Sunday, October 05, 2014

CAMBODIA 1965 (1965, King Narodom Sihanouk, Cambodia, documentary, A+30)

CAMBODIA 1965 (1965, King Narodom Sihanouk, Cambodia, documentary, A+30)

You can watch this film here:

อาจจะไม่ใช่หนังที่น่าสนใจมากนักในแง่ aesthetics แต่เรารู้สึกว่ามันมีความสำคัญมากๆในเชิงประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้สุดๆ เป็นเพราะว่ามันทำให้เรานึกถึง “ภาพลักษณ์แบบโกหกตอแหลของประเทศไทยในสื่อบางประเภท” อย่างมากๆ เพราะสื่อบางประเภทชอบนำเสนอภาพลักษณ์ว่าประเทศไทยร่มเย็นเป็นสุข และมันก็เลยเหมือนกับภาพลักษณ์ในหนังสารคดี/โฆษณาชวนเชื่อของกัมพูชาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างภาพลักษณ์แบบโกหกตอแหลของประเทศไทยที่เรานึกถึง ก็อย่างเช่นในโฆษณาของบริษัท ISUZU ในตัวอย่างข้างล่างนี้

หรือที่ถูกนำมาล้อเลียนในหนังเรื่อง “ฉันจะเป็นชาวนาอีฟ” (2012, Viriyaporn Boonprasert, A+30)

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดู CAMBODIA 1965 เราก็เลยเกิดการเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติว่า ถ้าหาก CAMBODIA 1965 นำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศที่ดูเหมือนจะร่มเย็นเป็นสุขแบบประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาในทศวรรษ 1970 ก็อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคตก็ได้

ดู CAMBODIA 1965 แล้วเราคิดถึงสิ่งที่พูดกันในงานเสวนาหลังฉายหนังเรื่อง THE RELUCTANT FUNDAMENTALIST (2012, Mira Nair) ที่รีดดิ้งรูมด้วย เพราะสิ่งที่พูดกันในงานวันนั้นก็คือการบอกว่า “เราควรมองในสิ่งที่เราไม่เห็น” เพราะในหนังอย่าง CAMBODIA 1965 สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งที่ปรากฏในหนัง อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในหนัง สิ่งที่ผู้สร้างหนังพยายามตัดทอนออกไป สิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้สร้างหนังต้องการนำเสนอ เพราะสิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ หรือสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มันคือสิ่งที่มีอยู่จริง แต่มันไม่ได้รับการนำเสนอออกมา และเมื่อสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ได้รับการนำเสนอออกมา มันก็อาจจะปรากฏตัวออกมาเองในภายหลังในแบบที่รุนแรงที่สุด

เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าในเมื่อหนังอย่าง CAMBODIA 1965 พยายามนำเสนอ “ภาพลักษณ์ของประเทศที่ดูร่มเย็นเป็นสุข” เราก็เลยต้องตั้งคำถามต่อไปว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ มันมีอยู่จริงหรือไม่ แล้วไอ้สิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มันได้สำแดงตัวมันเองออกมาอย่างทรงพลังในภายหลังหรือไม่


แล้วคำถามต่อไปก็คือว่า โฆษณาของ Isuzu หรือสื่อบางประเภท พยายามนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยว่าอย่างไร แล้วอะไรที่เราไม่เห็นในโฆษณาเหล่านี้

No comments: