแบบ RASHOMON คือเราก็ชอบ RASHOMON มากนะ แต่หนังแบบ RASHOMON มันเยอะมากแล้วน่ะ พอเราเจอหนังอย่าง ONLY WE KNOW เราก็เลยจินตนาการเล่นๆว่า
ถ้าหากจะมีใครเอาหนังเรื่องนี้ไปพัฒนาเป็นหนังยาว เราก็อยากให้เขาทำออกมาในแนว LE DOSSIER 51 มากกว่าในแนว RASHOMON จ้ะ
LE
DOSSIER 51 จะมาฉายที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค. เวลา 14.30 น.นะจ๊ะ
โปรแกรมอยู่ในลิงค์นี้จ้ะ
5.ชอบที่หนังให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับ “ภาพซ้อนภาพ”
อันนึง นั่นก็คือภาพถ่ายของภาพที่ไหม้ไฟ เราว่ามันทำให้เรานึกถึง BLOWUP (1966, Michelangelo Antonioni)
ด้วย
โดยที่เราไม่รู้ว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้ตั้งใจหรือเปล่า เพราะใน BLOWUP นั้น การที่ตัวละครพยายามขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นเพื่อคลี่คลายปริศนาอะไรบางอย่าง
กลับไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลายปริศนาได้อย่างที่คิด ส่วนใน ONLY WE KNOW นั้น
การที่ตัวละครตำรวจและกล้องของหนังเรื่องนี้จดจ่อกับภาพที่ไหม้ไฟภาพนั้น
ก็ไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลายปริศนาเหมือนอย่างที่ผู้ชมต้องการเหมือนๆกัน
จริงๆแล้ว ONLY WE KNOW ทำให้เรานึกถึงหนังอีกเรื่องของ Michelangelo Antonioni ด้วย นั่นก็คือ L’AVVENTURA (1959) ในแง่ที่ว่ามันกล้าขัดใจคนดูอย่างรุนแรงน่ะ 555
เพราะใน L’AVVENTURA
นั้น
ตัวละครสำคัญของเรื่องหายสาบสูญไป และคนดูก็ไม่รู้ว่าตัวละครหายไปไหนจนจบเรื่อง
เพราะประเด็นสำคัญในหนังไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวละครหายไปไหน ส่วน ONLY WE KNOW นั้น เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
เพราะประเด็นสำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ประเด็นสำคัญอาจจะอยู่ที่ว่า
“เราไม่ควรด่วนสรุปอย่างง่ายๆว่าเกิดอะไรขึ้น”
6.ประเด็นเรื่องเพศในหนังเรื่องนี้ก็น่าสนใจดีนะ
เพราะเราไม่แน่ใจว่าตกลงนางเอกสองคนของเรื่องนี้ ใครเป็น heterosexual, bisexual หรือ lesbian กันแน่ เรามีแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
ประเด็นเรื่องความกำกวมทางเพศและการตบกันของผู้หญิงในหนังเรื่องนี้
ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง PASSION (Brian de Palma, A-) ด้วยเหมือนกัน
และเราก็รู้สึกว่าการเปรียบเทียบหนังสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน เป็นสิ่งที่น่าสนใจดี
เพราะเรามองว่า
6.1
จุดเด่นของ PASSION
และหนังบางเรื่องของ
Brian de Palma อย่าง SISTERS และ SNAKE
EYES คือฉาก split screen ส่วนจุดเด่นของ ONLY WE KNOW คือการตัดต่ออย่างรวดเร็วมากๆ
เทคนิคสองอย่างนี้
ในแง่นึงมันก็ทำให้คนดูรู้สึกทึ่งมากๆนะ แต่ในอีกแง่นึง
มันก็ทำให้เราตระหนักว่าเรากำลังดูภาพยนตร์อยู่น่ะ เพราะมันทำให้คนดูรู้ตัวว่า
ผู้สร้างหนังกำลังคัดเลือกอย่างระมัดระวัง ว่าจะให้คนดูเห็นอะไรบ้าง,
ไม่เห็นอะไรบ้าง, คนดูจะได้รับรู้ข้อมูลอะไรบ้าง, ไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรบ้าง
คือเราชอบเทคนิคพวกนี้มาก แต่ในแง่นึง
มันก็ทำให้คนดูรู้ตัวว่าตัวเองกำลังถูกผู้สร้างหนัง manipulate อยู่ (แต่ถ้าทำออกมาได้ดีจริงๆ
คนดูอย่างเราก็ยินยอมศิโรราบให้ผู้สร้างหนัง manipulate จ้ะ)
แต่ถ้าไม่ใช้เทคนิค
split screen และการตัดต่อแบบรวดเร็วรุนแรง หนังก็อาจจะใช้วิธีเล่าเรื่องแบบใช้กล้องแทนสายตาตัวละครไปเรื่อยๆ
ซึ่งวิธีแบบนี้อาจจะทำให้คนดูรู้สึกอินกับตัวละครมากกว่า
สรุปว่า เราไม่ได้บอกว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีไหนนะ
เพราะเราชอบทุกวิธี การตัดต่อแบบรวดเร็วใน ONLY WE KNOW มันทำให้เรารู้สึกสนุกมากๆกับ “เทคนิค” ที่เราได้เห็น
ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับที่เราได้รับจากการดูหนังบางเรื่องของ Brian de Palma เหมือนกัน
แต่มันไม่ใช่อารมณ์สนุกเพราะเราอินไปกับตัวละครจ้ะ
6.2 แต่ ONLY WE KNOW กับหนังของ Brian de Palma ก็มีจุดที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงนะ เพราะ ONLY WE KNOW นำเสนอตัวละครที่ดูเป็นคนธรรมดา
เป็นมนุษย์เดินดินจริงๆ เป็นนิสิตที่เราพบได้ในชีวิตจริง
แต่ตัวละครที่น่าประทับใจส่วนใหญ่ในหนังของ Brian de Palma จะเป็นตัวละครหญิงที่ดูสวยสง่าเกินคนธรรมดา
โดยเฉพาะตัวละครประเภท femme fatale
6.3 อย่างไรก็ดี การที่ ONLY WE KNOW ไม่ได้ให้บทสรุปคลี่คลายคดีอย่างชัดเจนในตอนจบ
ถือเป็นข้อดีที่ทำให้หนังเรื่องนี้เหนือกว่าหนังของ Brian de Palma จ้ะ
7.ONLY WE KNOW เป็นหนังเรื่องที่ 4 ของคุณสุระวีที่เราได้ดู
เราก็เลยอดไม่ได้ที่จะนำหนังเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของเขา และเราก็คิดว่า
7.1
ฉากตำรวจเดินในหนังเรื่องนี้เป็นฉากที่น่าประทับใจ
และมันทำให้เรานึกถึงฉากคุณครูเดินใน “กึกก้อง” เราว่าสองฉากนี้มันคล้ายกันในแง่ที่ว่า
มันเป็นฉากที่ตัวละครอาจจะเดินจากจุด A ไปจุด B
แต่สิ่งสำคัญในหนังไม่ใช่การเดินจากจุดไหนไปถึงจุดไหน
แต่เป็น “กระแสสำนึก” ขณะที่ตัวละครเดิน การที่หนังสองเรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านทางกระแสสำนึกแบบนี้
เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
ดู “กึกก้อง”
ได้ที่นี่
7.2 ทั้ง ONLY WE KNOW, กึกก้อง และ “เกศา” มีฉากแฟลชแบ็คที่มีการตัดต่ออย่างรุนแรงเหมือนกัน
บางทีสิ่งนี้อาจจะกลายเป็นลายเซ็นทางภาพยนตร์ของคุณสุระวีในอนาคต หรือในอนาคตอาจจะมีศัพท์
“Surawee montage”
ขึ้นมาก็เป็นได้
:-)
ดู “เกศา”
ได้ที่นี่
7.3 ทั้ง ONLY WE KNOW, กึกก้อง, เกศา และ THE ROUND TABLE มันทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นหนังที่ไม่ติดอยู่กรอบของ genre หรือโจทย์ของหนังน่ะ
มันมีอะไรบางอย่างที่ฉีกออกไปจากกรอบของ genre หรือโจทย์ของหนัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ
7.3.1 THE ROUND TABLE เป็นหนังที่ทำภายใต้โจทย์สมบัติผู้ดี
แต่หนังกลับทำให้เรารู้สึกว่า คนหลายๆคนที่ทำตัวเป็นผู้ดี จริงๆแล้วเป็นอีตอแหล ส่วนคนที่ดูเหมือนทำตัวแย่ๆ
จริงๆแล้วอาจจะเป็นคนที่จริงใจมากกว่า เราก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ตอบโจทย์เรื่องสมบัติผู้ดีได้ตรงจุดหรือเปล่า
แต่เราชอบแนวคิดนี้ของหนัง
ดู THE ROUND TABLE ได้ที่นี่
7.3.2 เกศา เป็นหนังผีสยองขวัญ แต่ส่วนที่เราประทับใจที่สุดในเรื่องกลับเป็นความรักที่ไม่สมหวังของเกย์
7.3.3 กึกก้อง
ดูเหมือนจะเป็นหนังต้านคนโกง หรืออะไรทำนองนี้
ซึ่งปกติแล้วหนังประเภทนี้จะมีตัวละครคนดีคนชั่วที่แยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่หนังเรื่องนี้ไม่เป็นแบบนั้น
เพราะ “การโกง” กับ “การทำความดีตามความเห็นของตัวละคร” ในเรื่อง กลับกลายเป็นสิ่งเดียวกัน
หนังเรื่องนี้จึงสร้างความกำกวมทางศีลธรรมหรือจริยธรรมได้อย่างน่าทึ่งมาก
7.3.4 ONLY WE KNOW ทำท่าเหมือนจะเป็นหนังปริศนาฆาตกรรมในช่วงแรก
แต่พอดูจนจบ
เรากลับพบว่าดีมากๆที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบของหนังปริศนาฆาตกรรม
สรุปว่าการก้าวพ้น
genre หรือโจทย์ของหนังเป็นจุดที่เราชอบมากๆในหนังของคุณสุระวี
และเราก็หวังว่าคุณสุระวีจะทำแบบนี้ต่อไปจ้ะ
8.ONLY WE KNOW ทำให้เรานึกถึงหนังของ Claude Chabrol ด้วยเหมือนกัน ในแง่ที่ว่า หนังของ Chabrol หลายๆเรื่องพูดถึง “การฆาตกรรม”
แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใดในการสืบสวนว่า “ใครคือฆาตกร” เพราะหนังของ Chabrol แต่ละเรื่องมุ่งเป้าโฟกัสไปยังประเด็นอื่นๆแทน
อย่างเช่น “ผลกระทบจากการฆาตกรรมที่มีต่อคนในหมู่บ้าน” (THE COLOR OF LIES), “การหลงรักฆาตกร ทั้งๆที่รู้ว่าเขาเป็นฆาตกร” (LE BOUCHER), “การที่คนที่น่าสงสาร กลายมาเป็นฆาตกรใจโหด” (LA CEREMONIE), “การสืบสวนคดีฆาตกรรมอย่างสบายๆ ชิลล์ๆ” (THE LITTLE OLD MAN FROM BATIGNOLLES), “การทำตัวแร่ด จะทำให้มีชีวิตรอด การทำตัวเรียบร้อย
จะทำให้ตกเป็นเหยื่อฆาตกร” (LES BONNES FEMMES), etc
ในขณะที่ Chabrol ทำหนังแบบ anti-thriller มาแล้วหลายสิบเรื่อง
เรากลับพบว่ามีหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ทำออกมาในแนวนี้ เราก็เลยดีใจมากที่มีหนังอย่าง
ONLY WE KNOW ออกมา เพราะ ONLY WE KNOW ก็ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบของ who done it หรือ thriller เหมือนกัน
(หนังไทยแนว anti-thriller ที่เราชอบสุดๆอีกเรื่องนึงคือ DEAD PLAN (2001, กุลนที ตันติพิษณุ, 10min) เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงภรรยาที่วางแผนจะฆ่าสามี
แต่หนังไม่ได้เร้าอารมณ์ลุ้นระทึกแต่อย่างใด
แต่มุ่งความสนใจไปที่อารมณ์ความรู้สึกของนางเอกขณะวางแผนฆ่าสามี)
สรุปว่าชอบ ONLY WE KNOW มากๆ
และถ้าหากมีการเอาไอเดียแบบนี้ไปสร้างเป็นหนังยาว เราก็มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะชอบหนังยาวเรื่องนั้นในระดับ
A+30 ถ้าหากมันออกมาในแนว LE DOSSIER 51 หรือหนังหลายๆเรื่องของ Claude Chabrol จ้ะ
No comments:
Post a Comment