Tuesday, April 14, 2015

DRAGON BLADE (2015, Daniel Lee, A-)

DRAGON BLADE (2015, Daniel Lee, A-)

ดูมาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.แล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสจดบันทึก

--ชอบไอเดียที่เอา “หนังจีนกำลังภายใน” กับ “หนังลิเกฝรั่ง” (หรือหนังย้อนยุคอาณาจักรโรมัน) มาผสมกันนะ แต่เหมือนเป็นการทดลองทำอาหารฟิวชั่นครั้งแรกหรือเปล่า รสชาติมันเลยออกมาฟั่นเฝือ อาจต้องทดลองทำต่อไปอีกหลายๆครั้ง รสชาติมันถึงจะออกมาลงตัว

--ช่วง 30 นาทีแรกเรายังไม่มีปัญหาอะไรกับหนัง เพราะช่วงนี้เฉินหลงโชว์พาวเวอร์แบบที่ตัวเองถนัด และหนังยังมีตัวละครพูดภาษาแปลกๆมากมาย เราก็เลยตื่นเต้นมากๆกับการได้เห็นตัวละครหลายชาติหลายภาษาในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะตัวละครชาว Uyghur ในหนังจีน

--แต่พอช่วงทหารโรมันเข้ามา เราว่าหนังก็เริ่มน่าเบื่อ คือเราเคยชินหรือชื่นชอบหนังจีนกำลังภายใน มากกว่าหนังลิเกฝรั่งน่ะ และเราว่าส่วนที่เป็นลิเกฝรั่งใน DRAGON BLADE คือส่วนที่ถ่วงหนังเรื่องนี้ มันไม่ค่อยสนุก และมันพยายามจะเน้นย้ำความซาบซึ้งอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นความซาบซึ้งที่ตื้นเขินมากๆ เราก็เลยว่าส่วนนี้มันล้มเหลวมากๆ

--แต่เราชอบ Adrien Brody ในหนังเรื่องนี้มากนะ เราว่าบทเขาแบนมาก เป็นตัวร้ายที่มีมิติเดียว แต่การแสดงของเขาทำให้ตัวละครตัวนี้ดูมีออร่าน่าสนใจขึ้นมาได้

--เราว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังการเมืองด้วยแหละ เพราะตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังจะเปิดเส้นทางสายไหมอีกครั้ง หนังเรื่องนี้เลยเหมือนเป็นการเรียกร้องความสามัคคีระหว่างประเทศต่างๆและชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อาศัยอยู่บริเวณเส้นทางสายไหม และเราว่าหนังจีนหลายๆเรื่องที่สร้างโดยมีประเด็นแอบแฝงแบบนี้ ส่วนใหญ่ออกมาแล้วไม่ work

--ชอบฉากที่ทหารโรมันหลับใหลด้วยความเหนื่อยล้า เราว่าฉากนั้นเขาพยายามจัดภาพให้ออกมาเป็นเหมือนภาพวาดแบบคลาสสิค มันก็เลยดูเก๋ดี

--ย้อนกลับไปที่ข้อแรก เราว่าความพยายามผสมผสาน “หนังจีนกำลังภายใน” กับ “หนังลิเกฝรั่ง” ในที่นี้ มันเหมือนเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากหนังสองตระกูลในอดีต นั่นก็คือหนัง “Euro Pudding” ในทศวรรษ 1970 ที่เอาดาราจากหลายๆประเทศในยุโรปมาเล่นหนังเรื่องเดียวกัน หนังจะได้ขายได้ในหลายๆประเทศในยุโรป กับหนังกลุ่ม Pan Asia ในทศวรรษ 2000 ที่เอาดาราเอเชียตะวันออกหลายๆประเทศมาเล่นหนังเรื่องเดียวกัน หนังจะได้ขายได้ทั้งในตลาดจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ อะไรทำนองนี้ แต่ทั้งหนังกลุ่ม Euro Pudding และหนังกลุ่ม Pan Asia มักจะออกมาไม่ work น่ะ ซึ่งเราว่าอาจจะเป็นเพราะว่าการถือกำเนิดของหนังสองกลุ่มนี้มันตั้งอยู่บน “ความหวังผลทางการเงิน” เป็นหลัก และคนที่สร้างหนังเพื่อหวังทำเงินเยอะๆแบบนี้ ก็มักจะทำหนังออกมาห่วย

แต่หนัง Pan Asia บางเรื่องก็ work นะ อย่างเช่น A BATTLE OF WITS (2006, Jacob Cheung) ที่เราชอบมากๆ หนังเรื่องนี้มีทั้ง หลิวเต๋อหัว ดาราฮ่องกง, Fan Bingbing จากจีน, Choi Siwon จากเกาหลีใต้, Nicky Wu จากไต้หวัน และสร้างจากนิยายญี่ปุ่น

ส่วนหนังรวมดาราหลายชาติในยุโรปที่เราว่า work ก็อาจจะเป็นหนัง giallo บางเรื่อง อย่างเช่น THE BLACK BELLY OF THE TARANTULA (1971, Paolo Cavara) ที่มีทั้งดาราอิตาลี (Stefania Sandrelli), ดาราฝรั่งเศส (Claudine Anger), ดาราเยอรมัน (Barbara Bouchet), ดาราอเมริกัน (Barbara Bach) มาอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า หนังรวมดาราหลายเชื้อชาติทั้งตะวันตก+ตะวันออกในอนาคตจะมีเรื่องไหนออกมา work บ้าง โดยเฉพาะหนังที่สร้างขึ้นเพื่อหวังทำเงิน  เราว่าหนึ่งในหนังรวมดาราหลายเชื้อชาติที่ออกมา work สุดจากทางฝั่งยุโรปคือเรื่อง A TALKING PICTURE (2003, Manoel de Oliveira) ที่รวมดาราโปรตุเกส, อเมริกัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, กรีซไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน แต่อันนี้ไม่ใช่หนัง mainstream ส่วนทางฝั่งอเมริกันเรานึกถึง KILL BILL ของ Quentin Tarantino ที่มันเอาความเป็นหนัง genre ในหลายๆประเทศมาผสมเข้าด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนในกรณีของ DRAGON BLADE นั้น เราว่าไอเดียตั้งต้นน่าสนใจ แต่ทำออกมาแล้วไม่ลงตัวอย่างมากๆค่ะ ความพยายามจะทำตัวเป็น “สหประชาชาติ” ของหนังเรื่องนี้ไปๆมาๆแล้วทำให้หนังออกมาน่าเบื่อมากๆ

--อันนี้เป็นรูปของ Choi Siwon หนึ่งในดารานำของ DRAGON BLADE



No comments: