FREEZE (2018, Wachara Kanha, 28min, A+30)
พรุ่งนี้ยังมีอีกไหม
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่
1.หนังเรื่องนี้มีการนำ “กล่องกระจก”
หลายกล่องไปวางไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ตอนที่เราดูเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร
ก็เลยตีความมันไปต่างๆนานา พอดูจบแล้วถึงรู้ว่ามันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง” 555
แต่เราก็ขอจดบันทึกความรู้สึกขณะที่ดูไว้ก็แล้วกันนะ
ซึ่งเป็นความรู้สึกจากการที่ไม่รู้ว่า กล่องกระจกเหล่านี้มันคืออะไร
2.ถึงเราไม่เข้าใจกล่องกระจกและไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้
เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆอยู่ดีนะ เพราะเราชอบความเป็นกวีของมันน่ะ
ซึ่งเป็นลักษณะเด่นในหนังหลายๆเรื่องของวชรอยู่แล้ว
เราว่าวชรหรือไกด์สามารถร้อยเรียงซีนต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างงดงามราวบทกวีมากๆ
และยิ่งหนังเรื่องนี้ได้ดนตรีประกอบที่เพราะมากๆมาช่วยเสริมด้วยแล้ว หนังก็เลยยิ่งงดงามในแบบบทกวีมากยิ่งขึ้นไปอีก
เราชอบจุดนี้มากที่สุดในหนังเลยนะ แต่ “หนังที่มีความ poetic สูงมาก” แบบนี้
ก็คือหนังที่เราบรรยายความงามของมันได้ยากที่สุดน่ะแหละ
เพราะฉะนั้นถึงแม้จุดนี้จะเป็นจุดที่เราชอบที่สุดในหนัง
เราก็คงไม่เสียเวลาบรรยายถึงมันแล้วกัน
เพราะมันยากที่เราจะถ่ายทอดความงามของมันออกมาเป็นตัวอักษรได้
3.ถ้าหากเทียบกับหนังแนวกวีเรื่องอื่นๆของไกด์แล้ว
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า คราวนี้ไกด์ใช้ฉากในชนบทในการสร้างหนังแนวกวีน่ะ
เพราะเราคิดว่าปกติแล้ว
3.1 ไกด์มักจะทำหนังแนวกวี โดยใช้ฉากในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก
3.2 แต่เวลาไกด์ไปถ่ายหนังในต่างจังหวัด
หนังเหล่านั้นมักจะเป็นหนังที่ชู “ประเด็น” เป็นหลัก
คือหนังอาจจะมีความเป็นกวีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ล่องลอยมากเท่าหนังเรื่องนี้
หนังเรื่อง FREEZE ก็เลยแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆของไกด์ในแง่นี้น่ะ
4.ตอนที่เรายังไม่รู้ว่ามันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง”
เราจะงงว่ากล่องกระจกนี่คืออะไร เราก็เลยตีความกล่องกระจกเหล่านี้ว่าอาจจะเป็น
4.1 การพาดพิงถึงรายการ “กระจกหกด้าน” 55555
เพราะหนังมันเหมือนนำพาเราไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในต่างจังหวัดด้วยแหละ
เราก็เลยคิดเล่นๆฮาๆว่ามันพูดถึงรายการนี้หรือเปล่า
4.2 กล้องวงจรปิด หรือการถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลในทุกๆจุด
4.3 สิ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะเราว่ากล่องกระจกในหนังเรื่องนี้มัน
“สวย” แต่มัน “แข็งเกร็ง” และถึงแม้มันจะสวย แต่มันก็ดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางเมื่อมันไปปรากฏในหลายๆฉาก
เพราะฉะนั้นเมื่อ กล่องกระจก คือ “สิ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง”
ในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยโยงมันเข้ากับทหารด้วยแหละ เพราะทหารในหนังเรื่องนี้
และในชีวิตจริง ก็เป็น “สิ่งที่งดงาม หรือดี ถ้าหากมันไม่อยู่ผิดที่ผิดทาง”
เหมือนกัน
พอดูจนจบ แล้วเราเข้าใจว่ากล่องกระจกในหนังคือ “ภูเขาน้ำแข็ง”
เราก็คิดว่าการตีความของเราในข้อ 4.3 ก็มีจุดใกล้เคียงกับภูเขาน้ำแข็งเหมือนกันนะ
เพราะภูเขาน้ำแข็งในหนังเรื่องนี้ ก็น่าจะหมายถึง “ความพยายามจะแช่แข็งประเทศของรัฐบาลเผด็จการทหาร”
นั่นแหละ
5.ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็คิดถึง
5.1 THE GARDEN (1990, Derek Jarman, UK) เพราะทั้ง FREEZE
และ THE GARDEN มีคุณสมบัติสำคัญ 4
ข้อเหมือนกัน นั่นก็คือเป็นหนังที่มีประเด็นการเมือง, เป็นหนังแนวกวีที่งดงามมากๆ,
อิงกับตำนานการสร้างโลก และใช้ทุนต่ำ คือไม่ต้องลงทุนใช้เงินจำนวนมากสร้างอะไรวิลิศมาหรา
เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด Derek Jarman ก็เล่าตำนานการสร้างโลก+การเมืองเรื่องเกย์
โดยใช้สวนหลังบ้านของตัวเองในการถ่ายทำ THE GARDEN
5.2 หนังเรื่อง BANG (1995, Ash Baron-Cohen) เพราะพัฒนาการของตัวละครในเรื่องมีความคล้ายคลึงกัน
จาก “การใส่เครื่องแบบ ใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ” ไปสู่ “ความเสียใจจาก
abuse of power” และนำไปสู่ “การถอดเครื่องแบบ” ในที่สุด
โดยใน BANG นั้น นางเอกเป็นสาวเอเชียในสหรัฐที่ถูกกดขี่
เธอก็เลยขโมยเครื่องแบบตำรวจมาใส่ และได้ enjoy การใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ก่อนจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากมัน และจบลงด้วยการที่นางเอกถอดเครื่องแบบคืนให้เจ้าหน้าที่
แล้วพูดว่า “I don’t need your uniform anymore.”
พัฒนาการของพระเอกใน FREEZE ก็มีความคล้ายคลึงกัน
5.3 ถ้าหากเทียบกับหนังของไกด์ด้วยกันเองแล้ว เรานึกถึง AWARENESS หรือ “ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ”
(2014) ในแง่การใช้เสียงตัวละครในการ “ตัดพ้อ” โดยตัวละครที่เป็นเจ้าของเสียงจะมีสถานะเป็น
“ผู้ถูกกดขี่” และเขาต้องการตัดพ้อเรื่องนี้ต่อขั้วการเมืองที่ตรงข้ามกับเขา
5.4 ถ้าหากเทียบกับหนังสั้นไทยด้วยกันเองแล้ว
เราว่าหนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ SONG X (2017, Pathompon Tesprateep) และ BOYS ARE BACK IN TOWN (2015, Eakalak Maleetipawan) เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้เป็นหนังการเมือง, มีตัวละครหลักเป็นทหาร,
มีความเป็นกวีสูงมาก และตีความยากเหมือนกัน
LADY BIRD (2017, Greta Gerwig, A+30)
1.ขอจดบันทึกไว้สั้นๆแล้วกันว่า
เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงเวลาคิดถึงตัวละครสองตัวในหนังเรื่องนี้
โดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร นั่นก็คือตัวละคร “พี่สะใภ้” ของนางเอก
กับตัวละครแม่ชี เราร้องไห้เวลาคิดถึงตัวละครพี่สะใภ้ของนางเอก
เพราะดูภายนอกเหมือนเธอเป็นคนแรงๆ คล้ายๆจะเป็นสาว gothic แต่จริงๆแล้วภายในเธอก็อาจจะไม่ใช่คนแรงแบบ
look ของเธอ เราซึ้งมากตอนที่เธอคุยกับนางเอกในทำนองที่ว่า “แม่ของเธอเป็นคนใจกว้างนะ
เพราะครอบครัวของฉันยอมรับฉันไม่ได้ที่ฉันมีเซ็กส์ก่อนแต่งงาน
แต่แม่ของเธอก็ยอมรับให้ฉันเข้ามาอยู่ในบ้าน”
คือเราชอบความสัมพันธ์แม่ผัว-ลูกสะใภ้ที่กลมเกลียวกันแบบนี้มากน่ะ สำหรับเราแล้วมันซึ้งเหมือนความสัมพันธ์
“แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง” ที่รักกันมากๆในหนังเรื่อง HER LOVE BOILS BATHWATER (2016,
Ryota Nakano)
คือมันเป็นจุดอ่อนอย่างรุนแรงของเราจริงๆน่ะแหละ
คือเรามักจะไม่ชอบหนังที่ “แม่กับลูกสาวรักกัน” แต่เราจะเสียชีวิตกับหนังที่ “แม่ผัว-ลูกสะใภ้รักกัน”
และ “แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงรักกัน”
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
2.ตัวละครแม่ชีก็ทำให้เราร้องไห้
เราซึ้งมากๆที่เธอให้อภัยนางเอก คือหนังเรื่องนี้มีวิธีการบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า
ตัวละครตัวนี้ไม่ได้มีอยู่เพียงเพื่อ “ทำหน้าที่เป็นคนดีในหนัง” แล้วก็จบกันไป แต่หนังทำให้เรารู้สึกว่า
“ตัวละครตัวนี้ผ่านชีวิตอะไรมาเยอะมาก และประสบการณ์บางอย่างในชีวิตของตัวละครตัวนี้ที่หนังไม่ได้เล่า
แต่ปล่อยให้คนดูจินตนาการเองนี่แหละ ที่หล่อหลอมให้ตัวละครตัวนี้เป็นคนแบบนี้ และทำให้เธอสามารถให้อภัยนางเอกได้”
3.อีกจุดที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือการพาดพิงถึง L’ENFANCE NUE (1968, Maurice
Pialat) ผ่านทางชื่อวงดนตรีในเรื่อง
เราว่าหนังสองเรื่องนี้มีจุดคล้ายกันด้วยแหละ นั่นก็คือการนำเสนอ “เศษเสี้ยวเล็กๆ”
ในชีวิตวัยรุ่นของตัวละครตัวนึงไปเรื่อยๆ และมี moment ซึ้งๆที่ไม่ได้ถูกขยี้จนเกินงาม
(โมเมนท์แม่ชีใน LADY BIRD ทำให้นึกถึงโมเมนท์หญิงชราใน L’ENFANCE
NUE) โดยที่ตัวละครทุกตัวในหนังทั้งสองเรื่องนี้
ทั้งตัวละครหลักและตัวละครประกอบยิบย่อย ต่างก็ดูเป็นมนุษย์จริงๆที่มีความซับซ้อน
มีหลายด้านในตัวเอง
No comments:
Post a Comment