Tuesday, June 30, 2015

MAPANG-AKIT (2011, John Torres, Philippines, A+30)

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room (Part 2)

8.MAPANG-AKIT (2011, 38min, A+30)
9.TODO TODO TEROS (2006, A+30)
10. YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE (2008, second viewing, A+30)
11. REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG (2010, A+30)
12. LUKAS THE STRANGE (2013, A+30)

ในบรรดาหนังของ Torres ที่ได้ดู เรื่องที่เราชอบมากที่สุดมีอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งก็คือMAPANG-AKIT, YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับ LUKAS THE STRANGE ตอนนี้ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุดใน 3 เรื่องนี้ เราว่า LUKAS THE STRANGE อาจจะเป็นหนังที่ดีที่สุดใน 3 เรื่องนี้นะ แต่เราเหมือนมีความผูกพันเป็นการส่วนตัวกับ MAPANG-AKIT กับ YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE มากกว่า ส่วน TODO TODO TEROS กับ REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG นั้น เราก็ชอบสุดๆเหมือนกัน แต่เรารู้สึกเหมือนยังจูนตัวเองให้เข้ากับ wavelength ของหนังสองเรื่องนี้ไม่ได้อย่างสมบูรณ์ในการดูรอบแรก ถ้าวันหลังเราได้ดูหนังสองเรื่องนี้อีกที เราอาจจะจูนตัวเองให้เข้ากับหนังได้มากขึ้น ส่วน MAPANG-AKIT, YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับ LUKAS THE STRANGE นั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า wavelength ของหนังมันเข้ากับเราได้เองโดยปริยาย เราไม่ต้องพยายามจูนตัวเองให้เข้ากับมัน 555

เมื่อวานนี้เราเขียนว่าหนังของ John Torres มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังของ Wachara Kanha กับสำนักงานใต้ดิน เราว่าเรื่อง MAPANG-AKIT นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับหนังของสำนักงานใต้ดินมากที่สุด เพราะเราว่าลักษณะที่มันคล้ายกันก็คือการถ่ายภาพเหตุการณ์ธรรมดาสามัญของผู้คนต่างๆ แล้วเอาภาพฉากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นมาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่ โดย Torres มักจะเอาภาพฉากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นมาใช้ในการเล่าเรื่องราวตำนานความเชื่อบางอย่าง ทั้งใน MAPANG-AKIT, REFRAINS และ LUKAS THE STRANGE แต่เรื่องราวใน REFRAINS และ LUKAS THE STRANGE มีความซับซ้อนสูงมาก และมีส่วนที่เป็นการแสดงแบบจงใจผสมอยู่ด้วยใน LUKAS THE STRANGE เพราะฉะนั้นหนังสองเรื่องนั้นก็เลยแตกต่างจากหนังของสำนักงานใต้ดินอยู่มาก ส่วน MAPANG-AKIT นั้นเล่าเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และมีฉากเอื่อยๆ อ้อยอิ่งอยู่บ้างพอสมควร เพราะฉะนั้น MAPANG-AKIT ก็เลยดูเหมือนจะทำให้เรานึกถึงหนังของสำนักงานใต้ดินมากที่สุด ถ้าหากเทียบกับหนังยาวเรื่องอื่นๆของ Torres

MAPANG-AKIT ทำให้เรานึกถึงหนังของสำนักงานใต้ดินอย่างเช่นเรื่อง VILLAGE OF MYSTERY บ้านน้ำเมา (2010, Teeranit Siangsanoh, 50min) และ THE COLD-SKULLED PEOPLE ไอ้กะโหลกเย็น (2013, Teeranit Siangsanoh, 33min) น่ะ เพราะหนังสองเรื่องนี้เป็นการถ่ายภาพเหตุการณ์ธรรมดา แล้วนำมาแต่งเรื่องแต่งราวเข้าไป โดย VILLAGE OF MYSTERY นั้น ถ้าเราจำไม่ผิด มันเกิดจากการที่สมาชิก 3 คนของสำนักงานใต้ดิน ซึ่งได้แก่ Wachara Kanha, Teeranit Siangsonoh กับ Tani Thitiprawat ไปเยี่ยมบ้านของครอบครัว Tani ที่โคราช หนังเริ่มเรื่องด้วยการทำตัวเป็นเหมือน home movie บันทึกภาพการท่องเที่ยว พูดคุยกับสมาชิกครอบครัวธรรมดาๆ แล้วอยู่ดีๆหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ก็เล่าถึงตำนานบ่อน้ำเมา ตำนานลึกลับอะไรสักอย่าง แล้วหลังจากนั้นฟุตเตจ home movie ธรรมดาๆ ก็เลยดูเหมือนมี aura ของความลึกลับเข้าไปครอบคลุมมันอยู่ด้วยโดยอัตโนมัติ แล้วก็ดูเหมือนจะมีผีหรืออะไรสักอย่างโผล่เข้ามาในช่วงท้ายเรื่องด้วย ซึ่งเราว่าการผสม home movie, สารคดี, ตำนานพื้นบ้าน, เรื่องเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกันแบบนี้ มันทำให้นึกถึงหนังของ John Torres อย่าง MAPANG-AKIT มากๆ

ส่วน THE COLD-SKULLED PEOPLE นั้น เป็นการจับภาพบ้านของชาวบ้านคนนึงในชนบทที่อยู่ใกล้ๆหนองน้ำเล็กๆแห่งนึง ถ้าจำไม่ผิด คือจากภาพในหนังเราแทบไม่เห็นเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากกิจวัตรประจำวันที่ไม่สลักสำคัญอะไรของชาวบ้านคนนั้น แต่ภาพเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นถูกตัดสลับกับ text ที่เล่าเรื่องราวแบบไซไฟเกี่ยวกับโลกอนาคต และมนุษย์กลุ่มนึงที่ถูกเรียกว่า “ไอ้กะโหลกเย็น” เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นหนังไซไฟไปโดยปริยายโดยที่ไม่ต้องมีฉากเทคนิคพิเศษอะไรเลย นอกจากฉากชาวบ้านคนนึงทำกิจวัตรประจำวันไปเรื่อยๆ

ส่วน MAPANG-AKIT นั้นก็มีลักษณะอะไรคล้ายๆกันนี้นั่นแหละ มันเป็นการจับภาพชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนึงที่ทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองไปเรื่อยๆ พวกเขาพูดคุยกัน และดูเหมือนแทบไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในหนัง แต่ Torres แต่งบทสนทนาของคนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่คนเหล่านี้สนทนากัน ซึ่งเรารับรู้ผ่านทาง subtitle มันก็เลยกลายเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและพิศวง เกี่ยวกับหญิงชราคนนึงที่อาจจะมีพลังพิเศษเหนือมนุษย์ หรือมีคำสาปติดตัวอะไรทำนองนี้

แต่ถ้าหากเทียบกันแล้ว เราก็ชอบ MAPANG-AKIT มากกว่า VILLAGE OF MYSTERY และ THE COLD-SKULLED PEOPLE นะ และมันเกิดจากสไตล์ที่แตกต่างกันระหว่าง Torres กับ The Underground Office น่ะแหละ คือถึงแม้หนังของ Torres กับสำนักงานใต้ดินจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่เหมือนกัน แต่มันก็มีจุดที่ต่างกัน คือ Torres จะเอาภาพธรรมดาสามัญ มาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่เป็นอย่างดี คือผู้ชมจะได้เห็นภาพธรรมดาสามัญ และได้รับรู้เรื่องราวที่ Torres แต่งใหม่เป็นอย่างดีด้วย โดยเฉพาะใน REFRAINS และ LUKAS ที่เรื่องราวมีความซับซ้อนสูงมาก แต่ในหนังของสำนักงานใต้ดินนั้น มันเป็นการเอาภาพธรรมดาสามัญ มาแต่งเติมบรรยากาศ และใส่เรื่องราวใหม่เข้าไปเพียงเล็กน้อย เหมือนใส่เข้าไปแบบเหยาะๆน่ะ และหนังหลายๆเรื่องของสำนักงานใต้ดิน ก็อาจจะไม่ใส่เรื่องราวเข้าไปเลย แต่ปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการเรื่องราวเอาเอง จากภาพธรรมดาสามัญที่ถูกเรียงร้อยใหม่ ใส่ดนตรีประกอบใหม่ และแต่งเติมบรรยากาศเข้าไป เพราะฉะนั้นถ้าหากเปรียบเทียบหนังของ Torres กับสำนักงานใต้ดินเป็นอาหารแล้ว มันก็เหมือนกับว่า หนังของทั้งสองใช้ “องค์ประกอบ” ในการทำอาหารเหมือนกัน แต่ของ Torres จะทำออกมาลงตัวกว่า สัดส่วนในการใช้องค์ประกอบต่างๆออกมาดีกว่า หรือของ Torres เหมือนกับอาหารที่ได้รับการปรุงรสชาติมาอย่างดีมากๆแล้ว แต่ของสำนักงานใต้ดิน ในบางครั้งมันเหมือนกับอาหารที่ใส่รสชาติมาเบาเกินไป หรือเหมือนกับก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ได้รับการปรุงรสชาติมาเลย แต่ปล่อยให้ผู้กินปรุงรสเอาเองตามใจชอบ

แต่มันก็มีหนังของสำนักงานใต้ดินบางเรื่องที่ออกมาดีสุดๆนะ และ VILLAGE OF MYSTERY กับ THE COLD-SKULLED PEOPLE ก็ไม่ใช่หนังของสำนักงานใต้ดินที่ดีที่สุดอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่ามันมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับ MAPANG-AKIT มากที่สุด

และจริงๆแล้วเราก็ชอบวิธีการทำหนังทุกแบบน่ะแหละ ทั้งการทำหนังแบบธรรมดา ที่เป็น fiction เล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาแบบของ Lav Diaz, การทำหนังแบบ John Torres ที่เอาภาพธรรมดาสามัญมาใช้ประกอบเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่เป็นอย่างดี และการทำหนังแบบสำนักงานใต้ดินที่เอาภาพธรรมดาสามัญ มาเรียงร้อยใหม่เพื่อกระตุ้นจินตนาการผู้ชมให้แต่งเรื่องขึ้นมาในหัวตัวเอง เราว่ามันน่าสนใจทั้ง 3 แบบ

ฉากที่เราชอบมากใน MAPANG-AKIT คือฉากท้ายเรื่องที่กล้องจับภาพหญิงชรา (หรือหญิงวัยกลางคน เราไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่หน้าเธอดูแก่) ขณะเดินไปเรื่อยๆ เราว่าฉากหญิงชราคนนี้เดิน, ฉากหนุ่มสาวเดินคุยกันเป็นเวลายาวนานใน YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับฉากคนสองคนขี่จักรยานใน HAI, THEY RECYCLE HEARTBREAKS IN TOKYO SO NOTHING’S WASTED (2009, John Torres) มันติดตาเรามากๆ เราไม่รู้ว่าการที่สามฉากนี้มันติดตาตรึงใจเรา มันเป็นเพราะ Torres มีความสามารถพิเศษในการถ่ายฉากคนเดินหรือคนขี่จักรยานได้อย่างทรงพลัง หรือมันเป็นเพราะ taste ส่วนตัวของเราที่ทำให้เราติดใจในฉากเหล่านี้เอง

ข้ามมา TODO TODO TEROS เราชอบการที่หนังให้เราดูฟุตเตจวิดีโอบันทึกภาพของ Olga เป็นเวลานานระยะนึง แล้วพอเข้าสู่ช่วงท้ายๆของเรื่อง ฟุตเตจวิดีโอนั้นก็กลายสภาพเป็นภาพยนตร์ที่ถูกฉายไปบนจอทีวีและฝาผนังห้อง เราว่า moment ที่ฟุตเตจกลายสภาพไปเป็นภาพยนตร์บนฝาผนังห้อง มันทรงพลังมากๆสำหรับเรา ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม แต่เราว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ moment นี้มากๆ มันเป็นเพราะว่ามันเหมือนเป็นการเล่นกับ memory น่ะ มันเหมือนกับว่า วันนึงเราอาจจะได้เจอคนคนนึงที่เราถูกใจมากๆ และเราได้ใช้เวลาระยะนึงอยู่กับคนๆนั้น แต่ไม่ว่าเราจะมีความสุขมากแค่ไหนในช่วงขณะนั้น ในอนาคต ช่วงเวลานั้นก็จะกลายเป็นเพียง memory เท่านั้นเอง กลายเป็นเหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์ที่เราอาจจะลืมเลือนไปบางส่วน จำได้รางๆ จำได้ไม่หมด เหตุการณ์ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อนึกถึง หรือมีความเศร้าเมื่อนึกถึง อะไรทำนองนี้

เราชอบการร่ายรำกับ projector ใน TODO TODO TEROS มากๆด้วย มันเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน นึกว่า film performance  หรือการผสมผสาน performance art เข้ากับสื่อภาพยนตร์เข้าด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ คือแทนที่ภาพยนตร์จะทำหน้าที่แค่บันทึกภาพ performance art แบบในหนังทั่วๆไป แต่ในหนังเรื่องนี้ เราได้เห็นตัวละครถือ  projector ร่ายรำไปมา ขณะที่ projector ก็ฉายภาพไปตามฝาผนังห้องเรื่อยๆ เราว่ามันเป็นอะไรที่น่าเอามาทดลองทำเลียนแบบมากๆ


อีกฉากที่ชอบมากใน TODO TODO TEROS คือฉากที่ตำรวจลับคนนึงลอบดักฟังการสนทนาของผู้ก่อการร้ายหญิงชายคู่นึง คือเรื่องราวที่เราได้รับรู้จาก subtitle และ text มันเป็นเรื่องราวแบบหนัง thriller แต่ภาพที่เราได้เห็นจริงๆแล้วมันเป็นภาพธรรมดาสามัญของชายหญิงสองคนคุยกัน โดยมีคนขายอาหารแบกะดินนั่งอยู่ห่างออกไปในระยะ 5 เมตร มันเหมือนกับว่า Torres แอบถ่ายภาพคนธรรมดาคุยกันโดยมีคนขายอาหารนั่งอยู่ใกล้ๆ แล้วเอามาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่เป็นหนัง thriller (แต่จริงๆแล้วฉากนี้อาจจะเป็น “การแสดง” ก็ได้นะ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ก็เป็นการแสดงแบบเน้นความธรรมดาสามัญอยู่ดี)

SEX, LIES AND CINEPHILES: A MOCKUMENTARY (2015)


ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่นะ
https://www.youtube.com/watch?v=n2nTHC2Px2M


Monday, June 29, 2015

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room

1.TAWIDGUTOM (2004, 3min, A+)
รู้สึกว่าหนังมันเร็วไป จนเราจับอะไรไม่ทัน คือถ้ามันเป็นบทกวี เราสามารถอ่านมันซ้ำๆได้ 4-5 ครั้ง แล้วค่อยๆคิดกับมันจนเราพอจะเข้าใจมัน แต่พอมันเป็น moving image ฉากสั้นๆๆๆๆที่มีเสียง voiceover แบบบทกวีผ่านหูเราไปอย่างรวดเร็ว สมองเราจะประมวลไม่ทันน่ะ

แต่เราตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้ยาวขึ้นเป็น 30 นาที มันจะออกมาเป็นแนว TO THE WONDER (2012, Terrence Malick) หรือเปล่า คือเป็นหนังแนวกวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักโรแมนติก มีเสียง voiceover มีการตัดภาพเร็วอะไรแบบนี้

แต่โชคดีที่หนังของ John Torres เรื่องต่อๆมาไม่ได้ออกมาแนว Terrence Malick คือเราว่าหนังเรื่องนี้ของ Torres มีองค์ประกอบ 2-3 อย่างที่ทำให้เรานึกถึงหนังของ Malick นะ แต่จริงๆแล้วหนังของสองคนนี้แตกต่างกันมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว

นอกจาก TAWIDGUTOM จะทำให้เรานึกถึงหนังของ Malick แล้ว ฉากนึงในหนังเรื่องนี้ ยังทำให้เรานึกถึงหนังของ Chulayarnnon Siriphol + Wachara Kanha ด้วย นั่นก็คือฉากที่เราเห็นเงาชายหญิงโผเข้ากอดกัน แล้วมีการ replay ฉากนี้ซ้ำไปซ้ำมาประมาณ 3-4 รอบ

คือฉากนี้เป็นฉากที่เราเข้าใจว่า Torres คงถ่ายได้โดยบังเอิญตามท้องถนนน่ะ แล้วเขาก็เอาฉากสั้นๆที่ถ่ายได้โดยบังเอิญนี้ มา repeat ซ้ำไปซ้ำมา และสามารถสร้างอารมณ์ได้อย่างรุนแรงจากฉากแบบนี้

จุดนี้มันทำให้เรานึกถึงมิวสิควิดีโอเพลง LEVEL (2012) ที่กำกับโดย Chulayarnnon + Wachara น่ะ เพราะในมิวสิควิดีโอนั้น มันมีฉากที่เหมือนถ่ายคนเดินถนนได้โดยบังเอิญ แล้วเอามา repeat ซ้ำไปซ้ำมา แล้วการ repeat นั้นสามารถก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่ทรงพลังได้

แล้วพอเราดูหนังเรื่องต่อๆมาของ Torres เราก็พบว่าหนังของเขามีอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังของวชร กัณหาและสำนักงานใต้ดินนะ

สรุปว่า TAWIDGUTOM มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงหนังของ Terrence Malick และ Wachara Kanha แต่เป็นเรื่องดีที่ในเวลาต่อมา Torres หันมาทำหนังที่เอนเอียงไปในทาง Wachara Kanha มากกว่า Terrence Malick 555

ดูมิวสิควิดีโอ LEVEL ได้ที่นี่ ลักษณะการแบ่งหน้าจอของมิวสิควิดีโอนี้ ทำให้นึกถึงบางฉากของ YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE ด้วย


2.SALAT (2004, 12min, A+25, second viewing)

ตอนเราดูหนังเรื่องนี้รอบแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เราชอบประมาณ B+/B เท่านั้น ซึ่งถ้าหากปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว คงเท่ากับ A ในปัจจุบัน ตอนนั้นเราจำได้ว่าฉากที่ติดตาเราคือฉากที่เด็กสองคนจ้องมองพระจันทร์ แต่เรากลับจำอะไรในฉากผู้หญิงร้องไห้ไม่ได้เลย พอเรามาดูหนังเรื่องนี้รอบสอง หลังจากเวลา 10 ปีผ่านไปแล้ว เรากลับพบว่าฉากหญิงสาวร้องไห้ในหนังเรื่องนี้มันทรงพลังมากๆ ส่วนฉากเด็กๆจ้องมองพระจันทร์กลับไม่ได้ตราตรึงเรามากเท่าไหร่

เราก็เลยสงสัยว่าอะไรทำให้เราเปลี่ยนไป คือหนังเรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป หลังจากเวลา 10 ปีผ่านไป หนังเรื่องนี้ยังเหมือนเดิมอยู่ทุกประการ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือตัวเราเอง อะไรทำให้เราอินกับฉากแต่ละฉากไม่เหมือนเดิม

หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะว่า “หนังบรรยากาศ” ในยุคนั้นมันยังเป็นสิ่งที่หาดูยากหน่อยน่ะ คือในปี 2005 เรายังไม่ค่อยได้ดู “หนังบรรยากาศ” มากนักน่ะ ฉากเด็กๆจ้องมองพระจันทร์ ซึ่งเป็นฉากที่ไม่มีเนื้อเรื่อง มีแต่บรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกแบบโล่งๆหน่อย ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ประทับใจเรามากๆในยุคนั้น เราจำได้ว่าเราชอบหนังของ Tossapol Boonsinsukh มากๆ ในยุคนั้นด้วย เพราะมันเป็นหนังบรรยากาศเหมือนกัน

แต่ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นไป ก็มีหนังสั้นไทยหลายๆเรื่องที่กล้าเน้นแต่บรรยากาศ โดยเฉพาะหนังในกลุ่มไทยอินดี้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยอาจจะคุ้นชินกับฉากแบบนี้มากขึ้น ไม่ตื่นเต้นกับมันเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นฉากบรรยากาศใสๆ เด็กๆจ้องมองพระจันทร์ ที่เคยประทับใจเรามากๆเมื่อ 10 ปีก่อน ก็เลยกลายเป็นฉากที่ธรรมดาขึ้นมาหน่อยในสายตาของเราในยุคปัจจุบัน

แต่ฉากที่ Torres อยู่กับหญิงสาว แล้วหญิงสาวร้องไห้ใส่กล้องนี่มันทรงพลังมากๆเลยนะสำหรับเราในการดูรอบนี้ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

3.HAI, THEY RECYCLED HEARTBREAKS IN TOKYO SO NOTHING’S WASTED (2009, A+15)

เรื่องนี้ดูแล้วนึกถึง Tossapol Boonsinsukh มากที่สุดในบรรดาหนังของ Torres เพราะมันเป็นฉากที่ให้ความรู้สึกน่ารักๆเกือบตลอดทั้งเรื่องน่ะ โดยไม่มีการเล่าเรื่อง เป็นฉากสั้นๆน่ารักๆต่อๆกันไป แล้วมันก็ถ่ายที่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งทำให้นึกถึงหนังเรื่อง UNDER THE BLANKET (2008) ของ Tossapol ที่ถ่ายที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน

ฉากที่มีคนขี่จักรยานแล้วมีคนนั่งซ้อน (ไม่แน่ใจว่าใช่ Torres หรือเปล่า) แล้วกล้องก็เน้นถ่ายแต่การขี่นี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเนื้อเรื่อง มีแต่บรรยากาศและอารมณ์ในขณะนั้น ทำให้นึกถึง Tossapol มากๆ และการที่ฉากนี้เน้นเสียงลมอย่างรุนแรง ก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง HEART AND SOUL (จิต และ ใจ) (2013, Teeranit Siangsanoh, 25min) ด้วย เพราะใน HEART AND SOUL มีฉากแบบนี้เหมือนกัน แต่เป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ตอนกลางคืน

แต่ฉากที่ติดตามากที่สุดในหนังของ Torres เรื่องนี้ คือฉากที่เขาเอานิ้วมาปิดกล้องไปมา คือเหมือนกับใช้นิ้วในการปรับเปลี่ยน “กรอบภาพ” หน้ากล้องไปเรื่อยๆ เราว่าเป็นไอเดียที่น่ารักและสร้างสรรค์ดี

4.VERY SPECIFIC THINGS AT NIGHT (2009, A+10)

เหมือนเป็นหนังที่ไม่มีอะไรเลย เป็นแค่การจับภาพคนจุดพลุจุดประทัดในย่านๆนึงช่วงปีใหม่ แล้วตอนท้ายก็มีการจุดประทัดประเภทนึงที่มันเสียงดังมากๆเหมือนระเบิดอย่างสนั่นหวั่นไหว

แต่เราชอบตรงที่เราไม่รู้ว่าเราควรทำอารมณ์อะไรกับมัน 555 คือการที่หนังมันไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรกับเรา และไม่ได้ guide เราว่าเราควรรู้สึกยังไง เราก็เลยจดจ่อกับมันและครุ่นคิดกับมันมากกว่าปกติ คือหนังไม่ได้บอกว่า “นี่เป็นความยินดีที่ได้ฉลองปีใหม่” และหนังก็ไม่ได้บอกว่า “นี่เป็นกิจกรรมอันตรายที่ไม่ควรทำในช่วงปีใหม่” อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพกิจกรรมธรรมดาอะไรอันนึง ออกมาในแบบกลางๆ และไม่บอกเราว่าฉากนี้มันต้องการบอกอะไรกับเรา หรือต้องการสร้างอารมณ์อะไรกับเรา มันก็เลยให้อิสระกับเรามากพอสมควรในระดับนึงในการรู้สึกกับมันในแบบที่เราต้องการ

แต่ในช่วง Q&A Torres ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะว่า จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ต้องการสื่ออะไรบ้าง แต่เราว่าการที่เขาไม่ได้ยัดเยียดข้อมูลเหล่านี้ (เรื่องนักการเมือง หรือเรื่องชื่อของประทัดที่เรียกว่า Judas Belt) เข้าไปในหนัง มันทำให้หนังมีอิสระดี คือเราก็รู้สึกชอบมันมากในระดับนึง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลพวกนี้เลย แต่ผู้ชมที่เป็นคนฟิลิปปินส์ที่อาจจะรู้ข้อมูลพวกนี้ ก็สามารถชอบมันได้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไป

5.WE DON’T CARE FOR DEMOCRACY, THIS IS WHAT WE WANT: LOVE AND HOPE AND ITS MANY FACES (2010, A+30, second viewing)

ชอบอารมณ์ของคู่รักขณะพูดคุยกันที่เหมือนพวกเขาเพิ่งตื่นนอนกันจริงๆ มันดูเนือยๆดี แต่สิ่งที่ชอบมากคือการขึ้น text ช่วงท้ายเรื่อง ที่เป็นการบอกเล่าความคิดของผู้ชาย คือเราว่ากลวิธีแบบนี้เป็นสิ่งที่หนังทั่วๆไปพยายามหลีกเลี่ยงน่ะ คือหนังทั่วๆไปมักจะไม่สื่อความคิดของตัวละครออกมาตรงๆ และเราจะไม่ได้ยินเสียงความคิดของตัวละคร นอกจากในละครทีวียุคเก่าๆเท่านั้นที่ตัวละครคิดอะไร คนดูก็จะได้ยินเสียงความคิดของตัวละครออกมาตรงๆเลย มันเหมือนเป็น taboo อะไรสักอย่างว่า “ภาพยนตร์ที่ดี” ต้องไม่ทำแบบนี้

แต่ในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้ยินเสียงความคิดของตัวละครนะ แต่เราได้เห็น text ขึ้นมาในลักษณะคล้ายๆ subtitle เพื่อบอกเล่าความคิดของตัวละครชายน่ะ ซึ่งเราว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจดี มันเหมือนเป็นการไม่ทำตามกฎของภาพยนตร์ทั่วๆไป เพราะจริงๆแล้วกฎเหล่านั้นมันก็ไม่ใช่กฎตายตัวซักหน่อย การไม่ทำตามกฎอาจจะส่งผลให้เกิดอะไรที่น่าสนใจ หรืออะไรใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาก็ได้

6.SILENT FILM (2011, A+25)

ชอบสไตล์ของหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ที่เป็นภาพฟิล์มเก่าๆ สั่นๆ เราว่ามันทรงพลังมากๆ ดูแล้วนึกถึงพวกหนังทดลองของยุโรปที่ชอบเอาฟิล์มเก่าๆมาเล่นอะไรบางอย่างแล้วก่อให้เกิดพลังอย่างรุนแรงขึ้นมา นึกถึงพวกผู้กำกับอย่าง Dietmar Brehm, Peter Tscherkassky, Peter Kubelka, Matthias Müller อะไรทำนองนี้

7.MUSE (2011, A+)

ดูแล้วนึกถึง TAWIDGUTOM ในแง่ที่ว่า มันเป็นหนังเชิงกวีที่พูดเร็วเกินไปจนเราจับอะไรไม่ทัน และถ้ามันพร่ำเพ้อไปเรื่อยๆแบบยาวๆมันอาจจะกลายเป็นหนัง Terrence Malick ได้

แต่มันก็มีหนังเชิงกวีแบบสั้นๆที่เราชอบสุดๆเหมือนกันนะ อย่างหนังเรื่อง HIGH KUKUS (1973, James Broughton, 3min, A+30) ที่เป็นการพูดบทกวีประกอบภาพเคลื่อนไหวน่ะ แต่ HIGH KUKUS มันพูดบทกวีในแบบที่เราคิดตามทันน่ะ และภาพมันก็ไม่ได้มีอะไรเคลื่อนไหวมากนัก สมองของเราก็เลยไม่ต้องประมวลภาพเคลื่อนไหวแบบเร็วๆ+ทำอารมณ์ตามบทกวีด้วยความรวดเร็วในเวลาเดียวกัน เราก็เลยกำซาบอารมณ์จาก HIGH KUKUS ได้อย่างรุนแรงสุดๆ ในขณะที่ MUSE ทั้งภาพและบทกวีมันมาเร็วไปเร็วเกินไปสำหรับสมองของเรา

แต่ก็ให้ A+ นะ เพราะชอบหนังเชิงกวีแบบนี้

8.MAPANG-AKIT (2011, 38min, A+30)

9.TODO TODO TEROS (2006, A+30)

10. YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE (2008, second viewing, A+30)

11. REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG (2010, A+30)

12. LUKAS THE STRANGE (2013, A+30)


เรื่องอื่นๆอาจจะมาเขียนเพิ่มเติมในวันหลัง ถ้าหากเรายังมีชีวิตอยู่ และโชคชะตาเอื้ออำนวย

STEAK (R)EVOLUTION (2014, Franck Ribière, documentary, A+5)


--ดูแล้วนึกถึง MONDOVINO (2004, Jonathan Nossiter) ในแง่ที่ว่า มันเป็นสารคดีเกี่ยวกับการผลิตอาหารที่พาผู้ชมเดินทางไปทั่วโลกเหมือนๆกัน

--เราว่า STEAK (R)EVOLUTION เป็นสารคดีที่ดีมากนะ มันให้ข้อมูลอัดแน่นมากๆ แต่สาเหตุที่เราชอบมันเพียงแค่ A+5 เป็นเพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วเราไม่ใช่คนที่ชอบกินสเต็กน่ะ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เราสนใจ เราก็เลยดูมันด้วยความรู้สึกชื่นชมคนทำหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ได้อินกับมันเท่าไหร่

--การที่เราไม่ได้กิน “สเต็ก” บ่อยๆ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราจินตนาการถึงรสชาติในหนังไม่ค่อยได้ด้วยมั้ง คือเราว่าหนังเกี่ยวกับอาหารหลายๆเรื่อง มันน่าสนใจในแง่ที่ว่า นอกจากมันจะกระตุ้นผู้ชมด้วย “ภาพ” และ “เสียง” แบบหนังทั่วๆไปแล้ว มันยังทำให้ผู้ชมจินตนาการได้ถึง “กลิ่น”, “รส” และ “สัมผัส” ได้ด้วย โดยเฉพาะหนังเรื่องนี้ที่พูดถึงสัมผัสของเนื้อสเต็กบ่อยมากๆ ว่าสเต็กร้านไหน “นุ่ม” หรือ “นุ่มเกินไป” หรือ “สากๆลิ้น” อะไรทำนองนี้ และความที่มันเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นผู้ชมก็คงจินตนาการถึง “กลิ่น” และ “รส” ตามไปด้วยอยู่แล้ว

แต่พอเราไม่ได้กินสเต็กบ่อยๆ เราก็เลยไม่สามารถจินตนาการถึง “รส”, “กลิ่น” และ “สัมผัส” ของเนื้อสเต็กแบบต่างๆในหนังได้ เราก็เลยเหมือนเป็น “คนพิการทางผัสสะ” เมื่อเทียบกับผู้ชมคนอื่นๆในหนังเรื่องนี้

--จริงๆแล้วหนังมันอาจจะเข้าทางเรากว่านี้นะ ถ้าหากมันเจาะไปที่ชีวิตคนเลี้ยงสัตว์เพียงแค่ 2-3 ครอบครัว เพราะเรามักจะอินกับหนังทำนองนั้นมากกว่าน่ะ หนังที่จ้องมองวัวควายไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จินตนาการถึง “สัมผัสของลม” ขณะพัดผ่านใบหญ้าอะไรทำนองนี้ 555 คือมันเป็นเรื่องส่วนตัวแหละ ว่าผู้ชมแต่ละคนมีความสุขกับจินตนาการแบบไหน บางคนอาจจะรู้สึกว่าจินตนาการของตัวเองถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงเมื่อได้เห็นภาพอาหาร แต่สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่าจินตนาการของตัวเองถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงเมื่อได้เห็นภาพธรรมชาติท้องทุ่งอะไรพวกนั้นมากกว่า

--สรุปว่าชื่นชม “ข้อมูล” ในหนังเรื่องนี้มาก แต่พอมันเป็นประเด็นที่เราไม่ค่อยสนใจ เราก็เลยไม่ได้อินกับมันเป็นการส่วนตัวจ้ะ

Saturday, June 27, 2015

FAVORITE FILM RETROSPECTIVES IN BANGKOK

FAVORITE FILM RETROSPECTIVES IN BANGKOK
เนื่องจากกำลังจะมีการจัดงาน retrospective ของ John Torres ที่ Reading Room ในวันที่ 27-28 มิ.ย.นี้ เราก็เลยนั่งรำลึกความหลังว่ามีการจัดงาน retrospective หรืองาน showcase ของผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนที่เราชอบบ้างในช่วงที่ผ่านมา
(in alphabetical order)
1.Alain Tanner ใน World Film Festival of Bangkok ปี 2009
2.Alexander Kluge โดยกลุ่ม Filmvirus ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อราว 10 กว่าปีก่อน
3.Arturo Ripstein ในงานเทศกาลภาพยนตร์เม็กซิโกที่โรงหนังลิโด ปี 2004
4.Bruce Baillie จัดในเทศกาลภาพยนตร์ทดลอง ที่สมาคมฝรั่งเศส ปี 1999
5.Dogdin Gunyamarn ดอกดิน กัญญามาลย์ ที่โรงหนัง House RCA เมื่อ 5-6 ปีก่อน
6.Fred Kelemen จัดโดยกลุ่ม Filmvirus ปี 2007
7.Hans-Jurgen Syberberg จัดโดยกลุ่ม Filmvirus และสถาบัน Goethe ในปี 2004
8.Harun Farocki จัดโดยกลุ่ม Filmvirus ที่ Reading Room ในปี 2014
9.Herbert Achternbusch ที่สถาบันเกอเธ่ ประมาณปี 2001
10.Jun Ichikawa จัดโดย Japan Foundation ที่อาคารเสริมมิตร ถ.อโศก ประมาณปี 1998
11.Krzysztof Kieslowski มีหนังยุคแรกๆของเขามาฉายในงานนี้ จัดใน World Film Festival of Bangkok ปี 2006
12.Lav Diaz โดยกลุ่ม Filmvirus ในปี 2009
13.Marguerite Duras จัดโดย Filmvirus ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2013
14.Peter Greenaway จัดโดย British Council สยามสแควร์เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน
15.Rattana Pestonji รัตน์ เปสตันยี จัดที่หอประชุม AUA ในช่วงปลายทศวรรษ 1990
16.Shyam Benegal ใน World Film Festival of Bangkok 2008
17.Ulrike Ottinger ใน World Film Festival of Bangkok 2005

IT FOLLOWS (2014, David Robert Mitchell, A+30)

IT FOLLOWS (2014, David Robert Mitchell, A+30)

--ดูแล้วหัวใจจะวาย อินกับหนังมากๆ

--ปกติเราชอบหนังที่มีลักษณะเหมือน “การเล่นเกม” อยู่แล้ว คือไม่ใช่หนังประเภทที่ผีอยากฆ่าใครก็ฆ่าได้ทุกเมื่อทุกเวลา แบบเราไม่มีทางสู้ผีได้เลย เราก็เลยมักจะชอบหนัง “ฆาตกรโรคจิต” มากกว่า “หนังผี” เพราะหนังฆาตกรโรคจิตมันเหมือนกับจะมีความหวังว่า ถ้าหากเราสู้ดีๆ เราอาจจะชนะผู้ร้ายได้ แต่หนังผีหลายๆเรื่องมันเหมือนกับว่า ยังไงๆเราก็สู้ผีไม่ได้ เพราะผีมันไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ใดๆที่โลกมนุษย์เอาไปใช้ apply กับมันได้

เพราะฉะนั้นเวลาที่มีหนังผีหรือหนังเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่มันมีลักษณะของการอยู่ภายใต้กฎกติกาบางอย่าง หรือมีลักษณะของฆาตกรโรคจิตมาผสมด้วย เราก็เลยมักจะชอบมาก เพราะมันเหมือนกับมีความหวังว่า ถ้าหากเราสู้ดีๆ เราก็อาจจะชนะผีได้เหมือนกัน

อันนี้ก็เลยเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้เราลุ้นกับ IT FOLLOWS มากๆ เพราะถ้าหากเรากวาดตาดูรอบตัวเองแบบ 360 องศาบ่อยๆ เราก็อาจจะเห็นได้ว่ามันจะมาปรากฏตัวเมื่อไหร่น่ะ คือมันไม่สามารถมาโผล่ใต้เตียงเราแบบปุบปับอะไรทำนองนี้ หรือมาคอยหลอกเราในความฝัน สิ่งที่เราต้องทำก็คืออย่าอยู่ในสถานที่ที่มีทางออกเพียงทางเดียว และคอยกวาดสายตาแบบ 360 องศาตลอดเวลา เพื่อดูว่ามีใครที่เดินมาในแบบผิดปกติไหม

--การส่งต่อ “ผี” ในหนังเรื่องนี้ ในแง่นึงก็ทำให้นึกถึง THE RING เหมือนกันนะ และทั้ง THE RING (เวอร์ชั่นละครทีวี) กับ IT FOLLOWS ก็มีการปฏิบัติต่อผีในลักษณะที่คล้ายๆ “เชื้อโรค” เหมือนกันด้วย

--หนังเกี่ยวกับผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่เราชอบในลักษณะใกล้เคียงกับ IT FOLLOWS ก็คือ JEEPERS CREEPERS (2001, Victor Salva), HUSK (2011, Brett Simmons) และ GALLOWS HILL (2013, Victor Garcia) เพราะมันเหมือนกับว่าอำนาจเหนือธรรมชาติในหนังเรื่องนี้มันอยู่ภายใต้กฎกติกาบางอย่างที่ทำให้เราสามารถสู้กับมันได้ในระดับนึง



Thursday, June 25, 2015

A FILM REVIEW BY NOEL VERA TRANSLATED INTO THAI

NINANAIS (REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG, John Torres, 2010)

เขียนโดย Noel Vera ในวันที่ 17 ส.ค. 2010 จาก blog

แปลโดย จิตร โพธิ์แก้ว

เพลงบังเกิดขึ้นเหมือนท่อนซ้ำของการปฏิวัติ

ในช่วงต้นของหนังเรื่อง NINANAIS: REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG (2010) ซึ่งเป็นหนังเรื่องล่าสุดของจอห์น ตอร์เรสนั้น เราได้ยินคำพูดเหล่านี้ (จากความทรงจำแบบคร่าวๆ):

“อย่ามองหาเราในประวัติศาสตร์หรือในหนังสือที่เขียนโดยผู้ชนะ พวกนั้นเป็นสิ่งที่แม่นยำและแน่นอน ส่วนเราเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญและเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง

อย่ามองหาเรื่องราวของเราในนิทานปรัมปรา, ภาพที่ปรากฏ, ตำนานที่อุดช่องว่าง สิ่งเหล่านั้นเป็นสะพานเชื่อม ส่วนเรายืดตัวและร่วงหล่น จงฟังใบหน้าของเรา อย่ายึดมั่นในคำพูดของเรา เรื่องรักของเราอยู่ที่สีสันแห่งเสียงของเรา

ในท้ายที่สุดแล้ว เราจะปฏิเสธการปฏิวัติและมาถึงความรัก”

ถ้อยคำเหล่านี้ได้กำหนดโทนของหนังเรื่องนี้ และบ่งชี้ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอะไร มันไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์หรือบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องของตำนานวีรบุรุษหรือมหากาพย์ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนใกล้ชิด ถ้อยคำเหล่านี้ยังบ่งชี้อีกด้วยว่า เราควรจะมองเนื้อเรื่องของสิ่งเหล่านี้และภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร เราไม่ควรมองมันเป็นเรื่องเล่าแบบตรงไปตรงมาตามตัวอักษร แต่มองมันเป็นชุดของอารมณ์, ภาพ, การเปรียบเทียบ และการเชื่อมโยงที่ต้องอาศัยหัวใจและปฏิภาณในการเชื่อมโยง ไม่ใช่ตรรกะ (ใครก็ตามที่มองหาเหตุและผลในหนังเรื่องนี้จะต้องรู้สึกหัวเสียอย่างรุนแรง)

อย่างไรก็ดี มีเนื้อเรื่องเรื่องหนึ่งอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ หรือถ้าหากกล่าวตามจริงแล้ว มีเนื้อเรื่องราวๆ 3 เรื่องอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องของ “นากมาลิตง ยาวา” สาวสวยที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายที่ไต่ลงไปในถ้ำที่มีชื่อว่า “คุรุนดาลัน” เพื่อปลดปล่อย “ฮูมาดัปนอน” ชายคนรักของเธอที่ถูกคุมขังไว้  และที่จริงแล้ว เรื่องราวดังกล่าว (ซึ่งเป็นเพียงส่วนแรกของนิทานมหากาพย์เรื่องหนึ่ง) ถูกเล่าโดย binakod ซึ่งเป็นสาวสวยที่ถูกชนเผ่า Sulanon ในเกาะปานายเลือกไว้ตั้งแต่เด็ก โดยเด็กหญิงที่ถูกเลือกนี้จะต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว (คำว่า binakod หมายถึง เก็บสงวนไว้) เพราะเธอมีหน้าที่เรียนรู้มหากาพย์ Hinilawod และเรื่องราวความรักในมหากาพย์นี้ถือเป็นภารกิจตลอดชีวิตของ binakod

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของซาราห์ด้วย เธอกำลังตามหาเอมิลิโอ ผู้ที่เธอเคยพบเจอเพียงแค่ในความฝัน และวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เธอจะทำงานเป็นคนทวงหนี้ เธอกำลังตระเวนไปทั่วเมืองกูอิมบาลเพื่อทวงหนี้จากคนต่างๆ และมีอยู่จุดหนึ่งที่เธอต้องข้ามแม่น้ำ และเด็กๆก็เห็นเธอในตอนนั้น และคิดว่าเธอกำลังเดินบนผิวน้ำ และเด็กๆก็เข้าใจผิดคิดว่าเธอคือนากมาลิตง ยาวา ทั้งนี้ เมื่อเธอไปเจอลูกหนี้คนถัดไป เขาก็รีบยื่นเงินให้เธอในทันที โดยไม่มีการบ่นหรืออิดออด (เราเห็นเธอในระยะไกลขณะข้ามแม่น้ำ และเธอก็ดูเหมือนกำลังเดินบนผิวน้ำ เธอ “คือ” นากมาลิตง ยาวา พลังธาตุที่กำลังตามหาคนรักที่พลัดพรากไป และนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพที่ดูเหมือนถ่ายแบบฉับพลันแต่สามารถกระตุ้นคนดูให้คิดประหวัดถึงสิ่งต่างๆได้ ซึ่งเป็นภาพแบบที่ตอร์เรสสามารถนำเสนอบนจอภาพยนตร์ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า)

ซาราห์เดินทางไปคุยกับตาตาง กิเยร์โม ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าเธอคือบุตรีของเขาที่ตายไปนานแล้ว และสิ่งนี้ก็นำไปสู่เรื่องราวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือเรื่องของนายพลกิเยร์โม ผู้นำของกองกำลังโวลุนตาริออส และนายพลตัน มาร์ติน ผู้นำของกองกำลังรีโวลูซิออนนาริออส ซึ่งเป็นกองกำลังคู่อริสองกลุ่มที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อเอกราชของชาติ กิเยร์โมอยู่ในความโศกเศร้านับตั้งแต่ลินซึ่งเป็นบุตรีของเขาเสียชีวิตไป และเขาก็ดูเหมือนจะพบลินอีกครั้งในตัวซาราห์ ถึงแม้กาลเวลาและยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ตอร์เรสเล่าเรื่องนี้แล้วก็ไปเล่าเรื่องนั้น เขานำเรื่องมาไขว้กันและฉีกออกจากกันท่ามกลางโยงใยอันซับซ้อน และเขาผสมทั้งประวัติศาสตร์, ตำนาน และความคิดคำนึงส่วนตัวเข้าด้วยกัน เขานำเรื่องราวเหล่านี้และบทกวีที่ถูกขับขานเป็นครั้งคราวมาสมรสกับภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ปฏิบัติตัวตามคำพูดเปิดเรื่องที่บอกเราว่า เราไม่ควรเชื่อฟังถ้อยคำ แต่ควรเงี่ยหูฟัง “สีสันของเสียงของเรา” แทน เราไม่เห็นใบหน้าคนมากเท่ากับได้เห็นเสี้ยวหน้า และหนังไม่ได้ติดตามผู้คนมากเท่ากับติดตามหัวเข่า, ข้อศอก และด้านหลังของศีรษะ ตอร์เรสทำเหมือนกับโรแบร์ต เบรซองในแง่ที่ว่า เขาดูเหมือนจะไม่ต้องการถ่ายผู้คนในแบบเดียวกับหนังคลาสสิคของฮอลลีวู้ด ซึ่งได้แก่การถ่ายภาพแบบโคลสอัพหรือลองช็อต โดยให้ใบหน้าอยู่ตรงกลางและเผชิญหน้ากับกล้อง แต่เขาต้องการชำเลืองดูคนเหล่านี้จากด้านข้าง และจากมุมภาพที่เอียงกะเท่เร่อย่างเป็นปริศนา เราถูกกระตุ้นให้เพ่งความสนใจไปที่หนังตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าคนบนจอเป็นใครหรืออะไรกันแน่ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ในขณะที่ตอร์เรสคอยป้อนรายละเอียด, คำบอกใบ้ หรือเบาะแสให้แก่เราอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจ

อย่างไรก็ดี ตอร์เรสทำมากกว่าชำเลืองดูนักแสดงของเขา เขาดัดแปลงชื่อ Sulanon และ binakod มาจาก Suludnon และ binukot ซึ่งเป็นคำเดิม และเขาก็เอาชื่อคนในประวัติศาสตร์อย่างเช่นนายพลกิเยร์โมและนายพลตัน มาร์ตินมาใช้ แต่สร้างรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริงให้แก่คนเหล่านี้ เพราะเหตุใดเขาถึงทำเช่นนั้น หรือมีเหตุผลอะไรที่เขาไม่ควรทำเช่นนั้นกันล่ะ ถ้าหากคุณเชื่อฟังคำพังเพยที่เขาใช้ในช่วงเปิดเรื่อง คุณก็ไม่ควรจะฟังถ้อยคำของเขาอย่างใกล้ชิดเกินไป แต่ควรจะฟังใบหน้าของตัวละครแทน และควรจะฟัง “สีสันในเสียงของตัวละคร” คุณไม่ควรจะมุ่งความสนใจไปยังข้อเท็จจริงที่เฉพาะเจาะจง (ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องแต่งประมาณครึ่งหนึ่ง) แต่ควรจะมุ่งความสนใจไปยังเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดาต่างหาก

ถ้อยคำของตอร์เรส (ถึงแม้เขาแนะนำว่าไม่ควรเชื่อฟังมันก็เถอะ) ในบางครั้งอาจจะฟังดูน่าขัน อย่างเช่นในตอนที่ซาราห์เล่าถึงความฝันที่ขากับครรภ์ของเธอบินออกไปและไปพันรอบต้นไม้ต้นหนึ่ง (คุณคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์แบบฟรอยด์ใช่ไหม)  และภาพในหนังของเขาในบางครั้งก็ดูน่าสะพรึง อย่างเช่นในตอนที่มีการพูดกันอ้อมๆถึงสงคราม และเราก็เห็นเด็กผู้ชายในท้องถนนฝุ่นคลุ้งในชนบทขายมีดพร้าด้ามใหญ่ โดยใบมีดส่องประกายแวววาวท่ามกลางแสงแดดจ้า และน้ำหนัก, ความยาว และความคมของใบมีดก็บ่งชี้ว่ามันสามารถตัดกิ่งไม้หรือแม้แต่แขนขาของมนุษย์ให้ขาดออกจากกันได้ ตอร์เรสดูเหมือนจะพัฒนาลักษณะภาพแบบเฉพาะขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์และหลุดโฟกัสในบางครั้ง โดยมีการใช้บัญชรสีที่สดใส และหนังเรื่องนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นฟุตเตจฟิล์มประเภท Super 8 ที่ถูกฉายโดยเครื่องฉายหนังโบราณ มันเป็นเรื่องตลกดีที่สื่อประเภทนี้ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นประจำเพื่อสะท้อนถึงความทรงจำเก่าๆ และความเบลอของภาพกับความไม่เสถียรของฟันเฟืองในเครื่องฉายก็มักจะบ่งชี้ถึงความทรงจำที่ลางเลือน หนังเรื่องนี้มีความพิศวง แต่ก็ให้ความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสูงค่าในขณะเดียวกัน มันเหมือนกับว่าใครบางคนค้นพบม้วนฟิล์มนี้ในตู้เก็บของฝุ่นเขรอะที่ถูกปิดล็อคไว้ในห้องที่ถูกหลงลืมในคฤหาสน์ใหญ่เก่าแก่หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางดงต้นมะพร้าว และคุณก็นำม้วนฟิล์มนี้มาใส่ในเครื่องฉายหนัง กดปุ่มเปิดมัน และมองดูแสงกะพริบบนจอที่เปิดประตูให้แก่โลกของภูติผี

หนังของตอร์เรสมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก และการที่เขาให้เสียงบทบรรยายด้วยตัวเองในหนังเกือบทุกเรื่องของเขาทำให้มันมีลักษณะเช่นนั้น ถึงแม้คุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่านั่นเป็นเสียงของเขา เสียงนั้นพูดอย่างเงียบๆ และเกือบจะเหมือนกระซิบกับคุณ มันเหมือนกับว่าตอร์เรสนั่งอยู่ข้างๆคุณและกระซิบข้างหูคุณ ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้หนังเรื่องก่อนๆหน้านี้ของเขา ซึ่งได้แก่เรื่อง TODO TODO TEROS (2006) และ TAON NOONG AKO’Y ANAK SA LABAS (YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE, 2008) มีลักษณะเหมือนคำสารภาพ มันเหมือนกับว่าตอร์เรสเจาะกะโหลกของตัวเองและเปิดมันออกมาเพื่อให้คุณสำรวจอย่างใกล้ชิด ส่วน NINANAIS นั้นทำงานในระดับที่ทะเยอทะยานมากยิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นการเล่าประวัติศาสตร์และตำนานผ่านทางสไตล์ภาพยนตร์ที่คลุมเครือและไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ ส่วนชื่อหนังเรื่องนี้นั้นเป็นที่แน่นอนว่ามันเป็นการเล่นคำที่มาจากชื่อหนังเรื่อง REVOLUTIONS HAPPEN LIKE REFRAINS IN A SONG (1987) ของนิค ดีโอแคมโป ซึ่งเป็นชื่อหนังที่ดีโอแคมโปใช้สื่อถึงลักษณะการหมุนวนเป็นวงกลมของประวัติศาสตร์ ส่วนในชื่อหนังเรื่องนี้นั้น ตอร์เรสอาจจะสื่อถึงผลกระทบอันสับสนวุ่นวายที่ท่วงทำนองทางอารมณ์, ทางสังคม และทางประวัติศาสตร์อาจจะส่งผลต่อชีวิตของเรา โดยในฉากหนึ่งนั้นตัวละครเอมิลิโอที่อาจจะไม่มีตัวตนจริงได้ประกาศว่า “สงครามทุกสงครามคือเรื่องราวของความรัก” ซึ่งเป็นการสะท้อนสิ่งที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในช่วงต้นเรื่อง และบ่งชี้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มาถึงตอนจบ แต่กลับมาถึงจุดเริ่มต้นและเริ่มดำเนินเรื่องไปอีกครั้ง การปฏิวัติและท่อนซ้ำของเพลงเกิดขึ้นหมุนวนซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่มีวันจบสิ้น นี่เป็นหนังที่อาจจะดูยาก แต่ก็งดงามจนไม่อาจจะบรรยายได้ และคงไม่จำเป็นจะต้องบอกแต่อย่างใดว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีเลิศที่สุดที่ผมได้ดูมาในปีนี้


Monday, June 22, 2015

LITTLE FOREST: WINTER/SPRING (2015, Junichi Mori, Japan, A+30)

LITTLE FOREST: WINTER/SPRING (2015, Junichi Mori, Japan, A+30)

--งดงามเหมือนภาคแรก ชอบตัวละครคุณแม่นางเอกมากๆ


--เห็นนางเอกเก็บของป่ามาแดกอย่างเอร็ดอร่อย แล้วนึกถึงหนังสั้นไทยหลายๆเรื่อง ที่เมื่อใดตัวละครชาวบ้านเข้าไปเก็บของในป่า เมื่อนั้นชาวบ้านคนนั้นก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับไปเข้าคุก คือกฎหมายเมืองไทยมันมีปัญหาเรื่องนี้อย่างรุนแรงจริงๆ

LA FAMILLE BÉLIER (2014, Éric Lartigau, France, A+20)

LA FAMILLE BÉLIER (2014, Éric Lartigau, France, A+20)

--ชอบที่หนังไม่ได้นำเสนอคนหูหนวกในฐานะคนน่าสงสารแต่อย่างใด แต่ดูเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ

--ปกติแล้วเราจะรู้สึกว่าครอบครัวฝรั่งน่าจะเหมือนครอบครัวในหนังเรื่อง TANGUY (2001, Étienne Chatiliez) นั่นก็คือพ่อแม่จะพยายามไล่ลูกออกจากบ้านให้ได้เมื่อลูกโตแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าการที่ครอบครัวในหนังเรื่อง LA FAMILLE BÉLIER หวงลูก มันจึงเป็นสิ่งที่ประหลาดดี คือเหมือนเราไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้ในหนังฝรั่ง และคงเป็นสิ่งที่ครอบครัวมนุษย์ปกติเขาไม่ทำกัน คือการหวงลูกของครอบครัวนี้เป็นสิ่งที่มีเหตุผลรองรับน่ะ เพราะลูกเป็นเครื่องมือสื่อสารกับโลกภายนอกและเป็นเครื่องมือทำมาหากินอย่างนึงของพ่อแม่ แต่ถ้าครอบครัวนี้ไม่ใช่ครอบครัวคนพิการ แล้วหวงลูกแบบนี้ มันคงจะเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามมากๆ (อาจจะดูประเด็นนี้ได้จากหนังอินเดียเรื่อง PIKU (2015, Shoojit Sircar))

--ชอบเพื่อนนางเอกมากๆ พฤติกรรมบางอย่างของเพื่อนนางเอกทำให้นึกถึงพฤติกรรมของนางเอกหนังเรื่อง LOVELY RITA (2001, Jessica Hausner, A+30)

--พอดูพฤติกรรมของนางเอกกับเพื่อนนางเอกใน LA FAMILLE BELIER แล้วทำให้เราตั้งคำถามว่า มันมีหนังและละครทีวีกี่เรื่องที่ใช้ pattern แบบว่า “นางเอกมีเพื่อนสาวที่แร่ดหรือกล้าแสดงความต้องการทางเพศมากกว่านางเอก” น่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าหนังหลายๆเรื่องมักจะมี pattern แบบนี้น่ะ อย่างเช่นหนังสั้นเรื่อง “ออกกำลังรัก” (2015, กมลรัตน์ ภักดีบาง) ก็มี pattern ตัวละครแบบนี้ หรือแม้แต่ละครทีวีอย่าง SEX AND THE CITY นางเอกก็ไม่ใช่คนที่กล้าแสดงความต้องการทางเพศมากที่สุดในกลุ่มเพื่อนหญิงของตัวเอง เพราะตัวละคร Samantha จะกล้าแสดงออกมากกว่า


แต่เราจะชอบหนังแบบ LOVELY RITA และ AND THE AWARD FOR THE BEST WHORE GOES TO... (2015, ธิติวัฒน์ ขจร, A+30) มากกว่าหนังกลุ่มข้างต้นน่ะ คือหนังที่นางเอกเป็นคนที่กล้าแสดงออกมากที่สุดในกลุ่มเพื่อนหญิงของตัวเองไปเลย แทนที่จะโยนบุคลิก “เรียบร้อย หรือเรียบร้อยกว่าเพื่อนในกลุ่ม” ให้ “นางเอก” และโยนบุคลิก “แร่ด ร่าน เงี่ยน” ให้ “เพื่อนนางเอก” แบบหนังหลายๆเรื่อง

Saturday, June 20, 2015

INSIDIOUS: CHAPTER 3 (2015, Leigh Whannell, A+10)


INSIDIOUS: CHAPTER 3 (2015, Leigh Whannell, A+10)

ถ้าไม่นับไคลแมกซ์ของหนัง เราคงชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 ไปแล้ว เพราะเราชอบบรรยากาศของหนัง ชอบการใช้เสียงประกอบต่างๆในหนัง เรารู้สึกอินกับหนังมากๆ

แต่พอเข้าช่วงไคลแมกซ์จนหนังจบ เราก็รู้สึกว่าหนังคลี่คลายง่ายมากๆ และไม่มีอะไรสร้างสรรค์เลย ทำไมไคลแมกซ์ของหนังถึงจืดชืดอย่างนี้ ความชอบที่เรามีต่อหนังเรื่องนี้ก็เลยหล่นฮวบในช่วงท้าย

แต่มีฉากหนึ่งที่เราชอบมากในช่วงต้นของหนัง ที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถ คือเราว่าฉากนั้นหลอนดี และมันทำให้เรานึกถึงการเสียชีวิตของ “ฟู่เซิง” ดาราหนังฮ่องกงที่ประสบอุบัติเหตุทางรถในปี 1983

คือตอนที่ฟู่เซิงตายในปี 1983 เราได้อ่านนิตยสารฉบับนึง ซึ่งลงเรื่องราวคำสัมภาษณ์ของพี่ชายของฟู่เซิง (ถ้าจำไม่ผิด) พี่ชายนั่งรถไปกับฟู่เซิงในวันเกิดเหตุ โดยตัวพี่ชายเป็นคนขับรถ โดยเหตุการณ์ก็คือว่า ตอนนั้นรถแล่นไปตรง “โค้งร้อยศพ” หรืออะไรทำนองนี้ แล้วพี่ชายก็เห็นคนกลุ่มหนึ่งยืนโบกมือ (หรืออะไรทำนองนี้ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน) อยู่ตรงโค้งนั้น พี่ชายฟู่เซิงก็งงว่าคนกลุ่มนั้นเป็นใคร มายืนโบกมือตรงโค้งร้อยศพทำไม แล้วอยู่ดีๆก็มีลมเย็นพัดวูบเข้ามาในรถ แล้วพี่ชายก็มือเท้าแข็ง ควบคุมรถหรือเหยียบเบรคอะไรไม่ได้ แล้วรถก็ประสบอุบัติเหตุ

ก่อนที่พี่ชายจะหมดสติไป เขามองไปที่ “โค้งถนน” นั้น แล้วก็เห็นฟู่เซิงยืนรวมอยู่กับคนกลุ่มนั้นที่โค้งถนนนั้นแล้ว

แต่เราไม่แน่ใจว่าเราจำเรื่องข้างบนได้ถูกต้องหมดหรือเปล่านะ เพราะเราอ่านมันจากนิตยสารในปี 1983 น่ะ แล้วเมื่อกี้เราพยายาม search หาข้อมูลเรื่องนี้ทางอินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้เลย ถ้าใครมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเอามาเสริมก็ได้นะ

ส่วนอันนี้เป็นข้อมูลจาก imdb


On Wednesday night, July 7th, 1983, after leaving Clearwater Bay Country Club on the way to film Wu Lang ba gua gun (1984), he was traveling on the passenger side of his Porsche 911 Targa that was driven by his third brother, Chang Zheng Sheng. They suddenly crashed into a cement wall on Clearwater Bay Road after taking a sharp turn too quickly. He suffered a broken back, severe internal injuries and significant blood loss. After 3 hours in the hospital, he died at 3:43am. He was 28 years old.

A MATTER OF TASTE: SERVING UP PAUL LIEBRANDT (2011, Sally Rowe, documentary, A+25)

A MATTER OF TASTE: SERVING UP PAUL LIEBRANDT (2011, Sally Rowe, documentary, A+25)

--ชอบความยากลำบากของชีวิตในหนังเรื่องนี้ คือตัวพอลเหมือนจะเป็นคนที่มีทั้งพรสวรรค์, ความสามารถ, ความขยัน แต่เขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย ชอบช่วงที่เขาต้องทำงานขายเฟรนช์ฟรายส์กับแฮมเบอร์เกอร์มากๆ เพราะเราว่ามันเหมือนกับชีวิตเราและเพื่อนๆเราหลายคน อย่างเช่น เพื่อนเราบางคนมีความสามารถด้านการเป็น designer มากๆ แต่ต้องทำงานเป็นครูสอนฟิสิกส์ หรืออะไรทำนองนี้ คือชีวิตมักจะไม่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความสามารถที่แท้จริงของตัวเองสักเท่าไหร่

--ถึงพอลจะได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริงในภายหลัง ชีวิตเขาก็ไม่ง่ายอยู่ดี เขาก็ต้องทำงานหนักมากอยู่ดี กว่าจะได้ความสำเร็จมาทีละอย่าง ทีละอย่าง

--การได้เห็นชีวิตจริงของคนที่ทำงานหนักมากแบบนี้ (ทั้งตัวพอลและลูกมือในครัวของพอล) ทำให้เรารู้สึกดี เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตเราก็ไม่เหี้ยจนเกินไป คนอื่นๆก็ต้องทำงานหนักพอๆกับเรา ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่เห็นอะไรแบบนี้ในหนัง fiction เพราะหนัง fiction ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก แต่ไปให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆมากกว่า หรือแม้แต่หนัง fiction อย่าง THE HUNDRED-FOOT JOURNEY (2014, Lasse Hallström) ที่ถ่ายทอดชีวิตพ่อครัวเหมือนกับ A MATTER OF TASTE เราก็รู้สึกว่า หนังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “การทำงานหนัก” ของพระเอกเวลาไปทำงานร้านอาหารเท่าใดนัก แต่ไปให้ความสำคัญกับเรื่อง drama อื่นๆในชีวิตพระเอกและคนรอบข้างมากกว่า


--รู้สึกว่าตัวพอลเป็นคนที่ยังมีอะไรร้อนรนในใจอยู่ ไม่เหมือนกับตัว subject ของหนังสารคดีเรื่อง JIRO DREAMS OF SUSHI (2011, David Gelb) ที่ดูเป็นคนที่ “นิ่งสงบ” แล้ว เพราะฉะนั้นความร้อนรนในใจของพอล หรือ flaws ต่างๆในตัวพอล ก็เลยทำให้หนังออกมาดูสนุกดีสำหรับเรา แต่เราก็ชอบ JIRO DREAMS OF SUSHI มากๆนะ แต่เหมือนในหนังเรื่องนั้นเราจะสนใจกับ “อาหาร” และ “ร้าน” มากกว่าตัวมนุษย์ แต่ใน A MATTER OF TASTE เราจะสนใจมนุษย์มากกว่าอาหาร