Monday, April 06, 2015

PAYAK LEK, MUNGORN YAI

พยัคฆ์เล็ก มังกรใหญ่ (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+30)

ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้

1.ชอบสุดๆเลย เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะชอบละครหรือภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยตัวละครที่มีอิทธิฤทธิ์มากมายหลายตัวมาตบกัน และละครเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือเราชอบเนื้อเรื่องแบบ X-MEN มากกว่า SUPERMAN หรือ SPIDER-MAN น่ะ เราชอบโลกจินตนาการที่เต็มไปด้วยตัวละครแรงๆหลายๆตัว และแต่ละตัวมีฤทธิ์เดชไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราชอบโลกจินตนาการที่ “ตัวละครประกอบ” แต่ละตัวมี potential ในการทำให้เนื้อเรื่องหรือสถานการณ์พลิกไปได้ทุกเมื่อ แทนที่จะมีเพียงแค่ตัวละครหลักเท่านั้นที่มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องหรือสถานการณ์

เราก็เลยชอบละครเรื่องนี้มากๆ และเราว่ามันเอามาดัดแปลงสร้างเป็นละครทีวียาว 15 ตอนจบได้สบายๆเลย เพราะละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยตัวละคร, สถานการณ์ และเนื้อหาที่อัดแน่น, สนุก และน่าสนใจมาก

2.อีกจุดที่ชอบมากก็คือมันทำให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า ตัวเราเองมองประวัติศาสตร์เหตุการณ์ ร.ศ. 112 โดยไม่เคยมองในวงกว้างเลย คือเวลาเรามองประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ในยุค 200 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะจดจำมันเป็นพ.ศ. หรือร.ศ. โดยเฉพาะเหตุการณ์ขัดแย้งกับฝรั่งเศส ที่เราจำได้แต่ว่ามันเกิดขึ้นในปีร.ศ. 112 แต่ถ้าถามเราว่า ร.ศ. 112 มันคือพ.ศ.อะไร และมันคือค.ศ.อะไร เราก็จะตอบมันไม่ได้ทันที เราต้องหยิบเครื่องคิดเลขขึ้นมาบวกลบคูณหารก่อนว่า ร.ศ.112 มันคือคริสต์ศักราชอะไรกันแน่

แต่ละครเวทีเรื่องนี้นำเหตุการณ์ร.ศ.112 มาใช้ในแบบที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทั่วโลกในตอนนั้นด้วย เราก็เลยคิดว่า นี่มันเป็นแนวคิดที่เจ๋งมากๆเลยนะ เราชอบแนวคิดนี้มากๆ เพราะมันกระตุ้นให้เราไปค้นคว้าต่อเลยว่า ในช่วงปีร.ศ. 112 หรือในช่วงทศวรรษ 1890 นั้น มันเกิดอะไรขึ้นหรือมันเพิ่งเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้นในแต่ละประเทศบ้าง

คือในละครเวทีเรื่องนี้ เมืองจันทบุรีถูกใช้เป็นสถานที่ชิงไหวชิงพริบและต่อสู้กันระหว่าง

2.1 ผู้ปกครองไทยในยุคนั้น
2.2 ขุนนางที่สูญเสียอำนาจหลังการยกเลิกระบบจตุสดมภ์ (จุดนี้มันทำให้เรานึกถึงกบฏวังหน้า ที่เกิดขึ้นก่อนร.ศ.112 ด้วย)
2.3 ลูกสมุนซูสีไทเฮา
2.4 ซุนยัดเซ็น
2.5 พวกที่เคยก่อกบฏต่อต้านซูสีไทเฮา (เรานึกถึงพวกกบฏไท่ผิง)
2.6 ชาวญวน
2.7 ฝรั่งเศสในทศวรรษ 1890 ซึ่งผ่านพ้นการปฏิวัติล้มราชวงศ์มานานร้อยปีแล้ว
2.8 ราชวงศ์อลองพญาของพม่า ซึ่งสิ้นสุดอำนาจก่อนทศวรรษ 1890
2.9 รัสเซีย ในช่วงปลายยุคพระเจ้าซาร์
2.10 อเมริกา

สรุปว่า ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงร.ศ. 112 เราก็มักจะนึกถึงแต่ไทยกับฝรั่งเศส เหมือนมีตัวละครแค่สองกลุ่มเท่านั้นอยู่ในหัวของเราเมื่อพูดถึงเหตุการณ์นี้ แต่ละครเรื่องนี้ทำให้เราตระหนักว่า ร.ศ. 112 มันคือทศวรรษ 1890 และตอนนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน ตอนนั้นไทยก็มีความขัดแย้งภายในกันเอง, จีนก็มีความขัดแย้งภายในระหว่างหลายๆฝ่าย, พม่าก็เสียเอกราชให้อังกฤษไปแล้ว, ญวนก็มีบทบาทในตอนนั้นด้วย และรัสเซียก็กำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่อเมริกาก็กำลังจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีโลก

นี่เป็นมุมมองที่เราชอบสุดๆที่เราได้จากละครเวทีเรื่องนี้ มันคือการมองความขัดแย้งในสถานที่หนึ่งในห้วงเวลาหนึ่ง แต่แทนที่จะ focus ไปที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว เรากลับตระหนักไปด้วยในเวลาเดียวกันว่า เกิดอะไรขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลานั้นด้วย และความขัดแย้งเหล่านี้มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นแยกต่างหากจากกัน เพราะประเทศหลายประเทศมันมีผลประโยชน์เกี่ยวดองกัน และมันก็ต่างจะต้องการใช้ประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

3.มีแง่คิดนึงที่เราชอบมากๆจากละครเรื่องนี้ โดยที่เราไม่แน่ใจว่าละครเรื่องนี้ตั้งใจจะบอกคนดูเช่นนั้นหรือเปล่า นั่นก็คือแง่คิดที่ว่า “ดร.ซุนยัดเซ็นตัวจริงเป็นใครไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญคือแนวคิดของเขา และถ้าหากเราเชื่อมั่นและปฏิบัติตามแนวคิดของเขา เราก็สามารถเป็นดร.ซุนยัดเซ็นหรือตัวแทนของดร.ซุนยัดเซ็น” ได้

คือในละครเรื่องนี้มีดร.ซุนยัดเซ็นกับตัวปลอมของดร.ซุนยัดเซ็นถึงสองคนน่ะ แต่ปรากฏว่าดร.ซุนยัดเซ็นตัวปลอมสองคนนี้ กลับสามารถทำหน้าที่แทนดร.ซุนยัดเซ็นตัวจริงได้ดีมากในหลายๆสถานการณ์ เพราะพวกเขาเอาแนวคิดของดร.ซุนยัดเซ็นมาใช้

มันก็เลยเข้ากับสิ่งที่ตัวละครเรื่องนี้พยายามบอกคนอื่นๆว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นระบบ เราต้องเลือกระบบที่ดี เพราะระบบที่ดีจะเปิดโอกาสให้เราขจัดผู้ปกครองที่ไม่ดีออกไปได้ เช่นการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนผู้ปกครองได้ทุกๆ 4 ปี ถ้าหากผู้ปกครองทำตัวไม่ดี เพราะฉะนั้นดร.ซุนยัดเซ็นในเรื่องนี้จึงไม่ได้ต้องการให้คนมาบูชาตัวเขา แต่ต้องการให้คนนำเอาแนวคิดและระบบของเขาไปใช้มากกว่าจะมาบูชาตัวเขาโดยตรง เพราะเมื่อใครเอาแนวคิดของเขาไปใช้ นั่นก็เท่ากับว่าคนนั้นได้มีความเป็นดร.ซุนยัดเซ็นอยู่ในตัวแล้ว

4.ชอบความเป็นหนังจีนกำลังภายในในละครเรื่องนี้มากๆ คือเราเป็นคนที่ชอบ genre หนังจีนกำลังภายในอย่างสุดๆน่ะ และละครเรื่องนี้ก็เอาองค์ประกอบของหนัง genre นี้มาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมสุดๆ ผ่านทางตัวละครอสรพิษทั้ง 5 และแก๊งแมวบูรพา

การเปิดตัวอสรพิษทั้ง 5 นี่มันยอดเยี่ยมมากๆเลยนะ เราชอบมากที่แทนที่มันจะเปิดตัวทีเดียวทั้ง 5 คน มันกลับค่อยๆเปิดตัวทีละคน เพราะฉะนั้นระหว่างที่ดู เราก็เลยลุ้นมากๆว่าอสรพิษคนที่ 2, 3, 4, 5 มันจะเปิดตัวมาเมื่อไหร่, มันจะมาในลีลาและรูปลักษณ์อย่างไร และมันจะมีอิทธิฤทธิ์มากน้อยแค่ไหน เพราะแค่ตัวแรกนี่อิทธิฤทธิ์มันก็เหลือแหล่แล้ว

เราว่าตัวละครอสรพิษทั้ง 5 นี่มันน่าประทับใจมากๆ มันทำให้เรานึกถึงตัวละคร “สี่คนโฉด” ใน 8 เทพอสูรมังกรฟ้า ที่ตัวละครคนโฉดพี่ใหญ่ คือหนึ่งในตัวร้ายที่มีอิทธิฤทธิ์มากที่สุดในเรื่อง ซึ่งเหมือนกับอสรพิษพี่ใหญ่ในเรื่องนี้

5.ฉากที่ตัวละครแต่ละตัวกระจัดกระจายหนีกันไปหลังเรือแตก เราว่าก็ทำออกมาได้ดีมากเลยนะ คือละครเวทีเรื่องนี้ไม่มีการจัดฉากแต่อย่างใดเลยน่ะ แต่ขณะที่ดู เราสามารถนึกภาพออกได้ในบางครั้งเลยว่า ตัวละครกำลังหนีหัวซุกหัวซุนกันอยู่ในท้องทุ่งที่มีหญ้าสูงท่วมหัวหรืออยู่ในป่าโปร่งตอนกลางคืนแบบในหนังเรื่อง “เดชคัมภีร์เทวดาภาคสอง” 555 คือละครเวทีเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพในหัวผู้ชมแบบนั้นก็ได้นะ แต่การที่นักแสดงเล่นกันอย่างถึงอารมณ์ และการที่เราผูกพันกับหนังจีนกำลังภายในอยู่แล้ว มันก็เลยทำให้เราเกิดการเอาภาพสองภาพมาซ้อนทับกันเป็นภาพที่สามในหัวของเราโดยอัตโนมัติ นั่นก็คือ

5.1 เราเห็นนักแสดงเล่นกันอย่างถึงอารมณ์ในห้องที่ RMA ซึ่งแทบไม่มีการจัดฉากแต่อย่างใด

5.2 การที่นักแสดงเล่นกันอย่างถึงอารมณ์ มันกระตุ้นให้เราสร้างจินตนาการของ “ฉากหลัง” ขึ้นมาได้เอง และมันก็เลยทำให้เรานึกถึงฉากท้องทุ่งหรือป่าโปร่งตอนกลางคืนแบบในหนังเดชคัมภีร์เทวดาภาคสอง ที่ตัวละครหนีกันอย่างหัวซุกหัวซุนเหมือนกัน

5.3 ภาพที่เราเห็นต่อหน้าต่อตาเราในขณะนั้น กับ “ภาพความทรงจำของฉากหลังที่เราเคยเห็นจากหนังเรื่องอื่นๆ” ก็เลยมาประกอบกัน เหมือนเป็นภาพที่สามอยู่ในหัวของเรา เหมือนกับเราได้เห็นนักแสดงละครเรื่องนี้วิ่งกันอยู่ในท้องทุ่งแบบในเดชคัมภีร์เทวดาด้วย

เราชอบ moment แบบนี้มากๆ เราว่ามันขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้สร้างละครและนักแสดงเป็นอย่างมาก ในการทำให้ฉากโล่งๆกลายเป็นฉากที่ไม่โล่งในหัวของผู้ชมได้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมแต่ละคนด้วยเช่นกัน ว่าเคยดูหนังหรือเคยเสพสื่อแนวไหนอะไรยังไงมาก่อนด้วย

6.ปกติเราชอบละคร/ภาพยนตร์แนวซีเรียสมากกว่าแนวตลกนะ แต่ละครเรื่องนี้ออกมาแนวตลก ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางของเราซะทีเดียว แต่เราก็ยอมรับตรงจุดนี้ได้ เพราะมันเป็นละครที่ยาว 4 ชั่วโมงน่ะ เพราะฉะนั้นถ้าหากมันไม่ตลก อารมณ์ของผู้ชมส่วนใหญ่ก็อาจจะ drop มากๆ ดังนั้นการที่ละครเรื่องนี้ใส่อะไรตลกๆเข้ามาอยู่บ่อยๆ ก็เลยช่วยเลี้ยงอารมณ์ของผู้ชมส่วนใหญ่ให้ครื้นเครงไปได้ตลอดทั้ง 4 ชั่วโมง

แต่อารมณ์ตลกของเรื่องก็อาจจะไม่จำเป็นนะ ถ้าหากละครเรื่องนี้ถูกดัดแปลงนำไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ อย่างเช่นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ เพราะสื่อภาพยนตร์ไม่ต้องพึ่งพา “reaction จากผู้ชม” มากนักน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่า ถ้าหากในอนาคตมีการดัดแปลงละครเวทีเรื่องนี้ไปเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวี อารมณ์ตลกในเรื่องนี้ก็น่าจะลดลงมาได้ และสามารถนำเสนอออกมาในโทนซีเรียสมากกว่านี้ได้

7.ที่เราว่าอารมณ์ตลกน่าจะถูกลดไปเมื่อมีการดัดแปลงละครเวทีเรื่องนี้ไปเป็นสื่ออื่นๆ เพราะเราคิดว่าถ้าอารมณ์ตลกถูกลดไป มันจะช่วยทำให้ฉากไคลแมกซ์ออกมา “สะเทือนใจ” น่ะ คือในฉากไคลแมกซ์ของละครเวทีเรื่องนี้ มีตัวละครถูกฆ่าตายเยอะมาก และมันทำให้เรานึกถึงละครทีวีแนวหนังจีนกำลังภายในที่สร้างจากบทประพันธ์ของกิมย้ง ที่มักจะมีฉากทำนองนี้ อย่างเช่นในมังกรหยกจะมีฉากที่ “เจ็ดประหลาด” ถูกฆ่าตายเกือบหมดบนเกาะดอกท้อ หรือใน “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” ก็มีฉากที่เมียหลายๆคนของต้วนเจิ้งฉุนถูกฆ่าตายทีละคน ทีละคนในฉากเดียวกัน ซึ่งฉากพวกนี้มันออกมาน่าสะเทือนใจมาก

แต่ฉากไคลแมกซ์ของละครเวทีเรื่องนี้ มันมีตัวละครถูกฆ่าตายหลายตัวเหมือนกัน แต่มันไม่น่าสะเทือนใจเลย เพราะละครเวทีเรื่องนี้มันถูกหล่อเลี้ยงด้วยอารมณ์ตลกมาตลอดทั้งเรื่องน่ะ แต่เราก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นจุดบกพร่องนะ เพราะเราคิดว่าการที่ละครเวทียาว 4 ชั่วโมงเรื่องนี้ เลือกนำเสนออารมณ์ตลกเป็นหลัก มันก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมดีแล้ว เราเพียงแต่คิดว่า ถ้าหากมันกลายเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวีขึ้นมา มันก็อาจจะไม่ต้องตลกมากเท่านี้ก็ได้ และมันจะช่วยทำให้ฉากไคลแมกซ์ของเรื่องน่าสะเทือนใจมากขึ้น

8.เราว่าละครเรื่องนี้ไม่ค่อยมีความเซอร์เรียล หรือแอบสแตรคท์มากเท่าละครเรื่องอื่นๆของนินาทนะ คือเราว่าละครหลายๆเรื่องของนินาทมันจะมีอะไรเหวอๆ มีอะไรที่เข้าใจไม่ได้, เข้าใจได้ยาก หรือกระตุ้นความคิดผู้ชมมากกว่าเรื่องนี้น่ะ แต่เรื่องนี้มันดูบันเทิงมากๆ และไม่หนักหัวเหมือนอีกหลายๆเรื่องของนินาท (แต่ก็มีอะไรที่อาจจะกระตุ้นความคิดผู้ชมอยู่บ้าง อย่างเช่นคำว่า”พระเจ้าอึ่งอ่าง” ที่เราไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร)

แต่การที่ละครเรื่องนี้ดูไม่ค่อย intellectual เท่าเรื่องอื่นๆของนินาทไม่ใช่ข้อเสียนะ เพราะถึงละครเรื่องนี้จะบันเทิง แต่มันก็อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ, แนวคิดที่น่าสนใจ และประเด็นที่น่านำไปค้นคว้าต่อน่ะ เพียงแต่ว่ามันไม่มีอารมณ์ประเภท “ตายแล้ว นี่คืออะไร ฉันไม่เข้าใจ นี่มันคือสัญลักษณ์ของอะไร นี่มันต้องการจะสื่ออะไร” เหมือนละครบางเรื่องของนินาทที่มันอาจจะดู intellectual มากกว่านี้

สรุปว่าเราชอบละครทั้งสองแบบของนินาทนะ ทั้งแบบที่ดูเหมือนมีอะไรเหวอๆ,ตีความได้ยากหน่อย อย่าง “LOVE OF THE ECONOMIST” (2011) กับ PORNOGRAM (2010) และแบบบันเทิงแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และสาระอย่างละครเวทีเรื่องนี้

การทำงานสองโหมดแบบนี้ทำให้เรานึกถึง Steven Soderbergh น่ะ คือละครแนวเหวอๆของนินาทอาจจะเปรียบเทียบได้กับหนังของ Soderbergh อย่าง KAFKA (1991), SCHIZOPOLIS (1996) และ FULL FRONTAL (2002) ในขณะที่ละครเวทีเรื่องนี้ของนินาทอาจจะเปรียบเทียบได้กับหนังอย่าง OCEAN’S TWELVE (2004)

9.นี่เป็นละครเวทีที่ยาวที่สุดเท่าที่เราเคยดูมาในชีวิต แต่เรารู้สึกว่ามันสั้นเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะเราสนุกและมีความสุขกับมันมากๆ

แต่จริงๆแล้วเราก็ไม่เคยดูละครเวทีของเมืองนอกนะ เห็นเขาบอกว่าละครเวทีของ Paul Claudel อย่างเช่นเรื่อง THE SATIN SLIPPER นี่ ยาวถึง 11 ชั่วโมงเลย แต่ก็มีคนจัดแสดงกันจริงๆ และได้รับคำชมจากนักวิจารณ์สูงมากด้วย

THE SATIN SLIPPER ถูก Manoel de Oliveira นำไปสร้างเป็นหนังความยาว 7 ชั่วโมงด้วยนะ และหนังยาว 7 ชั่วโมงเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำที่เวนิซด้วย

สรุปก็คือจะบอกว่า หลังจากผ่านพ้นละครเวทีเรื่องนี้ไปได้แล้ว เราก็หวังว่าในอนาคต เราจะได้ดูละครเวทียาว 11 ชั่วโมงแบบ THE SATIN SLIPPER จ้ะ จบ




No comments: