Thursday, August 22, 2019

MIDSOMMAR


MISSION MANGAL (2019, Jagan Shakti, India, A+30)

1.หนังอินเดียที่สร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ไอเดียว่า วิธีการทอดแป้งทำอาหารของเธอสามารถใช้ในการส่งดาวเทียมจากอินเดียไปดาวอังคารได้

กลายเป็นหนังที่ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างหนักหนาสาหัสที่สุดในปีนี้ เพราะบทสนทนาของตัวละครหลังจากไปเที่ยวดิสโก้เธค เหมือนมันไปจี้ใจดำอะไรบางอย่างของเรา หลังจากนั้นเราก็เลยร้องไห้อย่างหยุดไม่อยู่อีกต่อไป

2.เรื่องการบิ๊วอารมณ์คนดูนี่ ยกให้หนังอินเดียเป็นอันดับหนึ่งจริงๆ บิ๊วอารมณ์ได้เก่งสุดๆ
MIDSOMMAR (2019, Ari Aster, A+30)

1.ชอบสุดๆ ชอบมากกว่า HEREDITARY (2018, Ari Aster, A+30) หลายเท่า เพราะเราเป็นคนที่หลงใหลเรื่องแม่มดและเวทมนตร์น่ะ และเรารู้สึกว่า การดำรงอยู่ของ "ลัทธิแปลกๆ" ใน HEREDITARY มันเป็นการดำรงอยู่เพื่อ "สร้างความหวาดกลัวให้ผู้ชม" คือเหมือนลัทธินี้มันไม่ได้ exist อยู่เอง แล้วหนังไปนำเสนอบางส่วนของมันออกมา แต่เหมือนมันถูกสร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง "เพื่อผลกระทบทางอารมณ์ที่มีต่อผู้ชม" เราก็เลยรู้สึกว่า HEREDITARY นำเสนอลัทธิแม่มดในแบบที่ไม่ได้เข้าทางเราซะทีเดียว คือมันไม่ได้เป็นแบบว่า "ฉันรักลัทธิแม่มดมาก ฉันก็เลยสร้างหนังเพื่อนำเสนอลัทธิที่ฉันรัก" แต่มันเหมือนกับว่า "ฉันต้องการทำให้ผู้ชมรู้สึกสยองขวัญ ฉันก็เลยสร้างลัทธิแม่มดขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกหวาดกลัว"

(จริงๆแล้วนี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เรามีกับหนังสั้นไทยอย่าง "OTW เพื่อนตาย ร่วมทาง" และ THE BUSH เหมือนกัน ในแง่การดำรงอยู่ของกลุ่มผู้ร้ายเพียงเพื่อผลกระทบบางอย่างต่อผู้ชม แต่พอมันเป็นหนังสั้น มันก็เลยเข้าใจได้ว่าทำไมหนังถึงไม่มีเวลานำเสนอแง่มุมอื่นๆของกลุ่มผู้ร้าย)

ในทางตรงกันข้าม การนำเสนอลัทธิแปลกๆใน SUSPIRIA (2018) และ MIDSOMMAR มันเข้าทางเรามากกว่าเยอะ คือการดำรงอยู่ของลัทธิแปลกๆในหนังสองเรื่องนี้ มันไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ "สร้างอารมณ์สยองขวัญ ลึกลับ ตื่นเต้น น่าหวาดกลัวให้แก่ผู้ชม" เพียงอย่างเดียว แต่เหมือนมันดำรงอยู่ของมันเอง แล้วหนังก็ไปนำเสนอส่วนหนึ่งของมันออกมา คือหนังสองเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ลัทธิแปลกๆในหนังมันใหญ่กว่าตัวหนัง ในขณะที่หนังสยองขวัญโดยทั่วไปมักจะทำให้เรารู้สึกว่า หนังทั้งเรื่องบรรจุทั้งหมดของลัทธิอุบาทว์นั้นๆไว้ในตัวหนังแล้ว

2.เนื่องจากเราเป็นคนที่ชอบจินตนาการ เราก็เลยชอบสุดๆที่ MIDSOMMAR มันทำให้เราตระหนักด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องจินตนาการว่า "ตัวละคร A ไปเจอลัทธิแปลกๆ แล้วตัวละคร A จะต้องรับมือกับลัทธินี้อย่างไรบ้าง" เหมือนในเรื่องเล่า narrative ทั่วๆไป คือในการจินตนาการแบบนี้นั้น เราจะจินตนาการตัวละคร A ก่อน แล้วค่อยจินตนาการองค์ประกอบต่างๆของลัทธิขึ้นมา เฉพาะในส่วนที่จะมีผลกระทบต่อตัวละคร A เท่านั้น ซึ่งมันจะเป็นจินตนาการที่แคบมาก และน่าเบื่อมาก

คือเหมือนกับว่า การดู MIDSOMMAR มันช่วยขยายขอบเขตจินตนาการของเราออกไปมากน่ะ เราชอบสุดๆที่เราไม่เข้าใจว่าพิธีกรรมและรายละเอียดอะไรหลายๆอย่างในชุมชนในหนังเรื่องนี้ มันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าอย่างไร หรือมันมีความสำคัญต่อเส้นเรื่องและต่อตัวละครเอกอย่างไร เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า อะไรหลายๆอย่างในชุมชนในหนังเรื่องนี้ มัน exist ของมันเอง ไม่ว่ามันจะมีความสำคัญอะไรหรือเปล่าต่อเส้นเรื่อง, ตัวละครเอก หรือพัฒนาการของตัวละครเอก เราชอบอะไรแบบนี้มากๆ

คือการดู MIDSOMMAR มันทำให้เราตระหนักว่า เวลาเราจะมีความสุขกับโลกจินตนาการของเรา เราไม่จำเป็นต้องจินตนาการเป็น "เส้นเรื่อง" แบบเดิมๆก็ได้ แต่เราจินตนาการแบบ นักมานุษยวิทยา ก็ได้ คือจินตนาการชุมชนสมมุติ ดินแดนสมมุติอะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วจินตนาการรายละเอียดหลายๆอย่างในชุมชนนั้น ประวัติความเป็นมา ธรรมเนียมประเพณี ภาษา อาหาร ความเชื่อ พืชพันธุ์ในชุมชน สัตว์ในชุมชน กิจวัตรประจำวันของคนในชุมชน สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, จิตรกรรมของคนในชุมชน โดยไม่ต้องไปผูกติดอยู่กับว่า รายละเอียดเหล่านี้มันมี "ความหมาย" อย่างไร หรือมีความสำคัญอย่างไรต่อตัวละครที่ผ่านเข้ามาประสบพบเจอ

ถ้ายกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมก็คือว่า ก่อนหน้านี้ ถ้าหากเรามีเวลาว่าง และเราอยากจะจินตนาการเรื่องอะไรเล่นๆขึ้นมาในหัวของเรา เราจะจินตนาการเป็นเหมือน "เส้นตรงที่มีมิติเดียว" น่ะ คือลากจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง เรามักจะจินตนาการแบบว่า ตัวละคร A เดินทางไปเที่ยวป่า แล้วหลงเข้าไปใน "เมืองลับรู" ที่มีชายหนุ่มหล่อล่ำบึ้กเต็มเมือง ไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว ตัวละคร A จะรับมือกับเมืองนี้อย่างไรบ้าง คือเหมือนเราจะจินตนาการโดยคำนึงถึงพัฒนาการของตัวละคร A เป็นหลัก แล้วจินตนาการองค์ประกอบต่างๆของเมืองลับรูนี้เฉพาะส่วนที่จะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเส้นเรื่องของตัวละคร A เท่านั้น

แต่พอดู MIDSOMMAR เราก็เลยได้คิดว่า ถ้าหากเราจะจินตนาการอะไรเล่นๆในเวลาว่าง เราไม่ต้องคิดอะไรแคบๆเป็นเส้นตรงมิติเดียวแบบนั้นก็ได้ เราจินตนาการเป็นภาพหลายมิติไปเลยก็ได้ นั่นก็คือจินตนาการรายละเอียดของเมืองลับรูไปเรื่อยๆก็ได้ ว่าประวัติของเมืองนี้เป็นยังไง ชีวิตของคนในเมืองนี้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณีอย่างไร มีการแต่งกายอย่างไร ฯลฯ โดยไม่ต้องสนใจว่ารายละเอียดเหล่านี้มันมีความสำคัญต่อตัวละคร A หรือเปล่า

MIDSOMMAR ก็เลยมีคุณูปการต่อเรามากๆ มันช่วยให้เราค้นพบวิธีสร้างความบันเทิงให้ตัวเองได้ดีมากๆ

3.อีกจุดที่ชอบสุดๆก็คือว่า การฆาตกรรมตัวละครหลายๆตัวในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้น OFFSCREEN น่ะ คือถ้าหากเป็นในหนังสยองขวัญโดยทั่วๆไป เวลาที่ตัวละครจะถูกฆ่าตาย หนังจะพยายามสร้างอารมณ์สนุกตื่นเต้นลุ้นระทึกสุดขีดจากเหตุการณ์เหล่านี้ ตัวละครเหยื่อแต่ละคนจะพยายามหนีสุดฤทธิ์ สู้สุดฤทธิ์ เพื่อให้คนดูได้ลุ้นระทึกตื่นเต้น แต่ใน MIDSOMMAR นั้น ชุมชนนี้เหมือนไม่ได้ exist เพื่อสร้างอารมณ์สยองขวัญลุ้นระทึกตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมน่ะ ชุมชนนี้เหมือน exist อยู่เพื่อตัวของเขาเอง หนังก็เลยปล่อยให้การฆาตกรรมตัวละครหลายๆตัวเกิดขึ้น offscreen ไปเลย

4.ดูหนังเรื่องนี้แล้วแอบนึกถึงชุมชนชาวอามิชในอเมริกา และชุมชนชาวพุทธบางชุมชนในไทย ในแง่ของการเป็นชุมชนที่ยึดถือหลักการความเชื่อของตัวเองอย่างเคร่งครัดมากๆ แต่หนังเรื่องนี้คงไม่ได้ต้องการจะโจมตีชุมชนชาวอามิชหรือชุมชนเคร่งศาสนาแต่อย่างใด เราเดาว่าหนังคงจะแค่ใช้แรงบันดาลใจจากหลายๆแหล่งในการจินตนาการชุมชนนี้ขึ้นมา และชุมชนอามิชอาจจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจหลายๆแหล่งในการสร้างชุมชนสมมุตินี้

5. ในบรรดาหนังกลุ่มนี้ เราจะเรียงตามลำดับความชอบได้ดังนี้
5.1 US (2019, Jordan Peele)
5.2 MIDSOMMAR
5.3 IT FOLLOWS
5.4 GET OUT (2017, Jordan Peele)
5.5 UNDER THE SILVER LAKE (2018, David Robert Mitchell)
5.6 HEREDITARY

จริงๆแล้วอยากจะรวม THE VVITCH (2015, Robert Eggers), THE NEON DEMON (2016, Nicolas Winding Refn) กับ SUSPIRIA (2018, Luca Guadagnino) เข้าไปด้วย เพราะมันก็เป็นหนังสยองขวัญแบบแปลกๆเหมือนกัน แต่ขี้่เกียจจัดอันดับ 555
หนังสยองขวัญอีกเรื่องที่ชอบสุดๆคือ FEBRUARY (2015, Oz Perkins) หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีความแปลก หรือ innovative เหมือนหนังกลุ่มข้างต้น แต่ถือเป็นหนังที่ชอบสุดๆในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับหนังกลุ่มข้างต้น


MIDSOMMAR (ต่อ)

6.ขอบันทึกความทรงจำต่ออีกหน่อย เพราะเมื่อกี้ลืมเขียนไปว่า สาเหตุที่ทำให้เราชอบ MIDSOMMAR อย่างสุดๆ คือสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เราชอบ WOLF CREEK (2005, Greg McLean) และ “กระสือครึ่งคน” THE DWARVES MUST BE CRAZY (2016,  Bin Bunloerit) 55555

ตอนดู MIDSOMMAR เราจะนึกถึง WOLF CREEK ในแง่ที่ว่า WOLF CREEK มัน treat ตัวละครฝ่ายเหยื่อ เหมือนกับว่ามันไม่ได้ “เกิดมาเพื่อเป็นเหยื่อ” น่ะ แต่มัน treat ตัวละครฝ่ายเหยื่อเหมือนกับมันเป็นมนุษย์จริงๆ มีความรักความหลง ความอะไรต่างๆในชีวิตมากมาย ก่อนจะมาเจอกับฆาตกรโรคจิต เราก็เลยรัก WOLF CREEK อย่างสุดๆ เพราะมันเหมือนหลุดพ้นจากกรอบหนังสยองขวัญที่เราเคยดูๆมา

ส่วน MIDSOMMAR นั้น มัน treat ตัวละครฝ่ายผู้ร้ายในแบบที่เกินเลยกว่าตัวละครผู้ร้ายในหนังสยองขวัญทั่วๆไปน่ะ เหมือนอย่างที่เราเขียนไปแล้วว่า ตัวละครฝ่ายผู้ร้ายในหนังเรื่องนี้ มันเหมือนเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตของมันเอง มันดำรงชีวิตของมันไปเองเรื่อยๆ มันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น

เราก็เลยชอบ MIDSOMMAR มากๆในแง่เดียวกับที่เราชอบ WOLF CREEK

ส่วนสาเหตุที่ทำให้นึกถึง “กระสือครึ่งคน” นั้น ก็เป็นเพราะว่า ถ้าหากพูดถึงหนังที่สร้าง “ชุมชนจินตกรรม” ขึ้นมาแล้ว นอกจาก MIDSOMMAR ก็มี “กระสือครึ่งคน” นี่แหละที่เราชอบสุดๆในด้านนี้ ถึงแม้ว่าหนังสองเรื่องนี้มันจะดูเหมือนตรงข้ามกันก็ตาม 555



No comments: