SCENE AND LIFE (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)
ฉากและชีวิต
1.ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เราหลับไปประมาณ 20
นาทีแรกของหนัง เพราะร่างกายเราเพลียมาก เพราะฉะนั้นเราก็เลยพลาด 3
ฉากแรกของหนังไป (ฉากหนุ่มสาวคุยกันขณะตกปลา, ฉากคนคลานในทุ่งนา,
ฉากเด็กๆมาสัมภาษณ์ป้าคนนึง หรืออะไรทำนองนี้) แต่ถ้าจะให้เราดูรอบสองแล้วค่อยเขียนถึงหนังเรื่องนี้
เราก็กลัวว่าเราอาจจะไม่มีเวลาดูรอบสอง เพราะตารางชีวิตเราแน่นเอี้ยดมากๆ เราก็เลยรีบจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองไว้ก่อนดีกว่า
2.เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกงดงามมากๆสำหรับเรา เรา ชอบ form ของมันมากๆ
เพราะ form ของมันเป็นเหมือนหนังสั้น 10
เรื่องเกี่ยวกับชีวิตชนบทมาเรียงร้อยต่อกัน ให้อารมณ์คล้ายๆกับการดูหนังสั้นของอุรุพงษ์
รักษาสัตย์ + หนังสั้นอย่าง เถียงนาน้อยคอยรัก (FOUR BOYS, WHITE WHISKEY
AND GRILLED MOUSE) (2009, Wichanon Somumjarn) + เรื่องเล่าจากดอนโจด (HOW FAR A BETTER LIFE) (2017, Chantana
Tiprachart) อะไรทำนองนี้
เราว่าการที่หนังใช้ form แบบนี้มันทำให้หนังเข้าทางเรามากๆน่ะ
เพราะเราชอบหนัง slice of life แบบนี้
หนังที่นำเสนอช่วงเวลานึงของชีวิตคนธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องมี drama อะไรมากนักก็ได้
มันเป็นการทอดสายตามองโมงยามเล็กๆของชีวิตด้วยสายตาที่งดงาม
คือเราว่าหนังหลายๆเรื่องมันไม่เข้าทางเราเพราะมันถูกกรอบของความเป็นหนังกระแสหลักไปกดทับมัน
หรือไปบีบอัดมันจนเสียรูปทรง และทำให้ความงามของมันไม่เปล่งประกายออกมาน่ะ
ซึ่งหนังในกลุ่มนี้อาจจะรวมถึงหนังอย่าง IN MY HOMETOWN ฮักมั่น (2017,
Worrawut Lakchai), RED SPARROW และ 3AM AFTERSHOCK เป็นต้น คือเราว่าความงามของฮักมั่นคือการถ่ายทอดกิจกรรมของคนในชนบท
อะไรทำนองนี้ แต่พอหนังพยายามจะ “มีเส้นเรื่อง” และพยายามจะสร้าง “อารมณ์ตลกเฮฮา” ในหลายๆฉาก
มันก็เลยเหมือนไปกีดกันไม่ให้หนังสามารถสร้าง moments ชีวิตชนบทเล็กๆน้อยๆออกมาได้
ส่วนในกรณีของ RED SPARROW นั้น
เราว่าหนังมันจะดีถ้ามันเน้นถ่ายทอด “ความทุกข์ของการเป็นสปาย” (ซึ่งอาจจะรวมถึงความน่าเบื่อของการเป็นสปาย)
แต่พอหนังมันถูกความเป็นหนังกระแสหลัก ที่ต้องโยง สปายเข้ากับ “ความสนุกตื่นเต้นลุ้นระทึก”
เข้าไปกดทับมันเอาไว้ ความงามที่แท้จริงของ RED SPARROW ก็เลยไม่เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่
ส่วน 3AM AFTERSHOCK นั้น เราชอบที่หนังถ่ายทอด “ชีวิตการทำงาน”
ของพนักงานทางด่วน และคนในกองถ่ายโฆษณามากๆ แต่พอตัวหนังมันถูก “ความเป็นหนังผี
ที่ต้องมีผีหลอก มีความน่ากลัว และมีการหักมุม” ไปกดทับมันเอาไว้ 3AM
AFTERSHOCK ก็เลยกลายเป็นหนังผีเสร่อๆเรื่องนึงไป
ที่เขียนเปรียบเทียบมายืดยาว ก็เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า
ทำไมเราถึงชอบ form ของ SCENE AND LIFE น่ะ
เพราะพอหนังมันเลือกใช้ form แบบนี้
มันก็เลยเหมือนไม่ต้องถูกกดทับด้วยความเป็นหนังกระแสหลัก
ชีวิตของตัวละครไม่ต้องถูกบิดให้เป็นเส้นเรื่องที่ลากยาว 90 นาที และไม่ต้องมี drama
รุนแรง มีเส้นอารมณ์ขึ้นลงตามสูตร ไม่ต้องมีความพยายามจะสร้างความเฮฮา
ลุ้นระทึก ไม่ต้องมีการเอาประเด็นสังคมไปกดทับหนังและตัวละคร
(คือหนังมีประเด็นสังคมก็ได้ แต่เราไม่ค่อยชอบหนังที่สร้างตัวละครขึ้นมาให้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อสะท้อนประเด็นสังคม
เราชอบหนังที่ตัวละครควรจะมีชีวิตอยู่ของมันเอง
และประเด็นสังคมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของตัวละครตัวนั้น
คือชีวิตของตัวละครใหญ่กว่าประเด็นสังคม ไม่ใช่ประเด็นสังคมใหญ่กว่าชีวิตตัวละคร)
และไม่ต้องเอาคติสอนใจ หรือบทเรียนสำเร็จรูปไปกดทับหนังเอาไว้
คือพอ SCENE AND LIFE เลือกใช้ form แบบนี้
มันก็เลยช่วยปลดปล่อยตัวละครและหนังให้เป็นอิสระจากอะไรต่างๆที่เราไม่ชอบน่ะ ทั้ง “เนื้อเรื่อง”,
“เส้นเรื่อง”, “อารมณ์ drama ที่มากเกินไป”, “คติสอนใจ” ฯลฯ และช่วยให้โมงยามธรรมดาในชีวิตตัวละครมันเปล่งประกายออกมาได้อย่างเต็มที่
โดยไม่ต้องมีอะไรรกรุงรังไปกดทับหรือบดบังมัน
3.ชอบทุกช่วงของหนังเลย ทั้งฉากการขายบ้านเก่า, ฉากหนุ่มวัยรุ่นที่มีปัญหากับพ่อแม่
(เนื้อหาฉากนี้ดูมีความ mainstream มากที่สุด แต่ดีที่หนังไม่ได้ให้คติสอนใจใดๆในฉากนี้
หนังเพียงแค่สะท้อนปัญหาออกมาเท่านั้น), ฉากการนอนวัด, ฉากการสอนเรื่องลูกสูบมอเตอร์ไซค์,
ฉากคน 3 รุ่นกับการทำอาหาร (ความงดงามของฉากนี้ทำให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่อง LITTLE
FOREST), ฉากป้าขายผักโบราณ
และฉากสาวเดินทางไปกรุงเทพเพื่อหาเงินมาใช้หนี้
อย่างนึงที่ชอบก็คือว่า
หลายๆฉากมันนำเสนออะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์น่ะ ทั้งการคุยกันเรื่องไม้ที่ใช้สร้างบ้าน,
การขอเข้าไปนอนในวัด, การสอนเรื่องลูกสูบมอเตอร์ไซค์, การทำน้ำมันหมู
และการพูดถึงผักแปลกๆหลายอย่าง
4.ชอบมากๆที่ตัวละครในหนังทุกตัวมัน “มีชีวิตมาก่อนหนังเริ่ม” และ “มีชีวิตต่อไปหลังหนังจบ”
จริงๆ
5.ฉากที่เราชอบมากที่สุด อาจจะเป็นฉากป้าขายผักโบราณ เพราะเราสนใจผักแปลกๆเหล่านี้
และเราว่าฉากนี้มันเศร้ามากๆ และเราอินกับป้ามากๆด้วย เพราะในแง่นึง
เราสามารถเปรียบเทียบป้าได้กับ “คนทำหนังอินดี้” หรือ “คนทำอาชีพที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปตามยุคสมัย
อย่างเช่นคนทำนิตยสาร” อะไรทำนองนี้ คือเราว่าสิ่งที่ป้าทำมัน “มีคุณค่า” น่ะ ไม่ต่างไปจากคนทำหนังอินดี้ดีๆ
หรือคนทำนิตยสารดีๆ เพียงแต่ว่า “คุณค่า” ของสิ่งที่ป้าทำมันไม่สามารถแปรผันตรงกับ
“มูลค่าทางเงินตรา” น่ะ มันก็เลยเป็นเรื่องที่น่าเศร้า
และก็ไม่มีใครผิดในเรื่องนี้เลยด้วย
เพราะเราเองก็คงไม่ซื้อผักของป้าไปทำอาหารกินเองเช่นกัน ฉากนี้มันก็เลยเหมือนสะท้อน
“ความน่าเศร้าของชีวิตและโลก” โดยที่เราเองก็ไม่สามารถแก้ไขหรือช่วยอะไรได้
เราเองก็ทำได้แค่ต้องกระเสือกกระสนหาทางมีชีวิตรอดต่อไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง
6.ชอบ sense ของสถานที่ในหนังเรื่องนี้มากๆ
คือเราว่าสถานที่ต่างๆในหนังเรื่องนี้ ทั้ง “บ้านไม้”, “วัดในชนบท” และ “ร้านขายอาหาร”
มันดูเผินๆแล้วก็ไม่ต่างไปจากสถานที่ที่ปรากฏในหนังอย่าง “สวัสดีบ้านนอก” (1999,
Thanit Jitnukul), ไทบ้านเดอะซีรีส์
หรือหนังไทยที่ใช้ฉากชนบทเรื่องอื่นๆน่ะ แต่เราว่า “ความรู้สึก”
ที่ได้จากสถานที่ในหนังเรื่องนี้มันต่างออกไปมากๆ คือถึงแม้ว่าดูภายนอกแล้วมันจะเป็นสถานที่แบบเดียวกัน
แต่สถานที่ในหนังเรื่องอื่นๆ มันเหมือน “ดำรงอยู่เพื่อรองรับเนื้อเรื่องและอารมณ์ดราม่า”
น่ะ ในขณะที่สถานที่ในหนังเรื่องนี้ มันเหมือน “ดำรงอยู่เพื่อรองรับชีวิตคนธรรมดา”
เพราะฉะนั้น sense ของสถานที่ในหนังเรื่องนี้
มันเลยมีความงามบางอย่างหล่อเลี้ยงมันไว้ในแบบที่ไม่ค่อยปรากฏในหนังไทยเรื่องอื่นๆ
No comments:
Post a Comment