Thursday, March 29, 2018

AQUATORIUM

AQUATORIUM (2017, Chanasorn Chaikitiporn, 30min, A+30)
เมืองบันดาล

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ยอมรับไว้ก่อนเลยว่าเราดูแล้วไม่เข้าใจ และไม่สามารถตีความอะไรได้ แต่ก็จัดเป็นหนังที่ชอบสุดๆอยู่ดี เพราะมันมีพลังของมันเองมากพอสมควร และมันก็ thought-provoking มากในระดับนึง

2.ช่วงแรกๆนึกว่าหนังเรื่องนี้จะมาแนว SNAP (2015, Kongdej Jaturanrasamee) ที่ให้ตัวละครหนุ่มสาวคุยกันใน aquarium  หรือไม่ก็อาจจะเหมือนกับหนังสั้นไทยหลายๆเรื่อง ที่ให้ตัวละครหนุ่มสาวสองคนที่เคยเป็นเพื่อนกัน แต่ไม่ได้เจอกันมานาน มาพบปะพูดคุยกัน โดยให้ฉากตัวละครคุยกันนี้เป็นการสะท้อน background หรือประวัติชีวิตของตัวละครทั้งสอง

แต่พอดูไปถึงกลางเรื่อง ก็พบว่าเราคิดผิด หนังเรื่องนี้มี “ของ” หรือมี idea แปลกใหม่ที่น่าสนใจเป็นของตัวเอง เราพบว่าบทสนทนาของตัวละครแทบไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวละครเลย เพราะตัวละครหลักคุยกันแต่เรื่อง “สถานที่แห่งนี้เปลี่ยนไปหรือเปล่า” ซึ่งเราก็จะแอบคิดในใจว่า “มันสำคัญยังไงวะ” 555 คือ AQUARIUM แห่งนี้จะเหมือนหรือไม่เหมือนกับเมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว มันสำคัญยังไง การเปลี่ยนแปลงหรือการไม่เปลี่ยนแปลงของมันนำพาไปสู่อะไร

คือเราว่าบทสนทนาของตัวละครมันก็เลยน่าสนใจมากในระดับนึงน่ะ คือดูเผินๆแล้วมันดูเป็นอะไรที่ไร้สาระและน่าเบื่อ แต่พอตัวละครมันย้ำคิดย้ำทำกับประเด็นนี้มากผิดปกติ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ thought-provoking ขึ้นมา ถึงแม้เราจะตีความมันไม่ออกก็ตาม

มันมีประเด็นอื่นๆในบทสนทนาของตัวละครด้วยนะ อย่างเช่น เรื่อง “การไม่ต้องรู้สึกอะไร ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะมองเรายังไง” แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าประเด็นต่างๆที่ตัวละครพูดถึง อันไหนมีความหมายลึกซึ้งซ่อนแฝงอยู่บ้างหรือเปล่า

3.แต่สิ่งที่ชอบมากเวลาดูไปจนถึงกลางเรื่อง ก็คือว่า เรารู้สึกว่า climax ของหนังเรื่องนี้ คือฉากสูบบุหรี่ กับฉากทาลิปสติกน่ะ เราว่าสองฉากนี้มันมีการตัดต่อที่เร้าอารมณ์ขึ้นมา และเราก็ชอบมากๆที่อยู่ดีๆ climax ของหนังกลายเป็นสองฉากนี้ ซึ่งเป็นฉากของตัวละครประกอบ ไม่ใช่พระเอกนางเอกของเรื่อง และจริงๆแล้วกิจกรรมสองอย่างนี้ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมธรรมดา แต่หนังสามารถทำให้การสูบบุหรี่และการทาลิปสติกกลายเป็นอะไรที่ดูรุนแรงขึ้นมาได้

เราชอบที่อยู่ดีๆหนังพลิกกลายมาเป็นแบบนี้น่ะ มันทำให้เราพบว่า เราคิดผิดในตอนแรก หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเหมือน SNAP หรือหนังสั้นไทยแนว realistic หรือ romantic หลายๆเรื่อง แต่มันเป็นหนังที่มีกลิ่นอายแบบ absurd คือเหตุการณ์ต่างๆในหนังไม่ได้ดูเหนือจริง ตัวละครทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่หนังสามารถสร้างอารมณ์ของความผิดปกติ หรือความไม่ธรรมดาออกมาได้ ผ่านทางการกระทำของตัวละคร อย่างเช่น การเข้าห้องน้ำแบบผิดเพศ, การสูบบุหรี่ด้วยลีลาที่ไม่ธรรมดา และการพูดคุยถึงประเด็นที่ดูเหมือนไร้สาระซ้ำไปซ้ำมา

4.ถึงเราจะตีความหนังเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เราว่าหนังพยายามพูดถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพอยู่บ้างนะ แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นประเด็นหลักหรือประเด็นรอง หรือต้องการนำเสนอทัศนคติอะไรหรือต้องการจะบอกอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้กันแน่ เราสังเกตเห็นแต่ว่า หนังพูดถึงประเด็นนี้ผ่านทางการสลับคู่กันไปมาของตัวละครประกอบ, การสูบบุหรี่+ทาลิปสติกแบบ homoerotic, การพูดถึงม้าน้ำ และการถ่ายรูปนางเงือกกับพระอภัยมณีแบบสลับเพศ

5.ชอบช่วงท้ายของหนังมากๆ ถึงแม้ไม่รู้ว่าต้องการจะบอกอะไรคนดู เราสังเกตเห็นแค่ว่าช่วงท้ายของหนังดูเผินๆเหมือนเป็นภาพสารคดีธรรมดาที่บันทึกภาพคนมาเที่ยว aquarium แต่มันน่าสนใจตรงที่ว่า มันมีคนหลายจำพวกปรากฏตัวในช่วงท้ายน่ะ ทั้งพลเรือน-ทหาร-พระ, เด็ก-หนุ่มสาว-ผู้ใหญ่-คนชรา และมีคนพิการด้วย

พอหนังจบด้วยซีนแบบนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าหนังต้องการบอกอะไร คนใน aquarium นี้เป็นตัวแทนของ “คนในสังคม”, หรือว่าหนังต้องการเปรียบเทียบ aquarium นี้กับ “ภาพยนตร์” หรือว่าหนังต้องการทำให้เรานึกถึงวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ฯลฯ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่า ความหมายของช่วงท้ายของหนังคืออะไร แต่เราว่ามัน thought-provoking ดีน่ะ และเราว่ามันทำให้ “สถานที่” กลายเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งของเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และทำให้นึกถึงหนังอย่าง ECLIPSE (1962, Michelangelo Antonioni) ด้วย ที่ตัวละครพระเอกนางเอกจะหายไปจากช่วงท้ายของเรื่องอย่างไม่มีสาเหตุ และเราจะเห็นแต่ซีนสถานที่ต่างๆในช่วงท้ายของเรื่องเท่านั้น

6.ชอบการตั้งกล้องในหลายๆฉากด้วย คือนอกจากบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้จะซ่อนประเด็นที่น่าคิดไว้แล้ว หนังยังออกแบบการถ่ายซีนแต่ละซีนได้ดีด้วย เพราะในหลายๆฉากของหนังเรื่องนี้ กล้องจะตั้งนิ่งๆอยู่ในจุดหนึ่งของห้อง และตัวละครจะเดินเข้ามาในเฟรม และเดินไปมาอยู่ในภายในเฟรมนั้น คือเหมือนผู้กำกับต้องวางแผนไว้ดีแล้วน่ะ ว่าตัวละครจะเดินไปไหนมาไหนบ้าง และผู้กำกับก็ต้องวางเฟรมภาพไว้ในหัวเป็นอย่างดีให้สอดรับกับการกระทำของตัวละคร และกำหนดจุดตั้งกล้องที่สอดรับกับการกระทำของตัวละครและเฟรมภาพนั้น คือเราชอบที่หนังเรื่องนี้มี “การคิด” เยอะมากน่ะ ทั้งคิดเรื่องบท, การตั้งกล้อง, การวางเฟรมภาพ

7.ตอนดูจะแอบสงสัยด้วยนะ ว่าตัวละครประกอบ 4 คนกับตัวละครหลัก 2 คนมันสะท้อนหรือมันซ้อนทับกันหรือเปล่า เพราะหนังไม่เคยให้เราเห็นตัวละครประกอบกับตัวละครหลักในเวลาเดียวกัน (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เราก็เลยไม่แน่ใจว่า จริงๆแล้วนิสิตหนุ่มกับนิสิตสาว 2 จาก 4 คนที่เราเห็น อาจจะเติบโตขึ้นมากลายเป็นพระเอกนางเอกในเวลาต่อมาก็ได้ เพราะหนังก็ย้ำอยู่แล้วว่า aquarium นี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย 555

คือเราว่าหนังอาจจะไม่ได้จงใจทำให้เราคิดถึงอะไรแบบนี้นะ แต่พอหนังมันเล่นกับ “ตัวละครที่ใช้สถานที่เดียวกัน แต่ไม่ได้เจอกัน” แบบนี้ เราก็เลยนึกถึงหนังแบบ THE POWER OF KANGWON PROVINCE (1998, Hong Sang-soo) ขึ้นมาน่ะ และเราก็เลยพยายามหาทางเชื่อมตัวละครเข้าด้วยกัน โดยที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ

8.สรุปว่า เราชอบอารมณ์ absurd ของหนังเรื่องนี้มากๆเลยน่ะ เราว่ามันทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังไทยหลายๆเรื่อง และมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง

ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ คือนอกจากหนังเรื่องนี้มันจะทำให้เรานึกถึง ECLIPSE แล้ว มันยังทำให้เรานึกถึงหนังของ Tsai Ming-liang ที่เล่นกับสถานที่ อย่าง GOODBYE DRAGON INN (2003) และ FACE (2009) ด้วย รวมทั้งนึกถึงหนังมาเลเซียที่มีกลิ่นอาย absurd ของ James Lee เรื่อง THE BEAUTIFUL WASHING MACHINE (2004) และ BEFORE WE FALL IN LOVE AGAIN (2006) หรือหนังไทยเรื่อง UNDER THE BLANKET (2008, Tossapol Boonsinsukh) ที่มีตัวละครทำอะไรประหลาดๆในท้องฟ้าจำลอง

แต่ถ้าหากพูดถึง “อารมณ์” ของ AQUATORIUM แล้ว เราว่ามันเป็น absurd แบบ “แห้งๆ” น่ะ ซึ่งมันจะใกล้เคียงกับหนังของ James Lee มากที่สุด

9. ถ้าหากจะถามว่า มีอะไรที่ควรพัฒนาหรือปรับปรุงบ้าง เราก็ตอบได้ยากเหมือนกันนะ คือเราไม่มีปัญหากับการที่เราไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้ หรือไม่สามารถตีความหนังเรื่องนี้ได้ แต่เราก็รู้สึกว่าหนังยังขาด “พลังรุนแรง” หรือขาด magic ที่รุนแรงอะไรบางอย่างน่ะ แต่วิธีการที่จะทำให้หนังมีพลังรุนแรง หรือมี magic ตราตรึงใจนี่ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไง

ถ้าหากเทียบกับหนังของผู้กำกับคนอื่นๆแล้ว เราก็ยอมรับว่า เราก็ไม่ได้ชอบ “อารมณ์แห้งๆ” แบบหนังเรื่องนี้หรือหนังของ James Lee มากนักนะ เราว่าหนังของผู้กำกับคนอื่นๆมันมีอารมณ์อื่นๆมาช่วย “หล่อลื่น” หนังให้ดูเพลินน่ะ อย่างเช่นหนังของ Tossapol Boonsinsukh มันจะมีอารมณ์ “น่ารักๆ cute cute” มาช่วยหล่อลื่นไว้ตลอด, หนังของ Tsai Ming-liang มันก็จะมีอารมณ์ขันมาช่วยหล่อลื่นไว้บ้าง ส่วนหนังของ Michelangelo Antonioni นั้นมันมี magic ที่มหัศจรรย์มากๆอยู่ในนั้น หนังมันก็เลยทรงพลังมากๆ

สรุปว่าชอบ AQUATORIUM แบบสุดๆ แต่ก็คิดว่ายังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกในหนังเรื่องต่อๆไปจ้ะ

No comments: