Saturday, December 05, 2015

ANGKANA (2015, Narasit Kaesaprasit, A+25)

ANGKANA (2015, Narasit Kaesaprasit, A+25)

1.ไม่รู้ว่าเราใช้ approach ที่ผิดพลาดในการดูหนังเรื่องนี้ในการดูรอบแรกหรือเปล่า เพราะตอนแรกเรานึกว่ามันจะเป็นหนังแนว allegory ที่ตัวละครและสถานการณ์ต่างๆในเรื่องอาจจะใช้เป็นภาพสะท้อนสังคม/การเมืองในวงกว้าง แต่พอดูๆไปแล้วก็พบว่า เอ๊ะ เราเริ่มตีความมันไม่ออก และจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เป็น allegory ของอะไรก็ได้ แต่เป็นแค่การเล่าเรื่องของครอบครัวครอบครัวหนึ่งเท่านั้น

สิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า เราเคยดูหนังเรื่อง ในยามหัวค่ำ...ครอบครัวหนึ่งกำลังทานมื้อเย็น” (2014, Narasit Kaesaprasit) มาก่อนน่ะ ซึ่งในหนังเรื่องนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในหนังเหมือนเป็นภาพสะท้อนการเมืองไทยในวงกว้าง เราก็เลยนึกในตอนแรกว่า ANGKANA จะเป็นแบบเดียวกันนี้ด้วย

2.ชอบสิ่งที่วิทยากรท่านหนึ่งพูดมากๆ ที่บอกว่าหนังเรื่องนี้คุมโปรดักชั่นให้ออกมาทิศทางเดียวกันได้ทุกองค์ประกอบ อะไรทำนองนี้ เพราะตอนที่เราดู เราไม่ได้สังเกตถึงจุดนี้ แต่พอมาคิดดู เราก็พบว่ามันจริง และเราก็พบว่า สิ่งที่ติดตาเรามากที่สุดคือสีผ้าม่านในห้องนอนของนางเอก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงติดตาเรามากที่สุด แต่สาเหตุหนึ่งคงจะเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้มี art direction/set decoration ที่ดีพอสมควร สีผ้าม่านในหนังเรื่องนี้มันเลยติดตาเรามากๆ ทั้งๆที่มันไม่มีความสำคัญอะไรต่อตัวเนื้อเรื่องโดยตรง

3.นางเอกเล่นดีมากๆ

4.ชอบความแรงของหนังเรื่องนี้นะ ทำให้นึกถึงพวกหนังที่กำกับโดย Catherine Breillat จริงๆแล้วมีหนังม.บูรพาอีกสองเรื่องในปีนี้ที่ทำให้นึกถึงหนังของผู้กำกับฝรั่งเศสที่โด่งดังในทศวรรษ 1990 เหมือนกัน ซึ่งได้แก่เรื่อง I WANT YOU TO BE (Bundit Sintanaparadee) ที่ทำให้นึกถึงหนังกลุ่ม หญิงสาวที่หัวรั้นอย่างรุนแรงในเรื่องความรักของ Benoît Jacquot อย่างเช่นเรื่อง THE SCHOOL OF FLESH (1998), RIGHT NOW (2004) และ 3 HEARTS (2014) ในขณะที่ DON’T WORRY, BE HAPPY (Anuwat Amnajkasem) ก็ทำให้เรานึกถึง LATE AUGUST, EARLY SEPTEMBER (1998, Olivier Assayas) ที่นำเสนอเศษเสี้ยวต่างๆในชีวิตของตัวละครกลุ่มหนึ่งขณะที่พวกเขาอยู่ในช่วงของ การเรียนรู้และการเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่างในชีวิต

5.สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือเปล่าของ ANGKANA ก็คือว่า ท่าทีของหนังที่มีต่อตัวละครตัวนี้มันแตกต่างไปจากหนังกลุ่ม แม่บ้านที่เราเคยดูมาน่ะ เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรจะสงสารหรือสมเพชอังคณาดี หรือควรจะรักหรือเกลียดอังคณาดี เหมือนหนังเปิดโอกาสให้เราคิดยังไงกับอังคณาก็ได้

ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากหนังกลุ่มแม่บ้านที่เราเคยดูมา เพราะหนังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะรักตัวละครนางเอก และเปิดโอกาสให้คนดู sympathize หรือ identify กับตัวละครแม่บ้านผู้ถูกกดขี่ โดยหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น 

5.1 THE FALSE STEP (1939, Gustaf Gründgens, Germany) ที่เล่าเรื่องของเอฟฟี่ บรีสต์ หญิงสาววัยแรกแย้มที่ถูกพ่อแม่จับหมั้นกับผู้ชายสูงวัย แต่ชีวิตแต่งงานของเธอล้มเหลว เพราะสามีไม่สนใจเธอ เธอก็เลยหันไปคบชู้แทน

5.2 AND THEN (1985, Yoshimitsu Morita) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวผู้เปล่าเปลี่ยวและมีสามีที่ยากจนและนิสัยไม่ดี เธอแอบชอบเพื่อนของสามี แต่เธอก็แทบไม่กล้าแสดงออกอะไรเลย เธอเก็บอารมณ์ความรู้สึกอย่างนิ่งสนิทมากๆ การแสดงออกที่มากที่สุดของเธอมีเพียงแค่การดื่มน้ำจากแจกันดอกไม้ในฉากหนึ่งเท่านั้น (ถ้าจำไม่ผิด)

5.3 BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder, Germany) ที่สร้างจากเรื่องจริงของแม่บ้านผู้ถูกกดขี่ เธอก็เลยลุกขึ้นมาสังหารหมู่ประชาชนตายไปราว 15 คน

หรือถ้าหากไม่ได้เป็นหนังกลุ่มแม่บ้านผู้ถูกกดขี่ หนังหลายเรื่องที่เราได้ดูก็จะเป็นเรื่องของแม่บ้านที่กดขี่ลูกๆของตนเอง อย่างเช่น โอ้ มาดา (1977, ชนะ คราประยูร) หรือ MY SON (2006, Martial Fougeron)

พอเปรียบเทียบกับหนังสองกลุ่มนี้แล้ว เราก็จะเห็นว่า ANGKANA มันแตกต่างจากหนังสองกลุ่มนี้ และมันเหมือนรวมส่วนผสมของหนังสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน เพราะมันมีทั้งความน่าสงสารของตัวอังคณาที่ไม่ได้รับความรักจากสามี แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้เราสงสารเธอ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นสิ่งที่เธอปฏิบัติต่อลูกชาย นอกจากนี้ ANGKANA ยังแตกต่างจากหนังกลุ่มแม่บ้านผู้ถูกกดขี่อย่างเห็นได้ชัดในแง่ที่ว่า หนังหลายเรื่องในกลุ่มนี้ จะแสดงให้เห็นถึง ความรักของนางเอกที่มีต่อชายชู้ แต่อังคณาในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นชู้กับใคร นอกจาก กับตัวเองเราก็เลยรู้สึกว่าเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้มันแหวกแนวและมันน่าสนใจมากๆ

6.แต่ปัจจัยที่ทำให้เรายังไมได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆอาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่สามารถ identify กับตัวอังคณาได้ด้วยแหละ ซึ่งเป็นเพราะว่าโดยปกติแล้วเรามักจะ identify กับตัวละครแม่บ้านที่ลุกขึ้นสู้หรือลุกขึ้นทำตามใจปรารถนาของตัวเองมากกว่าตัวละครแม่บ้านที่ปล่อยชีวิตให้ไหลไปแบบในหนังเรื่องนี้ แต่นั่นก็คงจะเป็นจุดประสงค์ของผู้กำกับอยู่แล้วล่ะ เพราะผู้กำกับคงไม่ต้องการให้ผู้ชม identify กับตัวอังคณาอยู่แล้ว

7.แต่การที่หนังวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างหรือประณามการกระทำของตัวละคร มัน work สำหรับเราในระดับนึงในช่วงท้ายของหนังนะ ในส่วนที่พ้นจากตัวอังคณาไปแล้ว คือเราชอบที่หนังไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าตัวละครพ่อ-แม่เลี้ยง-ลูกชาย-ลูกสาว ทำผิดศีลธรรม และสมควรถูกลงโทษอะไรทำนองนี้ในช่วงท้ายของหนังน่ะ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าพ่อกับแม่เลี้ยงทำผิดอะไรที่พลอดรักกันแบบนั้น และการกระทำของพี่ชาย-น้องสาวในฉากสุดท้าย ก็เป็นสิ่งที่ debate ได้ด้วยว่า ผิดหรือไม่ผิด เพราะมันอาจจะผิดมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงแล้วมันก็ไม่ได้ไปหนักหัวใคร หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร เราก็เลยชอบท่าที เป็นกลางในช่วงท้ายของหนัง

สรุปว่า ANGKANA เป็นหนังที่เนื้อเรื่องแรงดี และมีความน่าจดจำทั้งในส่วนของเนื้อเรื่อง, การสร้างตัวละครที่แรงมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตัวละครหญิงอื่นๆในหนังไทย, การแสดงของนักแสดงนำ และการถ่ายภาพในบางฉาก (เราว่าช่วงท้ายของหนังถ่ายภาพได้น่าติดตามาก) แต่ท่าทีที่เป็นกลางของหนังเหมือนจะส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อตัวเรา เพราะเรารู้สึกมีระยะห่างจากหนังและตัวละครในหนังในระดับนึงน่ะ และไม่สามารถ identify หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครตัวใดได้ เราก็เลยเหมือนยังไม่อินสุดๆกับหนังเรื่องนี้ แต่เรากลับชอบท่าทีที่เป็นกลางของหนังในช่วงท้ายของหนั

No comments: